ธุรกิจโฆษณา – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 09 Dec 2020 23:53:27 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Dentsu เอเยนซีโฆษณา เจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น ปรับโครงสร้างสู้วิกฤต ปลดพนักงานทั่วโลก 6,000 คน https://positioningmag.com/1309898 Wed, 09 Dec 2020 13:55:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1309898 โรคระบาดกระทบธุรกิจโฆษณา ล่าสุด Dentsu เอเยนซีเจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศเเผนปรับโครงสร้างบริษัท ควบรวมกิจการระหว่างประเทศ พร้อมปลดพนักงานอีก 6,000 คน หลังประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง

Dentsu Group มีแผนจะรวมธุรกิจในต่างประเทศกว่า 160 แบรนด์เข้าไปใน 6 แบรนด์ใหญ่ระดับโลกให้ได้ภายใน 2 ปีนี้ เเละหวังว่าการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทในปีหน้าได้ราว 530 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.59 หมื่นล้านบาท)

ขณะเดียวกัน เเผนการปลดพนักงาน 6,000 คนดังกล่าว คิดเป็น 12.5% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งจะทยอยปรับลดพนักงงานไปจนถึงสิ้นปี 2021 เเต่มาตรการทั้งสองก็อาจจะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายถึง 820 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.4 หมื่นล้านบาท) เลยทีเดียว

ปัจจุบัน Dentsu มีพนักงานที่ทำงานอยู่นอกประเทศญี่ปุ่นราว 4.7 หมื่นคน โดยการปรับลดพนักงานนั้นอาจแตกต่างกันตามนโยบายของแต่ละประเทศ เช่น ในญี่ปุ่นมีการเปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดโดยสมัครใจ สำหรับพนักงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เเละกำลังพิจารณามาตรการลดค่าใช้จ่ายในญี่ปุ่นเพิ่มเติม ซึ่งจะประกาศเร็วๆ นี้

การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เเบรนด์ต่างๆ หันมาตัดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด เเละเมื่อสถานการณ์ในญี่ปุ่นกลับมารุนเเรงอีกครั้งก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาทรุดลงไปอีก

Dentsu Group คาดว่า รายได้ของบริษัทจะลดลง 11% ในปีนี้ อยู่ที่ 928,700 ล้านเยน (ราว 2.6 เเสนล้านบาท) และคาดว่าจะขาดทุนจากการดำเนินงาน 11,400 ล้านเยนในปีนี้ (เทียบกับยอดขาดทุน 3.3 พันล้านเยนในปีที่แล้ว)

โดยก่อนที่จะเกิดโรคระบาด Dentsu ได้รับงานใหญ่เป็นเอเยนซีหลักดูเเลงานมหกรรมโตเกียวโอลิมปิก 2020 เเต่เมื่อต้องเลื่อนจัดงานไปปี 2021 เเละตอนนี้ยังไม่มีความเเน่นอน ทำให้รายได้ก้อนใหญ่ที่บริษัทตั้งเป้าไว้ลดลงไปเช่นกัน

 

ที่มา : Nikkei, Reuters

]]>
1309898
คอนเฟิร์ม! เม็ดเงินโฆษณาปี 62 “ไม่โต” MAAT ยก “ออนไลน์-สื่อนอกบ้าน” ยังแรงเหนือสื่อเก่า https://positioningmag.com/1246870 Wed, 18 Sep 2019 09:46:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1246870 เดิมอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2562 มีลุ้นว่าจะเห็นตัวเลขเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน ด้วยมีปัจจัยการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ ที่ปกติจะมีนโยบายใหม่มากระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อให้กลับมาคึกคัก ช่วงต้นปี วงการเอเยนซีจึงประเมินว่าโฆษณาคงเติบโตได้

ตัวเลขการใช้จ่ายงบโฆษณาที่รายงานโดย นีลเส็น ประเทศไทย ช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค. – ส.ค.) ปีนี้ มีมูลค่ามูลค่า 68,823 ล้านบาท ติดลบ 1.22% แม้ตัวเลขเฉพาะเดือน ส.ค. 2562 กลับมาเติบโต 0.94% เป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ แต่ทั้งปียังต้องจับตาว่าจะกลับมาเติบโตได้หรือไม่

MAAT คอนเฟิร์ม “ไม่โต”       

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า มูลค่าการใช้สื่อโฆษณาช่วงในไตรมาส 2 เดิมสมาคมฯ คาดการณ์ว่าจะเติบโต 1% แต่พบว่า “ไม่เติบโต” หรือเท่ากับปีก่อน แต่ก็ยังมีสื่อที่ขยายตัวได้ หลักๆ มาจากสื่อออนไลน์และกลุ่มสื่อนอกบ้าน สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัว จึงคาดว่าสิ้นปี 2562 การใช้สื่อโฆษณาจะเป็นไปตามที่สมาคมมีเดียฯ เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีคือ “ไม่โต” โดยมีมูลค่าราว 117,104 ล้านบาท

สื่อออนไลน์แชมป์โต

รัฐกร สืบสุข อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่ามูลค่าโฆษณาปี 2562 คาดการณ์รายสื่อ กลุ่มสื่อดั้งเดิมยังคงลดลงต่อเนื่อง ประกอบด้วย ทีวีดิจิทัล มูลค่า 64,680 ล้านบาท ลดลง 2% เคเบิล/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 2,100 ล้านบาท ลดลง 13% วิทยุ มูลค่า 4,370 ล้านบาท ลดลง 5%

สื่อที่ลดลงอย่างมาก ยังเป็น “สื่อสิ่งพิมพ์” คือ หนังสือพิมพ์ มูลค่า 4,880 ล้านบาท ลดลง 20% และนิตยสาร มูลค่า 975 ล้านบาท ลดลง 25%

ส่วนกลุ่มที่ยัง “เติบโต” คือ สื่ออินเทอร์เน็ต มูลค่า 18,055 ล้านบาท เติบโต 18% สูงสุดของอุตสาหกรรม ขณะที่สื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 7,881 ล้านบาท เติบโต 11% สื่อนอกบ้าน มูลค่า 6,868 ล้านบาท เติบโต 1% และสื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 6,195 ล้านบาท เติบโต 5% และสื่อในร้านค้า มูลค่า 1,100 ล้านบาท “ไม่โต”

การใช้งบโฆษณาปีนี้สื่อดิจิทัล “เติบโต” สวนทางกับสื่ออื่นๆ ซึ่งสอดคล้องไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทำให้เอเยนซี่และนักการตลาดต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและการใช้สื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดมากขึ้น.

