หลังจากที่เจ้าตลาด บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) เจ้าของ M-150 ที่ปรับราคาเป็น 12 บาท ทำให้คู่แข่งอย่าง คาราบาวแดง โดย บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CBG) ที่ตรึงราคาไว้ที่ 10 บาท ค่อย ๆ กินส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ในกลุ่ม แมส เน้นไปที่การแข่งขัน ราคา โดยผู้บริโภคเลือกที่ราคามากกว่าแบรนด์
“ราคา 10 บาทมันอยู่มานานมากเป็นสิบ ๆ ปี ทำให้คนไทยก็คุ้นกับการจ่ายเงิน 10 บาท ไม่ต้องทอน ร้านค้าเองก็คุ้นเคย ดังนั้น ผมว่ามันเป็นความคุ้นเคย ความคุ้นชินของลูกค้าที่จะจ่ายเท่านี้แหละ ถ้าเกินกว่านี้ก็คงเปลี่ยนแบรนด์” วรวุฒิ พงศ์ชินภัค ประธานผู้บริหารสายงานขายและการตลาด ประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าว
ในกลุ่มแมสที่แข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก ต่างจากกลุ่ม พรีเมียม ที่ไม่ได้แข่งขันเรื่องราคา แต่แข่งขันกันที่ ประสบการณ์ โดยผู้บริโภคมองว่า แบรนด์ไหนที่สร้างประสบการณ์ที่ดีก็จะซื้อ และแม้ตลาดพรีเมียมจะไม่ใหญ่เท่าตลาดแมส แต่ยังมีช่องว่างให้เติบโต โดยในปีที่ผ่านมา มีการเติบโตกว่า 10% มีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยมีผู้เล่นประมาณ 7-8 แบรนด์
ปัจจุบัน แบรนด์ เรด บูล (Red Bull) มีส่วนแบ่งตลาด 60% ในกลุ่มพรีเมียม จากสินค้า 2 ประเภท ได้แก่
โดยปีที่ผ่านมา Red Bull Extra มีการเติบโต +40% ส่วน Red Bull Soda เติบโต +30% และสำหรับเป้าหมายปีนี้ TCP วางไว้ที่ 2 เท่า ผ่านกลยุทธ์ Recharge & Refresh เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม ซึ่งก็คือกลุ่ม 18-35 ปี พร้อม ๆ กับการสร้างฐานลูกค้าใหม่ เริ่มจากดึง แบมแบม กันต์พิมุกต์ ภูวกุล มาเป็น แบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกคนแรก เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z พร้อมกันนี้ ได้เปิดตัวรสชาติใหม่ Red Bull Soda Summer Berry น้ำตาล 0% ซึ่งจะยิ่งตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ใสใจในเรื่องสุขภาพ
“ที่เราเลือกแบมแบม เพราะมีฐานแฟนคลับที่เป็นคนรุ่นใหม่เหนียวแน่น และเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งแบมแบมก็มีไลฟ์สไตล์สอดคล้องกับ Red Bull โดยจากนี้เราจะมีอีเวนต์ และมีกิจกรรมการตลาดร่วมกับแบมแบมตลอดทั้งปี เริ่มจากงาน Red Bull World of Energy ในวันที่ 5 – 6 เมษายนนี้ ที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์”
นอกจากจะใช้ แบมแบม มาเป็นแม่เหล็กดึงดูดฐานลูกค้าใหม่ ๆ แล้ว แต่การแข่งขันในกลุ่มพรีเมียมอยู่ที่ ประสบการณ์ ทำให้ TCP ได้เปิด Red Bull Energy Pop บาร์ม็อกเทลที่เซ็นทรัลเวิลด์ นำเสนอเครื่องดื่ม อาหาร ของหวาน เพื่อใช้เป็นพื้นที่ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์และรู้จักกับสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่ให้แบรนด์สามารถพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง
“กิจกรรม On Ground เหล่านี้จะเป็นพื้นที่ให้ลูกค้าได้ทำความรู้จักกับแบรนด์เรามากขึ้น ช่วยให้เขามีประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์ และเราเองก็จะสามารถทำความเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้นด้วย”
สำหรับ Red Bull Energy Pop เริ่มเปิด Soft Opening ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยยังไม่มีกำหนดปิด รวมถึงยังไม่มีแผนที่จะขยายไปเปิดที่ใหม่
อีกกลยุทธ์ที่ Red Bull ใช้ในการสร้างแบรนด์คือการ Collab กับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อพาแบรนด์ Red Bull ไปอยู่ใกล้ผู้บริโภค โดยนับตั้งแต่ปี 2565 Rad Bull ได้นำเครื่องดื่มเข้าไปเป็นส่วนผสมในสินค้าต่าง ๆ อาทิ Red Bull Halls XS, Dentyne Splash Red Bull, ไอศกรีม Molto x Red Bull
นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมคนรุ่นใหม่ เช่น ทีมเกมเมอร์ Bacon Time, กีฬาบาสเกตบอล 3×3, E-Sports และสเกตบอร์ด เพื่อแสดง Passion Point ในการใช้งาน Energy Drink และเข้าใกล้ลูกค้า เหมือนเป็นการสร้างคอมมูนิตี้
เนื่องจากเทรนด์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมา TCP พยายามปรับสูตรสินค้าไปใช้ สารแทนความหวาน แทนการใช้น้ำตาลในสินค้าเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสูตรน้ำตาล 0% หรือสูตรปรับน้ำตาลน้อยลง ดังนั้น จึงไม่กังวลกับภาษีความหวานเฟส 1 ที่จะบังคับใช้ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
“ภาษีความหวานไม่มีผล เพราะเราปรับปริมาณน้ำตาลไปแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเราพยายามปรับสูตร แต่รสชาติกับคุณภาพยังคงเดิม ดังนั้น ไม่เสียภาษี ไม่ต้องปรับขึ้นราคา”
ปัจจุบัน พอร์ตโพลิโอธุรกิจเครื่องดื่มพลังงานของกลุ่มธุรกิจ TCP แบ่งออกเป็นเครื่องดื่มให้พลังงานแบบแมส (Mass Energy Drink) 75% ตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานแบบพรีเมียม (Premium Energy Drink) 25% โดย วรวุฒิ ยืนยันว่า ยังคงให้ความสำคัญเพราะเป็นตลาดใหญ่ แต่เนื่องจากตลาดเน้นที่การแข่งขันด้านราคา ทำให้วิธีการทำตลาดจะต่างกัน ซึ่งปัจจุบันในกลุ่มแมส TCP มีผลิตภัณฑ์ กระทิงแดง โดยมีสินค้าในกลุ่มราคา 10 บาท และ 12 บาท
“สิ่งที่เราพยายามจะทำตอนนี้คือ เราพยายามจะให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงส่วนผสมในกระทิงแดง โดยเฉพาะเราที่มีทอรีนเป็นส่วนผสมหลักนะ ซึ่งการทำตลาดในกลุ่มแมสเราอาจจะโฟกัสเรื่องการสื่อสารเกี่ยวกับส่วนผสมมากขึ้น ไม่ใช่แข่งขันเรื่องราคา”
]]>“การแก้ภาพจำว่าเครื่องดื่มชูกำลังเป็นสิ่งที่กินแล้วไม่ดีต่อสุขภาพ กินแล้วจะใจสั่น ภาพลักษณ์ไม่งาม จะกินก็ต้องไปแอบๆ กิน ภาพจำเหล่านี้แก้ยากมาก แต่เราก็พยายามแก้อยู่” สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เจ้าของแบรนด์กระทิงแดง กล่าวถึงความท้าทายในตลาดไทย
