เศรษฐกิจดิจิทัล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 28 Apr 2024 07:48:14 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Stripe มอง 3 เทรนด์ธุรกรรมข้ามพรมแดน ชี้เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก https://positioningmag.com/1471210 Sun, 28 Apr 2024 07:44:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1471210 Stripe แพลตฟอร์มให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน มอง 3 เทรนด์ธุรกรรมข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมองถึงศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนยังเติบโตได้อีกมาก และมีแผนขยายบริการอื่นๆ ในประเทศต่างๆ ของทวีปเอเชียเพิ่ม

Positioning พูดคุยกับ ศริตา ซิงห์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และ จีน ของ Stripe และ ธีย์ ฉายากุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของ Stripe ถึงเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล โอกาสของอาเซียน หรือแม้แต่เรื่องการเจาะตลาดของ Stripe หลังจากนี้

ศริตา กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ดีแม้ว่าจะพบเจอกับเรื่องต่างๆ มากมาย ขณะเดียวกันเธอได้กล่าวถึงทวีปเอเชียมีหลายประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จากการเติบโตของ GDP ที่สูง นอกจากนี้เธอยังได้ชี้ว่าสิ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้ก็คือเศรษฐกิจดิจิทัล

กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และ จีน ของ Stripe ยังกล่าวเสริมว่า “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในตลาดอินเทอร์เน็ตที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกปัจจุบัน”

Stripe ได้มองถึงแนวโน้มสำคัญ 3 ประการที่ขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคตภายในทศวรรษหน้า ได้แก่

  • การค้าข้ามพรมแดน รายงานล่าสุดของ Stripe เกี่ยวกับการค้าดิจิทัลทั่วโลกพบว่า 84% ของธุรกิจที่ทำการสำรวจได้ขายสินค้าและบริการในหลายตลาด และโลกออนไลน์ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้หารายได้มากกว่าเดิม ปัจจุบันการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนมีมากถึง 1 ใน 3 ของธุรกรรมทั่วโลก
  • การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม แม้ว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ข้อสังเกตล่าสุดแสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มและตลาดดิจิทัลกำลังกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น ผู้บริหารของ Stripe ได้ชี้ให้เห็นจากบริการแพลตฟอร์มที่เติบโตขึ้น
  • ความเป็นผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ ผู้บริหารของ Stripe ได้ชี้ถึงหลายบริษัทเริ่มปลุกปั้นผู้ประกอบการภายในบริษัทตัวเอง ให้พนักงานสร้างธุรกิจได้

ผู้บริหารหญิงจาก Stripe ยังกล่าวเสริมว่า “เชื่อว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจในโลกทั่วไปมากถึง 2.5 เท่า”

ไม่เพียงเท่านี้ เธอยังชี้ถึงคนทั่วไปได้เข้าถึงโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น 125,000 คนต่อวันในอาเซียน ถือว่าเป็นปริมาณที่สูง ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาส โดยประเทศไทยนั้น Stripe ได้ให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี 2022 เป็นต้นมา

ศริตา ซิงห์ – กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และ และอินเดีย ของ Stripe / ภาพจากบริษัท

Stripe แตกต่างกับผู้ให้บริการรายอื่นอย่างไร

กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และ จีน ของ Stripe ได้กล่าวถึงแพลตฟอร์มของบริษัทนั้นถือว่าเป็นโครงสร้างทางพื้นฐานทางการเงิน และมองว่าบริการรับชำระเงินหรือ Payment Gateway นั้นถือว่าเป็นบริการส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยบริษัทมีบริการอื่นไม่ว่าจะเป็น Banking As A Service บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติ การจัดตั้งบริษัท เป็นต้น

ขณะที่ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของ Stripe ได้กล่าวเสริมว่า การสร้างความไว้ใจของ Stripe คือการที่ลูกค้าได้พบกับประสบการณ์ผ่านการใช้งานจริง และถ้าลูกค้าเห็นว่า Stripe ได้ช่วยบริษัททั่วโลกได้มากแค่ไหน ก็สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาด้านการเงิน เช่น ระบบชำระเงินให้ลูกค้าหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Toyota ไปจนถึง Spotify เป็นต้น

กรณีศึกษาในประเทศไทย

ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของ Stripe ได้ยกกรณีศึกษาของ จิม ทอมป์สัน แบรนด์ค้าปลีกแฟชั่นของไทยที่ต้องการธุรกิจไปยังตลาดทั่วโลก ธีย์ ได้กล่าวถึงทางแบรนด์ได้ติดต่อว่าทำอย่างไรให้ลูกค้าชาวต่างชาตินั้นสามารถสั่งซื้อสินค้าและทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกมากกว่าผู้บริการเจ้าเดิม หรือแม้แต่การขยายธุรกิจไปยังประเทศสิงคโปร์ ทำยังไงให้ลูกค้ามีประสบการณ์ในการใช้งานระบบจ่ายเงินได้ดีสุด

