จัดอันดับคนรวย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 25 Feb 2021 03:10:23 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดความเห็น ‘เศรษฐีเอเชีย’ มองเทค บริหารเงินกงสี ความยั่งยืน ปรับพอร์ตลงทุนในตลาดผันผวน https://positioningmag.com/1320828 Wed, 24 Feb 2021 17:23:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320828 เปิดความเห็นของเหล่า ‘เศรษฐี’ ในเอเชีย กับมุมมองด้านเทคโนโลยี การลงทุน การบริหารทรัพย์สินครอบครัว และความยั่งยืน ท่ามกลางตลาดที่ผันผวนในวิกฤต COVID-19 

Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ร่วมกับ KBank Private Banking สำรวจมุมมองและข้อกังวลของผู้มีความมั่งคั่งสูง (UHNWIs) ในประเด็นสานสัมพันธ์ เปลี่ยนผ่าน และพลิกโฉม : การเข้าถึงผู้มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาคเอเชีย ในยุค New Normal’ 

โดยรวบรวมความคิดเห็นของศรษฐี 150 ราย ใน 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน 

วินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner and Chief Executive Officer, Asia, Lombard Odier กล่าวว่า ผลกระทบจากโรคระบาดครั้งใหญ่ในศตวรรษ ทำให้เหล่านักธุรกิจชั้นนำเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว รวมไปถึงหันมาเน้นลงทุนไม่หวือหวา แต่ถือได้ยาวนานขึ้น

ผู้มีความมั่งคั่งสูงหลายราย ต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ ในช่วงที่การเดินทางยังลำบาก เราจึงได้เห็นสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มมาเปิดธุรกิจบริหารความมั่งคั่งร่วมกับสถาบันการเงิน ‘ท้องถิ่น’ มากขึ้น

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (ซ้าย) วินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner and Chief Executive Officer, Asia, Lombard Odier (ขวา)

เเม้เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำ เเต่ธุรกิจ Private Banking ที่ดูเเลลูกค้ามั่งคั่ง กลับมีผลประกอบการดีที่สุดในรอบหลายปี เพราะพิษเศรษฐกิจสะเทือน ‘รากหญ้า’ มากกว่า ‘คนรวย’

Lombard Odier เเละ KBank Private Banking คาดว่า แนวโน้มการเติบโตของบุคคลผู้มีสินทรัพย์สูง หรือ Ultra High Net Worth Individuals : UHNWIs ในเอเชียจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ราว 10-15% ภายหลังวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เเละสงครามการค้าคลี่คลายลง

“จำนวนของเศรษฐีใหม่ในเอเชียจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามเทรนด์การลงทุนในธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ ที่เเจ้งเกิดเเละเติบโตในช่วง COVID-19”

สำหรับในประเทศไทย มองว่า ธุรกิจที่จะสามารถ ‘ฟื้นตัวได้เร็ว’ จากวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจด้านพลังงาน ,  ธุรกิจด้านวัสดุหรือวัตถุดิบ (Material) และธนาคาร

เทคโนโลยี : more digital…เเต่ยังชอบ ‘พบปะพูดคุย’ 

ผลสำรวจนี้ ชี้ให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงในการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล

กว่า 81% ของคนรวยในเอเชีย เห็นว่าการติดต่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และลดการพบปะกันลง more digital, less physical จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่

โดยผู้มีความมั่งคั่งสูงในไทยที่คิดเห็นเช่นนี้ มีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 3 ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม พวกเขามองว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่สามารถขับเคลื่อนบนโลกดิจิทัลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการติดต่อสื่อสาร และการสร้างความไว้วางใจระหว่างลูกค้าและ Private Bank

เพราะการลงทุนครั้งละกว่าร้อยล้านพันล้าน การได้พูดคุยกันต่อหน้ายังมีความจำเป็น

โดย 59% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียและในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังคงต้องการพบปะพูดคุยที่ธนาคารหรือสถานที่อื่นๆ มากกว่าการติดต่อผ่านทางอีเมล จดหมาย วิดีโอคอล หรือโทรศัพท์

เมื่อสถานการณ์ COVID-19 จบลง ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยจำนวนหนึ่งกล่าวว่า การพบปะกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการดำเนินธุรกิจ และไม่คิดว่ากิจกรรมเหล่านี้จะสามารถทดแทนได้ผ่านการติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์

