กระเบื้อง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 04 Jul 2024 08:42:39 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “SCGD” บุกหนักตลาด “แผ่นปูพื้น SPC” เดินเครื่องโรงงานสระบุรี ชิงตลาดอาเซียนมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท https://positioningmag.com/1481064 Wed, 03 Jul 2024 12:08:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481064
  • SCGD บุกตลาด “แผ่นปูพื้น SPC” เต็มตัว เริ่มเดินเครื่องโรงงานหินกอง จ.สระบุรี กำลังผลิต 1.8 ล้านตารางเมตร ส่งออกทั่วอาเซียน คาดมูลค่าตลาดมีกว่า 8,000 ล้านบาท
  • ด้านตลาดกระเบื้องเซรามิกส์ สนใจลงทุนโรงงานเพิ่มใน “เวียดนามใต้” ซุ่มเจรจาควบรวมกิจการ
  • “นำพล มลิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของ “โรงงานแผ่นปูพื้น SPC LT by COTTO” ของบริษัทที่ อ.หินกอง จ.สระบุรี ปัจจุบันเดินเครื่องแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยโรงงานนี้ใช้เงินลงทุนไปทั้งหมด 138 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี  

    SCGD มีการทำตลาด “แผ่นปูพื้น SPC” มานาน แต่เดิมใช้วิธีการสั่งผลิตจากซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ แต่หลังจากพบว่าตลาดเติบโตเร็วขึ้น โดยเมื่อปี 2566 ทำยอดขายมากกว่า 350 ล้านบาท โต 2 เท่าจากปี 2564 และคาดการณ์ว่าปี 2567 จะทำยอดขายทะลุ 500 ล้านบาท

    บริษัทจึงตัดสินใจลงทุนสร้างไลน์ผลิตแผ่นปูพื้น SPC LT by COTTO ของตนเอง และถือเป็นโรงงานผลิตแผ่นปูพื้น SPC/LT แห่งแรกและแห่งเดียวในไทย จึงน่าจะใช้จุดแข็งนี้เป็นข้อได้เปรียบในการบริหารซัพพลายเชน สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าได้เร็วกว่าการสั่งผลิต ลูกค้ารอสินค้าสั้นลง และบริษัทสามารถควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า

    นอกจากการตอบสนองตลาดในประเทศแล้ว นำพลคาดว่าตลาดสินค้าแผ่นปูพื้น SPC ในประเทศอาเซียนก็จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต คาดมูลค่าตลาดแผ่นปูพื้นไวนิล SPC นี้ทั้งในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์จะมีมูลค่ารวมกันกว่า 8,000 ล้านบาท

    แผ่นปูพื้น SPC
    แผ่นปูพื้น SPC ติดตั้งง่ายด้วยระบบ Clicklock ทำให้ได้รับความนิยม

    แผ่นปูพื้น SPC ถือเป็นหนึ่งใน “สินค้ากลุ่มนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า” ของ SCGD ร่วมกับสินค้าอื่นๆ เช่น กระเบื้องฟอกอากาศ กระเบื้องสำหรับสัตว์เลี้ยง แผ่นหินวีเนียร์ดัดโค้งได้ สินค้าเหล่านี้ถือเป็นสินค้าที่สร้างกำไรมากกว่าสินค้าปกติประมาณ 10% ทำให้บริษัทจะมุ่งเน้นผลักดันมากขึ้น

    ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้านวัตกรรมมีประมาณ 20-25% ในรายได้รวมของ SCGD นำพลกล่าวว่าในอนาคตจะรักษาระดับสัดส่วนให้อยู่ที่ 25-30% ส่วนใหญ่น่าจะได้ยอดขายจากตลาดไทยมากกว่า แต่มีสินค้าบางตัวที่เริ่มนำไปทำตลาดอาเซียนแล้วเช่นกัน

     

    เล็งลงทุนโรงงานกระเบื้องเซรามิกส์เพิ่มใน “เวียดนามใต้”

    ในแง่การลงทุนของบริษัท นำพลมองตลาดที่จะมาแรงในอนาคตคือ “เวียดนาม” เนื่องจากจำนวนประชากรที่เติบโตทะลุ 100 ล้านคน และโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว จะมีความต้องการซื้อบ้านเพิ่มขึ้นอีกในระยะยาว ทำให้ SCGD ให้น้ำหนักการลงทุนไปที่เวียดนามมากขึ้น

    ปัจจุบันเฉพาะโรงงานผลิตกระเบื้องและวัสดุปิดผิวจากเซรามิกส์ของ SCGD ในไทยมีกำลังผลิต 80 ล้านตารางเมตรต่อปี ในเวียดนามมีกำลังผลิต 83 ล้านตารางเมตรต่อปี ฟิลิปปินส์มีกำลังผลิต 12.6 ล้านตารางเมตรต่อปี และอินโดนีเซียมีกำลังผลิต 11.6 ล้านตารางเมตรต่อปี

    “นำพล มลิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD

    เห็นได้ว่ากำลังผลิตวัสดุปิดผิวเซรามิกส์ของบริษัทในเวียดนามโตแซงประเทศไทยแล้ว และนำพลระบุว่าบริษัทยังสนใจจะลงทุนเพิ่มอีกด้วย เนื่องจากขณะนี้บริษัทมีโรงงานใหญ่ในภาคเหนือและภาคกลางของเวียดนาม แต่ด้วยภูมิประเทศของเวียดนามเป็นเส้นยาว การขนส่งข้ามภาคมีค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องการจะตั้งโรงงานเพิ่มในเขต “เวียดนามใต้” ด้วยเพื่อให้ครอบคลุมและแข่งขันได้ทั่วประเทศ