ธีย์ ยังได้กล่าวถึงลูกค้าในประเทศไทยได้หันมาใช้ Stripe เยอะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังมีทีมพัฒนาในไทยเพื่อรับฟังความเห็นหรือหาวิธีการในการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อยหรือรายใหญ่ รวมถึงการพูดคุยกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อพัฒนาวิธีการต่างๆ ให้ดีขึ้น

ขยายตลาดไปยังทวีปเอเชีย

ศริตา ได้กล่าวถึงการขยายธุรกิจของ Stripe ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิกว่าในการขยายธุรกิจไปนั้นแต่ละประเทศต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในกรณีของประเทศไทยนั้นอาจไม่ได้ต้องการระบบการคิดภาษี ซึ่งของไทยนั้นใช้อัตราภาษีเดียวกัน แตกต่างกับบางประเทศ ฉะนั้นในการขยายบริการนั้นแต่ละประเทศก็จะได้รับบริการไม่เหมือนกัน

ขณะเดียวกันการเข้ามาของเทคโนโลยี AI นั้นบริษัทได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้โดยใช้ข้อมูลธุรกรรมไปวิเคราะห์พฤติกรรมที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือแม้แต่การตรวจสอบเรื่องการฉ้อโกง

นอกจากนี้ Stripe เองยังเตรียมที่จะพัฒนาบริการหรือผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานของประเทศนั้นๆ ด้วย

]]>
1471210
รายงานล่าสุดชี้เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนโตช้าลง คาดว่าปีนี้รายได้จากธุรกิจดิจิทัลแตะ 1 แสนล้านเหรียญได้ https://positioningmag.com/1450237 Wed, 01 Nov 2023 10:47:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1450237 Google Temasek และ Bain & Company ได้ออกรายงาน e-Conomy SEA ซึ่งรวมเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2023 นี้ โดยคาดว่ารายได้ของธุรกิจดิจิทัลจะแตะ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้

Google และกองทุนความมั่งคั่งของสิงคโปร์อย่าง Temasek รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอย่าง Bain & Company ได้ออกรายงาน e-Conomy SEA ประจำปี 2023 โดยประเด็นที่น่าสนใจในปีนี้คือเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม

Positioning สรุปประเด็นที่น่าสนใจของรายงานดังกล่าวมาฝาก 

ในรายงานได้ชี้ถึงสภาวะเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตได้ดี แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจภายนอกจะมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะเดียวกันในรายงานมองว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลับมาในไตรมาส 3

รายงานดังกล่าวชี้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลหลังปี 2025 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะเติบโตได้ช้าลง หลังจากนี้ ในประเทศไทยเศรษฐกิจดิจิทัลในช่วงปี 2025-2030 เติบโตเฉลี่ยราวๆ 13% ต่อปี จากเดิมในช่วงปี 2023-2025 เติบโตได้มากถึง 17% ต่อปี

สำหรับรายได้จากเศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2023 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นแตะระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในปีนี้ ซึ่งเติบโต 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2016 ที่ผ่านมา ขณะด้านบริการด้านการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล (ที่เป็นสีเทา) เองก็กำลังเติบโตเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริการลงทุน บริหารความมั่งคั่ง ประกัน ฯลฯ

ถ้าหากมาแยกเม็ดเงินของเศรษฐกิจดิจิทัล E-commerce ยังถือเป็นสัดส่วนมากที่สุดคือ หรือด้านอื่นอย่างด้านแพท่องเที่ยวถือว่าเติบโตได้ดี ซึ่งเป็นการฟื้นตัวกลับมาจากการแพร่ระบาดของโควิด ขณะที่ด้าน Online Media เริ่มเติบตัวชะลอลง

สำหรับธุรกิจ E-commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายได้ยังถือว่าเติบโต โดยในปี 2023 เติบโตมากถึง 22% อย่างไรก็ดีในช่วงทีผ่านมาผู้เล่นหลายรายเองก็ต้องเลือกว่าจะต้องทำให้รายได้เติบโต หรือแม้แต่ต้องป้องกันไม่ให้คู่แข่งรายใหม่เข้ามา