เขายังเปรียบเทียบให้เห็นด้วยว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่เครื่องดื่มชูกำลังมีภาพลักษณ์เป็นเครื่องดื่มของ “ผู้ใช้แรงงาน” โอกาสที่จะดื่มคือเมื่อใช้แรงงานอย่างหนักหรือขับรถทางไกลเท่านั้น
แต่ในต่างประเทศอื่นๆ เครื่องดื่มชูกำลังเป็นเครื่องดื่มปกติทั่วไป โอกาสการดื่มกว้างกว่ามาก เช่น ดื่มในงานปาร์ตี้ ติวหนังสือสอบ ทำงานล่วงเวลา ทำให้การเติบโตของเครื่องดื่มประเภทนี้ดีกว่าเมืองไทย
นอกจากนี้ เมื่อเครื่องดื่มชูกำลังเข้าถึงคนทุกระดับในต่างประเทศ ทำให้การตลาดแข่งขันกันด้าน “แบรนด์” ต่างกับในไทยที่ “ราคา” คือจุดตัดสำคัญเพราะผู้บริโภคอ่อนไหวต่อราคาสูง การขึ้นราคาแค่ 2 บาทต่อขวดจะทำให้ยอดขายหดตัวลงทันที จนทำให้การขายเครื่องดื่มชูกำลังในไทยได้กำไรต่ำมาก
สภาวะตลาดดังนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดแต่เกิดขึ้นมานานกว่าทศวรรษ แต่การแต่งหน้าทาปากของเครื่องดื่มชูกำลังพรีเมียมมีพัฒนาการมาโดยตลอด เริ่มจากเลิกใช้ขวดแก้วสีชาหันมาใช้ขวดใส หรือเปลี่ยนมาใช้กระป๋องเพื่ออัดก๊าซลงไป แถมยังเปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น “เครื่องดื่มบำรุงกำลัง” หรือ “เครื่องดื่มให้พลังงาน” หรือ “Energy Drink” เพื่อทำให้ภาพทั้งหมดเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ทางกลุ่ม TCP เองจึงมีการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องดื่มชูกำลังแบบ “พรีเมียม” มาเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ออกแบรนด์ “เรดดี้” เมื่อปี 2551 จนถึง “เรดบูล ฮอลล์ เอ็กซ์เอส” เมื่อปี 2565 และล่าสุดเป็น “เรดบูล เอเนอร์จี้โซดา” ที่ออกใหม่ปี 2566 และ “เรดดี้ สปาร์คกลิ้ง” ที่ตามมาติดๆ ในปี 2567
ฟากค่าย “คาราบาว กรุ๊ป” เริ่มออก Energy Drink แบบอัดก๊าซลงกระป๋องในชื่อ “คาราบาว กรีน แอปเปิ้ล” มาตั้งแต่ปี 2562 ก่อนที่ปัจจุบันจะขยายจนมีมากถึง 6 สูตร
ส่วนบริษัทอื่นๆ ทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าก็เริ่มเข้ามาร่วมวงในตลาดนี้มากขึ้นใน 2-3 ปีมานี้ เริ่มจาก “จี บีท” ของบริษัท บีท เดอะ เวิลด์ จำกัด ที่เปิดตัวในปี 2565 เน้นทำตลาดเจาะกลุ่มเกมเมอร์ ตามด้วยแบรนด์ “Rockstar” ของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ ที่เข้ามาจำหน่ายในปี 2565 เช่นกัน มาด้วยภาพลักษณ์ดูพรีเมียมด้วยสีทองและดำ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแบรนด์ Rockstar เลิกทำการตลาดไปตั้งแต่กลางปี 2566 ก่อนที่ซันโทรี่ฯ จะเปลี่ยนตัวผู้เล่น ส่งแบรนด์ “สติงค์” เข้ามาแทนในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เปลี่ยนจากเครื่องดื่มแบบกระป๋องมาเป็นแบบขวด PET เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยกวน
ขณะที่เจ้าใหญ่ในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังอย่าง “โอสถสภา” เริ่มเคลื่อนทัพเข้าพื้นที่ Energy Drink เมื่อเดือนธันวาคม 2566 เปิดตัว “M-150 สปาร์คกลิ้ง” เปลี่ยนโฉมมาลงกระป๋องอัดโซดา วางภาพเหมาะสำหรับคนทั้ง Gen Z และ Gen Y ดื่มเพื่อความสดชื่น
ทั้งหมดนี้เข้ามาทำราคาใหม่จากเดิมเครื่องดื่มชูกำลังขวดสีชาแบบดั้งเดิมจะขายในราคา 10-15 บาท กลายเป็นขวดละหรือกระป๋องละ 18-23 บาท
ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังแบบพรีเมียมหรือ Energy Drink ถือว่ายังเล็กมาก โดย TCP เคยให้ข้อมูลไว้ในปี 2565 ว่าจากตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมูลค่า 20,000 ล้านบาทนั้นเป็นตลาดในกลุ่มพรีเมียมเพียง 2,000 ล้านบาท และตลาดนี้เติบโตประมาณ 10% ต่อปีเท่านั้น
กระทั่งในปี 2567 สราวุฒิเผยข่าวดีว่า ตลาดชูกำลังพรีเมียมมีผลตอบรับที่ดีขึ้น เพราะเมื่อปี 2566 ตลาดเติบโตถึง 20% และเห็นสัญญาณว่าภาพลักษณ์การดื่มเครื่องดื่มให้พลังงานเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดี วัดจากกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวกล้าที่จะโพสต์ภาพตัวเองกับเครื่องดื่มลักษณะนี้ลงโซเชียลมีเดีย
ฝั่งอีกบริษัทเจ้าใหญ่ สรายุทธ จิตจรุงพร Chief Domestic Beverage Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ก็มองบวกเช่นเดียวกันว่า Energy Drink โดยเฉพาะประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลังอัดก๊าซแบบกระป๋องจะเติบโตสูง ปัจจุบันเครื่องดื่มประเภทนี้มียอดขายราว 300 ล้านบาทต่อปี เชื่อว่าจะโตก้าวกระโดดเป็น 1,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี และจะทำให้ M-150 สปาร์คกลิ้ง เป็น ‘New S-Curve’ ของบริษัท
น่าสนใจว่าตลาดชูกำลังพรีเมียมที่เปลี่ยนโฉมแปลงชื่อเป็น Energy Drink จะเป็นใครที่ได้ส่วนแบ่งเค้กก้อนใหญ่ไปในที่สุด และจะมีใครเข้ามาร่วมวงอีกหรือไม่ในนาทีนี้ที่ฝุ่นยังตลบในสมรภูมิ
]]>สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าวว่า Red Bull ได้รายงานยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังในปี 2023 ที่ผ่านมาแตะระดับ 10,000 ล้านยูโรได้เป็นครั้งแรก หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 387,000 ล้านบาท จากความต้องการเครื่องดื่มชูกำลังที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก
ยอดขายรวมของ Red Bull ในปี 2023 หลังจากหักส่วนลดต่างๆ นั้นอยู่ที่ 10,500 ล้านยูโร เติบโตจากปี 2022 ที่ผ่านมา 9% ในเว็บไซต์ของบริษัทยังได้กล่าวว่า “ยอดขาย รายได้ และกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และขึ้นสู่ระดับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท”
ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังรายดังกล่าวยังได้รายงานว่า บริษัทได้ขายเครื่องดื่มชูกำลังไปมากถึง 12,000 ล้านกระป๋องในปี 2023 เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดียอดการเติบโตนั้นลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งแตะระดับตัวเลข 2 หลัก
อย่างไรก็ดีบริษัทไม่ได้รายงานถึงกำไรที่เกิดขึ้นแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นบริษัทจำกัด โดยผลการดำเนินการของบริษัทนั้นจะรายงานต่อหน่วยงานในประเทศออสเตรีย รวมถึงรายงานบนเว็บไซต์คร่าวๆ เท่านั้น
