เอสโตเนีย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 27 Apr 2023 07:47:42 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เอสโตเนีย” ประเทศที่ระบบ e-Governance ดีที่สุดในโลก แม้แต่การเลือกตั้ง ก็ผ่านออนไลน์ได้ https://positioningmag.com/1428839 Thu, 27 Apr 2023 07:32:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1428839 สาธารณรัฐเอสโตเนีย หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าเอสโตเนีย หนึ่งในประเทศเล็กๆ แถบยุโรปเหนือ มีพื้นที่เพียงแค่ราวๆ 45,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรเพียงแค่ 1.3 ล้านคนเท่านั้น มีพรมแดนติดกับอ่าวฟินแลนด์ ลัตเวีย และรัสเซีย ซึ่งประเทศเล็กๆ แห่งนี้นี่เอง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบ e-Governance ที่ดีที่สุดในโลก

เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางธนาคารกรุงไทยได้มีโอกาสพาสื่อมวลชนบินเลาะฟ้าข้ามทวีปไปยังประเทศเอสโตเนีย เพื่อศึกษาดูงานระบบ e-Governance และถือโอกาสทดลองการใช้บัตร KRUNGTHAI Travel Card เพื่อทดลองการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว

estonia

เมื่อยิงคำถามที่ว่า ทำไมต้องเป็นประเทศเอสโตเนีย? ผยง ศรีวณิช แม่ทัพใหญ่ของธนาคารกรุงไทยได้ให้เหตุผลว่า “จริงๆ เคยได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในหลากหลายประเทศในยุโรปที่มีความแข็งแกร่งในแต่ละด้าน แต่สุดท้ายประเทศนั้นๆ ก็บอกว่าให้ลองไปประเทศเอสโตเนีย เพราะมีการทำสำเร็จแล้ว จึงเป็นที่มาของการเดินทางมาเอสโตเนีย เพราะมีการวางระบบ e-Governance ครบวงจร”

เอสโตเนียได้รับยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีระบบ e-Governance ที่ดีมาก เนื่องจากตนเองเป็นประเทศเล็ก แต่อยู่ใกล้ประเทศใหญ่ๆ ทั้งสิ้น จึงต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ประเทศแข็งแรง

ปัจจุบันเอสโตเนียมีความก้าวหน้าด้าน e-Governance และ Digitalize บริการภาครัฐเป็น e-Service มากถึง 99% เรียกได้ว่าบริการภาครัฐทุกอย่างสามารถทำบนดิจิทัลได้ ยกเว้นการจดทะเบียนหย่า สาเหตุที่เอสโตเนียปฏิรูปรัฐบาลเป็น Digital Government คือ

  1. แก้ปัญหาคอร์รัปชัน หลังจากที่เอสโตเนียแยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียตในปี 1991 ประเทศเอสโตเนียประสบปัญหาคอร์รัปชัน และขาดแคลนทรัพยากรอย่างมาก
  2. ลดต้นทุนการให้บริการภาครัฐ เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กมีประชากรประมาณ 3 ล้านคน ทำให้มีต้นทุนในการให้บริการของภาครัฐสูง และไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีประชากรจำนวนมาก

ในยุค 90 เอสโตเนียมีคนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก เนื่องจากมีสถาบันวิจัยด้าน Cybernetics ซึ่งหารือร่วมกับรัฐบาลแล้วเห็นตรงกันว่า Digitalization จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้

สิ่งที่ทำให้เอสโตเนียประสบความสำเร็จในการ Digitalize บริการภาครัฐคือ พรรคการเมืองต่างๆ เห็นไปในทางเดียวกันว่า “ประเทศจะต้องพัฒนาด้านดิจิทัลต่อเนื่อง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล” นอกจากนี้รัฐบาลยังร่วมมือกับภาคเอกชนซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัย และพัฒนา รวมถึงมีการปรับกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิด Digitalization

ภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา นอกจากองค์กรด้านไอทีแล้ว ยังมีภาคธนาคารที่ต้องการให้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงคนได้มากขึ้นด้วยต้นทุนการให้บริการที่ถูกกว่าการเปิดสาขา นอกจากนี้ธนาคารยังสนับสนุนการพัฒนา Computer Literacy ของคนในประเทศ เพื่อรองรับการใช้บริการแบบดิจิทัล

ในปัจจุบัน 99% ของบริการกลายเป็น e-Service โดยบริการเดียวที่ยังไม่สามารถทำออนไลน์ได้ คือ การหย่า เพราะติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย คาดว่าบริการภาครัฐจะเป็น e-Service ได้ 100% ในปี 2024

estonia

อย่างไรก็ดีทุกบริการที่เป็น e-Service หากไม่สะดวกใช้บริการสามารถใช้บริการรูปแบบเดิม โดยจะได้รับบริการรวดเร็วขึ้นเนื่องจากคนจำนวนมากเปลี่ยนไปใช้ e-Service

ตัวอย่าง e-Service ที่ให้บริการคือ

1. การยื่นภาษี เป็นบริการแรกๆ ที่ปรับเป็น e-Service ปัจจุบันสามารถยื่นชำระภาษีได้ด้วยการคลิกเพียงไม่กี่คลิกเนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ถูก Prefill มาให้แล้วโดยระบบจากข้อมูลที่ดึงมาจากหน่วยงานต่างๆ ปัจจุบันคนยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ 90%

