นักท่องเที่ยว – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 21 Mar 2024 12:31:28 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘Klook’ ประเมินนักท่องเที่ยวใช้จ่ายช่วง ‘สงกรานต์’ เพิ่ม 30% และ ‘จีน’ กำลังเป็นปลายทางมาแรงของคนไทย https://positioningmag.com/1467212 Thu, 21 Mar 2024 12:05:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1467212 หลังจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย คนทั่วโลกก็ออกเดินทางท่องเที่ยวกันแทบจะทันที หรือที่หลายคนเรียกว่า “เที่ยวเพื่อล้างแค้น และ Klook แพลตฟอร์มจองกิจกรรมและบริการท่องเที่ยว ก็ได้มาเปิดเผยถึงอินไซต์พฤติกรรมที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวในช่วงล้างแค้นนี้

ปริมาณการบินของเอเชียจะฟื้นตัวเกือบ 100% ในปีนี้

มิเชล โฮ ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ บริษัท Klook จำกัด ได้เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ไฟลท์บินของเอเชียฟื้นตัวเฉลี่ยประมาณ 75% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด (2562) อาทิ

  • สิงคโปร์ 90%
  • ไทย (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) 75%
  • ญี่ปุ่น (นาริตะ) 70%
  • ฮ่องกง 60%
  • ปักกิ่ง 40%

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 นี้ คาดว่าปริมาณไฟลท์บินจะฟื้นตัวได้ถึง 99.5% หรือแทบจะเป็นปกติ ส่วนแพลตฟอร์มเองก็มียอดจองการท่องเที่ยว และกิจกรรมประมาณ 1.4-3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น

จากผลสำรวจพบว่า ปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวในเอเชีย 64% ใช้งบสำหรับท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 30-50% และ 60% วางแผนจะใช้งบไปกับ กิจกรรมและประสบการณ์ในการท่องเที่ยว ในส่วนของ นักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวนถึง 54% ยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น และในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวไทยมีการจองกิจกรรมผ่าน Klook เพิ่มขึ้น 270% เมื่อเทียบกับปี 2565

หากนับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2566 พบว่า นักท่องเที่ยวจาก ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ เป็น 3 ประเทศที่เดินทางเข้ามาไทยมากที่สุด และสำหรับ Klook เองก็โดยยอดการจองกิจกรรมเมืองไทยในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์เติบโตขึ้นกว่า 40% และแนวโน้มขาจะเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มี เทศกาลสงกรานต์

สงกรานต์คาดนักท่องเที่ยวใช้เงินเพิ่มขึ้น 30%

ในช่วงสงกรานต์ คาดว่านักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายมากขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ เนื่องจากการกิจกรรมและระยะเวลาในการท่องเที่ยวที่นานขึ้น โดยดูได้จากการจองของนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนักท่องเที่ยวไทยยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวมากนัก เพราะจะเริ่มวางแผนการเดินทางในช่วงปลายมีนาคม-ต้นเมษายน แต่คาดว่าปลายทางสำคัญยังคงเป็น ญี่ปุ่น ยุโรป และฮ่องกง

“นักเดินทางต่างชาติจำนวนมากเลือกที่จะขยายเวลาการพักในประเทศไทย เนื่องจากมีกิจกรรมช่วงสงกรานต์ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ”

ทั้งนี้ จีน ก็กำลังเติบโตในฐานะจุดหมายปลายทางที่นักเดินทางชาวไทยสนใจไป เนื่องจากไม่ต้องขอวีซ่า และปลายทางที่นักท่องเที่ยวไทยสนใจก็คือ ดิสนีย์แลนด์ เซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจีนจะไม่แซง 3 อันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมในเร็ว ๆ นี้แน่นอน

(Photo: Shutterstock)
]]>
1467212
เที่ยวเก่ง! คนไทยวางแผน “เที่ยวต่างประเทศ” สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก “Gen Y” สนใจเที่ยวต่างแดนสูงสุด https://positioningmag.com/1454622 Wed, 06 Dec 2023 12:24:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1454622 SiteMinder สำรวจนักท่องเที่ยวใน 12 ประเทศ พบคนไทย 49% วางแผน “เที่ยวต่างประเทศ” ภายใน 12 เดือนข้างหน้า เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก กลุ่มอายุที่มีแนวโน้มเที่ยวต่างประเทศสูงสุดคือ “Gen Y” รองลงมาเป็น “Gen X” ขณะที่ “Gen Z” มีแนวโน้ม “แบกคอมพ์เที่ยว” ทำงานไปเที่ยวไปสูงที่สุด

รายงานเรื่อง Changing Traveller Report 2023 โดย SiteMinder สำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยว 10,000 คน ใน 12 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก พบว่า นักท่องเที่ยวทั่วโลกวางแผนที่จะ “เที่ยวต่างประเทศ” สูงขึ้นกว่าปีก่อนมาก

โดยปี 2023 ค่าเฉลี่ยนักท่องเที่ยว 42% มีแผนที่จะเที่ยวต่างประเทศภายใน 12 เดือนข้างหน้า เทียบกับปี 2022 ที่สำรวจมีสัดส่วนเพียง 20%

ลาพักร้อนไม่จำกัด
(Photo: Shutterstock)

สำหรับกลุ่ม 5 อันดับแรกสัญชาตินักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะเที่ยวต่างประเทศมากที่สุด คือ เยอรมนี (55%), สหราชอาณาจักร (53%), ไทย (49%), จีน (48%) และฝรั่งเศส (47%) เห็นได้ว่าคนไทยมีความต้องการเที่ยวต่างประเทศสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกและชาติอื่นๆ

 

“Gen Y” ขาเที่ยวตัวจริง

สำหรับนักท่องเที่ยวไทยในการสำรวจนี้มีกว่า 800 คน และมีการแยกสำรวจความต้องการเที่ยวต่างประเทศตามช่วงอายุ พบสัดส่วนคนที่มีแผนเที่ยวต่างประเทศใน 12 เดือนข้างหน้า ดังนี้

  • Gen Z (18-26 ปี) – 69%
  • Gen Y (27-42 ปี) – 82%
  • Gen X (43-58 ปี) – 75%
  • Baby Boomers (59-77 ปี) – 71%

เห็นได้ว่า “Gen Y” คือกลุ่มที่ต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุดในทุกช่วงวัย รองลงมาคือกลุ่ม “Gen X”

SiteMinder ชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนเหล่านี้มีความแปลกแตกต่างจากค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งค่าเฉลี่ยโลกอันดับ 1 เจนเนอเรชันที่วางแผนเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดคือ Gen Y เหมือนกันก็จริง แต่อันดับ 2 จะเป็น Gen Z ในขณะที่เมืองไทยนั้นคน Gen Z มีความต้องการเที่ยวต่างประเทศน้อยที่สุดในทุกๆ เจนฯ

Photo : Shutterstock

 

“แบกคอมพ์เที่ยว” ยังเป็นเทรนด์

อีกหนึ่งเทรนด์สำคัญที่เกิดขึ้นในระยะหลังคือการ “ทำงานระหว่างเที่ยว” ซึ่ง SiteMinder พบว่าค่าเฉลี่ยโลกลดลงเพียงเล็กน้อย ทำให้การให้ความสำคัญกับกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ “Workation” ยังสำคัญอยู่

