LG Electronics โชว์เคสผลิตภัณฑ์ใหม่ที่งาน IFA 2022 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก เป็นกล่องรองเท้าแบบใหม่ในชื่อ “LG Styler ShoeCase and ShoeCare” ที่หวังจะมาแทนที่กล่องรองเท้าพลาสติกแบบเดิมๆ สำหรับคนรักและสะสมรองเท้า
โปรดักส์นี้แยกเป็น 2 ชิ้นย่อย คือ ShoeCare นั้นเป็นตู้รองเท้าปิดทึบหน้าตาเหมือนตู้เย็นขนาดเล็ก แต่เปิดมาด้านในจะเป็นช่องใส่รองเท้า พร้อมกับท่อหัวฉีดที่ใช้เทคโนโลยี TrueSteam ของ LG ในการดูดความชื้นจากรองเท้า ทำให้รองเท้าไม่มีกลิ่นเหม็นอับ แห้งสนิท รู้สึกสบายขึ้นเมื่อสวมใส่
LG ระบุว่าการทำงานของ ShoeCare จะใช้เวลา 37 นาทีในการขจัดความชื้นในรองเท้า (กรณีตั้งโปรแกรมมาตรฐาน) และโปรแกรมการทำงานยังสามารถปรับแต่งให้เข้ากับประเภทวัสดุของรองเท้าได้ด้วย เช่น ผ้าใบ หนังกลับ หนังแท้
รวมถึงระดับ ‘เสียง’ ระหว่างเครื่องทำงานจะอยู่ที่ 35 เดซิเบลเท่านั้น หรือเทียบได้กับเสียงในห้องสมุดที่ถือว่าเป็นเสียงเบา ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน
ส่วนโปรดักส์ย่อยอีกชิ้นคือ ShoeCase นั้นเป็น “กล่องเก็บรองเท้า” หน้าบานใส ติดไฟ และฐานเป็นจานหมุน เพื่อโชว์รองเท้าสุดรักของนักสะสมได้อย่างสวยงาม แน่นอนว่ากล่องรองเท้านี้จะมีเทคโนโลยีป้องกันแสงยูวีและดูดความชื้นออกจากกล่อง เพื่อป้องกันสองสาเหตุที่ทำให้รองเท้าสีซีดและเสื่อมสภาพเร็ว
ShoeCase นั้นสามารถตั้งซ้อนกันได้สูงสุด 4 กล่องเพื่อประหยัดพื้นที่ ขณะที่กล่อง ShoeCare นั้นสามารถนำกล่อง ShoeCase ไปวางซ้อนได้ 1 กล่อง เมื่อวางรวมกับเฟอร์นิเจอร์อื่นในบ้านจะดูแนบเนียนเหมือนเป็นตู้ใบหนึ่งในบ้าน โดยมีรองเท้าสวยๆ วางโชว์เป็นเหมือนของตกแต่ง
โปรดักส์นี้ของ LG ถูกคิดค้นมาจากอินไซต์ของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยทาง LG มีงานวิจัยพบว่า คนเจนเนอเรชัน “MZ” หรือคนรุ่นมิลเลนเนียลและเจนซีนั้นมีกลุ่มใหญ่ที่เป็น “สนีกเกอร์เฮด” หรือคนที่รักและสะสมรองเท้าสนีกเกอร์ ทำให้ตลาดสนีกเกอร์ประเภทที่ผลิตจำนวนจำกัด เป็นรุ่นพิเศษ หรือเป็นแบรนด์ลักชัวรีนั้นขายดีมากในช่วงที่ผ่านมา
นั่นหมายความกลุ่มคนเหล่านี้จะต้องการการเก็บรักษารองเท้าไว้เป็นอย่างดี และต้องการโชว์รองเท้าที่เป็นของสะสมของตนเองด้วย ผลิตภัณฑ์นี้ของ LG จึงน่าจะตอบโจทย์ตลาดได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีการวางขายกล่องรองเท้า ShoeCare และ ShoeCase รวมถึงยังไม่ประกาศราคาออกมา สนีกเกอร์เฮดอาจจะต้องอดใจรอกันสักหน่อย
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
]]>“กากกาแฟ” อาจจะถูกจัดประเภทเป็นขยะไบโอก็จริง แต่กากกาแฟเมื่อถูกฝังกลบแล้วจะปล่อย “ก๊าซมีเทน” ออกมาปริมาณมาก เป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 32 เท่า
อย่างไรก็ตาม Jesse Tran ซีอีโอชาวเวียดนามของ Rens พบในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัทว่า มีกากกาแฟเพียง 5% ที่เข้าสู่ระบบรีไซเคิล ทำให้กากกาแฟกว่า 6 ล้านตันถูกส่งไปบ่อฝังกลบขยะทุกปี
การพัฒนาเส้นใยและผลิตรองเท้ากีฬารีไซเคิล Rens จึงสามารถเข้ามาช่วยให้เกิดการหมุนเวียนวัสดุส่วนนี้ได้ โดยรองเท้า Rens หนึ่งคู่ จะใช้กากกาแฟปริมาณ 300 กรัม หรือเทียบเท่ากับกาแฟ 21 แก้ว เป็นส่วนผสม
วัสดุผลิตรองเท้า Rens เป็นการผสมกากกาแฟกับขวดพลาสติกรีไซเคิล ผลิตออกมาเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์กาแฟสำหรับทอรองเท้า ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ของรองเท้าจะผลิตจากยางพาราธรรมชาติ
ทำให้แหล่งผลิตของ Rens ไปตั้งอยู่ในเวียดนาม แหล่งปลูกกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก และรับกากกาแฟจากเชนร้านกาแฟขนาดใหญ่หลายเจ้ามาใช้งาน แต่ตัวสำนักงานใหญ่นั้นตั้งอยู่ที่ฟินแลนด์