]]>
1246870
ทางรอดเอเยนซี! “ไฮบริด ครีเอทีฟ” เมื่อ “ตัวกลาง” กำลังหายไปและทรานส์ฟอร์มก็ไม่ใช่คำตอบ https://positioningmag.com/1245545 Fri, 06 Sep 2019 11:58:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1245545 โลกยุคในดิจิทัล ดิสรัปชั่นถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ ที่ส่งผลกระทบไปในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นตัวกลางบทบาทเริ่มลดลง เมื่อมีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง

ธุรกิจ “เอเยนซี” ไม่ว่าจะเป็น “มีเดีย เอเยนซี” หรือ “แอดเวอร์ไทซิ่ง เอเยนซี” ต่างถูกท้าทายจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น เป็นสิ่งที่คนโฆษณาอยู่ในอาการ “หวาดกลัว” ว่า “ทางรอด” ควรอยู่ในบทบาทใด

เมื่อการเดินหน้า “ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ผสานการทำงาน “ออฟไลน์” เข้ากับ “ออนไลน์” หรือการนำหน่วยงานด้าน “ดิจิทัล” ขึ้นมานำทุกหน่วยงานในโครงสร้างของธุรกิจเอเยนซี ที่ถือเป็นความพยายามปรับตัวในองค์กร แต่ขั้นตอนก็ต้องใช้เวลา ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างรวดเร็วทุกวัน คำตอบการ “อยู่รอด” ของเอเยนซี จึงอาจไม่ใช่เรื่อง “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น”

จากยุคเอเยนซีสู่ “ไฮบริด ครีเอทีฟ”

สรรพาทิตย์ ทวีเจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ “ดรีม ไรเดอร์ส” ครีเอทีฟ คอมพานี ซึ่งมีประสบการณ์ด้านครีเอทีฟมากว่า 20 ปี มองการเปลี่ยนแปลงของ Advertising Agency ในปัจจุบันว่าอาจหมดยุคที่เรียกตัวเองว่า “เอเยนซี” ไปแล้ว

กรณีศึกษาการประกาศควบรวมธุรกิจเอเยนซี  “Wunderman” (วันเดอร์แมน) กับ “J. Walter Thompson” (เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน) ทั่วโลกเข้าด้วยกัน โดยใช้แบรนด์ใหม่ “Wunderman Thompson” เป็นการรวมการทำงานด้านดิจิทัลและครีเอทีฟเข้าด้วยกัน ดูจากชื่อที่เปลี่ยนให้ Wunderman ฝั่งดิจิทัลขึ้นมานำ ขณะที่ J. Walter Thompson เป็นเอเยนซีเก่าแก่อายุกว่า 130 ปี อาจบอกถึงนัยของยุค Agency ที่มีบทบาทเป็น “ตัวกลาง” กำลังเปลี่ยนแปลงไป

เช่นเดียวกับธุรกิจโปรดักชั่นเฮ้าส์ ที่อยู่มากว่า 100 ปี ทำงานควบคู่มากับเอเยนซี ในฝั่งของการผลิตงานจากไอเดีย ซึ่งถือเป็นรูปแบบการทำงานของ “โลกใบเก่า”

ชุติมณฑน์ จันเหมือ – สรรพาทิตย์ ทวีเจริญ

การเปลี่ยนแปลงในโลกเอเยนซี ทำให้ สรรพาทิตย์ เดินออกมาจากเอเยนซีใหญ่หอบประสบการณ์ด้านครีเอทีฟกว่า 20 ปี ร่วมกับ ชุติมณฑน์ จันเหมือน ที่มีประสบการณ์ด้าน Client Service จัดตั้งบริษัท“ดรีม ไรเดอร์ส” ที่เป็นรูปแบบ “ไฮบริด ครีเอทีฟ” พนักงาน 12 คนของบริษัทไม่ได้มีทักษะการทำงานเดียว แต่ต้องมีมากกว่า 1 ทักษะ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานด้านครีเอทีฟและการสื่อสารฟอร์แมตเดิมๆ

เชื่อว่า “ไฮบริด ครีเอทีฟ” จะเป็นอีกทางรอดของคนโฆษณาในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ไม่ใช่เพียงการทรานส์ฟอร์ม แต่ต้องเป็น “คนพันธุ์ใหม่” ทำงานแบบไฮบริด

โลกที่แข่งขันกันด้วย “สปีด”

การที่ธุรกิจเอเยนซีต้องปรับตัว ก็มาจากแรงกดดันของฝั่งนักการตลาดและลูกค้าองค์กร ก็ต้องปรับตัวตามให้ทันพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและสถานการณ์ที่ส่งผลต่อธุรกิจ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้ วันนี้การแข่งขันจึงอยู่ที่ “สปีด”

การทำงานในฝั่งเอเยนซีแบบเดิมที่เริ่มจากการรับบรีฟลูกค้ากระทั่งออกมาเป็นชิ้นงานโฆษณาหรือการสื่อสาร แต่ละแคมเปญต้องใช้เวลาราว 2 เดือน เพราะต้องทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน จึงเป็นการทำงานที่สวนทางกับโลกธุรกิจที่ต้องแข่งกันเร็ว!