โดยปี 2023 มีนักท่องเที่ยว 36% ที่ตอบว่า มีแนวโน้มจะทำงานระหว่างเที่ยวในทริปหน้า ลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 36.5% เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม คนเอเชียยังคงเป็นชาติที่ “แบกคอมพ์เที่ยว” พร้อมจะทำงานระหว่างเที่ยวมากที่สุด นำโด่งมาโดย “อินเดีย” (60%) รองมาคือ “ไทย” (57%) ตามด้วย “อินโดนีเซีย” (53%) และ “จีน” (47%)

สำหรับชาวไทยนั้น กลุ่มเจนเนอเรชันที่น่าจะทำงานไปด้วยระหว่างเที่ยวมากที่สุดคือ “Gen Z” (68%) แม้แต่กลุ่ม “Baby Boomers” ชาวไทยก็มีถึง (37%) ที่จะทำงานไปด้วยระหว่างเที่ยว

]]>
1454622
‘กรุงเทพฯ’ ครองอันดับ 2 เมืองที่ ‘นักท่องเที่ยวอินเดีย’ นิยมมากที่สุดในปี 2022 https://positioningmag.com/1452640 Tue, 21 Nov 2023 04:29:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1452640 ในอดีตที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่ในช่วงที่จีนยังปิดประเทศนั้น นักท่องเที่ยวอินเดีย ก็ขึ้นแท่นเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก และแม้ว่าเราจะเห็นนักท่องเที่ยวในอินเดียเข้าไทยจำนวนมหาศาล แต่ในความเป็นจริงแล้วคนอินเดียที่ท่องเที่ยวต่างประเทศมีเพียง 1% เท่านั้น

นักท่องเที่ยวอินเดียสร้างเม็ดเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท

อ้างอิงข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่า ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทยราว 5-6 แสนคน สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 2 หมื่นล้านบาท และในปีนี้ มีการประเมินว่านักท่องเที่ยวอินเดียจะเข้าไทยกว่า 3 ล้านคน และมีการใช้จ่ายประมาณ 41,000 บาท/การมาท่องเที่ยว 1 ครั้ง ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเปิด ฟรีวีซ่า อินเดียเที่ยวไทย 30 วันนาน 6 เดือน ตั้งแต่ 10 พ.ย. – 10 พ.ค. 2567 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

กรุงเทพฯ อันดับ 2 เมืองที่นักท่องเที่ยวอินเดียมามากที่สุด

จากข้อมูลจาก Booking.com และ McKinsey ระบุว่า นักเดินทางชาวอินเดียเดินทางเพื่อพักผ่อน 1.7 พันล้านครั้งในปี 2022 แต่นักเดินทางส่วนใหญ่ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลย แต่การเดินทางไป ต่างประเทศ มีเพียง 1% เท่านั้น โดยสถานที่ 10 แรกที่นักท่องเที่ยวอินเดียนิยมมากที่สุด ได้แก่

  • ดูไบ
  • กรุงเทพฯ
  • สิงคโปร์
  • ลอนดอน
  • ปารีส
  • นครโฮจิมินห์
  • อูบุด
  • ฮานอย
  • ภูเก็ต
  • กาฐมาณฑุ

ภายในปี 2030 มีกว่า 5 พันล้านทริป

นอกจากนี้ มีการประเมินว่าภายในปี 2030 นักเดินทางชาวอินเดียจะมีทริปพักผ่อนสูงถึง 5 พันล้านทริป แต่ 99% ของทริปเหล่านั้นจะอยู่ในประเทศเหมือนกับปี 2022 อย่างไรก็ตาม แม้ทริปเที่ยวต่างประเทศจะมีเพียง 1% แต่เท่ากับว่ามีปริมาณถึง 50 ล้านทริป เลยทีเดียว

อย่างที่รู้กันว่า อินเดียได้ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มี จำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ภายในปี 2030 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีการ ใช้จ่ายด้านการเดินทางมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เนื่องจากจำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้ของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 35,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 1.2 ล้านบาท) ในเวลานั้น

นอกจากนี้ ประชากรยังอายุน้อย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 27.6 ปี ซึ่งอายุน้อยกว่าประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ ส่วนใหญ่มากกว่า 10 ปี ยิ่งกว่านั้น การบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงการพักผ่อนและสันทนาการ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสองเท่าภายในปี 2030 เช่นกัน ซึ่งรายงานระบุว่าการใช้จ่ายด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวจะสูงถึง 4.10 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 170% จาก 1.50 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2019

Source

]]>
1452640
‘Agoda’ เผย “ท่องเที่ยวไทย’ โตแซง 2019 แต่ ‘เวียดนาม’ กำลังเป็นคู่แข่งสำคัญ “แย่งนักท่องเที่ยว” https://positioningmag.com/1434288 Thu, 15 Jun 2023 09:53:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1434288 อย่างที่หลายคนรู้ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยนั้น การท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สร้างการเติบโต โดย อโกด้า (Agoda) แพลตฟอร์มผู้ให้บริการจองห้องพักทางออนไลน์ ได้เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวไทยถือว่า ฟื้นตัวกว่าปี 2019 ไปแล้ว แต่ก็มี เวียดนาม ที่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว

ท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์

ออมรี มอร์เกนสเติร์น (Omri Morgenshtern) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อโกด้า เปิดเผยว่า จากข้อมูลของแพลตฟอร์มพบว่า การท่องเที่ยวของไทย ในช่วง 5 เดือนแรกในปี 2023 นั้น ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยไทยถือเป็นปลายทาง อันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นเมืองปลายทางที่มีการเดินทางมามากที่สุด

โดยประเทศที่มาท่องเที่ยวไทยมากที่สุด คือ เกาหลีใต้ และ อินเดีย ส่วนการมาของนักท่องเที่ยว จีน คิดเป็นประมาณ 50% เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมา 100% ภายในสิ้นปีนี้ 

“ไทยถือว่าฟื้นตัวได้เร็วกว่าหลาย ๆ ประเทศ เพราะไม่มีข้อจำกัดในการเดินทาง รวมถึงจำนวนไฟลท์บินที่มีจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าไทยเปิดกว้างในด้านการท่องเที่ยวมาก”

ยังเทียบญี่ปุ่นยาก

ญี่ปุ่นยังถือเป็นหมุดหมายอันดับ 1 ของนานาประเทศทั่วโลกแบบ ทิ้งห่าง โดย ออมรี อธิบายว่า เนื่องจากญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์และความแตกต่าง ที่สำคัญ ญี่ปุ่นมี เหตุผลให้ไปท่องเที่ยวมาก ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ, สวนสนุก, แหล่งช้อปปิ้ง สามารถเที่ยวได้ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึงสามารถเดินทางไปในเชิงธุรกิจ ดังนั้น การที่ไทยจะแซงขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในระยะเวลาอันสั้นได้ยาก

สิ่งที่ไทยมี ทะเลสวย อากาศอบอุ่น และ เหมาะกับการมาปาร์ตี้สังสรรค์ แต่ไทยยังจำเป็นต้อง ลงทุนเพิ่ม เพื่อให้นักท่องเท่ียวมีเหตุผลที่จะเดินทางมา ไม่ใช่แค่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิม เช่น การมีสวนสนุกใหญ่ ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

