ไก่ทอด – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 17 Sep 2024 08:03:17 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ไก่ทอด” สมรภูมิสุดหินที่แม้แต่ “Texas Chicken” ยังต้องโบกมือลา https://positioningmag.com/1490278 Mon, 16 Sep 2024 10:34:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1490278 ช็อกวงการร้านอาหารเมื่อ “Texas Chicken” ประกาศ “ปิดตัว” ทุกสาขาในวันที่ 30 กันยายน 2567 ทั้งที่ยืนหยัดอยู่ในไทยมานานได้ถึง 9 ปี เคยมีสาขาสูงสุดมากกว่า 100 สาขา และผู้นำเข้ามาสเตอร์แฟรนไชส์เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง PTTOR

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR เป็นผู้นำเข้ามาสเตอร์แฟรนไชส์ร้านไก่ทอดชื่อดังจากสหรัฐฯ อย่าง “Texas Chicken” (เท็กซัส ชิคเก้น) มาเปิดตัวในไทยเมื่อปี 2558 สาขาแรกบุกเข้าศูนย์การค้าทันทีที่ “เซ็นทรัล เวสต์เกต” ก่อนจะขยายสาขาไปทุกทำเลทั้งสแตนด์อะโลนและในสถานีน้ำมัน PTT เอง

การมาของ Texas Chicken ถูกมองว่าจะมาเป็นผู้เล่นรายใหม่ท้าชิงบัลลังก์ “ไก่ทอด” จาก KFC (เคเอฟซี) ซึ่งเป็นเจ้ายุทธภพไก่ทอดฟาสต์ฟู้ดเมืองไทยมาตลอด ด้วยลักษณะร้านเป็นฟาสต์ฟู้ดที่มีเมนูหลักคือไก่ทอดเหมือนกัน ต้นตำรับมาจากสหรัฐฯ เหมือนกัน และผู้นำเข้าแฟรนไชส์ก็ใหญ่ไม่แพ้กัน

ตัวอย่างเมนูใน Texas Chicken

โดยจุดเด่นในเมนูของ Texas Chicken ที่ผู้บริโภคชาวไทยยอมรับร่วมกันไม่ใช่ไก่ทอด แต่กลับเป็น “บิสกิต”​ ของหวานตัวเด็ดของร้าน ดังขนาดที่เมื่อร้านประกาศจะเลิกจำหน่ายบิสกิตเมื่อเดือนมกราคม 2566 เกิดกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียจนร้านต้องพิจารณาใหม่ และตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นเมนู “มินิบิสกิต” ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม Texas Chicken น่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่บริษัทต้องการ เพราะจำนวนสาขาเริ่มลดลง โดยเมื่อปี 2565 เคยมี 107 สาขา มาถึงสิ้นปี 2566 ลดลงมาเหลือ 100 สาขา ครึ่งปีแรก 2567 เหลือ 97 สาขา กระทั่งในเดือนกันยายน 2567 เหลือเพียง 72 สาขา

KFC เจ้าแห่ง “ไก่ทอด”

ฟากเจ้าตลาดอย่าง “KFC” นั้นมีสาขาทะลุ 1,000 สาขาไปแล้ว (*รวมทั้ง 3 เจ้าของแฟรนไชส์) ทำให้ได้เปรียบสุด ๆ ในแง่ของโลเคชั่นร้านที่ครอบคลุมทั่วไทย ไปที่ไหนก็ต้องเจอฟาสต์ฟู้ดเจ้านี้

“ปิยะพงศ์​ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ของ บมจ.เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป (CRG) หนึ่งในผู้ถือแฟรนไชส์ KFC เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ตลาดร้านอาหารแบบ QSR (Quick Service Restaurant) ในไทยนั้นมีมูลค่าตลาดราว 45,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 ประเภทร้านอาหารหลัก ๆ คือ ไก่ทอด เบอร์เกอร์ และพิซซ่า

แต่ร้าน “ไก่ทอด” คือฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในตลาดนี้ เพราะมีมูลค่าตลาดถึงปีละ 27,000 ล้านบาท

KFC
KFC สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว สาขาแรกในประเทศไทยที่เปิดเมื่อปี 2527 กับการรีโนเวตใหม่ในสไตล์เรโทรเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปี

แน่นอนว่าเจ้าตลาดรายใหญ่ที่สุดคือ KFC ซึ่งปิยะพงศ์วิเคราะห์แบรนด์ในมือตัวเองไว้ว่า ที่รักษาแชมป์ไก่ทอดมาได้นาน 4 ทศวรรษ นอกจากเรื่องสาขาเยอะแล้ว ยังเป็นเพราะการทำราคาให้เข้าถึงง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับร้านอาหารประเภทอื่นหรือแบรนด์อื่น รวมถึงการทำการตลาดต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์คงภาพลักษณ์วัยรุ่นได้เสมอมา มีผลต่อการดึงดูดผู้บริโภคหลักของฟาสต์ฟู้ด

ไม่ใช่เจ้าแรกที่ม้วนเสื่อ

Texas Chicken ไม่ใช่เจ้าแรกที่มาชิงบัลลังก์ไก่ทอด เพราะที่ผ่านมามีผู้เล่นขอเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด “ไก่ทอด” จาก KFC อยู่เนือง ๆ ทั้งในลักษณะร้านขายไก่ทอด และการมีเมนูไก่ทอดเข้ามาเสริมทัพในร้าน

ยกตัวอย่างเช่น ปี 2557 เครือปิ้งย่าง “บาร์บีคิวพลาซ่า” เคยได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์นำเข้าไก่ทอด “Hot Star” (ฮ็อท สตาร์) แบรนด์ดังจากไต้หวันมาเปิดที่เมืองไทยสาขาแรกที่เอ็มควอเทียร์ ความโด่งดังจากปากนักท่องเที่ยวไทยที่เคยไปเยือนไต้หวันทำให้ไก่ทอด Hot Star เป็นกระแสทันที มีคนต่อคิวยาวชนิดที่เรียกว่า ‘ล้นห้างฯ’

ไก่ทอด
ไก่ทอด Hot Star มีจุดเด่นเป็นไก่ทอดขนาด XXL ‘ใหญ่เท่าหน้า’

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สืบค้นข้อมูลได้ไก่ทอด Hot Star สามารถขยายไปได้เพียง 6 สาขา และเมื่อถึงปี 2561 ก็ไม่พบสาขาที่ยังเปิดอยู่ โดยความคิดเห็นในโลกโซเชียลมองว่าที่ไก่ทอด Hot Star ยังไม่สามารถชนะใจคนไทยได้นั้น เป็นเพราะรสชาติยังไม่ถูกปาก และราคาที่ค่อนข้างจะสูง

จับตาไก่เกาหลี GUGU Chicken

แม้บริษัทใหญ่จะลาสมรภูมิ แต่มีแบรนด์น้องใหม่รายหนึ่งที่กำลังสู้อยู่เงียบ ๆ แบรนด์นั้นคือไก่เกาหลี “GUGU Chicken” (กูร์ กูร์ ชิคเก้น) เป็นร้านไก่ทอดเกาหลีฟาสต์ฟู้ดภายใต้ บริษัท เจ คอนเซ็พท์ จำกัด โดยนักธุรกิจเกาหลีมาก่อตั้งแบรนด์นี้ในไทย

GUGU Chicken เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2563 และขยายตัวอย่างรวดเร็วจนขณะนี้มีถึง 35 สาขา เน้นคอนเซ็ปต์ไก่ทอดสไตล์เกาหลีที่จะมีซอสให้เลือกหลายแบบ และมีเมนูเกาหลีอื่น ๆ ในร้าน เช่น ซุป ราเมน เครื่องเคียงต่าง ๆ

ไก่ทอด
GUGU Chicken ไก่ทอดสไตล์เกาหลี

ด้วยกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่เหนียวแน่นมากในไทย ทำให้มีไก่ทอดเกาหลีหลายร้านพยายามทำตลาด ทั้งในลักษณะร้านแบบฟูลเซอร์วิสอย่าง “Bonchon” (บอนชอน) จนถึงร้านลักษณะฟาสต์ฟู้ดแบบ GUGU Chicken

ไม่แน่ว่าร้านไก่ทอดที่ฉีกแนวออกไปแบบไก่เกาหลี อาจจะเป็นคำตอบในการเข้ามาชิงเค้กในตลาดไก่ทอดจากมือ KFC ได้บ้างก็ได้!

