สินเชื่อส่วนบุคคล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 29 Jan 2023 12:52:25 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 KTC จัดทัพองค์กร รับ CEO ใหม่ปี 67 พร้อมเป้าหมายกำไรหมื่นล้านภายใน 3 ปี! https://positioningmag.com/1416828 Sun, 29 Jan 2023 06:59:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1416828 KTC หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เตรียมจัดทัพองค์กรครั้งใหญ่ กรุยทางเพื่อต้อนรับ CEO คนใหม่ในปี 2567 เตรียมบุคลากรให้มากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมกับเป้าหมายกำไรหมื่นล้านภายใน 3 ปี โดยมี 3 หัวหอก บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล และเคทีซี พี่เบิ้ม

ปีแห่งการจัดทัพใหญ่

KTC เตรียมปรับใหญ่ปี 2566 สู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง “A Transition to the New Foundation” พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเท่าทันความคาดหวังของลูกค้า ตอกย้ำความเป็น Trusted Organization ตั้งเป้าปี 2566 ทำกำไรนิวไฮต่อเนื่องดันพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 15% เกินแสนล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% พอร์ตสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” โต 7% ยอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,100 ล้านบาท สินเชื่อกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่งเพิ่ม 3,000 ล้านบาท และ NPL อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าปี 2022 พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืนด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาให้ดีขึ้นทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ระเฑียร ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“ในปี 2566 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเคทีซีทั้งโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ กระบวนการ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อขับเคลื่อนเคทีซีไปสู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิด “A Transition to the New Foundation” โดยเฉพาะการพัฒนา Mindset ของคนในองค์กรให้มีดีเอ็นเอเดียวกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่เราพยายามดูแลและพัฒนามาตลอดตั้งแต่เข้ามาร่วมงานกับเคทีซี โดยนอกจาก 3 ค่านิยมองค์กรหลัก (Core Value) ที่คนเคทีซียึดถือเป็นแนวทางในการทำงานอันได้แก่ 1.กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง 2.ทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อน และ 3.ทำสิ่งที่มีความหมาย และเป็นประโยชน์ จากนี้เราจะมุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความไว้วางใจ (Trusted Organization) ภายในองค์กรให้แกร่งยิ่งขึ้น เพื่อส่งต่อความไว้วางใจนี้ไปสู่สมาชิก องค์กร ผู้ถือหุ้นและสังคม”

ในปี 2566 เคทีซีจะเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมองค์กรให้เป็นโครงสร้างแบบแนวราบ (FlatOrganization) และมีหน่วยงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อีกทั้งจะบูรณาการไอที (Information Technology) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 3 มิติ คือ

  • Enterprise Architecture การจัดการโครงสร้างให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านธุรกิจ ด้านไอที และระบบปฏิบัติการ
  • Enterprise Skill Assets ส่งเสริมให้คนเคทีซีได้พัฒนาทักษะสำคัญด้านต่างๆ ที่สร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและเป็นประโยชน์กับองค์กร
  • Enterprise Data Assets การบริหารจัดการข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูลไปจนถึงการทำลายข้อมูล เน้นความปลอดภัย ถูกต้องและโปร่งใส เพื่อให้เคทีซีมีฐานข้อมูลคุณภาพ สนับสนุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับการดำเนินธุรกิจของเคทีซีจากนี้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มธุรกิจหลัก (Existing) ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกันที่มีพอร์ตสินเชื่อในระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป กลุ่มธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด (New SCurve) ได้แก่ สินเชื่อรถแลกเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม และสินเชื่อกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง และกลุ่มโมเดลธุรกิจที่อยู่ในระหว่างการบ่มเพาะ (Incubator) เช่น MAAI – Loyalty Platform เป็นต้น

บัตรเครดิต 

ธุรกิจบัตรเครดิตยังเป็นธุรกิจหลักที่เคทีซีให้ความสำคัญมาตลอด โดยสถานการณ์ตอนนี้เกือบทุกหมวดใช้จ่ายมีการเติบโตสูงกว่าปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19 สำหรับแผนกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตในปี 2566 จะเน้นแนวคิด Less is MORE หรือการทำสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยปรับกระบวนการทำงานในทีมการตลาดให้กระชับคล่องตัวมากขึ้นบน 5 แกนสำคัญ คือ

1) การบริหารพอร์ตลูกค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด ด้วยการสร้างสรรค์โปรแกรมการตลาดเพื่อให้ลูกค้าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และการนำระบบออโตเมชั่น (Automation) เข้ามาใช้ในกระบวนการของการบริหารความสัมพันธ์กับสมาชิกบัตร

2) การเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทขึ้นไป ด้วยสิทธิพิเศษด้านไลฟ์สไตล์ที่ตรงใจ

3) จัดโปรแกรมกระตุ้นการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์ฐานสมาชิกบัตรเคทีซี เน้น 3 หมวดใช้จ่ายหลัก คือ หมวดร้านอาหารและร้านอาหารในโรงแรม (Dining& Hotel Dining) หมวดช้อปปิ้งออนไลน์ และหมวดท่องเที่ยว นอกจากนี้เคทีซียังคงเดินหน้าความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ ที่มีเป้าหมายทางธุรกิจเดียวกัน ในการทำกิจกรรมการตลาดที่ตอบโจทย์ทุกหมวดใช้จ่ายสำคัญของสมาชิก และเพื่อสร้างการจดจำและผูกพันกับแบรนด์

4) ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในการจัดแคมเปญการตลาด และกิจกรรมการขยายฐานสมาชิกบัตรในต่างจังหวัด

5) บริหารจัดการการสื่อสารการตลาด (Marketing Communications) ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเน้นการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์เคทีซีให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

โดยในปี 2566 ตั้งเป้ามีสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 180,000 ใบ และคาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% จากปี 2565 หรือประมาณ 264,000 ล้านบาท

สินเชื่อส่วนบุคคล

ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้สินเชื่อได้ครบทุกฟังก์ชัน จนวันนี้บัตรใบเดียวก็สามารถทำได้ทั้งการเบิกใช้วงเงิน รูด โอน กด ผ่อน และแผนกลยุทธ์ในปี 2566 จะพัฒนาไปในทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เริ่มที่การเปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบายแอปฯ ในรูปแบบของใบสมัครออนไลน์ (Electronic Application) และช่องทางการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ผ่านทางแอปฯ KTC Mobile ให้สะดวกขึ้นโดยเพิ่มบัญชีพร้อมเพย์ในการโอนเงิน นอกเหนือจากที่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ 15 แห่ง และเพิ่มช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการใช้สินเชื่อด้วยต้นทุนรับสมัครที่ต่ำแต่ได้ผลดี

รวมทั้งเดินหน้าสร้างความผูกพันระหว่างเคทีซีกับกลุ่มสมาชิก ด้วยการต่อยอดกิจกรรมสัมมนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และการส่งเสริมวินัยในการชำระ ผ่านโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยงซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เพราะเป็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า จากการศึกษาลูกค้าผ่านการทำ Empathy เราจึงจัดต่อเนื่องและจะครบ 14 ครั้ง ในปี 2566 และคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2566 พอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลจะเติบโต 7% และมีสมาชิกใหม่เคทีซี พราว 110,000 ราย

เคทีซี พี่เบิ้ม 

สำหรับแผนกลยุทธ์ของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ในปี 2566 จะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ ทั้งการให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติใน 1 ชั่วโมง รับเงินทันที และเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านเอกสารและรายได้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยธนาคารกรุงไทยกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ จะเป็นช่องทางหลักในการรับสมัคร ซึ่งได้ปรับรูปแบบบริการให้เจ้าหน้าที่ธนาคารฯ สามารถทำรายการผ่านแท็บเล็ตในการรับสมัครสินเชื่อให้กับลูกค้า และอนุมัติแบบครบวงจรภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที

รวมทั้งจะเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังแพลตฟอร์มหลักต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด  สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเคทีซี พี่เบิ้ม ตามที่เราวางบทบาทเป็นสินเชื่อทางเลือกคนไม่ท้อ เราจึงเปิดรับทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะคนทำมาหากินที่สู้ชีวิต และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อก้อนใหญ่จากสถาบันการเงินอื่น โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 จะมียอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,100 ล้านบาท

เคทีซีจะมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโดยจะมีการระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2566 จำนวน 4,640 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเคทีซี ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2566 เคทีซีจะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) 20:80 และต้นทุนการเงินอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 2.5%-3.0%

]]>
1416828
“ณญาณี เผือกขำ” แม่ทัพผู้ทรานส์ฟอร์ม “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” สู่โลกการเงินยุคใหม่ https://positioningmag.com/1390448 Thu, 30 Jun 2022 11:00:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1390448

ปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมต่างต้องเจอความท้าทายรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก สิ่งแวดล้อม โรคระบาด “โลกดิจิทัล” ที่หมุนอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ชั่วข้ามคืน อุตสาหกรรมการเงินเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หลายคนมองว่าถูก Disrupt อย่างหนัก แต่จริง ๆ แล้วดิจิทัลและนวัตกรรมกลับเข้ามาช่วยเปิดประตูสู่ยุคการเงินแห่งอนาคตมากกว่า

“กรุงศรี คอนซูมเมอร์” เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ปัจจุบันทำตลาดแบรนด์บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน, และบัตรเครดิตโลตัส

เมื่อปี 2563 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้จัดทัพองค์กรครั้งใหญ่ แต่งตั้ง ‘ณญาณี เผือกขำ’ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานการเงินมากว่า 20 ปี และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ณญาณีช่วยนำธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลชั้นนำของไทย