การลงทุน : ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่

ผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชีย เห็นความผันผวนของตลาดมากขึ้น เเต่กลุ่มนักลงทุนที่เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมากเเล้ว ‘ไม่ได้ตื่นตระหนกต่อวิกฤตครั้งนี้มากนัก”

ผลสำรวจ ระบุว่า70% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย เเละ 81% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียไม่ได้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะระยะเวลาของการลงทุน

สำหรับด้านการบริหารสินทรัพย์ แม้ว่าจะมีผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียบางส่วน เลือกที่จะบริหารจัดการแบบที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (Conservative) โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เงินฟรังก์สวิส เงินเยน และพันธบัตรรัฐบาล

“แต่ก็ยังมีผู้มีความมั่งคั่งสูงอีกจำนวนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสในช่วงเวลานี้ โดยให้ความสนใจกับหุ้น และตราสารหนี้ภาคเอกชน เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่” 

โดย 78% มองว่าภาวะดอกเบี้ยตํ่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคหลัง COVID-19 และอาจดําเนินต่อเนื่องไปอีกทศวรรษ

ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยกว่า 87% กล่าวว่า การมีบริการพิเศษที่นอกเหนือบริการด้านลงทุนจะส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการเลือกธนาคาร โดยบริการ 3 อันดับแรกที่มีความสำคัญสูงสุด ได้เเก่ 

  • บริการด้านสินเชื่อ
  • ความสามารถในการเข้าถึงเครือข่ายผู้ประกอบการ
  • ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงิน
  • การเข้าถึงโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์

บริหารทรัพย์สินครอบครัว : สนใจ ‘ธรรมาภิบาล’ มากขึ้น 

ความผันผวนของตลาด ทำให้ผู้มั่งคั่งในเอเชีย เริ่มกลับมา ‘ทบทวน’ ธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพย์สินครอบครัวและการดําเนินธุรกิจในระยะยาว และทําให้เรื่องนี้เร่งด่วนขึ้น

สำหรับประเทศไทย 35% ของครอบครัวผู้มีความมั่งคั่งสูงได้มีการจัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวแล้ว และวิกฤตในครั้งนี้ก็ได้ส่งผลให้อีก 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวสนใจที่จะเริ่มวางแผนในอนาคต

นอกจากนี้ บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Advisory Service) ได้กลายเป็นอีกหนึ่งบริการที่เติบโตสูงที่สุด และเข้ามาตอบโจทย์การบริหารจัดการที่ดินของครอบครัวผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย

สำหรับในปี 2020 ที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้ทำการศึกษาและดูแลพอร์ตการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งสูงจำนวน 121 ราย โดยครอบคลุมที่ดินทั้งหมด 940 แปลง

เศรษฐีรุ่นใหม่มองความ ‘ความยั่งยืน’ คืออนาคต 

เหล่ามหาเศรษฐี เริ่มตระหนักถึงสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตหลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งเทรนด์ ‘ความยั่งยืน’ เป็นที่สำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินใจเลือก Private Bank

69% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย ได้จัดอันดับให้เทรนด์ด้านความยั่งยืนเป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่สำคัญที่สุด โดยไทยคือประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเป็นที่สอง รองจากญี่ปุ่น

แม้ว่า 89% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียกล่าวว่า เทรนด์ความยั่งยืนจะยังคงมีบทบาทสำคัญในระยะยาว แต่กลับมีเพียง 61% ที่วางแผนการลงทุนโดยคำนึงถึงมิติด้าน ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้มีความมั่งคั่งสูงบางส่วน ยังไม่เชื่อมั่นว่าการลงทุนด้านความยั่งยืนจะสร้างผลตอบแทนท่ีดีได้ โดย 1 ใน 3 ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชีย (ส่วนใหญ่จาก ฮ่องกง ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์) ไม่มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนที่คํานึงถึงมิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไพรเวทแบงก์ในการให้คำแนะนำ เพื่อแสดงให้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงเห็นถึงศักยภาพและแนวทางการสร้างผลกำไรของการลงทุนอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“กลุ่มเศรษฐีรุ่นใหม่ ให้ความสําคัญกับความยั่งยืนเป็นลําดับต้นๆ และต้องการใช้บริการของธนาคารที่มีการลงมือด้านนี้อย่างจริงจัง” 

