เทรนด์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 01 May 2022 07:34:33 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เทรนด์ WealthTech โตก้าวกระโดด ‘StashAway’ ลุยภารกิจพาคนไทยลงทุนต่างประเทศ https://positioningmag.com/1383543 Sun, 01 May 2022 03:05:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383543 ปัจจุบันการ ‘ลงทุนในสินทรัพย์’ นั้นง่ายเเละรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้คน ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง สามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งเเต่เงินก้อนน้อยๆ พร้อมโอกาสในการเเสวงหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ

เเม้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เเต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย เเละการมาของ ‘WealthTech’ เหมือนจะเป็น ‘ตัวช่วย’ เเละ ‘ทางเลือก’ ให้ก้าวผ่านกำเเพง
อุปสรรคการลงทุนเเบบเดิมๆ ที่มีมาในอดีตได้ 

วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงภาพรวมของอุตสาหกรรม WealthTech กับ “ทิม – ยศกร นิรันดร์วิชย” CFA กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ StashAway แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนเจ้าใหญ่ในเอเชีย พร้อมเป้าหมายที่หวังจะเเก้ Pain Point เปิดประตูให้คนทั่วไปเข้าถึงการลงทุน เเละเเผนกลยุทธ์การก้าวสู่ top of mind ในตลาดไทย 

WealthTech เปลี่ยนเกมการลงทุน 

ยศกร เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงความสำคัญของ WealthTech ต่อผู้คนทั่วโลกให้ฟังว่า เป็นเทคโนโลยีการลงทุนบริหารความมั่งคั่งที่จะมาดิสรัปวงการผู้จัดการกองทุน โดยมีหน้าที่เเละบทบาทหลักๆ 4 ประการ คือ

  • ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย

สมัยก่อนผู้คนอาจมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว รวมถึงการเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเงินที่ต้องมีค่าใช้จ่าย เเต่ทุกวันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงคำเเนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเเละข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้าง ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ทำให้เราเข้าถึงการลงทุนได้จากแอปพลิเคชันมือถือ

  • มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในยุคที่มีข้อมูลอยู่มหาศาล เทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยทำให้เราสามารถวิเคราะห์การลงทุนได้กว้างเเละลึกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานของข้อมูลได้ เพราะศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของการลงทุนคืออารมณ์ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตัดสินใจลงทุนจากอารมณ์มากกว่าการยึดถือด้านข้อมูลเป็นหลัก

  • ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง

เเพลตฟอร์ม Wealth Tech ทั่วโลกนั้นจะมีอัตราต่ำกว่าผู้เล่นดั้งเดิม ซึ่งบางเจ้าถูกลงกว่า 10 เท่า โดยค่าธรรมเนียมนั้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในระยะยาวที่จะมีผลโดยตรงต่อค่าตอบเเทน

  • เข้าถึงได้มากขึ้น

เทคโนโลยีทำให้ผู้คนเริ่มลงทุนได้โดยไม่ต้องมีขั้นต่ำ เเละใช้จำนวนเงินที่ไม่สูงมากจึงเข้าถึงคนหมู่มากได้ในเวลาที่รวดเร็ว

โดยกระเเสของ ‘WealthTech’ เริ่มต้นมาจากโซนสหรัฐอเมริกาเเละเเคนาดา ก่อนที่จะเข้ามายังเอเชีย ซึ่งในช่วงเเรกผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพหรือบริษัทเทคฯ เเต่ปัจจุบันเริ่มเห็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ระดับโลก ขยับมาเข้าซื้อกิจการบริษัท WealthTech มากขึ้น

อีกเทรนด์ที่มาเเรงก็คือคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งบริษัท WealthTech ทั้งหลายต่างให้ความสนใจมากขึ้น เเละมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ เกี่ยวกับคริปโตฯ อย่างเช่น StashAway ที่สิงคโปร์ก็มี Crypto Offering มากขึ้น

ในประเทศไทย เราก็หวังว่าจะเอาเข้ามาได้ในเร็วๆ นี้ เเต่ก็ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตต่างๆ ก่อน

Photo : Shutterstock

เงินทุนไหลเข้า เติบโตอย่าง ‘ก้าวกระโดด’ 

ภาพรวมอุตสาหกรรม WealthTech มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เเละมีการประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตได้ถึง 15-35%

บางสำนักข่าวระบุว่า WealthTech ทั่วโลกมีการบริหารเงินทั้งหมดอยู่ราว 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขจากทาง CNBC ระบุว่า เเค่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา WealthTech ก็มีการบริหารเงินรวมกว่า 1.1 ล้านล้าน
เหรียญเเล้ว (คิดเป็นกว่า 2 เท่าของจีดีพีไทยทั้งประเทศ)

ส่วนในเเง่ของการระดมทุนนั้น เมื่อย้อนไปช่วงทศวรรษก่อนต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะนักลงทุนยังไม่ค่อยเข้าใจใน Business Model เเต่ตอนนี้กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

โดยในปี 2019 อุตสาหกรรม Wealth Tech มียอดการระดมทุนที่ราว 3.5 พันล้านเหรียญ ต่อมาในปี 2021 มีการเติบโตเเบบก้าวกระโดด ด้วยยอดการระดมทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ด้านบวกในวิกฤตโควิด

ในช่วงเเรก StashAway ระดมทุนได้ยาก เเต่ช่วงหลังๆ มานี้ เรากลายเป็นฝ่ายที่เป็นผู้เลือกนักลงทุน สะท้อนให้เห็นเกมธุรกิจที่เปลี่ยนไป

