ทำงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 21 Nov 2024 11:08:04 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ผลวิจัยชี้ คนไทย 95% อยากทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ สูงสุดในอาเซียน https://positioningmag.com/1500060 Thu, 21 Nov 2024 03:33:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1500060 ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทรนด์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นประเด็นที่กำลังมาแรงทั่วโลกจากกระแสที่ผู้คนต้องการสร้าง Work-Life Balance ในชีวิต รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า มนุษย์เงินเดือนไทยต้องการทำงานในรูปแบบนี้สูงถึง 95% มากสุดในแถบประเทศอาเซียน และน่าสนใจ คือ คนไทย 59% ยอมทำงานเพิ่มขึ้น 2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อแลกกับการได้ทำงานในรูปแบบนี้

ผลสำรวจดังกล่าว เป็นการสำรวจของ ‘บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส’ ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลกที่ได้สำรวจในหัวข้อ The 4-day work week: Is Asia ready for it? ด้วยการสอบถามบุคลากรและองค์กรกลุ่มตัวอย่างกว่า 5,000 แห่งใน 11 ประเทศทั่วเอเชีย รวมถึงประเทศไทย พบว่า

พนักงานที่อยากทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มากสุดในอาเซียน ได้แก่ คนไทย 95%, มาเลเซีย 94%, สิงคโปร์ 93%, ฟิลิปปินส์ 89% ขณะที่อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีความต้องการในเรื่องในสัดส่วนเท่ากันอยู่ที่ 88%

ผลสำรวจยังระบุอีกว่า สาเหตุที่พนักงานในไทยส่วนใหญ่อยากลดชั่วโมงทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์นั้น

อันดับ 1 ต้องการ Work-Life Balance มีสมดุลชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน 73%

อันดับ 2 อยากเพิ่ม Productivity 58%

อันดับ 3 อยากมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น และอยากประหยัดค่าเดินทาง 42%

นอกจากนี้ มนุษย์เงินเดือนไทยจากกลุ่มตัวอย่างมากถึง 59% บอกว่า ยินดีที่จะทำงานเพิ่มขึ้นอีก 2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สามารถทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ โดยยังคงได้รับค่าจ้างเท่าเดิม และ 45% ของพนักงานยังยินดีที่หยุดการทำงานแบบไฮบริดหรือกิจกรรมงานสังคมต่างๆ อีกด้วย

ขณะที่ 58% ของพนักงานที่ต้องการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาได้ และการได้ลดเวลาทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ยังเป็นแรงจูงใจในการเลือกงานใหม่ของพนักงานถึง 41% รองลงมา 29% ทำงานจากที่ไหนก็ได้ และ 27% เป็นเรื่องผลตอบแทน

อย่างไรก็ตาม 36% ในกลุ่มพนักงานที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้มีความกังวลในเรื่องความเครียดที่จะเพิ่มขึ้นจากการทำงานในจำนวนวันน้อยลง แต่ยังต้องทำงานในปริมาณงานเท่าเดิม และ 27% กังวลว่า อาจจะมีการลดค่าจ้างตามมา

แล้วฝั่งนายจ้างหรือบริษัทมีความคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายนี้ ?

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย การใช้นโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย 90% ของบริษัทในไทยมองนโยบายนี้มีความเป็นไปได้ และเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน, 77% คิดว่า การทำงานในรูปบบนี้ จะช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานไว้ และ 46% เชื่อว่า นโนบายนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้

นอกจากนี้ นายจ้างและบริษัทในประเทศไทย 77% มองว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มีความเป็นไปได้ แต่มีนายจ้างเพียง 26% เท่านั้นที่วางแผนจะนำนโยบายนี้ไปใช้จริงในภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ส่วนนายจ้างอีก 50% มองว่า การทำงานในรูปแบบดังกล่าว ไม่น่าจะเกิดการทดลองใช้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายบริษัทที่มองว่า รูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ‘ไม่สามารถทำได้จริง’ และมีความกังวลต่อนโยบายดังกล่าว โดย 67% กังวลจะพนักงานไม่เพียงพอในการให้บริการลูกค้า, 50% กังวลจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการดำเนินโครงการล่าช้า และ 42% ห่วงว่า การนำนโยบายนี้ไปใช้จะนำไปสู่คงวามไม่พอใจในหมู่พนักงาน

อ้างอิง http://RW Asia 4-Day Work Week E-Guide.pdf

]]>
1500060
หมดยุคเดินทางประชุม! ผลสำรวจเผย “การเดินทางเพื่อธุรกิจ” เริ่มลดความถี่ เน้นพาพนักงานเที่ยวและไปงานแสดงสินค้า https://positioningmag.com/1428319 Mon, 24 Apr 2023 07:24:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1428319 ในปี 2023 นี้ เราอาจจะเห็นภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาคึกคัก เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาคนต้องอัดอั้นอยู่แต่บ้าน ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 แต่กลับกัน การเดินทางเพื่อธุรกิจ อาจจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากองค์กรก็ต้องการลดค่าใช้จ่ายที่อาจไม่จำเป็น

ตามรายงานฉบับใหม่ของบริษัทวิจัย Morning Consult พบว่า การเดินทางเพื่อธุรกิจจะไม่มีวันกลับคืนสู่ปกติ โดยจากการสำรวจชาวอเมริกันประมาณ 4,400 คน พบว่า การเดินทางเพื่อธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศในปี 2022 เพิ่มขึ้นเพียง 1% เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด โดย

  • 60% ของบริษัทพวกเขาได้เปลี่ยนนโยบายการเดินทางเพื่อธุรกิจ
  • 56% ลดความถี่ของการเดินทางหรือส่งพนักงานเดินทางน้อยลง
  • 54% มีการพิจารณาค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น