4 เรื่องที่ Private Bank ต้องพัฒนา 

KBank Private Banking ให้บริการการบริหารความมั่งคั่งแก่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนกับธนาคาร ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ส่วน Lombard Odier เป็นบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งที่มีประสบการณ์กว่า 220 ปี ดูแลสินทรัพย์รวมของลูกค้าทั่วโลกกว่า 290 พันล้านฟรังก์สวิส (ข้อมูล วันที่ 30 มิถุนายน 2563)

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ระบุว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นความต้องการของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่เพิ่มขึ้นและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

KBank Private Banking เเละพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Lombard Odier มองว่ามี 4 เรื่องที่ผู้ให้บริการต้องทำเพื่อช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้า ได้แก่

  1. เร่งพัฒนาคุณภาพของบริการดิจิทัล ทั้งในด้านการสื่อสาร การส่งมอบบริการ การรายงานข้อมูลทางการเงิน และการทำธุรกรรม ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการให้บริการของไพรเวทแบงเกอร์
  2. สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง ติดตั้งเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้สะดวกขึ้นในทุกๆ ผลิตภัณฑ์
  3. เสริมความแข็งแกร่งของบริการที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลงทุนในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนนอกตลาดและลงทุนโดยตรงในบริษัท หรือบริการให้คำแนะนำด้านอสังหาริมทรัพย์และการวางแผนความมั่งคั่ง
  4. เป็นสื่อกลางในการพิสูจน์ให้เห็นถึงผลตอบแทนในระยะกลางและระยะยาวของการลงทุนอย่างยั่งยืน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม (ที่นี่)

 

]]>
1320828
รวยเเล้วรวยอีก! วิกฤต COVID-19 ดัน “มหาเศรษฐีจีน” มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ https://positioningmag.com/1302773 Thu, 22 Oct 2020 05:19:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1302773 มหาเศรษฐีจีนรวยขึ้นสวนเศรษฐกิจโลก รับอานิสงส์ความมั่งคั่งจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซเกมออนไลน์ที่ความนิยมพุ่งกระฉูด ในช่วงล็อกดาวน์สกัด COVID-19

Huran Report จัดอันดับความร่ำรวยของเศรษฐีจีนล่าสุด พบว่า เหล่ามหาเศรษฐีจีน มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  (ราว 47  ล้านล้านบาท) ในปี 2020 มากกว่าตัวเลขรายได้จาก 5 ปีที่ผ่านมารวมกัน

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ยังทำให้เกิดมหาเศรษฐีจีนหน้าใหม่ ที่มีความมั่งคั่งระดับพันล้านเพิ่มขึ้นอีก 257 คน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากจำนวนเศรษฐีพันล้านรายใหม่ไม่เพิ่มขึ้นมา 2 ปีติดกัน

จีนเป็นชาติมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ปัจจุบันมีมหาเศรษฐีพันล้านอยู่ 878 คน ขณะที่สหรัฐฯ มีมหาเศรษฐีพันล้านอยู่ที่ 626 คน ตามจัดอันดับมหาเศรษฐีพันล้านทั่วโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อีกประเด็นที่น่าสนใจใน Huran Report ฉบับล่าสุด คือชาวจีนราว 2,000 คนมีทรัพย์สินส่วนตัวมากกว่า 2,000 ล้านหยวน (ราว 9,450 ล้านบาท) โดยทรัพย์สินของคนกลุ่มนี้รวมกันจะอยู่ที่ราว 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 126 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

Photo : Shutterstock

แจ็ค หม่าผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ “Alibaba” กลับมาคืนตำเเหน่งอันดับ 1 อีกครั้ง โดยมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 45% มาอยู่ที่ 5.88 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หลังการระบาดของ COVID-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาช้อปปิ้งออนไลน์กันอย่างคึกคัก

อันดับ 2 ตามมาติดๆ คือโพนี หม่าเจ้าของอาณาจักรเทคโนโลยี “Tencent” บริษัทเกมรายใหญ่และเเอปพลิเคชัน Wechat มีทรัพย์สินอยู่ที่ 5.74 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวยขึ้นไปอีก 50% เเม้จะมีความกังวลกับกรณีการถูกเเบนในสหรัฐฯ หลังถูกรัฐบาลทรัมป์กล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติก็ตาม 