ด้านการเเข่งขันนั้น มีผู้เล่นรายใหม่กระโจนเข้ามาในวงการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย StashAway จะมีคู่เเข่งหลักเฉลี่ยประมาณ 2-5 บริษัทในเเต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดใหญ่อย่างสิงคโปร์ ก็จะมีผู้เล่นหลัก 3-4 บริษัท ส่วนในไทยมีประมาณ 4-5 บริษัท

ในทุกวิกฤตใหญ่ของโลก จะเป็นช่วงที่คนเราสนใจเเละพิจารณาวางเเผนการเงินมากที่สุด จากผลกระทบทางรายได้เเละความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต จึงต้องคิดหาทางว่าจะบริหารการเงินอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นวิกฤต เเละรองรับเหตุที่ไม่คาดฝันอื่นๆ ที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย

StashAway ปักธงเเก้ Pain-Point การลงทุน 

สำหรับ StashAway เป็นเเพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายเเรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่เกิดขึ้นจาก Pain-Point ของผู้ก่อตั้งอย่าง Michele Ferrario ที่ต้องการมองหาโซลูชันการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง อีกทั้งยังต้องเจอค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูงเเละตัวเลือกน้อย

เขาจึงมีเเรงบันดาลใจที่จะสร้างเเพลตฟอร์มเพื่อเเก้ไขปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา โดยร่วมมือผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน คือ Freddy Lim และ Nino Ulsamer ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเเละมีประสบการณ์ด้านการบริหารสินทรัพย์ระดับโลก ต่อยอดขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

StashAway เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มบริหารการลงทุนในรูปแบบแอปพลิเคชัน ที่เปิดให้นักลงทุนเข้าถึงสินทรัพย์ทั่วโลกได้ผ่านการลงทุนใน ETF โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเพียง 4 ปี ซึ่งเร็วกว่าที่แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายใหญ่ของโลกอย่าง Betterment และ Wealthfront

เปิดให้บริการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เเละมีพนักงานราว 200 คน ผ่านการระดมทุนมาแล้ว 6 รอบ (Series D) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Venture Capital ระดับโลกอย่าง Sequoia Capital India, Eight Roads Ventures และ Square Peg เเละมีทุนชำระแล้ว (Paid-Up Capital) รวม 61.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2021)

อุตสาหกรรม Wealth Tech นั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มากๆ เเค่ใน 5 ประเทศที่เราอยู่ก็มี financial wealth มูลค่ามากกว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญเเล้ว จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกเยอะมาก เเละนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดย StashAway ตั้งเป้าจะเป็นเเพลตฟอร์มอันดับหนึ่งในเอเชียให้ได้

วางกลยุทธ์สู่ Top of Mind ของคนไทย 

StashAway จะเน้นชูจุดเด่นด้าน ‘กลยุทธ์การลงทุน’ ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก การปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่เสมอ วิเคราะห์สัญญาณของตลาดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมลงทุนด้วยความเสี่ยงที่เหมาะสม มีความหลากหลาย เเละค่าธรรมเนียมต่ำ

การที่คนไทยมีสัดส่วนการถือครองเงินสดถึง 47% ขณะที่ในสหรัฐฯ ประชาชนจะถือเงินสดเพียง 14% ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงการลงทุนของคนไทย โดยการถือเงินสดนั้นมีความเสี่ยงว่าจะมูลค่าลดลง หากต้องเจออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยส่วนใหญ่ก็มีเงินไม่เพียงพอกับการเกษียณ เเละมีการลงทุนกระจุกตัวเเค่ในตลาดไทย เหล่านี้จึงต้องมีการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจด้าน wealth management ให้มากขึ้น 

ตลาดไทยค่อนข้างใหญ่ มูลค่าเฉพาะกองทุนรวมมีถึง 5 ล้านล้านบาท เเละยังมีคนถือเงินสดอยู่อีกกว่า 47% นับเป็นโอกาสของธุรกิจ WealthTech ดังนั้นการเเข่งขันที่ดุเดือดจึงเป็นเหมือนการร่วมกันสร้างตลาดให้ใหญ่ขึ้น มีจุดเด่นที่เเตกต่างกันไป เป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนมากขึ้น” 

โดยมีเเนวโน้มที่คนไทยจะหันไปลงทุนหุ้นต่างประเทศมากขึ้น เพราะหากเอาสินทรัพย์มาถือไว้ที่ตลาดไทยจะเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังซบเซา เนื่องจากพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นหลักจึงฟื้นตัวยาก อีกทั้งยังไม่มีหุ้นบิ๊กเทคคอมพานีระดับโลก

หลัง StashAway เปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการมาตั้งเเต่ช่วงเดือนก.ย. 2021 ผลตอบรับดีกว่าที่คาด โดยจากนี้ จะมุ่งกลยุทธ์การตลาดไปที่การสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ พร้อมให้ความสำคัญกับทีมดูเเลลูกค้าที่จะคอยซัพพอร์ตอยู่เสมอ ทำการตลาดเพื่อเพิ่มการรับรู้ผ่านทางออนไลน์เเละออฟไลน์ไปพร้อมๆ กัน