ในส่วนของ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือเชิงวัฒนธรรมนั้นต้องยอมรับว่า ม่ได้มีดีมานด์มากเท่าการท่องเที่ยวในสวนสนุก ที่ไม่เยอะเท่ากับสถานที่ท่องเที่ยวในสวนสนุก นอกจากนี้ คู่แข่งในภูมิภาคก็มีจำนวนมากที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขณะที่ภาพลักษณ์ของไทยเองก็มีความทันสมัย ดังนั้น อาจไม่ได้น่าดึงดูดเท่ากับประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิ เมียนมา อย่างไรก็ตาม ไทยเองก็ต้องทำการตลาดเพื่อดันเมืองรองนั้น ๆ ว่ามีอะไรดี ไม่ใช่แค่ว่าราคาถูก

ภาพจาก Shutterstock

เวียดนามมาแรงจ่อแซงไทย

เวียดนาม ถือเป็นประเทศที่ในภาคการท่องเที่ยวมีความคล้ายคลึงกับไทย แต่เมื่อเทียบกันแล้วยังถือว่าห่างกันพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเวียดนามเติบโตก้าวกระโดด โดยในปัจจุบัน เวียดนามเป็นหมุดหมายอันดับ 2 ของนักท่องเที่ยวเกาหลี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ใกล้ และไฟลท์บินก็เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 15 ไฟลท์

นอกจากนี้ เกาหลีก็เข้าไปลงทุนในเวียดนามมานาน ทำให้มีความคุ้นเคยมากกว่าไทย ดังนั้น ไทยเองก็ต้องลงทุนเพิ่มเติม เช่น เรื่องวีซ่าที่ทำให้ง่ายสะดวก และสายการบินก็ต้องเปิดเส้นทางการบินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ออมรี มองว่า ไทยมีศักยภาพที่จะเป็น ฮับด้านเทคโนโลยี จึงอยากให้ไทยพัฒนาในส่วนนี้ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุน นักธุรกิจทั่วโลกเดินทางมาพบปะ แชร์ไอเดีย และเจรจาด้านธุรกิจ ซึ่งถ้าทำได้ก็จะยิ่งดึงดูดการเดินทาง

“ความเห็นส่วนตัว ผมมอยากให้ไทยเป็นฮับของเทคโนโลยี ตอนนี้สิงคโปร์มีภาพด้านนี้มากกว่า เเต่ผมเชื่อว่าเรามีประสิทธิภาพที่จะเป็นฮับด้านเทคโนโลยีของภูมิภาคได้ เพราะปัจจุบันไทยถือเป็นศูนย์กลางของอโกด้า พนักงานส่วนใหญ่ก็อยู่ไทย ศูนย์กลางเทคโนโลยีก็อยู่ไทย และพนักงานเกือบครึ่งของเราที่เป็นชาวต่างชาติก็ชอบไทยมาก”

Photo : Shutterstock

อโกด้าฟื้นเกิน 100%

สำหรับยอดการใช้งานของอโกด้าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเติบโตกว่าปี 2019 แล้ว โดยยอดค้นหาเพิ่มขึ้น 60% ยอดค้นหาท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น 49% อย่างไรก็ตาม ยอดการค้นหาข้อมูลการเที่ยวต่างประเทศของคนไทยยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะต้องยอมรับว่ามีเรื่องของ ราคา เข้ามาเป็นปัจจัย อย่างค่าตั๋วเครื่องบินก็ถือว่าสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนไฟลท์ไม่เพียงพอ

ดังนั้น เรื่องของ ราคา จะเป็น 1 ใน 3 ด้านที่อโกด้าเน้นมากในปัจจุบันและอนาคต โดยพยายามจะทำราคาให้ดีที่สุด มีฟีเจอร์อย่าง Price Freeze ช่วยให้ผู้จองสามารถล็อกราคาที่พักที่กำลังดู อีก 2 ด้านจะเป็นการพัฒนา เทคโนโลยี โดยล่าสุดเริ่มนำเทคโนโลยี Generative AI มาใช้ และสุดท้ายคือ Localization

“เรามองว่าการท่องเที่ยวตอนนี้มันไม่ได้เติบโตเพราะอั้นแล้วจะลดลง เราเชื่อว่าจะคงที่ไปเรื่อย ๆ เช่น ฝั่งยุโรปและอเมริกาที่เปิดการท่องเที่ยวก่อนหลาย ๆ ประเทศ แต่ก็ยังไม่ตกลงเท่าไหร่ในปัจจุบัน โดยเราอยากให้คนเข้าถึงการท่องเที่ยวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราเลยพยายามทำราคาให้ดีที่สุดเปลี่ยนแท็กไลน์เป็น ให้เห็นโลกในราคาที่ต่ำลง เพราะถ้ามาจองกับเราแล้วถูกลงอีก 1-2% แล้วทำให้คนเที่ยวได้ก็โอเคเเล้ว”

]]>
1434288
อินไซต์ “นักท่องเที่ยว” 11 เขตปกครองในเอเชียแปซิฟิก ใครพร้อมบินมากที่สุด? https://positioningmag.com/1396109 Mon, 15 Aug 2022 05:59:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1396109 Booking.com จัดสำรวจความเห็นคนกว่า 11,000 คนใน 11 เขตปกครองกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ส่องอินไซต์ “นักท่องเที่ยว” ประเทศไหนพร้อมออกเที่ยวมากที่สุด และแต่ละพื้นที่มีความกังวลอย่างไรกับการท่องเที่ยว ในทางกลับกัน เมื่อประเทศตนเองเริ่มเปิดพรมแดน คนในประเทศพร้อมรับนักท่องเที่ยวขาเข้ามากแค่ไหน

การสำรวจในหัวข้อ “ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว” ครั้งนี้ของ Booking.com แบ่งประเด็นหลักด้านความพร้อมในการออกท่องเที่ยวเป็น 2 เรื่อง คือ ความต้องการส่วนตัวในการออกท่องเที่ยว และ อัตราการยอมรับได้ต่อ ‘ดิสรัปต์ชัน’ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งทำให้เกิดปัญหาระหว่างทาง เช่น ปัญหาไฟลท์บินดีเลย์ กระเป๋าสัมภาระหาย

การสอบถามเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 19 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2022 และให้กรอบสอบถามเรื่องความต้องการออกเที่ยวในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ผลที่ได้มีการชั่งน้ำหนักเฉลี่ยและจัดอันดับเขตปกครองที่มีความเชื่อมั่นกับการท่องเที่ยวมากที่สุด ดังนี้

อันดับ 1 อินเดีย ต้องการออกท่องเที่ยว 86% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 70%

อันดับ 2 เวียดนาม ต้องการออกท่องเที่ยว 85% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 49%

อันดับ 3 จีน ต้องการออกท่องเที่ยว 89% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 48%

อันดับ 4 นิวซีแลนด์ ต้องการออกท่องเที่ยว 79% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 41%

อันดับ 5 ออสเตรเลีย ต้องการออกท่องเที่ยว 72% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 36%

อันดับ 6 สิงคโปร์ ต้องการออกท่องเที่ยว 75% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 35%