    ในตลาดเวียดนามใต้นั้นมีกำลังซื้อกระเบื้องเซรามิกส์ราว 60 ล้านตารางเมตรต่อปี ทำให้ SCGD วางแผนจะลงโรงงานกำลังผลิตอย่างน้อย 10 ล้านตารางเมตรต่อปีในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้บริษัทจะใช้วิธีควบรวมกิจการ (M&A) มากกว่าการลงทุนสร้างใหม่เพราะจะได้เดินเครื่องได้เร็วกว่า ขณะนี้กำลังเจรจาดีลโดยตั้งงบไว้ 1,000-2,000 ล้านบาท

    แผนการเติบโตของ SCGD ในระยะยาวนั้นต้องการจะโต 2 เท่าภายในปี 2573 มุ่งสู่รายได้ 58,000 ล้านบาทต่อปี และเมื่อถึงเวลานั้นตลาดจะแตกต่างจากปัจจุบันที่แหล่งรายได้ใหญ่ 65% ยังคงอยู่ในไทย แต่ในอีก 6 ปีคาดว่าสัดส่วนรายได้จะพลิกกลายเป็นจากในประเทศไทย 45% และจากต่างประเทศ 55%

    ]]>
    1481064
    SCGD ตั้งเป้าโต 2 เท่าภายใน 6 ปี! โหมตลาดกระเบื้อง-สุขภัณฑ์ใน “เวียดนาม” ลุยสร้างโรงงานเพิ่ม https://positioningmag.com/1470826 Tue, 23 Apr 2024 10:05:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470826
  • ผลการดำเนินงาน SCGD ไตรมาส 1/67 รายได้หด -6.1% แต่กำไรเติบโต 28.4% จากการควบคุมต้นทุน และการขายสินค้ากลุ่มกำไรสูงได้มากขึ้น
  • ปี 2567 เคาะลงทุนไลน์ผลิตกระเบื้องเพิ่มที่โรงงานหนองแค จ.สระบุรี และลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มเพื่อลดต้นทุนลงอีก
  • แผนระยะยาวต้องการทำรายได้โต 2 เท่า ภายในปี 2573 โดยจะเร่งยอดขายกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในอาเซียน โดยเฉพาะ “เวียดนาม” ที่มีแผนจะสร้างโรงงานเพิ่ม
  • “นำพล มลิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 ของ SCGD ว่า บริษัทมีรายได้จากการขาย 6,784 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทำกำไรได้ 258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (หากไม่รวมผลกระทบจากการปรับโครงสร้าง และรายการ Non-Recurring อื่นๆ ในปีก่อนหน้า)

    เป็นผลมาจากบริษัทสามารถยืนราคาขายสินค้ากระเบื้องและสุขภัณฑ์ไว้ได้ และยังขายสินค้ากลุ่มที่มีกำไรสูงได้มากขึ้น ประกอบกับมีการลดต้นทุนค่าพลังงานด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์และโครงการ Hot Air Generator รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมาก่อนหน้านี้ ทำให้มีต้นทุนที่ลดลงในไตรมาสที่ผ่านมา

    “นำพล มลิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD

    เมื่อคำนึงถึงสภาวะตลาดรวมของกระเบื้อง วัสดุปิดผิว และสุขภัณฑ์ ทั้งในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของ SCGD มีสภาวะที่ยังอยู่ในระยะติดลบ ยังไม่ฟื้นตัว แต่บริษัทสามารถทำกำไรสวนตลาดได้จึงถือเป็นผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ

    สำหรับเหตุการณ์ที่น่าจับตาในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้คือเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งนำพลระบุว่ามีผลกระทบต่อยอดขายของ SCGD ที่ส่งออกไปเมียนมาอยู่บ้างแต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากช่องทางการกระจายสินค้าผ่านทางเมียวดีและแม่สอดถูกปิด ทำให้บริษัทต้องหาทางกระจายสินค้าผ่านด่านอื่นทดแทน

     

    อนุมัติลงทุนโซลาร์เซลล์-ไลน์ผลิตกระเบื้อง

    ด้านความคืบหน้าการลงทุนที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้ของ SCGD และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ทั้งหมด ได้แก่

    1.โครงการติดตั้ง Hot Air Generator เพื่อลดต้นทุนพลังงานที่โรงงานในประเทศไทยอีก 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

    2.โครงการปรับปรุงสายการผลิตกระเบื้องไวนิล SPC (กระเบื้องยางลายไม้) โดยจะเริ่มผลิตกระเบื้องไวนิล SPC สำหรับป้อนตลาดในประเทศไทยได้ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ด้วยกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี

    3.โครงการไลน์ผลิตสินค้ากลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลน และ กระเบื้องขนาดใหญ่ อีก 2.2 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศเวียดนาม

    4.โครงการการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลน 9.1 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2567

    SCGD
    ตัวอย่างสินค้ากลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลนจาก COTTO

    นำพลกล่าวต่อว่า เมื่อไตรมาสที่ 1 ทางบริษัท SCGD มีการอนุมัติการลงทุนมูลค่ารวม 290 ล้านบาท ใน 3 โครงการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดังนี้

    1.โครงการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ 5.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 140 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568