เราให้ความสำคัญกับทีมเเละการพัฒนาคนมากๆ เลือกคนที่ถูกเเละใช่ ขั้นต่ำต้องสัมภาษณ์กัน 4 รอบ เราไม่ได้เน้นหาคนที่มีประสบการณ์ตรง เเต่เน้นหาคนเก่ง เชื่อใน mission ของบริษัทเเละมีไฟในการทำงาน พร้อมมี Growth Mindset ที่จะเติบโต ให้ความยืดหยุ่นอย่างการให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เเละลากี่วันก็ได้ในหนึ่งปี เน้นไปที่ความรับผิดชอบในงานเป็นหลัก

เป้าหมายของ StashAway ในตลาดไทย คือการได้เข้าไปอยู่ใน top of mind ของคนไทย เป็นเพื่อนคู่คิดช่วยให้คนไทยลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น พร้อมมีการวางเเผนการเงินที่ดีเพียงพอต่อการเกษียณ

โดยผู้บริหาร StashAway มีคำเเนะนำถึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนว่า

เราต้องตระหนักว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องทำ ให้เงินของเราทำงานไปพร้อมๆ กับที่เราทำงาน โดยควรจะเน้นไปที่การลงทุนระยะยาว ด้วยพลังของผลตอบเเทนทบต้นซึ่งจะต้องใช้เวลา พร้อมกระจายการลงทุน อย่าเก็บไว้ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป เลือกระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม อย่าหลอกตัวเอง ซิ่งหนักก็อาจจะเจ็บได้ เเละต้องรักษาวินัยในการลงทุนอยู่เสมอ

 

 

 

]]>
1383543
Fjord Trends 2022 : ส่อง 5 เทรนด์โลกธุรกิจ ปรับวิธีคิดใหม่รับความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป https://positioningmag.com/1374718 Mon, 21 Feb 2022 10:12:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374718 ส่อง 5 เทรนด์เเห่งปี 2022 ที่จะส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรมและธุรกิจ ปรับวิธีคิดใหม่เรื่องกลยุทธ์การเติบโต 
เมื่อผู้คนทบทวนความสัมพันธ์ที่มีกับงาน เทคโนโลยี แบรนด์ และโลกของตัวเองมากขึ้น 

จากรายงาน Fjord Trends 2022 ของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง ‘เอคเซนเชอร์’ ที่ได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคมาต่อเนื่องกว่า 15 ปี พบว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สังคมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งเเต่ระดับโครงสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับงาน วัฒนธรรมการบริโภค เทคโนโลยีและโลก

เหล่าพนักงานมีความคาดหวัง แนวคิด และมุมมองที่เปลี่ยนไป ทำให้บริษัทหรือองค์กรต่างๆ จึงต้องปรับตัวและออกแบบแนวการทำธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อหาแนวทางการออกแบบ การสร้างนวัตกรรม และการเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคต

ดาวิน สมานนท์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า เราไม่ควรมองข้ามเรื่องระดับของความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป หรือบทบาทของธุรกิจที่ต้องปรับตัวตาม การตัดสินใจต่างๆ ของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ อาจจะส่งผลต่อโลกและโครงสร้างในหลายด้านมากเกินกว่าที่จะจินตนาการได้ และทุกสิ่งจะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือเรื่องความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของคน ไม่ว่าจะกับเพื่อนร่วมงาน แบรนด์ สังคม สถานที่ และสิ่งต่างๆ

“จากการสำรวจพบว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีพนักงานแค่ 15% เท่านั้น ที่อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ 100% เหมือนเดิม”

โดย Fjord Trends 2022 เก็บข้อมูลจากนักออกแบบ และนวัตกรกว่า 2,000 คน จาก 40 แห่งทั่วโลกที่อยู่ในเครือข่าย Accenture Interactive ได้คาดการณ์พฤติกรรมมนุษย์ และ 5 เทรนด์ที่จะส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม และธุรกิจ ประกอบด้วย

1. Come as you are : เป็นอย่างที่ตัวเองเป็น

การที่ผู้คนรู้สึกควบคุมชีวิตตนเอง หรือ sense of agency มีมากขึ้นในช่วง 2 ปีของโควิด ส่งผลกระทบต่อวิธีการทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และการบริโภคทั้งสิ้น

ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงความสำนึกถึงตัวตน สิ่งที่สำคัญกับชีวิต และความเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้นในมุมมองที่เรียกว่า me over we ซึ่งสำคัญต่อองค์กรในแง่ของการบริหาร และการสร้างแรงจูงใจพนักงาน รวมถึงการเสริมสร้างค่านิยมให้พนักงานใหม่ และแนวทางการสานสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยพนักงานเลือกที่จะทำงานเเบบ Work From Home เเละมีช่วงเวลาที่ยืดหยุ่น ประเมินจากผลลัพธ์ของผลงาน บริษัทจึงต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างสิ่งที่พนักงาน ลูกค้าเเละบริษัทต้องการ

(Photo : Shutterstock)

2. The end of abundance thinking : หมดยุคเหลือเฟือ

ช่วงปีที่ผ่านมา การขาดแคลนของปัจจัยหลายอย่าง แม้จะเป็นปัญหาระยะสั้น แต่ส่งผลต่อเนื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแนวคิด จากการคิดเผื่อที่อยู่บนฐานของการที่ทุกอย่างมีให้ใช้อย่างเหลือเฟือ สะดวก และรวดเร็ว เปลี่ยนไปเป็นถึงความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งธุรกิจต้องรับมือกับความกังวลถึงปัจจัยต่างๆ ว่าจะมีพอหรือไม่อย่างที่หลายคนประสบทั่วโลก