]]>
1490278
กำลังซื้อต่ำทำพิษ! “KFC” ในมือ “CRG” ลดเป้าการเติบโตปี 2567 เหลือ 7-8% https://positioningmag.com/1476479 Tue, 04 Jun 2024 07:09:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1476479
  • KFC ภายใต้ CRG ปรับลดเป้าการเติบโตปี 2567 เหลือ 7-8% สาเหตุจากกำลังซื้อลดลง แต่ตัวเลือกร้านอาหารใหม่ๆ มีมากขึ้น
  • ลงทุนเปิด 23 สาขาใหม่ และรีโนเวต 35 สาขา ไฮไลต์ “สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว” ฉลองครบรอบ 40 ปี KFC ในไทย ปรับคอนเซ็ปต์เป็นสไตล์เรโทร พร้อมเปิดโมเดลใหม่ “Grab & Go” ร้านแบบไม่มีที่นั่งในสถานีรถไฟฟ้า
  • “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี (KFC) ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยการดำเนินธุรกิจของ KFC ในมือ CRG เมื่อปี 2566 ทำรายได้ไป 7,050 ล้านบาท

    ขณะที่ปี 2567 คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 7-8% ถือเป็นการปรับลดเป้าหมายจากช่วงต้นปีที่ประเมินว่าจะเติบโต 11% หากวัดเฉพาะการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) คาดว่าปีนี้จะเติบโตประมาณ 4% ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 6%

    เหตุผลการเติบโตที่ลดลงกว่าที่คาดไว้ เพราะกำลังซื้อชาวไทยหดตัวลง แต่ตัวเลือกร้านอาหารใหม่ๆ มีมากขึ้น ด้วยลักษณะธุรกิจที่มีกำแพงในการเข้ามาเปิดธุรกิจน้อย

    “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี (KFC) ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG)

    ส่วนภาพรวมตลาดร้านอาหารประเภทจานด่วน (Quick Service Restaurant: QSR) มูลค่าตลาดประมาณ 45,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะโต 3% เท่านั้น

    แต่ถ้าวัดเฉพาะกลุ่มร้านไก่ทอดที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งในตลาด QSR คิดเป็นมูลค่าตลาดราว 27,000 ล้านบาท น่าจะโตได้ 5-6% แรงผลักดันหลักมาจากการขยายสาขาของ KFC เอง เนื่องจากเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของกลุ่มร้านไก่ทอด

     

    เดินหน้าแผนขยาย 23 สาขาใหม่

    ด้านการขยายสาขาใหม่ของ KFC ภายใต้การบริหารของ CRG ปิยะพงศ์ระบุว่า มีแผนจะเปิดเพิ่มทั้งหมด 23 สาขาในปี 2567 ซึ่ง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา KFC ของ CRG มีสาขารวม 338 สาขาแล้ว

    กว่าครึ่งหนึ่งของ 23 สาขาที่จะเปิดใหม่ปีนี้จะเปิดในเมืองรอง และแน่นอนว่าทุกศูนย์การค้าเปิดใหม่ในเครือเซ็นทรัลและโรบินสัน จะมีร้าน KFC เข้าไปเปิดสาขาด้วย

    KFC
    KFC สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว สาขาแรกในประเทศไทยที่เปิดเมื่อปี 2527 กับการรีโนเวตใหม่ในสไตล์เรโทรเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปี

    การรีโนเวตสาขาก็จะมีเช่นกัน โดยปีนี้ตั้งเป้าปรับปรุงร้าน 35 สาขา เป็นการปรับตกแต่งให้ร้านดูดีทันสมัย ให้มีที่นั่งมากขึ้นตอบรับเทรนด์ที่ลูกค้ากลับมาทานอาหารนอกบ้าน และปรับเป็น Digital Store มีจอดิจิทัลสำหรับสั่งอาหารด้วยตนเอง

    ไฮไลต์การรีโนเวตร้านในปีนี้คือ “KFC สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว” เนื่องจากปี 2567 เป็นช่วงครบรอบ 40 ปี KFC ในประเทศไทย และเซ็นทรัล ลาดพร้าวคือที่ตั้งสาขาแรกของ KFC จึงมีการปรับคอนเซ็ปต์พิเศษเพียงสาขาเดียวให้เป็นสไตล์เรโทร “Colonel’s Legacy” งานดีไซน์หวนนึกถึงยุค 1990s สร้างบรรยากาศย้อนยุค

    KFC

     

    ประเดิมสาขาทดลองใน “สถานีรถไฟฟ้า”

    อีกหนึ่งไฮไลต์การขยายสาขาคือในช่วงครึ่งปีหลัง CRG จะเปิด KFC ใน “สถานีรถไฟฟ้า” เป็นครั้งแรก เป็นโมเดลแบบ “Grab & Go” ไม่มีที่นั่ง แต่มีครัวในตัวเพื่อทำอาหารสดใหม่ให้กับลูกค้า

    พื้นที่ร้านจะไม่ใหญ่ ใช้พื้นที่ประมาณ 55-60 ตร.ม. (จากปกติ KFC ใช้พื้นที่ร้านเฉลี่ย 200-250 ตร.ม.) และเมนูอาหารจะมีจำกัด เน้นที่เมนูหลักคือ “ไก่ทอด”

    ขณะนี้กำลังปิดดีลกับผู้ให้เช่าพื้นที่ว่าจะลงในสถานีไหน และปีนี้จะทดลองเพียง 1 สาขาก่อนเพื่อดูผลตอบรับ เพราะสาขานี้จะไม่มีที่นั่ง จะได้ลูกค้ากลุ่มซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรีเท่านั้น รวมถึงเป็นสาขาที่ตั้งในพื้นที่สัญจรระหว่างเดินทางด้วยขนส่งมวลชน จึงต้องดูกระแสก่อนเพราะถือว่าเป็นการเข้าพื้นที่ใหม่ของ KFC

    ปิยะพงศ์กล่าวปิดท้ายถึงความสำเร็จของ KFC ที่ยืนหยัดในตลาดมาได้นาน 40 ปี เชื่อว่าความสำเร็จเกิดจากหลายปัจจัย คือ 1.การขยายสาขาไปมากกว่า 1,000 สาขา (รวมกัน 3 แฟรนไชซี) ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ทุกที่ 2.การปั้นแบรนด์ให้ดูทันสมัยวัยรุ่นอยู่เสมอ เพื่อให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และ 3.การทำราคาให้เข้าถึงง่าย จนวันนี้ถือเป็นร้านอาหารที่ถูกที่สุดเมื่อเดินเข้าศูนย์การค้า ทำให้เป็นตัวเลือกของทุกคน

    ]]>
    1476479
    เพราะมาทีหลังเลยต้องฉีกให้สุด! ถอดแนวคิด ‘เบอร์เกอร์คิง’ จากไวรัล ‘เบอร์เกอร์ชีสล้วน’ จนถึง ‘ไก่ทอดหาดใหญ่’ https://positioningmag.com/1440417 Wed, 09 Aug 2023 09:08:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1440417 ไก่ ถือเป็นโปรตีนที่คนไทยบริโภคมากที่สุด และตลาด ไก่ทอด ก็ถือเป็นเซกเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดฟาสต์ฟู้ด (Quick-Service Restaurant) หรือ QSR โดยมีมูลค่ารวมกว่า 25,000 ล้านบาท ใหญ่กว่าตลาดเบอร์เกอร์ถึง 2 เท่า ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ เบอร์เกอร์คิง (Burger King) ได้เพิ่มเมนูไก่ทอดมา แต่ก็ไม่ใช่ไก่ทอดสีเหลืองทองแบบที่หลายคนคิด แต่เป็น ไก่ทอดหาดใหญ่!

    ได้ทั้งตัวตน ได้ทั้งใจคนโลคอล

    ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน เบอร์เกอร์คิง เปิดตัวซีรีส์ไก่ทอด ชิกเก้นคิง (Chicken King) เป็นครั้งแรก โดยมีกิมมิกคือ ไก่ทอดโรยหอมเจียว และซอสสูตรพิเศษ จากนั้น เบอร์เกอร์คิงก็ขยับให้ใกล้ความเป็นโลคอลไปอีกขั้นด้วยการเปิดตัว ไก่เผ็ดรสต้มยำ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่า เบอร์เกอร์คิงก็มีไก่ทอด ล่าสุดเลยเปิดตัว ไก่ทอดหาดใหญ่ ชิกเก้นคิง! ที่จะมาแทนที่ไก่ทอดหอมเจียว เมนูดั้งเดิมที่เปิดตัวไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

    ธนวรรธ ดำเนินทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องเป็น ไก่ทอดหาดใหญ่ เพราะต้องการจับคนโลคอลมากขึ้น อีกทั้งต้องยอมรับว่า เบอร์เกอร์คิงเป็นผู้เล่นใหม่ ดังนั้น ต้องมีจุดแตกต่างที่เด่นชัดไปเลย หากคู่แข่งชูเรื่อง แป้งหนาฟู เบอร์เกอร์คิงก็ขอชูเรื่อง แป้งบางกรอบ มีรชาติที่เข้มข้น ถูกปากคนไทย ซึ่งเบอร์เกอร์คิงมีการทำเทสตลอดว่าลูกค้าทานอะไร ชอบรสชาติแบบไหน และไก่ทอดก็จะมีไม่กี่ชนิดที่คนไทยทาน และคุ้นเคย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ไก่ทอดหาดใหญ่

    “ต้องยอมรับว่าในตลาดไก่ทอดมีแบรนด์ที่แข็งแรงมาก แค่ยอดขายกับจำนวนสาขา เรารู้ตัวอยู่แล้วว่าเราสู้เขาไม่ไหว แต่มันก็มีช่องว่างบางอันที่เราเห็นว่าเราสามารถแทรกเข้าไปได้ และต้องทำให้คนเขาจำเราได้ว่าเราคืออะไร อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มองว่าไก่ทอดจะต้องมียอดขายเป็นอันดับ 1 แต่จะมาเป็นทางเลือกและดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เข้ามา ” ธนวรรธ ย้ำ

    ไม่ทำเบอร์เกอร์ไทยจ๋า เพราะทิ้งซิกเนเจอร์ไม่ได้

    เพื่อจะเข้าถึงลูกค้าคนไทยมากขึ้น การเพิ่มเมนูโลคอลอย่างไก่ทอด โจ๊ก ข้าว หรือแม้แต่ขนมหวานอย่างพายก็มีไส้ ขนมครก แต่กลับไม่มี เบอร์เกอร์ที่ใส่ความเป็นไทย โดย ธนวรรธ ให้เหตุผลว่า เบอร์เกอร์ไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย ดังนั้น เลยจำเป็นต้องเพิ่มเมนูที่คนไทยคุ้นเคยเข้ามา เป็นทางเลือก