ดังนั้น จะเห็นว่ารูปแบบการเดินทางเพื่อธุรกิจเริ่มเปลี่ยนแปลงไปและอาจจะกลายเป็น New Normal โดยรายงานระบุว่า ปัจจุบันนักเดินทางเพื่อธุรกิจ มีอายุน้อยลงและมีแนวโน้มที่จะบินในชั้นประหยัดมากขึ้น เนื่องจากงบประมาณขององค์กรที่ต้องเข้มงวดขึ้นและการใช้งานเทคโนโลยีก็ได้เข้ามาช่วยให้ไม่จำเป็นต้องเดินทาง ดังนั้น การเดินทางแบบ First Class จะเริ่มเห็นน้อยลง ขณะที่การเดินทางส่วนใหญ่ขององค์กรในปัจจุบันจะเน้นที่ การพาพนักงานไปท่องเที่ยวประจำปี และ การไปงานแสดงสินค้า

“พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นทำขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และเนื่องจากการประชุมออนไลน์ก็ได้เข้ามาทำลายข้อจำกัดของการบินไปประชุมในต่างพื้นที่”

work from anywhere
Photo : Shutterstock

ตามรายงานของ Deloitte พบว่า ในปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายด้านการเดินทางขององค์กรในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และกำลังจะไปถึงระดับก่อนเกิดโรคระบาดในช่วงปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025 โดยรายงานระบุว่า ธุรกิจต่าง ๆ ต้องใช้จ่ายมากขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและค่าเดินทางที่สูงขึ้น

“ตั๋วเครื่องบินและราคาห้องพักที่สูงขึ้นเป็นตัวการใหญ่ที่สุดที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และยังกลายเป็นปัจจัยอันดับ 1 ที่ขัดขวางจำนวนการเดินทาง”

โดยมีบริษัทถึง 59% ระบุว่า พวกเขาสามารถประหยัดเงินได้โดยการเลือกที่พักที่ถูกกว่า 56% ประหยัดได้เมื่อจองตั๋วเครื่องบินที่ถูกกว่า และ 45% มองว่า การจำกัดความถี่ในการเดินทางก็ช่วยให้ประหยัดได้ นอกจากนี้ เกือบ 70% กำลังชั่งน้ำหนักความจำเป็นในการเดินทางอย่างมีกลยุทธ์

Photo : Shutterstock

นอกจากเรื่องของการลดต้นทุน อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเดินทางก็คือ แรงกดดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดย 1 ใน 7 ขององค์กรที่ตอบแบบสอบถามพบว่ามีความพยายามจะสนับสนุนด้านความยั่งยืน ขณะที่บริษัทอเมริกันราว 1 ใน 3 แห่ง และบริษัทในยุโรปราว 40% ระบุว่า จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพนักงานลงมากกว่า 20% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศในปี 2030 และความกังวลด้านสภาพอากาศน่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางของบริษัทในอีกหลายปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การลดจำนวนการเดินทางเพื่อธุรกิจนั้นอาจไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ โดยจากผลสำรวจนักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างน้อย 3 ครั้ง/ปี ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดพบว่า ประเทศในฝั่งยุโรปกว่า 50% มองว่าอาจไม่มีการเดินทางอีกเลยในอนาคต ขณะที่ประเทศอย่าง อินเดีย จีน และบราซิล คาดว่าเป็นประเทศที่มีการเดินทางเพื่อธุรกิจมากที่สุด

ถึงแม้ว่าเดินทางเพื่อธุรกิจมีแนวโน้มลดลง แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่า การใช้จ่ายด้านการเดินทางเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2023 โดยในยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางหาลูกค้า ส่วนในสหรัฐอเมริกาเพื่อติดต่อประชุมกับเพื่อนร่วมงานทั่วโลก

และเกือบ 2 ใน 3 ของพนักงานที่ต้องเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ คาดว่า พวกเขาคาดว่าจะเข้าร่วมการประชุมหรือสัมมนาในปีนี้เช่นกัน และการเดินทางแบบ Bleisure ซึ่งผสมผสานระหว่างการเดินทางเพื่อธุรกิจและการพักผ่อนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการทำงานทที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

]]>
1428319
‘โคเปนเฮเกน’ ขึ้นแท่นเมืองที่มี Work Life Balance อันดับ 1 ของโลก https://positioningmag.com/1421731 Fri, 03 Mar 2023 06:48:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1421731 ตามรายงานฉบับใหม่จาก MoneyNerd เว็บไซต์การเงินส่วนบุคคลที่ใช้ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD), รายงานความสุขโลก, Glassdoor, LinkedIn เพื่อพิจารณาว่า 25 เมืองใหญ่สุดของโลก เมืองไหนมี ผู้อยู่อาศัยที่มีความสุขที่สุดและมีโอกาสเข้าถึงงานที่มีค่าตอบแทนสูงมากที่สุด โดยวัดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าครองชีพ เงินเดือนเฉลี่ย จำนวนโอกาสในการทำงาน โดย 5 อันดับเมืองที่มีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและการใช้จ่าย ได้แก่

1.โคเปนเฮเกน

รายได้เฉลี่ย: 44,474 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 1,556,000 ล้านบาท)

คะแนนความสมดุลในชีวิตการทำงาน: 8.6 เต็ม 10

คะแนนความสุข: 7.6 เต็ม 10

2.อัมสเตอร์ดัม

รายได้เฉลี่ย: 44,367 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 1,552,000 บาท)

คะแนนความสมดุลในชีวิตการทำงาน: 8.3 เต็ม 10

คะแนนความสุข: 7.4 เต็ม 10

อัมสเตอร์ดัม
(Photo: Shutterstock)

3.นิวยอร์ก

รายได้เฉลี่ย: 71,401 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 2,499,035 บาท)