แน่นอนว่ามิชชั่นสำคัญของณญาณีคือการทรานส์ฟอร์มกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้ก้าวสู่โลกการเงินยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในภาวะที่ต้องเจอกับความท้าทายรอบตัว


ก้าวทันโลกการเงินยุคใหม่

หลายคนอาจนิยมคำว่า “โลกการเงินยุคใหม่” แตกต่างกันไป อาจรวมไปถึงโลกของบิทคอยน์ หรือสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ แต่ในมุมมองของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ โลกการเงินยุคใหม่ ก็เหมือนกับโลกใบใหม่ของลูกค้า โลกในการใช้จ่ายเงินที่มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของลูกค้า

สถานการณ์การระบาดของCOVID-19 ทำให้โลกการเงินเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งขึ้น เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาการใช้จ่ายเงินเข้าสู่สังคมไร้เงินสดไปโดยปริยาย ณญาณีมองว่าโลกการเงินเปลี่ยนไปในเชิงที่ว่าลูกค้าไม่ได้เข้ามาใช้บริการตามจุดบริการเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป รวมถึงพฤติกรรมการใช้ “บัตรพลาสติก”ก็เปลี่ยนไป หันมาทำธุรกรรมผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อคนรุ่นใหม่เปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น “ข้อมูล” ก็มีบทบาทสำคัญขึ้นในการประกอบธุรกิจ ทั้งในแง่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์และเข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อที่จะได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจ รวมถึงการใช้ข้อมูลมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

“โลกการเงินยุคใหม่การใช้จ่ายไม่ได้หมายถึงการเดินไปช้อปปิ้งที่ห้างหรือหน้าร้านเพียงอย่างเดียว แต่ลูกค้านิยมสั่งของทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น ยอดใช้จ่ายออนไลน์เติบโตสูงมาก ปัจจุบันภาพรวมของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 13% ซึ่งถือว่ากลับมาค่อนข้างดีขึ้น ยอดการใช้จ่ายในต่างประเทศก็เริ่มเติบโต เชื่อว่าโอกาสที่คนไทยได้เดินทางจะทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ เทรนด์การใช้จ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจมีช่วงที่ดรอปไปบ้างจากมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ บวกกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่น้อยลง แต่ภาพรวมของการช้อปปิ้งออนไลน์ช่วงต้นปีนี้เติบโตสูงถึง 19% เทียบกับปีที่แล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตอย่างน่าสนใจไม่แพ้กันก็คือกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เติบโตสูงถึง 72%”

ณญาณีเริ่มฉายภาพวิธีคิดในการทำธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ว่าต้องปรับเปลี่ยนตามสภาวะการดำเนินธุรกิจและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป มีการเน้นระบบดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งนำเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูล เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดีไซน์ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงใจ

“การลงทุนในช่วง 3 ปีนี้จะเน้นพัฒนาระบบดิจิทัลและ Data เป็นส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมและความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น ให้บริการผ่านระบบอัตโนมัติ นำเรื่อง Data และ AI มาเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการทุกอย่างของเรา รวมถึงปรับทัศนคติของคนในองค์กรให้เข้าใจโลกอนาคตด้วย ต่อไปถึงลูกค้าจะไม่พกบัตรเครดิตที่เป็นบัตรพลาสติกก็ยังช้อปปิ้งได้ตลอดเวลา ทุกวันนี้ใช้วิถีใหม่สามารถสแกนจ่ายด้วย QR Code บัตรเครดิตได้เลย ลดการสัมผัสเพิ่มความสะดวกสบาย ไม่ต้องพกบัตรหลายใบ และก็ไม่ลืมที่จะนำเสนอโปรโมชันคุ้มค่าที่ตอบโจทย์ลูกค้าด้วยและแน่นอนว่าเมื่อลูกค้าก็หันมาใช้จ่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เทคโนโลยีการชำระเงินและบริการต่าง ๆ ของเราก็ต้องพัฒนาให้ก้าวทัน”


ปรับตัวสู่โลกดิจิทัล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้ความสำคัญและลงทุนที่เกี่ยวกับ Data และดิจิทัลอย่างมาก เพื่อมุ่งสู่การเป็น Data-Driven Company เช่น ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านการตลาด การบริการ และการดำเนินธุรกิจ มีการจัดทำ Data Lake เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายแหล่งและหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น Demographic Data, Behavioral Data, Social Data เป็นต้น ซึ่งแต่ละ Data Point จะถูกนำมารวมและวิเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มลูกค้ารวมทั้งยังมีการนำ Marketing AI มาใช้เพื่อทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลเพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตรงใจและตรงตามความต้องการลูกค้าในเวลาที่เหมาะสม

ณญาณีเล่าว่า “เรามีบัตรเครดิตหลากหลาย โปรโมชันของเราก็มีมากมาย  แต่ก่อน ถ้าเราทำการตลาดโดยที่ไม่วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า โปรโมชันที่เราส่งไปอาจจะไม่ตอบโจทย์ วันนี้เราเห็น Data ว่าลูกค้าใช้อะไร ชอบอะไร เราก็สามารถนำเสนอสิ่งที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลานั้น ๆ ได้แบบ Personalized กระบวนการทำงานและการให้บริการของเราก็เช่นกัน ต้องปรับให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของลูกค้าด้วย ตอนนี้ ถ้าลูกค้าอยากได้บัตรเครดิต ถ้าไม่สะดวกเดินทางมาที่สาขา ก็สมัครทางออนไลน์ ทางแอป UCHOOSE ได้เลย  นอกจากนี้ เรายังออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเน้นตอบโจทย์คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ เช่น บัตร Krungsri NOW ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือน พ.ย. 2564 ก็ได้รับการตอบรับอย่างดี ปัจจุบันมียอดสมัครบัตรใหม่อยู่ที่ 25,000 ใบ ในปีนี้ตั้งเป้า 36,000 ใบ ส่วนแอปพลิเคชัน UCHOOSE มีอัตราการใช้งานของลูกค้าอยู่ที่ 80% ส่วน UCASH บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอปโดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหรือพร้อมเพย์มีการปล่อยสินเชื่อแล้ว 30,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังเปิดช่องทางบริการใหม่เช่น Krungsri Consumer Line OA และ Facebookรวมทั้งพัฒนาบริการใหม่ เช่น บริการยืนยันตัวตนด้วยเสียง, บริการสอบถามข้อมูลบัญชีบัตรผ่านทาง FB Messenger รวมถึง AI MANOW สำหรับให้ข้อมูลแก่ลูกค้าผ่านคอลเซ็นเตอร์ เพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้า ให้สามารถตรวจสอบข้อมูลและทำรายการเกี่ยวกับบัญชีบัตรได้ง่าย ๆ ด้วยตนเองในหลากหลายช่องทาง

ในปีนี้กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังเตรียมขยายแพลตฟอร์ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น โดยหนึ่งไฮไลท์สำคัญในปีนี้ก็คือ การทำ Digital Lending หรือการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ได้เลย เพียงแค่สแกนเอกสารประกอบการสมัครเข้าไปในระบบผ่านแอปจากนั้นก็จะทราบผลการอนุมัติภายในเวลาไม่นาน

“สำหรับ Digital Lending เรามีแผนจะร่วมมือกับ Partner ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล ครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีราวสองสามรายที่ทำงานร่วมกัน การทำธุรกิจยุคใหม่จะเป็นลักษณะของความร่วมมือ เชื่อมต่อ สร้าง Digital Ecosystem พันธมิตรของเรามีลูกค้าจำนวนมาก ส่วนเรามีความเชี่ยวชาญในการปล่อยสินเชื่อและการทำธุรกิจบัตรเครดิต มีระบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ พร้อมให้บริการ เรามีแผนจะร่วมมือกันออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งคาดว่า ยอดสินเชื่อ Digital Lending น่าจะเติบโตไปเรื่อย ๆ คาดว่าใน3 ปี จะเติบโตคิดเป็น 50%ของยอดสินเชื่อรวม”

นอกจากนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังมีแผนในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ เช่น บริการ Collection as a Service  ซึ่งน่าจะเริ่มให้บริการให้กับพันธมิตรที่สนใจได้ในช่วงปลายปีนี้


ทำงานแบบ Flexi Workplace

นอกจากการลงทุนด้านดิจิทัลแล้ว การลงทุนด้านบุคลากรก็ไม่แพ้กัน ณญาณีบอกว่า ต้องเปลี่ยนการทำงานจาก ‘Manual’ เป็น ‘Digital’ ต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากรมารองรับการทำงานในโลกอนาคต

ด้วย COVID-19 ทำให้วิถีการทำงานเปลี่ยนไป หลายองค์กรอาจจะเรียกการทำงานรูปแบบใหม่ว่า Work from Anywhere บ้าง หรือการทำงานแบบ Hybrid บ้าง แต่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ปรับวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิด  “Flexi Workplace, Flexi Work-Life”โดยพนักงานที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดและมีลักษณะงานที่เหมาะสม จะได้รับสิทธิ์ให้ทำงานแบบ Hybrid ได้

“ที่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะเรียกว่าการทำงานแบบ Flexi Workplaceสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เราซัพพอร์ตเขา มีการทำประเมินว่าพนักงานอยากเข้าทำงานที่ออฟฟิศกี่เปอร์เซ็นต์ ผลออกมาว่าไม่มีใครอยากเข้ามาออฟฟิศ 100% เลยต้องปรับการทำงานให้ตรงใจ จะทำงานที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ แต่อาจจะต้องมีเข้าออฟฟิศมาเจอกันบ้าง เพื่อความสัมพันธ์ในทีม นอกจากนี้เรายังเตรียมดีไซน์ออฟฟิศใหม่ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์การทำงานแบบใหม่ด้วย เรื่องการสื่อสารภายในองค์กรและความสัมพันธ์ในทีมเราก็ให้ความสำคัญ เรามี แอป WE Connectเป็นช่องทางสื่อสารหลักของคนในองค์กร เป็นแหล่งรวมข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งเป็นช่องทางในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางด้าน HR เช่น แจ้งลาป่วย-ลากิจ-ลาพักร้อน เป็นต้น เรียกว่าถ้าต้องการติดต่องานด้านบุคคล สามารถใช้งานผ่านเครื่องมือนี้ได้เลย รวมทั้งยังมี AI CHATBOT ชื่อ สายฟ้าคอยให้บริการตอบคำถามพนักงานที่เกี่ยวกับเรื่อง HR ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชม. อีกด้วย”