    2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารคลังสินค้า เงินลงทุน 70 ล้านบาท โดยการติดตั้งระบบบริหารคลังสินค้าและรถยกระบบอัตโนมัติ

    3.โครงการไลน์การผลิตกระเบื้องขนาดใหญ่ที่หนองแค เงินลงทุน 80 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ภายในสิ้นปี 2567

     

    แผนระยะยาว ปี 2573 ตั้งเป้ารายได้โต 2 เท่า

    นำพลประเมินตลาดกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในอาเซียนว่า ถึงแม้เมื่อไตรมาสที่ 1 จะยังอยู่ในช่วงซบเซา แต่มองว่าในอนาคตภูมิภาคนี้จะมีเศรษฐกิจที่เติบโตแน่นอน และจะทำให้ตลาดกระเบื้องและสุขภัณฑ์โตได้ปีละ 4-5%

    SCGD จึงตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 บริษัทจะทำรายได้โต 2 เท่า หรือขึ้นไปแตะปีละ 60,000 ล้านบาท และจะเติบโตด้วย 4 กลยุทธ์ ดังนี้

    1.ธุรกิจกระเบื้องและวัสดุปูพื้นและผนัง

    – เตรียมขยายการลงทุนโรงงานในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่สูงนัก

    – เพิ่มสินค้าประเภทกำไรสูงและมีนวัตกรรมให้มากขึ้น เช่น กระเบื้องยางลายไม้ (SPC), กระเบื้องพอร์ซเลน, กระเบื้องทนแรงขูดขีด (X-Strong), กระเบื้องที่เหมาะกับสัตว์เลี้ยง ลดการเสื่อมของข้อเท้าและการลื่นล้ม (Paw & Play)

    – เพิ่มสินค้าวัสดุตกแต่งพื้นและผนังให้มากขึ้น เช่น วัสดุปิดผิวบันได วัสดุตกแต่งผนัง

    – ขยายเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่าย

    สินค้าเก็บงานให้ครบวงจร เช่น คิ้วกระเบื้อง จมูกบันได

    2.ธุรกิจสุขภัณฑ์

    – ตั้งเป้ารายได้ที่มาจากธุรกิจสุขภัณฑ์เติบโต 2 เท่าเป็นปีละ 10,000 ล้านบาท

    – เพิ่มตัวแทนจำหน่ายสุขภัณฑ์ในต่างประเทศ ต่อยอดช่องทางจัดจำหน่าย โดยในเวียดนามจากเดิม 17 รายเป็น 39 ราย ฟิลิปปินส์จากเดิม 78 รายเป็น 85 ราย และอินโดนีเซียจากเดิม 28 ราย เป็น 37 ราย

    SCGD
    QUIL by COTTO แบรนด์สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำระดับพรีเมียม

    3.ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง

    SCGD มีการขายสินค้าที่เกี่ยวเนื่องเพื่อตอบโจทย์ให้ครบวงจร เช่น กาวและยาแนว ประตู หน้าต่าง ชุดเฟอร์นิเจอร์ครัว และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้สามารถทำยอดขายได้มากกว่าปีละ 300 ล้านบาทแล้ว

    4.M&P (Merger & Partnership) ควบรวมกิจการและสร้างความร่วมมือ

    SCGP มีแนวทางธุรกิจที่จะควบรวมกิจการ หรือสร้างความร่วมมือกับเจ้าของกิจการเดิม ในธุรกิจตกแต่งพื้นผิว ธุรกิจสุขภัณฑ์ และธุรกิจผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

    อัตราการทำกำไรของ SCGP เป็นประเด็นที่นักลงทุนจับตา เพราะในปี 2566 อัตรากำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 1.64% เท่านั้น แต่จากการลงทุนเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและปรับปรุงประสิทธิภาพทั้งหมด ทำให้เมื่อไตรมาส 1/67 บริษัทสามารถทำอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3.80% ได้แล้ว และนำพลเชื่อว่าจากโครงการลดต้นทุนที่ยังมีต่อเนื่องจะทำให้บริษัทลดต้นทุนได้มากกว่านี้ในอนาคต

    ]]>
    1470826
    ขึ้นอีก! “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” จะปรับราคาเพิ่มอีก 5% ‘COTTO’ อ่วมต้นทุนค่าไฟ กำไรปี’65 หดแรง https://positioningmag.com/1416603 Wed, 25 Jan 2023 07:08:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1416603
  • COTTO รายงานผลประกอบการปี 2565 รายได้เติบโต 17% แต่บรรทัดสุดท้ายขาดทุน 228 ล้านบาท จากการต้องหยุดสายการผลิตแผ่นหินประดิษฐ์ขนาดใหญ่เพราะขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้า-ก๊าซยังสูงขึ้นต่อเนื่อง
  • คาดว่าปี 2566 จะยังต้องปรับราคาสินค้า “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” อีก 5% เพื่อให้สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้า
  • ขณะที่ภาพรวมตลาดสัญญาณไม่ดี ยังทรงๆ ทั้งภายในประเทศและตลาดส่งออก
  • ปี 2565 ถือเป็นปีแห่งความผันผวนของ บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ หรือ COTTO จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีผลโดยอ้อมแต่กระทบเต็มๆ กับการผลิตสินค้ากลุ่มกระเบื้อง-สุขภัณฑ์ เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีก่อน และหนักที่สุดในช่วงไตรมาส 4