บริษัทนี้เพิ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 และเริ่มระดมทุนเพื่อผลิตสินค้าผ่าน Kickstarter เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 แคมเปญแรกที่ระดมทุน บริษัทได้รับเงินถึง 5.5 แสนเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 18.3 ล้านบาท) จากผู้สนับสนุนมากกว่า 5,000 คนภายใน 24 ชม. เท่านั้น
ส่วนแคมเปญล่าสุด บริษัทเพิ่งเปิดไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 เพื่อผลิตรองเท้ารุ่นที่สองชื่อ ‘Nomad’ ซึ่งเป็นรุ่นที่มีเชือกผูกรองเท้าผลิตจากกากกาแฟผสมพลาสติกรีไซเคิลเช่นกัน งานนี้ได้รับเงินลงทุนอีก 3.5 แสนเหรียญ (ประมาณ 11.66 ล้านบาท)
รวมแล้วทำให้ Rens ระดมทุนได้สะสม 9 แสนเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 30 ล้านบาท! สะท้อนให้เห็นว่ามีคนที่เชื่อมั่นในสินค้าของพวกเขาจำนวนมาก และเป็นบริษัทที่น่าจับตา
เหตุที่ Rens ประสบความสำเร็จในการทำการตลาด ดึงเงินลงทุนเข้ามาได้ Son Chu ซีทีโอและผู้ร่วมก่อตั้งของ Rens มองว่าเป็นเพราะการทำให้ตัวสินค้า “เจ๋งกว่า” เพียงแค่ใช้วัสดุรีไซเคิล
“ในตลาดขณะนี้ สินค้าเพื่อความยั่งยืนเป็นที่นิยมมากก็จริง แต่เราเห็นปัญหาคือสินค้าเหล่านั้นมักไม่ได้ผลิตมาเพื่อคนรุ่นใหม่” Chu กล่าว “วิธีทำตลาดของพวกเขาเหมือนกับว่า ‘เฮ้! มาใช้ของเราสิ ไม่อย่างนั้นโลกเราจะแตกนะ’ เราไม่ชอบวิธีการเข้าหาลูกค้าแบบนี้เลย”
“เราต้องการเป็นแบรนด์ที่ผลิตสินค้าเพื่อความยั่งยืน แต่ทำให้เจ๋งกว่านั้น ให้มีฟังก์ชันที่ใส่แล้วเท่จริงๆ ที่คนสามารถใช้ได้”
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาสินค้าเพื่อความยั่งยืนยังถือว่าเป็นสินค้าราคาสูง โดยรองเท้าของ Rens ตั้งราคาจำหน่ายไว้ที่ 199 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6,600 บาท) ส่วนราคาพรีออเดอร์จะอยู่ที่ 109 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,600 บาท)
บริษัท Rens มองการพัฒนาต่อจากนี้ จะใช้วัสดุรีไซเคิลเพื่อผลิตสินค้าอื่นต่อไปในกลุ่มเครื่องแต่งกาย โดยวัสดุที่จะใช้อาจเป็นได้ทั้งกากกาแฟ หรืออาจจะเป็นวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นเสื้อผ้าจากกากกาแฟวางขายแพร่หลายมากกว่านี้ก็ได้
]]>ตลาดรองเท้ากีฬาที่ฮิตติดลมบนก่อนเกิดโรคระบาด ยิ่งฮิตขึ้นไปอีกเพราะคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แนวโน้มกำลังซื้อที่ดีทำให้ “ไข่มุก นิลเศรษฐี” ผู้จัดการประจำส่วนภูมิภาค บริษัท สเก็ตเชอร์ส ไทยแลนด์ จำกัด ตัดสินใจเดินหน้าตามแผนเมื่อต้นปี เปิดสาขาใหม่ 20 สาขาในปี 2563 จนถึงขณะนี้เปิดไปแล้ว 7 สาขา อีก 13 สาขาจะทยอยเปิดตัวต่อเนื่อง
โดยสาขาสำคัญที่เปิดบริการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 คือ Skechers Superstore สาขาเทสโก้โลตัส รามอินทรา ชั้น 1 พื้นที่ร้าน 1,862 ตร.ม. เป็นร้าน Skechers ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นโมเดล Superstore แห่งแรกในไทยของแบรนด์นี้
“อย่างที่ทราบว่าบางแบรนด์อาจจะมีการเลื่อนเปิดสาขาไปก่อน แต่เรายังทำตามแผนที่วางไว้เพราะมั่นใจว่าลูกค้ายังต้องการซื้อ หลายคนยังต้องการมาสโตร์เพื่อลองไซส์ก่อน” ไข่มุกกล่าว
นอกจากนี้ ยังเปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ “มิว-ศุภศิษฎ์ จงชีวีวัฒน์” นักแสดงวัยรุ่นจากซีรีส์ TharnType The Series เพื่อดันแบรนด์ให้เข้าสู่ตลาดแมส เกาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง
การเลือกเปิด Superstore ในไฮเปอร์มาร์เก็ตย่านรอบนอกใจกลางเมือง เป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้าง ‘เซอร์ไพรส์’ อยู่เหมือนกัน เพราะปกติแบรนด์แฟชั่นส่วนใหญ่เมื่อมีร้านโมเดลพิเศษมักจะเปิดในศูนย์การค้าเขตซีบีดีมากกว่า เพื่อส่งเสริมแบรนด์
ไข่มุกอธิบายว่า เหตุที่เลือกเปิด Superstore แห่งแรกของไทยที่เทสโก้โลตัส รามอินทรา เพราะโจทย์ของแบรนด์คือต้องการพื้นที่ใหญ่ขนาดเกือบ 2,000 ตร.ม. เป็นพื้นที่ชั้นเดียว และอยู่ในทำเลที่ดีของห้าง ซึ่งโจทย์นี้ทำให้การเลือกศูนย์การค้าใจกลางเมืองค่อนข้างเป็นไปได้ยาก จึงเหลือตัวเลือกที่สนใจคือร้านค้าแบบสแตนด์อะโลนหรือพื้นที่รีเทลในไฮเปอร์มาร์เก็ตที่จะใหญ่พอ