2. Internet Voting (i-Voting) เริ่มต้นครั้งแรกต้องแต่ปี 2005 เอสโตเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการเลือกตั้งระดับประเทศผ่านอินเทอร์เน็ต ข้อดีของการเลือกตั้งออนไลน์ คือ สะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการจัดคูหาเลือกตั้ง รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับคนเอสโตเนียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศที่ไม่มีสถานทูต นอกจากนี้ยังช่วยลดเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะเลือกตั้งซ้ำได้หลายครั้งจนกว่าจะปิดให้เลือกตั้ง ดังนั้นแม้ในครั้งแรกจะเลือกพรรคหนึ่ง แต่ก็สามารถกลับไปเลือกพรรคใหม่ได้

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา มีคนเลือกตั้งผ่าน i-Voting ประมาณ 51% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีผู้เลือกตั้งออนไลน์มากกว่าครึ่งของคนที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด สาเหตุที่คนยังออกมาเลือกตั้งที่คูหาแบบเดิมอาจเป็นเพราะเอสโตเนียเพิ่งได้รับเอกราชมาไม่นาน การออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่คูหาจึงเหมือนสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการได้รับเอกราช และการเลือกตั้งเป็นประเพณีของครอบครัว อีกทั้งคนบางกลุ่มมองว่าการเลือกตั้งออนไลน์ไม่ปลอดภัย

ปัจจุบันเอสโตเนียมี State Portal Website (eesti.ee) เป็น One-stop Shop สำหรับบริการภาครัฐ และเป็นแหล่งรวมข้อมูลสำหรับบุคคล และธุรกิจที่ออกแบบให้เข้าใจง่ายใช้งานง่าย นอกจากการดูข้อมูล และใช้บริการ e-Service ต่างๆ ของภาครัฐแล้ว ยังมีฟีเจอร์ที่โดดเด่น และสร้างความโปร่งใสเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน คือ Data Tracker ทำให้ประชาชนเจ้าของข้อมูลสามารถดูได้ว่าข้อมูลของเราถูกหน่วยงานใดเรียกดูข้อมูลส่วนบุคคล หากมีสิ่งผิดปกติสามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้

estonia

โดยที่ 3 เสาหลักที่เป็นรากฐาน e-Service ของเอสโตเนีย คือ Confidentiality, Availability และ Integrity

1. Confidentiality คือ การที่คนสามารถยืนยันตัวตนผ่าน e-Identification ได้อย่างปลอดภัย มั่นใจว่าข้อมูลต่างๆ เป็นความลับ ปัจจุบันมี “อุปกรณ์” ในการยืนยันตัวตน 3 รูปแบบคือ 1) บัตรประชาชนที่มีชิป 2) Mobile ID ซึ่งเป็นซิมการ์ดที่ใช้ยืนยันตัวตน 3) Smart ID แอปพลิเคชันที่ใช้ยืนยันตัวตน โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องใช้ร่วมกับ PIN 1 และ PIN 2 โดย PIN 1 ใช้กับการยืนยันตัวตน เช่น การล็อกอินเข้าระบบต่างๆ PIN 2 ใช้ในการลงนาม Digital Signature ซึ่งเทียบเท่ากับการลงนามบนกระดาษมีผลผูกพันทางกฎหมาย

ปัจจัยที่ทำให้ e-Identity ในเอสโตเนียประสบความสำเร็จ คือ รัฐบาลบังคับให้ทุกคนมี Digital Identity โดยให้มาพร้อมกับบัตรประชาชน นอกจากนี้รัฐยังเปิดให้ภาคเอกชนต่างๆ นำ e-Identity ไปใช้ในการยืนยันตัวตนทำให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารที่นำไปใช้ยืนยันตัวตนลูกค้าเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้ e-Identity เทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาใช้ในการยืนยันตัวตนออนไลน์ คือ Splitkey ของ Cybernetica ซึ่งทำให้คนสามารถใช้มือถือ และแท็บเล็ตในการลงนาม Digital Signature

2. Availability หมายถึงข้อมูลต้องเข้าถึงได้ตลอดเวลาโดยสิ่งที่สนับสนุนสิ่งนี้ คือ X-Road พัฒนาโดยบริษัท Cybernetica โดยที่ X-road เป็น Secure Data Exchange Infrastructure ที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้อย่างปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสข้อมูลที่ส่งโครงสร้างการจัดเก็บข้อมูลของเอสโตเนียเป็นแบบ Decentralized คือ แต่ละหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของตนเอง เมื่อหน่วยงานอื่นต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าวสามารถดึงข้อมูลดังกล่าวไปใช้ ทำให้ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเดียวกันซ้ำในสองที่ (Once-only Principle) มั่นใจได้ว่าข้อมูลถูกต้อง และเป็นปัจจุบันเช่นข้อมูลที่อยู่จะถูกจัดเก็บไว้ที่ฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์เพียงที่เดียว

หากหน่วยงานอื่นต้องการทราบว่าบุคคลนี้อาศัยอยู่ในเมือง Tallinn หรือไม่ สามารถดึงข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ โดย e-Service ของหน่วยงานอื่นจะถามมาที่ฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ว่าบุคคลนี้อาศัยอยู่ใน Tallinn หรือไม่ และได้รับคำตอบเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการตอบคำถามเท่านั้น (Need-to-know Basis) หากมีการย้ายบ้านก็แจ้งย้ายบ้านกับทะเบียนราษฎร์เพียงครั้งเดียว ไม่ต้องไปแจ้งหน่วยงานอื่นๆ โดยข้อมูลจะถูกส่งผ่าน X-road แต่ X-road ไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชนก็จัดเก็บข้อมูล และส่งข้อมูลผ่าน X-road เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นธนาคารมหาวิทยาลัย ฯลฯ

