การส่งออก – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 23 Jan 2021 06:03:35 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สรุป 5 ข้อจาก SCB EIC “ส่งออกไทย” สิ้นปี 2563 และคาดการณ์ปี 2564 หลังการระบาดรอบใหม่ https://positioningmag.com/1315978 Sat, 23 Jan 2021 05:44:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1315978 ภาคการส่งออกไทยปี 2563 เผชิญวิกฤต COVID-19 รวมทั้งปีหดตัว -6.0% โดยปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมก่อนจะเผชิญผลกระทบของการระบาดรอบใหม่ ทำให้ SCB EIC ปรับการคาดการณ์ส่งออกไทยปี 2564 เติบโตเพียง +4.0% จากเดิมเคยประเมินว่าจะโต +4.7% อ่านสรุป 5 ข้อสรุปส่งออกไทยปี 2563 และประเมินส่งออกไทยปีนี้ที่นี่
1) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวภาคส่งออกปี 2564 เป็น +4.0% (จากเดิม +4.7%)

ปี 2563 ภาคการส่งออกติดลบ -6.0% (รวมการส่งออกทองคำและอาวุธ) โดยเดือนธันวาคม 2563 ฟื้นตัวดี +4.7% YoY แต่เกิดการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ในช่วงปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้ จะมีผลกระทบระยะสั้นต่อการส่งออก ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ทำให้ SCB EIC ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวลดลงเหลือโต +4.0% (จากเดิมคาดการณ์ +4.7%)

“ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะสั้น”

  • เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ทั่วโลก
  • ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
  • เงินบาทแข็งค่า กระทบสินค้าเกษตรเป็นหลัก
  • การระบาดของ COVID-19 ในไทยส่งผลต่อการส่งออกอาหารทะเล และการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ
2) สินค้าส่งออกเด่น : สินค้าที่เกี่ยวกับ Work from Home หรือสุขอนามัย

สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานจากบ้านอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เติบโตต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคม’63 และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อในปีนี้ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ +15.5% YoY, เครื่องซักผ้า +10.2% YoY, เครื่องปรับอากาศ +8.4% YoY, โทรศัพท์ โทรสาร และอุปกรณ์ +33.9% YoY, อาหารสัตว์เลี้ยง +25.7% YoY

สินค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัยก็เติบโตเช่นกัน โดยเฉพาะ “ถุงมือยาง” ที่โตถึง +220.3% YoY ส่วนเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์โต +18.3% YoY

3) สินค้าส่งออกหดตัว : อุตสาหกรรมเกษตรและน้ำมันสำเร็จรูป

ในทางกลับกัน สินค้าที่ยังหดตัวเมื่อเดือนธันวาคม’63 ได้แก่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ทั้งหมวดติดลบ -7.5% YoY กลุ่มที่หดตัวมากคือ “น้ำตาลทราย” -75.4% YoY และเครื่องดื่ม -11.5% YoY รวมถึงการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัว -16.6% YoY

4) ตลาดโตแรงที่สุด : สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย

การส่งออกเดือนธันวาคม’63 พบสัญญาณตลาดสำคัญกลับมาเติบโตแรงทั้งหมด ยกเว้นยุโรปที่ยังติดลบ -2.4% YoY ประเทศกลุ่ม CLMV ติดลบ -6.3% YoY และประเทศกลุ่มอาเซียน 5 ยังโตไม่มาก +0.8% YoY ส่วนประเทศที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่

  • สหรัฐฯ +15.7% YoY จากการส่งออกคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์
  • ออสเตรเลีย +15.3% YoY จากการส่งออกรถยนต์ อัญมณี เครื่องปรับอากาศ
  • ญี่ปุ่น +14.8% YoY จากการส่งออกรถยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร
  • อินเดีย +14.5% YoY จากการส่งออกรถยนต์และเคมีภัณฑ์
  • จีน +7.2% YoY จากการส่งออกคอมพิวเตอร์ ผลไม้สด-แห้ง มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์