หลังจากดีลกับรีเทลหลายๆ แห่ง พบว่าข้อเสนอของเทสโก้โลตัสลงตัว เพราะเป็นสาขารามอินทรา ย่านที่แบรนด์ยังไม่มีหน้าร้านหนาแน่นในรัศมี
โดยโมเดลแบบ Superstore เป็นรูปแบบใหม่ของแบรนด์ ภายในแบ่งเป็น 4 โซนหลักคือ สินค้าผู้หญิง สินค้าผู้ชาย สินค้าเด็ก และ Last Chance สินค้าลดราคาล้างสต็อก สามารถลงสินค้าได้ครอบคลุมทุกรูปแบบ จะต่างจากโมเดลเดิมที่มีก่อนนี้คือ บูธในศูนย์การค้า ร้านค้าในศูนย์การค้า ซึ่งพื้นที่จะมีขนาดเล็ก ต้องเลือกสินค้าให้ตรงความต้องการคนในย่าน และเอาท์เล็ตที่เน้นสินค้าลดราคาพิเศษ ทำให้โมเดลนี้เจาะกลุ่มครอบครัวอย่างชัดเจนเพราะมีสินค้าหลากหลาย ตรงกับผู้บริโภคที่เดินเทสโก้โลตัส
อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าการเลือกเปิด Superstore ในไฮเปอร์มาร์เก็ตจะส่งผลอย่างไรกับแบรนด์หรือไม่ ในช่วงที่แบรนด์พยายามผลักดันภาพลักษณ์ให้พ้นความสูงวัย และเจาะตลาดวัยรุ่น รวมถึงกำลังซื้อจะเป็นอย่างไรเมื่อช่วงราคาสินค้าของ Skechers ค่อนข้างเหมาะกับผู้บริโภคระดับกลาง
ไข่มุกกล่าวต่อว่า หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ พบว่า ผู้บริโภคกลับมาเดินเลือกช้อปสินค้า 80-90% เทียบกับก่อน COVID-19 เพียงแต่กระแสความต้องการสินค้าเปลี่ยนไป จากก่อนหน้า COVID-19 ผู้บริโภคสนใจรองเท้าและเสื้อผ้ากลุ่มไลฟ์สไตล์แฟชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนสัดส่วนการขายแซงหน้ารองเท้ากลุ่มเพอร์ฟอร์มานซ์ แต่ปัจจุบันรองเท้ากลุ่มเพอร์ฟอร์มานซ์ที่เหมาะกับใช้ใส่เดิน วิ่ง ออกกำลังกาย กลับมาแรงกว่า
“COVID-19 ทำให้คนไทยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และคนที่เคยเข้าฟิตเนสบางส่วนก็ยังไม่กล้ากลับไปที่ฟิตเนส แต่หันมาออกกำลังกาย เดิน วิ่งกลางแจ้งแทน รองเท้ากลุ่มนี้จึงขายดีขึ้น ส่วนกลุ่มแฟชั่นจ๋าๆ ผู้บริโภคอาจจะยังไม่อยู่ในมู้ดที่จะซื้อ” ไข่มุกกล่าว
ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยน ทำให้ปีนี้ Skechers จะเลื่อนคอลเลกชันรองเท้าไลฟ์สไตล์ที่เป็นงาน collab
2 คอลเลกชัน ออกไปเปิดตัวปีหน้าแทน
พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อก็เปลี่ยนไปด้วย โดยไข่มุกมองว่าช่วงก่อนโรคระบาด ผู้บริโภคมีแนวโน้มตัดสินใจซื้อด้วย emotional มากกว่า มีวิธีการซื้อแบบ “เห็นสวยดีก็ซื้อเลย” แต่ขณะนี้ลูกค้าจะซื้อเพราะจำเป็นต้องใช้ ดูฟังก์ชันแบบใส่ได้หลายโอกาส และต้องการส่วนลด อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าถ้าเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ถือว่าคนไทยยังมีความเป็น “นักช้อป” กว่ามาก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซาลง
ภาพรวมเป้าหมายปี 2563 ต้องการเติบโต 15% ไข่มุกยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ลดลงจากต้นปีตั้งเป้าโต 30% เพราะช่วงที่ปิดล็อกดาวน์ไป ทำยอดขายได้เฉพาะบนออนไลน์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10-12% ของยอดขายรวม
และแม้ว่ากำลังซื้อจะกลับมาดี แต่ดังที่กล่าวไปว่าลูกค้าต้องการส่วนลดมากขึ้น รวมถึงบริษัทก็ต้องลดราคาเพื่อเร่งระบายสต็อกที่ค้างจากช่วงปิดล็อกดาวน์ อีกทั้งมีคอลเลกชัน collab ที่เลื่อนเปิดตัวไป ส่งผลต่อโอกาสการขาย เพราะปกติการเปิดตัว collab จะเรียกกระแสในตลาด ทำให้ลูกค้ามาที่ร้านและได้ยอดขายสินค้าอื่นเพิ่มไปด้วย ดังนั้นการเติบโตจะลดลงครึ่งหนึ่ง
ไข่มุกหวังว่าช่วงไตรมาส 4 ตลาดจะฟื้นได้มากกว่านี้ โดยหวังว่าทราฟฟิกลูกค้าจะกลับมา 100% (ไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติ)
ข้อกังวลมีเพียงการระบาดรอบสองต้องไม่เกิดขึ้น เพราะเพียงแค่มีข่าวผู้ติดเชื้อ COVID-19 เดินห้างฯ ใน จ.ระยอง ก็ทำให้ทราฟฟิกเข้าร้าน Skechers ในวันต่อมาตกลงทั่วประเทศทันที!
