ธุรกิจสตาร์ทอัพ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 16 Nov 2021 00:35:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 วิเคราะห์เศรษฐกิจดิจิทัล ‘อาเซียน’ โตเเรง ดึงเงินทุนทั่วโลก ฉายเเววมี ‘ยูนิคอร์น’ เพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1362133 Mon, 15 Nov 2021 13:58:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362133 เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน กำลังเป็นที่จับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก หลังมีเเนวโน้มเติบโตสดใส แตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ‘หน้าใหม่’ ที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโรคระบาด เทคสตาร์ทอัพดาวรุ่ง การขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซเเละการเงินดิจิทัล

Nikkei Asia นำเสนอบทวิเคราะห์น่าสนใจ ถึงเศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศอาเซียนที่คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 3.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 และมีโอกาสแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030

ชาวเน็ตหน้าใหม่ มาพร้อมช้อปปิ้ง 

จากรายงาน e-Conomy SEA Report 2021 ซึ่งเผยเเพร่เมื่อ 10 ..ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของ Google , Temasek ของสิงคโปร์ และบริษัทที่ปรึกษาอย่าง Bain & Co. สำรวจกลุ่มเศรษฐกิจในอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

พบว่า ในปีนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่กว่า 40 ล้านคนในภูมิภาค เข้ามาในโลกออนไลน์ ทำให้ปัจจุบันยอดรวมของผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งภูมิภาค และที่สำคัญคือในจำนวนนี้กว่า 8 ใน 10 คน เคยสั่งซื้อของออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง

Stephanie Davis รองประธาน Google ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคก็เป็นพื้นที่ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการบริโภคออนไลน์ในระดับสูงอยู่เเล้ว

เเต่หลังจากโรคระบาด การเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้นคือ จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่นอกเมือง มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในปี 2020 และขยายตัวมากขึ้นไปอีกในปีนี้ เราจะเริ่มมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างผู้บริโภคในเมืองและในชนบท

‘ยูนิคอร์น’ ในอาเซียนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ 

อีกประเด็นสำคัญ คือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าบริษัทสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่าง ผู้ให้บริการซูเปอร์แอป Grab และ GoTo รวมถึง Sea Group บริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีนี้อาเซียน มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์น เพิ่มขึ้นถึง 11 ราย ทำให้ปัจจุบันมียูนิคอร์นรวมเป็น 23 ราย

การที่บริษัทต่างๆ มุ่งเน้นไปในอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีทางการเงิน จะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของอาเซียนในทศวรรษหน้า

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปีเกิดข้อจำกัดทางสังคมเเละเศรษฐกิจต่างๆ มากมายผู้บริโภคทั่วโลกต้องพึ่งพาบริการดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เหล่านี้ ทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในอาเซียนในปีนี้ ขยายตัวถึง 49% เป็น 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020

ธุรกิจการจัดส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลที่เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด โดย 71% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเคยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ขณะที่ บริการทางการเงินดิจิทัล ก็เติบโตอย่างแข็งแกร่ง’ รายงานระบุว่า การชำระเงินดิจิทัลและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallets) กลายเป็นเทรนด์กระแสหลักอย่างรวดเร็ว เชื่อมโยงกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ที่การซื้อสินค้ามักจะถูกชำระผ่านออนไลน์แทนที่จะใช้เงินสด

การชำระเงินทางดิจิทัลขยายตัว 9% ตามมูลค่าธุรกรรมรวม จาก 6.46 เเสนล้านดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 7.07 เเสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ และคาดว่าจะสูงถึง 1.17 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

ด้านการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลในอาเซียน เพิ่มขึ้น 48% จาก 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ เเละคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.16 เเสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

Photo : Shutterstock

ดึงดูดเงินทุนจากทั่วโลก 

ความโดดเด่นของฟินเทคและอีคอมเมิร์ซฉายเเสงดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนในสตาร์ทอัพ รายงานของ Google ระบุว่า เงินทุนของจากทั่วโลกเข้ามาในกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของอาเซียนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