คะแนนความสมดุลในชีวิตการทำงาน: 5.2 เต็ม 10

คะแนนความสุข: 7 เต็ม 10

ภาพจาก Shutterstock

4.ออสโล

รายได้เฉลี่ย: 46,196 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 1,161,000 บาท)

คะแนนความสมดุลในชีวิตการทำงาน: 8.5 เต็ม 10

คะแนนความสุข: 7.4 เต็ม 10

5.ซูริก

รายได้เฉลี่ย: 82,191 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 2,876,000 บาท)

คะแนนความสมดุลในชีวิตการทำงาน: 7.7 เต็ม 10

คะแนนความสุข: 7.5 เต็ม 10

โคเปนเฮเกนได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองอันดับ 1 ของโลกที่มีความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตที่ดีและให้เงินเดือนที่แข่งขันได้ โดยเมืองหลวงของเดนมาร์กมีเงินเดือนเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 44,474 ดอลลาร์/ปี แม้ไม่ใช่ค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่สูงที่สุด แต่คะแนนความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานสูงถึง 8.6 เต็ม 10 คะแนน เนื่องจากโคเปนเฮเกนได้รับการยกย่องว่า เป็นเมืองที่ปลอดภัย สินค้าอุปโภคบริโภคราคาย่อมเยา มีสวัสดิการที่น่าสนใจแก่คนงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ Remote Working และนโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร

ที่น่าสนใจคือการติดอันดับของ นิวยอร์ก เพราะเป็นหนึ่งในเมืองที่มี ค่าครองชีพแพงสูงสุดของโลก และถือเป็นเมืองที่ต้อง เร่งรีบ แต่กลายเป็นว่านิวยอร์กกลับมีคะแนนความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานสูงกว่าเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก เช่น ฮ่องกงและดูไบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะว่าชาวนิวยอร์กมีรายได้มากกว่า

ในขณะเดียวกัน ปักกิ่ง ลิสบอน และ บูดาเปสต์ ถือเป็นเมืองที่เลวร้ายที่สุดสำหรับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน จากข้อมูลของ เนื่องจากทั้ง  เมืองนี้มี เงินเดือนเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่าที่อื่น เมืองเหล่านี้มีเงินเดือนเฉลี่ยต่อปีต่ำตั้งแต่ 12,664-18,366 ดอลลาร์ (ราว 443,000-642,000 บาท) นอกจากนี้ยัง มีตำแหน่งงานที่ว่างน้อย ทำให้การหางานมีการแข่งขันที่สูง

ส่วนอันดับ 4 และ 5 ของเมืองยอดแย่ ได้แก่ ดูไบ และ ฮ่องกง ตามลำดับ แม้ว่าช่วงเงินเดือนเฉลี่ยจะดีขึ้นเป็น 34,271-50,853 ดอลลาร์ (1,199,000-1,779,000 บาท) แต่เมืองเหล่านี้ก็ยังขาดคะแนนความสุข (6.6 และ 5.4 ตามลำดับ) และคะแนนค่าครองชีพเทียบกับเงินเดือนเฉลี่ยของเมือง (ตั้งแต่ 57.2 ถึง 70.6)

]]>
1421731
‘UK’ เริ่มแล้ว! ทดลองให้พนักงานกว่า 3.3 พันคน ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ‘สเปน-สกอตแลนด์’ เล็งเริ่มสิ้นปี https://positioningmag.com/1388378 Fri, 10 Jun 2022 07:14:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388378 พนักงานในสหราชอาณาจักรหลายพันคนเริ่มทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ผ่านโครงการนำร่องของรัฐบาลที่จะทดลองเป็นเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ สเปน และ สกอตแลนด์ มีแผนจะเอาบ้างโดยคาดว่าเริ่มก่อนสิ้นปีนี้
โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้แก่ 4 Day Week Global, Autonomy, Think Tank และ 4 Day Week UK Campaign และได้ความร่วมมือจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และวิทยาลัยบอสตัน
โดยโครงการนี้มีระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้กับ 70 บริษัท มีพนักงานเข้าร่วมรวม 3,300 คน ตั้งแต่ผู้ให้บริการทางการเงิน ไปจนถึงพนักงานร้านอาหาร โดยระหว่างโปรแกรม ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับค่าจ้าง 100% สำหรับการทำงานเพียง 80% ของสัปดาห์ปกติ แต่ต้องรักษาประสิทธิภาพการทำงานไว้ได้ 100% เหมือนการทำงาน 5 วัน/สัปดาห์
Sienna O’Rourke ผู้จัดการแบรนด์ที่ Pressure Drop Brewing ซึ่งเป็นโรงเบียร์อิสระในลอนดอน กล่าวว่า เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทคือการพัฒนาสุขภาพจิตและสวัสดิภาพของพนักงาน
“โรคระบาดได้ทำให้เราคิดมากเกี่ยวกับงานและวิธีที่ผู้คนจัดระเบียบชีวิตของพวกเขา เรากำลังทำสิ่งนี้เพื่อปรับปรุงชีวิตพนักงานของเราและเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าในโลก”
ไอซ์แลนด์ ถือเป็นอีกประเทศที่ได้ดำเนินการนำร่องที่ใหญ่ที่สุดในการลดวันทำงานลงเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2015-2019 โดยมีพนักงานภาครัฐ 2,500 คนที่เกี่ยวข้องกับการทดลองขนาดใหญ่สองครั้ง โดยการทดลองพบว่าประสิทธิภาพการทำงานไม่ลดลงในกลุ่มผู้เข้าร่วม และความสุขของพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเรียกร้องให้ลดระยะเวลาการทำงานในหลายประเทศ ในขณะที่พนักงานหลายล้านคนเปลี่ยนไปทำงานทางไกลในช่วงการระบาดใหญ่ ซึ่งลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ยุ่งยากลง การเรียกร้องความยืดหยุ่นที่มากขึ้น และรัฐบาลหลายประเทศเริ่มตอบรับ เช่น สเปนและสกอตแลนด์ ที่จะเริ่มทดลองภายในปลายปีนี้
Joe O’Connor ซีอีโอของ 4 Day Week Global กล่าวว่า คนงานได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทำงานได้ “สั้นและฉลาดขึ้น”
“เมื่อเราออกจากการแพร่ระบาด มีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ตระหนักว่าพรมแดนใหม่สำหรับการแข่งขันคือคุณภาพชีวิต และการทำงานที่เน้นเอาท์พุตที่ลดชั่วโมงทำงานเป็นพาหนะที่จะทำให้พวกเขาได้เปรียบในการแข่งขัน”
]]>
1388378
ส่องเทรนด์ทำงาน ‘4 วัน/สัปดาห์’ ในเอเชีย ประเทศไหนพร้อม-ไม่พร้อมเปิดรับ! https://positioningmag.com/1376175 Thu, 03 Mar 2022 09:38:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376175 การมีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานจำนวนมาก แต่บางประเทศในเอเชียการทำงานยาว 6 วัน/สัปดาห์ยังคงเป็นเรื่องปกติ! ในขณะที่เทรนด์โลกเริ่มมีการทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ หลังจากเจอกับการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้พนักงานทั่วโลกได้ Work From Home อย่างไรก็ตาม ลองไปดูกันว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคเอชียคิดเห็นอย่างไรกับการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์กันบ้าง