หม่า ฮั่วเถิง หรือ โพนี หม่า ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Tencent

ขณะที่อันดับ 3 เป็นการติดอันดับครั้งเเรกของ “จง ชานชานผู้โด่งดังมาจากน้ำดื่มบรรจุขวดตราหนงฟู่หลังจากทำไอพีโอที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือน ก.. ทำให้ความมั่งคั่งของเขาพุ่งอยู่อันดับ 3 ทันที ด้วยสินทรัพย์ราว 5.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“จง ชานชาน” ผู้ก่อตั้งบริษัท “หนงฟู่ สปริง” น้ำแร่บรรจุขวดในประเทศจีน

เมื่อเหล่าเศรษฐีกำลังรวยขึ้นไปอีกจากสถานการณ์ COVID-19 เเต่ปัญหาการว่างงานเเละเศรษฐกิจที่หดตัว ทำให้ธนาคารโลกเตือนว่าการระบาดใหญ่ อาจเพิ่ม “ความไม่เท่าเทียมกัน” ของรายได้ และผลักดันให้ผู้คนมากถึง 115 ล้านคนเข้าสู่ความยากจนในปีนี้

โดยเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวได้ดี รอดพ้นภาวะถดถอย ขณะที่หลายประเทศทั่วโลก ยังคงต้องหาทางออกจากความวุ่นวายของผลกระทบจาก COVID-19 โดย GDP ในไตรมาส 3 เติบโต 4.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากไตรมาส 2/2020 ขยายตัว 3.2% เเต่ในไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบ 6.8% ทำให้ GDP โดยรวมงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัวอยู่ที่ 0.7%

อย่างไรก็ตาม การขยายตัว 4.9% ของ GDP จีน ก็เป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของเหล่านักวิเคราะห์ที่ประเมินไว้ว่าจะขยายตัว 5.2% ในไตรมาส 3 สะท้อนว่าจีนยังต้องจัดการกับปัญหาที่ท้าทายเเละมีปัจจัยไม่แน่นอนจำนวนมาก

โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า จีนจะเป็นเศรษฐกิจใหญ่ของโลกเพียงแห่งเดียวที่ GDP เป็นบวกได้ในปีนี้ โดยประเมินว่าจะขยายตัวที่ 1.9% ก่อนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 26.8% ในปี 2021

 

ที่มา : CNBC , AFP

 

]]>
1302773
เงินของประชากรโลก 60% รวมกัน…ยังรวยไม่เท่ามหาเศรษฐี 2 พันคน https://positioningmag.com/1261281 Mon, 20 Jan 2020 08:15:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261281 เหล่าเศรษฐีพันล้านมีจำนวนมากขึ้นเป็นเท่าตัว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เเละร่ำรวยกว่าประชากร 60 % ของโลก โดยคนรวยที่สุดในโลก 22 คนมีทรัพย์สินมากกว่าผู้หญิงทั้งหมดในทวีปแอฟริกา

จากรายงานของมูลนิธิอ็อกซ์แฟม (Oxfam) ระบุว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ยากจนอยู่ล่างสุดของระบบนี้ พวกเธอทำงานดูแลโดยไม่ได้รับค่าจ้างรวม 1.2 หมื่นล้านชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 10.8 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

“มหาเศรษฐีพันล้านซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2,153 คน มีทรัพย์สินรวมกัน มากกว่าทรัพย์สินของคนยากจนที่สุดในโลก 4,600 ล้านคนรวมกัน”

Amitabh Behar หัวหน้าของ Oxfam อินเดีย กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ล้มเหลวของเรากำลังหล่อเลี้ยงกระเป๋าเงินของมหาเศรษฐีและธุรกิจใหญ่ ด้วยการทำลายชายและหญิงธรรมดาทั่วไป ไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่ามหาเศรษฐีควรมีอยู่หรือไม่

“ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนไม่อาจแก้ไขได้ หากปราศจากนโยบายทำลายความไม่เท่าเทียมอย่างตรงจุด”

อ่านเพิ่มเติม : รวยแล้วรวยอีก! Top 500 เศรษฐีโลกรวยขึ้น 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐปี 2019