โดยมูลค่าข้อตกลงทางธุรกิจในบริษัทเทคโนโลยีอาเซียนช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 11,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นราว 65% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 และเกือบเท่ากับมูลค่ารวมของข้อตกลงตลอดทั้งปี 2020 ที่ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนใหญ่กระจุกตัวในอุตสาหกรรมการขนส่งและอาหาร สื่อออนไลน์และการเดินทางออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่ม Sea Group บริษัทเทคโนโลยีของสิงคโปร์ ที่มีมูลค่าตลาดถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมหลายธุรกิจทั้งเกมออนไลน์อย่าง Garena เเละอีมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee

การลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ไม่ได้มาจากกลุ่มทุนในภูมิภาคหรือท้องถิ่นเท่านั้น เเต่กระแสเงินทุนจำนวนมากนี้มาจากนักลงทุนทั่วโลก

 

ที่มา : Nikkei Asia

]]>
1362133
KX เดินเกมสร้างธุรกิจใหม่บนโลกของ DeFi ปั้น ‘Coral’ มาร์เก็ตเพลส NFT ซื้อขายง่ายด้วยสกุลเงินทั่วไป เปิดโอกาสศิลปินไทยโกอินเตอร์ https://positioningmag.com/1357677 Thu, 21 Oct 2021 10:00:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1357677

อีกหนึ่งบทใหม่ที่จับตามองของ KBTG กับการปั้น KASIKORN X หรือเรียกสั้นๆ จำได้ง่ายๆ ว่า ‘KX’ ให้เป็นเหมือน New S-curve Factory โรงงานผลิตธุรกิจใหม่บนโลก ‘DeFi’ ที่ไม่ใช่เเค่ต้องก้าวทัน เเต่ต้อง ‘ก้าวนำ’ ไปข้างหน้า

ล่าสุดจับทิศทางตลาด NFT ที่กำลังเติบโตมหาศาล เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ศิลปินไทยและทั่วโลก ได้ ‘ลองของ’ ขายผลงานศิลปะผ่าน ‘Coral’ แพลตฟอร์ม NFT มาร์เก็ตเพลสด้วยสกุลเงินทั่วไป ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 KBTG เกิดขึ้นมาตามเป้าหมายการทรานฟอร์มองค์กรของธนาคารกสิกรไทย ที่มุ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยียุคใหม่

กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เล่าว่า ในช่วง 3 ปีเเรกนั้น ถือเป็นเวลาเเห่งการ ‘สร้างเนื้อสร้างตัว’ เเละในช่วง 3 ปีต่อมา (2019 -2021) ถือเป็นยุคเเห่งการ Transformation & Rise in Crisis ที่มีทั้งความท้าทายเเละโอกาสการเติบโตที่สำคัญ ท่ามกลางวิกฤตใหญ่ที่เปลี่ยนเเปลงชีวิตคนทั้งโลก

“หลังจากเราสร้างรากฐานได้อย่างเเข็งเเกร่งเเล้ว ก็ถึงเวลาที่ขยับขยายไปสู่ระดับภูมิภาค ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง เพิ่มขีดความสามารถขึ้นเป็นเท่าตัว เเละการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ”

การเดินหน้าลุย Decentralized Finance หรือ DeFi เปิดทางสู่โลกการเงินแบบกระจายศูนย์กลาง โลกที่แปลงสินทรัพย์ในความเป็นจริงให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ก็เป็นหนึ่งในนั้น

เเม้หน่วยการทำงานต่างๆ ของกลุ่ม KBTG จะมีหน้าที่เเตกต่างกัน เเต่ก็ประสานเเละส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันพนักงานของ KBTG มีมากกว่า 2,000 คนเเล้ว


Speed – Scale – Synergy

ที่ผ่านมา KBTG ได้ประสานการทำงานร่วมกันในเเพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คนได้จำนวนมาก สร้างความฮือฮาให้วงการฟินเทคไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างสิ่งใกล้ตัวเราอย่าง การพัฒนาเเอปพลิเคชัน ‘K PLUS’ ที่มีผู้ใช้งานสูงสุดในหมวดโมบายเเบงก์กิ้งของประเทศไทยเเละเอเชียเเปซิฟิก รวมไปถึง ‘LINE BK’ ที่ตอนนี้มีลูกค้ากว่า 3.2 ล้านราย เเละ ‘ขุนทอง’ โซเชียลเเชทบอท ผู้ช่วยจัดเก็บเงินยุคใหม่ที่ตอนนี้มีสมาชิกในคอมมูนิตี้มากกว่า 1 ล้านคนเเล้ว