    “นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ COTTO สรุปผลประกอบการปี 2565 ของบริษัท ทำรายได้รวม 13,157 ล้านบาท เติบโต 17% จากปีก่อนหน้า แต่บริษัทขาดทุน 228 ล้านบาท ลดลง -139% เทียบกับปีก่อนหน้า

    “นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ COTTO

    เหตุที่ขาดทุนหนักมาจากไตรมาสสุดท้ายซึ่งบริษัทต้องหยุดสายการผลิตแผ่นหินประดิษฐ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตไม่ได้ จึงเป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่กระแสเงินสดยังคงปกติ

    ถึงแม้ว่าจะหักรายการสำคัญ (Key Items) ดังกล่าวออก กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทยังลดลง -13% จากปีก่อนหน้า เหลือ 469 ล้านบาท เพราะต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงจากการขึ้นค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซธรรมชาติ กระทบหนักที่สุดในช่วงไตรมาส 4/2565

    ช่วงไตรมาสสุดท้ายเองยังเห็นสัญญาณการชะลอตัวของตลาดด้วย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่กำลังซื้อเริ่มลดลง รวมถึงตลาดส่งออกหลักของบริษัท คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา (CLM) ชะลอการนำเข้าสินค้าเนื่องจากความผันผวนของค่าเงินแลกเปลี่ยน

    กำไรของ บมจ.เอสซีจี เซรามิกส์ ปี 2565

    ปรับราคาขึ้นอีก 5% ตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้

    นำพลกล่าวต่อว่า จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น บริษัทมีการดำเนินงานหลายประการเพื่อรับมือวิกฤตไปแล้ว เช่น

    • เริ่มปรับปรุงสายการผลิตและเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงาน
    • มีการติดตั้งแหล่งพลังงานโซลาร์ในโรงงานเพื่อลดค่าไฟฟ้า
    • ปรับราคาขึ้น โดยปรับขึ้นไปแล้วเฉลี่ย 10% ในช่วงปี 2565 ทั้งนี้ ยังไม่สามารถปรับราคาได้ทุกรายการ เพราะราคายังต้องแข่งขันได้กับสินค้าที่มีผู้นำเข้า
    • ผลักดันกลุ่มสินค้านวัตกรรม เพื่อหนีจากการแข่งขันกับตลาดผู้นำเข้า
    COTTO
    สินค้ารักษ์โลก Eco Collection ใช้ทรัพยากรรีไซเคิล 80% ของวัสดุที่ใช้ผลิต

    ปี 2566 ก็จะยังเห็น COTTO ต่อสู้กับวิกฤตค่าพลังงาน เพราะเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีแรกนี้ค่าไฟฟ้าจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง และค่าก๊าซธรรมชาติจะยังทรงตัวในระดับสูง ต้องรอดูครึ่งปีหลังว่าค่าพลังงานจะมีทีท่าปรับลดหรือไม่

    บริษัทจึงมีการตั้งงบลงทุน 400-450 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนในโครงการลดพลังงาน เช่น การติดตั้งโซลาร์เพิ่มเติม และปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อลดการใช้พลังงานเพิ่มอีก

    ส่วนการปรับราคาสินค้าขึ้นนั้น เนื่องจากต้นทุนพลังงานทั้งหมดที่ขึ้นมาจนถึงขณะนี้คิดเป็นประมาณ 15% ทำให้ราคาที่ปรับขึ้นมา 10% เมื่อปีก่อนยังไม่สะท้อนต้นทุนทั้งหมด จึงจะมีการทยอยปรับราคาขึ้นอีกประมาณ 5% เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้

     

    สัญญาณตลาดไม่ดี ปี’66 ยังเหนื่อย

    ด้านภาพรวมตลาดปี 2566 นำพลมองว่า ตลาดรวมปีนี้น่าจะ ‘ไม่โต’ หรือโตน้อย เพราะถึงแม้ว่ากลุ่มดีเวลอปเปอร์จะมีการพัฒนาโครงการใหม่ แต่ตลาดรายย่อย กลุ่มสร้างบ้านหรือซ่อมแซมบ้านจะหดตัวลง (ยกเว้นในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ที่น่าจะมีการปรับปรุงโรงแรมเพื่อตอบรับการท่องเที่ยว) เมื่อถัวเฉลี่ยกันแล้วจึงทำให้ตลาดไม่เติบโตมากนักในแง่ปริมาณการขาย

    ส่วนภาคการส่งออก เชื่อว่าครึ่งปีแรกจะยังมีปัญหาเดิมต่อเนื่องคือประเทศ CLM ชะลอนำเข้าจากค่าเงินที่ผันผวน ต้องรอติดตามครึ่งปีหลังอีกครั้ง

    สำหรับ COTTO ปี 2566 จึงมองว่าปริมาณการขายไม่น่าจะเติบโตมากนัก แต่ตัวเลขรายได้น่าจะโต 5% จากการปรับขึ้นราคา ส่วนกำไรจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการลดต้นทุน ซึ่งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถฝ่าวิกฤตพลังงานไปได้

    ]]>
    1416603
    ต้นทุนพลังงานบีบ COTTO ขึ้นราคา “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” ครึ่งปีหลัง’65 อาจปรับอีก 1-2% https://positioningmag.com/1394143 Wed, 27 Jul 2022 07:10:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1394143 กำไรของ COTTO รายใหญ่ “กระเบื้อง-สุขภัณฑ์” ช่วงไตรมาส 2/65 มีสะดุดลดลง 6% YoY หลังจากเจอต้นทุนพลังงานพุ่ง แม้จะปรับราคาขึ้นมาแล้ว 3-4% ในช่วงครึ่งปีแรก ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าอาจจะปรับราคาขึ้นอีก 1-2% เพื่อให้ทันต้นทุน อย่างไรก็ตาม ยอดขายเติบโตดีเพราะดีเวลอปเปอร์เร่งการก่อสร้างหนีต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงยอดขายประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น