3. Integrity หรือความถูกต้อง และความสมบูรณ์ของข้อมูล ซึ่งไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลจึงมีการนำ KSI Blockchain ที่บริษัท Guardtime ให้กับรัฐบาลเอสโตเนียมาใช้ในการรักษาความปลอดภัยของ Sensitive Data การพัฒนา KSI Blockchain มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เอสโตเนียโดน Cyberattack ในระดับประเทศ จึงต้องหาวิธีรักษาความปลอดภัยนอกจากนี้ยังมี Data Embassy คือการ Back Up ข้อมูลต่างๆ ไว้ในต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลหายไปหรือเกิด Cyberattack

เอสโตเนียในปัจจุบันเป็นแหล่งรวม Start-up ของโลกแห่งหนึ่ง เห็นได้จากการที่เอสโตเนียเป็นประเทศที่มี Start-up per Capita สูงที่สุดในโลกมี Unicorn per Capita สูงที่สุดในยุโรป และเป็นอันดับ 2 ของโลก

Skype หนึ่งในสตาร์ทอัพชื่อดังระดับโลก ที่มีสัญชาติเอสโตเนีย

สาเหตุสำคัญ คือ การที่รัฐบาลทำให้เอสโตเนียมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมี Ease of Doing Business ในระดับสูง เช่น สามารถตั้งบริษัทได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีโครงการ e-Residency คือการที่คนต่างชาติมาสมัครเป็นพลเมืองของเอสโตเนีย และตั้งบริษัทสัญชาติเอสโตเนียบริหารจัดการบริษัทได้แบบออนไลน์ 100% ลดความยุ่งยากในการติดต่อกับรัฐบาล

ทำให้เข้าถึง European Single Market โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เอสโตเนียจากโครงการ e-Residency เอสโตเนียได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีชดเชยภาษีที่เก็บได้น้อยลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ รวมถึงเกิดการสร้างงานทางอ้อมภายในประเทศ และมีการใช้จ่าย หรือใช้บริการบริษัทอื่นๆ

นอกจากนี้เอสโตเนียยังมีนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดึงดูดโดยยกเว้นการเก็บภาษีจากกำไรที่นำกลับมาลงทุนต่อรวมทั้งชุมชน Start-up สนับสนุนกันและกันแบ่งปันความรู้กันเนื่องจาก Start-up ในเอสโตเนียไม่แข่งขันกันแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ เพราะต่างมีตลาดของตนเองในต่างประเทศ

estonia

ในอนาคตเอสโตเนียมีแนวทางพัฒนาด้านต่างๆ ดังนี้

  • รัฐบาลต้องการเป็น Proactive Government ที่จะนำบริการหรือสิทธิที่ประชาชนแต่ละคนพึงได้รับไปยื่นให้กับประชาชนโดยไม่ต้องมาสมัคร เพราะประชาชนบางคนก็ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการใดบ้าง เช่น เมื่อคลอดลูกโรงพยาบาลจะแจ้งเกิดให้พ่อแม่ที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรจะได้รับข้อความให้เลือกบัญชีที่จะรับเงินทันทีโดยไม่ต้องไปแจ้งกับหน่วยงานที่ให้สวัสดิการเองว่าตนเองมีลูกแล้วเป็นต้น
  • นำ AI Chatbot มาช่วยในการโต้ตอบกับประชาชนให้ความช่วยเหลือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการภาครัฐพัฒนา Speech Recognition เพื่อให้สามารถคุยกันได้โดยใช้เสียงทำให้คนที่มีปัญหาไม่สามารถพิมพ์โต้ตอบสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม
  • ใช้งานระบบต่างๆในต่างประเทศได้ (Cross-border Digitalization) ซึ่งในปัจจุบันใช้ได้แล้วเช่น e-Prescription สามารถให้หมอที่หาประจำออกใบสั่งยาให้ และแสดงบัตรประชาชนซื้อยาในฟินแลนด์ได้ เป็นต้น
  • ทำ Personalized Medicine คือ การนำข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลทางพันธุกรรมมาประมวลผลเพื่อให้คำแนะนำกับประชาชนในการป้องกันโรคซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการรักษาโรค
  • มุ่งสู่ Green ICT ด้วยการหาแนวทางและกำหนดยุทธศาสตร์ในการลด Carbon Footprint ที่เกิดการจากจัดเก็บข้อมูลและดำเนินการด้านดิจิทัล

krungthai travel card

อ่านเพิ่มเติม

]]>
1428839
ประชาชนทิพย์! “เอสโตเนีย” เปิดโอกาสเป็น “พลเมืองดิจิทัล” มีจุดรับไอดีการ์ดในไทยแล้ว https://positioningmag.com/1330898 Thu, 06 May 2021 13:10:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1330898 รู้จักโปรแกรม e-Residency ของ “เอสโตเนีย” โปรแกรมที่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วโลกสมัครเป็น “พลเมืองดิจิทัล” ของประเทศ โดยไม่ต้องย้ายมาเอสโตเนียจริงๆ ปัจจุบันเปิด จุดรับ (pick-up point) ไอดีการ์ดหลังสมัครสำเร็จได้แล้วที่กรุงเทพฯ จากก่อนหน้านี้ชาวไทยต้องไปรับที่สิงคโปร์หรือเซี่ยงไฮ้