5) จับตา “ยางล้อรถยนต์” ตัดสินผลการทุ่มตลาดกลางปีนี้

ผลิตภัณฑ์สำคัญอย่าง “ยางล้อรถยนต์” ของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ระหว่างนี้จะถูกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดในอัตรา 13.25-22.21% ไปก่อน ระหว่างรอผลการไต่สวนการทุ่มตลาดชั้นที่สุดช่วงกลางปี อัตราภาษีที่ถูกเก็บจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ SCB EIC มองว่ายังแข่งขันได้กับประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ที่จะถูกเก็บภาษีสูงกว่า คือ เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ส่วนผู้ส่งออกเวียดนามต้องจับตาว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าใด

อ่านเพิ่มเติม

]]>
1315978
เศรษฐกิจไทยมีหวัง! กรุงศรี คาด GDP ปี 64 โต 3.3% ส่งออกดี-ท่องเที่ยวซบยาว การเมืองกระทบ “ลงทุน” https://positioningmag.com/1307537 Wed, 25 Nov 2020 09:30:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307537 ปีหน้ายังมีหวัง เศรษฐกิจไทยจะฟิ้นตัว เเต่ไม่หวือหวามากนักเเบงก์กรุงศรีปรับจีดีพี ปี 2564 ดีขึ้นเป็น 3.3% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.9% จากเเรงหนุนส่งออก ลงทุนภาครัฐ บวกอานิสงส์ต่างประเทศเริ่มฟื้น ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวยังต้องรอชาวต่างชาตินานถึงปลายปีหน้า

ปัญหาการเมืองยืดเยื้อ กระทบจีดีพี 0.6-1.1% มีผลต่อการลงทุนเเละความเชื่อมั่น มองไทยเข้าร่วม RCEP เปิดตลาดเสรี คือโอกาสหนุนเศรษฐกิจโตในระยะยาว 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 อยู่ที่ 3.3% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.9%

พร้อมๆ กับการปรับจีดีพี ปี 2563 จาก -10.3% มาอยู่ที่ -6.4% เนื่องจากเห็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวมาตั้งเเต่ช่วงไตรมาสที่ 3 จากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีการเร่งตัวขึ้น และการส่งออกที่ดีเกินคาดโดยล่าสุดการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นทุกหมวดสินค้า

คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะกลับมาเป็นบวกได้ ตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า การเร่งใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ

การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 10.5% ในปีหน้า จะเป็นตัวผลักดันภาคการบริโภคขยายตัว 2.5% จากปีนี้ -1.1% และการลงทุนในประเทศโต 3.2% จาก -11% ในปีนี้

ส่วนความท้าทายที่รออยู่นั้น วิจัยกรุงศรีฯ มองว่า หลักๆ คือปัจจัยลบจากสถานการณ์ในประเทศ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช้ากว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทำให้เกิดการว่างงาน ส่งต่อเป็นปัญหารายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภค

“คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ได้ในไตรมาส 3 ปี 2565” 

ท่องเที่ยวฟื้นช้า รอต่างชาติยาวถึงปลายปี 64

ผู้บริหารกรุงศรี มองว่า ภาคการท่องเที่ยว เป็นดัชนีชี้วัดเดียวที่ยังไม่มีหวังที่จะกลับมาในเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 จะอยู่ที่ 4 ล้านคน จากปีนี้อยู่ที่ 6.7 ล้านคน ซึ่งตอนนั้นยังพอมีนักท่องเที่ยวต่างชาติบ้างในช่วงไตรมาส 1

คาดว่าวัคซีน COVID-19 จะถูกนำมาใช้จริงในช่วงกลางปีหน้า เเต่ยังต้องใช้เวลาในการเเจกจ่ายให้ทั่วถึง ขึ้นอยู่กับนโยบายของเเต่ละประเทศ ทำให้การเปิดพรมเเดนรับนักท่องเที่ยวต้องใช้เวลานานยิ่งขึ้นไปอีก โดยความคืบหน้าด้านวัคซีน อาจเร่งให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4/2564”