    ต้นทุนพลังงานมีผลกับทุกอุตสาหกรรมรวมถึงการผลิตวัสดุก่อสร้าง “นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 บริษัทมีรายได้จากการขาย 3,376 ล้านบาท เติบโต 19% YoY ทำกำไรสุทธิ 167 ล้านบาท ซึ่งลดลง 6% YoY

    สาเหตุจากต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยต้นทุนพลังงานในไตรมาส 2/65 ปรับขึ้นถึง 30% เทียบกับไตรมาสแรก ทำให้การปรับราคาขึ้นไม่ทันต่อต้นทุน

    อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมครึ่งปีแรก 2565 บริษัทยังสร้างผลการดำเนินงานได้ดี มียอดขายรวม 6,606 ล้านบาท เติบโต 17% YoY ทำกำไรสุทธิ 378 ล้านบาท เติบโต 4% YoY

    “นำพล มะลิชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน)

    เห็นได้ว่ายอดขายที่เติบโตสูงเทียบกับปีก่อน ทำให้บริษัทยังทำกำไรเติบโตได้ แม้จะเผชิญกับอุปสรรคด้านต้นทุนพลังงาน โดยครึ่งปีแรกนี้สัดส่วนยอดขาย 80% มาจากตลาดในประเทศ และ 20% มาจากต่างประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา

    โดยเฉพาะเมียนมามีตลาดที่สดใสขึ้นมากหลังสถานการณ์การเมืองและ COVID-19 เริ่มมีเสถียรภาพ ทำให้ดีมานด์ที่ชะลอไปในช่วงปีก่อนกลับมาใหม่ในปีนี้ รวมถึงคู่แข่งสำคัญคือกระเบื้องจากจีนเริ่มต้องปรับราคาขึ้นเช่นกันเพราะต้นทุนที่สูงขึ้น กระเบื้องจากไทยจึงสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น

     

    ราคาวัสดุเซรามิกส์ขึ้นตามค่าพลังงาน

    นำพลกล่าวว่า การขึ้นราคาวัสดุเซรามิกส์ปีนี้ COTTO ปรับขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนเมษายนปรับขึ้นมา 2% และปรับอีกครั้งเดือนมิถุนายนอีก 1-2% คาดว่าครึ่งปีหลังอาจจะยังต้องปรับอีก 1-2% เพื่อให้ทันต่อราคาต้นทุนพลังงาน แต่บริษัทจะระมัดระวังราคาให้สอดคล้องกับคู่แข่งทั้งในประเทศและจากต่างประเทศด้วย

    ในอีกแง่หนึ่ง การทยอยปรับขึ้นราคาก็มีผลต่อกลุ่มผู้พัฒนาโครงการด้วย จะเห็นได้ว่าดีเวลอปเปอร์ต่างเร่งการก่อสร้างอย่างหนักในไตรมาส 2 เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มอีกในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ปริมาณการขายของบริษัทดีขึ้น โดยครึ่งปีแรกมีการขายกระเบื้องไป 39.7 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นถึง 14% YoY

    ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ COTTO กระเบื้อง Eco Collection นำเศษวัสดุ (waste) กลับมาใช้ใหม่ในการผลิต

     

    ภาพรวมดีขึ้นจากปี’64

    แม้จะเผชิญปัญหาต้นทุนพลังงานและเงินเฟ้อ แต่นำพลมองว่า ปี 2565 นี้น่าจะยังดีกว่าปี 2564 เพราะปีก่อนตลาดชะลอไปมากช่วงครึ่งปีหลังที่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ปีนี้มีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งทำให้ดีมานด์การรีโนเวตโรงแรมห้องพักตามหัวเมืองท่องเที่ยวมีสูงขึ้น ช่วยชดเชยตลาดรีโนเวตบ้านเก่าที่อาจจะชะลอตัวไปบ้างโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดกลางถึงล่างที่อ่อนไหวต่อค่าครองชีพ

    ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทจะยังคงมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีงบลงทุน 350-400 ล้านบาท ส่วนใหญ่นำไปใช้ปรับปรุงการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการขยายสาขา “คลังเซรามิก” ร่วมกับพาร์ทเนอร์ (ขณะนี้มี 83 สาขา และมีเป้าหมายจะครบ 100 สาขาในปี 2566) อีกส่วนหนึ่งจะลงทุนร่วมกับจอยต์เวนเจอร์ในกัมพูชา เปิดร้านค้าปลีกของ COTTO เป็นแห่งแรกของกัมพูชาที่เมืองปอยเปต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ในปีหน้า

    โดยสรุปแล้ว นำพลกล่าวถึงการคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีบริษัทคาดว่าปี 2565 จะทำกำไรเติบโตจากปีก่อนได้ 5% แต่ถ้าหากสถานการณ์ค่าพลังงานยังผันผวนต่อเนื่อง เชื่อว่าโดยรวมทั้งปีการเติบโตก็น่าจะใกล้เคียงกับการเติบโตของครึ่งปีแรก