เอสโตเนีย เปิดโปรแกรม e-Residency นี้มาตั้งแต่ปี 2014 ให้คนชาติใดก็ได้สมัครขอเป็น พลเมืองดิจิทัล (e-Resident) ของเอสโตเนีย โดย “ลอรี่ ฮาฟ” กรรมการผู้จัดการ e-Residency อธิบายว่า จุดประสงค์โครงการคือให้ “อัตลักษณ์ออนไลน์” แก่คนชาติอื่น เพื่อให้คนคนนั้นทำงานแบบระยะไกลจากที่ไหนก็ได้ในโลก แต่มีสิทธิในเชิงการทำงานและธุรกิจแบบเดียวกับคนเอสโตเนีย

เหตุผลที่เอสโตเนียทำเช่นนี้ได้ เพราะเป็นประเทศที่ทำเอกสารราชการดิจิทัลได้ถึง 99% ของทั้งหมดโดยใช้ระบบลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ เหลือเพียง 2 อย่างที่คนเอสโตเนียต้องไปสถานที่ราชการ คือ จดทะเบียนสมรสและหย่า ดังนั้น แม้ตัวจะอยู่ที่อื่นในโลก แต่ก็ทำธุรกิจที่เอสโตเนียได้ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนตั้งบริษัท เสียภาษี เปิดบัญชีธนาคาร หรือติดต่อราชการใดๆ

 

คนไทยได้อะไรจากการเป็น e-Resident เอสโตเนีย

ลอรี่ย้ำว่า คนที่ได้เป็น e-Resident เอสโตเนีย ไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาชนเอสโตเนียจริงๆ ในโลกกายภาพ ไอดีการ์ดไม่สามารถใช้ในการเดินทางหรือใช้เป็นวีซ่าเข้าสหภาพยุโรปได้ แล้วประโยชน์ของมันคืออะไร?

ประโยชน์สำหรับคนไทยหรือชาติอื่นๆ ในโลกคือ สิทธิในการตั้งบริษัทสัญชาติเอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศในสหภาพยุโรป การดำเนินธุรกิจในยุโรปจะเสมือนเป็นบริษัทสัญชาติยุโรป ธุรกิจที่มุ่งเจาะตลาดยุโรปจะทำงานง่ายขึ้น

นอกจากนี้ เอสโตเนียยังเสนอแรงจูงใจเพิ่มเติม เช่น ประเทศนี้อยู่ในอันดับ 14 การจัดอันดับประเทศที่เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายที่สุด โดยธนาคารโลก (Ease of Doing Business Index) และอยู่ในอันดับ 18 ดัชนีชี้วัดมุมมองต่อการคอร์รัปชันในประเทศปี 2019 ซึ่งเหนือกว่าฝรั่งเศสและสหรัฐฯ

รวมถึงเป็นประเทศที่ระดับการแข่งขันด้านภาษีปี 2019 เป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะมีโครงการให้สตาร์ทอัพที่จดทะเบียนในเอสโตเนีย ไม่ต้องเสียภาษีเมื่อทำกำไร (Profit Tax) จะเสียก็ต่อเมื่อจ่ายเงินปันผล (Dividend Tax) เพื่อส่งเสริมให้ใช้เงินหมุนเวียนกลับไปลงทุนในธุรกิจต่อ และสตาร์ทอัพจะโตได้ไวเพราะไม่มีภาระภาษีจากกำไร (อย่างไรก็ตาม หากคนไทยไปลงทุนแล้วรับจ่ายเงินปันผลจะเสียภาษีสองต่อคือภาษีนิติบุคคลที่เอสโตเนียและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไทย)

เมืองทาลลินน์ เอสโตเนีย (Photo : Pixabay)

โครงการยังแนะนำ “ตัวอย่าง” e-Resident ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ คือ จาค็อบ ปูเธนปารามบิล ซีอีโอบริษัท Redhill เอเยนซีด้านการประชาสัมพันธ์ จดทะเบียนในสิงคโปร์ แต่ล่าสุดเขาเพิ่งตั้งสาขาในเอสโตเนียแบบดิจิทัลตามโครงการนี้ เพื่อเริ่มเจาะตลาดยุโรปโดยไม่ต้องบินไปท่ามกลางโรคระบาด และใช้ประโยชน์จาก “ทาเลนต์” คนเอสโตเนียในการทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และโปรแกรมเมอร์ ซึ่งติดต่องานออนไลน์ได้ทั้งหมด

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ มัทเทีย มอนทานารี ผู้ร่วมก่อตั้ง Resonance บริษัทการตลาดดิจิทัล เขาเป็นประชากรยุโรป แต่ต้องการเดินทางรอบโลก จึงสมัคร e-Resident เพื่อตั้งบริษัทเอสโตเนีย ใช้ประโยชน์จากการติดต่อราชการออนไลน์ 100% ทำให้เขาทำงานจากที่ไหนก็ได้ ปัจจุบันเขาอยู่ในบาหลี อินโดนีเซีย แต่เมื่อปีที่แล้วเขาเคยอาศัยอยู่ในไทยมาก่อน

จะเห็นได้ว่า แม้จะตั้งบริษัทอะไรก็ได้จากสิทธิตรงนี้ แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทที่ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดคือธุรกิจที่สามารถดำเนินการออนไลน์ได้ ทั้งผู้ให้บริการและรับบริการอาจอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก เช่น การตลาดดิจิทัล ที่ปรึกษา กราฟิกดีไซเนอร์ ฯลฯ

 