]]>งาน collab ยังคงดึงดูดความสนใจได้เสมอ โดยคอลเลกชันล่าสุดจาก Nike เป็นงานออกแบบจากรสชาติไอศกรีมของ Ben & Jerry’s แบรนด์ไอศกรีมสหรัฐฯ ออกมาเป็นรองเท้าสเก็ตบอร์ดรุ่น SB Dunks ออกแบบใหม่ในชื่อคอลเลกชัน “Chunky Dunky”
รสชาติที่เลือกมาใช้ออกแบบคือรส “Chunky Monkey” ซึ่งเป็นไอศกรีมกล้วยผสมกับช็อกโกแลตฟัดจ์และถั่ววอลนัต ทำให้สีหลักของรองเท้าถูกออกแบบมาเป็นสีฟ้า เขียว และลายวัวที่ทำจากวัสดุขนวัวจริงๆ สื่อถึงแพ็กเกจถ้วยไอศกรีมแบรนด์ Ben & Jerry’s เติมด้วยสัญลักษณ์ Nike Swoosh สีเหลืองมีขอบไหลย้อยออกมาเล็กน้อย สะท้อนรสชาติไอศกรีมกล้วยที่กำลังละลาย
เท่านั้นยังไม่พอ ขอบรองเท้าและพื้นด้านในยังเป็นสีรุ้งลวดลายแบบผ้ามัดย้อม สื่อถึง “จิตวิญญาณเสรี” ที่เป็นจุดร่วมของทั้งสองแบรนด์ เชือกรองเท้ายังมีให้เลือก 3 สี เหลือง ขาว เขียว สามารถนำไป mix and match กันได้ตามสไตล์ของตัวเอง ทั้งหมดมาในกล่องรองเท้าเลียนแบบถังไอศกรีม Ben & Jerry’s เก๋ๆ
รองเท้า Nike ที่ออกแบบจากแบรนด์อาหารหรือเครื่องดื่มแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ Nike เคยทำงาน collab กับแบรนด์อื่นมาแล้ว เช่น รองเท้าบาสเกตบอล The Kyrie 2 Ky-Rispy Kreme ที่ออกแบบจากโดนัท คริสปี้ ครีม ปี 2016, รองเท้าสเก็ตบอร์ด SB Dunks ออกแบบร่วมกับร้านอาหารไฟน์ไดนิ่ง Momofuku ปี 2017, รองเท้าบาสเกตบอล The LeBron 15 ออกแบบจากซีเรียลยี่ห้อ Fruity Pebbles ออกมาแล้วหลายรุ่น ฯลฯ
สำหรับรองเท้ารุ่น Chunky Dunky จะเริ่มวางขายผ่านร้านรองเท้าสเก็ตบอร์ดที่ได้รับเลือก ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคมนี้ และขายผ่านเว็บไซต์ของ Nike วันที่ 26 พฤษภาคม ราคาวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,200 บาท)
]]>ยุคนี้เเบรนด์ดังต่างๆ กำลังให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” เเละสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อมมากขึ้น ด้วยเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ล่าสุด Reebok เเบรนด์สินค้ากีฬาชั้นนำ เตรียมจำหน่ายรองเท้ากีฬารุ่น Forever Floatride Grow ที่ชิ้นส่วนต่างๆ ของรองเท้ารุ่นนี้ทำมาจาก “พืช” ทั้งหมดเเละยังคงช่วยเสริมให้วิ่งได้ดีด้วย
ก่อนหน้านี้ Reebok ได้เปิดตัว NPC UK Cotton + Corn รองเท้ากีฬาที่ผลิตมาจากฝ้ายและข้าวโพด ซึ่งเหมาะแก่การใส่แบบลำลอง
เเต่ครั้งนี้สำหรับ Forever Floatride Grow จะเป็นการพัฒนาต่อยอดการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาเป็นรองเท้าที่เหมาะกับการเล่นกีฬาเเละการออกกำลังกายจริง ๆ โดยส่วนพื้นรองเท้านั้นทำมาจากยางไม้ เเทนการใช้ยางจากปิโตรเลียมเหมือนรุ่นปกติ
ขณะที่ส่วนพื้นรองรับแรงกระแทก จะใช้เม็ดของต้นละหุ่งที่มีสามารถรองรับแรงกระแทกได้อย่างดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการวิ่ง ส่วนด้านบนของรองเท้านั้นจะทำมาจากต้นยูคาลิปตัสที่ย่อยสลายได้ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยระบายอากาศได้ดี เเละพื้นด้านในรองเท้าจะทำมาจากสาหร่าย มีคุณสมบัติช่วยดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่างๆ