วันนี้เมื่อนักการตลาดและแบรนด์เห็นโอกาส ก็ต้องการทำแคมเปญทันที ทั้งการคิดไอเดียและผลิตงาน แต่โลกของเอเยนซีอาจไม่ตอบโจทย์นี้ “ดรีม ไรเดอร์ส” จึงเกิดขึ้นด้วยแนวคิดการทำงานด้าน “ไฮบริดครีเอทีฟ” และคิดงานที่เป็น “ครีเอทีฟ โซลูชั่น” ด้วยขั้นตอนการทำงานที่ลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเอเยนซี หรือราว 1 เดือนตั้งแต่รับบรีฟถึงออกมาเป็นชิ้นงาน เคสเร็วที่สุดคือ 7 วัน

ขั้นตอนการทำงานที่ลดลง มาจากทักษะไฮบริด สรรพาทิตย์บอกว่าตัวเขาเองเป็นทั้ง ครีเอทีฟและผู้กำกับหนังโฆษณา ชิ้นงานที่ออกจึงทำได้ตรงตามไอเดีย เช่นเดียวกับงานในส่วนอื่นๆ ที่สามารถตัดสินใจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการตัดสินใจเมื่อต้องข้ามหน่วยงาน  “ไฮบริด ครีเอทีฟ” จึงเป็นการทำงานที่ยืดหยุ่นและรวดเร็ว ในยุคที่สถานการณ์เปลี่ยนเร็ว นักการตลาดและแบรนด์ก็ต้องการ “ครีเอทีฟ โซลูชั่น” ที่ทันเกม

อยู่รอดด้วย “ไอเดีย-ผลิตงานเร็ว”

เป็นที่รู้กันว่าบริษัทขนาดใหญ่ต่างตั้งหน่วยงานด้าน Marketing Communication เป็นของตัวเอง บางรายมีเอเยนซี in house ของตัวเอง เพราะต้องทำงานแข่งขันกับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เช่น การประท้วงที่ฮ่องกง ค่าเงินดอลลาร์ตก หรือปัญหาเหตุการณ์บ้านเมือง ดังนั้นแบรนด์ที่ปรับตัวเร็ว ทำงานเร็ว และเข้าถึงผู้บริโภคก่อนก็มีโอกาสชนะ

ที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ได้ดึงบุคลากรจากเอเยนซีเข้าไปร่วมทำงาน เพื่อคิดงานกลยุทธ์ ดังนั้นวันนี้ “ลูกค้า” องค์กรต่างๆ คิดกลยุทธ์เป็นและมีไอเดียอยู่แล้วว่าต้องการทำงานอะไรบ้าง หน้าที่ของเอเยนซีจึงต้องหา “ครีเอทีฟ โซลูชั่น” และตามให้ทันการทำงานขององค์กรต่างๆ ไม่เช่นนั้นก็จะสูญเสียลูกค้าให้กับคนที่ทำได้เร็วกว่า

“วันนี้ลูกค้ามีไอเดียและคิดกลยุทธ์ได้เองอยู่แล้ว แต่ยังไม่ข้ามไปขั้นผลิตโฆษณาหรืองานสื่อสารเอง จึงยังเป็นพื้นที่ของเอเยนซี ที่ต้องแปลงไอเดียและกลยุทธ์ มาผลิตเป็นชิ้นงานตามโจทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อเพิ่มสปีดการขายให้ลูกค้า ช่วยลดขั้นตอนการทำงานและงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง เพราะวันนี้ทุกคนต้องการใช้งบประมาณเฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น”  

ไฮบริดครีเอทีฟโตสวนอุตฯโฆษณา    

สรรพาทิตย์ มองว่าแนวคิดการบริหารงานแบบไฮบริด ที่เป็นคำตอบของการทำงานด้านสื่อสารการตลาดแบบโลกใหม่ เน้นความเร็ว (Speed) และความยืดหยุ่น (Flexibility) ในทุกเรื่อง แต่ต้องยังคงความเป็นที่ปรึกษาแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องเป็น One stop service ให้กับลูกค้าองค์กรได้ และเชื่อว่าอุตสาหกรรมครีเอทีฟยังเติบโตได้ และต้องปรับวิธีการทำงานไปพฤติกรรมของลูกค้าและเทคโนโลยี

“เราไม่ใช่คู่แข่งกับเอเยนซีระดับท็อป และโปรดักชั่นเฮ้าส์ใหญ่ แต่เราก็ไม่ได้อยู่ใน Red ocean แต่อยู่ในโลกใบใหม่ ที่ไม่ได้มาจากการทรานส์ฟอร์ม แต่มาในแบบคนครีเอทีฟพันธุ์ใหม่ที่ คิด ฝัน ผลิต และจบที่นี่ที่เดียว”

ท่ามกลางอุตสาหกรรมโฆษณาที่อยู่ในภาวะทรงตัว แต่ ดรีม ไรเดอร์ส ยังเติบโตได้นับจากเริ่มต้นในปี 2017 ปี 2018 จำนวนลูกค้าเติบโต 28% ปี 2019 ตั้งเป้าหมายเติบโต 32% แต่ผ่านไปครึ่งปีแรกทำตัวเลขเติบโตได้แล้ว 50% โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีสถิติขายงานชนะ (Pitching Winning) 100% จากลูกค้า 4 แบรนด์ใหญ่

ปัจจุบันมีลูกค้ากลุ่มรถยนต์, ประกันภัย, สินค้าอุปโภคบริโภค, ธนาคาร เช่น TMB DTGO วิริยะประกันภัย  JBL ไทยสไมล์ ไทยเทพรส เอ็มจี สสส. เป็นต้น ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ได้มาเป็นการบอกต่อจากลูกค้าที่เดิม ถึงแนวทางการทำงานครีเอทีฟ ไฮบริด

“วันนี้โลกหมุนเร็ว คนที่จะอยู่รอดได้ต้องเปลี่ยน Mindset เดิม และคิดให้เร็วกว่าโลกเปลี่ยน เราอยู่ในโลกความคิด และความคิดไม่มีข้อจำกัด ถ้ายังอยู่บนสปีดแค่หมุนให้ทันโลก คือการตกยุค”

]]>
1245545
PwC ฟันธง! อุตสาหกรรมสื่อ-บันเทิงไทย ปี 66 โกย 6.5 แสนล้าน บริการ OTT มาแรง-แข่งเดือด https://positioningmag.com/1243551 Fri, 23 Aug 2019 06:01:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1243551 จากรายงาน Global entertainment and media outlook 2019 – 2023 ของ PwC ซึ่งสำรวจข้อมูลด้านรายได้และคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของ 14 กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงใน 53 อาณาเขตทั่วโลกพบอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.3% ต่อปี

ประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ปี 2562 – 2566 จะเห็นรายได้ทั่วโลกของอุตสาหกรรมนี้สูงถึง 85.66 ล้านล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 69.5 ล้านล้านบาท ในปี 2561

พิสิฐ ทางธนกุล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงาน Entertainment & Media บริษัท PwC ประเทศไทย คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงในประเทศไทย จะมีมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2566 การเติบโตเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ 5.05% เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวมที่ 5.01%