    ]]>
    1394143
    COTTO ประเมินตลาด “กระเบื้อง” 2564 ลุ้นไม่ติดลบ แตกไลน์รับติด “โซลาร์” โรงงาน-ห้างฯ https://positioningmag.com/1316543 Wed, 27 Jan 2021 06:29:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1316543 เอสซีจี เซรามิกส์ หรือ COTTO รายได้ปี 2563 ลดลง -10% แต่ทำกำไรอู้ฟู่เติบโต 150% จากการปรับโครงสร้างในองค์กร ต้นทุนก๊าซธรรมชาติลดลง ประเมินปี 2564 มูลค่าตลาดกระเบื้องไทยยังทรงตัวจากพิษ COVID-19 จำนวนโครงการสร้างใหม่ไม่สูง ส่งออกเจอปิดพรมแดน บริษัทเลือกแตกไลน์ปั้นแบรนด์ SUSUNN โซลูชันติดตั้งแผงโซลาร์ในโรงงาน-ห้างสรรพสินค้า

    “นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO สรุปผลการดำเนินงานของบริษัทปี 2563 มียอดขายรวม 9,951 ล้านบาท ลดลง -10% จากปีก่อนหน้า แต่ทำกำไรสุทธิ 420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 150% จากปีก่อนหน้า

    เหตุผลของรายได้ที่ลดลงแน่นอนว่ามาจาก COVID-19 ทำให้ตลาดทั้งหมดหดตัว โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1-2 ของปี ก่อนจะกระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศ CLM (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 19% ของยอดขายรวม เริ่มมีอาการสะดุดในช่วงปลายไตรมาส 4/63 เพราะประเทศเพื่อนบ้านพบการระบาดรอบใหม่และมีการปิดชายแดน ทำให้การส่งออกลำบากมากขึ้น

    ส่วนสาเหตุที่แม้ยอดขายจะลด แต่กำไรกลับเพิ่มขึ้น เกิดจากการปรับปรุงภายในองค์กรต่อเนื่องมา 2-3 ปี มีการยุบรวมบริษัทย่อย และจัดการสายการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้นทุนการผลิตค่าก๊าซธรรมชาติลดลงเมื่อปีก่อน ทำให้ต้นทุนต่ำลง

    จากคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการบริษัทฯ สำหรับงวดปี 2563 ระบุว่า COTTO มีการจ่ายเงินชดเชยลูกจ้างถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 124 ล้านบาท เห็นได้ว่ายังเป็นอีกปีที่บริษัทมีการลดขนาดองค์กร และได้ผลเป็นอัตรากำไรที่ดีขึ้นมากโดยอยู่ที่ 4.2% เทียบกับปี 2561 บริษัทเคยมีอัตรากำไรบางมากเพียง 0.08% ซึ่งแทบจะเข้าสู่ภาวะขาดทุน

     

    ปี 2564 เหนื่อยต่ออีกปี ลุ้นตลาดไม่ติดลบ

    นำพลกล่าวต่อว่า ตลาดรวมกระเบื้องไทยปี 2563 มีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท มีการผลิตจำหน่ายรวม 165-170 ล้านตร.ม. ส่วนปี 2564 ยังประเมินได้ยากมากเนื่องจากเกิดการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 และเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งปกติจะเป็นหน้าขายของตลาดกระเบื้อง

    ดังนั้น มองว่าไตรมาส 1-2 ปีนี้ตลาดน่าจะชะลอตัวเล็กน้อย แต่ถ้าวัคซีน COVID-19 มาตามแผนงานที่รัฐวางไว้ เชื่อว่า ไตรมาส 3-4 จะฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้ถัวเฉลี่ยตลอดปีตลาดน่าจะทรงตัวไม่ติดลบ

    “เป้าหมายทั้งปี’64 น่าจะพูดยาก ต้องรออย่างน้อยให้พ้นไตรมาส 1 ไปก่อนถึงจะประเมินได้” นำพลกล่าว “ตอนนี้ทีมงานเราแทบจะทำงานสัปดาห์ต่อสัปดาห์อยู่แล้ว” พร้อมเสริมว่า ปัจจัยสำคัญของปีนี้คือหวังว่าจะไม่มีการระบาดหนักถึงขั้นล็อกดาวน์อีกครั้ง

    แผ่นปูพื้น LT แบบ Smart Flexible by COTTO สินค้าประเภท High Value ชนิดใหม่ที่หวังจะใช้ตีตลาดรีโนเวตบ้านปีนี้

    ด้านภาพรวมลูกค้าแต่ละกลุ่ม แยกเป็นกลุ่มตลาดในประเทศ กลุ่มลูกค้าโครงการสร้างใหม่ คาดว่าจะยังมีจำนวนโครงการไม่สูงมากด้วยสภาพเศรษฐกิจ มีสัญญาณบวกจากกลุ่มดีเวลอปเปอร์บ้างว่าน่าจะมีการเปิดโครงการใหม่สูงกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ต้องจับตามองใกล้ชิดเพราะอาจมีการเลื่อนแผนได้เสมอหากสถานการณ์ไม่ดี ขณะที่ กลุ่มลูกค้ารีโนเวตบ้าน เป็นกลุ่มที่ตั้งความหวังว่าจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันยอดขาย อาจทรงตัวถึงบวกได้เล็กน้อย

    ส่วน ตลาดส่งออกต่างประเทศ ตั้งเป้าจะรักษาระดับสัดส่วน 18-20% ในยอดขายรวม และเชื่อว่าจะโตได้มากกว่าตลาดในประเทศ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ COVID-19 จะดีขึ้นหรือไม่