รายงานยังได้ชี้ถึงการลงทุนของ VC ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงจนสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น (ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง) ขณะเดียวกันนักลงทุนก็คาดหวังว่าเหล่าบริษัทสตาร์ทอัพจะสามารถกลับมาทำกำไรได้ และสามารถดำเนินธุรกิจในระยะยาวแบบยั่งยืนได้

โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีดีลการลงทุนเมื่อคิดมูลค่าเม็ดเงินแล้วที่น้อยสุด ในช่วงครึ่งปี 2023 นั้นมีการลงทุนแค่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยเศรษฐกิจดิจิทัล รายงานดังกล่าวคาดว่าจะโตจนมีขนาด 100,000 ถึง 165,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 โดยขนาดใหญ่ที่สุดนั้นมาจาก E-Commerce รองลงมาคือ Online Travel และ Online Media

บริการเงินแบบดิจิทัลของไทยนั้นได้ผลดีจากการสนับสนุนของหน่วยงานกำกับดูแล โดยรายงานฉบับนี้คาดว่าภายในปี 2023-2025 จะทุกภาคส่วนจะเติบโตไม่น้อยกว่า 15% โดยในรายงานดังกล่าวมองว่าส่วนของบริการบริหารความมั่งคั่งจะเติบโตมากที่สุด รองลงมาคือบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล

]]>
1450237
มองทิศทาง ‘เศรษฐกิจดิจิทัลไทย’ จะไปได้ไกลแค่ไหนหากไม่มีโควิดเป็นตัวกระตุ้น https://positioningmag.com/1407646 Thu, 10 Nov 2022 11:28:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1407646 ย้อนไปปี 2016 ที่ Google จับมือกับ Temasek และ Bain & Company ในการทำรายงาน e-Conomy SEA Report โดยในปีแรกนั้นได้คาดการณ์ว่า มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะแตะ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 แต่ด้วยการเติบโตที่เร็วเกินคาด ทำให้ปี 2022 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคแตะเป้าหมายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการประจำประเทศ ของกูเกิลประเทศไทย เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 20% YoY โดยปัจจัยเร่งก็คือ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาใช้บริการดิจิทัลมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ, ออนไลน์มีเดีย, ทรานซ์สปอร์ตแอนด์ฟู้ด และดิจิทัลไฟแนนซ์

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโต โดยมีผู้ใช้ใหม่ถึง 20 ล้านคน รวมผู้ใช้ทั้งหมดเป็น 460 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 77% อย่างไรก็ตาม การเติบโตนั้นเริ่มจะช้าลง โดยคิดเป็นเพียง 4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากในช่วงปี 2020-2021 ซึ่งเป็นการเติบโตในระดับสูงสุดเนื่องจากมีการระบาดของ COVID-19 เป็นตัวกระตุ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายทำให้การใช้ชีวิตกลับสู่สภาวะปกติ ประกอบกับความท้าทายจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งเรื่องของสงครามที่ทำให้เกิดปัญหาด้านซัพพลายเชนทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่เชื่อว่าจะยังเติบโตได้เพราะภาคการท่องเที่ยว (ออนไลน์ทราเวล) ที่กลับมา

“กลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ, ออนไลน์มีเดีย, ทรานซ์สปอร์ตแอนด์ฟู้ด, ออนไลน์ทราเวล และ ดิจิทัลไฟแนนซ์ ซึ่งออนไลน์ทราเวลกำลังกลับมาเพราะประเทศเปิดมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่น่าจับตาในอนาคตคือ เฮลท์เทค เอดเทค บริการซอฟต์แวร์ แอส อะ เซอร์วิส (Saas) และ Web3” แจ็คกี้ หวาง กล่าว

ประเทศไทยมีอีคอมเมิร์ซขับเคลื่อน

ในส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยปี 2022 คาดว่ามีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 17% และภายในปี 2025 มูลค่าจะแตะ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการเติบโตเฉลี่ย 15% โดยสิ่งที่ขับเคลื่อนในปัจจุบันมาจาก อีคอมเมิร์ซ โดยมีมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 63% ของมูลค่ารวม โดยตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย และคาดว่าจะเติบโตเป็น 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

“อีคอมเมิร์ซไทยปีนี้เติบโต 8% ในส่วนของอัตราการใช้บริการอยู่ที่ 94% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่าตลาดมาชัวร์แล้ว ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเริ่มหาทางทำกำไรของแพลตฟอร์ม”

ส่วนตลาด ฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่การเติบโตกลับสู่ภาวะปกติ จากที่เคยเติบโตถึง 3 เท่าในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก โดยปี 2022 คาดว่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยมีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 12% และคาดว่าจะแตะ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 20% ภายในปี 2025