เปิดจุดรับไอดีการ์ดใหม่ที่กรุงเทพฯ

สำหรับวิธีสมัครเป็น e-Resident ของเอสโตเนีย ทำได้ใน 3 ขั้นตอนนี้

1.เข้าไปลงทะเบียนส่งเอกสารในเว็บ https://eresident.politsei.ee/

2.จากนั้นรอสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เอสโตเนียตรวจสอบประวัติไม่เกิน 30 วัน

3.เมื่อผ่านแล้วรอออก e-Residency Kit หรือ “ไอดีการ์ด” แสดงความเป็น e-Resident ของคุณมาส่งที่ “จุดรับ” (pick-up point) ที่ใกล้ที่สุด (ต้องไปรับด้วยตนเองเพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือ) ใช้เวลา 2-5 สัปดาห์ ผู้รับมีเวลาไม่เกิน 6 เดือนในการไปรับไอดีการ์ด และการ์ดมีอายุใช้งาน 5 ปี

e-Residency Kit ที่ได้รับเมื่อสมัครสำเร็จ

“จุดรับ” นี้เมื่อก่อนเอสโตเนียเคยให้ไปรับที่สถานทูตเอสโตเนียประจำประเทศนั้นๆ ซึ่งไม่ได้มีทุกประเทศแน่นอน ทำให้คนไทยหรือ expat ในไทยที่สมัคร ต้องบินไปรับไอดีการ์ดที่สิงคโปร์ แต่เนื่องจากโรคระบาด เอสโตเนียมีการปิดสถานทูตหลายแห่ง ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาจับมือพันธมิตรบริษัท BLS International ในการทำจุดรับขึ้นมา และหนึ่งในเมืองที่เลือกเปิดคือ “กรุงเทพฯ” ที่อาคารอินเตอร์เชนจ์ ชั้น B2 ซึ่งหวังว่าจะทำให้มีการสมัครมากขึ้น

ลอรี่กล่าวว่า ที่เลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดรับภูมิภาคนี้ร่วมกับสิงคโปร์ เพราะไทยมีฮับการบิน สนามบินสุวรรณภูมิเป็น Top 20 สนามบินที่มีการจราจรสูงสุดในโลก (ก่อนเกิดโรคระบาด) ทำให้เดินทางเข้ามาได้ง่าย และเป็นสถานที่ที่ชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่จำนวนมาก

 

เอสโตเนียได้อะไรจากการเปิดรับคนทั่วโลก

ประเด็นนี้ต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น “ดรวีระชัย เตชะวิจิตร์” กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เอสโตเนียประจำกรุงเทพมหานคร เล่าว่า เอสโตเนียเป็นประเทศที่ได้รับอิสรภาพจากโซเวียตเมื่อปี 1991 นี้เอง ช่วงเริ่มต้นประเทศเรียกได้ว่า ‘หลังพิงฝา’ ทางเศรษฐกิจ มีประชากรเอสโตเนียเพียง 1 ล้านคนในเวลานั้น เป็นประเทศเล็กๆ และยังไม่มีจุดเด่นอะไร

เมื่อไม่มีจุดเด่น ในที่สุดรัฐบาลเอสโตเนียวางแผนว่าจะสร้างจุดเด่นให้ประเทศ โดยมุ่งสู่การเป็น Digital Society-สังคมดิจิทัล อย่างแท้จริง เป็นที่มาของการทำระบบราชการดิจิทัล และมุ่งดึงดูดสตาร์ทอัพ ตามด้วยการออก e-Residency เป็นชาติแรกในโลก

“ยานาร์ โฮล์ม” ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเอสโตเนีย เปิดเผยเมื่อปีก่อนว่า โปรแกรม e-Residency ทำให้ประเทศสร้างงานสร้างอาชีพให้คนเอสโตเนียไปแล้ว 1,300 คน

โปรแกรมยังทำรายได้ให้ประเทศสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ 41 ล้านยูโร (31 ล้านยูโรในจำนวนนี้มาจากภาษี) ถือว่าทำกำไรเพราะประเทศลงทุนไปแค่ 10 ล้านยูโรกับโครงการ และโครงการยังมีผลโดยอ้อมต่อการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ

“ลอรี่ ฮาฟ” กรรมการผู้จัดการ e-Residency

ลอรี่ เอ็มดีของโครงการเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้สมัครเป็น e-Resident กับเอสโตเนียแล้วกว่า 80,000 คน มีบริษัทจัดตั้งผ่านโปรแกรมนี้ 16,000 ราย ส่วนใหญ่คือชาวรัสเซีย ยูเครน และฟินแลนด์ แต่ที่กำลังมาแรงคือ “จีน”

การมีโปรแกรมรวมคนจากทั่วโลกทำให้เอสโตเนียเคยสร้างสตาร์ทอัพระดับ ‘ยูนิคอร์น’ มาแล้ว 7 ราย เทียบกับจำนวนประชากรเอสโตเนีย 1.3 ล้านคน จึงกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนยูนิคอร์นต่อประชากรสูงที่สุดในยุโรป และเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอิสราเอล

ส่วนคนไทยที่สมัครเป็น e-Resident แล้ว ดร.วีระชัยระบุว่ามี 135 ราย สูสีกับมาเลเซียและเวียดนามที่มีประเทศละประมาณ 140 ราย ขณะที่สิงคโปร์มีกว่า 300 ราย