    แต่ที่ไม่มีเบอร์เกอร์ที่ผสานความเป็นโลคอลเพราะ ตัวโปรดักส์ฟอร์แมตมันเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง เพราะเบอร์เกอร์คิงจะทิ้งความเป็น ซิกเนเจอร์ ไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถเปลี่ยนทุกอย่างเป็นไทยจ๋ากับคอร์โปรดักส์ได้ ทำให้จึงออกเป็นเมนูที่ปรับให้มีรสชาติหรือใช้วัตถุดิบที่คนไทยชื่นชอบมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นหมูหรือปลาแซลมอน

    “เบอร์เกอร์คิงในต่างประเทศจะเน้นเมนูเนื้อเป็นหลัก แต่ในไทยเนื้อไม่ใช่วัตถุดิบหลักที่คนไทยบริโภค ดังนั้น เราจึงมีเบอร์เกอร์หมู เบอร์เกอร์ปลาแซลมอน เพื่อพยายามโลคอลไรซ์ที่สุดแล้ว แต่จะให้ปรับเป็นใช้ข้าวเหนียวแทนแป้งเลยคงไม่ได้”

    เบอร์เกอร์ชีสล้วน ออกมาเพื่อชูแท็กไลน์ของเบอร์เกอร์คิง

    อีกจุดเด่นของเบอร์เกอร์คิงที่ไม่ได้สื่อสารก็คือ ลูกค้าสามารถ คัสตอมไมซ์ส่วนผสมของเบอร์เกอร์ได้ แต่หลายคนไม่รู้ และเบอร์เกอร์คิงเองก็มองว่ามันเป็นคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้าง เข้าใจยาก และคนไทยจะ กลัวว่าสั่งยาก แบรนด์เลยต้องทำให้มียูสเคสที่ทำให้เห็นว่าสั่งได้เลยออกเป็น เบอร์เกอร์ชีสล้วน เพราะคนไทยชอบชีส เบอร์เกอร์ชีสเลยทำยูสเคสแรกให้ลูกค้ารู้ว่าจะใส่อะไรในเบอร์เกอร์ก็ได้ อย่างในต่างประเทศเขาสามารถสั่งได้หมดเลย เพียงแต่เราไม่เคยสื่อสารให้ลูกค้าเห็นภาพชัด ๆ ว่ามันทำได้

    สำหรับเจ้าเบอร์เกอร์ชีสล้วนนั้นแม้จะออกมาเพื่อชูแท็กไลน์ของเบอร์เกอร์คิง แต่กระแสตอบรับกลับได้มากว่านั้น เพราะไม่ใช่แค่ยอดขายที่โตจนทำให้รายได้เดือนกรกฎาคมทำ New High ของบริษัท และทำให้เบอร์เกอร์คิงได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพิ่ม แต่กระแสแรงมากขึ้นถึงขั้นออกสื่อระดับโลกอย่าง CNN นอกจากนี้ เบอร์เกอร์คิงในประเทศอื่น ๆ ก็ได้ลองออกเมนูเบอร์เกอร์ชีสล้วนไปขายด้วย

     

    ยังมีการบ้านต้องทำ เพราะยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทย

    ธนวรรธ ทิ้งท้ายว่า แม้เบอร์เกอร์คิงจะเป็นเบอร์ 2 ในตลาดเบอร์เกอร์เมืองไทย และเป็นที่ 3 ในตลาด QSR แต่ต้องยอมรับยัง ห่างชั้น อีกเยอะ เพราะในต่างจังหวัดแบรนด์เบอร์เกอร์คิงยังไม่เป็นที่รู้จัก ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่ของทีมการตลาดที่จะทำให้เบอร์เกอร์คิงโลคอลไรซ์ และทีมหาพื้นที่ที่จะขยายแบรนด์ให้ครบ 77 จังหวัดในอนาคต

    โดยจากนี้ เบอร์เกอร์คิงจะพยายามผสมผสานความเป็นไทยเพื่อขยาย New User คนไทย จากปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 80% ซึ่งแบรนด์มีแผนที่จะเพิ่มโลคอลเมนูเกือบทุกเดือน และวางเป้าเพิ่มยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่เบอร์เกอร์ให้เป็น 10% ในอนาคต

    “คู่แข่งเขามาก่อน เรามาทีหลังกว่าเขาเป็นสิบปี ดังนั้น เราต้องทำการบ้านมากกว่าคู่แข่ง เราอยากสร้างความโดดเด่น ความแตกต่าง และความสนุกให้กับตลาด เพราะหน้าที่เราต้องตามเทรนด์ลูกค้าให้ทันและต้องคิดล่วงหน้าลูกค้าด้วย ในวันที่พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแล้วค่อยขยับ ไม่มีวันที่เราจะตามลูกค้าทัน”

    ]]>
    1440417
    ขยายสาขา ‘KFC’ ฉบับ ‘CRG’ หมดยุคร้านใหญ่มุ่ง ‘ไซส์มินิ’ ลงทุนน้อยเพิ่มโอกาสทำกำไร https://positioningmag.com/1412365 Wed, 14 Dec 2022 06:47:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1412365 หากพูดถึงตลาด Quick Service Restaurant หรือ QSR ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 40,000 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดหรือ 20,000 ล้านบาท มาจาก ตลาดไก่ทอด ซึ่งผู้ที่ครองเบอร์ 1 ก็ไม่ใช่ใคร ซึ่งก็คือ ‘เคเอฟซี’ (KFC) ที่ปัจจุบันมีสาขาในไทยรวมกว่า 1,000 สาขา จาก 3 บริษัทใหญ่ ได้แก่ CRG, QRS และ RD

    โควิดหาย ไดรฟ์อินโตกระฉูด

    ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine  ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารถือว่ากลับมาเป็นปกติมากขึ้น จากเดิมที่ขายได้แต่เดลิเวอรี่ ส่งผลให้ยอดขายในช่วง Q1 – Q3 ปี 2022 เติบโตมากกว่า 25% และสัดส่วนช่องทางการจำหน่ายที่หน้าร้านเติบโตมากขึ้นกว่า 60% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยปัจจุบัน ยอดขายหน้าร้านมีสัดส่วน 75% ส่วนเดลิเวอรี่มีสัดส่วน 25% จากที่ปี 2019 รายได้จากหน้าร้านคิดเป็น 90% ส่วนเดลิเวอรี่มีสัดส่วนเพียง 10%

    “ผมเชื่อว่ามนุษย์คือสัตว์สังคม และร้านอาหารยังเป็นพื้นที่สังสรรค์ และ KFC เป็นอาหารยอดฮิต เพราะเข้าถึงง่าย เป็น Everyday Occasion ที่ผ่านมาเราเห็นพฤติกรรมลูกค้าที่มักมาเป็นกลุ่มใหญ่ช่วงเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ มากินกับเพื่อน, ครอบครัว ทำให้ปีนี้การไดอินกลับมาเติบโตสูง แต่เดลิเวอรี่แม้ลดความร้อนแรงลงแต่ก็ยังสำคัญในการวางกลยุทธ์ร้านอาหารต่อจากนี้”

    ขายกาแฟแล้วสถานีต่อไปขายเบียร์

    หลังจากการกลับมาของไดรฟ์อิน ดังนั้น โจทย์ของ KFC คือ ต้องทำ ประสบการณ์ ของลูกค้าให้ดีขึ้น ให้เขาอยากมาที่ร้าน รวมถึง ราคา ต้องจับต้องได้ ไม่แพงเกินไป ดังนั้น ในส่วนของเมนูเองจึงมีการ จัดเซตเมนู และการตรึงราคาที่เริ่มต้น 69 บาท นอกจากนี้ ต้องมีอะไรใหม่ ๆ อย่างที่ผ่านมา Cafe’ by Arigato ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขาย ช่วงเช้าและบ่าย จากปกติช่วงเวลายอดนิยมของร้านอยู่ที่ช่วงพักเที่ยงและตอนเย็น โดยปีนี้ Cafe’ by Arigato มียอดขายกว่า 2 ล้านแก้ว จากกว่า 260 สาขา

    นอกจากนี้ กำลังพิจารณาถึงการนำ เบียร์ มาขายในอนาคต โดยจะเน้นไปที่กรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวก่อน โดยกำลังมองหาพาร์ตเนอร์ที่สนใจ

    “การแข่งขัน QSR ยังสูงเป็นปกติ แต่เปลี่ยนไปตามชาแนล เช่น เดลิเวอรี่ ไดรฟ์อิน เทคอเวย์ ทำให้โจทย์เราตอนนี้คือ จะทำยังไงให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น ง่ายขึ้น และให้เขากลับมากินที่ร้านมากขึ้น ดังนั้น เราก็ต้องมีอะไรใหม่ ๆ มาเสิร์ฟลูกค้า เราต้องทำให้เขามีประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น ในราคาที่ไม่แพงเกินไป”

    ช็อป เฮ้าส์ โมเดลใหม่ไซส์มินิ

    ในส่วนของการขยายสาขา ทาง CRG ได้ลงทุน 300 ล้านบาท โดยคาดว่าภายในสิ้นปีจะขยายเพิ่มอีก 30 สาขา รวมทั้งปีมีสาขาทั้งหมด 320 สาขา โดยทั้ง 30 สาขาที่จะเปิดใหม่นี้อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 50% อีก 50% เป็นสาขาในต่างจังหวัด ส่วนปีหน้า (2566) คาดว่าจะลงทุนอีก 400 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 30 สาขา