นอกจากการดีไซน์การทำงานให้ตอบโจทย์คนทำงานแล้ว ยังต้องมีการเพิ่มทักษะ Upskill และ Reskill อย่างต่อเนื่อง กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงมีคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ชื่อ ‘UpVel by Krungsri Consumer’ ทำให้พนักงาน ได้ปรับสู่การเรียนผ่านดิจิทัลมากขึ้น ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ไปได้

“อย่างแต่ก่อนจัดฝึกอบรมแต่ละครั้งสามารถเรียนได้ครั้งละ 40 คน ทำให้พนักงานไม่สามารถเรียนได้ครบถ้วน ปัจจุบันปรับมาเป็นเรียนทางออนไลน์ รองรับได้ 5,000-6,000 คน ได้อย่างสบาย ๆ ยืดหยุ่นมากขึ้นทำให้เราสามารถพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพิ่มศักยภาพให้พนักงานของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 


ผนึกกำลังสร้างระบบนิเวศดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและเข้าใจลูกค้า

เนื่องจากข้อมูลและความสามารถในการเข้าถึงลูกค้านับเป็นสิ่งสำคัญ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงมุ่งสร้างความเติบโต โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตร สร้างแพลตฟอร์มทางการเงินเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและเข้าใจความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มโอกาสทางการตลาดและสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยความร่วมมือดังกล่าว เป็นความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในธุรกิจต่าง ๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์-บริการ-และโปรโมชันที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า รวมไปถึงความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี ภายใต้กลยุทธ์ ‘Krungsri One Retail’ ที่มุ่งเน้นผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในเครือกรุงศรี โดยมุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ข้อมูล ผลิตภัณฑ์ และช่องทางการขาย โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ณญาณีเล่าถึงยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ Krungsri One Retail ว่า “กรุงศรีมีธุรกิจในเครือมากมาย ทั้งส่วนของธนาคาร, เงินฝาก, สินเชื่อบ้าน, สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต, สินเชื่อยานยนต์, ผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนต่าง ๆ วันนี้ เรามีการคุยกันเป็นทิศทางของกรุ๊ป ทำให้ต่อจากนี้เราจะทำงานแบบยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ลูกค้ารายย่อยทั้งหมดในเครือราว 12 ล้านราย ทุกหน่วยธุรกิจภายใต้กลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร, กรุงศรี คอนซูมเมอร์, กรุงศรี ออโต้, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด จะร่วมมือกัน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อยกระดับประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าแบบไร้รอยต่อ”

“สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมดีต่อวงการการเงิน รวมถึงดีต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน เพราะมีการให้บริการอย่างเหมาะสม มีบริการที่ตรงใจ ลูกค้าเองก็จะได้รับโปรโมชันดี ๆ จากการวิเคราะห์ว่าลูกค้าต้องการอะไร ต้องเสริมผลิตภัณฑ์อะไร ร่วมมือทำงานเป็น ‘One Team’ ที่มอบบริการและผลิตภัณฑ์ที่ดี ถูกที่ ถูกเวลา ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง ทำให้เราตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินของลูกค้าได้ทุกมิติ”

นอกจากนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังเดินหน้าผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรีในภูมิภาค เพื่อขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพื่อก้าวสู่การเป็นสถาบันการเงินหลักสำหรับลูกค้าบุคคลอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าภายใต้สภาวะการดำเนินธุรกิจ และความท้าทายรอบด้าน รวมไปถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาและยังปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวให้ทันโลกการเงินยุคใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรังสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

]]>
1390448
‘พัทธ์หทัย กุลจันทร์’ นำทัพ ‘กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์’ สร้างเครดิตทางการเงินเพื่อคนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ฝ่าวิกฤติโควิด https://positioningmag.com/1347805 Fri, 20 Aug 2021 09:00:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1347805

ในทุกวิกฤติเราจะได้ New Business Model เสมอ…”

เมื่อพฤติกรรมลูกค้า ‘เปลี่ยนเร็ว’ ถึงเวลาที่เเบรนด์ต้องพลิก 360 องศา ปรับตัวให้ ‘ก้าวทัน’ ความต้องการของคนยุคใหม่ ปรากฎการณ์ ‘รีเเบรนด์ในรอบทศวรรษ’ ของ ‘กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์’ เมื่อช่วงต้นปี 2563  สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญของธุรกิจการเงินเมืองไทยที่กำลังจะมีภาพลักษณ์เปลี่ยนไป ท่ามกลางกระเเสดิจิทัลเเละภัยโรคระบาด

การรีเเบรนด์ใหม่ ไม่ใช่เเค่เปลี่ยนโลโก้ เเต่ต้องปรับเปลี่ยนทั้งในเเละนอกองค์กร เมื่อ 1 มีนาคม  2564  ที่ผ่านมา กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงประกาศเเต่งตั้ง ‘พัทธ์หทัย กุลจันทร์’ ขึ้นมานั่งเก้าอี้ ‘เอ็มดี’ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด รับหน้าที่ดูแลแบรนด์กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ในช่วงเวลาที่เป็นก้าวสำคัญแห่งความเปลี่ยนแปลง

จากประสบการณ์ในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มายาวนานกว่า 20 ปี โดดเด่นทั้งด้านกลยุทธ์ บัญชีและการเงิน การลงทุน รวมถึงการตลาด พัฒนาผลิตภัณท์ให้สอดคล้องกับงบประมาณและสภาวะเศรษฐกิจ

วันนี้ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ภายใต้การนำของ ‘พัทธ์หทัย กุลจันทร์’ จะเติบโตเเละมุ่งมั่นไปในทิศทางใด มีไม้เด็ดเเก้เกมพิษโควิดอย่างไรบ้าง เราจะมาหาคำตอบกัน…

เมื่อผู้บริโภคเริ่ม ‘ระมัดระวัง’

พูดคุยกันด้วยบรรยากาศสบาย ๆ เเต่ก็เจาะลึกด้วยประเด็น ‘ภาวะตลาดของผู้บริโภค’ ในปัจจุบัน พัทธ์หทัย ฉายภาพให้เห็นถึง สถานการณ์หนี้สินของประชาชนที่ยังคงเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยในไตรมาสเเรกของปีนี้ หนี้ภาคครัวเรือนได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นกว่า 90% ต่อจีดีพี

ความต้องการหนี้ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังเป็นไปเพื่อการบริโภคอุปโภค หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อธุรกิจ  โดยจะสังเกตได้ว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงไตรมาส 1 ยอดใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านบัตรเครดิตในภาพรวมทั้งธุรกิจ ลดลงมาราว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่เเล้ว สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่ม ‘ระมัดระวัง’ เเละเมื่อเกิดการระบาดระลอก 3 การใช้จ่ายก็ยิ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ด้านสินเชื่อส่วนบุคคล จะมีเเนวโน้มคล้าย ๆ บัตรเครดิต โดยจะเห็นว่า ภาพรวมทั้งธุรกิจ สินเชื่อคงค้างของสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในไตรมาสแรก ปรับลดลงมา -2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่เเล้ว

“ผู้บริโภคก็ทราบดีว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดี ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง จึงเลือกประหยัดมากขึ้น”


เป้าหมายลดภาระหนี้ : แบ่งเบาภาระ ไม่ทอดทิ้งลูกค้า ฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน

ในยามที่มีความไม่เเน่นอนสูง การคิดหามาตรการช่วยเหลือลูกค้าให้ได้มากที่สุด คือหนึ่งในนโยบายธุรกิจที่สำคัญของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ที่ผ่านมา บริษัทมีมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เป็นนับเป็น ‘กรณีศึกษา’ ในเรื่องการรับมือวิกฤติได้ดี อย่างการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนานสูงสุด 2 รอบบัญชี, ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาผ่อนชำระเป็นกรณีพิเศษ ฯลฯ

ในกรณีที่ลูกค้าไม่ไหวจริงๆ ค้างชำระติดต่อกัน ก็จะมีการนำเสนอในเชิงรุกอย่างการ ‘ปรับโครงสร้างหนี้’ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระให้ยาวขึ้น เเตกต่างไปตามยอดคงค้างของลูกค้า พร้อมดอกเบี้ยอัตราพิเศษ

พัทธ์หทัย บอกว่า นับตั้งเเต่เปิดโครงการช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ มาตั้งเเต่ปีที่เเล้ว ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร่วมทั้งหมดราว 9 เเสนบัญชี คิดเป็นกว่า ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของบัญชีที่เเอคทีฟทั้งหมดของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ มียอดช่วยเหลือไปเเล้วถึง  3.5 หมื่นล้านบาท ลูกค้าส่วนใหญ่ จะเข้ามาตรการการปรับลดการผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% เหลือ 3% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลเยอะที่สุด ถึง 6 เเสนบัญชี เห็นได้ชัดว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์การลดภาระการเงินของลูกค้าในยามวิกฤติ