ทั้งนี้ ตัวรองเท้ารุ่นนี้ได้พัฒนาจากรุ่น Forever Floatride Energy รองเท้าวิ่งของ Reebok ที่เหมาะกับการใช้วิ่งประจำวันเเละได้รับความนิยมอย่างมาก โดยจะเริ่มจำหน่ายในช่วงปลายปี 2563 นี้
ที่มา : Engadget
]]>เริ่มที่เจ้าตลาดรีเทลสินค้าเสื้อผ้ากีฬาซึ่งมีสาขา 80 สาขาทั่วประเทศอย่าง “ซูเปอร์สปอร์ต” ในเครือเซ็นทรัล โดยชิมลางตั้งแต่ปี 2561 ปรับโลโก้ร้านให้ทันสมัยขึ้น จากเดิมใช้ตัว S สีน้ำเงินในวงล้อมสีเขียว ปรับใหม่เหลือเฉพาะวงล้อมสีเขียวและเปลี่ยนฟ้อนต์ชื่อร้านใหม่ ทำให้โลโก้ดูเรียบง่ายขึ้น ตามคอนเซ็ปต์ The new Supersports where sports is fashion
ตามด้วยการรีโนเวตร้านสาขาเซ็นทรัลเวิลด์เป็นแฟลกชิปสโตร์ต้นแบบ ปรับการจัดดิสเพลย์ร้านให้ทันสมัย โปร่งโล่งขึ้น มาในธีมสีดำ-ม่วง-ฟ้า พร้อมเพิ่มเรื่อง “ประสบการณ์ดิจิทัล” เข้ามาเพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีขึ้น เช่น มุม Run Lab ที่มีโปรแกรม Gait Analysis ช่วยวัดรูปเท้าเพื่อเลือกรองเท้าวิ่งได้อย่างเหมาะสม หรือมุม Golf Simulator โซนทดลองไดรฟ์กอล์ฟด้วยโปรแกรม Simulator เป็นตัวช่วยเลือกอุปกรณ์กอล์ฟพร้อมรับคำแนะนำจากพนักงานผู้เชี่ยวชาญ
ปีที่แล้วซูเปอร์สปอร์ตวางงบไว้ 300 ล้านบาทในการรีโนเวตสาขา ส่วนปีนี้ประกาศงบลงทุนปรับสาขาที่ 600 ล้านบาท โดยมีสาขาที่รีโนเวตใหญ่ไปอีกหนึ่งแห่งคือ เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ซึ่งเปิดตัวไปแล้วเรียบร้อย
โดยภาพรวม ซูเปอร์สปอร์ตดูจะยังวางแนวทางร้านรูปแบบคล้ายคลึงเดิมอยู่ ทั้งจากโลโก้ ตัวร้าน และการสื่อสารแบรนด์ แม้จะวางคอนเซ็ปต์ให้ไปทางแฟชั่นมากขึ้น แต่สินค้าและความรู้สึกในการจับจ่ายภายในร้านยังมุ่งเรื่องการกีฬาและการออกกำลังกายสูง
ย้ายฝั่งมาที่ Sports Mall ในเครือเดอะมอลล์บ้าง แบรนด์นี้มีกลยุทธ์ทั้งการปรับโลโก้และตัวร้านเช่นกัน แต่ดูเหมือนจะ ‘รื้อใหญ่’ ยิ่งกว่า โดยตัวโลโก้แม้จะยังเป็นธีมสีขาว-ดำ-แดง แต่รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนใหม่ให้เข้าคอนเซ็ปต์รวมของร้านที่ต้องการจำหน่ายสินค้าสปอร์ตแฟชั่นมากขึ้น
Sports Mall วางแผนรีโนเวตใหญ่ใช้งบมากกว่า 500 ล้านบาทเพื่อปรับปรุง 7 สาขาจากทั้งหมด 11 สาขา ระหว่างช่วงปี 2562-64 เริ่มสาขาแรกที่สยามพารากอน ซึ่งทำให้ได้เห็นภาพการปรับตัวของร้าน โดยขยายพื้นที่ร้านใหญ่ขึ้นจากเดิม 3,200 ตร.ม. เป็น 5,000 ตร.ม. ทำให้แบรนด์แต่ละแบรนด์ที่อยู่ภายในได้พื้นที่เพิ่มสำหรับตกแต่งมุมของตัวเองให้น่าสนใจ ตัวร้านโดยรวมยังจัดมุมถ่ายรูป มุมกิจกรรม ให้เหมาะกับยุคโซเชียลมีเดีย
ประเภทสินค้าใน Sports Mall ยังปรับใหม่ตามความสนใจของผู้บริโภคยุคนี้ โดยเพิ่มสัดส่วนสินค้าไลฟ์สไตล์ขึ้นเป็น 40% แทนที่สินค้ากลุ่มเพอร์ฟอร์มานซ์ และเพิ่มกลุ่มสนีกเกอร์มากขึ้นเป็น 70% ของร้าน รวมถึงมีสินค้าผู้หญิงเพิ่มขึ้นเป็น 45%