    ที่น่าสนใจคือ สาขา KFC ภายใต้ CRG จะเริ่มมองหารูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโมเดล ช็อป เฮ้าส์ ที่ใช้อาคารพาณิชย์ 1-2 คูหาเปิดร้าน ซึ่งจากนี้จะเป็นรูปแบบหลักในการขยายสาขา เนื่องจากใช้งบลงทุนน้อยกว่าเดิม 40% สามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้น ปัจจุบันได้นำร่องเปิดแล้ว 2 สาขาที่สะพานใหม่ และอินทามระ

    “แน่นอนว่าเราอยู่ในเครือเซ็นทรัลฯ เขาไปไหนเราก็ไปด้วย แต่พอทำสแตนด์อโลนมันมาพร้อมโอกาสใหม่ ๆ เราปิดได้ช้าก็ขายได้มากขึ้น อย่างช่วงบอลโลกยอดขายตอนกลางคืนเราโตขึ้น 10% แต่ถ้าเราเปิดในห้างฯ เราก็ต้องเปิดปิดพร้อมห้างฯ”

    นอกจากนี้ ยังได้ทดลองเปิด KFC Green Store Concept สาขาต้นแบบที่โรบินสันราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นร้านสแตนด์อโลนอยู่นอกศูนย์การค้าเพื่อจับเทรนด์ ESG หรือความยั่งยืน โดยได้ออกแบบในสไตล์นอร์ดิกสื่อถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยโครงสร้างร้านและวัสดุก่อสร้างจะเน้นเลือกใช้ที่ส่งเสริมความยั่งยืน อาทิ กระจกประหยัดพลังงานในระดับสูงสุด, การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล, ชุดพนักงานที่ตัดเย็บด้วยผ้าจากเส้นใยขวดพลาสติก การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    KFC ตอนนี้มีสาขารวมกันกว่า 1,000 สาขา ชาเลนจ์คือ มันจะขยายยังไงต่อ และบริหารจัดการให้ทำกำไร เพราะสาขาเล็กก็ขายได้น้อย กำไรน้อย บางสาขาใหญ่มากแต่ทราฟฟิกไม่ถึงก็ไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้น จากนี้ไซส์ต้องเหมาะกับโลเคชั่น และใช้เดลิเวอรี่ช่วย นอกจากนี้ เรื่องความยั่งยืนก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนให้ความสนใจมากขึ้น แต่คงไม่โตหวือหวามาก มองว่าเป็นเทรนด์ระยะยาว”

    ปีหน้าทำรายได้ทะลุ 7,000 ล้านบาท

    สำหรับรายได้ของ KFC ในปีนี้คาดว่าจะปิดที่ 6,300 ล้านบาท เติบโต 25% ซึ่งเกินกว่าเป้าที่วางไว้ที่ 6,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะเติบโตกว่าเป้าแต่ยอดขาย Same Store ยังไม่กลับไปเท่ากับปี 2019 แม้จะเติบโตขึ้น 20% ก็ตาม แต่เชื่อว่าในปี 2023 สถานการณ์จะกลับมาปกติ ดังนั้น คาดว่าจะมีรายได้ 7,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ปัจจุบัน KFC ทำรายได้ให้กับ CRG คิดเป็น 40%

    “ปีหน้าที่น่าห่วงไม่ใช่เรื่องต้นทุน แต่เป็นความไม่แน่นอน อย่างปีนี้ก็น้ำมันขึ้น วัตถุดิบขึ้น สงครามยูเครนทำให้แป้งขึ้น แต่ความเสี่ยงไม่ใช่ราคา เป็นความไม่แน่นอน มันทำให้เราต้องทำระยะสั้นให้เร็ว และมองระยะยาวให้ดี”

    ]]>
    1412365
    ชำแหละกลยุทธ์ ‘ชิค-อะ-บูม’ จากเดอะ พิซซ่า คอมปะนี ลั่นกลองรบด้วย ‘ไก่ชิ้นใหญ่’ ท้าชน ‘KFC’ https://positioningmag.com/1383453 Fri, 29 Apr 2022 09:45:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383453 ย้อนไปช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา The Pizza Company ก็ได้แตกแบรนด์ไก่ทอด ‘ชิค-อะ-บูม’ (Chick-A-Boom) จากปกติที่ร้านได้มีขายเมนู ปีกไก่บาร์บีคิว ซึ่งถือว่าเป็นเมนูที่หลายคนสั่งคู่กับพิซซ่าจนครองสัดส่วนยอดขายถึง 10% แต่จากการที่ทดลองขายได้ประมาณ 1 ไตรมาส ก็ถึงเวลาที่จะรุกตลาดไก่ทอดอย่างจริงจัง โดยไม่ได้ขายแค่ไก่ชิ้นเล็ก แต่มาขายไก่ใหญ่เต็มตัว

    ก้าวสู่สงครามไก่ทอดเต็มตัว

    ในตอนแรกที่ The Pizza Company เปิดตัว ไก่ทอด ชิค-อะ-บูม หลายคนอาจจะมองว่าเป็นแค่กิมมิกทางการตลาด มาเพื่อสร้างสีสัน เพราะก่อนนี้เมนูไก่ก็มีแค่ ปีกไก่บาร์บีคิว, ปีกไก่ทอดสไตล์เกาหลี แถมไก่ทอดชิค-อะ-บูม ยังทำแค่ ปีกไก่ชิ้นเล็ก แต่พอชิค-อะ-บูม หันมาจับตลาดไก่ชิ้นใหญ่ด้วย Chick-A-Boom Big Chick (ชิค-อะ-บูม บิ๊กชิค) แปลว่าแบรนด์กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดไก่ทอด (QSR) เต็มตัว

    สาเหตุที่ชิค-อะ-บูมเริ่มมาทำไก่ใหญ่ ภานุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ภายใต้การดำเนินการของ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นเพราะฟีดแบ็กจากลูกค้า ที่บ่นว่า “ทำไมไม่ทำไก่ทอดชิ้นใหญ่ รู้ไหมว่าเขาต้องเสียเวลาสั่งไก่ทอดอีกรอบ” ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกที่เปิดตัวไก่ทอดชิค-อะ-บูมไป ก็ได้ผลตอบรับที่ดี มีอัตราการเติบโตถึง 70% จนทำให้ยอดขายปีกไก่บาร์บีคิวลดลงไปถึง 10%

    “เราแตกเป็นชื่อแบรนด์ชิค-อะ-บูม เพราะต้องการให้คนแยกระหว่างเรากับพิซซ่า เพราะ The Pizza มาทำไก่ ความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวจริงมันก็ยังอยู่ เราเลยต้องแตกแบรนด์ที่สื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไก่ออกมาจริง ๆ แต่เราก็มีศักดาที่ออกมาจากแบรนด์ใหญ่”

    ภานุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ภายใต้การดำเนินการของ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด จำกัด (มหาชน)

    ขายความพรีเมียม เน้นสร้างแบรนด์

    ปัจจุบัน ตลาดไก่ทอด QSR มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แบรนด์เบอร์ 1 มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 65% อย่างไรก็ตาม ในตลาดไก่ทอดมีความน่าเบื่อ มีรสชาติเดิม ๆ แถมตลาดยังเน้นที่โวลุ่มมากกว่าคุณภาพ ดังนั้น จะเห็นว่าแต่ละแบรนด์อัดโปรกันอย่างหนักเพื่อช่วงชิงตลาด จนปัจจุบันราคาเฉลี่ยเหลือแค่ชิ้นละไม่ถึง 30 บาท ดังนั้น ชิค-อะ-บูมจะเน้นไปจับตลาดพรีเมียมมากกว่าจะไปเล่นเรื่องราคา โดยจะโฟกัสลูกค้า The Pizza เป็นหลักก่อน

    “เราก็พยายามทำราคาให้ดีเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาลอง โดย Chick-A-Boom Big Chick เริ่มต้นที่ชิ้นละ 45 บาท, 2 ชิ้น ราคา 89 บาท, 5 ชิ้น ราคา 219 บาท และ 10 ชิ้น ราคา 419 บาท จะเห็นว่าราคาสูงกว่าคู่แข่งเกือบเท่าตัว แต่เราจะไม่ลดราคาเพื่อเน้นทราฟฟิก หรือให้ความสำคัญกับการขายมากกว่าสร้างแบรนด์”

    ที่ผ่านมา ยอดใช้จ่ายของลูกค้า The Pizza ในร้านเฉลี่ยอยู่ที่ 600 บาท/บิล หรือ 200 บาท/คน ส่วนใหญ่มา 3-4 คน ส่วนช่องทางเดลิเวอรี่จะมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 500 บาท/บิล ส่วนแบรนด์เบอร์ 1 ในตลาดไก่ทอดมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 150 บาท จะเห็นว่ากลุ่มลูกค้าของ The Pizza มีกำลังซื้อมากกว่า

    “เราเล่นตลาดเดียวกับเขาไม่ได้ เพราะต้นทุนเราแพงกว่า เหมือนกับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีแบรนด์พรีเมียมออกมา ก็สร้างความปั่นป่วนให้ตลาด เราเลยเชื่อว่าเอาโปรดักส์ที่ใช่ไปในกลุ่มที่ใช่จะสามารถสร้างความต่างได้ ซึ่งถ้าของดีจริงลูกค้าพร้อมจะจ่าย เพราะเขามองหาความอร่อย”

    ขอเวลา 3 ปีพิสูจน์ตัวเอง

    ที่ผ่านมา The Pizza ได้เปิดขายไก่ทอดชิค-อะ-บูม ในสาขาของ The Pizza Company ที่เป็นรูปแบบ Restaurant กว่า 220 สาขา (จากสาขา The Pizza Company ทั้งหมด 416 สาขา) โดยให้บริการในรูปแบบ Dine-in และ Take Away รวมทั้งมี ‘Chick-A-Boom Pop-up Store’ (ชิค-อะ-บูม ป็อปอัพ สโตร์) โดยออกแบบเป็น Shop in Shop จำนวน 15 สาขาภายในร้าน The Pizza Company ที่เป็นรูปแบบ Full Service Restaurant ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