ขณะที่การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน ปี 2563 มีการปรับคาดการณ์จาก -4.2% เป็น -1.1% และคาดว่าจะเติบโตที่ 2.5% ในปี 2564 โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่การใช้จ่ายในเกือบทุกหมวดสินค้าจะยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤต

“การใช้จ่ายของผู้บริโภคในปีนี้ จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ จากมาตรการให้เงินช่วยเหลือวงเงินมากกว่า 4 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 และมาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ในไตรมาส 4/2563”

ส่วนในปี 2564 กรุงศรีฯ มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (งบประมาณพิเศษของรัฐบาลวงเงิน 2 แสนล้านบาท) กำลังซื้อจากกลุ่มชั้นกลาง และกลุ่มที่มีรายได้สูง จะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง

การเมืองกระทบ “ลงทุน” 

สมประวิณ กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศนั้น อาจจะส่งผลให้จีดีพีของปี 2564 ลดลงราว 0.6% ถึง 1.1% และมีผลกระทบระยะยาว (ธนาคารได้รวมปัจจัยนี้ไว้ในการคาดการณ์จีดีพีที่ 3.3% ในกรณีที่ไม่เกิดเหตุรุนเเรง)

โดยมีการประเมินจาก เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งมีผลโดยตรงกับความเชื่อมั่น เเละการตัดสินใจในการเข้ามาทำธุรกิจ

มอง RCEP เปิดตลาดเสรี คือโอกาส

เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะ “เป็นบวก” ได้มาจาก “การส่งออก” ที่จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 4.5% จากปี 2563 ที่ -7.5% จากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน COVID-19 อุปกรณ์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home)

องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าการเติบโตของยอดส่งออกโลกจะเพิ่มขึ้น 7.2% ในปี 2564 จากคาดการณ์ที่ติดลบในปีนี้ -9.2% มีโอกาสการเติบโตในระยะปานกลาง จากภูมิภาคอาเซียนที่กำลังขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization)

“การเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทย ถือว่าเป็นปัจจัยหนุนต่อการช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป” 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ผู้บริหารกรุงศรี มองว่า ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันบนซัพพลายเชนโลก แสดงถึงโอกาสที่จะเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน ดังนั้นความร่วมมือ RCEP ที่เชื่อมโยงทั้งการค้าและห่วงโซ่อุปทานการผลิต จะเป็นโอกาสในการที่ประเทศไทย จะได้ขยายฐานการส่งออกไปสู่ประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น และเป็นกลุ่มประเทศที่ประชากรเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น ทำให้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยได้

ทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สรุปข้อเสนอเเนะเกี่ยวกับ “มาตรการช่วยเหลือ” ใน 4 ประเด็น ได้เเก่ 

  • การปรับโครงสร้างหนี้ เพราะจะช่วยให้ระบบการเงินขับเคลื่อนไปได้
  • สร้างสภาพคล่องในระบบ เเม้ว่าธุรกิจต่างๆ จะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติเเล้ว
  • สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นให้กลุ่มคนที่ “มีกำลังซื้อ” ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
  • ช่วยเหลือภาคท่องเที่ยว เช่นการลดภาษี กระตุ้นให้ผู้คนท่องเที่ยวในประเทศ

“ควรดำเนินการทันทีและทำให้เหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับของปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่ออกมาส่วนใหญ่ยังคงไม่เพียงพอ เเละยังขาดมาตรการที่ส่งเสริมการให้สินเชื่อใหม่”

 