แน่นอนว่ามีได้ก็มีเสีย โฮล์มระบุว่า ขณะนี้เมื่อโครงการถูกพูดถึงไปทั่วโลก อาชญากรและผู้ที่ต้องการเลี่ยงภาษีเริ่มเล็งเห็นประโยชน์จากโครงการนี้ ทำให้เอสโตเนียต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะย่อมไม่มีใครต้องการให้ประเทศของตนมีชื่อเสียงในทางลบ

Source เพิ่มเติม

]]>
1330898
เปิดโผ 8 เมืองดาวรุ่ง แหล่งดึงดูด “เทคสตาร์ทอัพ” แห่งปี 2020 https://positioningmag.com/1310010 Thu, 10 Dec 2020 16:16:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1310010 “เทคสตาร์ทอัพ” เป็นธุรกิจและวิธีลงทุนแบบใหม่ของโลก จนทำให้หลายเมืองปั้นตนเองให้มีระบบนิเวศเอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพ ที่ผ่านมาแหล่งดึงดูดใหญ่ๆ จะกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ของจีนกับสหรัฐอเมริกา แต่ในระยะหลัง เมืองอื่นของโลกก็ต้องการส่วนแบ่งจากตลาดนี้บ้าง จึงพยายามสร้างจุดเด่นดึงการลงทุนและบรรดาบุคลากรหัวกะทิด้านเทคโนโลยีเข้ามาอยู่อาศัย เกิดเป็น 8 เมืองดาวรุ่งเหล่านี้

Savills บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เริ่มศึกษาและรายงานเมืองที่โดดเด่นด้านการลงทุนของกลุ่มเทคสตาร์ทอัพมาตั้งแต่ปี 2015 จนปัจจุบันการลงทุนกลุ่มนี้แพร่หลายออกไปทั่วโลก และทำให้หลายเมืองได้รับอานิสงส์ของการลงทุน โดยปี 2020 บริษัทจัดทำรายงานแบ่งเมืองแหล่งเทคสตาร์ทอัพออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มหานครแห่งเทคโนโลยี, เมืองแห่งไลฟ์สไตล์เทคโนโลยี และ เมืองดาวรุ่งด้านเทคโนโลยี

สองกลุ่มแรกนั้นเป็นกลุ่มที่มีตัวตนบนแผนที่โลกในฐานะศูนย์รวมเทคสตาร์ทอัพอยู่แล้ว โดยข้อแตกต่างของ “มหานคร” กับ “เมืองไลฟ์สไตล์” คือกลุ่มมหานครเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกิน 5 ล้านคน และเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านเทคโนโลยีระดับโลก ส่วนเมืองแห่งไลฟ์สไตล์นั้นเป็นเมืองขนาดเล็กกว่า 5 ล้านคน ดึงดูดเงินลงทุนจากเวนเจอร์แคปิตอลได้น้อยกว่า แต่ไลฟ์สไตล์เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตของชาวเทคมากกว่า

แผนที่เมืองแหล่งเทคสตาร์ทอัพ 3 กลุ่ม คือ มหานครแห่งเทคโนโลยี, เมืองแห่งไลฟ์สไตล์เทคโนโลยี และเมืองดาวรุ่งด้านเทคโนโลยี

มหานครแห่งเทคฯ นั้น Savills ประเมินไว้ 16 แห่งทั่วโลก แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้
– อเมริกาเหนือ : ลอสแอนเจลิส, นิวยอร์ก, ซานฟรานซิสโก, โตรอนโต
– ยุโรป : ลอนดอน, ปารีส
– จีน : ปักกิ่ง, เฉิงตู, หางโจว, ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, เสิ่นเจิ้น
– เอเชีย : บังกาลอร์, โซล, สิงคโปร์, โตเกียว

ด้าน เมืองแห่งไลฟ์สไตล์เทคฯ ประเมินไว้ 12 แห่งทั่วโลก แบ่งตามภูมิภาค ดังนี้
– อเมริกาเหนือ : ออสติน, บอสตัน, เดนเวอร์, ซีแอตเทิล
– ยุโรป : อัมสเตอร์ดัม, บาร์เซโลนา, เบอร์ลิน, โคเปนเฮเกน, ดับลิน, สตอล์กโฮม
– ตะวันออกกลาง : เทลอาวีฟ
– เอเชีย : เมลเบิร์น

ในขณะที่กลุ่มสุดท้ายคือ “เมืองดาวรุ่ง” เป็นเมืองที่น่าจับตามองของปี 2020 คู่แข่งใหม่ในตลาดโลกเหล่านี้เริ่มได้รับความสนใจจากโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่ปูทางมาตลอด และอีกส่วนหนึ่งคือการระบาดของ COVID-19 ทำให้เหล่าหัวกะทิเทคโนโลยีเริ่มมองหาเมืองที่ประชากรหนาแน่นน้อยลงและดีต่อสุขภาพมากขึ้น รวมถึงค่าครองชีพต่ำกว่าเมืองใหญ่ด้วย ติดตามข้อมูลได้ด้านล่าง

 

8 เมืองดาวรุ่ง แหล่งดึงดูด “เทคสตาร์ทอัพ” แห่งปี 2020

1.ดีทรอยต์, สหรัฐอเมริกา
(Photo : Mohtashim Mahin/Pixabay)

เมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ แห่งนี้กำลังร้างผู้คน เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เองกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ทำให้ดีทรอยต์ต้องเปลี่ยนจุดยืนตัวเองใหม่จาก “เมืองแห่งรถยนต์” เป็น “เมืองแห่งการเดินทาง” โดยปรับตัวเองมามุ่งเน้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง

ปัจจุบันมีบริษัทใหญ่เข้ามาลงทุนทั้ง Fiat-Chrysler, Google, GM, Ford และ Lyft จนถึงบริษัทสตาร์ทอัพด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง เช่น Rivian ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของที่นี่ปรับไปมีเทคโนโลยีเป็นแกนกลางแทนได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ดีทรอยต์เป็นหนึ่งในเมืองที่มีค่าครองชีพต่ำของสหรัฐฯ ทำให้เมืองสามารถให้ไลฟ์สไตล์ที่ราคาถูกกว่าเมืองชายฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกของประเทศ ดีทรอยต์ยังติดอันดับ 6 ของการจัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดสำหรับ “ดิจิทัล โนแมด” ด้วย โดยการจัดอันดับดังกล่าวของ Savills วัดจากดัชนีคุณภาพชีวิตคนสายเทค 6 ประการคือ ราคาเบอร์เกอร์วีแกนกับกาแฟแฟลตไวท์, ราคา MacBook Pro, ราคารองเท้ากีฬาทั่วไปกับหูฟังไร้สายแบบพรีเมียม, ความเร็วอินเทอร์เน็ต, ราคาโต๊ะทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซ และคุณภาพอากาศ

 

2.โยโกฮาม่า, ญี่ปุ่น
(Photo : Pixabay)

หนึ่งเดียวจากเอเชียที่ติดผลสำรวจนี้ โยโกฮาม่าเป็นเมืองท่าแห่งแรกๆ ของญี่ปุ่นที่เปิดรับการค้าระหว่างประเทศในช่วงศตวรรษที่ 19 ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของญี่ปุ่นมานานกว่า 150 ปี ในหลายปีที่ผ่านมา โยโกฮาม่าสามารถดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศและการย้ายฐานบริษัทได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากทำเลที่เข้าโตเกียวสะดวกและการเป็นแหล่งแรงงานฝีมือ

ในที่สุด โยโกฮาม่าประกาศตนเองเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาแห่งทวีปเอเชีย โดยมีบริษัทใหญ่มาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาแล้ว คือ Apple, Lenovo, Samsung, Huawei และ LG ทำให้เมืองยิ่งติดสปีดการเป็นเมืองเทคโนโลยีระดับโลก โดยมีแรงหนุนคือการเป็นเมืองท่าส่งออกของประเทศ

สำหรับผู้อยู่อาศัย ค่าครองชีพของโยโกฮาม่าต่ำกว่าโตเกียว และมีประชากรหนาแน่นน้อยกว่า ทำให้น่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น

 

3.ทาลลินน์, เอสโตเนีย
(Photo : Pixabay)

ยุคแห่งยุโรปตะวันออกต้องมีเอสโตเนียเป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่รัฐบาลอื่นทั่วโลกต้องหัวหมุนกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานและเชื่อมโยงกับประชาชนของตน แต่ภาครัฐของเอสโตเนียสามารถนำกิจกรรมของรัฐถึง 99% มาอยู่บนออนไลน์ได้ทั้งหมด (เหลือเพียงการสมรส-หย่าร้าง และซื้อขายอสังหาฯ ที่ต้องไปติดต่อสำนักงาน)

ประเทศนี้ยังมีการออกโปรแกรม e-Residency เมื่อปี 2014 เพื่อให้ใครๆ ก็เป็นประชากรเอสโตเนียแบบข้ามโลกเสมือนจริงได้ ปลดล็อกให้คุณสามารถตั้งบริษัทในเอสโตเนียได้โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ที่เอสโตเนียเลย ต่อมาเอสโตเนียยังออกวีซ่าสำหรับดิจิทัล โนแมดโดยเฉพาะ เพื่อให้กลุ่มคนทำงานระยะไกลกลุ่มนี้สามารถมาทำงานพร้อมใช้ชีวิตได้ในเอสโตเนียเป็นระยะเวลาสูงสุด 1 ปี

สิ่งแวดล้อมด้านเทคโนโลยีของภาครัฐและวิถีชีวิตคน ทำให้ทาลลินน์ เมืองหลวงของประเทศแห่งนี้เป็นที่น่าจับตามอง ปัจจุบันมีหน่วยงานยักษ์ใหญ่ที่เข้าไปตั้งศูนย์ในทาลลินน์แล้วคือ หน่วยงานความร่วมมือด้านการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศของ NATO

 

4.วิลนีอุส, ลิทัวเนีย
(Photo : Pixabay)

อีกหนึ่งประเทศยุโรปตะวันออกที่ตีคู่มากับเอสโตเนีย ชื่อของประเทศลิทัวเนียอาจจะไม่ค่อยคุ้นในแผนที่โลก แต่จริงๆ แล้วนี่คือผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และฟินเทค ลิทัวเนียมีสตาร์ทอัพกว่า 1,000 บริษัท และฟินเทคอีกกว่า 200 บริษัท สตาร์ทอัพดังด้านเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Revolut และ Google Payments มีสำนักงานของบริษัทอยู่ในวิลนีอุส และ ศูนย์บล็อกเชนแห่งยุโรป ที่เปิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2019 ก็ตั้งขึ้นที่เมืองนี้

เช่นเดียวกับเอสโตเนีย ลิทัวเนียก็ออกวีซ่าสำหรับคนทำงานในสตาร์ทอัพเหมือนกัน เพื่อดึงดูดคนจากประเทศ non-EU ทั้งหลายให้มาลงหลักปักฐานที่นี่

 

5.ไอนด์โฮเว่น, เนเธอร์แลนด์
(Photo : Shutterstock)