“ตลาดฟู้ดเดลิเวรี่ไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซียเช่นเดียวกับอีคอมเมิร์ซ โดยตลาดยังมีช่องว่างให้เติบโต เพราะค่าเฉลี่ยของภูมิภาคในการซื้ออาหารออนไลน์คิดเป็นสัดส่วน 2-4% จากการซื้ออาหารทั้งหมด ซึ่งในบางประเทศมีสัดส่วนถึง 6-8% ดังนั้น ยังเติบโตได้อีก”

ภาคการขนส่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 36% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

สื่อออนไลน์ชะลอตัว ท่องเที่ยวเริ่มฟื้น

สื่อออนไลน์ เช่น บริการวิดีโอ เพลง เกม และโฆษณา โดยหลังจากที่เติบโตสูงในช่วงปีที่ผ่านมา ในปี 2022 นี้การเติบโตก็กลับสู่สภาวะปกติที่ 10% มีมูลค่ารวม 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในกลุ่มที่เติบโตลดลงมากที่สุดคือ เกม เนื่องจากคนใช้เวลานอกบ้านมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาเล่นเกมเหมือนก่อน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจสื่อออนไลน์จะเติบโต 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 7  พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

ในส่วนของ การท่องเที่ยวออนไลน์ เริ่มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยวหรือออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้านกันมากขึ้น โดยมีการเติบโต 139% คิดเป็นมูลค่าสินค้ารวม 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถึงในระดับก่อน COVID-19 ระบาด ที่มีมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ คาดว่าจะเติบโต 22% มีมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

“ตอนนี้การท่องเที่ยวออนไลน์ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางในประเทศเป็นหลัก เพราะบางประเทศหรือบางสายการบินยังไม่เปิด”

Photo : Shutterstock

การลงทุนในดิจิทัลไฟแนนซ์แซงอีคอมเมิร์ซ

ในส่วน การลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services : DFS) มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยเทรนด์ที่เห็นคือ การกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เฮลท์แคร์ บริการซอฟต์แวร์ SaaS และที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ บริการด้านการเงินดิจิทัล ซึ่งแซงหน้าการลงทุนอีคอมเมิร์ซขึ้นมาเป็น อันดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน มูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนระดับ Series-C จำนวนมากในภาคธุรกิจบริการด้านการเงินดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ

“เมืองไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ทั้งอินเทอร์เน็ต บริการเพย์เมนต์ แม้ไทยมีสตาร์ทอัพไม่เยอะจริง แต่มีบริษัทใหญ่ที่แข็งแรงและสนใจในดิจิทัลอีโคโนมีและพร้อมลงทุนในดิจิทัลโดยเฉพาะธนาคาร ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลในไทยเติบโตไปได้ ซึ่งการลงทุนไม่จำเป็นว่าต้องมาจากยูนิคอร์นหรือสตาร์ทอัพ” วิลลี ชาง Associate Partner at Bain & Company กล่าว

]]>
1407646
‘ดิจิทัลเเบงกิ้ง’ โตไวในอาเซียน โอกาสทองของ KBank สู่การเป็นธนาคารเเห่งภูมิภาค https://positioningmag.com/1364524 Thu, 02 Dec 2021 04:00:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364524

‘อาเซียน’ กลายเป็นดาวรุ่งด้าน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ที่ดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลจากทั่วโลก ยิ่งในยามวิกฤตโรคระบาด ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซเเละฟินเทค

จากรายงาน e-Conomy SEA Report 2021 ประเมินว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศในอาเซียน จะมีมูลค่าถึง 3.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 และมีโอกาสแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030

เมื่อผู้คนเริ่ม ‘เปิดใจเเละคุ้นชิน’ กับการทำธุรกรรมการเงินดิจิทัล จนเเทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเเล้ว

จึงเป็นโอกาสของ ธนาคารใหญ่ของไทย ที่จะเร่งเกมบุกเข้าสู่ ‘ตลาดเติบโตใหม่’ เจาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อปูทางสร้าง ‘ดิจิทัล เเบงกิ้ง’ ให้เข้าถึงกลุ่มประชากรจำนวนมาก

เห็นได้ชัดจากความเคลื่อนไหวสำคัญ เพื่อการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 ของธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ที่ขยับเข้าไปทำตลาดในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยกลยุทธ์หลักๆ ของ KBank จะมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมต่อเครือข่ายการค้าและการลงทุนในอาเซียนเข้าด้วยกันผ่าน ‘ดิจิทัล แพลตฟอร์ม’ เเละจุดหมายล่าสุดก็คือภารกิจเจาะตลาดเนื้อหอมอย่าง ‘เวียดนาม’