]]>
1307537
สภาพัฒน์ มองปีนี้เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 1.5-2.5% จ่อโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี https://positioningmag.com/1264670 Mon, 17 Feb 2020 04:40:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264670 สภาพัฒน์​ เผยจีดีพีปี 2562 โต 2.4% หลังไตรมาสที่ 4 ขยายตัวแค่ 1.6% ส่วนปีนี้หั่นคาดการณ์จีดีพีเหลือ 1.5-2.5% เท่านั้น จ่อโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทยใน ไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ที่ผ่านมาว่า ขยายตัวร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2562 ร้อยละ 0.2 (%QoQ SA)

รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับร้อยละ 4.2 ในปี 2561 เเละเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยย่อตัวลงมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ได้แก่ ผลกระทบสงครามการค้าและการส่งออกที่ลดลง ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 63 ล่าช้า เกิดปัญหาภัยแล้ง และเงินบาทแข็งค่า

โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 3.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 2.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.8 ของจีดีพี

หั่นเป้าจีดี​พี​ปีนี้เหลือเเค่ 1.5 – 2.5 % จ่อโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 สศช.คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 (หรือเฉลี่ย 2% ต่อปี) ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามข้อจำกัดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ

ทั้งนี้ การประเมินจีดีพีดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่าสถานการณ์ไวรัสมรณะจะจบลงภาย 3 เดือน หรือราว เม.ย.-พ.ค. ทำให้มีนักท่องเที่ยว 37 ล้านคนสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.73 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลกตามการลดลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันการค้าและความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง

(2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ (3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ (4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 – 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.3 ของจีดีพี

โดย สศช. เเนะประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2563 ที่ควรให้ความสำคัญ ได้เเก่

(1) การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวในครึ่งปีหลัง

(2) การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยให้ความสำคัญกับ

  • การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของ ไวรัส
  • การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
  • การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี
  • การพิจารณาวันหยุด เพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจเเละการติดตามขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว

3) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.0 (ไม่รวมทองคำ) โดยการขับเคลื่อนแผนการส่งออกปี 2563 ดังนี้

  • การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัส
  • การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทย-จีน
  • การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

(4) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ ากว่าร้อยละ 91.2 ร้อยละ 70.0 และร้อยละ 75.0 ตามลำดับ

(5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การเร่งรัด การเจรจาความร่วมมือทางการค้าเเละการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติ

(6) การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกและฤดูกาลเก็บเกี่ยว กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชย และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำ

 

ที่มา : สภาพัฒน์

]]>
1264670
กนง. ปรับลดดอกเบี้ยเหลือแค่ 1% หลังประเมินเศรษฐกิจ​ไทยแย่กว่า​ที่คาด https://positioningmag.com/1263345 Wed, 05 Feb 2020 10:37:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263345 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยให้มีผลทันที

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้เเก่

  • การระบาดของไวรัสโคโรนา
  • ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี
  • ภัยแล้ง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

“ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง”

กนง. จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ โดยมองทิศทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ดังนี้

การท่องเที่ยวเเละส่งออก

มีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคด้วย

อุปสงค์ในประเทศ

การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้าและยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

โดยต้องติดตามผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ และภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

อัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานต่ำกว่าคาดเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง

ภาวะการเงิน

ที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อภาคธุรกิจมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

อัตราแลกเปลี่ยน

แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และสนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระบบการเงินโดยรวม

มีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังต่าง ๆ ที่ภาครัฐและ ธปท. ได้เร่งดำเนินการเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด

ทั้งนี้ กนง. จะติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย

]]>
1263345
เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ กนง. ประกาศคงดอกเบี้ย 1.25% หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือเเค่ 2.5% https://positioningmag.com/1257564 Wed, 18 Dec 2019 09:03:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257564 เป็นไปตามคาด วันนี้ (18 ธ.ค.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% เช่นเดิม ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตเพียงแค่ 2.5% จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% ส่วนปีหน้านั้น กนง. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียงแค่ 2.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.3%

โดยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากการส่งออกที่ลดลง ส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศเเละอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