3. The next frontier : พรมแดนใหม่

การแตกตัวทางวัฒนธรรมขนานใหญ่กำลังรอเวลาที่จะเกิดขึ้น โดย ‘Metaverse’ จะกลายเป็นพรมแดนใหม่ของอินเทอร์เน็ตที่หลอมรวมเลเยอร์ต่าง ๆ ของข้อมูล อินเทอร์เฟซ และพื้นที่ที่ผู้คนสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นพื้นที่ใหม่ในการสร้างรายได้ สร้างงาน และสร้างโอกาสที่ไม่สิ้นสุดให้แบรนด์ต่าง ๆ ด้วย

“ผู้คนคาดหวังให้ธุรกิจสร้างสรรค์ และนำพวกเขาไปสู่สิ่งใหม่ โลกจะไม่หยุดที่หน้าจอ และหูฟังเท่านั้น แต่เปิดประตูไปสู่ประสบการณ์ และสถานที่ต่าง ๆ ในโลกจริงที่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกดิจิทัล”

4. This much is true : ตอบเร็ว ตอบจริง (This much is true)

ผู้คนคาดหวังที่จะได้รับคำตอบจากการกดปุ่มแค่ครั้งเดียว หรือการสั่งงานด้วยเสียงผ่านระบบ voice assistant ก็ได้คำตอบในทันที หมายความว่าผู้คนจะถามมากขึ้น
“สำหรับแบรนด์สินค้าหมายถึงขอบเขตของคำถามจากลูกค้า และช่องทางการสอบถามจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นการออกแบบวิธีการตอบคำถามจึงเป็นความท้าทาย และเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่พร้อมเสริมสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในอนาคตด้วย”

5. Handle with care : ใส่ใจมากขึ้น

การดูแลใส่ใจทุกด้านเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างเด่นชัดในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง ดูแลผู้อื่น การบริการดูแลสุขภาพ และช่องทางที่ให้บริการทั้งทางดิจิทัลและโลกออฟไลน์ จึงเป็นทั้งโอกาส และความท้าทายสำหรับนายจ้าง และแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญทางการแพทย์ หรือการดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบในการดูแลตนเอง และผู้อื่นยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ในชีวิต นักออกแบบ และองค์กรธุรกิจจึงต้องคำนึงเหมือนกันว่าจะการสร้างพื้นที่สำหรับฝึกการดูแลเรื่องต่าง ๆ ในภาคปฏิบัติได้อย่างไร

“แบรนด์จะเผชิญกับความรับผิดชอบสำคัญ 2 เรื่อง คือ การใส่ใจดูแลโลกวันนี้ และต้องคำนึงถึงเรื่องการสร้างอนาคตในทางที่ดีต่อโลก ธุรกิจ และสังคมด้วย”

]]>
1374718
เทรนด์นี้มาเเรง พนักงานทั่วโลก เลือกรับค่าจ้างเป็น ‘คริปโต’ มากขึ้น https://positioningmag.com/1373748 Fri, 11 Feb 2022 11:27:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1373748 พนักงานทั่วโลก เลือกที่จะรับค่าตอบเเทนเป็นสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น โดยเฉพาะในสายงานเทคโนโลยีและการเงิน

ข้อมูลนี้มาจาก Deel บริษัทด้านการจ้างงานรายใหญ่ ที่มีเครือข่ายพนักงานกว่า 1 แสนคนใน 150 ประเทศทั่วโลก ระบุว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีพนักงานราว 2% (จาก 1 เเสนคน) สนใจรับค่าตอบแทนอย่างน้อยบางส่วนเป็นสกุลเงินคริปโตฯ หลังเริ่มเสนอทางเลือกนี้เมื่อเดือน ก.. ปีที่ผ่านมา

โดยในกลุ่มของผู้ที่เลือกรับค่าตอบเเทนเป็นคริปโตฯ นั้นกว่า 2 ใน 3 เลือกที่จะรับเป็นเหรียญยอดนิยมอย่างบิตคอยน์’ (BTC)

นอกจากนี้ ยังพบว่าพนักงานที่เลือกรับเงินเดือนเป็นคริปโตฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเเวดวงเทคโนโลยีและการเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าพนักงานในภาคธุรกิจอื่น

จากข้อมูลของ Deel เปิดเผยว่า พนักงานในอาร์เจนตินา สนใจรับค่าตอบแทนเป็นคริปโตฯ มากที่สุดถึง 1 ใน 3 เนื่องจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง รองลงมาคือพนักงานในไนจีเรีย ที่มีสัดส่วน 1 ใน 5 และพนักงานบราซิลมีสัดส่วนราว 3% ส่วนพนักงานในสหรัฐฯ ที่ Deel จัดจ้าง มีเพียง 1.2% เท่านั้น ที่เลือกรับค่าตอบเเทนเป็นคริปโตฯ

โดยในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ พนักงานจะไม่สามารถรับค่าตอบแทนเป็นสกุลเงินดิจิทัลได้โดยตรง’ ทาง  Deel จึงร่วมมือกับ Coinbase แพลตฟอร์มศูนย์กลางซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล มาให้บริการแปลงเงินคริปโตฯ ให้เป็นเงินสกุลท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การรับค่าตอบเเทนหรือเงินเดือนเป็นสกุลเงินดิจิทัล ไม่ง่ายเเละยังไม่เเพร่หลายมากนักในปัจจุบันเนื่องจากยังไม่ได้เป็นสกุลเงินที่รับประกันโดยรัฐบาล เเละมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่างๆ อย่างการที่บริษัทต้องรายงานค่าจ้างพนักงานต่อรัฐ เพื่อจัดเก็บภาษีเป็นสกุลเงินท้องถิ่น