อันดับ 7 ฮ่องกง ต้องการออกท่องเที่ยว 71% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 50%

อันดับ 8 ไทย ต้องการออกท่องเที่ยว 70% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 66%

อันดับ 9 เกาหลีใต้ ต้องการออกท่องเที่ยว 80% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 31%

อันดับ 10 ไต้หวัน ต้องการออกท่องเที่ยว 70% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 68%

อันดับ 11 ญี่ปุ่น ต้องการออกท่องเที่ยว 62% และยอมรับได้ที่จะเจอปัญหาในการเดินทาง 24%

ค่าเฉลี่ยในแง่ของความต้องการออกท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกนั้นอยู่ที่ 76% จะเห็นว่า มี 4 ประเทศที่มีความต้องการสูงเกินค่าเฉลี่ยคือ อินเดีย เวียดนาม จีน และนิวซีแลนด์ โดยที่ “อินเดีย” ถือว่ามีศักยภาพความเชื่อมั่นสูงที่สุด เพราะสามารถยอมรับกับการดิสรัปต์ชันได้ ไม่หวั่นเกรงแม้อาจจะเกิดปัญหาระหว่างการเดินทางขึ้น

สำหรับ “อุปสรรค” หรือความกังวลที่ทำให้นักท่องเที่ยวแต่ละประเทศอาจจะยังไม่กล้าเดินทางมากที่สุด เช่น

  • เวียดนาม 53% กังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น
  • จีน 46% กังวลกับการทำเอกสารการเดินทางที่ยุ่งยาก (หากรัฐบาลเปิดให้เดินทางเข้าออกได้โดยไม่ต้องกักตัวแล้ว)
  • ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยยินดีที่จะให้ข้อมูลส่วนตัว แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง
  • สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นสามประเทศที่กังวลกับเรื่องปัญหาระหว่างเดินทางมากที่สุด มีอัตรายอมรับการดิสรัปต์ชันได้ต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิก เป็นไปได้ว่าเกิดจากการเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงในการจัดการภายในประเทศ ทำให้ยอมรับไม่ได้กับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
  • ไต้หวัน ความกังวลสูงสุด 60% คือเกรงว่าตนจะป่วยหรือติดเชื้อไวรัสระหว่างเดินทาง
คนเวียดนามพร้อมเที่ยว แต่มีความกังวลข้อใหญ่สุดคือเรื่องค่าใช้จ่าย (Photo : Shutterstock)

 

คนในเอเชียแปซิฟิกมีความกังวลต่อการ “เปิดพรมแดน” ไม่เท่ากัน

ในแง่ของการเป็นเจ้าบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว Booking.com พบว่าค่าเฉลี่ยความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาของเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 51% และจะเห็นได้ชัดว่าบางประเทศมีความเชื่อมั่นในการเปิดพรมแดนสูงมาก ขณะที่บางประเทศก็ต่ำมาก

ยกตัวอย่างเช่น อินเดีย นอกจากจะเชื่อมั่นกับการไปเที่ยวสูงสุดแล้ว ประเทศนี้ยังเชื่อมั่นกับการเปิดประเทศมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยมีคนอินเดียสูงถึง 85% ที่มั่นใจว่าประเทศปลอดภัยพร้อมรับนักท่องเที่ยว รองลงมาคือเวียดนาม 82% มั่นใจกับการเปิดประเทศ

คนอินเดียมั่นใจกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก (ภาพจาก หลุมฝังพระบรมศพจักรพรรดิหุมายูง กรุงนิวเดลี / Shantanu Goyal / Pexels)

ส่วนประเทศที่ถือว่าเกาะอยู่ในค่าเฉลี่ย เช่น 55% ของคนออสเตรเลียรู้สึกสะดวกใจที่จะเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้ง

ด้านประเทศที่คนรู้สึกไม่เชื่อมั่นที่จะเปิดประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย มีคนเพียง 39% ที่สะดวกใจกับการเปิดประเทศ แต่ผู้ทำโพลมองว่าอาจจะเป็นเพราะไทยคือประเทศที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากที่สุดในภูมิภาค ทำให้คนในประเทศมีความกังวลสูงเกี่ยวกับโรคระบาด

รวมถึง ญี่ปุ่น ที่นอกจากจะเชื่อมั่นกับการเดินทางออกน้อยที่สุดแล้ว ก็เชื่อมั่นกับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวน้อยที่สุดเช่นกัน มีคนญี่ปุ่นเพียง 26% ที่รู้สึกสะดวกใจกับการเปิดพรมแดน

โดยสรุปแล้ว ขณะนี้ “อินเดีย” จึงเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวมีศักยภาพความพร้อมออกเดินทางมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก รองลงมาคือ “เวียดนาม” แต่ต้องจัดการกับความกังวลด้านค่าใช้จ่าย ส่วน “จีน” นั้นมีดีมานด์สูงมากๆ แต่ยังต้องรอเวลาให้รัฐบาลพร้อมเปิดการเดินทางก่อน เมื่อนั้นคนจีนจะกลับมาเป็นตลาดใหญ่ของภูมิภาคอีกครั้งอย่างแน่นอน

Source

]]>
1396109
ไม่ให้อินเดียแซงนาน! ผลสำรวจชี้คน ‘จีน’ 62% พร้อมเที่ยวต่างประเทศ ขอแค่ยกเลิก Zero Covid https://positioningmag.com/1390398 Tue, 28 Jun 2022 09:18:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1390398 ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เปิดเผยถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลพบว่า นักท่องเที่ยว อินเดีย ขึ้นแท่นเที่ยวไทยมากที่สุด ด้วยจำนวนถึง 161,131 คน ตามด้วย มาเลเซีย (137,969 คน) ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ สหราชอาณาจักร ตามด้วย สิงคโปร์ และ เยอรมนี แน่นอนว่าที่ไร้ชื่อแชมป์เก่าอย่าง จีน ไม่ใช่เพราะไม่อยากมา แต่จากมาตรการ Zero Covid ที่ทำให้การเดินทางข้ามประเทศยังไม่สะดวกนัก

72% ของคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพร้อมท่องเที่ยว

Booking.com ได้เผยผลรายงานจาก ดัชนีความเชื่อมั่นการเดินทาง (Booking.com Travel Confidence Index) ซึ่งเป็นการรวมผลสำรวจข้อมูลความคิดเห็นของผู้เดินทางจำนวน 11,000 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครอบคลุม 11 ประเทศสำคัญ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี นิวซีแลนด์ ไต้หวัน และเวียดนาม

จากผลสำรวจพบว่า พวกเขาอยากจะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง โดย 76% ตั้งใจที่จะ ออกเดินทางในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดย 46% ให้เหตุผลว่าที่อยากเดินทางท่องเที่ยวเป็นเพราะ ต้องการหลีกหนีจากความเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่าย (38%) และ ความปลอดภัย (37%) ถือเป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่เลือกพิจารณาเมื่อต้องวางแผนการเดินทางครั้งใหม่ โดยเฉพาะ ความกลัวที่จะต้องกักตัว และ กลัวว่าจะต้องติดอยู่ประเทศปลายทาง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฉับพลันของมาตรการเดินทางเข้าประเทศ