“ปีหน้าจะขยายตัวดีกว่าปีนี้มาอยู่ที่ 2.8% เห็นสัญญาณของเศรษฐกิจโลกดีขึ้น อาจจะส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น” ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารเเห่งประเทศไทยกล่าว

กนง. มองว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพและต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

โดยมองทิศทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ดังนี้

การส่งออกสินค้า

ที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถ
ในการแข่งขันของภาคการส่งออก

ภาคการท่องเที่ยว 

มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

อุปสงค์ในประเทศ

การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ

การบริโภคภาคเอกชน

มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นแรงกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

อัตราเงินเฟ้อ

โดยเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

อัตราแลกเปลี่ยน- ค่าเงินบาท

แม้เงินบาททรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน แต่ในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

ติดตามความเสี่ยง : การกีดกันทางการค้า

จากสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งจะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลง
เชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในระยะต่อไป

ติดตามความเสี่ยง : สินเชื่อของธุรกิจ SMEs ด้อยลง – หนี้ของภาคครัวเรือน

กนง. มองว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคตโดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ที่ด้อยลง เเละเห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง

แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย

 

]]>
1257564
“กรุงศรี” คาด GDP ไทยปีหน้าโตแค่ 2.5% ย้ำเศรษฐกิจแค่ “ชะลอ” ยังไม่วิกฤต  https://positioningmag.com/1255734 Tue, 03 Dec 2019 11:38:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1255734 กรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภาวะชะลอ เชื่อการคลังและการเงินเตรียมออกมาตรการกระตุ้นในไตรมาสแรกปีหน้า

หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปีไม่สู้ดีนัก “สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY จึงปรับตัวคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีไทยปี 2562 เหลือ 2.4% จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าเติบโต 2.9% 

โดยปัญหาหลักมาจากการส่งออกที่คาดว่าติดลบถึง 2.5% ส่งผลให้การลงทุนปรับลดลงต่อเนื่อง การจ้างงานลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อแผ่วลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องในปีหน้า ดังนั้นจึงคาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.5% จากที่คาดว่าเติบโตได้ 3.5%

“เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงชะลอตัว โดยไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงถดถอย 27.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ 18% เมื่อไหร่ที่มีความเสี่ยงถึง 40% อีก 2 ไตรมาสจะเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าจะมีแนวโน้มโตไปในทางต่ำมากขึ้น”

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกไทยเติบโต 1.5% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่าจับตา ได้แก่ สงครามการค้า การที่สหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีหรือ GSP (Generalized System Preference) ส่งผลให้มีโอกาสกระทบกับภาคส่งออกไทยราว 0.9% นอกจากนี้ยังมีข้อตกลง FTA ระหว่างอียูและเวียดนาม และการแข็งค่าของบาทไทย ที่อาจจะไม่เร็วเท่าปีที่ผ่านมา แต่น่าจะยังแข็งค่าที่ 30 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในไทยเอง คาดว่ามาจากด้านนโยบาย ปัญหา Over Supply และปัญหาภัยแล้ง แต่ในส่วนเสถียรภาพและการเมืองยังไม่มีความเสี่ยงเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ถ้าการเมืองสะดุดเศรษฐกิจจะยิ่งแย่ เพราะความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ อาจส่งผลต่อการลงทุน โดยเฉพาะ Private Investment

ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มองว่าโอกาสของไทยจะมาจากการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเติบโตได้ 2-3 เดือนติด และคาดว่าอีก 7 ปีข้างหน้า ประชากรจีนจะถือพาสปอร์ตถึง 30% อีกทั้ง ชนชั้นกลางของจีนจะมีมากขึ้น ซึ่งชนชั้นกลางชื่นชอบประเทศไทย ต่อไปจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศถึง 18 ล้านคน/ปี ดังนั้นไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับให้ดี