เจมส์ รูท หุ้นส่วนและประธานร่วมของ Bain Futures นักคิดของบริษัทที่ปรึกษา Bain & Company กล่าวว่า ที่ในภูมิภาคเอเชียมีการทำงานถึง 6 วัน/สัปดาห์เป็นเพราะหลายคนมีค่านิยมว่า การทำงานหนักจะทำให้ประสบความสำเร็จ โดยมีหลายประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เช่น เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พนักงานหลายคนเริ่มมองหา Work Life Balance ทำให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงเอเชียกำลังมองหาวิธีที่ทำให้พนักงานมีสมดุลมากขึ้น อาทิ สามารถทำงานครึ่งวันทุกวันศุกร์, ทางเลือกในการทำงานจากที่บ้าน, การลาคลอด, ให้ทุนสนับสนุนสำหรับการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แต่ปัจจุบันมีเทรนด์แรงที่คนใกำลังให้ความสนใจก็คือ การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์

“เป้าหมายคือ การให้เวลาแก่พนักงานให้มีวันหยุดยาว แต่ยังคงประสิทธิภาพการทำงาน แน่นอนว่าค่าตอบแทนต้องไม่ลดตามจำนวนวันทำงาน ซึ่งจะทำให้ win-win สำหรับพนักงานและบริษัท”

Photo : Shutterstock

เริ่มมีบางบริษัทปรับใช้

ญี่ปุ่น ขึ้นชื่อว่ามีวัฒนธรรมการทำงานที่ โหดเหี้ยม ด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน แถมคาดหวังให้พนักงานให้ความสำคัญกับ อาชีพของตนเหนือสิ่งอื่นใดในชีวิต จนเกิดเป็นคำศัพท์ใหม่ว่า Karoshi ที่แปลว่า ความตายจากการทำงานหนักเกินไป

แต่เพราะ COVID-19 ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานที่เข้มงวดสูงของประเทศกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง หลังจากที่ธุรกิจญี่ปุ่นเปลี่ยนให้มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และสามารถ Work From Home ได้ ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อความสุขของพนักงานอย่างไร

ย้อนไปในปี 2019 Microsoft Japan ได้ทดสอบการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ แม้ว่าชั่วโมงทำงานโดยรวมจะลดลง แต่ค่าจ้างพนักงานยังคงเท่าเดิมโดยพบว่า ประสิทธิภาพของพนักงานเพิ่มขึ้นเกือบ 40% และช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา Panasonic ได้ทดลองให้พนักงานทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เพื่อส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับพนักงาน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้จะยังไม่เกิดขึ้น 100% จนกว่าจะถึงเดือนเมษายน 2566

“สวัสดิภาพของพนักงานของเรามีความสำคัญเป็นอันดับแรก และเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องสื่อสารและส่งเสริมความเข้าใจในจุดประสงค์นี้” Airi Minobe โฆษกของ Panasonic กล่าว

(Photo : Shutterstock)

พนักงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สนใจปรับใช้

จากการสำรวจที่ตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์โดยบริษัทวิจัย Milieu ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า พนักงานจากสิงคโปร์ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียต่างก็ กระตือรือร้นที่จะทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ โดยชาว สิงคโปร์ มากกว่า 76% แสดงความสนใจอย่างมากในงานที่มีวันหยุดสามวัน

พนักงานหลายคนในสิงคโปร์ไม่ต้องการชีวิตที่พวกเขาอาศัยอยู่เพื่อทำงาน แต่พวกเขาต้องการ “มีชีวิตและทำงานเพื่อรักษาชีวิตไว้” Jaya Dass กรรมการผู้จัดการ บริษัทจัดหางาน Randstad Singapore กล่าว ดังนั้น การมีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน เงินเดือน และผลประโยชน์ถือเป็นแง่มุมที่มีค่าที่สุดของงานสำหรับพนักงาน

Dass กล่าวว่า พนักงานชาวสิงคโปร์ไม่พร้อมที่จะสละชีวิตส่วนตัวเพื่อประกอบอาชีพอีกต่อไป แต่เนื่องจากค่าครองชีพที่สูง หลายคนจึงไม่เห็นด้วยที่จะลดชั่วโมงการทำงานลง หากเงินเดือนจะลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกคนที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานสัปดาห์ที่สั้นลง อย่างใน มาเลเซีย มีเพียง 48% เท่านั้นที่สนใจแนวคิดนี้อย่างมาก และอีก 41% รู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับแนวคิดนี้ จากการสำรวจของ Milieu