สำหรับแผนการเติบโตในปี 2024 บริษัทได้กล่าวในเว็บไซต์ว่า ยังคงคาดการณ์ถึงพัฒนาการเชิงบวกในปีนี้ต่อเนื่องและบริษัทได้อาศัยเม็ดเงินจากกระแสเงินสดภายในบริษัทในการสนับสนุนปัจจัยดังกล่าว
Red Bull นั้นก่อตั้งในปี 1984 โดย Dietrich Mateschitz ชาวออสเตรียได้ถือหุ้น 49% ร่วมกับ เฉลียว อยู่วิทยา ที่ถือหุ้น 51% โดยใช้เวลา 3 ปี ในการดัดแปลงสูตรเครื่องดื่มชูกำลังให้เหมาะกับชาวยุโรป ก่อนที่จะมีการผลิตครั้งแรกในปี 1987 และเป็นเครื่องดื่มชูกำลังที่ได้รับความนิยมทั่วโลกในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ Red Bull เองยังเป็นเจ้าของทีมกีฬาหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น Formula 1 ที่มีแชมป์โลกอย่าง Max Verstappen หรือแม้แต่เจ้าของทีมฟุตบอลอย่าง RB Leipzig ในบุนเดสลีกา เป็นต้น ซึ่งแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังรายดังกล่าวได้ใช้กลยุทธ์สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งเพื่อเพิ่มยอดขายของบริษัท
หลังการเสียชีวิตของ Dietrich Mateschitz ในปี 2022 นั้น Mark Mateschitz ซึ่งเป็นบุตรชาย ได้เป็นทายาทในการบริหารต่อจากบิดาของเขา และในปี 2023 เขาได้รับเงินปันผลจาก Red Bull มากถึง 582 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงินไทย 22,522 ล้านบาท
]]>“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีหนึ่งที่บริษัทมีความคืบหน้าในตลาดต่างประเทศสูง โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งรุกคืบในตลาด “มาเลเซีย” ไปอีกขั้น ด้วยการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ “Yee Lee Group” บริษัทท้องถิ่นในมาเลเซีย
โดย Yee Lee Group นั้นเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย “กระทิงแดง” หรือ “Red Bull” ในมาเลเซียให้ TCP มานาน 8 ปี และทางบริษัทเห็นศักยภาพของตลาดนี้ว่ายังเติบโตเพิ่มขึ้นได้ จึงตัดสินใจร่วมทุน 50:50 ในบริษัท Yee Lee Marketing เพื่อให้ TCP ได้เข้าใจผู้บริโภคมาเลย์ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
นอกจากนี้ Yee Lee Group นั้นเป็นบริษัทใหญ่ด้าน FMCG ในมาเลเซีย เป็นทั้งผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าหลายกลุ่ม เช่น อาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงเป็นพันธมิตรที่สามารถร่วมงานกันได้ในระยะยาว
ปัจจุบัน “Red Bull” ที่จำหน่ายในมาเลเซียมี 3 รายการ คือ รสออริจินัล กระป๋องทอง, รสน้ำตาลน้อยลง 25% กระป๋องเงิน และ Red Bull Plus ไม่มีน้ำตาล และทั้งสามผลิตภัณฑ์นี้ส่งให้แบรนด์ Red Bull เป็นเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink) อันดับ 1 ของมาเลเซีย ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 51.3% (ข้อมูลจาก NeilsenIQ)
สราวุฒิกล่าวต่อว่า ศักยภาพของมาเลเซียที่บริษัทเล็งเห็น คือ อัตราการบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังที่ยังต่ำอยู่ โดยมีการบริโภคเพียง 1 ลิตรต่อคนต่อปี เทียบกับไทยมีการบริโภค 5 ลิตรต่อคนต่อปี หรือเวียดนามบริโภคสูงถึง 6 ลิตรต่อคนต่อปี จึงยังมีพื้นที่ว่างให้ตลาดนี้เติบโตได้อีกมาก
สำหรับประเทศจีน ตลาดใหญ่ของ TCP ตามรายงานข่าวก่อนหน้านี้ที่บริษัทเคยประกาศการลงทุน 2,000 ล้านหยวน (ประมาณ 9,800 ล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มของบริษัทในมณฑลเสฉวน ครอบคลุมพื้นที่ 166 ไร่
สราวุฒิอัปเดตความคืบหน้าว่า โรงงานดังกล่าวจะเริ่มเดินเครื่องได้ภายในปลายปีนี้ และจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1,400 ล้านกระป๋องต่อปี เติบโตเป็นเท่าตัว และยังมีพื้นที่เหลือสำหรับไลน์ผลิตสินค้าอื่นที่อาจมีขึ้นในอนาคต
โดยเครื่องดื่มกระทิงแดง หรือที่คนจีนรู้จักในชื่อ “หงหนิว” มีจำหน่ายในจีนมากว่า 30 ปีแล้ว และเป็นแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังอันดับ 1 อย่างไรก็ตาม สราวุฒิกล่าวว่าในระยะหลังมีแบรนด์ใหม่ๆ โดยเฉพาะแบรนด์ท้องถิ่นของจีนเองเกิดขึ้นมากมาย จึงเป็นความท้าทายที่ TCP จะต้องพัฒนาให้ทันผู้บริโภคอยู่เสมอ
ปลายปีนี้บริษัทจึงเตรียมจัดตั้งแผนกคิดค้นพัฒนาสินค้า เพื่อให้คนจีนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจคนจีนเอง เป็นแต้มต่อในการครองตลาด
สำหรับประเทศไทยเองก็มีการลงทุนเพิ่มเติมเช่นกัน โดยปลายปีนี้คาดว่าจะได้เริ่มไลน์ผลิตเครื่องดื่มประเภทขวดแก้ว 2 ไลน์ใหม่ในโรงงานปราจีนบุรี สนับสนุนการผลิตเครื่องดื่มทุกแบรนด์ที่ใช้ขวดแก้ว เช่น กระทิงแดง, เรดดี้, โสมพลัส, ไฮ่ x DHC, สปอนเซอร์
รวมถึงมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดไทย ได้แก่ Red Bull Soda ไม่มีน้ำตาล 2 รสชาติ รสแอปเปิ้ล-องุ่นมัสแคต และ รสเกรปฟรุ๊ต-สับปะรด, FarmZaa มะปี๊ดโซดา, คอลลาเจนกัมมี่ DHC x Bestural และ Planett โซดากลิ่นดอกไม้และผลไม้ ซึ่งสินค้าใหม่ทั้งหมดสามารถเข้าชมและชิมได้ที่งาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
สราวุฒิกล่าวว่า เมื่อปี 2565 ถือเป็นปีที่ดีมากของ TCP ทำรายได้ไปถึง 50,000 ล้านบาท เติบโตเกือบ 20% ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัวในตลาดต่างประเทศ
ส่วนปี 2566 นี้ บริษัทยังตั้งเป้าเติบโต 10-15% แต่รายได้ในช่วงไตรมาสแรกยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยยังทรงตัวไม่เติบโต อย่างไรก็ตาม พบว่าเกิดจากเมื่อปีก่อนบริษัทต่างๆ ต่างตุนสินค้าไว้มาก เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งทำให้ช่วงไตรมาสแรกมีการชะลอการสั่งซื้อ จึงหวังว่าในช่วงที่เหลือของปีจะมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและทำให้บริษัทโตได้ตามเป้าหมาย
]]>“อชิต โจชิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด นำทีมผู้บริหารแถลงครบรอบ 5 ปีการเป็นพันธมิตรร่วมทุนของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค และก้าวต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้าของบริษัท