นอกจากนี้ มองว่านโยบายการคลังยังมีช่องว่างช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แม้ว่าที่ผ่านมาได้ออกมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ไปแล้ว เนื่องจากปัจจุบันหนี้ต่อ GDP ไทยยังคิดเป็น 40% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้น อาจออกมาตรการเกี่ยวกับภาษี เพื่อกระตุ้นได้อีก ในส่วนของภาคการเงินยิ่งต้องจับตา แม้ตอนนี้นโยบายการเงินจะผ่อนคลาย มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ถึง 2 ครั้ง แต่คาดว่าปีหน้าจะปรับลงได้อีกและเป็นระดับต่ำสุดที่เคยมีมา แต่จะให้สิทธิ์เฉพาะกลุ่ม เช่น จีนให้ sme กู้แบงก์ได้ถูกลง ดังนั้นไทยก็มีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น คาดว่าจะได้เห็นในช่วงไตรมาสแรกของปี

“บทบาทของการเงินและการคลังจะมีบทบาทมากกว่าปีนี้ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการคลังสำคัญมาก เนื่องจากเห็นผลเร็ว แต่ต้องดูจังหวะเวลา ตั้งเป้าหมายให้ถูกกลุ่ม และให้เงินที่เหมาะสม ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่การบรรเทา แต่เป็นการกระตุ้น ดังนั้นต้องโฟกัสให้คนที่มีกำลัง เช่น ชนชั้นกลาง โดยอาจจะออกมาตรการให้หัก ณ ที่จ่ายก็จะช่วยได้เยอะ”

ในส่วนของการส่งเสริมการส่งออกของภาครัฐ มองว่าไทยมีจุดแข็งด้านการผลิต แต่ไทยยังอยู่ในการผลิตแบบเดิม ขณะที่โลกเปลี่ยนไป ทุกประเทศกำลังแย่งกันผลิตพวกของใหม่ ๆ เช่น IoT ดังนั้นรัฐอาจจะต้องหาทางเสริมในส่วนนี้ และขอย้ำว่าวิกฤตเศรษฐกิจกับเศรษฐกิจชะลอตัวไม่เหมือนกัน ตอนนี้เศรษฐกิจชะลอหรือตัวถดถอย เป็นสิ่งที่รู้ตัว ดังนั้นตอนนี้ช่วงของการหาโอกาสต่าง ๆ.

]]>
1255734
จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์กระอัก! ฉุดยอดการส่งออก ผลจากพิษสงครามการค้า-เศรษฐกิจโลกทรุด https://positioningmag.com/1249763 Tue, 15 Oct 2019 06:07:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1249763 แม้พิษจากสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างและในหลายระนาบต่อประเทศคู่ค้า โดยที่ทั้งสองประเทศจะให้เหตุผลในการฟาดฟันกันด้วยกลยุทธ์ทางภาษีว่า ต้องการทวงถามความยุติธรรมทางการค้าระหว่างกันก็ตาม

กระนั้นไทยในฐานะประเทศคู่ค้า และไม่ได้มีบทบาทสำคัญในศึกการค้าครั้งนี้กลับได้รับผลกระทบไม่น้อย เมื่อสินค้าหลายชนิดถูกชะลอการสั่งซื้อ นั่นทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงอย่างน่าใจหาย ผลกระทบเป็นระลอกคลื่นนี้สะท้อนกลับมาภายในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แน่นอนว่า ไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอกจากสงครามการค้าเท่านั้นที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม เมื่อปัจจัยภายในประเทศอย่างกำลังซื้อของคนไทยที่ลดลง ความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลต่อความไม่มั่นใจของนักลงทุน หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ เป็นมูลเหตุที่ดูจะซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลง

แม้ว่าภาครัฐจะพยายามหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเติมเงินเข้ามาในระบบ โดยมุ่งหวังให้ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจทุกตัวสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้บ้าง ทว่า ผลที่ได้รับกลับเป็นเพียงการสปาร์คให้เครื่องยนต์ติดและทำงานได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น