เเต่ด้วยความที่ราคาของคริปโตฯ มีความผันผวนสูงมาก อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อพนักงานที่อาจจะถูกเรียกเก็บภาษีจากค่าตอบเเทน เมื่อเหรียญเหล่านั้นมีมูลค่าลดลงหรือเพิ่มขึ้นในอนาคตได้

ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในประเทศไทยก็มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็นกว่า 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,539 ล้านบาท และมีจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย (ข้อมูลจากกรมสรรพากร 28 ม.ค.65)

 

ที่มา : Bloomberg 

]]>
1373748
กระเเส “กล้องฟิล์ม” คืนชีพ…ไขข้องใจทำไม “ฟิล์ม” ในไทยถึงเเพงเเละขาดตลาด ?  https://positioningmag.com/1266562 Mon, 02 Mar 2020 10:14:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1266562 เเม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกล มีความสะดวก รวดเร็วทันใจ เเต่ความหลงใหลในความคลาสสิก ยังไม่เคยเลือนหายในทุกยุคสมัย เสน่ห์ของการ “กดชัตเตอร์เพื่อ 36 รูป” เป็นหนึ่งในนั้น 

ปรากฏการณ์การคืนชีพของ “กล้องฟิล์ม” จึงกลับมาอีกครั้งเเละนับเป็นหนึ่งในเทรนด์ฮิตของคนรุ่นใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 

ในขณะที่กล้องดิจิทัลมีการยกระดับฟังก์ชันทันสมัย กดถ่ายได้ไม่ซ้ำเเละเช็กดูรูปได้ทันที เเต่หลายคนก็ยังโหยหาการรอคอยเเละการได้ “ลุ้น” ภาพที่ออกมาจากระบวนการล้างฟิล์ม บวกกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสร้างความแตกต่างเเละสะท้อนเอกลักษณ์ของตัวเองผ่านภาพถ่ายที่ลงในโซเชียล การกลับมาของกล้องฟิล์มจึงตอบโจทย์นี้ได้ดี 

กระเเสกล้องฟิล์มไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เเต่ตอนนี้คนดังจำนวนมากก็เป็น “สาวกกล้องฟิล์ม” เต็มตัวเเล้ว ไม่ว่าจะเป็น “ลิซ่า Blankpink” “เวียร์ ศุกลวัฒน์-เบลล่า ราณี” รวมถึง “นาย ณภัทร” ที่มีผลงานภาพถ่ายออกมาให้เราได้เห็นผลบ่อยๆ ส่วนคอมมูนิตี้อย่างกรุ๊ป “คนรักกล้องฟิล์ม” ในเฟซบุ๊ก ปัจจุบันก็มีสมาชิกถึง 1.7 เเสนคนเเล้ว 

เรียกได้ว่ากระเเส “กล้องฟิล์มคัมเเบ็ก” นี้มาจริง ไม่ได้มาเล่นๆ

Photo : Lisa Blackpink IG @lalalalisa_m

หลายคนที่กำลังเล่นกล้องฟิล์มอยู่ อาจมีข้อสงสัยว่า ทำไม “ฟิล์ม” ในเมืองไทยจึงมีราคาเเพงเเละยังขาดตลาด รวมไปถึงเทรนด์ของคนรักกล้องฟิล์มส่งผลต่อวงการกล้องดิจิทัลอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันกับ “ฟูจิฟิล์ม” เจ้าใหญ่ต้นตำรับผู้ผลิตฟิล์มที่มีอายุกว่า 86 ปี 

ทำไมฟิล์มในไทยถึงขาดตลาด ? 

“เรามองเห็นกระเเสฟิล์มในไทยได้รับความนิยมในไทยชัดเจนเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงมีการสั่งออเดอร์เพิ่มมากขึ้น เเละทุกครั้งที่นำเข้ามาก็จะขายหมดทั้งสิ้น พอสินค้าไม่มีเพียงพอก็นำไปสู่การขายต่อเเบบอัพราคา ซึ่งก็ทำให้ราคาฟิล์มในตลาดเเพงขึ้น” สิทธิเวช เศวตรพัชร์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสผลิตภัณฑ์กล้องดิจิตอล อิมเมจจิ้ง บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

เขาอธิบายต่ออีกว่า ปัจจุบันมีการนำเข้าฟิล์มของฟูจิมาในไทยราว 10,000 ม้วนต่อเดือน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม การจะเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่นั้น “ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทเเม่”

“สาเหตุที่การนำเข้าฟิล์มมาที่ไทยยังน้อย เป็นเพราะบริษัทเเม่ที่ญี่ปุ่นมองว่าตลาดในยุโรปเเละอเมริกาใหญ่กว่าเรามาก จึงต้องผลิตสินค้าเพื่อส่งตลาดนั้นก่อน อีกทั้งกระบวนการผลิตฟิล์มก็ไม่ง่าย ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงอาจไม่ทันต้อความต้องการที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ขณะนี้ ซึ่งทางฟูจิฟิล์ม ประเทศไทยก็มีการรายงานความต้องการนี้โดยตลอด” 

“บริษัทเเม่ที่ญี่ปุ่น กำลังพิจารณาว่ากระเเสความนิยมฟิล์มในไทยตอนนี้เป็นระยะสั้นหรือระยะยาว ซึ่งจะมีผลต่อการสั่งผลิตต่อไป” 