ที่สำคัญคือ Sports Mall ยังสานสัมพันธ์กับแบรนด์ดัง เช่น Nike, Adidas เพื่อให้ร้านได้เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้วางจำหน่าย สินค้าเอ๊กซ์คลูซีฟ ของแบรนด์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในยอดขาย โดยปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 30%
โดยสรุปแล้ว Sports Mall ได้ปรับโซนของตัวเองให้เป็นรีเทลที่ขายกึ่งสินค้าเครื่องกีฬากับสินค้าแฟชั่น ซึ่งเอื้อให้ผู้บริโภคสามารถมาเดินเล่นดูสินค้าในชีวิตประจำวัน และพยายามดันตัวเองเป็นจุดหมายของนิชมาร์เก็ตนักสะสมรองเท้า Limited Edition ควบคู่ไปด้วย
ตัดภาพมาที่น้องใหม่ในตลาดไทยแต่เป็นแบรนด์เก่าในระดับโลก JD Sports เชนร้านมัลติแบรนด์จากอังกฤษรายนี้ขยายไปแล้ว 4 สาขาในกรุงเทพฯ หลังเข้าตลาดมา 1 ปี
ร้านนี้เลือกจับกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์แบบเต็มตัวโดยไม่ได้จำหน่ายสินค้าสายเพอร์ฟอร์มานซ์เลย โดย “แจ๊คลิน แทน” หัวหน้าสูงสุดฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ JD Sports กล่าวถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ว่าเป็น “เด็กที่ต้องการเติบโตสู่ไลฟ์สไตล์แบบสตรีท ต้องการเสื้อผ้าการแต่งตัวที่ได้ลุคแบบเท่ๆ สบายๆ”
ดังนั้นร้าน JD Sports จึงต้องสร้างแบรนด์ให้ร้านตัวเองดึงดูดลูกค้าในเชิงการตลาด ผ่านการสร้างสัมพันธ์กับท็อปแบรนด์สายกีฬาต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้าที่ออกแบบร่วมกันระหว่างแบรนด์กับร้าน ซึ่งจะมีขายเฉพาะที่ JD Sports เท่านั้น รวมถึงเน้นการสร้าง ‘touch point’ ในโซเชียลมีเดียให้ลุคของแบรนด์ดูเท่ ทันสมัย
View this post on Instagram
ทั้งนี้ นักสะสมสนีกเกอร์ตัวยงที่อยู่ในวงการมา 10 ปีรายหนึ่งกล่าวกับ Positioning ว่า ร้าน JD Sports เป็นร้านสนีกเกอร์ตลาดแมส แต่มีการสร้างแบรนด์มากขึ้นด้วยสินค้าเอ๊กซ์คลูซีฟที่พัฒนาร่วมกับท็อปแบรนด์ต่างๆ ซึ่งสำหรับนักสะสมอาจจะไม่น่าสนใจเท่าสินค้าที่ออกแบบร่วมกับศิลปินดัง แต่การแสดงออกถึง ‘ความสัมพันธ์’ ของร้านกับแบรนด์ดังทำให้ยกระดับได้ดีกว่าร้านทั่วไปที่ไม่มีในจุดนี้
ขวบปีแรกของ JD Sports ในไทยนั้นไม่เปิดเผยยอดขายแต่บริษัทเคลมว่าทำได้ ‘ตามเป้า’ และเตรียมขยายอีก 2 สาขาปีหน้า ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นว่าวิธีการจับตลาดของแบรนด์ได้ผลในไทยเช่นเดียวกับทั่วโลก
สรุปความเคลื่อนไหวของธุรกิจรีเทล Specialty Store ในหมวดเสื้อผ้ารองเท้ากีฬานั้น การเจาะกลุ่มผู้บริโภคต้องปรับตามเทรนด์พฤติกรรม เมื่อผู้ซื้อไม่ได้มีแต่กลุ่มคนเล่นกีฬาอย่างจริงจัง แต่กลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่ใครๆ ก็ใส่กัน การสร้างแบรนด์ การจัดรูปแบบร้าน และประสบการณ์ในร้านจึงต้องเปลี่ยนไปให้เข้าถึงง่าย ปรับ ‘ฟีลลิ่ง’ จาก ‘การออกกำลังกาย’ มาเป็น ‘สายแฟชั่น’ มากขึ้น.