    อย่างไรก็ตาม The Pizza มองว่าถ้า 3 ปีจากนี้แบรนด์ชิค-อะ-บูม ได้รับการตอบรับที่ดี สามารถรักษาการเติบโตของตัวเองได้ก็ มีโอกาสที่จะแตกแบรนด์ออกมา ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้จากสินค้ากลุ่มไก่ที่มีประมาณ 9 SKU ที่ 1,500 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาทำรายได้ 800 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้งบการตลาดประมาณ 50 ล้านบาท

    “ในตลาด Food ตอนนี้ถ้าภายใน 3 ปีอยู่ไม่ได้ก็ไปต่อไม่ได้ ถ้าเราสามารถสร้างการเติบโตของตัวเองได้ สร้างกำไรได้เราก็มีโอกาสแตกแบรนด์ออกมา ซึ่งเรามั่นใจว่าสินค้าเราดี เราอาจไม่ได้ทำไก่มาเป็นร้อยปี แต่เรามั่นใจเรื่องแป้ง เพราะเราทำพิซซ่า เราอยู่กับแป้งมาเป็นร้อยชนิด และเรารู้ว่าลูกค้าเราต้องการอะไร”

    เลิกหวังลูกค้ากลับร้าน

    แม้ว่าปีที่ผ่านมา The Pizza Company จะมีการเปิดโมเดลใหม่ The Pizza Company Signature เรียกว่าเป็นการปรับโฉมทั้งตัวร้าน และเมนู เพื่อกระตุ้นยอดขายการมาทานที่ร้านโดยเฉพาะ ซึ่งเมนูของที่นี่จะไม่มีบริการเดลิเวอรี่ แต่ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายโดยรวมของ The Pizza Company มาจากช่องทาง Delivery ถึง 50% Take Away 30% ส่วน Dine-in 20% จากก่อนที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ทั้ง 3 ส่วนเท่า ๆ กันหมด

    ทำให้ The Pizza Company เริ่มมองว่าควร ไปตามน้ำ มากกว่า เพราะมองว่าตอนนี้คงไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้แล้ว อย่างก่อนหน้านี้เมนูไก่ชิค-อะ-บูมจากเดิมที่ขายเฉพาะ Dine-in ปัจจุบันก็ให้บริการผ่าน Delivery แล้ว

    “ตอนนี้คนเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว เราจะไปเปลี่ยนกลับคงไม่ถูก ดังนั้นลูกค้าชอบแบบไหนเราควรไปอยู่ตรงนั้นมากกว่า เราเลยไปเน้นในส่วนที่มันเติบโตดีกว่า โดยจะเน้นที่ชาแนลของเป็นหลัก เพราะเราควบคุมคุณภาพและเวลาได้ จากนี้จะมีแคมเปญใหญ่ด้านเดลิเวอรี่ออกมา”

    Photo : Shutterstock

    ความท้าทายใหญ่พิซซ่าไม่ใช่ตัวเลือกแรก

    สำหรับตลาดพิซซ่าในไทยนีลเซ่นระบุว่ามีมูลค่าราว 15,000 ล้านบาทเติบโต 3% ส่วน The Pizza Company ครองส่วนแบ่งการตลาด 75% โดยในปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 6% สำหรับในปี 2022 แม้ไตรมาสแรกจะสามารถเติบโตได้ 7% แต่เพราะมีแคมเปญ ซื้อ 1 แถม 1 ช่วยกระตุ้น ดังนั้น ในช่วงไตรมาส 2-3 คงจะไม่ได้เติบโตเท่ากับไตรมาสแรก และอาจจะเริ่มกลับมาช่วงไตรมาส 4 หากมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น ดังนั้น ตั้งเป้าว่าภาพรวมทั้งปีจะทรงตัวที่ 7,000 ล้านบาทเท่ากับปีที่ผ่านมา

    แม้ The Pizza จะยังเติบโตได้แต่ความท้าทายคือ ตลาดอาหารเริ่มเปิด พิซซ่าไม่ใช่ตัวเลือกแรกอีกต่อไป ดังนั้น แบรนด์เองก็ต้องพยายามหาเมนูใหม่ ๆ แคมเปญใหม่ ๆ มาเพื่อกระตุ้นตลาด ส่วนอีกความท้าทายของการตลาดไก่ทอดคือ การแข่งขันกับเบอร์ 1 ที่งบในการทำตลาดเยอะกว่า แต่เชื่อว่าด้วยกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนจะสร้างโอกาสให้กับแบรนด์

    ]]>
    1383453
    บิ๊กมูฟ! The Pizza Company ปั้น “ชิค-อะ-บูม” บุกตลาดไก่ทอด กระตุ้นนั่งทานที่ร้าน https://positioningmag.com/1368533 Thu, 23 Dec 2021 08:04:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368533 เป็นการขยับตัวครั้งใหญ่ในรอบ 21 ปี ของ The Pizza Company เปิดโมเดลใหม่ The Pizza Company Signature มีเมนูที่มากกว่าพิซซ่า ขายเฉพาะนั่งทานที่ร้าน พร้อมแตกแบรนด์ลูก “ชิค-อะ-บูม” บุกตลาดไก่ทอดเต็มตัว พร้อมจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

    ดันไก่ทอดบุกตลาด 40,000 ล้าน

    ถ้าพูดถึงตลาดร้านอาหาร QSR หนึ่งในเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็คือ “ตลาดไก่ทอด” ปัจจุบันมีมูลค่าราวๆ 40,000 ล้านบาท สำหรับคนไทยแล้ว ไก่ทอดเป็นเมนูที่ทานได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ เป็นอาหารโลคอลก็ได้ เพราะมีไก่ทอดสไตล์ไทยๆ ทานกับข้าวเหนียว หรือจะเป็นอาหารสไตล์เกาหลี หรืออเมริกันก็ได้

    ปัจจุบันเราจึงได้เห็นแบรนด์ไก่ทอดเกิดขึ้นมากมาย ทั้งสไตล์เกาหลี และอเมริกัน มีทั้งแบรนด์ใหญ่ และแบรนด์ย่อยระดับ SME ทำให้ The Pizza Company ต้องลงมาจับตลาดนี้บ้าง ด้วยการแตกแบรนด์ “ชิค-อะ-บูม” เน้นขายแต่เมนูไก่ทอด แต่จะอยู่ภายใต้ร้าน The Pizza Company ไม่ได้ขายแยกสาขากัน

    เหตุผลที่ทางแบรนด์ได้ลุยตลาดไก่ทอดนั้น มองเห็นเทรนด์การเติบโต ปกติที่ร้านได้มีขายเมนูปีกไก่บาร์บีคิวอยู่แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 10% ถือว่าเป็นเมนูที่แข็งแกร่งพอสมควร อีกทั้งยังพบว่าในตลาดไก่ทอดมีความน่าเบื่อ มีรสชาติเดิมๆ เป็นไก่ชุบแป้งทอด

    จึงปั้น ชิค-อะ-บูม เป็นแบรนด์ไก่ทอดสไตล์อเมริกัน เน้นแต่เมนูปีกไก่ทอด มีซอส 7 รสชาติ และซอสลับเดือนละ 1 ซอส ราคาเริ่มต้นที่ 169 บาท ไปจนถึง 389 บาท มีเมนูไฮไลต์อย่าง เดอะ คิลเลอร์ (The Killer) เอาใจสายกิน และสายคอนเทนต์ชอบแชะ มีไก่ที่จัดมาแบบอลังการ 4 ไม้ เสิร์ฟพร้อมคอร์นด็อก ราคา 499 บาท

    ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

    ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

    “The Pizza Company นอกจากจะเป็นผู้นำตลาดพิซซ่าแล้ว ยังถือเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำด้านปีกไก่ทอด ทั้งไก่เกาหลี ไก่บาร์บีคิว จึงได้เปิดตัวไก่ทอด “ชิค-อะ-บูม” (Chick-A-Boom) แบรนด์ไก่ทอดอเมริกันน้องใหม่ ชูจุดเด่นด้วยซอส 7 รสชาติ สร้างความแปลกใหม่ให้ผู้บริโภค เน้นตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มเฟิร์สจ็อบเบอร์ ที่ไม่ชอบความจำเจ และชอบลองอะไรใหม่ และกระตุ้นการมาทานที่ร้านบ่อยขึ้นด้วย”

    ชิค-อะ-บูม จะเริ่มขายสาขาแรกที่ The Pizza Company Signature ที่ศูนย์การค้าซีคอน ศรีนครินทร์ มีแต่เมนูที่นั่งทานในร้านอย่างเดียว ไม่มีบริการเดลิเวอรี่

    แบรนด์นี้มีแผนที่จะเข้าไปเปิดภายในร้าน The Pizza Company ทุกสาขาในอนาคต จะเริ่มขยายในเดือนมกราคม 2565 แต่จะไม่มีการทำร้านแยกออกจากกัน หรืออยากมากก็ทำเป็นคีออสเล็กๆ ขายภายในร้านเท่านั้น

    นำร่อง The Pizza Company Signature

    อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของ The Pizza Company ในปีนี้ก็คือ การเปิดโมเดลใหม่ The Pizza Company Signature เรียกว่าเป็นการปรับโฉมทั้งตัวร้าน และเมนู เพื่อกระตุ้นยอดขายการมาทานที่ร้านโดยเฉพาะ ซึ่งเมนูของที่นี่จะไม่มีบริการเดลิเวอรี่