ส่วนกลุ่มที่จะเข้าไปสู่การรีไฟเเนนซ์ หรือปรับโครงสร้างหนี้นั้น มีอยู่ประมาณ 1.1 เเสนบัญชี ยอดประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ด้านมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนานสูงสุด 2 รอบบัญชี มีลูกค้าเข้าร่วมประมาณ 1 หมื่นบัญชี เเละคาดว่าจะมีเข้ามาอีกเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม การพักชำระหนี้ยังไม่ได้ตอบโจทย์ที่สุด ทีมกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์จึงกำลังวางเเผนว่าหลังจบรอบ 2 เดือนไปเเล้ว อาจจะมีมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ออกมาเพิ่มเติม เพื่อลดภาระหนี้ให้กับลูกค้า คาดว่าจะเปิดตัวได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้เเก่ กลุ่มที่มีรายได้ลดลง รายได้ไม่เเน่นอนจากสถานการณ์โควิด ตามมาด้วยกลุ่มที่ธุรกิจถูกปิดชั่วคราว ทั้งนายจ้างเเละลูกจ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสีเเดงเข้ม

“ลูกค้าของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ส่วนใหญ่จะเป็น ‘เเฟนพันธุ์เเท้’ อยู่กันมานาน เราต้องช่วยพยุงให้พวกเขาอยู่รอด อย่างน้อย ๆ ต้องจ่ายดอกเบี้ยลดลง ไม่อยากให้พวกเขาต้องจำใจไปกู้นอกระบบ เราต้องคิดหาทางลดภาระดอกเบี้ยของลูกค้าให้ได้มากที่สุด”


Go Digital …มาถูกทางเเล้ว

พัทธ์หทัย ยืนยันว่า ทิศทางของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ที่มุ่งเน้นไปในทางดิจิทัลเเพลตฟอร์มนั้น มา ‘ถูกทางเเล้ว’ ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 จะเห็นว่าเเอปพลิเคชัน UCHOOSE เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้ายุคใหม่ได้ดีมาก

ปัจจุบัน กว่า 90% ของลูกค้าที่เป็นบัญชีที่แอคทีฟของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ มีการโหลดเเอปฯ UCHOOSE ซึ่งฟีเจอร์หลัก ๆ ที่ลูกค้าเลือกใช้ ได้แก่ การจ่ายบิล, ดูโปรโมชันบัตร, เเลกพอยต์เเละขอ E-Statement

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ส่งบริการใหม่ ออกมาเจาะตลาด นั่นก็คือ ยู แคช(U Cash)  บริการโอนวงเงินของลูกค้าที่มีอยู่เข้าบัญชีออมทรัพย์หรือพร้อมเพย์ เพื่อใช้เป็นเงินสดโดยทำรายการผ่านแอป UCHOOSE หลังเปิดบริการเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา พบว่า ‘กระแสตอบรับดีเกินคาด’ มียอดเบิกถอนเงินสด เพิ่มขึ้นถึง 25% เทียบกับก่อนมีบริการผ่านช่องทางนี้

อีกบริการหนึ่งที่ได้รับความสนใจไม่เเพ้กัน ก็คือ U Card สมัครบัตรเครดิตผ่านเเอปพลิเคชัน UCHOOSE โดยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วง พ.ค.- ก.ค.ที่มีคำสั่งล็อกดาวน์

“ในอนาคตถ้าทำให้ง่ายขึ้น จากที่ง่ายอยู่เเล้ว จะเอื้อต่อการสมัครบัตรที่ 2 หรือบัตร Co-brand อื่น ๆ ได้สะดวกขึ้น” 


จับมือพันธมิตร จัดโปรสุดคุมตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ก็คือ การร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจ พันธมิตรของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ มีทั้งพันธมิตรชั้นนำ ซึ่งให้ความไว้วางใจกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ออกบัตรเครดิตร่วม (Co-branded Card) เช่น เซ็นทรัลกรุ๊ป ที่มีบัตรเซ็นทรัล เดอะวัน เฟิร์สช้อยส์ ร่วมมือจัดโปรโมชันสำหรับการผ่อนชำระสินค้าในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป พร้อมให้คะเเนนสะสม The 1 Card สูงสุด 2 เท่า หรือ บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ หรือโฮมโปร ที่ร่วมกันออกบัตรโฮมโปร เฟิร์สช้อยส์ และ เมกาโฮม เฟิร์สช้อยส์ ที่มีจุดเด่นอย่างการผ่อน  0%  นาน 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับยอดใช้จ่ายของลูกค้า ช่วยลดภาระในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง พร้อมมอบ E- Coupon ต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังเป็นพันธมิตรกับเเบรนด์ต่าง ๆ มากมายกว่า 25,000 ราย ร่วมกันนำเสนอโปรโมชันที่มอบความคุ้มค่าให้กับลูกค้า โดยเฉพาะโปรโมชันผ่อนชำระ 0% และดีลพิเศษอื่น ๆ ที่เน้นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เช่น ออนไลน์ช้อปปิ้ง ผ่อนสินค้าไอที แกดเจ็ทต่าง ๆ  ผ่อนสินค้าและเฟอร์นิเจอร์เพื่อคน Work From Home เป็นต้น

“ในภาพรวม เราเป็นผู้นำด้านธุรกิจผ่อนชำระ เเละมีพาร์ทเนอร์เจ้าใหญ่ ๆ ที่ทำธุรกิจร่วมกัน นอกเหนือจากการช่วยเหลือลูกค้าเเล้ว ในขณะเดียวกัน เราไม่เคยลืมพันธมิตรของเรา ซึ่งมีการช่วยเหลือเเละประสานงานร่วมกันอยู่ตลอด”

ขณะเดียวกัน เราเห็นโอกาสการเติบโตของบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ในส่วนฐานลูกค้าต่างจังหวัดที่มีค่อนข้างเยอะ จึงตอบโจทย์นี้ผ่านห้างโรบินสันในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป อีกโอกาสหนึ่งที่น่าสนใจคือลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่านไทวัสดุ ที่มีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากเเละผ่อนชำระได้ยาว ๆ”

ทั้งนี้ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ มีฐานลูกค้าต่างจังหวัดมากถึง 60% (อีก 40% เป็นกรุงเทพฯ) โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนราว 80% มีรายได้ประจำไม่สูงมาก เเละอีก 20% เป็นกลุ่มเจ้าของกิจการ


เอาใจ Gen Y-Z บุกตลาดนักช้อปออนไลน์

เราต้องการจะเป็นผู้ช่วยสร้างเครดิต เริ่มปูทางเครดิตการเงินให้กับคนไทย”

เกือบ 70% ของลูกค้ากรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า  40  ปี โดยฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี มีมากถึง  31% ไลฟ์สไตล์จึงปรับเปลี่ยนเร็ว ตามติดโซเชียลมีเดีย เเละอัพเดตเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ดังนั้น การจับตลาดของเเบรนด์ จึงเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ First Jobber ที่ต้องการมีบัตรเครดิตใบเเรกสื่อสารผ่านธีม ‘จุดเริ่มต้น คนมีเครดิต’ มีการดีไซน์รูปเเบบสาขาใหม่ ให้ทันสมัย หรูหราเเละมินิมอล ใช้พรีเซนเตอร์เเละอินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น

สำหรับยอดใช้จ่ายบนฟีเจอร์บัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ในไตรมาสเเรก มีการเติบโตโดยรวม 5% อยู่ที่ 13,100 ล้านบาท  นับว่าเติบโตสวนทางตลาด โดยหมวดที่มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดที่สุดก็คือ หมวดออนไลน์ช้อปปิ้ง (23%) ตามมาด้วยการเติมน้ำมันเเละทานอาหาร ค่ารักษาพยาบาลเเละประกัน

 หมวดช้อปออนไลน์เเละประกัน จะเป็น 2 หมวดหลักที่เราจะมุ่งเติบโตให้ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง”

สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อผู้คนในปัจจุบันมีการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายออนไลน์เติบโตสูง รวมทั้งยังมีความสนใจในเรื่องสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น


เฟิร์สช้อยส์ : เจ้าตลาดสินเชื่อผ่อนชำระ

ฟีเจอร์ที่ลูกค้า ‘ชื่นชอบมากที่สุด’ ก็คือ  การผ่อนชำระ ซึ่งเฟิร์สช้อยส์มีแผนผ่อนชำระให้เลือกหลากหลาย  ทั้งการผ่อน 0% ยาวๆ ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงนี้ได้ดี โดยทางกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์มี ‘ข้อได้เปรียบ’ คือสามารถผ่อนได้สูงสุดถึง 24  เดือน สำหรับสินค้าที่ร่วมรายการ  หรือการผ่อนชำระแบบมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งก็ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และช่วยให้ลูกค้าบริหารการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น

 ยอดการผ่อนชำระสินค้าที่ซื้อผ่านออนไลน์ช้อปปิ้งแพลตฟอร์ม ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ มีการเติบโตถึง 80% นับว่าสูงมาก มีทั้งการผ่อนผ่านอี-มาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee, Lazada เเละพาร์ทเนอร์ที่เข้าไปจับมือกัน มีการอัดโปรโมชันค่อนข้าง ‘จัดเต็ม’ กับกลุ่มอีคอมเมิร์ซ

อีกสิ่งน่าสนใจในช่วงนี้คือการ ‘ผ่อนทองคำ’ ผ่อนแก็ดเจตไอทีใหม่ ๆ ผ่อนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ Work From Home ทำงานที่บ้านทั้งเก้าอี้ โต๊ะคอมฯ ของตกเเต่งบ้าน เเละการผ่อนประกัน

“สถานการณ์โควิดยืดเยื้อ เเน่นอนว่ามีลูกค้ากลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบ เเต่เรายังมีฐานลูกค้าอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย เเละหันมาใช้ไลฟ์สไตล์ออนไลน์มากขึ้น เริ่มวางเเผนทางการเงินเเละประกันสุขภาพมากขึ้น”