]]>ไลฟ์สไตล์กีฬายังแรงดีแม้มีแกว่งตามสภาพเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ยังคุ้มค่าต่อการลงทุนเพราะมองระยะยาวยังไม่หยุดง่ายๆ ทำให้ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ปรับใหญ่ วางแผนปี 2562-64 ทยอยรีโนเวต 7 สาขาจาก 11 สาขาของ Sports Mall ได้แก่ สยามพารากอน, ดิ เอ็มโพเรียม, งามวงศ์วาน, บางแค, บางกะปิ, โคราช, ท่าพระ ใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยวันนี้สาขาแรกที่สยามพารากอนพร้อมให้บริการแล้ว
สองผู้บริหารจากเดอะมอลล์ กรุ๊ป “วิภา อัมพุช” ผู้จัดการใหญ่ SPECIALTY RETAIL DEVELOPMENT บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และ “สุนทร สุรีย์เหลืองขจร” ผู้จัดการทั่วไปบริหารสินค้าสปอร์ตมอลล์ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ร่วมกันเปิดเผยถึงการปรับพื้นที่ใหม่ของ Sports Mall ว่า พื้นที่ในแต่ละสาขาจะปรับโฉมภายใต้คอนเซ็ปต์ Global Flagship Store ที่เปลี่ยนหรือเสริมจุดแข็งหลายด้าน ได้แก่ พื้นที่ขาย สินค้า และบริการ
สำหรับ “พื้นที่ขาย” Sports Mall มีการปรับพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น ยกตัวอย่างเช่นสาขาสยามพารากอน พื้นที่รวมจากเดิม 3,200 ตร.ม. เพิ่มเป็น 5,000 ตร.ม. ทำให้แบรนด์ที่วางจำหน่ายในร้านมีพื้นที่ขายเพิ่มเกือบเท่าตัวและสามารถจัดวางดิสเพลย์สินค้าให้น่าสนใจ
การจัดพื้นที่โดยรวม Sports Mall ยังปรับลุคให้ ‘น่าเดิน’ ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มนักกีฬาแต่ขยายไปถึงกลุ่มเสื้อผ้าสปอร์ตสแฟชั่น จึงตกแต่งพื้นที่ขายด้วยสไตล์แบบสตรีท ทางเดินโอ่โถง มีจุดถ่ายรูปและกิจกรรมเช่นตู้เกมบาสเกตบอล พร้อมพื้นที่ Sports Hall ส่วนกลางให้แบรนด์ผลัดกันจัดกิจกรรมดึงดูดลูกค้ารายสัปดาห์ ร้านยังมีการปรับโลโก้ใหม่จากลุคนักกีฬามาเป็นไลฟ์สไตล์แฟชั่น ซึ่งโลโก้นี้ยังนำไปปรับเข้ากับยูนิฟอร์มของพนักงานของ Sports Mall ด้วย
นอกจากบรรยากาศโดยรวมที่จะช่วยดึงลูกค้าเข้ามาแล้ว บริษัทยังเน้นเรื่อง “สินค้า” ที่เข้ามาขาย ครบทุกประเภทกีฬา เช่น วิ่ง กอล์ฟ ว่ายน้ำ เทนนิส จนถึงเดินป่า-แคมปิ้ง และมีการเซ็นดีลเอ็กซ์คลูซีฟ เป็นร้านที่ได้ลงขายสินค้า Limited Edition ของแบรนด์ดังซึ่งมีโควตาจำนวนจำกัดในแต่ละประเทศ นับเป็นจุดสำคัญเพราะสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 30% ของยอดขาย
ปิดท้ายคือการปรับ “บริการ” พนักงานของร้านจะต้องเสริมเรื่องความรู้สินค้า สามารถช่วยเลือกและแนะนำลูกค้าได้ รวมถึงปรับความเร็วหลังลูกค้าตัดสินใจซื้อแล้วการชำระเงินและรับสินค้าต้องเสร็จสิ้นภายใน 5 นาที
สองผู้บริหาร Sports Mall กล่าวด้วยว่า คอนเซ็ปต์นี้อาจจะนำไปใช้ในร้านค้าแบบสแตนด์ อะโลนเพื่อเจาะแหล่งชุมชนในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่มีศูนย์การค้าเครือเดอะมอลล์ เป็นร้านขนาด 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป ที่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ครบทุกเพศทุกวัยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นแผนระยะ 3 ปีจึงยังอยู่ระหว่างศึกษ
สุนทรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดอะมอลล์เล็งเห็นการเติบโตของตลาดเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬาตลอด 5 ปีมีการเติบโต 2 หลักมาทุกปี โดยปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดเครื่องกีฬาที่ขายผ่านช่องทางรีเทลอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% ขณะที่ปี 2562 นี้คาดว่าจะโต 6% เติบโตช้าลงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ แต่เทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ แล้วจะเห็นได้ว่าเติบโตสูงกว่า
ส่วนยอดขายของ Sports Mall เอง ปี 2561 มียอดขายราว 3.7 พันล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 7% สูงกว่าตลาดเล็กน้อ
ภาพระยะยาวของธุรกิจเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬา วิภามองว่ายังเป็นกระแสที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมาพร้อมกับความตระหนักเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดไลฟ์สไตล์ กลายเป็นเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้สถิติโรงงานผู้ผลิตให้กับแบรนด์ดังทั่วโลกยังมีแนวโน้มขยายกำลังผลิต สะท้อนให้เห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต
สุนทรเสริมว่า ในไทยเองมีจุดสำคัญที่ทำให้เสื้อผ้ากีฬาเติบโตคือกระแสกีฬาวิ่ง โดยปัจจุบันเมืองไทยมีการจัดงานแข่งขันวิ่ง 1,300 รายการต่อปี มีฐานนักวิ่งราว 20 ล้านคน และมีการจัดงานฟูลมาราธอนระดับโลกถึง 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ นอกจากนี้ยังเริ่มมีกระแสวิ่งเทรลมาเสริมซึ่งทำให้ Sports Mall มีโซนเดินป่าและแคมปิ้งเข้ามา