และสิ่งที่น่ากังวลใจในเวลานี้ น่าจะเป็นภาคการผลิตที่เริ่มแสดงอาการของปัญหาชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยอดการผลิต และยอดการส่งออกลดลง

ฉุดยอดส่งออกวูบ 7%

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า

สถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะยอดการผลิตและการส่งออกรถยนต์ของไทยในปีนี้มีโอกาสที่จะหลุดจากเป้าหมายเดิม หลังมีปัจจัยลบรุมเร้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมไปถึงการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตจากยุโรป ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกรวมถึงไทยปรับตัวลดลง

ข้อมูลที่น่าสนใจคือรายงานยอดขายรถยนต์ของโลกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบ 5.7 เปอร์เซ็นต์ และมียอดการผลิตติดลบ 5.8 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับประเทศไทยตัวเลขการส่งออกรถยนต์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาติดลบ 20 เปอร์เซ็นต์

โดยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 81,549 คัน ลดลง 20.45 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเพราะสงครามการค้า ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 45,694.98 ล้านบาท ลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนสิงหาคม 2561

ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค. – ส.ค. 2562) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 723,561 คัน ลดลง 4.12 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 371,229.70 ล้านบาท ลดลง 6.37 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561

ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนสิงหาคมปีนี้ มีจำนวน 80,838 คัน ลดลง 6.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่ใจต่อเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนบางส่วนยังไม่กล้าตัดสินใจที่จะซื้อทรัพย์สินเพิ่ม และอีกหนึ่งเหตุผลต่อคือ ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อ จึงทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งถูกปฏิเสธสินเชื่อ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดของการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินมาจากการขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบในอนาคต

ทิศทางต่อไปยังน่าเป็นห่วง

แม้ว่าจะล่วงเลยเข้าเดือนตุลาคมมาแล้ว ทว่าตัวเลขของยอดขายในเดือนกันยายนยังไม่สามารถสรุปได้ ซึ่งยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะยังติดลบต่อไปหรือไม่ เมื่อดูทิศทางและกระแสลมทางเศรษฐกิจแล้วยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะช่วยฉุดให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ยอดตัวเลขการผลิตและการขายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่ติดลบ น่าจะสร้างความกังวลใจต่อผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ไม่น้อย เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินรายได้และผลกำไรที่จะลดลงตามไปด้วย

และปัจจุบันบางค่ายเริ่มหาทางลดคอร์สค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไปบ้างแล้ว แน่นอนว่าสถานการณ์นี้ผู้ที่อาจจะได้รับผลมากที่สุดคือ “แรงงาน” ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่แม้จะอยู่ในอันดับสุดท้ายแต่กลับมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด

เพราะในปีนี้มีค่ายรถยนต์ 2 ค่ายที่มีโครงการยกเลิกพนักงานสัญญาจ้าง รวมไปถึงการยกเลิกการทำงานล่วงเวลา เมื่อก้อนหินกระทบน้ำระลอกคลื่นที่เกิดขึ้นขยายวงออกไปกระทบกับทุกสรรพสิ่งที่อยู่ในวงจรอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

การปรับตัวของค่ายรถยนต์ในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือกลุ่มซับพลายเออร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการปรับลดค่าจ้างแรงงานหรือลดจำนวนพนักงาน ทว่าหากภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก การปรับลดค่าจ้างแรงงานหรือลดจำนวนพนักงานอาจไม่เกิดขึ้น

จับตาดูตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อปัจจุบันตลาดโลกกำลังให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และหากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยอยู่ในช่วงอิ่มตัว หรือมีบทบาทลดลงในห่วงโซ่อุปทาน การปรับตัวจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบเดิมมาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ไฟฟ้า อาจเป็นทางออกที่ดี