    The Pizza Company Signature มีการปรับเมนูอาหารใหม่ทั้งหมดให้เป็นเมนูพรีเมียม จะไม่ได้มีแต่เมนูพิซซ่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรวมตัวของทั้ง Pizza-Meat-Cheese เพิ่มไลน์อาหารกลุ่มสเต๊ก สลัด และพาสต้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยใช้วัตถุดิบพรีเมียม

    ไฮไลต์เด่นของที่นี่จึงเป็นการนำเอาพิซซ่ามาทำให้พิเศษยิ่งขึ้น ด้วยการใช้แป้งสูตรพิเศษ ที่ได้นำตำนานพิซซ่าชนิดแรกในประวัติศาสตร์โลกอย่างนาโปลีพิซซ่า (Napoli Pizza) จะมีแป้งที่หอม บาง เนื้อนุ่มหนึบ ขอบมีฟองอากาศ หรือ Bubble Crust และมีหน้าใหม่ให้เลือก 17 หน้า

    “โมเดลนี้พัฒนามานานแล้ว ตอนแรกจะเปิดตังแต่ช่วงสิงหาคม แต่ก็ยังติดเรื่อง COVID-19 จึงเลื่อนมาเปิดในเดือนธันวาคม โมเดลใหม่นี้จะไม่ใช่แค่พิซซ่า แต่จะมีพิซซ่า ชีส สเต๊ก รวมถึงมีเบียร์ และไวน์ด้วย ถ้าทดลองตลาดแล้วเวิร์ก จะขยายต่อไปโดยเน้นจับกลุ่มลูกค้าในเมือง”

    The Pizza Company Signature เป็นการรีโนเวตสาขาเดิมที่ศูนย์การค้าซีคอน ศรีนครินทร์ มีการปรับโฉมใหม่ ปรับสไตล์การแต่งร้านให้ทันสมัยขึ้นเป็นแนวเอิร์ธโทน ทำให้วัยรุ่นอยากเข้ามานั่งทานมากขึ้น น่าถ่ายรูปมากขึ้น

    ที่เลือกสาขาซีคอน ศรีนครินทร์เป็นสาขานำร่องก่อนนั้น ภาณุศักดิ์ได้ให้เหตุผลว่า เพราะสาขานี้มีความพร้อมในการปิดรีโนเวตได้ อีกทั้งในโซนนี้ยังมีทราฟฟิกเยอะ มีกลุ่มครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และติดอันดับในท็อป 30 สาขาที่ขายดีของแบรนด์ด้วย

    พลิกมุม จัดเมนูเฉพาะทานในร้าน

    การเปิดทั้ง The Pizza Company Signature และชิค-อะ-บูม เป็นการดีไซน์มาเพื่อให้ตอบโจทย์การนั่งทานในร้านโดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในตลาดร้านอาหารในยุคนี้ เพราะหลังจากที่เจอกับวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถขายได้ตามปกติสุขแล้ว หลายแบรนด์ยังกระจายความเสี่ยงด้วยการเน้นที่เดลิเวอรี่มากขึ้น หรือเปิดโมเดลใหม่ที่อยู่นอกศูนย์การค้า

    แต่ The Pizza Company กลับเปิดร้านที่เน้นการนั่งทานในร้านมากขึ้น?

    กิตติเชษฐ์ สถิตย์นพชัย ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ให้เหตุผลว่า

    “จริงๆ ในส่วนของเดลิเวอรี่ก็มีแผนหนึ่ง นั่งทานที่ร้านก็มีแผนหนึ่ง มันช่วยเสริมกัน อย่างไรแล้วการมานั่งทานที่ร้านมันกระตุ้นการใช้เวลาอยู่ที่ร้าน มียอดการใช้จ่ายสูงกว่าเดลิเวอรี่ ลูกค้าสามารถกินได้หลากหลาย มีโอกาสทานอย่างอื่นมากขึ้น เพิ่มของหวานก็ได้ เห็นโต๊ะนู้นกินอันนี้ก็อยากกินบ้าง”

    ปัจจุบันยอดการใช้จ่ายเมื่อทานในร้านเฉลี่ยอยู่ที่ 600 บาท/บิล หรือ 200 บาท/คน ส่วนใหญ่มา 3-4 คน ส่วนช่องทางเดลิเวอรี่จะมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 500 บาท/บิล ส่วนใหญ่จะสั่งแต่เมนูที่อยากกินเท่านั้น

    ตอนนี้สัดส่วนยอดขายมาจากการทานที่ร้านลดลงเหลือ 20% เดลิเวอรี่ 50% และซื้อกลับบ้าน 30% จากก่อนหน้านี้สัดส่วนเท่าๆ กัน

    ร้านอาหารยุคนี้ต้องมี “แอลกอฮอล์”

    อีกหนึ่งความพิเศษของร้าน The Pizza Company Signature ก็คือ มีจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งไวน์ และเบียร์ โดยจำหน่ายตามเวลาที่กำหนด และมีการตรวจอายุของลูกค้าก่อนจำหน่ายด้วย

    เบียร์จะมีจำหน่าย 2 ยี่ห้อ ได้แก่ ชาละวัน และโฮการ์เด้น เป็นรูปแบบแก้ว ส่วนไวน์จะจำหน่ายทั้งแบบแก้วและแบบขวด

    กลายเป็นเทรนด์ของเชนร้านอาหารใหญ่ๆ ที่จะต้องมีเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านไปแล้ว ก่อนหน้านี้ KFC ก็มีจำหน่ายเบียร์ในร้านเช่นกัน ในประเด็นนี้ กิตติเชษฐ์ บอกว่า คนรุ่นใหม่ หรือวัยรุ่นชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ร้านจะเป็นต้องเอาเข้ามาเสริมมากขึ้น ลูกค้าจะได้ใช้เวลาในร้านมากขึ้นด้วย

    นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ในร้านนี้ยังมีขนมหวานเป็นขนมไทย เช่น ลอดช่องวัดเจษ, ไอศกรีมกะทิ และทับทิมกรอบ ทางแบรนด์ได้ทำการสำรวจมาแล้ว พบกว่าคนไทยชอบทานขนมไทย ถงแม้จะเป็นร้านอาหารฝรั่งก็ชอบทานขนมไทย จึงได้เลือกเอาขนมไทยเข้ามาในร้านนี้

    ปัจจุบัน The Pizza Company มีสาขาทั้งหมด 420 สาขา ยอดขาย 8,000 ล้านบาท ในปีนี้ที่เจอกับปัจจัยหลายๆ อย่าง คาดว่าจะติดลบ 10% การเปิดโมเดลใหม่ และแบรนด์ใหม่มีการตั้งเป้าว่าปีหน้าจะกลับมาเติบโต 15% และถ้าโมเดลนี้ได้รับการตอบรับดีจะขยายต่อเน้นโซนในเมือง เพราะมองว่าลูกค้ายังต้องการอะไรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

    ]]>
    1368533
    “ไก่ทอดเดชา” ต้นตำรับไก่ทอดหาดใหญ่ เตรียมเปิดแฟรนไชส์ เริ่มต้น 2 แสนบาท https://positioningmag.com/1365485 Sun, 05 Dec 2021 15:14:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365485 “ไก่ทอดเดชา” ต้นตำรับไก่ทอดหาดใหญ่ พลิกวิกฤต COVID-19 เป็นโอกาสขยายธุรกิจในยุคเจนเนอเรชั่น 3 เตรียมเปิดตัวแฟรนไชส์ด้วยเงินทุนสตาร์ทที่ 200,000 บาท

    ยุทธนา และตี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดชา จำกัด ผู้บริหารธุรกิจไก่ทอดเดชา เริ่มเล่าว่าธุรกิจไก่ทอดเดชาบุกเบิกมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว เจ้าของสูตรไก่ทอดหาดใหญ่คือ คุณแม่นัยนา นิยมเดชา และคุณพ่อยูโซ๊ฟ และตี เดิมคุณแม่เป็นแม่ค้าขายไก่สดอยู่ในตลาดที่หาดใหญ่ แต่เพราะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง การค้าขายเริ่มไม่คล่องตัว คุณแม่ผู้มีเสน่ห์ปลายจวักเป็นทุน จึงหันมาแปรรูปไก่สดเป็นไก่ทอดที่ทั้งคู่ช่วยกันคิดค้นสูตรเด็ดขึ้นมา ช่วงแรกเริ่มจากการขายไก่ทอดแค่วันละ 5 ตัว โดยยึดทำเลหน้าหอนาฬิกา ตลาดพลาซ่า ในตัวเมืองหาดใหญ่ ตั้งรถเข็นสามล้อขายภายใต้ชื่อร้าน ‘ไก่ทอดมุสลิม’

    “ช่วงนั้นที่หาดใหญ่ยังไม่มีใครขายไก่ทอด ลูกค้าที่มีโอกาสได้ลองชิมล้วนติดใจและช่วยกันบอกต่อ ต่อมามีคนเปิดร้านขายไก่ทอดเพิ่มขึ้นและใช้ชื่อไก่ทอดมุสลิมเหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่จึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ไก่ทอดหาดใหญ่’ ผลตอบรับนับว่าดี มีสื่อต่างๆ ติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์ ยิ่งทำให้ไก่ทอดหาดใหญ่เป็นที่รู้จัก ไม่เฉพาะแค่หาดใหญ่ แต่ยังโด่งดังไปทั่วประเทศ สิ่งที่ตามมาคือเริ่มมีคนมาขายและทำตลาดตามโดยใช้ชื่อไก่ทอดหาดใหญ่ ทำให้ลูกค้าสับสนไม่รู้ว่าเจ้าไหนคือเจ้าแรกกันแน่ คุณพ่อคุณแม่จึงเปลี่ยนชื่อร้านอีกครั้งเป็น ‘ร้านไก่ทอดเดชา’ ซึ่งคำว่า ‘เดชา’ มาจากนามสกุลนิยมเดชาของคุณแม่นัยนานั่นเอง”