หลังจากมีการร่วมทุนกันของสองบริษัท ทำให้พอร์ตโฟลิโอของซันโทรี่ เป๊ปซี่โคครบเครื่องยิ่งขึ้นด้วยเครื่องดื่มรวม 9 แบรนด์ในมือ
ปัจจุบันพอร์ต 75% ของบริษัททำรายได้จากกลุ่มน้ำอัดลม ได้แก่ เป๊ปซี่, มิรินด้า, เซเว่นอัพ และ 25% มาจากกลุ่มที่ไม่ใช่น้ำอัดลม ได้แก่ ชาลิปตัน, ชา TEA+, กาแฟ BOSS, น้ำดื่มอะควาฟินา, เครื่องดื่มเกลือแร่เกเตอเรด และน้องใหม่ล่าสุด เครื่องดื่มชูกำลังระดับพรีเมียม Rockstar
รวมถึงการผนึกกำลังทำให้ในรอบ 5 ปีบริษัทมีเครือข่ายร้านค้าจำหน่ายเพิ่มเป็น 2 เท่า และมีกำลังผลิตจากโรงงาน 2 แห่งรวม 600 ล้านลิตรต่อปี
อชิตกล่าวต่อว่า สำหรับระยะ 5 ปีต่อไป (2566-2570) ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค วางกลยุทธ์ใหญ่ไว้ 5 ข้อ ดังนี้
เป้าหมายปลายทางคือ ต้องการทำให้รายได้ต่อปีเติบโต “ดับเบิ้ล” ค่าเฉลี่ยของตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น ปี 2566 นี้บริษัทตั้งเป้าโต 4-6% จากคาดการณ์ตลาดน่าจะโต 2-3% ส่วนในอนาคตหวังว่าบริษัทจะสามารถโตได้ปีละ 8-10% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละปีด้วย
ในรอบ 5 ปีก่อน ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคสามารถขยับสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ในตลาดน้ำอัดลมขึ้นมาได้อีก 2.6% point ซึ่งทำให้เมื่อปี 2565 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 37% เป็นรองจากอันดับ 1 คือ โคคา-โคล่า ที่ยังยึดหัวหาดไว้ถึง 51%
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายจากนี้ของซันโทรี่ เป๊ปซี่โคต้องการจะเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ปีละ 1% point นั่นแปลว่าถ้าทำสำเร็จ ในปี 2570 เราอาจได้เห็นเป๊ปซี่ขึ้นไปมีส่วนแบ่งแตะ 42% ของตลาด และลดช่องว่างความห่างกับโคคา-โคล่าได้มากขึ้นอีก
หนทางเจาะตลาดที่ทางซันโทรี่ เป๊ปซี่โคเล็งอยู่นั้น คือการยึดฐานเดิมของน้ำอัดลมสูตรปกติไว้ให้มั่น พร้อมกับการบุกหนักกลุ่มน้ำอัดลม “No Sugar”
“อนวัช สังขะทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทรนด์รักสุขภาพของชาวไทยที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 นั้นยังคงเป็นเทรนด์ต่อเนื่องแม้โรคระบาดจะคลายความรุนแรง ซึ่งเป็นผลดีต่อกลุ่มน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลอย่างมาก
“ปัจจุบันสินค้ากลุ่มน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของตลาดน้ำอัดลมโดยรวม ปีนี้คาดว่าจะเติบโตอีกประมาณ 30% และหากเทรนด์การเติบโตยังเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง 5 ปี จะทำให้สัดส่วนกลุ่มน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลขึ้นไปใกล้เคียงครึ่งหนึ่งของตลาดรวม” อนวัชกล่าว
น้ำอัดลม No Sugar จึงเป็นตลาดที่สำคัญมากในการต่อสู้ชิงส่วนแบ่งตลาด “ความท้าทายปัจจุบันนี้คือคนยังมองว่าน้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลไม่ค่อยอร่อย เราจึงต้องทลายความคิดเรื่องนี้ให้ได้” อนวัชกล่าว
อีกส่วนที่จะส่งให้รายได้โตคือการเจาะตลาด “เครื่องดื่มชูกำลัง” ซึ่งซันโทรี่ เป๊ปซี่โคเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มาเมื่อปีที่แล้วในชื่อ “Rockstar” เป็นเครื่องดื่มชูกำลังแบบกระป๋อง ด้วยรูปลักษณ์ระดับพรีเมียม เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
อนวัชกล่าวว่า บริษัทคาดการณ์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมูลค่า 20,000 ล้านบาท จะเป็นหนึ่งในประเภทเครื่องดื่มที่เติบโตดีที่สุดในช่วง 5 ปีข้างหน้า ทั้งในกลุ่มผู้บริโภคแบบเดิมและกลุ่มใหม่ที่บริษัทกำลังสร้างดีมานด์ขึ้น
“เรากำลังพยายามส่ง Energy Drink ไปในทิศทางใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ นอกจากดื่มเพื่อชูกำลังแล้ว ยังเป็นไลฟ์สไตล์ได้ ถือแล้วดูดี ซึ่งปกติกลุ่มที่ดื่มในลักษณะนี้ยังมีเพียง 6-7% ของตลาด แต่เราคิดว่าสามารถสร้างเพิ่มได้” อนวัชกล่าว
ส่วนตลาดเครื่องดื่มประเภทอื่น เช่น ชาพร้อมดื่ม กาแฟพร้อมดื่ม บริษัทจะยึดตำแหน่งในตลาดไว้ให้ได้เช่นกัน พร้อมกับการสร้างสินค้าใหม่ๆ ในลักษณะที่เป็นฟังก์ชันนอลดริงก์เพิ่ม เพื่อตอบรับเทรนด์ผู้บริโภคที่นิยมสินค้าเติมฟังก์ชันเพื่อสุขภาพ
“ปีนี้งบประมาณการตลาดรวมทั้งบริษัทเราตั้งไว้ที่ 1,000 ล้านบาท มีแผนการตลาดแล้ว 22 แคมเปญซึ่งมากกว่าปีก่อน และจะเน้นเรื่องอีเวนต์ on-ground เตรียมแจกชิม 10 ล้านขวด พร้อมกลยุทธ์ราคาและโปรโมชันโดนๆ เพื่อดึงให้ผู้บริโภคที่ชิมแล้วชอบ เข้ามาซื้อสินค้าจริง” อนวัชกล่าวปิดท้าย
]]>สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงปี 2020-2021 นั้นทรงตัวมาตลอดเพราะการระบาดของ COVID-19 แต่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2022 มีการเติบโต 3% และคาดว่าทั้งปีจะสามารถเติบโตได้ถึง 10% โดยมีปัจจัยมาจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว การออกนอกบ้านมากขึ้นของประชาชน และจำนวนผู้เล่นในตลาดที่มีมากขึ้น
ที่น่าสนใจคือ ตลาดพรีเมียม (ราคา 15 บาทขึ้นไป) ที่แม้จะคิดเป็นเพียง 10% ของตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง แต่มีอัตราเติบโตถึง 5% โดยปัจจุบันจะเริ่มเห็นแบรนด์ทั้งจากทั้งในและนอกอุตสาหกรรมเครื่องดื่มหันมาลงเล่นในเซ็กเมนต์นี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น G-BEAT (จี บีท) หรือ PredatorShot จาก เอเซอร์ ดังนั้น เชื่อว่าจะยิ่งช่วยกันดันตลาดให้เติบโตยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันผู้บริโภคยังคงเข้าถึงเครื่องดื่มเซ็กเมนต์นี้เพียง 21% เท่านั้น และ 50% เป็นกลุ่ม Gen Z
“เราเป็นเบอร์ 2 ของตลาดไทย มีส่วนแบ่งที่ 21% (กระทิงแดง, เรดดี้ และโสม) ส่วนกลุ่มพรีเมียมเรามีแบรนด์เรดดี้มีส่วนแบ่งตลาด 5% ดังนั้น ยังมีการบ้านให้ทำอีกมาก”