Photo : Pixabay

กระเเสฮิตฟิล์ม สู่กล้องดิจิทัลเเบบ Film Simulation

ด้าน ปัทมาพร จันทร์จารุกุลกิจ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) บอกถึงมุมมองที่น่าสนใจถึงเทรนด์กล้องฟิล์มคัมเเบ็กที่ส่งผลต่อวงการ “กล้องดิจิทัล” ว่า จากความนิยมกล้องฟิล์มที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทได้พัฒนาฟังก์ชัน Film Simulation (ระบบการจำลองฟิล์ม) ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบสไตล์รูปภาพจากกล้องฟิล์มโดยนำมาไว้ในกล้องดิจิทัลให้สะดวกเเละถ่ายได้จำนวนมาก ซึ่งพัฒนาให้ภาพที่ได้ออกมาคล้ายคลึงกับฟิล์มของฟูจิมากที่สุด 

“เราเรียกว่าเป็นการผสมผสานยุคฟิล์มและยุคดิจิทัลในหนึ่งเดียว เห็นได้จากกล้อง FujiFilm X-Pro3 ที่เราได้ชูความเป็น Digital Film Camera สามารถถ่ายภาพชนิดของฟิล์มที่มีให้เลือกใช้มากถึง 11 แบบเพื่อเจาะตลาดคนที่ชอบภาพจากฟิล์มโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมากเเละจะมีการพัฒนาต่อไป” 

“ความท้าทายต่อไปของเราก็คือการทำให้คนที่ใช้กล้องฟิล์มมาซื้อกล้องดิจิทัลที่มี Film Simulation ด้วย ให้ลูกค้าเลือกใช้กับสถานการณ์ที่เหมาะสมตามไลฟ์สไตล์ของพวกเขา”

หนึ่งในสมาชิกในกรุ๊ป “คนรักกล้องฟิล์ม” บอกกับ Positioning ว่า ปัจจุบันเขาใช้ทั้งกล้องฟิล์มเเละกล้องดิจิทัลไปตามโอกาส เเละสิ่งที่ทำให้เขาชื่นชอบกล้องฟิล์ม เเม้ในวันที่กล้องดิจิทัลมีฟังก์ชันครบเเล้ว ก็คือเสน่ห์ของการต้อง “ตั้งใจ” ในการกดชัตเตอร์เเต่ละครั้ง ซึ่งมันทำให้ภาพเเต่ละภาพมีเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน ได้ความรู้สึกพิเศษตอนล้างรูปเสร็จ ส่วนราคาฟิล์มเเละกล้องถือว่าเเพงขึ้นกว่าเมื่อ 5-6 ปีก่อนมาก บางครั้งหากมีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเขาก็จะซื้อกลับมาเพื่อสำรองใช้เสมอ

Photo : fujifilm-x.com

ตลาดกล้องดิจิทัล ขาลงหนักมาก 

ฟากกล้องดิจิทัลยังต้องต่อสู้อีกยาว หลังดีมานด์ของกล้องที่ลดต่ำลงต่อเนื่อง ไม่แต่เพียงปีนี้แต่ยังจะส่งผลใปในปีต่อๆ ไปด้วย

โดยภาพรวมของตลาดกล้องดิจิทัลในประเทศไทย (ไม่รวมยอดขายออนไลน์) ในปี 2562 มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 190,000 ตัว มูลค่าตลาดประมาณ 5,800 ล้านบาท รวมกล้องคอมแพค กล้อง DSLR และกล้องมิลเลอร์เลส โดยมีอัตราการเติบโตติดลบ ประมาณ -29% ในเชิงปริมาณ และติดลบ -28% เชิงมูลค่า 

สำหรับ “กล้องมิลเลอร์เลส” ในปี 2562 ตลาดโดยรวมจำนวนตัว ประมาณ 117,000 ตัว ติดลบประมาณ -29% ในแง่จำนวนตัว และ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,900 ล้านบาท ลดลงประมาณ -20% เมื่อเทียบกับปี 2561

โดยขณะที่ กล้อง DSLR จำนวนตัวประมาณ 3,400 ตัว มีอัตราลดลงถึง -36% เมื่อเทียบกับปี 2561 ขณะที่เชิงมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท มีสัดส่วนลดลงถึง -44%

สำหรับสาเหตุหลักของการเติบโตที่ลดลงนั้น เกิดจากการที่ผู้บริโภคได้เปลี่ยนพฤติกรรมการถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัล มาเป็นการถ่ายภาพโดยสมาร์ทโฟน เเละคำนึงถึงความง่ายในการใช้งานผ่านทางสั่งการแบบ Easy GUI และความสะดวกในการแชร์ภาพ หรือไฟล์ วิดีโอไปยังโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook,Line และ Instagram

ปรับกลยุทธ์ จับลูกค้าคนรุ่นใหม่ Vlogger – Youtuber

การปรับกลยุทธ์ใหม่ของ “ฟูจิฟิล์ม” ในปีนี้ จึงเป็นการมุ่งเน้นการจับตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมเป็น Vlogger และ Youtuber ซึ่งมีกำลังซื้อสูงเเม้เศรษฐกิจไม่อำนวย เเละกระแสการถ่ายคลิปวิดีโอเริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยหวังว่าจะเป็นการปลุกกระแสความต้องการของกลุ่ม Content  Creator ทำให้ตลาดมีการแข่งขันและขยายตัวในอุตสาหกรรมการถ่ายภาพโดยรวม