นอกจากนี้ จุดเด่นโปรโมชัน ‘Cash Back’ ของเฟิร์สช้อยส์ ที่ให้เครดิตเงินคืนสูงสุด 3% เป็นอีกสิ่งจูงใจให้คนหันมาเลือกใช้เป็น ‘บัตรหลัก’ เน้นให้คืนง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน หรือจะนำคะเเนนไปแลกรับเครดิตเงินคืนที่เป็นส่วนลดได้เพิ่มเติมอีกด้วย

ย้อนกลับไป ในช่วงเเรก ๆ ของการระบาดของโควิด-19 กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ เคยมีการเข้มงวดการ ‘ออกบัตรใหม่’ เเต่ในช่วงหลัง ๆ มีการผ่อนคลายมากขึ้น ลดเพดานรายได้ขั้นต่ำลง โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นบาท เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

“รายได้ของมนุษย์เงินเดือนปรับมาอยู่ช่วงหมื่นต้น ๆ เยอะขึ้น ลดลงจากเเต่ก่อน ที่เฉลี่ยราว 2  หมื่นบาท”

กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ เคยตั้งเป้าบัตรใหม่ปีนี้ไว้ที่ 2 เเสนใบ เเม้จะเจอสถานการณ์โรคระบาดที่รุนเเรงกว่าที่คาดเเต่จะพยายามให้ไม่ลดลงจากเป้าเดิมมากนัก อาจจะอยู่ที่หลัก 1.7-1.8 เเสนใบ เเละมีเป้าหมายยอดใช้จ่ายโดยรวมที่ 7.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 45,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 30,000 ล้านบาท


ตลาด ‘สินเชื่อส่วนบุคคล’ ในอาเซียน สดใหม่เเละมีโอกาสสูง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กำลังเดินหน้าร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในเครือ MUFG ซึ่งเป็นบริษัทเเม่ ขยายการลงทุนในอาเซียนอย่างเต็มรูปเเบบ เพื่อขึ้นแท่นสถาบันการเงินชั้นนำในภูมิภาค ผ่านการร่วมทุนในประเทศลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์ โดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอในตลาดใหม่นี้ ก็คือ สินเชื่อส่วนบุคคลของเฟิร์สช้อยส์

“ธุรกิจผ่อนชำระเเละสินเชื่อส่วนบุคคลในตลาดสปป.ลาว ยังไม่มีคู่เเข่งเยอะ ถือว่ายังมีโอกาสอีกมาก การเติบโตสูง เเต่ความท้าทายก็มีอย่างค่าเงินกีบที่ค่อนข้างผันผวน อีกทั้งคนลาวบางส่วนยังใช้ทั้ง 3 สกุลเงิน คือ กีบ, บาท และดอลลาร์ จึงต้องมีการจัดการเรื่องระบบอัตราการเเลกเปลี่ยนเงินระหว่าง 3 สกุลให้ดี”

ด้านการขยายไปยังกัมพูชานั้น ได้เข้าซื้อหุ้นใน “หัตถา กักสิกรอร์ ลิมิเต็ด” (Hattha Kaksekar Limited : HKL) ที่เป็นธุรกิจไมโครไฟเเนนซ์เเบบมีหลักประกัน ซึ่งปัจจุบัน มีการยกระดับขึ้นมาเป็นธนาคารพาณิชย์เเล้ว จึงมีการเเชร์ฐานข้อมูลลูกค้าเเละขยายบริการได้มากขึ้น

“เศรษฐกิจกัมพูชายังมีโอกาสเติบโตได้มาก การส่งออกดี เราจึงประเดิมเจาะตลาดผ่อนชำระด้วยเเบรนด์เฟิร์สช้อยส์เลย ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงบุกเบิก ในอนาคตจะมีการพัฒนาไปในรูปแบบ 2-in-1 ทั้งผ่อนชำระเเละกดเงินสดได้เเบบเดียวกันเหมือนประเทศไทย”

ส่วนการเจาะตลาดฟิลิปปินส์ มีการเข้าไปร่วมทุน (Joint Venture) โดยถือหุ้น 50% ในเอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ (SBF) บริษัทไฟแนนซ์ในฟิลิปปินส์ ซึ่ง SBF เป็นบริษัทลูกของ Security Bank Corporation ที่ทาง MUFG ถือหุ้นอยู่ เกิดเป็น ‘SB Finance’ ขึ้นมา โดยหลัก ๆ ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล

สำหรับโอกาสธุรกิจในฟิลิปปินส์นั้นมีสูงมาก จากการมีกลุ่มผู้บริโภควัยทำงานเเละมีการใช้โซเชียลมีเดีย คุ้นเคยกับการ ช้อปปิ้งออนไลน์ เฟิร์สช้อยส์จึงเล็งจะขยายธุรกิจในรูปแบบ 2-in-1 เช่นเดียวกัน เเต่ความพิเศษอยู่ที่จะเป็น ‘ดิจิทัล’


เปิดใจ รับฟัง เเละเรียนรู้อยู่เสมอ

ทุกวิกฤติคือโอกาสในการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือการไม่ทอดทิ้งลูกค้า ช่วยเหลือลูกค้า พนักงาน เเละพาร์ทเนอร์ให้อยู่รอดผ่านพ้นไปด้วยกัน สิ่งนั้นจะกลายมาเป็น Long-Term Sustainable Growth

“ไม่ว่าจะยุคไหนของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ก็จะเน้นเรื่องหลักธรรมาภิบาลเเละความโปร่งใส รวมไปถึงความสม่ำเสมอในการเติบโต ไม่ยอมเเพ้เเม้จะเกิดเหตุการณ์วิกฤติใด ๆ ขึ้นมา มีกลยุทธ์ใหม่ฝ่าฟันไปได้เสมอ”

ส่วนวันว่างของ ‘พัทธ์หทัย กุลจันทร์’ หรือคุณเเจน เธอชื่นชอบการทำอาหาร เเละ ชอบดู ’รายการทำอาหาร’ เป็นพิเศษ มีบางมุมคิดที่สามารถนำมาปรับใช้กับได้ทำงานได้ อย่างเช่น คนเราจะเก่งคนเดียวไม่รอด ต้องบริหารทีมให้เป็น กำหนดทิศทางให้ชัดเจน ซึ่งนอกจากจะดูเพื่อความสนุกเเล้ว ก็ยังตอบโจทย์ปรัชญาในการทำงานด้วย

โดยหลักคิดในการทำงานของเธอ คือ ให้ความสำคัญกับทีมงาน จะเก่งคนเดียวไม่ได้ เปิดให้พนักงานทุกคนมีโอกาสได้เเชร์ไอเดียเยอะ ๆ ให้โอกาสในการนำมาประยุกต์ใช้ เปิดใจเเละรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น คุยกันได้สบายๆ

สำหรับเทคนิคการบริหารคนที่มาจากหลากหลายเจเนอเรชันนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือ การเอาใส่ใจ เเละการ ‘Coaching’ ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา ไม่เเบ่งว่าเป็นใคร ตำเเหน่งอะไร อายุเยอะหรืออายุน้อย ต้องมีความเชื่อมั่นว่าทุกคนมี สกิลในการเรียนรู้สิ่งใหม่

พร้อมฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานว่า…

“จงเรียนรู้เเละทำให้ดีที่สุด พยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ พัฒนาทักษะทั้ง Soft Skill เเละ Hard Skill บางอย่างที่เราเคยล้มเหลวก็สู้ต่อไป นำมาปรับปรุงในอนาคต วันหนึ่งเราอาจจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้นำที่ดีได้ในอนาคต”

 

]]>
1347805
KTC กับความท้าทายปี 2564 ปลุกธุรกิจ “สินเชื่อมีหลักประกัน” สร้างพลังคลื่นใต้น้ำ https://positioningmag.com/1328671 Wed, 21 Apr 2021 09:00:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328671 เคทีซีเร่งรุกขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อ หวังสร้างโอกาสสู่ผู้นำธุรกิจสินเชื่อเบ็ดเสร็จครบวงจร เตรียมศึกษาโมเดลธุรกิจใหม่สินเชื่อมีหลักประกันหลังการเข้าถือหุ้นใหญ่เคทีบี ลีสซิ่ง เน้นกำไรโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และสานต่อการพัฒนาคนกระชับองค์ความรู้แน่น ให้คนกับเทคโนโลยีทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จเดียวกัน

ระเฑียร ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“วิกฤติที่รุนแรงของโควิด-19 และมาตรการต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง เป็นตัวกระตุ้นให้แผนยุทธศาสตร์ของเคทีซีในปี 2564 นี้ ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงองค์กรแบบก้าวกระโดด สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ให้เคทีซีเติบโตได้มากขึ้นและเร็วขึ้น คู่ขนานไปกับการทำธุรกิจเดิม เน้นทำกำไรแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างคลื่นใต้น้ำจนเป็นพลังคลื่นลูกใหญ่รับเกมธุรกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Infinite Game)

โดยจะมุ่งขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันที่หลากหลาย เพื่อให้เคทีซีเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาดที่ผู้บริโภคมองหา ซึ่งการเข้าถือหุ้นในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด หรือ เคทีบี ลีสซิ่ง ถึง 75.05% จะทำให้เคทีซีสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันได้อย่างครบวงจร และยังได้ใช้ประโยชน์จากสาขาและฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม โดยบริษัทฯ จะเข้าไปศึกษาระบบในเคทีบี ลีสซิ่ง และคาดว่าจะเริ่มออกแบบโมเดลธุรกิจได้หลังจากผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น”