แต่ประเทศไทยก็ยังโตได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ที่เฉลี่ยต่อปี 9.5%, ฟิลิปปินส์ 6.2% และเวียดนามที่ 7.1% อย่างไรก็ตาม ไทยจะยังเติบโตนำหน้ามาเลเซียที่ 4.7% ส่วนสิงคโปร์รั้งท้ายที่ 3.8%

“ผู้บริโภคชาวไทยต้องการเสพสื่อและบันเทิงแบบส่วนบุคคลมากขึ้น ไม่แตกต่างไปจากผู้บริโภคในประเทศ อื่นๆ ทั่วโลก เป็นผลจากการใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น”

5G หนุนวิดีโอออนไลน์โต

สิ่งที่เป็น “จุดเปลี่ยน” คือ การเข้ามาของเครือข่าย 5G ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลเร็วๆ นี้ ทำให้การเชื่อมต่อและตอบสนองทางออนไลน์รวดเร็วยิ่งกว่า 4G ดังนั้นผู้ประกอบการสื่อและบันเทิง ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่วันนี้หันมาเลือกเสพสื่อในรูปแบบที่ตัวเองต้องการมากขึ้นไม่ว่าจะ “เสพสื่อไหน อย่างไร หรือเมื่อไหร่”

กระแสของการใช้สื่อดิจิทัลของผู้บริโภคและธุรกิจไทยที่เพิ่มมากขึ้นในที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบให้กับผู้ประกอบการสื่อดั้งเดิม เช่น สื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ ต้องหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบของการให้บริการไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น

“ยังมีผู้ประกอบการสื่อดั้งเดิมหลายรายประสบกับความยากลำบากในประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด หรือแม้กระทั่งต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด”

บริการ OTT ตลาดไทยโตแรง!

รายงานของ PwC คาดการณ์ด้วยว่า บริการวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-top video: OTT video) จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า จากความต้องเสพคอนเทนต์แบบ Video on demand ที่ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดนี้คึกคักและเห็นการแข่งขันที่รุนแรง จากผู้ประกอบการต่างประเทศและไทย เช่น Netflix, iflix และ HOOQ

มูลค่าการใช้จ่ายบริการรับชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตในไทยเมื่อปี 2561 อยู่ที่ 2,810 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในปี 2566 เป็น 6,080 ล้านบาท โตเฉลี่ยปีละ 16.64% ขณะที่สื่อทีวีและโฮมวิดีโอ โตเฉลี่ยต่อปีเพียง 4.76% จากมูลค่า 19,700 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 24,900 ล้านบาทในปี 2566

โฆษณาออนไลน์ไทยโตเร็วสุด

กลุ่มสื่อที่เติบโตต่ำสุดในช่วง 5 ปีจากนี้ คือ หนังสือพิมพ์แและนิตยสาร เฉลี่ยลดลง 3.05% ต่อปี หนังสือเล่ม ลดลง 0.34% ต่อปี และ โฆษณาทีวี เติบโตต่ำที่ 1.8% ต่อปี

ขณะที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ต (Internet advertising) ของไทย จะเป็นตลาดที่เห็นการเติบโตรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับที่ 2 เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากความชื่นชอบการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องของผู้บริโภคชาวไทย คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 32,500 ล้านบาทในปี 2566 โตเฉลี่ยต่อปีที่ 13.62%

โดย Facebook ยังเป็นสื่อออนไลน์ที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยมใช้มากที่สุด ตามมาด้วย YouTube และ Line ข้อมูลจากรายงาน Digital 2019 ของ Hootsuite และ We are Social ระบุว่า 74% ของประชากรไทยทั้งหมด เป็นผู้ใช้งานประจำของสื่อสังคมออนไลน์ ใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 11 นาทีในแต่ละวัน

ขณะที่วิดีโอเกมและอีสปอร์ต (Video games and esports) จะกลายเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของไทย คาดว่ามูลค่า 33,000 ล้านบาท ในปี 2566 โตเฉลี่ยต่อปีที่ 7.7% จากการขยายตัวของสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ฐานลูกค้าของผู้บริโภคเกมบนมือถือเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

]]>
1243551
หมดลุ้น! “รัฐบาลลุงตู่2” ไม่ช่วยอุตสาหกรรมโฆษณา 5 เดือนหลังอาการยัง “ซึม” https://positioningmag.com/1242379 Wed, 14 Aug 2019 13:04:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1242379 ปกติการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นกำลังซื้อและเศรษฐกิจเติบโต ซึ่งจะสะท้อนสัญญาณบวกไปที่อุตสาหกรรมโฆษณา แต่ตัวเลข 7 เดือนแรกปีนี้อยู่ในภาวะติดลบ” 1.74% จากเดิมมีเดีย เอเยนซี เชื่อว่าจะเป็นปีนี้ดี แต่มาถึงขณะนี้ฟันธงได้ว่า 5 เดือนหลัง ไม่หวือหวารัฐบาลลุงตู่2” ก็ช่วยไม่ได้   

นับตั้งแต่ปี 2555 อุตสาหกรรมโฆษณาอยู่ภาวะโตต่ำสลับติดลบตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปีนี้ตลาดจึงคาดหวังการเติบโตอีกครั้ง

MI ฟันธงโฆษณา “ไม่หวือหวา”

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจสายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อิเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด กล่าวว่าช่วงต้นปี MI ประเมินอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้กลับมาเติบโตระดับ 5% ได้อีกครั้ง แต่หลังจากจบไตรมาสแรกตัวเลขยังติดลบ จึงต้องปรับประมาณใหม่ในเดือน เม.ย. มองว่าทั้งปีคงโตได้ราว 1.49% เท่านั้น