หนึ่งในเเนวทางสำคัญที่ KBTG ยึดมั่นก็คือ การเข้าไปร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในอีโคซีสเต็ม ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นของธนาคารยุคใหม่ KBTG ได้ขยายเครือข่ายออกไปอย่างรวดเร็วเเละมีสเกลที่เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น การร่วมมือกับ GrabPay Wallet ที่ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 2 ล้านราย เเละ PTT Blue CONNECT ที่มีผู้ใช้งานเเล้วกว่า 3 เเสนราย

นอกจากนี้ ยังขยายไปยังกลุ่มธุรกิจ ‘สินเชื่อดิจิทัล’ ทั้งภายในเเอปฯ K PLUS เอง เเละเข้าไปจับมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee , Lazada เเละกระเป๋าเงินออนไลน์ Dolfin เหล่านี้ทำให้มีการเติบโตของยอดผู้ใช้สินเชื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เเละมี Loan Booking เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า ภายในเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น

“เเผนขยายไปยังภูมิภาคของเรา เรียกได้เลยว่าเป็นเเบบ Evil Fast รวดเร็วราวกับปิศาจ อย่างการเปิด KTech ที่ตอนนี้มีลูกค้าเเล้วกว่า 1 ล้านคนในจีน เเละมี Loan Booking มากถึง 1 พันล้าน RMB โดยมีการออกโปรดักต์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอทุกหนึ่งเดือน ท่ามกลางข้อจำกัดการเดินทางในวิกฤตโรคระบาด พร้อมๆ กับการขยายไปในเวียดนามด้วย”

โดยก้าวต่อไปของ KBTG นับจากนี้ หลักๆ จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของ Deep Tech เทคโนโลยีขั้นสูง อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ,ควอนตัมคอมพิวติ้ง ,บล็อกเชน , สินทรัพย์ดิจิทัลเเละ Metaverse

“KBTG เป็นเสมือนลมใต้ปีกของ KBANK ที่คอยสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ช่วยสนับสนุนการเติบโตทุกๆ ด้านของกสิกรไทย”


KX โรงงานผลิตธุรกิจใหม่

KX กำลังก้าวสู่การเป็นพระเอกคนใหม่ของ KBTG หลังที่ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมาเเละก็ถึงเวลาสมควรที่จะสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้วงการ โดย KX จะทำหน้าที่เป็น Venture Builder เสมือนโรงงานที่ผลิตสตาร์ทอัพหรือธุรกิจใหม่ ที่ปฏิบัติการเป็นอิสระ (Autonomous Venture Builder) มีเป้าหมายหลักๆ ในการผลิตธุรกิจด้าน Decentralized Finance and Beyond สืบเนื่องจากที่ DeFi เป็นระบบการเงินแบบกระจายอำนาจผ่านบล็อกเชนที่ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ สามารถทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงิน

เป็นโอกาสทองของ KX ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ในด้านบริการทางการเงิน (Financial Service) และบริการอื่นๆ (Non-Financial Service) ที่มีโอกาสได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้

ภารกิจหลักของ KX จึงเป็นการ ‘Building Trust in the Trustless World’ สร้างความเชื่อมั่นในโลกที่ปราศจากความน่าเชื่อถือนั่นเอง

“เราจะไม่หยุดเพียงเเค่นี้ เพราะโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลมันกว้างใหญ่มากๆ”

ความน่าสนใจของระบบการทำงานของ KX คือการใช้วิธีการ Incubate > Scale > Spin เริ่มต้นบ่มเพาะไอเดียใหม่ ๆ ตั้งไข่ธุรกิจ ขยายผลเเละขยายขนาด จากนั้นแยกตัวธุรกิจออกไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ (Spin-off) ให้ทำงานอย่างอิสระ เมื่อเห็นทิศทางและโอกาสทางธุรกิจในยุคต่อไปที่ชัดเจนแล้ว

งานนี้จึงได้มืออาชีพอย่าง ‘พอล ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์’ มารับหน้าที่เป็น Head of Venture Builder, KASIKORN X Co.,Ltd. นำทัพ KX เข้าสู่ตลาดธุรกิจใหม่ที่น่าท้าทาย