Dass ระบุว่า ไม่ใช่แค่มาเลเซีย แต่ เมียนมา และ กัมพูชา ก็ไม่ได้สนใจที่จะทำงานแค่ 4 วัน/สัปดาห์ เพราะความต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตและงานในประเทศเหล่านี้มีน้อย เพราะในระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ ชั่วโมงการทำงานที่นานขึ้นมักจะแปลเป็นเงินมากขึ้น

“ในประเทศกำลังพัฒนา พนักงานมักต้องการทำงานให้หนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีคติประจำใจคือ ถ้าฉันต้องตายจากการทำงาน ฉันจะทำ นั่นหมายความว่าฉันสามารถทำเงินได้ ฉันสามารถซื้อทรัพย์สินของฉัน ฉันสามารถทำให้ครอบครัวของฉันมีชีวิตที่ดีขึ้นได้”

เอเชียล้าหลังตะวันตก

อย่างไรก็ตาม หากเทียบภูมิภาคเอเชียกับฝั่งตะวันตกถือว่ายังตามหลังอยู่ เพราะ รัฐบาลไอซ์แลนด์และสเปน ได้ทดลองลดชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ปี 2019 และ 2021 ตามลำดับ เบลเยียม เป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศว่าเร็ว ๆ นี้คนงานจะได้รับสิทธิ์ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์

โครงการของเบลเยียมซึ่งกำลังเริ่มทดลองกำหนดให้พนักงานต้องทำงาน 4 วัน ในจำนวนชั่วโมงที่เท่ากับการทำงานใน 5 วัน และคนงานยังได้รับอนุญาตให้ เพิกเฉยต่อการทำงานนอกเวลา โดยไม่ต้องเผชิญกับผลที่ตามมาจากเจ้านายของพวกเขา

สหราชอาณาจักร ในเดือนมกราคมประกาศเปิดตัวการทดลองใช้สัปดาห์ทำงาน 4 วันเป็นเวลา 6 เดือน โดยจะเริ่มในเดือนมิถุนายน ความคิดริเริ่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พนักงานของบริษัทต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรมสามารถทำงานได้ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยที่เงินเดือนและผลประโยชน์ไม่เปลี่ยนแปลง

]]>
1376175
Apple ออกกฎให้พนักงานที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ต้องตรวจโควิด ‘ทุกครั้ง’ ในวันที่จะเข้าออฟฟิศ https://positioningmag.com/1357826 Thu, 21 Oct 2021 08:25:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1357826 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple เตรียมออกกฎให้พนักงานที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ‘ทุกครั้งในวันที่จะเข้าออฟฟิศ สะท้อนให้เห็นความเข้มงวดในการควบคุมโรคมากขึ้นเเต่ก็ยังไม่ถึงขั้นบังคับให้พนักงานต้องฉีดวัคซีนทุกคน

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ทาง Apple แจ้งต่อพนักงานในช่วงสัปดาห์นี้ว่า ข้อกำหนดดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับกลุ่มพนักงานที่ไม่รายงานสถานะการฉีดวัคซีนกับทางบริษัท ส่วนพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเรียบร้อยแล้ว จะต้องทำการตรวจหาเชื้อแบบเร่งด่วน (Rapid Test) ประมาณสัปดาห์ละครั้ง

เเต่ในกลุ่มพนักงานประจำสาขาของ Apple นั้นจะมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย คือ บริษัทจะขอให้พนักงานที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนทำการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แทนการตรวจในทุกๆ วันที่จะเข้ามาทำงาน เเละคนที่ฉีดวัคซีนแล้วจะต้องตรวจแบบ Rapid Test สัปดาห์ละครั้ง โดยข้อกำหนดใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ..เป็นต้นไป

Bloomberg ตั้งข้อสังเกตว่ากฎใหม่ที่เข้มงวดขึ้นของ Apple ครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กำหนดให้ผู้รับเหมา (contractor) ที่รับงานจากรัฐบาลกลาง จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้พนักงานครบโดส ภายใน 8 ธันวาคมนี้ ซึ่ง Apple ก็เป็นหนึ่งในผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับรัฐบาล ผ่านช่องทางการขายเฉพาะ

ก่อนหน้านี้ Apple ขอให้พนักงานรายงานสถานะการฉีดวัคซีน พร้อมแสดงหลักฐาน ภายในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ หลังขยายเวลาจากตอนเเรกที่กำหนดไว้ที่กลางเดือนกันยายน

Apple เคยประกาศนโยบายให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง โดยเป็นการเข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ แต่บางแผนกอาจต้องเข้างาน 4 หรือ 5 วัน ขึ้นอยู่กับเนื้องาน เเต่ก็มีพนักงานบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะมองว่าบริษัทขาดความยืดหยุ่นเกินไป

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังผลักดันให้ภาคธุรกิจที่มีจำนวนพนักงานตั้งเเต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องฉีดวัคซีนโควิดหรือตรวจหาเชื้อในกลุ่มคนงานที่ไม่ได้รับวัคซีน อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งทางทำเนียบขาวกำลังเตรียมออกแนวทางเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ด้วย

]]>
1357826
‘ความเสี่ยง’ จากการทำงานหนัก เครียด-มลภาวะ คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเกือบ 2 ล้านคนต่อปี https://positioningmag.com/1352717 Mon, 20 Sep 2021 12:09:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352717 องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยรายงานที่ทำร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำงานของประชากรโลก โดยระบุว่า โรคและการบาดเจ็บจากการทำงาน มีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1.9 ล้านคน ในปี 2016

โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตจากการทำงาน มีหลายอย่าง ตั้งแต่ความเครียดสะสม มลพิษทางเสียง การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในสถานที่ทำงาน สารก่อให้เกิดโรคหอบหืดเเละสารก่อมะเร็ง

อีกหนึ่งความเสี่ยงที่สำคัญก็คือชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไปซึ่งเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตถึง 750,000 ราย ส่วนการสัมผัสมลพิษทางอากาศในสถานที่ทำงาน (เช่น ฝุ่นละออง ก๊าซ และควัน) เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตราว 450,000 ราย

ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก มีจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงานมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และมีอายุเฉลี่ยที่ 54 ปี

เป็นเรื่องน่าตกใจที่เราได้เห็นคนจำนวนมากต้องถูกฆ่าตายด้วยงานของพวกเขาดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าว

เราหวังว่ารายงานฉบับนี้ จะกระตุ้นไปยังประเทศและธุรกิจต่างๆ ให้ปรับปรุงและปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของคนงาน

โรคและการบาดเจ็บต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนั้น ได้ส่งผลให้เกิดประชาชนเกิดความเครียด ประสิทธิภาพเเละคุณภาพชีวิตลดลง และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อรายได้ครัวเรือนซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ

(photo : Photo by Andrea Piacquadio from Pexels)

เเม้อัตราการเสียชีวิตจากการทำงานต่อประชากรทั่วโลกจะลดลง 14% ในช่วงปี 2000-2016 ซึ่งอาจสะท้อนถึงการปรับปรุงด้านสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานที่มีมากขึ้น

เเต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองที่เกี่ยวข้องกับการมีชั่วโมงทำงานยาวนานเกินไป กลับเพิ่มขึ้นถึง 41% และ 19% ตามลำดับ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีพเเละสังคมในยุคใหม่

จากการวิเคราะห์ข้อมูลใน 194 ประเทศ พบว่า การทำงานต่อสัปดาห์ 55 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ได้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองถึง 35% และเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดอีก 17% เมื่อเทียบกับการทำงานเฉลี่ย 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

โดยรายงานฉบับนี้ มีข้อเสนอเเนะเพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง เช่น ข้อตกลงเกี่ยวกับการจำกัดเวลาทำงานสูงสุดที่เหมาะสม มาตรการลดการสัมผัสมลพิษทางอากาศในสถานที่ทำงาน อย่างการควบคุมฝุ่น การระบายอากาศ และมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เป็นต้น

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม : WHO 

 

]]>
1352717
ชาวอเมริกัน ‘ลาออก’ มากสุดในรอบ 20 ปี หมดไฟ-เครียด-เริ่มทบทวนชีวิต ฉุกคิด ‘หางานใหม่’ https://positioningmag.com/1336827 Mon, 14 Jun 2021 11:27:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1336827 ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยอดว่างงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในอีกมุมหนึ่งก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจลาออกจากงานด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งมาจากความตึงเครียด ภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้ทบทวนชีวิตเเละเริ่มฉุกคิดใหม่เรื่อง ‘career path’ 

The Wall Street Journal นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า ชาวอเมริกันมีอัตราการลาออกจากงานสูงสุดในรอบ 20 ปี นับเป็นความท้าทายใหม่ของภาคธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราการลาออกจากงานของชาวอเมริกันในเดือนเม.. อยู่ที่ 2.7% หรือราว 4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000

จำนวนผู้ที่ลาออกจากงานปรับตัวสูงขึ้น หลังช่วงวิกฤตโรคระบาด เมื่อคนจำนวนมากต้องการความมั่นคงในหน้าที่การงาน ขณะที่ต้องเผชิญกับวิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ”

เทรนด์การเปลี่ยนงานเเละเปลี่ยนอาชีพใหม่ กระตุ้นให้นายจ้างต้องขึ้นค่าแรงและเสนอการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ โดยความต้องการที่จะเปลี่ยนงานใหม่ ชี้ให้เห็นถึงความหวังเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่าแม้ว่าจะมีอัตราว่างงานจะสูงขึ้นก็ตาม

เมื่ออัตราการเลิกจ้างสูง ก็ทำให้นายจ้างต้องเสียต้นทุนมากขึ้นเช่นกัน จากการที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักลง ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงาน ให้ความเห็นว่า การลาออกส่งสัญญาณว่า ตลาดเเรงงานเริ่มเเข็งเเกร่งขึ้น เนื่องจากผู้คนหันมาสนใจหางานที่เหมาะกับทักษะ ความสนใจของตัวเอง และต้องการมีชีวิตส่วนตัวมากขึ้น

(Photo : Shutterstock)

ยิ่งในปัจจุบันมีหลายปัจจัยส่งเสริมให้มีการ ‘เปลี่ยนงาน’ บ่อยขึ้น ประชาชนจำนวนมากปฏิเสธที่จะกลับมาทำงานตามปกติในระบบเดิม เเละลังเลที่จะทำงานในออฟฟิศเหมือนก่อนช่วงก่อนโรคระบาด แต่พวกเขามีเเนวโน้มจะเลือกทำงานทางไกลที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน เริ่มมองเห็นถึงกระเเสการลาออกนี้ จากสำรวจความเห็นพนักงาน 2,000 คนในช่วงเดือนมีนาคมโดย Prudential Financial พบว่า พนักงานกว่า 1 ใน 4 วางแผนหางานใหม่กับนายจ้างรายอื่นในเร็วๆ นี้

หลายคนตกอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) เนื่องจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดจากโควิด-19 ขณะที่บางคนต้องมองหาค่าจ้างที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยการสูญเสียงานของคู่สมรส หรือใช้ช่วงเวลาในปีที่ผ่านมาเพื่อคิดพิจารณาถึงเส้นทางอาชีพและการเปลี่ยนงานใหม่

จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วในสหรัฐฯ เเละมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะงานในภาคการผลิตเเละภาคบริการ จนหลายบริษัทต้องเเย่งชิงเเรงงาน จัดโปรโมชันต่างๆ ให้ผู้สมัคร

โดยร้านอาหารและแฟรนไชส์บางแห่งในสหรัฐฯ ต้อง ‘เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ’ หรือ ‘ให้โบนัสไปจนถึงเเจกสมาร์ทโฟน เพื่อจูงใจให้คนมากลับมาทำงาน แทนการอยู่บ้านและพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

ที่มา : WSJ , businessinsider 

]]>
1336827
HR ไม่ใช่ผู้คุมกฎ…6 กลยุทธ์ผสานพนักงาน ‘ต่างวัย’ หลากหลาย-เท่าเทียม ฉบับ ‘ดิอาจิโอ’ https://positioningmag.com/1334079 Thu, 27 May 2021 13:16:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1334079 สังคมการทำงานยุคใหม่ เปลี่ยนไปมากมายในช่วงที่ผ่านมา องค์กรไม่สามารถนำกลยุทธ์เดิมๆ กฎระเบียบเดิมๆ มากำหนดวิถีการทำงานของพนักงานได้อีกต่อไป

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ เทรนด์ทำงานได้ทุกที่ ‘Remote Working’ ทำให้ออฟฟิศไม่ใช่เรื่องจำเป็นสูงสุด

เหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ต้องปรับตัว เปลี่ยนเเปลงการสื่อสารกับพนักงาน มาคิดกันใหม่ว่า ทำอย่างไรจะให้พนักงานมีความสุขเเละมีประสิทธิภาพ หาจุดสมดุลของความหลากหลาย บริหารคนต่างวัยให้มีเป้าหมายร่วมกัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดนี้

Positioning มีโอกาสได้พูดคุยกับเจน รุ่งกานต์ รตนาภรณ์ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮสเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DMHT เจ้าของแบรนด์สุรานอกอย่าง Johnnie Walker, Smirnoff, Hennessy ฯลฯ

คำเเนะนำเเละกลยุทธ์การทรานส์ฟอร์มจากผู้คลุกคลีอยู่ในวงการ HR มานานกว่า 20 ปี ผ่านงานทั้งสายพลังงาน อุตสาหกรรมยา จนมาถึงธุรกิจเครื่องดื่ม อย่าง ‘รุ่งกานต์’ มีเทคนิคต่างๆ ที่น่านำไปปรับใช้ได้ดีทีเดียว

เป็นตัวเองได้ในที่ทำงาน 

เธอเล่าให้ฟังถึงการวางกลยุทธ์ดำเนินงานว่า ยึดหลักแนวคิด Connecting People to Purposes เชื่อมโยงบุคคลกับวัตถุประสงค์ของบริษัท โดยให้ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้ในการทำงาน ไม่จำกัดความคิด มอบอิสระในการออกแบบวิธีการทำงานและการแสดงออก พร้อมเสริมสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้ออำนวยต่อการไปถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ให้พนักงานรู้สึกสบายใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนบริษัท มาทำงานอย่างมีความสุขและกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่ดี เติมเต็มความต้องการได้ ขณะเดียวกันก็ต้องต่อยอดไปสู่เป้าหมายทางอาชีพของพวกเขาด้วย” 

Reverse Mentoring : พื้นที่เเลกเปลี่ยนไอเดีย 

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่รุ่งกานต์นำมาใช้ในการผสาน ‘พนักงานต่างวัย’ ให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในการทำงานกัน ก็คือ Reverse Mentoring

โดย DMHT มีการจับคู่พนักงานมาเข้าร่วมโปรเเกรมนี้ เริ่มต้นด้วยคู่ของคุณ ‘อัลแบร์โต อิเบอัส’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กับพนักงาน Gen Y คนหนึ่ง ให้มาพูดคุยเเลกเปลี่ยน ‘ไลฟ์สไตล์’ เรียนรู้การทำงาน มุมมองของธุรกิจต่างๆ

ผลเบื้องต้นพบว่า เกิดไอเดียหลายอย่างจากการสนทนากัน โดยอัลแบร์โตที่ทำงานมากว่า 22 ปี ก็ได้เห็นถึงการคิดนอกกรอบ เทรนด์เเละนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนพนักงานรุ่นใหม่ก็ได้รู้ถึงประสบการณ์การทำงาน บทเรียนชีวิตเเละวิธีเเก้ปัญหาต่างๆ  

“ถ้าโครงการทดลองนี้สำเร็จ เราจะขยายไปทำทั้งองค์กร เพื่อให้มีแพลตฟอร์มที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้”

พื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องมี คือความเท่าเทียม

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในองค์กร ก็คือ ‘ความเท่าเทียม’ โดยยกตัวอย่างเป้าหมาย 10 ปีของดิอาจิโออย่าง SOCIETY 2030: SPIRIT OF PROGRESS

โดยในแผนงานนี้ มีประเด็นการส่งเสริมความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมภายในองค์กรที่น่าสนใจ เช่น บริษัทตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะมี ผู้นำหญิง ในองค์กรให้ได้สัดส่วน 50% มีผู้นำที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ให้ได้ 45% และจัดอบรมพัฒนาทักษะให้กับคนจำนวน 1.7 ล้านคน เเละสนับสนุนความหลากหลายในทุกตำแหน่งงาน