อินเดียพร้อมเที่ยวสุดใน 11 ประเทศ

อินเดียถือเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นในการเดินทางมากที่สุด (86%) ดังนั้น อาจไม่น่าแปลกใจที่คนอินเดียจะขึ้นแท่นอันดับ 1 นักท่องเที่ยวของไทยในตอนนี้ (161,131 คน) โดยคนอินเดียส่วนใหญ่ต้องการท่องเที่ยวพร้อมกับ ครอบครัว (58%) ตามด้วย คู่รัก (46%) และ เพื่อน (39%)

ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้คนอินเดียอยากออกเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่

  • มีความมั่นใจในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย (25%)
  • พักเหนื่อยจากการทำงาน (23%)
  • หาประสบการณ์ใหม่ ๆ (22%)
  • มีส่วนลดที่น่าสนใจ (20%)
  • ต้องการนำเรื่องราวการท่องเที่ยวไปแชร์ในโซเชียลมีเดีย (9%)

นักท่องเที่ยวจีน 62% พร้อมเที่ยวต่างประเทศ

โดยจากข้อมูลพบว่า 89% ของผู้เดินทางชาวจีนเผยว่า แม้ตั้งใจวางแผนที่จะออกเดินทางอีกครั้ง แต่แผนการเดินทางดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นในปีถัดไป (2023) และด้วยนโยบาย Zero Covid ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีน เกือบ 3 ใน 10 คน วางแผนที่จะเดินทางภายในประเทศก่อน และมีถึง 68% ตั้งใจที่จะท่องเที่ยวประมาณ 3 ทริปภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวจีน ตั้งใจจะเดินทาง ท่องเที่ยวต่างประเทศทันที ถ้าประเทศจีน ยกเลิกนโยบาย Zero Covid ทั้งนี้ ประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนตั้งใจจะไปเที่ยวสูงสุด ได้แก่

  • ญี่ปุ่น/เกาหลีใต้ (43%)
  • ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (28%)
  • ประเทศในแถบโอเชียเนีย (19%)

ไทยเน้นเที่ยวในประเทศก่อน

สำหรับประเทศไทย 70% ของผู้เดินทางชาวไทย พร้อมจะออกเดินทางในปีต่อไป โดยสาเหตุสำคัญในการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย (76%) คือ “การไปพักผ่อนเพื่อชาร์จแบตและเติมพลังใจ” โดย การใช้เวลาพักผ่อนใกล้ชิดกับธรรมชาติ คือ สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังมองหา และ 66% ของผู้เดินทางชาวไทยพร้อมที่จะยอมรับข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่อาจทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงักได้

และแม้ว่าตอนนี้ทั่วโลกจะสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้แล้ว แต่เกือบ 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวไทย ยังคงให้ความสำคัญกับ การเที่ยวในประเทศเป็นหลัก โดย 74% เลือกการ ขับรถด้วยตัวเอง รองลงมาคือเครื่องบิน (18%) และระบบขนส่งสาธารณะ (8%) ประเภทของทริปท่องเที่ยวในประเทศที่คนไทยสนใจมากที่สุด ได้แก่ เที่ยวทะเล (65%) ตามด้วยการ สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น (62%) และ การขับรถเที่ยว หรือ โรดทริป (45%)

ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เทรนด์มาแรง

ในแง่ความยั่งยืน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 จาก 11 ตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง 63% ของคนไทยมีความตั้งใจที่จะท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้นเมื่อเทียบกับแนวโน้มโดยรวมของตลาด (52%) โดยพวกเขากล่าวว่ายินดีที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน นอกจากนี้ 57% ของคนไทยเข้าใจและยอมรับได้หากจะมีตัวเลือกที่พักให้เลือกน้อยลง ตราบใดที่ตัวเลือกที่พักเหล่านั้นมีนโยบายที่สนับสนุนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวไทยก็ยังมีข้อกังวลหลายประการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่สูงในการเข้าถึงการเดินทางแบบยั่งยืน (66%) ข้อจำกัดในการเข้าถึงตัวเลือกการเดินทางแบบยั่งยืนในขณะออกเดินทาง (60%) และตัวเลือกด้านการเดินทางแบบยั่งยืนยังขาดความชัดเจน (59%)

]]>
1390398
AirAsia หันจับ “อินเดีย” เป็นตลาดสำคัญ ทดแทนนักท่องเที่ยว “จีน” ที่ยังปิดพรมแดน https://positioningmag.com/1388792 Wed, 15 Jun 2022 07:54:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388792 สายการบินสัญชาติมาเลเซีย AirAsia กำลังเร่งดึงนักท่องเที่ยว “อินเดีย” มาใช้บริการ โดยมีจุดหมายปลายทางหลักในมาเลย์และอินโดนีเซีย การปรับตัวของสายการบินเกิดขึ้นช่วงหลังโรคระบาด COVID-19 คลี่คลาย และ “จีน” ยังไม่มีท่าทีจะเปิดประเทศในเร็ววัน

AirAsia สายการบินภายใต้บริษัท Capital A Bhd จำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังเดินทางเข้าออกประเทศลำบาก และทำให้ผู้โดยสารอินเดียทวีความสำคัญขึ้น

“อินเดียเป็นตลาดที่สำคัญมาก สำคัญอย่างแน่นอน” Raid Asmat ซีอีโอ AirAsia Malaysia กล่าวในงาน Aviation Festival Asia ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2022 “เราไม่ได้หมายความว่าตลาดจีนไม่สำคัญ แต่ ณ ขณะนี้ เราต้องทำงานกับสิ่งที่เรามีอยู่” เขากล่าว

ดีมานด์จากผู้โดยสารอินเดียสู่ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะการเดินทางมายังมาเลเซียและอินโดนีเซีย ตัวอย่างเช่น เส้นทางอินเดียสู่บาหลี ล่าสุดมีผู้โดยสารอินเดียจองถึง 90% ของเที่ยวบิน

“ตั้งแต่มีการเปิดพรมแดน (อินเดีย) ผมไม่เคยเห็นตัวเลขอัตราผู้โดยสารต่อเที่ยวบินต่ำกว่า 90% เลยสักครั้งทั้งขาเข้าและขาออก” Asmat กล่าว โดยอินเดียเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้า COVID-19 สายการบิน AirAsia เคยมีเที่ยวบินวันละ 90 ไฟลท์ แต่ปัจจุบันสายการบินยังมีปัญหาจำนวนเครื่องบินมีไม่เพียงพอ โดยสายการบินกำลังเร่งจัดเครื่องบินเพื่อเพิ่มไฟลท์ให้ได้มากที่สุด

กระแสการท่องเที่ยวจากอินเดียนั้นเกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยด้วย ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ระบุว่านักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 1,000 คน ถือเป็นตลาดใหญ่มาก

อินเดียเป็นตลาดศักยภาพ ร่วมกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศ CLMV ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองเป็นตลาดหลักที่จะดึงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นไปแตะ 10 ล้านคนได้ตามเป้าหมายปี 2565 เฉพาะตลาดอินเดีย ททท. มีเป้าจะดึงเข้ามาปีนี้ 6 แสนคน หรือถ้าหากการโปรโมตได้รับความนิยมก็อาจจะขึ้นไปถึง 1 ล้านคนเลยทีเดียว