ลุย “เคทีซี พี่เบิ้ม” เต็มสูบ

สำหรับธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ถึงแม้จะเป็นธุรกิจน้องเล็กที่เพิ่งเข้ามาเมื่อปลายปี2563 แต่เราคาดหวังจะมุ่งขยายตลาดเป็นหลักในปี 2564 ด้วยความที่เป็นสินเชื่อมีหลักประกันซึ่งมีความสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนรวดเร็วสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยจะเน้นทำการตลาดผ่านระบบออนไลน์ มีทีมงาน “พี่เบิ้ม Delivery” ติดต่อประสานงานกับลูกค้าเป้าหมายโดยตรง

ktc พี่เบิ้ม

พร้อมแผนขยายพื้นที่ให้บริการไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น เริ่มต้นที่ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบนและภาคใต้ตอนบน อีกทั้งร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจและธนาคารกรุงไทยขยายฐานสมาชิกและออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ตลอดจนร่วมมือกับเคทีบี ลีสซิ่ง เพื่อหาโอกาสต่อยอด และสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถร่วมกัน เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการกลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ที่ดี ด้วยเป้าหมายยอดสินเชื่อในปี 2564 ประมาณ 1,000 ล้านบาท

บัตรเครดิต สินเชื่อ เป้าโต 8%

ในส่วนของธุรกิจเดิมซึ่งเป็นบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล บริษัทฯ จะมุ่งรักษาคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ที่ดีเน้นรักษาฐานสมาชิกปัจจุบัน ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับระบบปฏิบัติการและระบบไอทีที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้สมาชิกเกิดความมั่นใจและได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยทุกครั้งที่ทำรายการธุรกรรม

โดยกลยุทธ์หลักในการทำตลาดธุรกิจบัตรเครดิต จะยังใช้คะแนน KTC FOREVER ขับเคลื่อนกิจกรรมการตลาด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้จ่ายผ่านบัตร อีกทั้งรักษาและขยายความแข็งแรงของเครือข่ายพันธมิตรคู่ค้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร และสนับสนุนการเติบโตของพันธมิตรด้วยผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเคทีซี

เน้นส่งเสริมการตลาดในลักษณะออนไลน์มากขึ้น ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้บัตรของผู้บริโภคปัจจุบัน ที่เปลี่ยนจากใช้เงินสดมาจ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมถึงสร้างคอนเทนต์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายในปี 2564 เติบโต 8% หรือประมาณ 210,000 ล้านบาท

สินเชื่อส่วนบุคคล ใช้งานง่าย

ในขณะที่ธุรกิจสินเชื่อบุคคลจะใช้กลยุทธ์การตลาดสร้างความผูกพันกับฐานสมาชิกเดิม วางตัวเป็นบัตรกดเงินสดใบแรกที่ลูกค้านึกถึงเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน โดยออกแคมเปญแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและส่งเสริมให้สมาชิกมีวินัยการชำระเงิน อีกทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น ด้วยจุดเด่น “รูด โอน กด ผ่อน” ภายในบัตรเดียว กับบริการเบิกเงินสดออนไลน์ผ่านแอปฯ “KTC Mobile” 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์เข้าบัญชีธนาคารได้ถึง 13 ธนาคาร และบริการ

เพิ่มวงเงินฉุกเฉินหรือขอรหัสเบิกถอนเงินสดที่ทำรายการได้เองตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ จะเดินหน้าสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้าอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดสัมมนาให้ความรู้การเงิน และคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบของสื่อที่เข้าใจง่าย รวมทั้งเวิร์กช็อป “สัมมนาพารวย” ที่เน้นการนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้เสริม พร้อมคำแนะนำด้านการคำนวณต้นทุนและวิธีหาช่องทางขายเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต โดยตั้งเป้ารักษายอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลในปี 2564 ให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

คัดกรองเคทีซี พราวมากขึ้น

สำหรับกลยุทธ์การขยายฐานสมาชิกบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” จะให้ความสำคัญกับการคัดกรองผู้สมัครมากขึ้น เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าคุณภาพที่ต้องการสินเชื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและมีวินัยทางการเงิน ลดความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและอัตราหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง

ผ่าน 4 ช่องทางหลักคือ ธนาคารกรุงไทย ผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินเคทีซี (อิสระ) ทั่วประเทศ เคทีซี ทัช ทุกสาขาและเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายทางโทรศัพท์ (Telesales) โดยในปี 2564 ตั้งเป้าหมายจำนวนสมาชิกใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ บัตรเครดิต 235,000 ใบ และสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” 135,000 ราย

ในส่วนของการขยายฐานร้านค้ารับบัตรเคทีซี จะเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งธนาคารกรุงไทยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อเข้าถึงร้านค้าขนาดกลาง ร้านค้าขนาดเล็กและร้านค้าออนไลน์ รองรับการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ และโซเชียล คอมเมิร์ซ รวมถึงเพิ่มช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Link Pay และสแกน QR Code ที่ลูกค้าสามารถทำรายการธุรกรรมได้ง่ายด้วยตนเอง รวดเร็วและสะดวกทุกที่ทุกเวลา

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในองค์กรต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคนเคทีซีให้เตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงและการขยายธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่งเสริมให้คนทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวไปกับองค์กรทุกสถานการณ์ ทั้งเรื่องของดิจิทัล การรีสกิลและอัพสกิลในเนื้องาน โดยพนักงานสามารถเลือกเรียนรู้ได้เองตามความสมัครใจผ่านอีเลิร์นนิ่งและการเข้าคอร์สเรียน

“อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทฯ ยังต้องประเมินผลกระทบต่อเนื่องเป็นระยะ โดยคาดว่าสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดยังมีอยู่และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนจัดสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น และระดมเงินกู้ยืมระยะยาวไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ในช่วงอายุที่สั้นลงจากเดิม เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2564 และการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อบริษัทฯ โดยจะเน้นการบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นสำคัญ และบริหารพอร์ตลูกหนี้โดยรวมให้มีคุณภาพที่ดี โดยคาดว่าในปี 2564 บริษัทฯ จะมีอัตราการเติบโตของกำไรในระดับที่ยอมรับได้และดีกว่าปีที่ผ่านมา”

ผลประกอบการเคทีซี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563

  • กำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท
  • เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเท่ากับ 90,149 ล้านบาท
  • NPL ต่อเงินให้สินเชื่อรวมเท่ากับ 1.8%
  • ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี แบ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต 2,575,684 บัตร สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 60,235 ล้านบาท
  • NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิต 1.3%
  • ธุรกิจสินเชื่อบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 814,329
  • บัญชียอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 29,915 ล้านบาท
  • NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเท่ากับ 2.7%
]]>
1328671
‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ ยกเครื่องดิจิทัล หาลูกค้าบัตรเครดิตทางออนไลน์ คุม ‘หนี้เสีย’ พุ่ง https://positioningmag.com/1319604 Tue, 16 Feb 2021 11:06:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319604 วิกฤต COVID-19 ส่งผลต่อยอดการใช้จ่าย กระทบธุรกิจบัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลกรุงศรี คอนซูมเมอร์ประกาศเเผนกลยุทธ์ปี 2564 ยกเครื่องสู่ดิจิทัลเต็มสูบ หาลูกค้าทางออนไลน์ คุมหนี้เสียเข้มงวดออกบัตร จับมือพันธมิตรหารายได้ใหม่ ตั้งเป้าปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเริ่มฟื้นตัวที่ 305,000 ล้านบาท

โดยในปี 2563 ที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตกรุงศรี บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมทั้งสิ้น 280,000 ล้านบาท (-11% เทียบกับปี 2562) ยอดสินเชื่อใหม่ 79,000 ล้านบาท (-21%) ยอดสินเชื่อคงค้าง 144,000 ล้านบาท (-4%)

ส่วนจำนวนบัญชีลูกค้าใหม่อยู่ที่ 488,000 ราย ลดลงถึง -51% จากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 9 เเสนบัญชี โดยมีปัจจัยหลักๆ มาจากพิษเศรษฐกิจที่ตกต่ำ พนักงานประจำซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ มีรายได้ลดลง หลายคนต้องอยู่ในภาวะตกงาน

โดยหมวดการใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประกันภัย , ไฮเปอร์มาร์เก็ตเเละซูเปอร์มาเก็ต ,อุปกรณ์แต่งบ้านเครื่องใช้ในครัวเรือน , น้ำมัน , ช้อปปิ้งออนไลน์กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ , ห้างสรรพสินค้า , โรงพยาบาล , สินค้าเเฟชั่น , อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เเละเครื่องใช้ไฟฟ้า , อาหารเเละเครื่องดื่ม

ด้าน 5 หมวดใช้จ่ายผ่านบัตรที่เติบโตมากที่สุดในปี 2563 ได้เเก่ ช้อปปิ้งออนไลน์ , โทรศัพท์มือถือ WiFi เเละอินเทอร์เน็ต , ร้านสะดวกซื้อ , ร้านขายยา , ไฮเปอร์มาร์เก็ตเเละซูเปอร์มาเก็ต

ยอดใช้จ่ายในหมวดช้อปปิ้งออนไลน์ ติดอันดับ 5 ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุด มีอัตราการเติบโตถึง 50% แซงหมวดห้างสรรพสินค้า ทำให้เห็นถึงเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

กาง 4 กลยุทธ์ ยกเครื่องสู่ดิจิทัล 

ณญาณี  เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยถึงแผนการกำเนินธุรกิจ ‘2021 Business Direction’ ว่า จากเเนวโน้มสภาวะตลาดโดยรวม ยังต้องเผชิญกับผลกระทบโรคระบาด ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ ภาวะการว่างงาน และทำให้กำลังซื้อลดลง รวมถึงอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น