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า “คนรวยที่สุดในโลก 22 คนมีทรัพย์สินมากกว่าผู้หญิงทั้งหมดในแอฟริกา” โดยประชากรผู้หญิงและเด็กผู้หญิง คือกลุ่มประชากรที่สร้างรายได้ได้น้อย เพราะต้องทำงานด้านการดูแลเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่งานดูแลเหล่านั้นคือต้นกำเนิดของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ธุรกิจและสังคม

“พวกเธอส่วนใหญ่มักไม่มีเวลาที่จะรับการศึกษา มีชีวิตที่เหมาะสม หรือมีโอกาสพูดว่าสังคมของเราควรไปในทิศทางไหน พวกเธอจึงติดกับดักชั้นล่างสุดของระบบเศรษฐกิจ ” Behar กล่าว

Oxfam เเนะว่าหากกลุ่มคนที่ร่ำรวยรวยที่สุดในโลกจ่ายภาษีเพิ่มเพียงร้อยละ 0.5 เป็นเวลา 10 ปี จะเท่ากับการลงทุนเพื่อสร้างงานใหม่ถึง 117 ล้านตำแหน่งในด้านการดูแลผู้สูงอายุและเด็ก การศึกษาและสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของ Oxfam อ้างอิงข้อมูลจากนิตยสาร Forbes และธนาคารเครดิตสวิสในสวิสเซอร์แลนด์ เเละถูกโต้แย้งโดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคน

 

ที่มา : AFP / Billionaires richer than 60 percent of the world’s population: Oxfam

]]>
1261281
ถอดถอน “ทรัมป์” รอดหรือร่วง…เเละทำไม “บลูมเบิร์ก” รวยเเซงหน้าทรัมป์ ถึง 17 เท่า https://positioningmag.com/1257976 Fri, 20 Dec 2019 09:40:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257976 ในยามที่กำลังลุ้นว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 จะถูกถอดถอนออกจากตำเเหน่ง ไปไม่ถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายปีหน้าหรือไม่ Positioning พามาดูขุมทรัพย์ของมหาเศรษฐี 2 ตัวเต็งชิงผู้นำอเมริการะหว่างเจ้าพ่อสื่อ ไมเคิล บลูมเบิร์ก VS โดนัลด์ ทรัมป์ เเละวิเคราะห์โอกาสในการถอดถอน “ทรัมป์” ว่ามีมากน้อยเเค่ไหน

ทำไม “บลูมเบิร์ก” รวยเเซงหน้า “ทรัมป์” ถึง 17 เท่า

ทุกคนรู้ดีว่าปัจจุบันช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยเเละคนจนมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยเละประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกันช่องว่างนี้ก็เกิดขึ้นระหว่างคนรวยกับคนรวยด้วย เมื่อมองไปถึงการชิงตำเเหน่งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะกำลังจะมีขึ้นในปี 2020

“โดนัลด์ ทรัมป์” (Donald Trump) ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันจากพรรครีพับลิกัน ได้รับการประเมินว่ามีความมั่งคั่งอยู่ที่ 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.37 หมื่นล้านบาท) ติดอันดับ 715 ของทำเนียบมหาเศรษฐีโลกปีนี้ จากการจัดอันดับของ Forbes ถือว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่บนโลก

แต่ทรัพย์สินของทรัมป์ กลับดูน้อยมากหากเทียบกับทรัพย์สินของผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตัวเต็งจากพรรคเดโมเเครตอย่าง “ไมเคิล บลูมเบิร์ก” (Michael Bloomberg) ผู้ครองความมั่งคั่งกว่า 5.3 หมื่นล้านเหรียญ (ราว 1.64 ล้านล้านบาท ) ติดอันดับ 9 ของทำเนียบมหาเศรษฐีโลกปีนี้ 

บลูมเบิร์ก สามารถบริหารจัดการธุรกิจและทรัพย์สินได้อย่างเหมาะสม เเละเพิ่มความมั่งคั่งได้เป็นทวีคูณ โดยติดอันดับ 400 บุคคลที่รวยที่สุดในอเมริกาหรือ Forbes 400 เป็นครั้งแรกได้ในปี 1992 ซึ่งคนที่จะติดอันดับได้ต้องมีสินทรัพย์ 350 ล้านเหรียญขึ้นไปในขณะนั้น หลังจากบริษัทของเขาที่ให้บริการข้อมูลหุ้น พันธบัตร และอื่นๆ เริ่มเป็นที่นิยมในวอลสตรีท