     

    แตกไลน์รับติดแผงโซลาร์โรงงาน-ห้างฯ

    ปีนี้ยังเป็นปีที่ COTTO จะแตกไลน์ไปทำธุรกิจโซลาร์อย่างเต็มตัว หลังจากเริ่มเปิดตัวปีก่อนบ้างแล้ว โดยใช้แบรนด์ SUSUNN ในการทำตลาด

    ผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์แบรนด์ SUSUNN

    บริการของ SUSUNN จะทำแบบโซลูชันครบวงจร รับติดตั้งและบริหารจัดการแผงโซลาร์ ซ่อมบำรุงให้ มีแอปพลิเคชันติดตามการใช้งาน โดยมุ่งเป้าไปที่ กลุ่มลูกค้า B2B เน้นกลุ่มโรงงานนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มห้างสรรพสินค้า สามารถนำไปติดบนหลังคาลานจอดรถได้ ส่วนกลุ่มลูกค้า B2C ยังไม่อยู่ในแผนขณะนี้

    นำพลกล่าวว่า ตั้งเป้าปีนี้จะขายได้ 30-50 เมกะวัตต์ หรือถ้าเป็นเป้ารายได้ ต้องการให้ถึงสัดส่วน 5% ของรายได้รวมบริษัท โดยปัจจุบันมีลูกค้าประจำที่ติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว แต่ยังต้องทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เพิ่มเพื่อให้รับรู้เป็นวงกว้างขึ้น

    ]]>
    1316543
    “เอสซีจี” เปิดโมเดลลดต้นทุน ผนึกดีลเลอร์ท้องถิ่นเปิดร้าน “คลังเซรามิค” สู้ตลาดกระเบื้องซบ https://positioningmag.com/1261850 Fri, 24 Jan 2020 11:29:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261850
  • เอสซีจี เซรามิกส์ ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องในเครือเอสซีจี เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ของร้าน “คลังเซรามิค” เปลี่ยนจากการลุยเปิดตลาดเอง เป็นการผนึกดีลเลอร์ท้องถิ่น เปิดพื้นที่ในร้านเพื่อลงสินค้าให้หลากหลาย หวังปั้นยอดขายปลีกเพิ่ม
  • บริษัทต้องทำงานหนักต่อเนื่องในปี 2563 หลังปี 2562 เผชิญสภาพตลาดซบเซาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ทำให้รายได้ทั้งปีของเอสซีจี เซรามิกส์ ลดลง 4% อย่างไรก็ตาม กำไรเติบโตขึ้นจากการลดต้นทุน
  • แผนปี 2563 บริษัทจะรุกหนักในตลาดเมียนมาซึ่งเติบโตได้ดี พร้อมออกกระเบื้องดีไซน์รองรับสังคมผู้สูงวัย ดึงยอดขายจากกลุ่มลูกค้ารีโนเวตบ้าน
  • ปีที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่สู้ดีนัก ส่งผลต่อเนื่องถึงธุรกิจกระเบื้องในมือ “เอสซีจี เซรามิกส์” ทำให้บริษัทต้องไล่บี้ยอดขายมากกว่าที่เคย หนึ่งในนั้นคือการเปิดโมเดลความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ให้กับร้าน “คลังเซรามิค” ร้านขายกระเบื้องของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เจาะตลาดต่างจังหวัดในกลุ่มสินค้าระดับกลางถึงล่าง

    “นำพล มลิชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องแบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยถึงโมเดลใหม่ดังกล่าวว่า ปกติแล้วคลังเซรามิคจะเป็นร้านที่เอสซีจีดำเนินการเอง ทั้งการหาทำเลตั้งร้าน เช่าที่ดิน ก่อสร้างอาคาร และดำเนินธุรกิจ แต่โมเดลใหม่นี้ จะเป็นความร่วมมือกับดีลเลอร์กระเบื้องเอสซีจีในท้องถิ่น เรียกว่าระบบ “คลังเซรามิค แฟมิลี”

    คลังเซรามิค แฟมิลี เป็นโมเดลที่เอสซีจีขอเช่าพื้นที่ร้านของดีลเลอร์ในท้องถิ่นเพื่อลงสินค้าขายภายใต้แบรนด์ร้านคลังเซรามิค สิ่งที่เอสซีจีจะได้คือ ได้ร้านทำเลดีและคนท้องถิ่นรู้จักอยู่แล้ว รวมถึงโอกาสขายที่มากขึ้นจากการนำกระเบื้องหลากหลายรูปแบบไปลงจำหน่าย จากเดิมที่ขึ้นอยู่กับดีลเลอร์ประเมินความต้องการตลาดและสั่งซื้อ ส่วนดีลเลอร์จะได้รับค่าเช่าพื้นที่ ค่าคอมมิชชั่นจากการขาย และไม่ต้องเสี่ยงลงทุนซื้อสินค้ามาสต็อกเองทั้งหมด

    คลังเซรามิค แฟมิลี สาขาแรก ร่วมทำธุรกิจกับ บริษัท ไถ่เชียงระนอง จำกัด

    “โมเดลนี้ช่วยลดต้นทุนให้เรา จากร้านที่ลงทุนเองจะใช้เงินลงทุน 6-10 ล้านบาทต่อสาขา เหลือเพียง 3-5 ล้านบาทต่อสาขา เพราะไม่ต้องสร้างอาคารขึ้นใหม่” นำพลกล่าว