ในไทยนั้น นอกจากการเข้ามาท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง กินดื่มแล้ว ยังเป็นจุดหมายหลักในการจัดงานแต่งงานนอกประเทศของชาวอินเดียด้วย โดยส่วนใหญ่จะนิยมจัดในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลต่างๆ เช่น ภูเก็ต กระบี่ เกาะสมุย เขาหลัก พัทยา เป็นต้น

Source

]]>
1388792
เปิดเงื่อนไขญี่ปุ่น “แง้มประตู” เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเดือน มิ.ย. https://positioningmag.com/1385312 Fri, 13 May 2022 14:29:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1385312 นักท่องเที่ยวไทยตื่นเต้นกับข่าวญี่ปุ่นจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนมิถุนายน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งข้อจำกัดในการเดินทางอย่างมาก รวมทั้งแรงกดดันจากประชาชนในญี่ปุ่นที่ยังกังวลการระบาดของ COVID-19 ทำให้การท่องเที่ยวอิสระยังทำไม่ได้

ข่าวญี่ปุ่นจะเปิดประเทศในเดือนมิถุนายน ถูกสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก “เล่นใหญ่” เกินไปมาก ที่มาของเรื่องนี้มาจากคำพูดของนายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟูมิโอะ ระหว่างเยือนอังกฤษเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ว่า ญี่ปุ่นจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดนเช่นเดียวกับประเทศอื่นในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G7

แต่หลายคนกลับลืมไปว่า ในคำพูดของนายกฯ ญี่ปุ่นมีคำสำคัญ คือ “พิจารณา” และ “เป็นขั้นเป็นตอน” จนถึงขณะนี้มีความชัดเจนอย่างเป็นทางการเพียงเรื่องเดียวคือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ญี่ปุ่นจะเพิ่มโควต้าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจากวันละ 10,000 คน เป็น 20,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นก่อนการระบาดของโควิดที่มากถึงวันละ 90,000 คน

รายงานของจากสื่อญี่ปุ่นระบุว่า การดำเนินการแบบ “เป็นขั้นเป็นตอน” ตามคำกล่าวของผู้นำญี่ปุ่น คือ จะเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดเล็ก โดยยังไม่มีประกาศทางการว่าจะให้ฟรีวีซ่าหรือไม่ รวมทั้งข้อกำหนดเรื่องชนิดของวัคซีน และประกันสุขภาพ

ฟูมิโอะ คิชิดะ
(Photo by Carl Court/Getty Images)

การท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดนี้คือ ต้องมาเป็นคณะกับบริษัทท่องเที่ยว เดินทางตามกำหนดการแน่นอน และมีผู้ที่รับผิดชอบในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็หมายความว่า นักท่องเที่ยวไม่สามารถออกนอกเส้นทาง หรือ เที่ยวอิสระได้

รูปแบบการท่องเที่ยวกับบริษัททัวร์เช่นนี้คล้ายกับมาตรการที่ใช้ช่วงงาน “โตเกียว โอลิมปิก” และไม่ใช่สไตล์ที่นิยมของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังคงใช้มาตรการตรวจหาเชื้อก่อนเข้าประเทศอย่างเข้มงวด แม้แต่คนญี่ปุ่นที่เดินทางกลับประเทศก็ต้องตรวจหาเชื้อโควิดก่อน การเพิ่มจำนวนคนเข้าประเทศจะทำให้ภาระงานการตรวจคัดกรองที่สนามบินหนักมาก รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเงื่อนไขใหม่ เช่น ให้ตรวจหาเชื้อก่อนออกเดินทาง หรือ ละเว้นการตรวจหาเชื้อกับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่สถานการณ์โควิดไว้วางใจได้

แค่ “แง้มประตู” ไม่ใช่ “เปิดประเทศ”

นายกฯ ญี่ปุ่นระบุว่า จะพิจารณาสถานการณ์ผู้ติดเชื้อหลังวันหยุดยาว “โกลเดน วีค” ของญี่ปุ่น ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ราว 40,000 คน ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจน

อีกเรื่องหนึ่งที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากกลุ่มประเทศ G7 คือ ยังห่างไกลจากการเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ซึ่งเชื่อว่าการระบาดจะสิ้นสุดลง เมื่อประชากรราว 60% ติดเชื้อโควิด

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ระบุเมื่อ 26 เม.ย. ว่า ชาวสหรัฐฯ ติดเชื้อโควิดแล้ว 57.7% แต่ผลการศึกษาในญี่ปุ่นพบว่า ชาวญี่ปุ่นติดเชื้อเพียง 4.3% ของประชากรเท่านั้น

รัฐบาลไม่เสี่ยงคะแนนนิยมผู้สูงวัย

ปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่เปิดประเทศอย่างเต็มที่ คือ การเลือกตั้งวุฒิสภาในเดือนกรกฎาคม การสำรวจล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า ประชาชน 48% บอกว่าควรผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเข้าประเทศ และ 38% บอกว่าไม่ควรผ่อนปรน

ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังไม่อยากให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา เพราะขณะนี้การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นเป็นปกติอย่างมาก การเดินทางคึกคัก ร้านอาหาร และร้านค้าเต็มแน่นไปด้วยลูกค้า ชาวญี่ปุ่นกลัวว่าหากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาและเกิดการระบาดอีกครั้ง จะต้องลำบากกันถ้วนหน้า

Photo : Shutterstock

กลุ่มที่กังวลกับการเปิดประเทศมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงที่จะอาการทรุดหนักหากติดเชื้อโควิด ผู้สูงวัยเหล่านี้คือ ผู้สนับสนุนหลักของพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP ของนายกฯ คิชิดะ ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม และสำหรับนักเมืองแล้ว ไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่า คะแนนเสียง

ประเมินกันว่า ญี่ปุ่นจะผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเข้าประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และหลังการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม หากพรรค LDP ยังรักษาคะแนนเสียงไว้ได้ รัฐบาลจึงจะเดินหน้าเปิดประเทศอย่างเต็มที่ นักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กอาจต้องรอจนถึงปลายปีนี้จึงจะมาเที่ยวญี่ปุ่นอย่างเสรีได้

Source

]]>
1385312
นักท่องเที่ยว “รัสเซีย” ติดค้างในไทยกว่า 7,000 คน หลังไฟลท์บินยกเลิก บัตรเครดิตถูกระงับ https://positioningmag.com/1376868 Wed, 09 Mar 2022 10:55:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376868 ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้นักท่องเที่ยว “รัสเซีย” มากกว่า 7,000 คน และนักท่องเที่ยวยูเครนบางส่วน ติดค้างอยู่ในไทย เนื่องจากไฟลท์บินกลับถูกยกเลิก และบัตรเครดิตใช้การไม่ได้จากการคว่ำบาตร

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวรัสเซียหลายพันคนติดค้างในประเทศไทยเนื่องจากการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก หลังรัสเซียเข้ารุกรานยูเครน

เนื่องจากไฟลท์บินถูกยกเลิก และการดิ่งลงของค่าเงินรูเบิล รวมถึงปัญหาการชำระเงินติดขัดจากปัญหาแบงก์รัสเซียถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียกว่า 7,000 คนตกค้างในไทย ทั้งที่ จ.ภูเก็ต, เกาะสมุย, พัทยา และกระบี่ โดยประมาณครึ่งหนึ่งนั้นอยู่ใน จ.ภูเก็ต