อย่างไรก็ตาม การจะจับกลุ่มพรีเมียมที่มีผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็น Gen Z ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดย ณุชชนา อดิทิพยางกูร รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Global – Energy กลุ่มธุรกิจ TCP อธิบายว่า เนื่องจากคน Gen Z ติดภาพว่าเครื่องดื่มชูกำลังเป็นเครื่องดื่มของ คนใช้แรงงาน หรือเป็นเครื่องดื่มเฉพาะกิจที่ต้อง ใช้แรง นอกจากนี้ รสชาติเครื่องดื่มชูกำลังแบบดั้งเดิมมีความ เฉพาะเจาะจง
ดังนั้น แบรนด์จึงเลือกสานต่อความร่วมมือกับ มอนเดลีซ ผู้ผลิตและจำหน่ายลูกอมฮอลล์ หลังจากที่เคยออก ลูกอม Halls XS Red Bull ในปีที่ผ่านมา โดยออกเป็น Red Bull Halls XS ที่นำเอา 2 รสชาติที่ขายดีที่สุดของ ลูกอมฮอลล์ (Halls) อย่าง วอเตอร์เมลอน และ เมนโทลิปตัส มาใส่ในผลิตภัณฑ์เป็น 2 รสชาติใหม่ โดยชูจุดเด่นที่มีความเย็นสดชื่นและไม่มีน้ำตาล
แต่ไม่ใช่แค่รสชาติที่จะช่วยสร้างความแตกต่าง อีกประโยชน์ที่ได้จากการร่วมกับ Halls XS คือ ภาพลักษณ์ เนื่องจาก Hall XS จับกลุ่ม Young Gen และคนเมืองอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้ภาพของ Red Bull ดูเฟรนด์ลี่มากขึ้น นอกจากนี้ ราคา ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ แบรนด์ยังวางราคาจำหน่ายที่ 15 บาท ซึ่งเป็นราคาเริ่มต้นของกลุ่มพรีเมียม ก็จะช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
“ตลาดขวดแก้วมันเป็นตลาดที่อิ่มตัวอยู่แล้วและผู้เล่นหลักก็แข็งแรง ดังนั้น มันเป็นเกมที่ยาก แต่ถ้าเป็นพรีเมียมมันยังเป็นตลาดที่เพิ่งเริ่ม ดังนั้น ความยากคือการดันคนให้เข้ามาในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วมันมีความต้องการ แต่ไม่ตอบโจทย์แพ็กเกจจิ้ง และรสชาติ ดังนั้น ถ้าดีไซน์แพ็กเกจจิ้งดี รสชาติที่แตกต่าง เราเชื่อว่าเขาก็จะเปิดใจกล้าลองมากขึ้น”
หากพูดถึงการทำการตลาดของ Red Bull จะเน้นไปที่ กีฬาเอ็กซ์ตรีม เป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับการทำตลาดของ Red Bull Halls XS ใช้จะเน้นไปที่ อีสปอร์ต เป็นหลัก ในขณะที่ช่องทางการสื่อสารจะใช้ TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่กำลังเป็นที่นิยมของ Gen Z โดยใช้งบการตลาดถึง 100 ล้านบาท
“คู่แข่งที่มาใหม่ก็ใช้อีสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งเหมือนกัน ดังนั้น การจับแพชชั่นพอยต์คงไม่ต่างกัน แต่ด้วยตัวโปรดักส์และเนื้อหาการสื่อสารเราเชื่อว่ามันจะตรงใจมากกว่า เพราะเราคงไม่สื่อสารไปตรง ๆ ว่าดื่ม Red Bull Halls XS แล้วจะได้ประโยชน์อะไร แต่พยายามสื่อสารถึงการครีเอทสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้น แม้จะใช้ KOL หรืออีสปอร์ตเหมือนกัน แต่การสื่อสารจะต่างกัน”
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกสินค้ากระทิงแดงและ Red Bull มีการเติบโต 2 หลัก คาดว่าในสิ้นปีจะเติบโตได้ 11% และในส่วนของกลุ่มพรีเมียมตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้ได้เท่าตัวภายใน 3 ปี หรือ 10% โดยจากนี้จะมีการออกรสชาติและแบรนด์ใหม่ ๆ ออกมาทำตลาดอีกในอนาคต
]]>ภาพรวมตลาดสินค้าไอทีไทยและทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ถือว่าได้อานิสงส์จากเทรนด์การใช้งานดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการ Work from Home, Learn from Home ส่งผลให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% แต่ปัญหาที่หลาย ๆ คนรู้ก็คือ ซัพพลายเชน ไม่ว่าจะปัญหาขาดแคลนชิป, ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้สินค้าขาดตลาดไม่พอขาย แม้ปีหน้าคาดว่าปัญหาจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดไอทีอยู่ในช่วงที่ไม่แน่นอน
“แม้สินค้าไอทีมีความต้องการสูง แต่ตอนนี้เรื่องจำนวนสินค้าเราควบคุมลำบากมาก จะเห็นว่ามีปัญหาเยอะและไทยเป็นปลายทางซัพพลายทั้งหมด ดังนั้น เราจึงต้องวางแผนโตเผื่ออนาคต ต้องมีสินค้าไลน์อัพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์มากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงให้โตอย่างยั่งยืน” นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าว
ย้อนไปเมื่อ 4-5 ปีก่อนเอเซอร์ต้องการบุกตลาดเกมมิ่งแต่เห็นข้อจำกัดของแบรนด์ เอเซอร์เลยแตกแบรนด์ พรีเดเตอร์ (Predator) โน้ตบุ๊กสำหรับเกมมิ่ง ซึ่งปัจจุบันก็ประสบความสำเร็จคอเกมเมอร์รู้จักแบรนด์ ขณะที่ตลาดเกมมิ่งไทยในปัจจุบันก็เติบโตเร็วมาก โดยคนไทยที่ออนไลน์กว่า 49 ล้านคน และ 27 ล้านคนเล่นเกม
ดังนั้น เอเซอร์จึงนำชื่อของแบรนด์ Predator มาต่อยอดเป็นแบรนด์ Predator Shot เครื่องดื่มชูกำลังสำหรับ Gamer โดยจุดเด่นของแบรนด์จะอยู่ที่สรรพคุณ โดยผสม วิตามิน A และวิตามิน B ที่ช่วยบำรุงสายตา ให้ความสดชื่น เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยเฉพาะเกมเมอร์ ซึ่งในท้องตลาดยังไม่มีแบรนด์ไหนตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้ชัดเจน
ทั้งนี้ ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังไทยมีมูลค่าถึง 30,000 ล้านบาท แต่สัดส่วนกว่า 90% เป็นกลุ่มเอนทรี ราคา 10-15 บาท ขณะที่ กลุ่มพรีเมียม ราคา 15-65 บาท มีสัดส่วน 5-10% เท่านั้น ซึ่งยังไม่มีผู้นำชัดเจน เน้นแข่งกันที่ภาพลักษณ์ และสรรพคุณ โดย Predator Shot เองจะเจาะกลุ่มพรีเมียมวางราคาไว้ที่ 20 บาท
เบื้องต้น Predator Shot จะวางจำหน่ายเฉพาะเซเว่น-อีเลฟเว่นก่อน ส่วนแคมเปญการตลาดจะมีทั้งการทำแคมเปญลุ้นรางวัลใต้ฝามูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท และใช้กิจกรรมการแข่งขันเกมต่าง ๆ ในการสื่อสารสร้างการรับรู้ รวมถึงมีแผนที่จะใช้ อินฟลูเอนเซอร์ด้านเกมและไลฟ์สไตล์ ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งภายในปีแรกตั้งเป้ายอดขายที่ 1.5-2 ล้านกระป๋อง และเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน
“แม้จะฟังดูเป็นธุรกิจที่ไกลตัวเอเซอร์มาก แต่หากดูกลุ่มเป้าหมายนั้นไม่ได้ไกลจากลูกค้าเอเซอร์เลย ยังอยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลักทั้งนั้น แน่นอนว่าอาจทำเงินได้น้อยกว่าคอร์บิสซิเนส แต่ถือเป็นการต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่เราเข้าไม่ถึง”
สำหรับ Predator Shot ไม่ได้มีขายแค่ไทย แต่มีจำหน่ายในไต้หวันและยุโรป โดยแต่ละประเทศก็จะมีสูตรและขนาดที่แตกต่างกันไป อาทิ สูตรไม่มีน้ำตาลในยุโรป ดังนั้น ต่อไปไทยจะมี Predator Shot รสชาติใหม่ ๆ รวมทั้งสูตรไม่มีน้ำตาลเข้ามาทำตลาดแน่นอน นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำเครื่องดื่มที่เยาวชนดื่มได้อีกด้วย
“เราไม่ได้ทำ Predator Shot ไว้เป็นกิมมิกทางการตลาดแต่เราทำจริงจัง มีฐานการผลิตในไทย และในอนาคตอาจต่อยอดไปเป็นสินค้าอื่น ๆ อย่างขนมขบเคี้ยวก็เป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป”
เครื่องดื่มชูกำลังไม่ใช่แค่สินค้าเดียวที่เอเซอร์ทำนอกเหนือจากคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แต่ที่ผ่านมามาแบรนด์อย่าง Pawbo ผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ Xplova ดีไวซ์สำหรับใช้กับจักรยาน acerpure เครื่องฟอกอากาศ Acer Halo smart speaker ลำโพงอัจฉริยะ ซึ่งในปีหน้าเอเซอร์ระบุว่าจะรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมากขึ้นอีกเพื่อย้ำภาพการมุ่งสู่ไลฟ์สไตล์แบรนด์เต็มตัว โดยเอเซอร์ตั้งเป้าปรับเปลี่ยนสัดส่วนรายได้จากสินค้าไอทีเป็น 85% อีก 15% เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ภายใน 5 ปีจากนี้
ถือเป็นอีกภาพสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ที่แบรนด์เองจะอยู่เฉย ๆ อีกต่อไปไม่ได้ ต้องปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโต พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน สำหรับใครที่เป็นสาวกเอเซอร์ก็รอดูได้เลยว่าจะมีไอเทมใหม่ ๆ อะไรมาดูดเงินในกระเป๋าอีกบ้าง
]]>ย้อนกลับไปเมื่อปี 2505 “ไทโช ฟาร์มาซูติคอล” ได้เปิดตัวลิโพที่ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นในปี 2508 ได้ขยายตลาดมายังประเทศไทย ด้วยความร่วมมือกับ “โอสถสภา”
เเม้เเบรนด์ที่อยู่มานานจะเเข็งเเกร่ง เเต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเเข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่ดุเดือด เเละมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 23,000 ล้าน ลิโพจึงต้องขยับก้าวใหม่ ชูจุดเด่น “ความพรีเมียม” เพื่อขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นพนักงานออฟฟิศ นักศึกษาเเละนักกีฬามากขึ้น
ลิโพจึงหนีตลาดเเมสเครื่องดื่มชูกำลังที่ขายกันที่ 10 บาทต่อขวด ปรับภาพลักษณ์เเล้วขายที่ราคา 12 บาทต่อขวด มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว เเสดงว่าการยืนหยัดเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มนั้น “ได้ผล” ด้วยยอดขายราว 300 ล้านขวดต่อปี
“ไทยเป็นตลาดที่ประสบความสำเร็จของลิโพ” ยูคิโอะ ซาวาดะ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา ไทโช ฟาร์มาซูติคอล จำกัด กล่าว
ซาวาดะมองว่า เทรนด์ผู้บริโภคที่กำลังให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เเละผู้บริโภคเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยก็ให้ความใส่ใจเครื่องดื่มชูกำลังที่มีประโยชน์
“ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นเครื่องดื่มบำรุงกำลังสำหรับผู้หญิง เนื่องจากสัดส่วนประชากรในไทยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงเเละมีกำลังซื้อสูง จึงเป็นโอกาสที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้หญิง จากเดิมที่ลูกค้าจะเป็นผู้ชายเป็นหลัก”
ทั้งนี้ ปัจจัยการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องดื่มชูกำลังของผู้บริโภคในไทย มี 3 ด้านได้แก่ 1) แบรนด์ 2) ความสะดวก เเละ 3) รสชาติ โดยในญี่ปุ่น ลิโพมีชนิดสินค้าอยู่ราว 20 SKU ส่วนไทยมี 2 SKU มาเลเซียที่ 2-3 SKU เวียดนาม 1 SKU และสหรัฐอเมริกามี 5 SKU
เเม้ลิโพจะเป็นเเบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังรายเเรกของไทย เเต่ปัจจุบันที่มีเเบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่เข้ามาทำตลาด ทำให้ลิโพมีส่วนเเบ่งการตลาดอยู่ในลำดับที่ 4-5 นั้น ผู้บริหารไทโชบอกว่า “ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ” เพราะลิโพยังต้องการขยายตลาดในประเทศไทยต่อเนื่อง โดยจะเน้นไปที่การให้ความรีเมียมกับผู้บริโภค ไม่ลงไปแข่งขันในตลาดเเมสเเละมีเป้าหมายหลักคือกลุ่มคนเมือง
“ยึดมั่นในการใช้วัตถุดิบคุณภาพจากญี่ปุ่น เจาะตลาดนีชมาร์เก็ต นี่คือเป้าหมายของเเบรนด์ลิโพ” ซาวาดะกล่าว
ด้าน วรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เผยว่า ในปี 2563 ภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มบำรุงกำลังในไทยมีความพรีเมียมมากขึ้นต่างจากในอดีต การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลถึงการวางแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่าง กลุ่มนักศึกษา พนักงานออฟฟิศ และนักกีฬา โดยบริษัทจะใช้ความได้เปรียบด้วยความที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบหลักพรีเมียมที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น
ประวาล โรจนพฤกษ์ ผู้อำนวยการการตลาดผลิตภัณฑ์ลิโพ กล่าวว่า การที่เเบรนด์ต่างๆ เปิดตัวเครื่องดื่มชูกำลังเข้าสู่ตลาดอย่างหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคมากขึ้นเป็นเเนวโน้มที่ดีของตลาดภาพรวม เเม้ว่าช่วงนี้ตลาดจะทรงตัว เเต่สำหรับโอสถสภาเเล้วถือว่าเป็นตัวหลักที่ต้องทำตลาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รักษาฐานลูกค้าเดิมเเละเพิ่มลูกค้าใหม่ ซึ่งการมีทั้งเเบรนด์ M150 ฉลาม ลิโพ เเละโสมอินซัม ทำให้โอสถสภายังคงเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังต่อไป
“ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังเเบ่งเป็นตลาดเเมส 80% เเละตลาดพรีเมียม 20% สำหรับกลุ่มลูกค้าใหญ่ของลิโพจะเป็นพนักงานที่อยู่ในเมือง เเต่ก็มีการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ ขายดีที่สุดในภาคกลาง โดยมีช่องทางการขายเป็นเเบบร้านดั้งเดิม 75% เเละโมเดิร์นเทรด 25%”
ในโอกาสครบรอบ 55 ปี ของแบรนด์ ลิโพ ในประเทศไทย ได้เปิดตัวแคมเปญ “ลิโพ 55 ปีแห่งการส่งต่อ” พร้อมการปรับโฉมแพ็กเกจจิ้งใหม่ด้วยการเพิ่มฉลากภาษาญี่ปุ่นและเน้นไอคอน “ทอรีน 1,000 มก.” รวมถึงได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ ซึ่งจะออกกาศในวันที่ 16 ก.พ. เป็นครั้งแรก
โดยโฆษณาชุดใหม่นี้ เน้นสื่อถึงความเป็นเครื่องดื่มพรีเมียมที่มาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นของลิโพให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ด้วย 3 คาแร็กเตอร์ญี่ปุ่น ได้แก่ ‘ซูโม่’ สื่อถึงความแข็งแรง ‘นินจา’ สื่อถึงความกระฉับกระเฉงว่องไว และ ‘ซามูไร’ สื่อถึงดวงตาที่เฉียบคม จากการช่วยบำรุงสายตา
]]>สาเหตุมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้ต้องการแค่เครืองดื่มที่ให้ “พลังงาน” เพียงอย่างเดียว แต่มองหาเครื่องดื่มที่ช่วยให้ “ดูดี” ด้วย ซึ่งเป็นตลาดของกลุ่ม “พรีเมียม”
โดยปัจจุบันเครื่องดื่มให้พลังงานแบบแมส ราคา 10 บาท ครองสัดส่วน 93% ส่วนกลุ่มพรีเมียม ราคา 15 บาท ครองสัดส่วน 7% มีอัตราเติบโต 10%
ศุภชัย จุนเกียรติ ผู้อำนวยการสายงานการตลาด Global กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า แม้ว่าสภาพตลาดรวมจะไม่สู้ดี แต่ตลาดพรีเมียมยังคงเติบโต โดย “เรดดี้” ถือเป็นแบรนด์เครื่องดื่มให้พลังงานระดับพรีเมียมเพียงรายเดียวที่ยังคงมียอดขายเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มียอดขาย 960 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15% จากยอดขายปี 2560 และเรดดี้มีส่วนแบ่งการตลาด 62% จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1,600 ล้านบาท
“ตลอด 10 ปีที่เรดดี้ทำตลาดมา เราศึกษาตลาดและพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มให้พลังงานต่อเนื่อง ปัญหาที่พบคือไลฟ์สไตล์และเทรนด์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป หลายคนนอกเหนือจากทำงานหนักแล้วยังมีกิจกรรมต่อเนื่องตลอดวัน เวลาพักผ่อนน้อย ขณะเดียวกันก็ยังต้องการดูแลตัวเองให้ดูดีเสมอ”
“เรดดี้ โกจิเบอรี่” จึงตอบโจทย์ทั้งสองด้าน โดยวางโพสิชันนิ่งเป็น ‘Stylish Energy Drink’ แตกต่างจากเครื่องดื่มให้พลังงานทั่วไป ตั้งแต่รสชาติ ส่วนผสม รวมถึงแพ็กเกจจิ้ง ทำให้เรดดี้เติบโตได้ต่อเนื่อง
ทำให้ปีนี้กลุ่มธุรกิจ TCP จึงกำหนดงบประมาณ 100 ล้านบาท ทำกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องดื่มให้พลังงาน เรดดี้ โกจิเบอรี่ พร้อมดึง “ใหม่–ดาวิกา โฮร์เน่” เป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อต้องการกระตุ้นยอดขาย จับกลุ่มวัยทำงาน อายุ 20-35 ปี ด้วยภาพยนตร์โฆษณาในสื่อต่างๆ ทั้งในทีวี สิ่งพิมพ์ สื่อนอกบ้าน และออนไลน์ รวมทั้งแจกสินค้าตัวอย่าง 1 ล้านขวดย่านออฟฟิศทั่วกรุงเทพฯ ถึงเดือน พ.ค.
โดยมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันยอดขายแบรนด์เรดดี้ได้ที่ 1,500 ล้านบาทใน 3 ปี จากปี 61 ที่ยอดขาย 960 ล้านบาท
เรดดี้เป็นเครื่องดื่มให้พลังงานที่จำหน่ายในไทยมา 10 ปี ปัจจุบันมี 4 ชนิด คือ เรดดี้ โกจิเบอรี่ ทำยอดขายหลัก 90%, เรดดี้ บู้ท, เรดดี้ พิงค์ และเรดดี้ แบล็ค ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น เพราะมีฟังก์ชันที่ช่วยเรื่องความสวยความงาม ขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มพรีเมียมด้วยส่วนแบ่งการตลาด 62%
หลังจากนี้มีแผนเปิดตัวรสชาติใหม่อีก 1-2 รายการ ในกลุ่มน้ำตาลน้อย จับกลุ่มรักสุขภาพ
รวมทั้งจัดโปรโมชั่นส่งรหัสใต้ฝาลุ้นรางวัลพิเศษต่างๆ กระตุ้นยอดขายตลอดปี.
]]>เมื่อตลาด “ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง” ในเมืองไทยไม่เหมือนเดิม จากที่เคยเติบโต 5-6% แต่ช่วง 2-3 ปีมานี้กลับ “หยุดนิ่ง” หรือติดลบ 2-3% เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำลง ดึงกำลังซื้อของ “เกษตรกร” ซึ่งเป็นฐานลูกค้ารายใหญ่หดหายตามไปด้วย
ทำให้ผู้เล่นหลักในตลาดนี้ต่างต้องปรับเปลี่ยนแผนการตลาดกันยกใหญ่ ทั้งการดึงดาราหรือนักร้องชื่อดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์และออกสินค้าใหม่ เพื่อดึงดูดฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” อัดแคมเปญชิงโชคทองคำและรถยนต์หวังสร้างกำลังซื้อขึ้นมาทดแทน รวมไปถึงมุ่งแสวงโชคยังน่านน้ำแห่งใหม่
“กระทิงแดง” เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้ผลกระทบ เพราะถ้าย้อนไปถึงอดีตจะพบว่า กระทิงแดงเคยครอง “แชมป์” ตลาดอยู่หลายปี ก่อนที่จะถูกโอสถสภาส่ง “เอ็ม 150” มาทวงบัลลังก์คืน จนหล่นมาอยู่เบอร์ 2 และถูก “คาราบาวแดง” แบรนด์น้องใหม่ที่มีอายุเพียง 10 ปี ผงาดขึ้นมาแซงและเบียดกระทิงแดงไปอยู่เบอร์ 3 จนได้
นับเป็นแรงกดดันให้กับกระทิงแดงต้องลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์มตัวเอง ด้วยการแปลงโฉมครั้งใหญ่เมื่อเดือนสิงหาคม 2017 โดยประกาศใช้ชื่อ “กลุ่มธุรกิจ TCP” ซึ่งรวมสินค้าในพอร์ตมาไว้รวมกัน เพื่อให้การทำงานคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ครั้งนั้นได้ประกาศแผน 5 ปี (ปี 2018 – ปี 2022) ด้วยเม็ดเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 61 ปี เงินที่ว่านี้จะนำมาพัฒนาคน เพิ่มกำลังการผลิตและพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ และยังวางแผนจะเปิดสำนักงานแห่งใหม่ หรือโรงงานแห่งใหม่ อย่างน้อยปีละ 1 แห่งใน 1 ประเทศ
โดยมีเป้าหมายเป็น “เฮาส์ออฟแบรนด์” หรือการมีสินค้าที่หลากหลายในกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มและอาหาร โดยจะไม่ไปแตะธุรกิจแอลกอฮอล์ด้วยผู้ก่อตั้งบอกไว้ และต้องการดันรายได้ให้ทะลุ 100,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า และต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 60% เป็น 80% เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งตลาดในประเทศที่ยังไม่มีทีท่าจะพื้นตัวง่ายๆ