เดิมตลาดคาดหวังว่าหลังจัดตั้ง “รัฐบาลลุงตู่2” น่าจะมีนโยบายเศรษฐกิจออกมากระตุ้นกำลังซื้อและเศรษฐกิจขยายตัวได้ แต่พบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีนโยบายอะไรแรงๆ ที่จะผลักดันการเติบโตโดยรวมได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยลบนอกประเทศ เศรษฐกิจยุโรปตกต่ำ สงครามการค้าจีน-อเมริกา ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว ถึงขณะนี้รัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถเรียกความมั่นใจจากตลาดได้ในระยะสั้น จึงยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้นจึงฟันธงได้ว่าอุตสาหกรรมโฆษณา 5 เดือนหลังไม่มีอะไรหวือหวา แม้ไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮ ซีซั่นใช้เม็ดเงินก็ตาม ทั้งปีนี้จึงปรับลดตัวเลขการเติบโตลงเป็นครั้งที่ 3 เหลือ 0.93% ด้วยมูลค่า 89,922 ล้านบาท หรือพูดได้ว่าปีนี้โฆษณา “ไม่เติบโต” ส่วนปี 2563 MI คาดการณ์อุตสาหกรรมโฆษณา “ติดลบ” 2.83% เพราะยังไม่เห็นปัจจัยบวก หรือนโยบายรัฐที่จะมากระตุ้นกำลังซื้อได้ 

สื่อออนไลน์-OOH แชมป์โต

แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้อยู่ในภาวะทรงตัว สื่อดั้งเดิมส่วนใหญ่ยัง “ติดลบ” แต่ก็พบว่า “สื่อออนไลน์” ยังเติบโตได้ จากสัดส่วนประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 80% และแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทย อีกทั้งการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ มาร์เก็ตเพลสต่างๆ รวมทั้งนักการตลาดและนักสื่อสารการตลาดให้ความสำคัญแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ทำให้การใช้งบผ่านสื่อออนไลน์ยังเติบโตได้  ปีนี้ DAAT ยังคาดการณ์โฆษณาดิจิทัลเติบโต 20%

ในมุมมองของ MI คาดว่าภายใน 2 ปีสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัล จะขยับสัดส่วนจาก 21.9% ของอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2562 ไปอยู่ที่ 28.2% ในปี 2563 หรือมีมูลค่า 25,000 ล้านบาท

อีกสื่อที่ฝ่าปัจจัยลบและยังมีแนวโน้มเติบโตได้ คือ สื่อนอกบ้าน (OOH) จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านของประชากรกลุ่มเมือง อีกทั้งการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ทดลองเปิดให้บริการแล้วและมีแบรนด์ต่างๆ เข้าไปใช้พื้นที่โฆษณาแล้วเช่นกัน เนื่องจากเข้าถึงผู้ใช้บริการที่มีจำนวนกว่า 1 ล้านคนต่อวัน

เลิกทุ่มดิจิทัล 100% ต้อง “ออมนิ แชนแนล”

ในยุคที่สื่อดิจิทัลบูม นักการตลาดและแบรนด์ต่างแห่ทุ่มงบประมาณให้กับสื่อดิจิทัลบางแคมเปญใช้งบดิจิทัล 100% ด้วยเหตุผลที่ว่าคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 80% ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก สร้างการรับรู้และวัดผลการใช้สื่อได้ แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่สินค้าและแบรนด์ต้องการคือ “ยอดขาย” แต่การใช้สื่อดิจิทัลแบบเทงบ 100% เพียงสื่อเดียว เริ่มชัดเจนว่ายังไม่ตอบโจทย์ยอดขายได้ทั้งหมด

“ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือนักการตลาดคนไหนการันตีได้ว่าการเน้นสื่อสารการตลาดผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพียงอย่างเดียว จะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ”

กระบวนการสื่อสารแบรนด์และการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อจะต้องเป็นหลักคิดเรื่อง OMNI CHANNEL หรือสื่อสารกับลูกค้าแบบหลากหลายช่องทาง และต้องเชื่อมโยงกับ Customer Journey หรือเส้นทางการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้า

พบว่าช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มสินค้า อาทิ รถยนต์ มือถือ ประกันภัย สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) แม้แต่สินค้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสื่อดิจิทัล อย่างแอปพลิเคชั่น อีคอมเมิร์ซ มีความชัดเจนว่าได้ลดงบโฆษณาที่ใช้ผ่านสื่อดิจิทัลและมาใช้จ่ายผ่านสื่อออฟไลน์ อย่างทีวี และสื่อนอกบ้านมากขึ้น สัดส่วน 50% ของแคมเปญ

เนื่องจากสื่อดิจิทัลไม่ได้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของทุกกลุ่ม ลูกค้าบางกลุ่มยังอยู่กับสื่อแมส หากต้องการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง “สื่อทีวี” ที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศยังสื่อสารได้ดีกับวัตถุประสงค์นี้ ขณะที่สื่อนอกบ้าน เป็นสื่อที่ถูกบังคับให้ต้องเห็นในเส้นทางต่างๆ จึงยังใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารได้ดี

“การผสมผสานสื่อออฟไลน์และออนไลน์ โดยมองเรื่อง Customer Journey จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเดียว”

]]>
1242379
รีวิวโฆษณาครึ่งปีแรกสื่อเก่ายังสาหัส “สิ่งพิมพ์” วูบหนัก “ทีวี-วิทยุ” ทรงๆ ทรุดๆ https://positioningmag.com/1239388 Wed, 17 Jul 2019 11:04:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1239388 รายงานเม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาครึ่งปีแรก 2562 ของ นีลเส็น ประเทศไทย สรุปมูลค่ารวม 50,702 ล้านบาท ติดลบ 2% สื่อส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะถดถอย โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิม (Traditional Media)

หากดูรายประเภท “สื่อสิ่งพิมพ์” ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร มีอัตราการลดลงเป็นตัวเลข “สองหลัก” ในช่วง 6 เดือนแรก 2562 โฆษณาหนังสือพิมพ์ มีมูลค่า 2,388 ล้านบาท ติดลบ 17.74% นิตยสาร มูลค่า 515 ล้านบาท ติดลบ 21.13%

ช่วงครึ่งปีแรกมีหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ โพสต์ทูเดย์, M2F และ The Nation “ปิดตัว” จากภาวะขาดทุนและรายได้โฆษณาสิ่งพิมพ์ถดถอย โดยปรับตัวสู่สื่อออนไลน์ ส่วน “นิตยสาร” มีทั้งหัวนอกและหัวไทย ทยอยปิดตัวมาอย่างต่อเนื่องและต้องปรับตัวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เช่นกัน

ทั้งปี 2562 สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ประเมินมูลค่าโฆษณา หนังสือพิมพ์ อยู่ที่ 4,880 ล้านบาท ติดลบ 20% ส่วนนิตยสาร มูลค่า 975 ล้านบาท ติดลบ 25%