ธนะเมศฐ์ บอกว่า จุดเด่นคือ KX มีความคล่องตัวในการบริหารงานและตัดสินใจสูงดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG

ในส่วนของการทำ Venture Building ของ KX นั้น ถูกออกแบบให้คล้ายกับการสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ ซึ่งในทีมจะมีฝั่งเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneur) และฝั่ง Builder หรือ Engineer มาทำงานร่วมกัน เหมือนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-Founder) ในด้านธุรกิจและเทคโนโลยีในโลกของสตาร์ทอัพ กับจุดมุ่งหมายคือศึกษา ทดลอง และออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดจริงด้วยความเร็วแบบสตาร์ทอัพ

KX ประเดิมการ Spin-off เเรก ผ่านจัดตั้งบริษัทใหม่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล คือ Kubix ถือเป็นกลุ่มธนาคารเเรกในไทย ที่ได้รับการอนุญาตจากก.ล.ต.ให้ประกอบธุรกิจ ICO Portal

และล่าสุดกับการเปิดตัวธุรกิจที่สอง คือ Coral แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส NFT สร้างโอกาสไร้พรมเเดนให้กับศิลปินและนักสะสม สนับสนุนศิลปินไทยและเอเชียให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

“เราจะมุ่งไปที่การสร้างเเพลตฟอร์ม สินค้าเเละบริการที่ปลอดภัย ทั้ง Financial Service และ Non-Financial Service ให้เข้าถึงคนจำนวนมากที่สุด โฟกัสไปที่ตลาด Decentralized Finance ซึ่งมีอีโคซีสเต็มที่ใหญ่มาก”


Coral : ซื้อขาย  NFT ง่ายเหมือนช้อปออนไลน์

ผู้บริหาร KX ให้คำอธิบายง่ายๆ ถึงคอนเซปต์ของแพลตฟอร์ม Coral ว่าคือการที่จะทำให้การสร้างและการซื้อขาย NFT เป็นเรื่องง่าย เหมือนกับการช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วไป

 แต่มีจุดที่แตกต่างคือลูกค้า Coral สามารถซื้องานศิลปะ NFT ด้วยสกุลเงินทั่วไป (Fiat money) อย่างเงินบาทหรือเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ลูกค้าแพลตฟอร์มอื่นๆ ยังต้องแลก
เหรียญสกุลคริปโตฯ ก่อน เพื่อนำมาซื้องานศิลปะอีกที ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยาก

สำหรับตลาด NFT ในเมืองไทย ตอนนี้มูลค่าเเตะหลักล้านดอลลาร์สหรัฐเเล้ว เเละมีเเนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เเบบ ‘triple-digit’ ไม่ได้จำกัดเพียงเเค่งานศิลปะ เเต่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง

จึงมีความจำเป็นที่ต้องเริ่มสร้างอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินทรัพย์ทางเลือกให้คนในประเทศ เป็น ‘ตลาดงานศิลปะ’ ที่เข้าถึงง่าย มีรูปแบบสร้างรายได้เเบบมาร์เก็ตเพลสทั่วไป และที่สำคัญคือต้องปลอดภัย

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการหารือกับทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในเฟสเเรกจะเปิดซื้อขายในตลาดแรกก่อน เเละอีกไม่นานจะเปิดซื้อขายในตลาดรองต่อไป สามารถกลับมาเทรดอีกครั้งบนเเพลตฟอร์ม Coral ที่อยู่บนเชน Ethereum ส่วนระบบการชำระเงินในขณะนี้ยังใช้สกุลเงินทั่วไป แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เพิ่มเข้ามา

เมื่อถามถึงความจุดเสี่ยงของ NFT ผู้บริหาร KX ตอบว่า ความเสี่ยงคือการไม่รู้ว่าของที่ซื้อมานั้นเป็นของแท้หรือไม่ ดังนั้นเเพลตฟอร์มจึงต้องมีการตรวจสอบความเป็น ‘ออริจินัล’ ของผลงานให้รัดกุม