เวียดนาม สนามเเข่งดิจิทัลแห่งอาเซียน

 เวียดนาม กำลังเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบตามเทรนด์โลก โดยเฉพาะในภาคส่วนอีคอมเมิร์ซเเละเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) พร้อมการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ประกาศตั้งเป้าให้เศรษฐกิจดิจิทัล มีสัดส่วนถึง 20% ของจีดีพีประเทศ ภายในปี 2025 และสัดส่วน 30% ภายในปี 2030 ซึ่งต่อจากนี้ก็คงจะมีการออกนโยบายเเละเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อดึงดูดให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติทั้งหลายเข้ามาลงทุน

จากรายงานของสื่อท้องถิ่นอย่าง VnExpress ระบุว่า ณ ตอนนี้เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.2% ของจีดีพี โดยรัฐบาลยังตั้งเป้าให้ประชากรกว่า 80% ใช้งานการทำธุรกรรมออนไลน์อีกด้วย

 ใน e-Conomy SEA Report 2021 มีประเด็นเกี่ยวกับ ‘ผู้บริโภคดิจิทัล’ ในเวียดนามที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่โรคโควิด-19 ได้กลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เวียดนามมีจำนวนผู้บริโภคดิจิทัล เพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านราย ในจำนวนนี้ ‘มากกว่าครึ่ง’ มาจากพื้นที่นอกเขตเมืองใหญ่  และกว่า 99% ตั้งใจจะใช้บริการออนไลน์ต่อไปหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

สะท้อนให้เห็นว่าชาวเวียดนามได้หันมาใช้สินค้าและบริการดิจิทัลกันในระดับสูงมาก โดยเหล่าพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ในเวียดนามถึง 30% เชื่อว่าพวกเขาอาจจะไม่สามารถพยุงธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ได้ ‘หากไม่มีแพลตฟอร์มดิจิทัล’ เข้ามาช่วย 


โอกาส KBank สู่ธนาคารเเห่งภูมิภาค ‘บุกเวียดนาม’ ด้วยกลยุทธ์ที่เเตกต่าง

เเม้ว่าการแข่งขันของ ‘สถาบันการเงิน’ ในเวียดนามจะค่อนข้างรุนแรง แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

เมื่อเห็นช่องว่างการตลาดที่เอื้อต่อการลงทุน ‘กสิกรไทย’ ไม่รอช้าเดินหน้าบุกเวียดนามเต็มสูบ ประเดิมเปิดสาขาเเรกที่ ‘โฮจิมินห์’ พร้อมขยายทีมงานเพิ่ม ประเมินปี 2022 มียอดเงินฝากเเตะ 1,200 ล้านบาทเเละสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้า 5 ปีสร้างฐานลูกค้ารายย่อยมากกว่า 8 ล้านราย

หลังประสบความสำเร็จในตลาดกัมพูชาและ สปป.ลาว ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อใน 3 เซ็กเมนต์ ทั้งในส่วนซัพพลายเชน กลุ่มรายย่อย และกลุ่มไมโคร

จากการที่เวียดนาม มีสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน เเละคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเเรงงาน ทำให้การเข้าไปตีตลาดครั้งนี้ ต้องใช้กลวิธีที่ ‘เเตกต่าง’ ในการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศ AEC+3 อื่น ๆ ที่จะเน้นให้บริการธุรกิจระหว่างประเทศเป็นหลัก

จุดเด่นของเวียดนาม คือการเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมที่รวดเร็วที่สุดในภูมิภาค

เป็น ‘ฐานผลิต’ สำคัญของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่เลือกย้ายการผลิตมายังอาเซียนมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างจีน–สหรัฐฯ เเม้ในวิกฤตโรคระบาด เวียดนามก็ยังเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงบวก

จากมาตรการล็อกดาวน์ที่กระทบเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ไปบ้าง แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ซึ่งนำไปสู่การส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่ถูกกระทบมากนัก

เหล่านี้ เป็นปัจจัยหนุนช่วยภาคเศรษฐกิจอื่นของเวียดนาม และมีการประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโตเกิน 5% ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งเอเชียและตะวันตกเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง

กสิกรไทย เริ่มเปิดให้บริการแก่ลูกค้าเวียดนามผ่านสำนักงานผู้แทน 2 แห่ง ณ กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ มาตั้งแต่ปี 2015