ส่วนสื่อทีวี ที่ยังครองเม็ดเงินโฆษณาอันดับ 1 สัดส่วน 65% ของอุตสาหกรรมโฆษณา ครึ่งปีแรกอยู่ในอาการ “ทรงๆ ทรุดๆ” บางเดือนเป็นบวก บางเดือนติดลบ แม้ทิศทาง “ทีวีดิจิทัล” หลายช่องทำรายได้กระเตื้องขึ้นแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ยังขาดทุน ตัวเลขโฆษณา 6 เดือนแรก สื่อทีวี จึงทำได้ 33,079 ล้านบาท ติดลบ 0.58% ปีนี้ MAAT มองเม็ดเงินโฆษณาทีวี “ทรงตัว” เท่าปีก่อน ที่มีมูลค่า 68,000 ล้านบาท

“วิทยุ” เป็นสื่อที่เม็ดเงินโฆษณาถดถอยตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน แต่เริ่มนิ่ง ไม่ลดลงมากนัก ปี 2561 มูลค่าโฆษณาอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท โตได้ 4% ส่วน 6 เดือนแรกปีนี้ บางเดือนเป็นบวกบางเดือนติดลบ แต่ยังถดถอยเป็นตัวเลขหลักเดียว ไม่มากเท่าสื่อสิ่งพิมพ์ ครึ่งปีแรก โฆษณาวิทยุมีมูลค่า 2,176 ล้านบาท ติดลบ 3.63% โดย MAAT คาดการณ์โฆษณาวิทยุปีนี้ มูลค่าอยู่ที่ 4,370 ล้านบาท ติดลบ 5%

สำหรับสื่อที่เม็ดเงินโฆษณายังเติบโตได้ในครึ่งปีแรกมีเพียงสื่อดิจิทัลและสื่อนอกบ้าน เท่านั้น

]]>
1239388
เม็ดเงินโฆษณาครึ่งปีแรก 5 หมื่นล้าน ติดลบ 2% ลุ้นครึ่งปีหลังฟื้น https://positioningmag.com/1239186 Mon, 15 Jul 2019 09:17:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1239186 แม้จะมีปัจจัยบวกเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ในปีนี้ ปกติจะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในกลุ่มผู้บริโภค หนุนให้อุตสาหกรรมโฆษณาเติบโต แต่ผ่านมาครึ่งปียังคงติดลบ

นีลเส็น ประเทศไทย รายงานการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อ 6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) 2562 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่ามีมูลค่ารวม 50,702 ล้านบาท ติดลบ 2%

หากดูเม็ดเงินโฆษณรายสื่อ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะ “ติดลบ” โดย ทีวี ครองเม็ดเงินสูงสุดมูลค่า 33,079 ล้านบาท ลดลง 0.58 % เคเบิล/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 1,075 ล้านบาท ลดลง 13.31% วิทยุ มูลค่า 2,178 ล้านบาท ลดลง 3.63% สื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 3,681 ล้านบาท ลดลง 4.04%

ขณะที่กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงติดลบอัตราสูงสุดต่อไป โดย หนังสือพิมพ์ มูลค่า 2,388 ล้านบาท ลดลง 17.74% ส่วน นิตยสาร มูลค่า 515 ล้านบาท ลดลง 21.13%

สื่อที่โฆษณา “เติบโต”ในช่วงครึ่งปีแรก คือ สื่อนอกบ้าน มูลค่า 3,373 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.32% สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 3,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.07% สื่อในห้างฯ 514 ล้านบาท ทรงตัว และ สื่อดิจิทัล มูลค่า 302 ล้านบาท


“ทีวีช้อปปิ้ง” แชมป์เทงบสูงสุด

กลุ่ม “แบรนด์” ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด เป็นธุรกิจ “ทีวี ช้อปปิ้ง” จากการที่ “ทีวีดิจิทัล” เกือบทุกช่องปล่อยเช่าเวลาให้กับธุรกิจไดเร็คเซล และหลายช่องได้ขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจนี้ เพื่อโอกาสสร้างรายได้นอกจากโฆษณา

ครึ่งปีแรกแบรนด์อันดับ 1 โฆษณาสูงสุด คือ ทีวีไดเร็ค มูลค่า 738 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จากการลดการเช่าเวลาในทีวีดิจิทัล ที่มีการดำเนินธุรกิจ ทีวี ช้อปปิ้งเอง โดยมีแบรนด์ Sanook Shopping มาเป็นอันดับ 2 มูลค่า 637 ล้านบาท เริ่มเข้ามารุกตลาดตั้งแต่ปีก่อน

อันดับ 3 เครื่องดื่มโค้ก มูลค่า 587 ล้านบาท 4. ธนาคารออมสิน 535 ล้านบาท 5. โอ ช้อปปิ้ง ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งอีกราย ด้วยมูลค่า 528 ล้านบาท

อันดับ 6 ผลิตภัณฑ์ดาวน์นี่ มูลค่า 410 ล้านบาท 7. เป๊ปซี่ มูลค่า 358 ล้านบาท 8. มือถือซัมซุง 339 ล้านบาท 9. รถเก๋งโตโยต้า 327 ล้านบาท และ 10. กระบะฟอร์ด มูลค่า 308 ล้านบาท


กลุ่ม FMCG ยึดท็อปทรี ครึ่งปีแรก

ทางด้าน “องค์กร” ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด ครึ่งปีแรก 2562 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กลุ่มท็อป 3 ยังเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG)

อันดับ 1 ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ มูลค่า 1,490 ล้านบาท แต่ลดลงจากปีก่อนที่ใช้ไป 1,937 ล้านบาท 2. พีแอนด์จี มูลค่า 1,236 ล้านบาท 3. เนสท์เล่ มูลค่า 1,089 ล้านบาท

อันดับ 4 ธุรกิจไดเร็คเซล รวมหลายบริษัท มูลค่า 980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,821% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 5. โตโยต้า มอเตอร์ มูลค่า 801 ล้านบาท 6. โคคา-โคล่า มูลค่า 762 ล้านบาท 7. ลอรีอัล มูลค่า 761 ล้านบาท

อันดับ 8 ทีวีไดเร็ค มูลค่า 738 ล้านบาท 9. ไบเออร์ดอร์ฟ มูลค่า 697 ล้านบาท และ 10. ตรีเพชรอีซูซุ มูลค่า 662 ล้านบาท