“ตอนนี้ศิลปินในไทยที่มีชื่อเสียงมีอยู่จำนวนหนึ่ง เเต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ ‘ศิลปินที่กำลังเกิดใหม่’ คนที่มีความเป็นศิลปินซ่อนอยู่ในตัวนั้นมีมากมายมหาศาล Coral จึงอยากเป็นผู้จุดประกาย เปิดกว้างความคิดสร้างสรรค์ เเละเป็นเเรงบันดาลใจให้คนไทย ได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองรัก”

เบื้องต้นมีศิลปินของไทยที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Coral เเล้ว 9 ราย ได้แก่ ไป Lactobacillus, Tikkywow, ทรงศีล ทิวสมบุญ, เอกชัย มิลินทะภาส, ปัณฑิตา มีบุญสบาย, Benzilla, Pomme Chan, IllustraTU, และ Jiggy Bug

โดยเหล่าศิลปิน ให้สัมภาษณ์ด้วยความเห็นที่ตรงกันว่า NFT ไม่ใช่เเค่การซื้อขายหรือเทรดงานศิลปะเท่านั้น เเต่เป็นการค้นพบ ‘คอมมูนิตี้’ ที่จะเข้ามาช่วยให้ศิลปินเติบโตขึ้นในโลกยุคใหม่ เป็นศูนย์รวมเเพชชั่น ความฝัน พื้นที่ความสร้างสรรค์ มีช่องทางการนำเสนอผลงานเเละตัวตนของเราสู่ผู้คนทั่วโลกได้ เเม้จะเป็นศิลปินตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนักก็ตาม

นอกจากนี้ KX ยังได้เปิดตัวพันธมิตร Coral รายแรกคือ ‘สยามพิวรรธน์’ มาร่วมกันสร้างศูนย์รวมและต่อยอดนวัตกรรมด้านศิลปะ วัฒนธรรม และไลฟ์ไตล์ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้แก่ลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “Co-creation” และ “Creating Shared Value”

โดยได้เปิดพื้นที่ของสยามพารากอน และไอคอนสยาม จัด NFT Innovation Digital Wall เพื่อให้ผู้ที่มาเยือนศูนย์การค้าได้เข้าชม NFT Art อย่างใกล้ชิด

นับเป็นก้าวแรกในการสร้างธุรกิจ และนวัตกรรมที่เชื่อมโลกคู่ขนาน ออนไลน์-ออฟไลน์ โดยใช้ DeFi เป็นประตูโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานได้ไม่จำกัด รวมทั้งเข้าถึงสินค้า บริการ และประสบการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคต

Coral เริ่มเปิดรับศิลปินและพาร์ทเนอร์เพื่อเข้าร่วมแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://coralworld.co และคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่นักสะสมภายในช่วงปลายปีนี้

ต้องติดตามว่า ‘KX’ ที่เปรียบเสมือน New S-curve Factory โรงงานผลิตธุรกิจใหม่ของ KBANK จะมีอะไรมาให้ได้เซอร์ไพรส์กันอีก…อดใจรอชมในเร็วๆ นี้

]]>
1357677
จ่ายหนัก! PayPal เข้าซื้อ Honey Science สตาร์ทอัพหาส่วนลดซื้อของออนไลน์ 1.2เเสนล้านบาท https://positioningmag.com/1254390 Thu, 21 Nov 2019 14:02:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1254390 PayPal ประกาศเข้าซื้อกิจการ Honey Science ด้วยมูลค่าถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 120,780 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเเพงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษของการซื้อกิจการครั้งใหญ่ของ PayPal เลยก็ว่าได้ เพื่อต่อยอดการซื้อสินค้าออนไลน์ที่กำลังบูมในตอนนี้

สตาร์ทอัพดาวรุ่งอย่าง Honey Science เป็นที่รู้จักกันดีในด้านให้บริการช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้ส่วนลดกับผู้ค้าปลีกออนไลน์กว่า 30,000 ร้านค้าเเละมีผู้ใช้มากถึง 17ล้านคนต่อเดือน โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2012 โดย George Ruan และ Ryan Hudson ได้รับเงินเพิ่มทุนไปแล้วราว 31.8 ล้านเหรียญ