 เเละเมื่อเห็นโอกาสที่มากขึ้น ก็มีการ ‘ยกระดับ’ การให้บริการมาเป็น ‘สาขานครโฮจิมินห์’ เป็นสาขาแรกในประเทศเวียดนาม และเป็นสาขาที่ 10 ในต่างประเทศ ซึ่งได้เปิดตัวสาขาอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย สาขานครโฮจิมินห์ ในช่วงแรกจะเน้นไปที่บริการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่  (Corporate Lending) เจาะกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ในเวียดนาม

มุ่งไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต นิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการค้าและอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค บริโภค ให้บริการแก่บริษัทของไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ต้องการขยายธุรกิจไปเวียดนามเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังจะขยายการให้บริการในส่วนของ ‘กลุ่มลูกค้ารายย่อย’ ในท้องถิ่น จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านดิจิทัล แบงกิ้ง และโมบาย แบงกิ้งของธนาคารกสิกรไทยมาใช้ ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเงินฝาก สินเชื่อบุคคล เเละสินเชื่อดิจิทัล

โดยธนาคารจะทยอยส่งมอบบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าเข้าสู่โลกของดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบผ่านสินเชื่อดิจิทัล ซึ่งภายในปี 2022 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อดิจิทัลไว้ที่ 1,500 ล้านบาท จากลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก 25,000 ราย ที่มาใช้บริการขอเงินกู้ (KBank Biz Loan) หรือร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการต่อยอดธุรกิจ

และยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อหนุนศักยภาพทางธุรกิจร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น เช่น การร่วมมือกับบริษัทฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีความเข้าใจในตลาดอย่างลึกซึ้งอย่าง IPOS VN., Haravan และ KiotViet ที่จะมาช่วยส่งมอบบริการได้ตรงใจลูกค้าได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึง Sendo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อสร้างโซลูชั่นทางการเงินสำหรับผู้ค้าออนไลน์ ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อทางธุรกิจได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว และสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนสินเชื่อได้สูงสุดถึง 36 เดือน วงเงินกู้สูงสุดถึง 100 ล้านดงเวียดนาม หรือประมาณ 150,000 บาท ด้วยดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 1.4% ต่อเดือน


กลยุทธ์ AssetLight จับมือ ‘เทคสตาร์ทอัพ’ ท้องถิ่น

ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมมือกับเทคสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ด้วยการร่วมลงทุนของ KVision เข้ามาช่วยในการให้พัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

“ขณะนี้มีกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) ระดับโลกที่สนใจเข้ามาหารือในการเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคารเพื่อสร้างอีโคซีสเต็มของการขยายธุรกิจในเวียดนาม ทั้งยังจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน (Unbank) และกลุ่มประชากรวัยทำงานที่มีโอกาสเติบโตได้อีกด้วย” พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

เพื่อย้ำให้เห็นถึงการทุ่มทุนบุกตลาดเวียดนาม KBank ได้ประกาศเฟ้นหาทีมงาน เพื่อขยายกำลังคนที่มีศักยภาพ หลากหลายทักษะมากกว่า 500 ตำแหน่ง ทั้งในประเทศไทยและทีมงานที่อยู่ประจำสาขานครโฮจิมินห์

เเละยังเตรียมเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาให้กับพนักงานปัจจุบัน ทั้งการรีสกิล ทักษะด้านภาษา เทคโนโลยี บวกกับวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ผนึกกำลังสร้างบริการทางการเงินให้พร้อมรับกับตลาดดิจิทัล และบริบทของธุรกิจในภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจธนาคารในเวียดนาม จึงไม่ได้เน้นธุรกรรมการเงินพื้นฐาน (Traditional Banking) เท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของธนาคารในธุรกรรมการเงินยุคใหม่ที่เป็นดิจิทัล แบงกิ้ง (Disruptive Banking / Digital Banking)

“ประชากรของเวียดนามเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มีความคุ้นเคยและพร้อมในเทคโนโลยีดิจิทัล ขณะเดียวกันดิจิทัล อีโคซิสเต็มในเวียดนามยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ AssetLight Regional Digital Expansion ที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยลงทุนและร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในท้องถิ่น รวมถึงการให้สินเชื่อระหว่างประเทศแก่บริษัทในท้องถิ่นในเวียดนาม โดยอาศัยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ”

ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง และพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก มีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน

ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราได้เห็นถึง ‘ความจริงจัง’ กับยุทธศาสตร์ในการก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์แบบของกสิกรไทย ที่ต้องการเชื่อมต่อการให้บริการผ่านเครือข่ายของธนาคารในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการเป็นธนาคารท้องถิ่น สาขาของธนาคาร สำนักงานผู้แทน และสถาบันทางการเงินที่เป็นพันธมิตรของธนาคาร เดินหน้าขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับปรุงเเละเปลี่ยนเเปลง เพื่อให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ไปเรื่อยๆ