โฆษณา มิ.ย. ทีวีติดลบ 6% ฉุดตลาดวูบ

สำหรับงบโฆษณาเดือนมิถุนายน 2562 มีมูลค่า 9,044 ล้านบาท ติดลบ 5.38% โดยสื่อดั้งเดิมยังอยู่ในภาวะติดลบหนัก สื่อทีวี มูลค่า 5,929 ล้านบาท ลงลง 6.72% เนื่องจากทีวีครองสัดส่วนอุตสาหกรรมโฆษณา 65% จึงทำให้ภาพรวมทั้งตลาดลดลง

เช่นเดียวกับสื่อดั้งเดิมอื่นๆ ที่ยังติดลบ เคเบิล/ทีวีดาวเทียม 174 ล้านบาท ลดลง 20.91% หนังสือพิมพ์ มูลค่า 398 ล้านบาท ลดลง 22.72% นิตยสาร มูลค่า 81 ล้านบาท ลดลง 22.12%

ส่วนสื่อโฆษณาที่ยังเติบโต คือ วิทยุ มูลค่า 418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.95% โรงภาพยนตร์ มูลค่า 626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.12% สื่อนอกบ้าน มูลค่า 607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.12% สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.66% สื่อในห้างฯ 97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.48% และ สื่อดิจิทัล มูลค่า 157 ล้านบาท

ทิศทางอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ “มีเดีย เอเยนซี” ต่างประเมินเม็ดเงินโฆษณาปี 2562 “ไม่โต” โดย สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) คาดการณ์ปี 2562 มูลค่าอยู่ที่ 116,761 ล้านบาท เท่าปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังผันผวน

ดังนั้นคงต้องมาลุ้นครึ่งปีหลังว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ หลังจาก นีลเส็น รายงาน ครึ่งปีแรกยังติดลบ 2%.

ข่าวเกี่ยวเนื่อง


หมายเหตุจากนีลเส็น

นีลเส็น ชี้แจงว่าข้อมูลเม็ดเงินโฆษณา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลในสื่อ Internet จากการเก็บในรูปแบบ manual ทีใช้พนักงานเก็บข้อมูลจำนวน 50 website +10 mobile web มาเป็นการใช้เทคโนโลยี Crawler เพื่อจัดเก็บข้อมูลโฆษณาบนเว็บไซต์ จำนวนทั้งหมด 200 เว็บไซต์ ซึ่งจะใช้ชื่อสื่อใหมนี้ว่า ‘Digital’ ซึ่งเป็นสื่อในรูปแบบ Text, Flash, HTML5, Image, Skin, Video และ in banner video ทั้งโฆษณาจาก Direct, Indirect programmatic และนำมาคำนวณตาม Rate card กลาง จากวิธีการคำนวณของทีมนีลเส็น Global

สำหรับภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมด ให้อ้างอิงข้อมูลจาก DAAT

สื่อกลางแจ้ง (outdoor) และสื่อเคลื่อนที่ (transit) : มีการรวมข้อมูลจาก JCDecaux สำหรับข้อมูลจากสื่อในสนามบินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 และข้อมูลของสื่อ outdoor และ transit จาก JCDecaux ได้ถูกรวมเข้าไว้ในรายงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560

นีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่น สื่อเคลื่อนที่ (transit), ป้ายบิลบอร์ด, ป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อในสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2559 เป็นต้นมา

สื่อในห้าง : นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูล สื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ข้อมูลของสื่อในห้าง Tesco Lotus และ Big C ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น

ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง, สื่อเคลื่อนที่ และสื่อในห้างฯ

 

]]>
1239186
รถไฟฟ้ามาหานะเธอ! “BTS” ปั๊มรายได้ปี 2561/62 โต 2.1% จากการปรับราคาค่าโดยสารเฉลี่ยจาก 28.3 บาท เป็น 29 บาท https://positioningmag.com/1232639 Mon, 03 Jun 2019 05:44:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1232639 รถไฟฟ้า BTS ถือเป็นหนึ่งในขนส่งมวลชนหลักที่คนกรุงเทพฯ เลือกใช้สำหรับการเดินทางไปที่ต่างๆ ทราบหรือไม่ว่าในปีงบประมาณ 2561/62 (เมษายน 2561 – มีนาคม 2562) ภาพรวมของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” มีรายได้รวม 48,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224.0% หรือ 33,840 ล้านบาท จาก 15,107 ล้านบาท ในปี 2560/61

รายได้หลักของ บีทีเอส กรุ๊ป มาจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 86% คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 41,328 ล้านบาท เติบโตอย่างก้างกระโดด 353.6% ซึ่งหลักๆ มาจากการรับรู้รายได้งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง จำนวน 30,718 ล้านบาทในปี 2561/62

ปั๊มรายได้ค่าโดยสาร 6,963 ล้านบาท

แต่นั้นอาจจะดูไกลตัวไปบ้างเพราะเป็นเรื่องของอนาคต มาดูสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องใช้ทุกวันดีกว่า คือในส่วนของรายได้ค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้าสายหลัก ปัจจุบันมีให้บริการ 2 เส้นทางคือ สายสีเขียวเข้ม สุขุมวิท จำนวน 31 สถานี ระยะทาง 37.02 กิโลเมตร และสายสีเขียวอ่อน สีส้ม จำนวน 13 สถานี ระยะทาง 14.67 กิโลเมตร

รายงานของบีทีเอส กรุ๊ป ระบุว่า ในปี 2561/62 รายได้ค่าโดยสารในส่วนของรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักเติบโต 2.1% หรือ 141 ล้านบาท จากปีก่อน เป็น 6,963 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ได้หักประมาณการค่าเผื่อค่าโดยสารสุทธิจากการให้ผู้โดยสารเดินทางฟรี เนื่องจากรถไฟฟ้าขัดข้องช่วงเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 18.5 ล้านบาท

สำหรับการเติบโตของรายได้นั้นมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าโดยสารเฉลี่ย ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.4% จากปีก่อน เป็น 29.0 บาทต่อเที่ยว จากการปรับอัตราค่าโดยสารเมื่อเดือนตุลาคม 2560 และการปรับโปรโมชั่นบัตรเติมเงินในเดือนเมษายน 2561