เมืองที่ท้าชิงตำแหน่งกับอัมสเตอร์ดัม เป็นที่ตั้งของย่าน Brainport พื้นที่ที่ถูกสนับสนุนให้เป็นแหล่งยกระดับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างบริษัทเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา

รวมถึงเป็นที่ตั้งของ High Tech Campus แหล่งรวมศูนย์วิจัยและพัฒนาของสารพัดบริษัทจากทั่วโลก เริ่มต้นจาก Philips เป็นบริษัทแรกที่มาลงทุน จนปัจจุบันมีมากกว่า 220 บริษัทในพื้นที่ รวมนักวิจัยมากกว่า 12,000 คน
ทำให้ High Tech Campus ประกาศตัวเองว่าเป็นพื้นที่ “ตารางกิโลเมตรที่อัจฉริยะที่สุดในยุโรป”

เมืองไอนด์โฮเว่นยังติดอันดับ 2 ของการจัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดสำหรับ “ดิจิทัล โนแมด” โดยเป็นสวรรค์ของคนรักการขี่จักรยาน ด้วยทางจักรยานทั่วเมืองและมีทางจักรยานลอยฟ้าด้วย

 

6.แมนเชสเตอร์, สหราชอาณาจักร
(Photo by Nathan J Hilton from Pexels)

ไม่มีใครที่ไม่รู้จักแมนเชสเตอร์ ด้วยตำนานลูกหนังของสโมสรดังทั้งสองแห่ง แต่นั่นไม่ใช่จุดขายเดียวของแมนเชสเตอร์ เมืองนี้เป็นแหล่งรวมบริษัทเทคทั้งบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Google, Microsoft, IBM และ Cisco รวมถึงบริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพรวมมากกว่า 10,000 แห่ง

แมนเชสเตอร์เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยติดอันดับโลกถึง 3 แห่ง ทำให้มีบุคลากรชั้นนำรองรับภาคธุรกิจ และทำให้มีความร่วมมือระหว่างเอกชนกับสถาบันการศึกษาได้ง่าย

เมืองนี้ยังเป็นเมืองหัวก้าวหน้าของประเทศ โดยตั้งเป้าจะเป็นเมืองปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2038 เร็วกว่าเป้าหมายของทั้งประเทศถึง 12 ปี และยังมีแผนสร้างทางเดินและทางจักรยานรวมระยะทาง 1,800 ไมล์ในเมือง

 

7.โบโกตา, โคลอมเบีย
(Photo : Pixabay)

ดังที่เห็นว่าทวีปอเมริกาใต้ยังไม่เคยมีศูนย์รวมเทคสตาร์ทอัพเลย ทำให้โบโกตา เมืองหลวงโคลอมเบียมีสิทธิ์สูงมากที่จะได้เป็นแห่งแรก ในเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โบโกตากระโดดขึ้นมาถึง 200 อันดับเมื่อมีการจัดอันดับเมืองที่ดึงดูดเงินลงทุนจากเวนเจอร์ แคปิตอลได้มากที่สุด

เนื่องจากรัฐบาลโคลอมเบียลงทุนอย่างหนักในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยมีการให้แรงจูงใจสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง และมีโปรแกรมเทรนนิ่งพนักงาน พร้อมกับสร้างแหล่งข้อมูลสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคให้เข้ามาลงทุนที่โคลอมเบีย

พื้นฐานด้านพฤติกรรมประชากรยังมีส่วนช่วยให้โบโกตาโตอย่างก้าวกระโดด EY สำรวจเมื่อปี 2019 พบว่า ชาวโคลอมเบียมีอัตราการเปลี่ยนไปใช้บริการฟินเทคสูงที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยประชากรสัดส่วน 76% จะมีการใช้บริการฟินเทคอย่างน้อยหนึ่งอย่าง

ตัวเมืองโบโกตาเองก็ถือเป็นเมืองที่อยู่อาศัยได้ดีพอควร เป็นเมืองทางเดินดี เข้าถึงสวนสาธารณะง่าย และอยู่ในอันดับ 11 ของการจัดอันดับเมืองที่ดีที่สุดสำหรับ “ดิจิทัล โนแมด”

 

8.เคปทาวน์, แอฟริกาใต้
(Photo : Sharon Ang/Pixabay)

เช่นเดียวกับละตินอเมริกา ทวีปแอฟริกาก็ยังไม่มีแหล่งเทคสตาร์ทอัพ แต่เคปทาวน์กำลังจะมาคว้าตำแหน่งนี้ เคปทาวน์เป็นศูนย์รวมสถาบันการเงินในแอฟริกาอยู่แล้ว ทำให้เหล่าฟินเทคจะมาใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ รวมถึงสตาร์ทอัพสายอื่นก็เข้ามาลงทุนดึงเม็ดเงินจากเวนเจอร์ แคปิตอลให้เพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี 2016-2019 เงินลงทุนจากเวนเจอร์ แคปิตอลสู่เคปทาวน์เพิ่มขึ้น 147%

โครงสร้างพื้นฐานเมืองค่อนข้างมีเสน่ห์กับชาวเทคด้วย ด้วยที่ตั้งของเคปทาวน์ขนาบด้วยภูเขาและทะเลอย่างสวยงาม มาพร้อมกับค่าครองชีพต่ำกว่าเมืองเทคใดๆ ในโลก ทำให้เป็นจุดดึงดูดคนดิจิทัลเข้ามาหา

Source

]]>
1310010