สำหรับ Honey เป็นส่วนขยาย (extension) เพื่อติดตั้งกับเว็บเบราว์เซอร์ โดยมื่อเราเข้าไปช้อปปิ้งออนไลน์ในเว็บไซต์ค้าปลีกที่รองรับเเล้ว ในขั้นตอนการจ่ายเงินนั้น ส่วนขยายของ Honey จะเข้ามาช่วยค้นหาดีลส่วนลดต่างๆ ให้ พร้อมทั้งยังมีระบบเเจ้งเตือนสินค้าที่เราสนใจเมื่อมีการปรับลดราคาลงด้วย

PayPal บอกว่าด้วยเทคโนโลยีของ Honey Science ที่โดดเด่นด้านการค้นหาส่วนลดที่รวดเร็วเเละมีประสิทธิภาพนั้น จะช่วยให้ลูกค้าได้รับการบริการเเละข้อเสนอที่ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น

โดย George Ruan และ Ryan Hudson สองผู้ร่วมก่อตั้งจะยังคงนำทีมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เเละเทคโนโลยีต่อไป  โดยขึ้นตรงต่อการดูเเลของ John Kunze รองประธานอาวุโสด้าน Consumer Product ของ PayPal

Ryan Hudson เเละ George Ruan สองผู้ก่อตั้ง Honey Science

บริษัทคาดว่าจะปิดข้อตกลงได้ในไตรมาสแรกของปี 2020 เเละ Honey Science จะยังคงมีสำนักงานใหญ่ในนครลอสแองเจลิส หลังจากการซื้อกิจการครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ PayPal ได้เข้าซื้อบริษัทสตาร์ทอัพด้านฟินเทคสัญชาติสวีเดนที่มีชื่อว่า iZettle ด้วยเงินจำนวน 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา โดยบริษัท iZettle เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ด้านการเงินสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีชื่อเสียงในยุโรป มีระบบการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน ใน 9 ประเทศแถบยุโรปตะวันตก รวมไปถึงในบราซิลและเม็กซิโก

Photo : @honey via facebook

Source

]]>
1254390
อยากขายของได้ ต้องขาย Content ด้วย นี่คือ 10 ข้อสตาร์ทอัพต้องรู้ https://positioningmag.com/1165807 Thu, 12 Apr 2018 05:48:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1165807 ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ แนวความคิดการทำธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย และเป็นวิสาหกิจแห่งอนาคตที่จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจสตาร์ทอัพในภาพรวมจะมีการเติบโต แต่สิ่งที่ตามมาด้วยนั้น พบว่า ธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกันกลับมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเกิดขึ้น

สตาร์ทอัพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลุกขึ้นมาหากลยุทธ์โดยเฉพาะในการสร้างคอนเทนท์ หรือเนื้อหา เพื่อให้แบรนด์สินค้า หรือบริการของตนเป็นที่จดจำและโดดเด่นจากผู้อื่น                

นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA)

พรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า สถาบันได้จัดกิจกรรม สัมมนา Content is King อยากขายของได้ ต้องขาย Content ด้วย โดยได้สรุปเนื้อหาในการสร้างคอนเทนท์ให้น่าสนใจ  10 ข้อ

1. กำหนดกลุ่มเป้าหมาย

การมีคอนเทนท์ที่ดีต้องรู้ก่อนว่า จะสื่อสารกับใคร  คนแต่ละกลุ่มกำลังคิดอะไรอยู่ หรืออยากรู้อะไร ชอบข้อความหรือสื่อประเภทแบบไหน มีอุปสรรคและปัญหาอะไรที่สินค้าหรือบริการจะเข้าไปช่วยแก้ผ่านคอนเทนท์ได้บ้าง จะช่วยให้เข้าถึงแบรนด์สินค้า หรือบริการได้ง่ายขึ้น

2. ใช้ความสร้างสรรค์เพื่อสร้างคอนเทนต์ให้โดดเด่น

การสอดแทรกเนื้อหาผ่านการใช้ภาษาที่มีความแปลกใหม่ เร้าอารมณ์ เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คอนเทนท์ดูมีความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะต้องมีความทันสมัย มีสิ่งที่ดึงดูดสายตาให้หยุดชมหรืออ่านได้ รวมทั้งยังจะต้องประกอบไปด้วยความรู้ ความกล้าที่จะแตกต่าง และจินตนาการ