“เราต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดีและให้การดูแลทุกคน” ยุทธศักดิ์กล่าว “และยังมีนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะเดินทางเข้ามาเพิ่มอีกด้วย”

ด้านสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทยยังไม่มีความคิดเห็นว่าจะดูแลประชาชนชาวรัสเซียที่ตกค้างอย่างไร

“เราขอความร่วมมือให้โรงแรมช่วยลดราคาและขยายเวลาเข้าพักให้นักท่องเที่ยวแล้ว” ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าว

ภูมิกิตติ์ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2565 ที่วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดประกาศระงับการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับประเทศรัสเซีย หลังจากนั้นนักท่องเที่ยวจึงไม่สามารถใช้บัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดได้ ขณะที่บางรายหันไปใช้บัตรยูเนียนเพย์ของจีนแทน

ภูมิกิตติ์กล่าวต่อว่า นักท่องเที่ยวยูเครนหลายร้อยคนติดค้างอยู่ในภูเก็ตเช่นกัน แต่ปัญหาหลักของชาวยูเครนคือสนามบินที่ประเทศบ้านเกิดปิดบริการชั่วคราว

ส่วนการช่วยเหลือให้นักท่องเที่ยวรัสเซียได้กลับบ้าน มีความพยายามย้ายไฟลท์ให้ชาวรัสเซียกลับมอสโคว์ด้วยสายการบินตะวันออกกลาง และเรียกขอเที่ยวบินพิเศษเพื่อรับคนรัสเซียกลับประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการร้องขอให้ทั้งโรงแรม ไฟลท์บิน และธุรกิจต่างๆ ในภูเก็ตยอมรับชำระเงินด้วยเงินคริปโตด้วย เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนรัสเซีย

Source

]]>
1376868
โรงแรมฟื้นตัว! “เซ็นทารา” วางแผนเปิด 100 แห่งใน 5 ปี สงคราม “รัสเซีย” อาจกระทบระยะยาว https://positioningmag.com/1376586 Mon, 07 Mar 2022 09:45:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376586
  • ธุรกิจโรงแรมปีนี้เป็นไปในเชิงบวก “เซ็นทารา” วางเป้ารายได้ 5,900 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของรายได้ที่เคยทำได้ในปี 2562 (ก่อนเกิด COVID-19) เตรียมกลับมาให้บริการครบทุกโรงแรม และเปิดบริการเพิ่ม 8 แห่ง
  • เดินหน้าต่อตามแผนระยะยาว 5 ปี มีโรงแรมในพอร์ตเพิ่ม 100 แห่ง (รวมทั้งสัญญาจ้างบริหารและลงทุนเอง) หรือเฉลี่ยเพิ่มปีละ 20 แห่ง วางทำเลหลัก ไทย เวียดนาม ดูไบ จีน และมัลดีฟส์
  • ปัจจัยลบใหม่ที่เข้ามาคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ระยะสั้นยังไม่กระทบ ลูกค้ายังเดินทางเข้าพักปกติ แต่ระยะยาวอาจเกิดปัญหาจากค่าเงินรูเบิลตกต่ำ และอาจมีผลให้การฟื้นตัวเต็มที่ของธุรกิจโรงแรมเลื่อนจากปี 2567 เป็น 2568
  • คาดหวังภาครัฐสนับสนุนท่องเที่ยว เปิดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟสใหม่ และยกเลิกระบบ Test & Go นักท่องเที่ยวต่างชาติตรวจครั้งเดียวจากต้นทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายจูงใจการเดินทาง
  • หนึ่งในเครือโรงแรมรายใหญ่ของไทยเปิดแผนและวิสัยทัศน์ธุรกิจหลัง COVID-19 มีทิศทางดีขึ้น “ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา และ “กันย์ ศรีสมพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่การเงินและรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงแผนปี 2565 และแผนระยะยาว 5 ปี (2565-2569)

    สำหรับปี 2565 เซ็นทาราวางเป้ารายได้ 5,900 ล้านบาท (รวมรายได้ทั้งหมดของโรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ต ดูไบ ซึ่งเครือถือหุ้นอยู่ 40%) และเป้าอัตราเข้าพัก 40-50% เป้าหมายรายได้จากห้องที่ขายได้ (ADR) เฉลี่ย 4,100-4,200 บาท และเป้าหมายรายได้เฉลี่ยจากห้องที่มีทั้งหมด (RevPar) วางไว้ที่ 1,700-1,900 บาท

    เซ็นทารา
    เซ็นทารา โฮเทล โคราช เตรียมเปิดบริการปี 2565

    ถือเป็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นมากเทียบกับปี 2564 ซึ่งมีอัตราเข้าพักเพียง 19% และถ้าเทียบกับปี 2562 ซึ่งยังไม่เกิดโรคระบาด ถือว่ารายได้ฟื้นขึ้นมาคิดเป็น 70% ของปี 2562

    ด้านการให้บริการโรงแรม เซ็นทารากำลังจะกลับมาเปิดบริการครบทุกแห่งเดือนเมษายนนี้ โดย 2 แห่งสุดท้ายที่จะกลับมาเปิดอยู่ในภูเก็ต

    ขณะที่การเปิดบริการโรงแรมแห่งใหม่ปี 2565 คาดว่าจะมี 8-10 แห่ง รวมห้องพักราว 1,000 ห้อง ทำเลทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น อุบลราชธานี, นครราชสีมา, กาตาร์, โอมาน, สปป.ลาว

     

    ปีนี้หวังพึ่งโรงแรมต่างประเทศ ในไทยลุ้นชาวจีนกลับมา

    หากเจาะลึกในประมาณการของปีนี้ กันย์ระบุว่ารายได้จะมาจากโรงแรมในมัลดีฟส์ 22% โรงแรมในดูไบ 20% และโรงแรมในไทยส่วนที่เหลือ 58%

    เมื่อเทียบกับปี 2562 ปีนั้นรายได้จากโรงแรมในไทยจะมีสัดส่วน 70% และจากต่างประเทศ 30% เห็นได้ว่าปีนี้โรงแรมในต่างประเทศฟื้นตัวได้มากกว่า

    เซ็นทารา แกรนด์ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา มัลดีฟส์

    “ดาวรุ่งของเราปีนี้จะเป็นโรงแรมต่างประเทศทั้งในมัลดีฟส์และดูไบ โดยเฉพาะมัลดีฟส์ที่ล่าสุดมีอัตราเข้าพัก 100% ในช่วงสุดสัปดาห์แล้ว เฉลี่ยแล้วดีกว่าช่วงเดียวกันเมื่อปี 2562” ธีระยุทธกล่าว

    ตลาดประเทศไทยนั้นมองว่าช่วงครึ่งปีแรก 2565 จะยังต้องเน้นนักท่องเที่ยวในประเทศก่อน คิดเป็นอัตรา 80-90% ของทั้งหมด ส่วนครึ่งปีหลังนั้นคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น จากนักท่องเที่ยวยุโรปที่มักจะเข้ามาช่วงไตรมาส 4 และนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะเริ่มเดินทางได้ไตรมาส 3