“เทรนด์ซื้อสมาร์ทโฟนเเทนกล้องใหญ่ มีเเต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราต้องปรับตัวตาม โดยไม่ต้องไปเเย่งลูกค้าในส่วนนั้น เเต่ต้องดึงดูดใจให้คนที่ซื้อสมาร์ทโฟนอยู่เเล้ว อยากซื้อกล้องของเราด้วย” ผู้บริหารฟูจิฟิล์มกล่าว 

ด้านความเคลื่อนไหวของ “โซนี่” ก็ออกเเคมเปญ #VlogwithSony เพื่อหันมาขยายฐานลูกค้าที่เน้นวิดีโอมากขึ้นเช่นเดียวกัน จากเดิมที่โฟกัสเฉพาะภาพนิ่ง 

ส่วนเจ้าใหญ่อย่าง “นิคอน” ก็เริ่มเกมการตลาด ต่อยอดฐานลูกค้าปัจจุบันด้วยการหนุนให้อัพเกรดกล้อง-เลนส์เป็นระดับสูงขึ้น พร้อมขยายตลาดรุกกลุ่มถ่ายวิดีโอซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ด้วยการสื่อสารผ่านออนไลน์ และกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ 

ตลาดกล้องดิจิทัลยังคงลดลงต่อไปเเน่นอน ยิ่งต้องเผชิญทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเเละปัจจัยลบต่างๆ ที่ทำให้คนใช้จ่ายน้อยลง จึงน่าจับตาต่อไปว่าบริษัทกล้องจะเดินเกมสู้เเละมีหมัดเด็ดอะไรมาเอาใจลูกค้าอีก 

]]>
1266562
แบรนด์ต้องรู้ ! 6 เทรนด์กำหนดตลาด Mobile Marketing ปี 2018 https://positioningmag.com/1156479 Mon, 12 Feb 2018 01:15:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1156479 อนาคตของการตลาดบนอุปกรณ์พกพา หรือ Mobile Marketing นั้นกำลังจะเป็นรูปร่างชัดเจนขึ้นอีกในปีนี้ ทั้งแง่การเติบโต การเปลี่ยนขั้วควบรวมกิจการ และการมุ่งเข้าถึงมวลชนผ่านช่องทางย่อยหรือ Sub-Channel นี่คือ 6 แนวโน้มที่จะทำให้ปี 2018 เป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับ Mobile Marketing อย่างแท้จริง 

1. โลกเปลี่ยนต้องตามให้ทัน

ในวันที่แบรนด์ต้องสนใจทั้ง Influencer, Social Media, Chatbot และแอปพลิเคชั่นรับส่งข้อความ Messaging App เพื่อ Engage หรือเข้าถึงคนรุ่นใหม่ Millennial รวมถึง Gen Z ให้ได้ แนวโน้มที่จะเกิดในปีนี้คือแบรนด์จะต้องพยายามผสานและยกระดับประสบการณ์ Offline และ Online ของลูกค้าให้ได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้อีก 

การสำรวจล่าสุดพบว่าแบรนด์ใหญ่เริ่มใช้บริการชุดคำสั่งเพื่อส่งบทสนทนาเมื่อผู้ใช้ไม่ได้ออนไลน์ (Offline Conversions API) ของ Facebook ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาแล้ว ทำให้แบรนด์มีโอกาสส่งสารจากนักช้อปออนไลน์ระดับแม่เหล็กมาให้นักช้อปในร้านค้าได้เห็นข้อมูลด้วย ทั้งหมดนี้จะทำให้แบรนด์สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าเดิม แถมยังทำโปรโมชั่น และทำแคมเปญได้ดีขึ้นในงบประมาณที่จำกัด

เทรนด์นี้ยังเป็นที่มาของการที่แบรนด์เริ่มแห่มาใช้เทคโนโลยี AR และ AI รวมถึงการรองรับการค้นหาข้อมูลด้วยภาพและเสียงให้ครบ เนื่องจากแรงกระเพื่อมของข้อมูลจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้การเพิกเฉยของแบรนด์ที่ไม่เคยแตะต้องเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป

การสำรวจล่าสุดพบว่า การค้นหาด้วยภาพและการจดจำภาพจะเป็นอีกเทคโนโลยีที่แบรนด์จะสนใจในปีนี้ ปัจจุบัน ผู้ค้าปลีกจำนวนหนึ่งได้เปิดตัวแพลตฟอร์มบริการวิเคราะห์ภาพ Image Recognition as a Service แล้ว เช่น Target ที่ใช้เทคโนโลยี Lens ของ Pinterest เพื่อค้นหาภาพ คาดว่าในปี 2018 แบรนด์อื่นจะเริ่มดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์และภาพแบรนด์ของตัวเองสามารถถูกวิเคราะห์ได้ง่ายด้วยเทคโนโลยีการค้นหาด้วยภาพ, AR และ QR Code รวมถึง Contextual Data หรือข้อมูลตามบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกัน

2. เนื้อหาต้องมีอายุ

เทรนด์นี้เกี่ยวกับการสร้างเนื้อหา Mobile Content ในปี 2018 นอกจากเนื้อหานั้นควรจะต้องเป็นเอกลักษณ์ ยังควรเป็นเนื้อหาที่มีอายุ เพื่อลบทิ้งไปในเวลาที่กำหนด