    ปัจจุบันร้านไก่ทอดเดชามีสาขาให้บริการ 5 สาขาในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ สาขาในหาดใหญ่ 4 สาขา ภูเก็ต 1 สาขา และกำลังจะเปิดใหม่ที่ปัตตานีอีก 1 สาขา โดยสาขาหาดใหญ่นอกจากจะมีเมนูเด็ดเป็นไก่ทอดรสต้นตำรับ ยังมีข้าวหมกหอมเจียว อาหารใต้พื้นบ้าน อาหารอีสานรสเด็ด อาหารทะเลสดๆ เป็นเมนูทางเลือก รวมทั้งชาชักซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมประจำภาค ทุกเมนูเป็นฮาลาล 100% พี่น้องมุสลามรับประทานได้อย่างมั่นใจ

    ไก่ทอดเดชา

    “ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เราพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยปรับธุรกิจมาเป็น Cooking from Home พัฒนาสินค้าใหม่คือ ไก่หมักสำเร็จรูป ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่ Work from Home และเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทำกับข้าวที่บ้านมากขึ้น เพียงแค่สั่งผ่านเรา เราพร้อมจัดส่งสินค้าถึงบ้านทั่วประเทศ ลูกค้าสามารถนำไก่ที่หมักด้วยสูตรเฉพาะของเราไปประกอบอาหารหรือทอดกินที่บ้านได้ ที่ผ่านมาไก่หมักสำเร็จรูปสร้างยอดขายได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน และมีผู้สนใจจากหลายๆ จังหวัดติดต่อขอเป็นตัวแทนไก่หมักสำเร็จรูปจำนวนมาก”

    ด้วยมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ จึงมีแผนเตรียมที่จะขยายธุรกิจไก่ทอดเดชาในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยลงทุนเริ่มต้นที่ 200,000 บาท จะได้รับอุปกรณ์และวัตถุดิบหลักพร้อมเปิดขายสร้างรายได้ได้ทันที

    ไก่ทอดเดชา

    ]]>
    1365485
    PS5 มีหนาวเมื่อเจอ ‘KFConsole’ เครื่องเกมคอนโซลสเปกโหดแถม ‘อุ่นไก่ทอด’ ได้จาก ‘KFC’ https://positioningmag.com/1311937 Thu, 24 Dec 2020 09:25:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1311937 COVID-19 ทำให้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ผลพลอยได้ก็เลยเกิดกับอุตสาหกรรม ‘เกม’ โดยบริษัทเกมส่วนใหญ่ก็มีรายได้พุ่งขึ้น เครื่องเกมอย่าง ‘Nintendo Switch’ ก็ขายดีจนขาดตลาดมาแล้ว แถมปีนี้ยังเป็นปีที่เปิดตัวเครื่องเกมคอนโซลที่หลายคนรอคอยอย่าง ‘Ps5’ และ ‘Xbox Series X’ เรียกได้ว่าเป็นปีทองเลยทีเดียว ซึ่งความหอมของตลาดนี้ก็ไปเตะตา ‘KFC’ ให้เข้าสู่ตลาดเกมเลยทีเดียว

    หากพูดถึง ‘KFC’ คนคงจะนึกถึงแต่ ‘ไก่ทอด’ แต่ใครจะไปรู้ว่าปีนี้ KFC แอบซุ่มจับมือกับ ‘Cooler Master’, ‘Intel’,  ‘ASUS’ และ ‘Seagate’ สร้าง ‘KFConsole’ เครื่องเล่นเกมตัวแรกของตัวเอง แต่ความพิเศษของมันคือ ‘อุ่นไก่’ ได้ ครับ ฟังไม่ผิดครับ มันคือเครื่องคอนโซลที่อุ่นไก่ได้ เนื่องจาก KFConsole มาพร้อมช่องอุ่นทอดไก่ในตัว โดยใช้ความร้อนภายที่ไหลเวียนภายในเครื่อง มาช่วยอุ่นไก่ทอดไม่ให้เย็น

    และไม่ใช่แค่ฟีเจอร์อุ่นไก่ แต่สเปกเครื่องก็ใช่ย่อย เพราะใช้ Intel Nuc 9 extreme เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก (มี Core i9 Gen 9 + แรม 32GB และการ์ดจอ RTX) พร้อมด้วย SSD NVMe ขนาด 1TB จาก Seagate BarraCuda แถมตัวเครื่องสามารถถอดเปลี่ยนการ์ดจอได้ด้วย (แต่ต้องเป็นตัว Mini นะ) ตัวเครื่องสามารถรันเกมระดับ 4K ได้ แสดงผล VR ได้ รองรับ Ray Tracing และสามารถเล่นได้ลื่น ๆ ระดับ 240 FPS กันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม KFC ยังไม่เปิดเผยราคาและวันเวลาจำหน่าย KFCONSOLE ยังไม่มีการประกาศออกมา

    ภาพจาก Stream

    สำหรับ KFCONSOLE จะอยู่ภายใต้ร่มของ KFC Gaming หนึ่งในหน่วยงานของ KFC ซึ่งที่ผ่านมา KFC เคยเปิดตัวโปรเจกต์อื่น ๆ มาก่อน เช่น เมื่อเดือนกันยายนปี 2019 ก็ได้สร้างเกม I Love You, Colonel Sanders! A Finger Lickin’ Good Dating Simulator ซึ่งเป็นเกมแนวจีบหนุ่มสไตล์ญี่ปุ่น ที่เปิดให้เล่นผ่าน Steam แน่นอนว่าผู้พันแซนเดอร์ในวัยหนุ่มจะรับบทเป็นพระเอกของเกม

    CNN / landing.coolermaster.com

    ]]>
    1311937
    เปิดใจ CIA หน่วยเคลื่อนที่เร็วประจำม็อบ “ลูกชิ้นทอด-ไก่ทอด” ยอดขายพุ่งเฉียดวันละหมื่น! https://positioningmag.com/1302924 Thu, 22 Oct 2020 15:35:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1302924 โอกาสท่ามกลางวิกฤต! เปิดใจหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พ่อค้ารถลูกชิ้นทอดหลังคาส้ม และไก่ทอดอากง ท่อน้ำเลี้ยงขาใหญ่ประจำม็อบเยาวชนปลดแอก สามารถวาร์ปเร็ววาร์ปไวยิ่งกว่าแกนนำ ขายไม่กี่ชั่วโมง ยอดขายเฉียดหมื่นบาท!

    หน่วยเคลื่อนที่เร็ว แสตนด์บายทุกม็อบ!

    ในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ นอกจากภาพการรวมตัวชุมนุมอันหนาแน่นของเหล่าเยาวชนปลดแอก หรือมวลชนคณะราษฎร 2563 ในหลายพื้นที่ในกทม. และต่างจังหวัดแล้ว ปรากฏการณ์ที่เราได้เห็นอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทยคือ “สตรีทฟู้ด” อยู่ในทุกหนทุกแห่ง

    เราได้เห็นภาพรถเข็นพ่วงขายสตรีทฟู้ดที่พบเห็นได้ตามท้องถนนจนชินตา ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้นทอด ไก่ทอด น้ำหวาน ไอศกรีม ขนมจีบ ไส้กรอกอีสาน ปลาหมึกบด ผลไม้ และอื่นๆ อีกมากมาย ได้ประจำการตามที่ชุมนุมต่างๆ เช่นกัน

    สิ่งที่กลายเป็นไวรัลของปรากฏการณ์ครั้งนี้ก็คือ การชุมนุมในครั้งนี้จะไม่มีสถานที่ประจำ จะมีการเปลี่ยนในแต่ละวัน ต้องรอฟังจากแกนนำ หรือจากเพจ “เยาวชนปลดแอก” ในเฟซบุ๊ก แต่กลุ่มภาคีลูกชิ้นทอด ไก่ทอดสามารถไปถึงที่ชุมนุมได้อย่างรวดเร็ว จึงได้รับสมญานามว่าเป็น CIA หน่วยเคลื่อนที่เร็วประจำม็อบ บางวันไปตั้งหลักเร็วยิ่งกว่าผู้ชุมนุมเสียอีก

    ลูกชิ้นทอด
    Photo : Twitter @meena__yz

    เพื่อเป็นการรู้จักพวกเขามากขึ้น ทีมข่าวได้พูดคุยกับ “บีส” พ่อค้าวัย 23 ปี หนึ่งในทีมรถลูกชิ้นทอดหลังคาส้ม เขาเล่าว่า รถลูกชิ้นทอดเป็นธุรกิจของครอบครัว ส่วนที่เดินทางไปม็อบอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะการติดตามข่าวอยู่ตลอด และส่งต่อข้อมูลตำแหน่งการชุมนุมกันอย่างสม่ำเสมอภายในกลุ่มของตนเอง

    “จุดเริ่มต้นมาขายลูกชิ้นทอด เริ่มมาจากหาเงินไถ่ที่นา เป็นงานของที่บ้าน หลายคนแต่อยู่ใกล้กันหมดเลย ญาติพี่น้องขายลูกชิ้นกันอยู่แล้ว ที่ไปก็มีญาติ มีพ่อแม่ไป