    คลังเซรามิคมีสาขาทั้งหมด 28 สาขาในปัจจุบัน แบ่งเป็นร้านที่ลงทุนเองทั้งหมด 25 สาขา และ 3 สาขาใหม่เป็นคลังเซรามิค แฟมิลี ได้แก่ที่ร่วมมือกับ บริษัท ไถ่เชียงระนอง จำกัด จ.ระนอง, บริษัท ชลบุรีอึ้งย่งล้ง จำกัด จ.ชลบุรี และ บริษัท นาบอน วัสดุภัณฑ์ จำกัด จ.ภูเก็ต

    นำพลกล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะขยายสาขาคลังเซรามิคให้ถึง 100 สาขาภายใน 3 ปี และจะเน้นหนักโมเดลแบบแฟมิลี โดยมีดีลเลอร์ที่กำลังเจรจาแล้ว 15 ราย จะเปิดในพื้นที่ที่บริษัทมองว่ายังมียอดขายต่ำและต้องการดันยอดขายนั้นขึ้น

    ปี 2562 ตลาดกระเบื้องซบจากภัยแล้ง-มาตรการ LTV

    โมเดลร้านค้าแบบใหม่นี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การปรับตัวของเอสซีจี เซรามิกส์ ตอบรับสถานการณ์ตลาดปีก่อนที่ไม่สู้ดีนักโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง โดยนำพลฉายภาพว่า ช่วงไตรมาสที่ 3 ประเทศไทยเกิดภัยแล้งและราคาพืชผลตกต่ำทำให้ขาดกำลังซื้อในต่างจังหวัด ต่อด้วยไตรมาสที่ 4 ผลของมาตรการเข้มงวดอัตรา LTV สินเชื่อบ้านที่เริ่มบังคับใช้ในไตรมาส 2 เริ่มส่งผลลูกโซ่มาถึงภาคการก่อสร้าง เพราะบรรดาบริษัทอสังหาฯ เริ่มชะลอการสร้างบ้านในช่วงนี้

    “นำพล มะลิชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน)

    ภาวะดังกล่าวทำให้มูลค่าตลาดกระเบื้องของไทยปี 2562 อยู่ที่ราว 3.0-3.5 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อนหน้า และมีผลกับเอสซีจี เซรามิกส์เช่นกัน โดยบริษัททำรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 11,074 ล้านบาท ลดลง 4% จากปี 2561 เจาะลึกในสัดส่วนรายได้พบว่า บริษัทยังรักษาตลาดภายในประเทศได้ แต่รายได้จากการส่งออกลดลง โดยสัดส่วนรายได้การส่งออกในรายได้รวมลดจาก 22% เหลือ 18%

    อย่างไรก็ตาม นำพลชี้ว่ากำไรสุทธิรวมทั้งปี 2562 ของบริษัทอยู่ที่ 168 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2561 ที่มีกำไร 10 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทปรับโครงสร้างองค์กรเรียบร้อยแล้ว มีการยุบรวมแหล่งผลิตและลดพนักงานลง 10-15% จนปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมดราว 3,700 คน การปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ทำให้บริษัทลดต้นทุนไปได้ 3-5% พร้อมรับมือตลาดปี 2563 ที่มีทีท่าจะยังไม่ดีขึ้น

    ปีชวด(อาจ)ต้องเหนื่อยต่อ

    สถานการณ์ตลาดกระเบื้องปีนี้ยังคงไม่สดใส โดยนำพลประเมินเฉพาะไตรมาส 1 เชื่อว่าจะยังเป็นภาพต่อเนื่องของปีก่อน ส่วนตลอดปียังประเมินยาก ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนปัจจัยการผ่อนคลายความเข้มงวดอัตรา LTV สินเชื่อบ้านของแบงก์ชาติ มองว่ายังไม่เห็นผล

    ดังนั้น เอสซีจี เซรามิกส์ มองเป็นสองกรณี คือถ้าหากตลาดรวมทรงตัวเท่ากับปีก่อนหรือดีขึ้น บริษัทตั้งเป้าโต 3-5% แต่ถ้าหากตลาดรวมชะลอตัวลง บริษัทวางเป้าทรงตัวเท่ากับปีก่อน

    “บ้านสร้างใหม่มีแนวโน้มชะลอตัว แต่การรีโนเวตบ้านน่าจะทรงตัวจนถึงเติบโตเล็กน้อย” นำพลกล่าว ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายของกระเบื้องเอสซีจี มาจากการขายปลีกให้กลุ่มลูกค้าสร้างบ้านเองหรือรีโนเวตบ้าน 60-70% ขณะที่ขายเข้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย 30-40%

    ด้านกลยุทธ์รับมือตลาดที่ท้าทายในปีนี้ นำพลกล่าวว่าบริษัทจะรุกตลาด CLM (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเมียนมา ซึ่งเติบโตดี ขยายตัวปีละ 10%

    รวมถึงในกลุ่มแบรนด์คอตโต้ ซึ่งเป็นสินค้าตลาดกลางถึงบน จะเน้นดีไซน์กระเบื้องปลอดภัย ไม่ลื่น ตอบรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ทำให้ผู้บริโภครีโนเวตบ้านเพื่อดูแลคนในบ้านกันมากขึ้น

    “ปีนี้เรามองว่าจะเติบโตสูงกว่าตลาดได้ เพราะปรับโครงสร้างองค์กรเรียบร้อยแล้ว ทำให้แข่งขันได้ดีขึ้น” นำพลกล่าว

    ]]>
    1261850