แต่การเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าโดยสารบางส่วนถูกหักกลบด้วยจำนวนเที่ยวการเดินทางที่ลดลงในปีนี้ ซึ่งลดลงเล็กน้อย 0.1% จากปีก่อน เป็น 241.0 ล้านเที่ยวคน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์รถไฟฟ้าขัดข้อง ในเดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงจำนวนวันทำการและช่วงวันหยุดยาวที่มากกว่าปีก่อน

สถิติอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยและ % การเติบโต

  • ปี 2557/58 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 26.9 บาทต่อเที่ยว เติบโต 1.6%
  • ปี 2558/59 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 27.5 บาทต่อเที่ยว เติบโต 2.4%
  • ปี 2559/60 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 27.9 บาทต่อเที่ยว เติบโต 1.3%
  • ปี 2560/61 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 28.3 บาทต่อเที่ยว เติบโต 1.4%
  • ปี 2561/62 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 29.0 บาทต่อเที่ยว เติบโต 2.4%
  • อีก 4 ปี รถไฟฟ้า 4 สายจะมีผู้โดยสาร 1.5 ล้านคนต่อวัน

ปัจจุบัน BTS มีผู้โดยสารวันธรรมดาเฉลี่ยที่ 7.7 แสนเที่ยวคนต่อวันแล้ว และวันศุกร์ผู้โดยสารเคยสูงถึง 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน ก่อนหน้านี้สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ BTS กล่าวว่า บีทีเอส กรุ๊ป เป้าหมายในการดำเนินงานปี 2562/2563 (เมษายน 2562 – มีนาคม 2563) รายได้ค่าโดยสารจะเติบโต 4 – 6% จากปีก่อน

ในส่วนจำนวนผู้โดยสารก็จะเติบโตใกล้เคียงกัน โดยประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยทั้งปี 2562/2563 ที่ 7.9 – 8 แสนเที่ยวคนต่อวัน ซึ่งมาจากแผนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิตสะพานใหม่คูคต จำนวน 1 สถานี จากสถานีหมอชิตไปยังเซ็นทรัลลาดพร้าว ในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นช่วงปลายปี 2562 จะเปิดเดินรถต่อจนถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ขณะเดียวกันคาดว่า ในอีก 4 ปีจากนี้ ซึ่ง BTS เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ สีเขียวเหนือ สายสีชมพู และสายสีเหลือง (ที่จะเปิดให้บริการปี 2564) BTS จะมีผู้โดยสารรวมทั้งระบบที่ 1.5 ล้านคนต่อวัน

ธุรกิจโฆษณาโตมากกว่าเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงธุรกิจรถไฟฟ้า อีกหนึ่งธุรกิจที่ทำรายได้ให้ บีทีเอส กรุ๊ป เป็นกอบเป็นกำคือธุรกิจโฆษณาที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 11% จากทั้งพอร์ต โดยรายได้ในส่วนนี้มาจากบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จากัด (มหาชน) หรือ VGI ซึ่งถือหุ้นใหญ่กว่า 70%

บีทีเอส กรุ๊ป ระบุว่า ธุรกิจสื่อโฆษณาสามารถสร้างรายได้สูงสุดนับตั้งแต่เปิดดำเนินการที่ 5,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% หรือ 1,221 ล้านบาท จากปีก่อน ที่สำคัญยังเป็นรายได้ที่เติบโตจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจบริการด้านดิจิทัล

ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน (สื่อโฆษณาในระบบรถไฟฟ้า สื่อโฆษณากลางแจ้ง สื่อโฆษณาในอาคารสำนักงานและอื่นๆ) ถือเป็นรายได้หลักกว่า 75% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 3,841 ล้านบาท เติบโต 7.9% หรือ 282 ล้านบาทจากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราการใช้สื่อที่มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อโฆษณาประเภทดิจิทัล และพื้นที่ร้านค้าบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

โดยได้ร่วมมือกับ สหพัฒ ในการเปิดร้านสะดวกซื้อลอว์สัน (Lawson)” บนสถานีรถไฟฟ้า เบื้องต้นเปิดไปแล้ว 3 สถานี ได้แก่ ทองหล่อ เพลินจิต และศาลาแดง และมีแผนที่จะเปิดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งหมด 30 สถานี

ใช้เงินนับหมื่นล้านซื้อหุ้นเสริมธุรกิจโฆษณา

ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล มีรายได้ 1,282 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของรายได้รวมของสื่อโฆษณา เพิ่มขึ้น 273.0% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการควบรวมงบการเงินของกลุ่ม Trans.Ad ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเข้าควบรวมกิจการเท่านั้น

โดยปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าในส่วนของธุรกิจโฆษณามีดีลเกิดขึ้นกว่า 5 ครั้ง ไล่มาตั้งแต่ ใช้เงิน 5,900 ล้านบาท ซื้อหุ้น 23% ของ ในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (Kerry Express) ซึ่งมีการมีการขนส่งสินค้าและพัสดุกว่า 1,200,000 ชิ้นต่อวัน

ต่อมาใช้เงินอีก 388 ล้านบาท ซึ้อหุ้นของบริษัท ทรานส์.แอด โซลูชั่น จากัด (Trans.Ad) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านระบบแสดงสื่อมัลติมีเดีย 81.65%, ร่วมทุนกับ Anymild ในการตั้งบริษัทที่ทำเกี่ยวกับสื่อโฆษณาที่ใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI)

ในเดือนมีนาคมใช้เงินลงทุน 4,620 ล้านบาท ในการเข้าถือหุ้น 18.6% ในบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) (PlanB) อีกหนึ่งผู้ให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้านรายใหญ่ของไทย และในเดือนเมษายนได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ iClick ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์และเทคโนโลยีฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

ขณะเดียวกันจำนวนบัตรแรบบิทในปี 2561/62 มีจำนวนทั้งสิ้น 11 ล้านใบ มากกว่าเป้าหมาย สำหรับปีนี้ตั้งไว้ที่ 10.5 ล้านใบ และจำนวนผู้ใช้บริการ Rabbit LinePay มีจำนวนทั้งสิ้น 5.5 ล้านราย สูงกว่าเป้าหมายเต็มปีที่ตั้งไว้ที่ 5.3 ล้านราย โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากการพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมมือกับ บีทีเอส กรุ๊ป  และ AIS.

]]>
1232639