3. รูปแบบในการนำเสนอ 

ในการทำคอนเทนท์ให้โดนใจไม่ใช่เพียงแต่เป็นเขียนเพียงอย่างเดียวลองเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอคอนเทนต์ อาทิ การใช้ภาพ วีดีโอ หรืออินโฟกราฟิก เพื่อช่วยดึงดูดให้คนอ่านไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อ

4. หมั่นตามกระแส 

เมื่อเกิดกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นรายวันถือเป็นอีกโอกาสสำคัญด้านหนึ่งที่แบรนด์จะสามารถนำมาต่อยอดทำเป็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องของกระแสกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วยว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

5. สร้าง KEYWORD LIST  

คีย์เวิร์ด คือ คำหรือวลีที่ผู้บริโภคส่วนมากใช้ค้นหาข้อมูลจากช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นคำที่สะท้อนถึงปัญหาหรือความต้องการของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ หากเลือก คีย์เวิร์ด ถูกต้อง ก็จะทำให้ผู้ใช้บริการออนไลน์สนใจหรืออยากซื้อสินค้าและบริการ

6. SEO ขาดไม่ได้

SEO (Search engine optimization)  คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับการค้นหาในตำแหน่งที่ดีที่สุด หรือ ติดหน้าแรกของ Search Engine ต่างๆ เช่น Google, Yahoo, Bing ซึ่งการจะทำให้เว็บไซต์แสดงผลในอันดับที่ดีได้นั้น มีขั้นตอนและปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันทั้งในเรื่องของเนื้อหา วิดีโอ ภาพนิ่งที่สอดคล้อง ฯลฯ

ดังนั้นหากสามารถทำให้เว็บไซต์ติดหน้าแรกหรือติดอันดับต้นๆ บนผลการค้นหาได้แล้ว เราจะสามารถเพิ่มจำนวนคนเข้าเว็บไซต์เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น

7. HEADLINE โดนใจ

การสร้างหัวเรื่อง หรือ Headline เป็นสิ่งแรกและเป็นหัวใจสำคัญของคอนเทนท์ที่ต้องการจะนำเสนอ เนื่องจาก ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด และเป็นส่วนที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมองว่าแต่ละโพสต์ เรื่องราว บทความ หรือโฆษณาเกี่ยวกับอะไร

นอกจากนี้ Headline ยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มโอกาสดึงดูดสายตาของผู้อ่านลงมายังเนื้อหา พร้อมกับเรียกร้องความสนใจให้สินค้าและบริการเป็นที่พูดถึงมากขึ้น

8. ข้อมูลแหล่งที่มา

ในการสร้างคอนเทนท์บางครั้งจำเป็นต้องมีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาหรือการค้นจากแหล่งที่มาที่หลากหลาย ดังนั้นเนื้อหาหลักๆ อาทิ ตัวเลขหรือข้อเท็จจริงทุกอย่างที่อ้างอิงในคอนเทนต์ ต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อาทิ สำนักข่าว องค์กรวิจัย หรือสถาบันการศึกษา ข้อมูลที่ถูกต้องนั้นนอกจากจะทำให้คอนเทนต์ของเรามีคุณภาพแล้ว การกล่าวถึงข้อมูลผิดๆ อาจสร้างความเสียหายให้กับผู้อ่าน หรือมีปัญหาในทางกฎหมายได้

9. คอนเทนต์ต้องช่วยแก้ปัญหา

ธรรมชาติของผู้บริโภคส่วนใหญ่ มักจะรู้สึกประทับใจหากมีสินค้าหรือบริการที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ดังนั้น หากต้องการให้คอนเทนท์เป็นที่ชื่นชอบ สตาร์ทอัพจึงต้องสร้างคอนเทนท์ที่สามารถช่วยเหลือ แก้ปัญหา ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้คอนเทนท์เข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมายได้

10. ปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอและอัพเดทอย่างต่อเนื่อง 

การทำคอนเทนท์ที่ดีควรมีความเสมอต้นเสมอปลาย เนื้อหามีความสดใหม่ น่าอ่าน กระชับ ชัดเจน มีประโยชน์ และมีระยะเวลาในการปล่อยคอนเทนท์ที่สม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้มีผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้น

]]>
1165807