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ฟาก “ทรัมป์” ต้องฝ่าวิกฤตเพื่อรักษาอาณาจักรของครอบครัวไว้ หลังมีหนี้สินก้อนโตจนเกือบล้มละลาย

ฟ้าหลังฝน ทรัมป์ฝ่าวิกฤตได้และกลับเข้ามาสู่ทำเนียบ Forbes 400 ได้ในปี 1996 ด้วยความมั่งคั่งราว 450 ล้านเหรียญ ขณะที่ บลูมเบิร์ก ตอนนั้นมีความมั่งคั่งอยู่ราว 1 พันล้านเหรียญ เเล้ว จากมูลค่าหุ้นในธุรกิจข้อมูลทางการเงินของเขา

ตลอดช่วง 23 ปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งสุทธิของทรัมป์ เพิ่มขึ้นในอัตรา 8.8% ต่อปี มากกว่าผลตอบแทนของดัชนีหุ้น S&P 500 ซึ่งอยู่ที่ 6.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยผลตอบแทนของทรัมป์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปี 1996-1997 ซึ่งทำให้เขาก้าวกระโดดจาก 450 ล้านเหรียญมาเป็น 1.4 พันล้านเหรียญ

ขณะที่ความมั่งคั่งของบลูมเบิร์ก มีการเติบโตเเละมีความเสถียรมากกว่า ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 18.8% ต่อปี

ผลตอบแทนเเละการเติบโตทางธุรกิจที่โดดเด่น การขยายกิจการเเละเข้าซื้อธุรกิจสื่อ ทำให้บลูมเบิร์กรวยขึ้นมหาศาล เเซงหน้าเหล่ามหาเศรษฐีที่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังเป็นการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์เก่าดั่งเช่นทรัมป์

โดยช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา บริษัท Bloomberg LP เติบโตขึ้นจากการขยายการรายงานข่าวธุรกิจและการเงินเข้ามาด้วย จากเดิมที่เพียงให้บริการข้อมูลด้านการเงินเท่านั้น

จากนั้น Bloomberg LP ได้เข้าซื้อกิจการหนังสือ BusinessWeek ซึ่งกำลังประสบปัญทางการเงินอย่างหนักจาก McGraw-Hill ด้วยมูลค่า 5 ล้านเหรียญ และรับโอนหนี้สินมาอีกเกือบ 32 ล้านเหรียญในปี 2009

ปัจจุบัน ประเมินว่า Bloomberg LP มีรายได้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญและ “ไมเคิล บลูมเบิร์ก” ผู้ก่อตั้งนั้นถือครองหุ้นอยู่ 88% ของบริษัท

ไมเคิล บลูมเบิร์ก นักธุรกิจผู้ท้าชืงตำเเหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 2020 – AFP Photo/Olivier Douliery

นอกจากนี้เจ้าพ่อสื่ออย่างบลูมเบิร์ก ยังมีชื่อเสียงจากการเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่บริจาคเงินเพื่อการกุศล โดยเขาบริจาคเงิน 8 พันล้านเหรียญให้กับองค์การกุศลและกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัย Johns Hopkins
และกิจกรรมที่ผลักดันการควบคุมอาวุธปืน

เเม้การเอาชนะใครบางคนได้ในสนามธุรกิจ กับการเอาชนะใครบางคนได้ในสนามเลือกตั้งนั้นต้องใช้ทักษะที่แตกต่างกัน ซึ่งในปีหน้านี้ บลูมเบิร์ก ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กมาเเล้ว 3 สมัย จะได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองว่าเขาจะสามารถต่อสู้กับทรัมป์บนเวทีการเมืองได้หรือไม่เเละอย่างไร

ทุ่มเงินซื้อโฆษณาเลือกตั้ง 2020

มีรายงานจาก Advertising Analytics บริษัทด้านสำรวจโฆษณาในสหรัฐฯ เผยว่าบลูมเบิร์กได้ทุ่มเงินจำนวนอย่างน้อย 33 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 990 ล้านบาท) ซื้อโฆษณารณรงค์ประชาสัมพันธ์การสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในหลายรัฐ

เป็นที่น่าสนใจว่า เงินดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกลงไปกับการซื้อโฆษณาหาเสียงในรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรคคู่เเข่งอย่างรีพับลิกัน และถือเป็น “Swing State” ที่มีจำนวน Electoral College หลายที่นั่ง เช่น รัฐฟลอริดา โอไฮโอ มิชิแกน ยูทาห์ และเท็กซัส