]]>
1364524
วิเคราะห์เศรษฐกิจดิจิทัล ‘อาเซียน’ โตเเรง ดึงเงินทุนทั่วโลก ฉายเเววมี ‘ยูนิคอร์น’ เพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1362133 Mon, 15 Nov 2021 13:58:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362133 เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน กำลังเป็นที่จับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก หลังมีเเนวโน้มเติบโตสดใส แตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 จากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ‘หน้าใหม่’ ที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโรคระบาด เทคสตาร์ทอัพดาวรุ่ง การขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซเเละการเงินดิจิทัล

Nikkei Asia นำเสนอบทวิเคราะห์น่าสนใจ ถึงเศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศอาเซียนที่คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 3.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 และมีโอกาสแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030

ชาวเน็ตหน้าใหม่ มาพร้อมช้อปปิ้ง 

จากรายงาน e-Conomy SEA Report 2021 ซึ่งเผยเเพร่เมื่อ 10 ..ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของ Google , Temasek ของสิงคโปร์ และบริษัทที่ปรึกษาอย่าง Bain & Co. สำรวจกลุ่มเศรษฐกิจในอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

พบว่า ในปีนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่กว่า 40 ล้านคนในภูมิภาค เข้ามาในโลกออนไลน์ ทำให้ปัจจุบันยอดรวมของผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งภูมิภาค และที่สำคัญคือในจำนวนนี้กว่า 8 ใน 10 คน เคยสั่งซื้อของออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง

Stephanie Davis รองประธาน Google ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคก็เป็นพื้นที่ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการบริโภคออนไลน์ในระดับสูงอยู่เเล้ว

เเต่หลังจากโรคระบาด การเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้นคือ จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่นอกเมือง มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในปี 2020 และขยายตัวมากขึ้นไปอีกในปีนี้ เราจะเริ่มมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างผู้บริโภคในเมืองและในชนบท

‘ยูนิคอร์น’ ในอาเซียนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ 

อีกประเด็นสำคัญ คือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าบริษัทสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่าง ผู้ให้บริการซูเปอร์แอป Grab และ GoTo รวมถึง Sea Group บริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีนี้อาเซียน มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์น เพิ่มขึ้นถึง 11 ราย ทำให้ปัจจุบันมียูนิคอร์นรวมเป็น 23 ราย

การที่บริษัทต่างๆ มุ่งเน้นไปในอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีทางการเงิน จะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของอาเซียนในทศวรรษหน้า

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปีเกิดข้อจำกัดทางสังคมเเละเศรษฐกิจต่างๆ มากมายผู้บริโภคทั่วโลกต้องพึ่งพาบริการดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เหล่านี้ ทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในอาเซียนในปีนี้ ขยายตัวถึง 49% เป็น 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020

ธุรกิจการจัดส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลที่เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด โดย 71% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเคยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ขณะที่ บริการทางการเงินดิจิทัล ก็เติบโตอย่างแข็งแกร่ง’ รายงานระบุว่า การชำระเงินดิจิทัลและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallets) กลายเป็นเทรนด์กระแสหลักอย่างรวดเร็ว เชื่อมโยงกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ที่การซื้อสินค้ามักจะถูกชำระผ่านออนไลน์แทนที่จะใช้เงินสด

การชำระเงินทางดิจิทัลขยายตัว 9% ตามมูลค่าธุรกรรมรวม จาก 6.46 เเสนล้านดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 7.07 เเสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ และคาดว่าจะสูงถึง 1.17 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

ด้านการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลในอาเซียน เพิ่มขึ้น 48% จาก 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ เเละคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.16 เเสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

Photo : Shutterstock

ดึงดูดเงินทุนจากทั่วโลก 

ความโดดเด่นของฟินเทคและอีคอมเมิร์ซฉายเเสงดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนในสตาร์ทอัพ รายงานของ Google ระบุว่า เงินทุนของจากทั่วโลกเข้ามาในกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของอาเซียนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

โดยมูลค่าข้อตกลงทางธุรกิจในบริษัทเทคโนโลยีอาเซียนช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 11,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นราว 65% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 และเกือบเท่ากับมูลค่ารวมของข้อตกลงตลอดทั้งปี 2020 ที่ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนใหญ่กระจุกตัวในอุตสาหกรรมการขนส่งและอาหาร สื่อออนไลน์และการเดินทางออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่ม Sea Group บริษัทเทคโนโลยีของสิงคโปร์ ที่มีมูลค่าตลาดถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมหลายธุรกิจทั้งเกมออนไลน์อย่าง Garena เเละอีมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee

การลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ไม่ได้มาจากกลุ่มทุนในภูมิภาคหรือท้องถิ่นเท่านั้น เเต่กระแสเงินทุนจำนวนมากนี้มาจากนักลงทุนทั่วโลก

 

ที่มา : Nikkei Asia

]]>
1362133
โตแรง! Google คาดเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ใหญ่อันดับ 2 ในภูมิภาค ทะลุ 1.4 ล้านล้านบาท ปี 2568 https://positioningmag.com/1201995 Sun, 09 Dec 2018 08:20:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1201995 Google ได้ออกมาเปิดเผยถึงมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย จะพุ่งขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2568  หรือเติบโตกว่า 7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2015 โดยครอบคลุมใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ อีคอมเมิร์ซ, สื่อออนไลน์, บริการร่วมเดินทาง และท่องเที่ยวออนไลน์

เบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย ให้รายละเอียดถึงผลการสำรวจมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ทางกูเกิลร่วมมือกับทางเทมาเส็ก เพื่อสำรวจระบบนิเวศดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 4 กลุ่มหลักๆ ที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งอีคอมเมิร์ซ, สื่อออนไลน์, บริการร่วมเดินทาง และการท่องเที่ยวออนไลน์

โดยปีนี้ 2561 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจะเพิ่มเป็น 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2558 ซึ่งเป็นการปรับคาดการณ์ตัวเลขเพิ่มขึ้นจาก 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่คาดไว้ในปี 2558 เนื่องจาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักมีการเติบโตเร็วกว่าที่คาดไว้ พร้อมกับการเพิ่มธุรกิจใหม่อย่างบริการจองที่พักออนไลน์ บริการส่งอาหาร และบริการสตรีมมิ่งทั้งเพลงและวิดีโอเข้ามาด้วย

ไทยเองได้กลายเป็นประเทศที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากที่สุดในโลก จากปี 2558 ที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยอยู่ที่ 38 ล้านคน ส่วนปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 45 ล้านคน ที่สำคัญกว่า 90% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ

มูลค่าตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท และปรับคาดการณ์ขึ้นมาเป็น 4.3 หมื่นล้านบาทภายในปี 2568 จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะอยู่ราว 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สอดคล้องต่อมูลค่าตลาดรวมของภูมิภาคอาเซียน ที่ปรับเพิ่มขึ้น และถือว่าไทยเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย 

เมื่อดูถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้นทั้งในภูมิภาคอาเซียน และในประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ภายในปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลจะเติบโตร่วมไปกับจีดีพีของภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัลในไทย มีสัดส่วนอยู่ราว 2.7% ขณะที่ประเทศอย่างจีน และสหรัฐฯ มีสัดส่วนอยู่ที่ 6.5% และเริ่มอิ่มตัวแล้ว

ในส่วนของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย มีอัตราเติบโตมากที่สุด ด้วยมูลค่าตลาดเกือบ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 หมื่นล้านภายในปี 2568 โดยในแต่ละประเทศจะเริ่มเห็นผู้นำในตลาดนี้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงในแต่ละประเภทของสินค้า

ในกลุ่มของสื่อออนไลน์ จะเห็นว่า ตลาดประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมาจากทางด้านโฆษณา เกม และบริการสตรีมมิ่ง โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

บริการร่วมเดินทาง (Ride Hailing) ที่ในปัจจุบัน มูลค่าตลาดอยู่ที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปีที่ผ่านมา ถือว่ามีอัตราการเติบโตลดลง เนื่องจากการควบรวมบริการของแกร็บ และอูเบอร์ ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันเท่าที่ควร และคาดการณ์ว่าในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

หลังจากนี้ บริการร่วมเดินทางจะหันไปแข่งขันในการเพิ่มมูลค่าด้วยการเปลี่ยนเป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน เพิ่มเติมจากรถโดยสาร กลายเป็นการให้บริการขนส่งอาหาร ส่งสินค้า ไปจนถึงบริการทางการเงิน

ตลาดท่องเที่ยวออนไลน์ จะจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ ทางสายการบิน และแพลตฟอร์มจองสถานที่ท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) โดยปัจจุบันในไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทย รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียน สามารถเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ คือ เรื่องของการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล โดยจำเป็นที่ต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละ 10% และเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ และเอกชน

]]>
1201995