ตัวเลข NPL ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ณ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ อยู่ที่ 3.4% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม

มองว่าจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่องระยะที่ 1-2 ในปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2564 จะทำให้ NPL ไม่ได้เร่งเพิ่มขึ้นรุนแรงมากนัก

คาดว่าจะเห็นอัตรา NPL ของบัตรเครดิตปรับตัวขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนมกราคมมีนาคมของปีนี้ เเละ NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคล จะขยับไปอยู่ที่ระดับ 4%

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์

ผู้บริหารกรุงศรี คอนซูมเมอร์ บอกว่า ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ยังมีโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจจากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของคนไทย

โดยมองว่าจะเป็นตัวเร่งให้สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้แบบก้าวกระโดด จึงเป็นที่มาของการปรับเเผนธุรกิจครั้งใหญ่ ซึ่งจะเน้นไปที่การบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างรัดกุม พร้อมดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยได้วางกลยุทธ์หลักๆ 4 ประการ ดังนี้

  • พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การใช้ระบบดิจิทัลและการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการทำงานที่มีการทำซ้ำ (Robotic Process Automation-RPA) ซึ่งช่วยลดชั่วโมงการทำงานได้ 2,833 ชั่วโมงต่อเดือน พร้อมพัฒนา ‘AI มะนาว’ เเละบริการอื่นๆ บนแอปพลิเคชั่น UCHOOSE ที่ปัจจุบันมียอดใช้งานราว 6 ล้านคน
  • นำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ (Data Intelligence Capabilities) เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น
  • ร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรีฯ และพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสการขยายฐานลูกค้า และแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่
  • พัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อก้าวให้ทันโลกธุรกิจยุคใหม่ มีการเทรนนิ่งผ่านระบบการเรียนออนไลน์ ส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือดิจิทัล

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจการเติบโตในปี 2564 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร อยู่ที่ 305,000 ล้านบาท หรือเติบโต 9% ยอดสินเชื่อใหม่ 88,000 ล้านบาท เติบโต 11% ยอดสินเชื่อคงค้าง 148,000 ล้านบาท เติบโต 3% และจำนวนลูกค้าใหม่ 583,000 ราย เติบโต 19%

“จะเน้นไปในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้สินเชื่อ เเละจะมีการหาลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น” 

โดยเป้าจำนวนลูกค้าใหม่ของปี 2564 ที่ตั้งไว้ราว 5 เเสนรายนั้น ยังถือว่า ‘ต่ำกว่า’ ระดับก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤต COVID-19 ที่จะอยู่ประมาณ 900,000 ราย (ปีที่เเล้วอยู่ที่ 4.8 เเสนราย) ซึ่งหากมองดูจากสถานการณ์ เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจเเละอัตราหนี้ครัวเรือนที่สูง ‘ไม่เอื้อต่อการเพิ่มบัตรใหม่มากนัก’

ส่วนการเเข่งขันในตลาดบัตรเครดิตปีนี้ ผู้บริหารกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มองว่าจะมีการเเข่งขันที่สูง มีการทุ่มออกโปรโมชั่นจูงใจต่างๆ เเต่ด้วยกำลังซื้อที่ลดลงตามสถานการณ์ ก็ต้องยอมรับว่าปีนี้ยังเป็นปีที่ท้าทาย บริษัทจึงจะเน้นไปที่การช่วยเหลือลูกค้าเก่าให้อยู่ได้ ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ และไม่สนับสนุนให้ลูกค้าใช้จ่ายเกินความจำเป็น

 

]]>
1319604
“กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ปรับลดดอกเบี้ย ขยายเวลาผ่อนชำระสูงสุด 99 เดือน ช่วยเหลือลูกค้า https://positioningmag.com/1313371 Fri, 08 Jan 2021 07:50:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313371 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เตรียมปรับเพิ่มมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน, ขยายเวลาลงทะเบียนขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ และขยายเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 99 เดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเพิ่มมาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่มียอดค้างชำระ หวังลดภาระและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า

“จากสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รู้สึกห่วงใยและต้องการจะช่วยลดภาระของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ จึงได้ปรับเพิ่มมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้า”

มาตรการที่ 1 : มาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้าทุกราย – ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน

  • ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตามรอบบัญชี ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
  • ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชี ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง

มาตรการที่ 2 : มาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ – ปรับลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ และขยายเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 99 เดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนง และจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี 

  • ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 99 เดือน

ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถลงทะเบียนรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าว ผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2564 นี้

มาตรการที่ 3 : มาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่มียอดค้างชำระ – ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือน ด้วยการขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระนานสูงสุด 99 เดือน (ปรับโครงสร้างหนี้) พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต และผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล

โดยลูกค้าสามารถแจ้งความจำนง หรือติดต่อมายังบริษัท และจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี

]]>
1313371
พิษ COVID-19 คนใช้จ่ายน้อย “กรุงศรีคอนซูมเมอร์” รับธุรกิจบัตรเครดิตปีนี้หดตัว 35-50% https://positioningmag.com/1273490 Thu, 16 Apr 2020 06:07:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1273490 ผลกระทบ COVID-19 ทุบยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตวูบ 9.4 หมื่นล้าน คาดทั้งปีติดลบ 35-50% ธุรกิจการบิน ท่องเที่ยวเเละโรงเเรม ระส่ำหนักยอดหาย 100% มองไตรมาส 4 ยังฟื้นยาก “กรุงศรีคอนซูมเมอร์” คลอด 3 มาตรการช่วยลูกค้า พักหนี้-ลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 12% สกัด NPL พุ่ง

ท่ามกลางการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทยที่เริ่่มรุนเเรงขึ้น จนทางการต้องออกมาตรการ “เคอร์ฟิว” จำกัดเวลาออกจากเคหะสถาน พร้อมสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ถ้วนหน้า กระทบการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน สะท้อนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ลดลงอย่างหนัก

เศรษฐกิจซบยาว COVID-19 ทำคนใช้จ่ายน้อย 

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของบัตรเครดิตกรุงศรี บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซาลงไปมาก
ผู้คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในเเง่ของรายได้

จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า ไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเคตดิตของกรุงศรีคอนซูมเมอร์ลดลงราว 20% คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ 94,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง 17% คิดเป็นราว 24,000 ล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคลลดลง 30%

“หากดูสถานการณ์ในช่วงนี้ คาดว่าในไตรมาสที่ 2/2563 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะลดลงถึง 50% เมื่อไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลลดลงไป 30% ซึ่งใน 10 วันแรกของเดือนเม.ย.ยอดลดลงกว่า 50% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เเม้ว่าในไตรมาสที่ 3/2563 สถานการณ์การเเพร่ระบาดดีขึ้นก็คิดว่ายังจะลดลงราว 30% ขณะที่ปลายปีในไตรมาส 4/2563 เเม้ธุรกิจทุกอย่างจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการทั้งหมดเเต่คาดว่าคงกลับมาไม่ได้เท่าปีที่ผ่านมา”

ผู้บริหารกรุงศรีคอนซูมเมอร์ มองว่า โดยรวมยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรตลอดทั้งปี 2563 จะลดลง 35-40% เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือในกรณีเลวร้ายสุดจะปรับลดลงถึง 50% จากที่เคยคาดการณ์ว่าการเติบโตของบัตรเครดิตจะเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ทุกปี

“ใน 10 วันแรกของเดือน เม.ย. ยอดใบสมัครบัตรเครดิตใหม่ของเราลดลงกว่า 90% บรรยากาศของผู้บริโภคตอนนี้ลดความต้องการในการสมัครบัตรใหม่ลง อาจจะไม่เห็นการเติบโตของลูกค้าบัตรเครดิตใหม่ในปี 2564 คือยังมีอยู่ แต่ไม่ได้โตขึ้นเหมือนปีก่อนๆ ” 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ในปี 2562 บริษัทได้อนุมัติบัญชีใหม่ไป 9.78 แสนบัญชี (จากจำนวนใบสมัครทั้งหมด 2.2 ล้านใบ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24% โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวม 3.3
แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10% มียอดสินเชื่อใหม่ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%

อ่านเพิ่มเติม : ส่องอินไซต์ลูกค้า “บัตรกรุงศรี” กลยุทธ์นำ Data มา “ทำมาหากิน” ใช้ AI ทำการตลาดเเบบใหม่

เเต่ก่อนจะเกิดวิกฤต COVID-19 บริษัทเคยตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2020 ว่าจะเพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 3.55 แสนล้านบาท เเละตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% พร้อมตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างไว้ที่ 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%

“สภาพเศรษฐกิจต่อไปจากนี้จะไม่เหมือนเดิม คาดว่าตลาดจะหดตัวแรง ประเมินจากการที่จะมีคนตกงานจำนวนมากในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งปกติแล้วกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นลูกค้าของบริษัท ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีงานทำก็จะไม่ผ่านการอนุมัติบัตรเครดิต ขณะที่กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ตามปกติเเล้วเมื่อเข้าสู่ตลาดเเรงงานพอมีเงินเดือนก็ต้องการสมัครบัตรเครดิต ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะชะลอตัวไป รวมถึงกลุ่มลูกค้าเดิมที่ต้องการสมัครบัตรเพิ่มเติมด้วย” 

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกรุงศรีฯ ลดลง จากการระบาดของ COVID-19 ช่วงไตรมาส 1 ได้เเก่

1 ) กลุ่มสายกายบินเเละการท่องเที่ยว หายไป 100%
2 ) กลุ่มโรงแรม หายไป 80%
3) กลุ่มที่เกี่ยวกับกีฬาและฟิตเนส หายไป 80%
4) ธุรกิจโรงหนัง หายไป 100%
5) กลุ่มห้างสรรพสินค้า หายไป 60%
6) ธุรกิจร้านอาหาร หายไป 70%

ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตร “เติบโต” ขึ้นคือ กลุ่มช้อปปิ้งออนไลน์ โต 40% กลุ่มสื่อสารเเละอินเทอร์เน็ต โต 36% ร้านขายยา โต 30% ซูเปอร์มาร์เก็ต โต 20% เเละกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล โต 10%

กำเงินสด-ลดค่าใช้จ่าย-ตัดงบการตลาด 

เมื่อถามถึงกลยุทธ์การบริการธุรกิจให้ฝ่าฟันวิกฤต COVID-19 ไปให้ได้ ฐากรบอกว่า “บริษัทต้องกำเงินสดไว้มากๆ และลดค่าใช้จ่ายลง ช่วงนี้ทำเเค่นี้ก่อนเลย ในช่วงที่ไม่มีรายได้เข้ามามากนักแต่รายจ่ายยังมีอยู่
เราไม่ได้ทำการโปรโมทมากนักเพราะต้องตัดงบการตลาด ก็เลือกทำตลาดออนไลน์ให้ได้ผลเฉพาะจุด อย่างการทำโปรโมตในฟู้ดเดลิเวอรี่ ส่วนการจัดการก็จะมุ่งเน้นการดูเเลคุณภาพหนี้เป็นหลัก”

ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญคือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลจะเพิ่มสูงมาก ซึ่งสิ้นปี 2562 NPL ของบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.05% และ NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.4% โดยล่าสุดตอนนี้ NPL บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.6-1.7% สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นมาที่ 3.4%

“หากไม่ออกมาตรการมาช่วยเหลือ NPL บัตรเครดิตจะสูงกว่า 3% และสินเชื่อบุคคลสูงกว่า 6%”

เตรียมเงิน 5 หมื่นล้าน ออก 3 มาตรการช่วยลูกหนี้ 

เพื่อเป็นทางเลือกในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้า บริษัทจึงเปิดตัวโครงการ “เราจะก้าวผ่านไปด้วยกัน กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์” โดยออก 3 มาตรการพิเศษ ดังนี้

มาตรการที่ 1 : ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน (ลูกค้าได้สิทธิ์ทุกคนโดยอัตโนมัติ)
-ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
-ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง

มาตรการที่ 2 : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน 
ให้กับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทุกรายโดยมิต้องแจ้งความจำนง เป็นระยะเวลา 2 รอบบัญชี สำหรับลูกค้าทุกรายที่มีวันครบกำหนดชำระตั้งแต่ 14 เมษายน 2563 ถึง 12 มิถุนายน 2563 โดยดอกเบี้ยยังคงคำนวณตามอัตราปกติแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้ สถานะบัญชีของลูกค้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลง

มาตรการที่ 3 : ปรับลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เริ่มต้นเพียง 12% (ลูกค้าต้องลงทะเบียน) สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนง และจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี

-ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 12% และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายการเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 48 เดือน

-ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เหลือ 22%
และลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือเพียง 3%

มาตรการที่ 3 นี้ เฉพาะลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของทางราชการ โดยลูกค้าต้องมีบัญชีสินเชื่อกับบริษัทก่อนเดือนมีนาคม 2563
ทั้งนี้ ลูกค้าจะถูกปรับลดวงเงินสินเชื่อฯ ให้คงเหลือเท่ากับยอดสินเชื่อคงค้างที่เข้าร่วมโครงการ

“สำหรับมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษนี้ เชื่อว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการ 800,000-1.2 ล้านราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท”

ลูกค้าสามารถลงทะเบียนรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าว ผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 – 30 มิถุนายน 2563 นี้ โดยบริษัทจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

“เพื่อรองรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ออกมาใหม่ในช่วง 2 เดือนของการพักหนี้ บริษัทได้สำรองเงินสดไว้จ่ายให้กับร้านค้าและคู่ค้า 50,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยหายไป 30%” ฐากรระบุ

อ่านเพิ่มเติม : รวมมิตร 14 ธนาคาร “พักหนี้” ทั้งต้นทั้งดอก 6 เดือน ช่วย SMEs-รายย่อย ฝ่ามรสุม COVID-19

]]>
1273490
กรุงศรีเอาบ้าง! จับมือลาล่ามูฟ ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์ ให้คนขับเครดิตดี https://positioningmag.com/1199090 Thu, 22 Nov 2018 12:00:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1199090 ช่วง 2 ปีมานี้การแข่งขันของธนาคารเปลี่ยนไป ต้องปรับกลยุทธ์ให้เป็นธนาคารแห่งอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพาร์ตเนอร์ชิพ แบงกิ้งซึ่งหลังจากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาวางนโยบายสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หนึ่งในกลยุทธ์ในการร่วมมือกับสตาร์ทอัพหรือฟินเทค ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ล่าสุด กรุงศรีขอลุยขยายธุรกิจไปสู่การให้สินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์ผ่านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ที่เป็นธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และกรุงศรี ออโต้ ซึ่งเป็นธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ครบวงจร ตามมาติดๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ 1 วัน SCB จับมือลาซาด้าเปิดตัวสินเชื่อออนไลน์ สำหรับกลุ่มร้านค้า SME

ขณะเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทย ก็จับมือกับ Grab เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการเงินให้กับ Grab และปล่อยสินเชื่อให้กับคนขับรถของ Grab 

โดยกรุงศรีเลือกจับมือกับลาล่ามูฟผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นขนส่งสินค้าแบบ On Demand จากประเทศที่ฮ่องกง ปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่ใน 10 เมืองหลักใน 8 ประเทศเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอีก 96 เมืองในประเทศจีน ส่วนเมืองไทยบุกเข้ามาได้ราว 4 ปีแล้ว โดยให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก

คีย์หลักที่ต้องมาร่วมมือกัน เพราะลาล่ามูฟมีจำนวนผู้ขับอยู่ในระบบกว่า 80,000 คน เฉลี่ยแล้วมีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการันดีได้ว่า จะได้ฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ และก่อให้เกิดความเสี่ยงของหนี้เสียได้น้อยที่สุด อีกทั้งยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจของ กรุงศรี ออโต้ เพราะยังไงแล้วคนขับก็ต้องการซื้อรถมอเตอร์ไซค์มาใช้สำหรับทำงาน

เบื้องต้นจะมีผู้ขับประมาณ 5,000 – 6,000 รายที่จะเข้าข่ายในการให้ให้สินเชื่อ คัดเลือกจากกลุ่มที่มีผลงานดีเยี่ยมก่อน (กลุ่ม Super Star และ Star) รับงานอย่างน้อยเดือนละ 400 – 500 งาน โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อผ่อนชำระ ส่วนกรุงศรี ออโต้ให้สินเชื่อกรุงศรี มอเตอร์ไซค์ หรือกรุงศรี บิ๊กไบค์

กรุงศรีจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยเชื่อมต่อข้อมูลจากแอปพลิเคชั่นของลาล่ามูฟ เช่น ข้อมูลการรับงานของผู้ขับขี่ จำนวนรายได้ที่ผู้ขับขี่ได้รับจริงในแต่ละเดือน เป็นต้น ซึ่งการได้ข้อมูลเหล่านี้มาประกอบ กรุงศรีให้ความเห็นว่า จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ลดความเสี่ยง และทำให้ยอดการอนุมัติ (Approve) สูงขึ้น

เพราะปรกติแล้วกลุ่มคนที่ทำงานอิสระ มักจะไม่ค่อยกล้าขอสินเชื่อเนื่องจากไม่มีหลักฐานทางการเงินมาประกอบเหมือนกับกลุ่มที่มีเงินเดือนเข้าประจำ ยอดอนุมัติที่ผ่านมาจึงน้อยตามไปด้วย อีกทั้งนี่ยังทำให้ต้นทุนลดลงไป ไม่ต้องส่งพนักงานภาคสนามออกไปตรวจสอบ เมื่อต้นทุนลดต่อไปดอกเบี้ยก็มีโอกาสลดตามไปด้วย

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ บอกว่า

จริงๆ แล้ว คนกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการเงินที่มาก อาจจะอยู่ในหลัก 3,000 – 5,000 บาท ซึ่งแต่ก่อนธนาคารจะไม่กล้าปล่อย เพราะมีต้นทุนทางการเงินสูงจึงต้องมียอดหลักหมื่นขึ้นไป ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้กรุงศรีเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ ก่อนที่จะนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์ในอนาคต

ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงเฟสหนึ่ง เป็นสินเชื่อออนไลน์ที่จะเริ่มปล่อยในเดือนธันวาคมนี้ โดยกรุงศรีเตรียมวงเงินคร่าวๆ ประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่ายอดสินเชื่อจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 – 15,000 บาทต่อคน คิดดอกเบี้ยประมาณ 28% ต่อปี ส่วนสินเชื่อมรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กดอกเบี้ย 1.59% ต่อเดือน ผ่อนสูงสุด 24 เดือน และรถบิ๊กไบค์ดอกเบี้ย 6% ต่อปี ผ่อนได้สูงสุด 48 เดือน

ส่วนเฟส 2 จะขยายไปยังการลงทุนหรือประกัน และให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินด้วย ส่วนกับลาล่ามูฟนั้น ได้วางแผนที่จะเชื่อมต่อหลังบ้านกัน ต่อไปหากผู้ขับขอสินเชื่อเมื่อถึงเวลาจ่ายก็จะหักตรงเลย ขณะเดียวกันกรุงศรีก็ขยายพาร์ตเนอร์ไปด้วย ตอนนี้คุยทั้งหมด 4 ราย คาดว่าจะได้เห็นช่วงต้นปีหน้า.

]]>
1199090