    “พาร์ตเนอร์ธุรกิจในจีนแจ้งว่านโยบายรัฐขณะนี้น่าจะผ่อนคลายการเดินทางช่วงไตรมาส 3 ที่จริงแล้วการเดินทางออกไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือขากลับเข้าประเทศจีนซึ่งยังต้องกักตัว 14-21 วัน ทำให้ชาวจีนไม่สะดวก ถ้าหากจีนปลดล็อกจุดนี้หรือลดเหลือไม่เกิน 7 วัน น่าจะได้เห็นชาวจีนกลับมาประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ที่คนจีนชื่นชอบอยู่แล้ว” ธีระยุทธกล่าว

     

    แผนลงทุน-เซ็นดีลบริหาร รวม 100 แห่งภายใน 5 ปี

    ณ สิ้นปี 2564 เซ็นทารามีโรงแรมภายใต้การบริหาร 85 โรงแรม (17,448 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 46 โรงแรม (9,410 ห้อง) และโรงแรมที่อยู่ระหว่างพัฒนา 39 โรงแรม (8,038 ห้อง)

    ธีระยุทธกล่าวว่า “เซ็นทารา” ตั้งเป้าที่จะมีโรงแรมภายใต้การบริหารเพิ่มอีก “100 โรงแรม ภายใน 5 ปี” หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20 โรงแรม ซึ่งรวมทั้งการลงทุนพัฒนาโรงแรมเอง (own property) และสัญญารับบริหาร (managed property)

    ภาพร่างโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น Taisei Corporation และ Kaden Realty & Development

    ในรอบ 5 ปีนี้ เซ็นทารามีแผนที่จะลงทุนพัฒนาโรงแรมเองอยู่แล้วอย่างน้อย 5 แห่ง (รวมที่มีการจอยต์เวนเจอร์กับทุนท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ด้วย) ได้แก่ ทำเลเกาะลันตา จ.กระบี่, ทำเลเขาเต่า หัวหิน, โรงแรมในมัลดีฟส์เพิ่มอีก 2-3 แห่ง และโรงแรมในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อสร้างไปแล้ว 38% จะพร้อมเปิดบริการปี 2566

    ส่วนที่เหลือที่จะมองหาดีลเซ็นสัญญารับจ้างบริหาร เซ็นทารามีโลเคชันหลัก คือ “เวียดนาม” ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดเพิ่ม 20 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 1 แห่งที่เซ็นทารา มิราจ รีสอร์ท มุยเน่ โดยปีนี้มีดีลระหว่างเจรจาแล้ว 7-8 แห่ง

    เซ็นทารา มิราจ รีสอร์ท มุยเน่ โรงแรมแรกของเครือในเวียดนาม

    อีกประเทศหนึ่งคือ “จีน” ซึ่งมีดีลเจรจาอยู่ 3 แห่ง และในประเทศ “ไทย” เองก็มีเจรจาดีลกับเจ้าของโรงแรม 3 แห่ง ส่วนทำเลที่คาดหวังอื่นๆ จะเกาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางเป็นหลัก

    ด้านความมั่นใจในการลงทุนของเจ้าของโปรเจกต์ ผู้บริหารเซ็นทารามองว่าธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มองระยะยาว และนักลงทุนยังคงมั่นใจการกลับมาของการท่องเที่ยว จึงยังลงทุนต่อเนื่อง

     

    “รัสเซีย” ระยะสั้นยังปกติ แต่อาจส่งผลระยะยาว

    ขณะที่ประเด็นร้อนในช่วงนี้อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ธีระยุทธกล่าวว่า ระยะสั้นยังไม่เห็นผลกระทบ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซันของนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะออกต่างประเทศอยู่แล้ว ส่วนที่ยังเดินทางมาก็ไม่มีการยกเลิก และยังไม่มีข้อติดขัดด้านการชำระเงิน เนื่องจากส่วนใหญ่เซ็นทาราจะรับจองแบบชำระเงินล่วงหน้า (pre-paid)

    สัดส่วนของนักท่องเที่ยวรัสเซียในเครือเซ็นทาราเฉพาะช่วงไฮซีซัน (ช่วงปลายปีจนถึงต้นปี) ในภูเก็ตจะอยู่ที่ 20% ดูไบ 11% และมัลดีฟส์ 6-7%

    โรงแรมในภูเก็ตเป็นพอร์ตที่มีสัดส่วนแขกชาวรัสเซียมากที่สุดในเครือ (ภาพจากโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท ภูเก็ต)

    ธีระยุทธมองว่า ชาวรัสเซียอาจจะไม่ใช่สัดส่วนพอร์ตใหญ่แต่ก็ต้องจับตามองระยะยาวว่าสงครามจะยาวนานแค่ไหน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียหลังค่าเงินรูเบิลร่วงลงไปแล้ว 40% จะทำให้ชาวรัสเซียมีกำลังซื้อน้อยลงแน่นอน ซึ่งเซ็นทารากำลังหานักท่องเที่ยวทดแทน

    กลุ่มที่เป็นเป้าหมายคือ “อินเดีย” ซึ่งนิยมเดินทางเข้าทั้งมัลดีฟส์และไทย “ออสเตรเลีย” ซึ่งเริ่มเปิดประเทศเดินทางได้สะดวกแล้ว และ “ยุโรป” ซึ่งจะต้องจัดโปรโมชันมากขึ้นสำหรับกลุ่มนี้ เนื่องจากปัญหาปิดน่านฟ้าอาจทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น

    ธีระยุทธยังกล่าวถึงโอกาสใน “ซาอุดีอาระเบีย” จากการฟื้นความสัมพันธ์ เซ็นทาราจะเริ่มเจาะตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวซาอุฯ เข้าไทยและดูไบ และอนาคตอาจหาโอกาสการลงทุนในซาอุฯ เนื่องจากเป็นประเทศขนาดใหญ่ของตะวันออกกลางที่มีการเดินทางเข้าออกมาก และประชาชนมีกำลังซื้อสูง

     

    อ้อนภาครัฐจัด “เราเที่ยวด้วยกัน” ยกเลิก Test & Go

    จากการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ธีระยุทธมองว่าน่าจะทำให้การฟื้นตัวเต็มที่เท่ากับปี 2562 ของธุรกิจโรงแรม เลื่อนจากที่คาดไว้ปี 2567 เป็นปี 2568

    “ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา และ “กันย์ ศรีสมพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่การเงินและรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)

    หากจะกระตุ้นให้โรงแรมฟื้นตัวได้ดีขึ้น มองว่านโยบายภาครัฐจะช่วยสนับสนุนได้ดี ยกตัวอย่างเช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งประสบความสำเร็จมาก รายได้ถึง 20% ของเซ็นทาราเมื่อปี 2564 เกิดจากโครงการนี้ และหากมีเฟสใหม่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การท่องเที่ยวในประเทศคึกคัก

    อีกส่วนหนึ่งคือการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองว่าควรจะยกเลิกระบบ Test & Go เหลือเพียงการตรวจจากประเทศต้นทางครั้งเดียว ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลดลงมากและมีไทยเป็นตัวเลือกการเดินทางมากขึ้น

    ]]>
    1376586