จากแผนที่ว่านี้ได้นำมาสู่การเปิดตัว “บริษัท TCPVN จำกัด” ที่เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งถือบริษัทแรกในต่างประเทศที่กลุ่มธุรกิจ TCP ถือหุ้น 100% โดยเปิดมาได้ราว 4 เดือน ทีมงานที่นี่จะเป็นชาวเวียดนามทั้งหมด ทำงานประสานงานกับสำนักงานที่เมืองไทย ซึ่งแต่เดิมพนักงานชาวไทยต้องบินไป – กลับ ไม่ได้อยู่ประจำ ทำให้บางครั้งขาดความต่อเนื่องบ้าง
“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP บอกว่า
ความมั่นใจของกลุ่มธุรกิจ TCP มาจากข้อมูลที่ว่า เวียดนามมีประชากร 96 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ย 6,435 เหรียญสหรัฐต่อปี 95% สามารถอ่านออกเขียนได้ และที่สำคัญประชากรส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 30.9 ปี
ด้วยความที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวบวกกับประเทศที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีมานี้ คนกลุ่มนี้ไม่ได้ทำงานเพียงอาชีพเดียว แต่ 1 คนจะมี 2 อาชีพ ทั้งกลางและกลางคืน
“เครื่องดื่มชูกำลัง” จึงกลายมาเป็นที่พึ่งเมื่อพวกเขาต้องทำงานหนัก อัตราเติบโตจึงสูงมาก เพราะคนเวียดนามมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมือนคนไทย โดยมองว่าเครื่องดื่มชูกำลังเป็นเครื่องดื่มเพื่อดับกระหาย และที่สำคัญข้างขวดไม่ได้มีคำเตือน ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 ขวดเหมือนกับไทย จึงมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าเมืองไทย
นอกจากนี้พฤติกรรมคนเวียดนามมักจะเลือกสินค้าจากคุณภาพ ส่วนราคาเป็นเรื่องรอง และอัตราการเติบโตของคนชั้นกลางทำให้ความต้องการบริโภคสูงตามไปด้วยอีกทั้งเมื่อเทียบกับตลาด FMCG ที่โตเพียง 3.8% กลุ่มเครื่องดื่มกลับเติบโตมากกว่าที่ 5.1% ในจำนวนนี้เครื่องดื่มชูกำลังมีอัตราการเติบโตที่สูงเป็นอันดับ 3 โดยมีมูลค่า 25,000 ล้านบาท เติบโตถึง 6%
อีกหนึ่งความมั่นใจมาจากอัตราการเติบโตของ “วอริเออร์” เครื่องดื่มชูกำลังอัดลมที่ถูกพัฒนาเพื่อวางขายในเวียดนามโดยเฉพาะ ในรูปแบบกระป๋องขนาด 325 มล. 2 รสชาติคือ สตรอว์เบอร์รี่ และรสเลมอน ราคาจำหน่ายกระป๋องละ 10,000 ดอง (VND) หรือประมาณ 15 บาท
โดยวางขายมาตั้งแต่ปี 2015 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละมากกว่า 100% มีส่วนแบ่งตลาด 5% เป็นอันดับ 5 เมื่อรวมกับแบรนด์ “เรดบูล” ที่เข้ามาทำตลาดได้ 30 ปี ในรูปแบบกระป๋อง ขนาด 250 มล. ราคา 17 บาท มีส่วนแบ่งตลาด 38% เป็นเบอร์ 1 ทำให้ภาพรวมของบริษัทมีส่วนแบ่ง 43% เป็นเบอร์ 1 ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของเวียดนาม
เรดบูลเจาะฐานลูกค้ากลุ่มแมสและวัยทำงาน ส่วนวอริเออร์วางแผนให้เข้าเจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก
แต่เครื่องดื่มชูกำลังใน “เวียดนาม” การแข่งขันสูง มีแบรนด์ที่เกิดใหม่และออกจากตลาดไปทุกไตรมาส ปัจจุบันถ้านับรวมๆ มีมากกว่า 10 แบรนด์
ดังนั้นจึงวางแผนใช้งบ 4,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในเวียดนามช่วง 3 ปีต่อจากนี้ (ปี 2019 – 2021) ใช้พัฒนาฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย เน้นวิจัยพฤติกรรมของชาวเวียดนาม และเพิ่มวิธีการทำตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงดึงดูดของผู้บริโภค
ปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูสดใหม่ ทำโรดโชว์ในพื้นที่ต่างจังหวัด ทำอีเวนต์สนับสนุนการแข่งขันกีฬา และยังปรับโฆษณาฉีกหนีด้วยการสื่อสารที่เน้นอีโมชันนัลเน้นความเป็นไลฟ์สไตล์ ส่วนแบรนด์อื่นๆ ส่วนใหญ่ยังสื่อสารแบบฟังก์ชันนัล
“ความท้าทายในเวียดนาม ไม่ใช่การทำตลาดเพื่อแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ แต่เป็นการเข้าใจผู้บริโภคที่พฤติกรรมเปลี่ยนเร็วมาก”
ด้านฝ่ายขายพยายามเพิ่มช่องทางขายใหม่ๆ เช่นออนไลน์ รวมไปถึงขยายช่องทางขายให้กว้างและครอบคลุมตลาดทั่วประเทศ เพื่อขยายตลาดเครื่องดืมชูกำลังให้ใหญ่เทียบเท่าตลาดน้ำอัดลม ซึ่งใหญ่กว่าประมาณ 20-30% ได้
ปัจจุบันยอดขายกว่า 80% ยังคงเป็น Traditional Trade เช่น ร้านชำ, ร้านอาหาร, ร้านกาเเฟ, ร้านเกม รวมถึงร้านเครื่องดื่มข้างทาง โดยคนเวียดนามชอบกินเครื่องดื่ม แล้วนั่งข้างทางหันหน้าออกถนน และชอบใส่น้ำแข็งแม้จะเป็นเครื่องดื่มชูกำลังก็ตาม
อีกส่วนหนึ่งอาจนำเงินไปลงทุนขยายโรงงานการผลิตโดยมีกำลังการผลิตเพียง 6 ล้านลังต่อปี ดังนั้นสินค้าที่วางขายส่วนใหญ่ในเวียดนามจึงต้องนำเข้าจากเมืองไทยมากกว่า 80%
นอกจากนี้ยังวางแผนมีสินค้าใหม่อย่างน้อย 1 แบรนด์วางจำหน่ายในตลาดเวียดนามภายใน 3 ปีต่อจากนี้ “สราวุฒิ” ต้องการให้รายได้ในเวียดนามเติบโต 1 เท่าตัว จากสิ้นปี 2018 ที่คาดว่าจะมีรายได้ 10,000 ล้านบาท และเติมส่วนแบ่งการตลาดให้มากกว่า 50%
1. เวียดนามเติบโตมากในช่วง 5 ปีมานี้ ประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว อายุเฉลี่ย 30.9 ปี คนกลุ่มนี้ไม่ได้ทำงานเพียงอาชีพเดียว แต่ 1 คนจะมี 2 อาชีพ ทั้งกลางวันและกลางคืน
2. คนเวียดนามจะนิยมบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อดับกระหาย รวมถึงบริโภคควบคู่ไปพร้อมกับมื้ออาหาร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของคนที่ทำงานหนักและต้องการพลังงานจากเครื่องดื่มชูกำลังมาช่วยเสริม
3. ข้างขวดเครื่องดื่มชูกำลังไม่มี ห้ามบริโภคเกินวันละ 2 ขวด เหมือนกับไทย จึงมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าเมืองไทย
4. ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในเวียดนามเติบโต มีมูลค่า 25,000 ล้านบาท เติบโต 6%
5. ส่วนแบ่งตลาด TCP 2 แบรนด์ เรดบูล เจาะฐานลูกค้ากลุ่มแมสและวัยทำงาน และแบรนด์ วอริเออร์ วางแผนให้เข้าเจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก รวมกัน 43% เป็นอันดับ 1 ในตลาดเวียดนาม
]]>