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะ 3 ปีข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สู่การลงทุนห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า IOT (Internet of Things) จะส่งผลให้การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยพลิกกลับมาบวกได้ที่ร้อยละ 0.2 ในปี 2565 คิดเป็นมูลค่าส่งออกส่วนเพิ่มรวม 1,298 ล้านดอลลาร์ จากที่คาดว่าจะติดลบต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

เมื่อการลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะได้รับแรงหนุนสำคัญจากค่ายรถที่ต้องลงทุนตามเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่ต้องมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนไฟฟ้า ในขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า IOT ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ในฐานะที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ การส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าของบีโอไอ สอดคล้องกับความเปลี่ยนเปลงที่กำลังเกิดขึ้นบนโลก เมื่อสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) เปิดเผยรายงาน “Global EV Outlook 2019” ในปี 2561 มียอดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ที่ 5.1 ล้านคัน และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากปี 2560 ที่ 2 ล้านคัน โดยจีนเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ตามด้วยยุโรปและสหรัฐอเมริกา

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือไม่ หากแต่มีการปรับเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า เมื่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไร.

Source

]]>
1249763
ตัวเลขนำเข้า-ส่งออกจีนลดลงเกินคาดในเดือน ก.ย. ยุโรปเป็นหุ้นส่วนการค้าอันดับหนึ่งแทน USA https://positioningmag.com/1249742 Tue, 15 Oct 2019 04:41:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1249742 ตัวเลขการนำเข้าและส่งออกของจีนลดลงเกินกว่าที่คาดในเดือนกันยายน ข้อมูลทางการเผยให้เห็นวันที่ 14 ตุลาคม ในขณะที่อุปสงค์ที่อ่อนลงทั้งในและต่างประเทศกระทบการค้าในระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก

โดยรวมแล้ว การส่งออกของจีนลดลง 3.2% ในเดือนกันยายนจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้าก็ลดลง 8.5% อ้างข้อมูลจากสำนักงานศุลกากร

ตัวเลขดังกล่าวเลวร้ายกว่าการคาดการณ์ของบลูมเบิร์ก ซึ่งประเมินว่า การส่งออกจากลดลง 2.8% และการนำเข้าจะลดลง 6.0%

สหภาพยุโรปยังขึ้นแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนการค้าอันดับ 1 ของจีนท่ามกลางสงครามมาตรการภาษี โดยการนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลง 26.4% ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

จีนสัญญาว่าจะเพิ่มการจัดซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ ในข้อตกลงสหรัฐฯ-จีนที่ประกาศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งรวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและเปิดตลาดการเงินให้มากขึ้น ทรัมป์ซึ่งกำลังถูกสืบสวนเพื่อยื่นถอดถอนยกย่องข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็นการฝ่าทางตันครั้งใหญ่

แต่ข้อตกลงดังกล่าวอาจทำให้มาตรการภาษีหยุดลงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากมันขาดรายละเอียดและไม่ได้คลี่คลายประเด็นสำคัญอย่างการที่รัฐให้ความช่วยเหลือบริษัทจีนอย่างไม่ยุติธรรม นักวิเคราะห์บอกกับเอเอฟพี

จนถึงตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายบังคับใช้มาตรการภาษีต่อสินค้าในการค้าสองทางรวมมูลค่าแล้วกว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์

ความได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ของจีนลดลง 3.9% เหลือ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายนจาก 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม

“ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีนฉบับย่อยที่ถูกบรรลุเมื่อวันศุกร์ไม่ทำให้ภาพอนาคตเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ” มาร์ติน ลิง ราสมุสเซน นักเศรษฐศาสตร์จีนที่บริษัทที่ปรึกษา Capital Economics กล่าว

“เมื่อมองไปข้างหน้า ตัวเลขการส่งออกดูเหมือนจะยังคงลดลงต่อไปอีกหลายไตรมาส” เขาเขียนในบันทึกวิจัย
ส่วนเกินดุลการค้าทั้งหมดของจีนในเดือนกันยายนอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์

Source

]]>
1249742