Snapchat เป็นตัวอย่างชัดเจนของเทรนด์นี้ เพราะการทำให้เนื้อหาหมดอายุสามารถเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารด้วยภาพและวิดีโอของผู้ใช้โดยที่ Instagram และ Facebook ต้องเดินตามบ้าง จุดนี้ Rob Kabrovski มองว่าเป็นความท้าทายที่ทำให้ข้อมูลนั้นมีเสน่ห์ขึ้น เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ผู้ใช้สามารถรับข้อมูลได้ง่ายแค่แตะนิ้ว

3. ปีนี้คือปีแห่ง AR

เทคโนโลยีเสมือนจริง AR ถูกคาดว่าจะเป็น Mass ที่เข้าถึงมวลชนในปี 2018 ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดของ Apple, Facebook, Google และอื่นๆ เรียกว่ายิ่งแข่งกันก็ยิ่งทำให้ประสบการณ์ใช้งาน AR ของผู้บริโภคดีขึ้น โอกาสที่ธุรกิจจะขายสินค้าได้มากขึ้นจากการนำภาพดิจิทัลวางทับบนวิวจริงข้างตัวผู้ใช้ก็จะยิ่งมีมากตามไปด้วย 

ไม่ว่าใครชนะ นักการตลาดจะมีเครื่องมือใหม่ที่ใช้งานง่ายแน่นอน จุดนี้มีความเป็นไปได้ว่า แอปพลิเคชั่น AR มากมายจะเปิดตัวสู่ตลาดในช่วงปีนี้ คาดว่าจะมีทั้งแอปพลิเคชั่นที่เป็นเกมและแอปพลิเคชั่น Social AR ตามการวิเคราะห์ของ Forrester

หนึ่งในแอปพลิเคชั่น AR ที่นักการตลาดทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมากคือเกม Harry Potter AR ที่เพิ่งถูกประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยต้นสังกัด Warner Bros. และ Niantic ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังเกมยอดนิยม Pokemon Go จุดนี้สื่อฟันธงว่าปี 2018 จะเป็นปีที่ผู้บริโภคจะเข้าใจ AR มากขึ้นจากเกมนี้

4. เสียงมาแทนกดปุ่ม

เสียงจะกลายเป็นส่วนติดต่อหลัก เพราะผู้บริโภคได้ลิ้มรสความสะดวกและความสะดวกในการขอสิ่งที่ต้องการผ่านโปรแกรมผู้ช่วยดิจิทัลและลำโพงอัจฉริยะในปีที่ผ่านมา ในปีนี้ การรองรับเสียงในระบบและอุปกรณ์ไอทีจะมีมากขึ้น ซึ่งหมายความว่านักการตลาดที่สามารถเป็นกลุ่มแรกที่ให้ประสบการณ์ใหม่กับลูกค้า อาจจะได้รับความภักดีจากลูกค้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าอินเทอร์เฟซแบบกราฟิกของหน้าจอสัมผัสกำลังจะตาย แม้การสำรวจจะสะท้อนชัดเจนว่าผู้บริโภคกำลังหลงใหลในประสบการณ์การเชื่อมต่อด้วยเสียง โดย 24% ของคนกลุ่มนี้เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง

Sheryl Kingstone ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประสบการณ์ลูกค้าและการพาณิชย์ บริษัท 451 Research ชี้ว่าโลก Mobile กำลังเปลี่ยนไปเพราะบริการด้านเสียง โดยบอกว่านักพัฒนาและนักการตลาดจะต้องมุ่งเน้นไปที่การลดจุดเสียดสีและสร้างโอกาสในการขยายบริการ โดยยกตัวอย่างว่า แบรนด์อาจต้องมีวิธีง่ายๆ ในการผลักดันข้อมูลสำหรับการโต้ตอบบนอุปกรณ์ Echo ไปยังโทรศัพท์ ซึ่งหมายถึงการประยุกต์ที่ชาญฉลาดและคุ้มค่าลงทุน

5. ดีลบันลือโลก

การจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างบริษัท จะทำให้หลายแบรนด์มีจุดยืนที่เข้มแข็งขึ้นในวันที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของ Mobile Ecosystem ตกเป็นของ Apple, Amazon, Google และ Facebook อย่างปี 2018 

นอกจาก Disney ที่เทเงิน 5.24 หมื่นล้านเหรียญซื้อ 21st Century Fox ปีนี้คาดว่าจะเป็นปีที่ Amazon อาจเข้าซื้อกิจการค้าปลีกรายใหญ่เหมือนที่เคยซื้อ Whole Foods คาดว่าห้าง Target, Nordstrom และ Lowe’s ล้วนมีโอกาสที่จะถูกซื้อกิจการได้ตลอดเวลา 

6. ต้องบริหารจัดการข้อมูลแบบยุคใหม่

ฝรั่งใช้คำว่า Next-Generation Data Management ที่หลายแบรนด์การันตีว่าจะทำในปีนี้ ทั้งธุรกิจภาคค้าปลีกและการเงิน ต่างล้วนใช้ทั้ง CRM, ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมโซเชียล และตำแหน่งที่อยู่หรือ location เมื่อให้สามารถระบุตัวลูกค้าได้แม่นยำ

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มลูกค้าอัจฉริยะ ซึ่งเป็นยุคถัดไป หรือ Next Generation เหนือจากแพลตฟอร์มข้อมูลลูกค้าแสนธรรมดา จุดนี้หลากใครไม่เคยดำเนินการเลย ย่อมจะไม่มีทางประสบความสำเร็จในการทำ Mobile Marketing แน่นอน

ที่มาmobilemarketer.com/news/6-trends-that-will-define-mobile-marketing-in-2018/514306/

]]>
1156479