อีกปัจจัยหนึ่งคือกลุ่มผู้หญิง ที่เมื่อ 5 ปีก่อนมีสัดส่วนในกลุ่มผู้ซื้อเพียง 30% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 45% ผู้หญิงจึงเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ทั้งแบรนด์และร้านค้ามุ่งจับตลาด
]]>Sketchers นั้นเป็นบริษัทรองเท้าผ้าใบกึ่งกีฬากึ่งใส่เล่นประจำวัน ล่าสุด Sketchers กล่าวหา Adidas ว่าทำให้แบรนด์ Skechers เสียหายเพราะดีลจ่ายใต้โต๊ะ แก่บิดาของนักแข่งขันบาสเก็ตบอลระดับวิทยาลัยหรือ college basketball ของสหรัฐอเมริกา
ดีลใต้โต๊ะนี้ถูกสื่ออเมริกันเรียกว่าเป็น underhanded dealings ซึ่งเข้าข่ายการติดสินบน คดีนี้จึงถูกมองว่า Skechers กำลังแบรนด์ Adidas แปดเปื้อนเรื่องอื้อฉาว
Skechers ระบุชื่อผู้บริหารของ Adidas อย่าง Jim Gatto และที่ปรึกษาของ Adidas ชื่อ Merl Code โดยอัยการสหรัฐส่งเรื่องฟ้องร้อง Gatto โดยอ้างว่าเขาทำงานร่วมกับ Code และคนอื่นเพื่อให้เงินแก่ครอบครัวของอดีตผู้เล่น 2 ทีมคือ Kansas และ NC State ซึ่งเป็น 2 ทีมวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก Adidas การให้เงินนี้เองที่ถูกกล่าวหาว่า Adidas ต้องการซื้อข้อผูกพันจากผู้เล่นที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนเหล่านั้น และเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เล่นจะเซ็นสัญญากับ Adidas เมื่อทุกคนเทิร์นโปรหรือผันไปเป็นผู้เล่นมืออาชีพ
ในสำนวนฟ้อง มีการระบุว่าการจ่ายเงินลักษณะนี้ถือเป็นการกีดกันคู่แข่งทางการค้าเช่น Skechers ที่เล่นตามกฎเพื่อให้มีโอกาสได้สร้างแบรนด์ในตลาดนักเรียนนักศึกษา
ไม่ว่า Adidas จะทำจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แต่คำกล่าวหาว่ากีดกันที่ Skechers ระบุถือว่าเป็นข้อหาที่ฟังขึ้น เพราะที่ผ่านมา ทุกแบรนด์ล้วนพยายามเสนอตัวให้เป็นสินค้าที่นักกีฬาระดับโรงเรียน–มัธยม–วิทยาลัยผู้ที่เป็น trend-setting ได้เห็นและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ การเข้าถึงครอบครัวของนักกีฬามีผลทำให้ Skechers และบริษัทอื่นถูกปิดกั้นจากการแข่งขัน ทั้งในระดับสนามแข่งขันระดับเยาวชน, ระดับเอ็นบีเอ และยังกระตุ้นให้ผู้บริโภครับรู้ถึงแบรนด์ Adidas ได้ดีกว่าในตลาดรองเท้าบาสเก็ตบอลอย่างไม่เป็นธรรม
แม้ Skechers จะเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้หวังเจาะตลาดรองเท้าบาสเก็ตบอลเป็นหลัก และอาจไม่ได้เป็นคู่แข่งกับ Adidas โดยตรงเท่า Nike แต่ Skechers ชี้ให้เห็นว่าบริษัทได้ลงนามกับผู้เล่นหลายรายทั้ง Jamal Crawford และ Josh Smith ขณะเดียวกันก็มีข้อตกลงกับนักกีฬาเกษียณเช่น Kareem Abdul-Jabbar ด้วย จุดนี้ Skechers อ้างว่าการกระทำของ Adidas ถือเป็นการบีบบังคับให้ Skechers ต้องเพิ่มงบโฆษณาเพื่อรักษาแบรนด์ไม่ให้ยอดขายและผลกำไรหดหายไป
กรณีนี้ Adidas โต้ตอบว่าคำร้องเรียนนี้ “ไม่สำคัญและไร้สาระ” ไม่ควรจะเป็นประเด็นโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่เป็นประเด็นในสายตา Adidas คือ Skechers สร้างรองเท้าที่มีลักษณะเหมือนรองเท้ารุ่น Stan Smith แบบคลาสสิกมากเกินไป จึงยื่นร้องเรียน Skechers ต่อศาลตั้งแต่ปี 2015 เพื่อขอให้ศาลสั่งห้าม Skechers ขายรองเท้ารุ่น Onix ซึ่ง Adidas และหลายคนลงความเห็นว่าเป็นสำเนาชัดเจนของ Adidas Stan Smith แบบคลาสสิก ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯจึงตัดสินเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ว่ารองเท้าของ Skechers มีความคล้ายคลึงกับ Stan Smith มากเกินไป และมีหลักฐานว่า Skechers ตั้งใจให้ผู้ซื้อสับสนด้วย (กรณีนี้ Skechers ยืนยันว่าจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีความที่รอดำเนินการ)
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีไม่ได้ตัดสินให้ Skechers เป็นฝ่ายแพ้ทั้งหมด เพราะศาลได้ยกเลิกคำสั่งห้ามขายรองเท้า Cross Court ซึ่ง Adidas ต้องการแบนออกจากตลาดเพราะวัสดุที่อยู่ด้านบนรองเท้าทำให้เกิดเป็นรูปลักษณ์ 3 แถบด้านข้าง ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของ Adidas จุดนี้ศาลตัดสินว่า Adidas ไม่สามารถพิสูจน์ว่าบริษัทได้รับผลเสียใดจากการขายรองเท้ารุ่นนี้ของ Skechers และ Skechers ยืนยันว่าเป็นการออกแบบให้เกิดรูปอักษร E
เรื่องนี้ Adidas ย้ำในแถลงการณ์ว่าบริษัทจะไม่ยอมให้ใครคัดลอกผลิตภัณฑ์ของ Adidas และตั้งใจที่จะถอนรากถอนโคนการกระทำที่ผิดกฎหมายของ Skechers ทั้งหมด คำแถลงนี้เป็นสัญญาณบอกว่าศึกฟ้องร้องระหว่าง Adidas และ Skechers จะไม่จบสิ้นในเร็ววันนี้แน่นอน.
ที่มา :
]]>