    ปกติผมขายอยู่ MRT ลาดพร้าวประตู 1 และรัชดา 44 ของผมมี 2 คัน ของลุงมีเป็นสิบเลย มีขายหลากหลายที่เพราะว่ามีหลายคัน ไปรับมาอีกทีหนึ่งแล้วมาเป็นเถ้าแก่ลูกชิ้นทอด มาตั้งกลุ่มย่อย

    ลูกชิ้นทอด2
    Photo : Twitter @ThaiLiesLand

    เราก็ดูตามว่าเขาจะไปที่ไหนกัน แล้วก็ไปดักรอ ปกติลุงผมเป็นคนดูสถานการณ์ ก็พากันไป ขับรถตามกันไป ส่วนมากผู้ใหญ่เขาจะติดตามข่าวแล้วเขาก็ไปกัน บอกๆ กัน วันนี้ม็อบมาตรงนี้นะ แล้วก็พาขับกันไป ตอนเขามาเกษตรฯ ก็พากันไปเกษตรฯ บางทีขับไปมีที่จอดบ้างไม่มีที่จอดบ้าง บางทีโดนตำรวจไล่บ้าง (หัวเราะ)”

    สำหรับฉายา “หน่วยสืบราชการลับ CIA” ที่โลกโซเชียลฯ ตั้งให้เป็นคำเรียกพ่อค้าแม่ค้าในม็อบนั้น เขากล่าวว่า ตกใจไม่น้อยที่ผู้คนให้ความสนใจมากมายขนาดนี้

    “เขาเอาไปลงกัน ก็มีเพื่อนๆ ส่งให้ดู ดังใหญ่แล้ว ตอนแรกตัวเองไม่รู้ข่าว (เพื่อนเห็นรถขายลูกชิ้นหลังคาส้มในข่าว) ก็ส่งมาให้ดู ส่งรูปในโซเชียลฯ มีคนกดไลก์เยอะมาก ตกใจ”

    รู้จักรถลูกชิ้นทอดหลังคาส้ม

    สำหรับรถลูกชิ้นหลังคาสีส้ม ที่ขายอยู่ในม็อบของกลุ่มปลดแอก หรือกลุ่มราษฎรในครั้งนี้ เป็นรถลูกชิ้นที่มาจากหมู่บ้านเดียวกัน มาปักหลักขายอยู่ในกรุงเทพฯ มาหลายปี เดิมเขาเหล่านี้ มาจากหมู่บ้านตะเคียน ตำบลตรมไพร ในอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีกลุ่มเครือข่าย ขายลูกชิ้น รถหลังคาสีส้มอยู่ทั่วกรุงเทพฯ หลายสิบคัน

    หนึ่งในเจ้าของรถขายลูกชิ้น รุ่นใหญ่ รหัส 700 บอกว่า ด้วยเครือข่ายอันเหนียวแน่นทางการข่าวที่แม่นยำ ทำให้พวกเขามาถึงม็อบได้อย่างรวดเร็ว โดยเราไปมาแล้วทุกครั้งที่ม็อบกลุ่มราษฎร มาชุมนุม และมาถึงก่อนผู้ชุมนุมเสียอีก

    โดยพวกเราไม่ได้เป็นหน่วยข่าวกรองอย่างที่ใครเข้าใจ แต่เครือข่ายของเราจะรู้ข่าวได้ก่อน ว่าวันนี้จะไปชุมนุมกันที่ไหน พอแจ้งข่าวมาก็รีบมากัน

    รับทรัพย์เกือบหมื่นต่อวัน!

    นอกจากนี้ พ่อค้ารถลูกชิ้นทอดหลังคาส้ม ยังเล่าย้อนไปถึงช่วงที่ทำการขายปกติที่มีรายได้พอเลี้ยงปากท้องไปวันๆ มิหนำซ้ำจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 มาซ้ำเติมในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ก็ยิ่งก็ทำให้ยอดขายชะลอตัวลงไปอีก

    ดังสำนวนที่ว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” เพราะล่าสุดการชุมนุมเหมือนกับเป็นการพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสของบรรดาพ่อค้าแม่ขายในม็อบ เพราะช่วงนี้ยอดลูกชิ้นทอดทะลุเป้า รับทรัพย์มากกว่าเดิม 3 เท่า!

    ลูกชิ้นทอด
    Photo : Twitter @paponsuwan

    “ผมขายไม้ละ 10 กับ 20 บาท มีขายได้ 2,000-3,000 ต่อวันประมาณนี้ ช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาด ขายไม่ค่อยดีครับ แต่ตอนไปขายในม็อบก็ประมาณ 7,000-8,000 ต่อคัน เพราะว่าอัดๆ ไป (ลงของเยอะขึ้น) บางคันก็ได้เยอะ แล้วแต่วัน แล้วแต่จุด บางทีเขาเหมาไปเอาทั้งตู้ เท่านี้ๆ อะไรก็ว่าไป”

    ไม่เพียงแค่นั้น เวลาที่ใช้ในการขายก็น้อยลง ทำให้มีเวลาในการพักผ่อนมากขึ้น

    “ไปแทบทุกม็อบ วันก่อนก็ไปกันแล้วโดนตำรวจกีดกัน พากันขับกลับก็มี ม็อบอนุสาวรีย์ฯ ไปแป๊บๆ จะไปขายที่ราชดำเนินต่อ ตำรวจเขาไม่ให้เข้าก็เลยไม่ได้ขาย ขึ้นอยู่กับหน้างานเจออะไร ขายดีขึ้นมาก จากที่เราเคยขายนานๆ อันนี้หมดเร็วขึ้น แป๊บๆ หมด ปกติขายตั้งแต่บ่าย 3 ถึงเที่ยงคืน แต่มีม็อบไปเย็นๆ แป๊บเดียวหมดแล้ว 4-5 ชั่วโมงต่อวัน บางทีก็เร็ว 3 ชั่วโมงเข้าบ้านแล้ว”

    ทางด้าน “ภาคีไก่ทอดอากง” เป็นอีกหนึ่งหน่วย CIA ประจำม็อบไม่แพ้กับรถขายลูกชิ้นทอด ไก่ทอดก็เป็นอีกหนึ่งอาหารยอดนิยม เพราะทานง่าย อิ่มอยู่ท้อง

    จากการที่ทีมข่าวลงสำรวจพื้นที่ และได้พูดคุยกับพ่อค้าร้านไก่ทอด พ่อค้าได้บอกว่ามียอดขาย “หมื่นอัพ” และยังต้องมีทีมส่งไก่เข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อเติมของให้พอขาย

    เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสีสันประจำม็อบคณะราษฎร 2563 เราได้เห็นการปรับตัว และการสู้ชีวิตของพ่อค้า แม่ค้าสตรีทฟู้ด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถไปปักหลักขายของได้ กลายเป็นคาแร็กเตอร์ของคนไทยที่ขายของได้ทุกสถานการณ์

    Source

    ]]>
    1302924
    KFC พักการใช้สโลแกน It’s Finger Lickin’ Good เพราะไม่เหมาะสมในช่วง COVID-19 https://positioningmag.com/1294090 Tue, 25 Aug 2020 12:49:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294090 KFC ยักษ์ใหญ่ฟาสต์ฟู้ดโลก ตัดสินใจระงับใช้สโลเเกนอันคุ้นหูเเละอยู่คู่เเบรนด์มานานกว่า 64 ปีอย่าง  “It’s Finger Lickin’ Good อร่อยจนต้องเลียนิ้วเป็นการชั่วคราว หลังรู้สึกว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้ในช่วงเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีคำเเนะนำให้เลี่ยงการใช้มือสัมผัสกับใบหน้า

    สโลแกนที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเรา ตอนนี้ดูไม่ค่อยเข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันผู้บริหาร KFC ระบุในเเถลงการณ์

    โดยในช่วงวิกฤต COVID-19 มีการรณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงที่จะใช้มือสัมผัสกับใบหน้า และเเนะนำให้ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเเพร่ระบาด ดังนั้นการเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าอร่อยจนต้องเลียนิ้วคงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก

    ทาง KFC จึงตัดสินใจระงับการใช้สโลแกน It’s Finger Lickin’ Good นี้ชั่วคราวก่อน พร้อมทำคลิปวีดีโอสั้นๆ ส่งสารไปยังผู้บริโภคให้ตระหนักถึงอันตรายของ COVID-19 โดยในคลิปได้ทำการเซ็นเซอร์ข้อความ Finger Lickin’ Good ในบรรจุภัณฑ์และป้ายโฆษณา

    ส่วนคำถามที่ว่าจะสามารถนำ It’s Finger Lickin’ Good กลับมาใช้งานได้อีกครั้งเมื่อใดนั้น ยังคงต้องรอช่วงเวลาที่เหมาะสม

    ทั้งนี้ แคมเปญโฆษณาดังกล่าว กำลังดำเนินการในสหราชอาณาจักร แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ และบางส่วนของเอเชีย เเต่ไม่ได้ถูกนำเสนอในตลาดอเมริกา

    บรรดาเชนฟาสต์ฟู้ด กำลังเเข่งกันเเย่งลูกค้าให้เข้ามาทานในร้านด้วยเเคมเปญต่างๆ หลังต้องปิดสาขาไปในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ เเละต้องหันมาเน้นให้บริการผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ อย่างไรก็ตาม ยังต้องเจอความท้าทายเมื่อเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตต่ำและลูกค้าไม่ได้มีความภักดีต่อแบรนด์เท่าไหร่นัก ดังนั้นการหาลูกค้าให้ได้จำนวนมากจึงเป็นความได้เปรียบของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในยามนี้

     

    ที่มา : CNN , foxbusiness

     

    ]]>
    1294090