เเม้ข้อมูลตัวเลขของเเคมเปญดังกล่าวจะยังไม่ชัดเจน เเต่ก็นับว่าสูงกว่าสมัยที่อดีตประธานธิบดี “บารัค โอบามา” เคยใช้เงินซื้อโฆษณาที่ 24 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า ทีมหาเสียงของมหาเศรษฐี “บลูมเบิร์ก”
อาจใช้เงินในการรณรงค์แคมเปญหาเสียงสูงเลือกตั้งครั้งนี้ถึง 100 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

ถอดถอน “ทรัมป์” รอดหรือร่วง?

ล่าสุดกับข่าวใหญ่ของการเมืองสหรัฐและการเมืองโลกในช่วงปลายปีนี้ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ลงมติด้วยคะแนน 230 :197 ถอดถอน (impeachment) ประธานาธิบดีทรัมป์ใน 2 ข้อกล่าวหาคือ ข้อหาการใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรส โดยพรรคเดโมแครตมี ส.ส. จำนวน 232 เสียง ซึ่งโหวตเห็นชอบเกือบหมด ส่วนพรรครีพับลิกันมี ส.ส. จำนวน 195 เสียงเเละโหวตคัดค้านทุกคน

เเฟ้มภาพ – โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45

ส่งผลให้ทรัมป์กลายเป็นผู้นำคนที่ 3 ของสหรัฐฯ ที่ถูกพิจารณาถอดถอนในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร ถัดจากแอนดรูว์ จอห์นสัน และ บิล คลินตัน

อย่างไรก็ตาม การถอดถอนประธานาธิบดีไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอาศัยเสียงโหวตในสภา โดยการเสนอถอดถอนต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง (1/2) ของสภาล่าง (ผ่านเเล้ว) แต่การโหวตตัดสินว่าผิดจริงหรือไม่ต้องใช้เสียงถึง 2/3 ของสภาสูงหรือวุฒิสภา ที่มีจำนวน 100 ที่นั่ง หรือเท่ากับต้องมี 67 เสียงขึ้นไปถึงจะถอดถอนได้

เเละเมื่อมองดูจากสถานการณ์ ตอนนี้พรรครีพับลิกันนั้นครองเสียงข้างมากในสภาสูงคือ 53 เสียง พรรคเดโมแครตมี 45 เสียง และวุฒิสมาชิกอิสระอีก 2 เสียง ทำให้การที่พรรคเดโมเเครตจะมีคะเเนนโหวตถึง 2/3 ของสภาสูงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้การเมืองสหรัฐฯ มีการเเบ่งขั้วชัดเจน (ดูจากพรรครีพับลิกันมี ส.ส. จำนวน 195 เสียงก็โหวตคัดค้านพร้อมเพรียงกันทุกคน)

อย่างไรก็ตาม หากเกิดการ “พลิกล็อก” ขึ้นมาจริงๆ ในกรณีทรัมป์ถูกถอดถอนสำเร็จ รองประธานาธิบดี “ไมค์ เพนซ์” (Mike Pence) ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลพรรครีพับลิกันก็ยังคงบริหารต่อไป โดยขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแทน

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการยื่นถอดถอนทรัมป์ของพรรคเดโมเเครตครั้งนี้ เป็นเทคนิคทางการเมืองที่ทำให้คู่เเข่งอย่างรีพับลิกันไขว้เขวเเละไม่โฟกัส การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงในช่วงปลายปีหน้า เพราะกระบวนการต่อสู้ต้องใช้ทรัพยากรมากทั้งการเตรียมข้อมูล การหักล้างฟาดฟันกัน

ในมุมกลับกันก็อาจเป็นการสร้างเเนวร่วมให้กับฐานเสียงของทรัมป์ด้วย ซึ่ง The Wall Street Journal ออกมาวิเคราะห์ว่าการยื่นถอดถอนทรัมป์ครั้งนี้ อาจเป็นการยืนยันว่าทรัมป์จะชนะเลือกตั้งสมัยหน้าอีกก็เป็นได้ (อ่านเพิ่มเติมใน The Democrats Could Re-Elect Trump in 2020) 

ที่มา

 

]]>
1257976