ปัจจุบัน DMHT มีสัดส่วนของผู้บริหารหญิงอยู่ที่ 50% แล้ว เฟสต่อไปคือการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งที่เตรียมก้าวขึ้นสู่ระดับบริหารให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้กับผู้หญิงในการก้าวสู่ตำแหน่งงานที่สังคมคุ้นเคยว่าผู้ชายมีบทบาทมากกว่า โดยริเริ่มออกแบบและดำเนินการโปรแกรม Female in Field Sales Incubation เพื่อปั้นผู้นำหญิงสู่การเป็นผู้จัดการเขต (District Manager) ภายในปี 2025

สำหรับในประเทศไทย DMHT มีนโยบายที่เปิดกว้างและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยบริษัทให้สิทธิ์พนักงานทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และ LGBTQIA+ ใช้สิทธิ์ลาคลอดได้ 26 สัปดาห์ พร้อมรับเงินเดือนเต็ม

สลัดภาพจำ…HR ยุคใหม่ต้องไม่ใช่ผู้คุมกฎ

หลังจากทำงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลมากว่า 2 ทศวรรษ รุ่งกานต์ยอมรับว่า ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย มีพนักงานจำนวนไม่น้อยรู้จักไม่ใกล้ชิดกับฝ่าย HR มากนัก หลายคนมีภาพจำว่าเเผนกนี้เป็น ‘ผู้คุมกฎ’ หรือ ‘ครูปกครอง’ เวลามีการเรียกคุยจะรู้สึกกังวลว่าตัวเองทำผิดอะไรหรือไม่ นี่คือความท้าทายที่ต้องเปลี่ยนเเปลงภาพลักษณ์เหล่านี้ให้ได้

“เราต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่าบทบาทของ HR คือ ‘เพื่อนร่วมงาน’ ที่มีหน้าที่ช่วยส่งเสริมพนักงานทุกคนให้มีพลังทำงานในทุกๆ ด้าน เรื่องของกฎระเบียบก็ยังจำเป็นต้องมี เเต่ HR ต้องใช้การสื่อสารรูปเเบบใหม่ให้เข้าถึงคนเเต่ละยุคสมัย” 

เธอยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการใช้หลัก Why’ คือ HR ต้องอธิบายให้ได้ว่า ‘ทำไม’ จึงต้องมีกฎนี้ ทำไมจึงต้องทำกิจกรรมนี้ ถ้าทำตามเเล้วจะมีผลอย่างไร ถ้าไม่ทำตามจะส่งผลอย่างไร เเม้บางครั้งจะเป็นกฎเดิมที่ใช้ต่อกันมาเป็น 10 ปี ก็ต้องปรับการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจในบริบทสังคมใหม่ด้วย 

ความยืดหยุ่น’ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ 

สำหรับเเนวทางการบริหารงานบุคคลของดิอาจิโอนั้น มีการประยุกต์เทคโนโลยีกับปรัชญามาใช้งาน HR ที่มีชื่อว่า ‘DIAGEO Flex Philosophy’ ให้อิสระพนักงานในการบริหารจัดการเวลาทำงานของตนเอง ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน หรือเข้างานตาม Office Hours เพียงสามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ตามเวลาที่กำหนด

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องให้พนักงาน Work from Home นั้น พบว่า พนักงานส่วนใหญ่ยังทำงานได้ตามปกติ แถม Productivity เพิ่มขึ้นอีก ใครเบื่อบรรยากาศทำงานที่บ้านจะมาทำงานที่ออฟฟิศก็ได้ บางคนชอบเริ่มงานตอนเช้า บางคนสายหน่อย หรือบางคนชอบทำงานตอนดึกๆ ก็สามารถจัดสรรเวลาเองได้

“หลักๆ คือเราให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าเวลาเข้างาน” 

โดยฝ่าย HR จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘สวัสดิการ’ ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและให้ตรงกับความต้องการของพนักงานมากที่สุด ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น เเต่ก่อนจะมีบริการคาเฟ่ในออฟฟิศ เเต่ช่วงโควิด-19 ต้องงดไปก่อน ก็จะมีการจัดข้อเสนออื่นๆ ให้เเทน

‘อัพสกิล’ ตามความชอบ 

ในด้านการพัฒนาทักษะ DMHT มุ่งเสริมสร้างทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นให้แก่พนักงานตามความสนใจด้านอาชีพของแต่ละคน โดยให้พนักงานสามารถเลือกสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของตนเองได้ สอดคล้องกับปรัชญาหลักของบริษัท นั่นก็คือ Celebrating Life, Every Day, Everywhere 

ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายการอบรมทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมการบริการ ให้ได้ 15,000 คนผ่านโครงการ Learning for Life ภายในปี 2030 ครอบคลุมนักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพการท่องเที่ยวและการบริการ ขยายการฝึกอบรมมาสู่บุคลากรในสายอาชีพการบริการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการต้องออกจากงาน หรือหยุดงานชั่วคราว รวมถึงคนในชุมชน บุคคลที่มีความจำเป็นและกลุ่มผู้ขาดโอกาสทางสังคม

นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมทักษะสำหรับบาร์เทนเดอร์ผ่าน Diageo Bar Academy เพื่อส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบในสังคม และการรับมือสถานการณ์ที่ท้าทายขณะทำงานในสายอาชีพ 

เหล่านี้เป็นไปตาม Brand Purpose ของดิอาจิโอที่ว่า ทำอย่างไรให้คนอยากเฉลิมฉลอง แต่ไม่ใช่การสนับสนุนให้คนดื่มจนขาดสติ เเต่ต้องดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ (Positive Drinking)

สำหรับเป้าหมายของประเทศไทย DMHT มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายหลักใน 3 ด้าน จะดำเนินการผ่านโครงการที่มีอยู่แล้วเพื่อความต่อเนื่อง ได้แก่

  • รณรงค์การดื่มอย่างรับผิดชอบ ผ่านโครงการ DRINKiQ และแพลตฟอร์ม Don’t Drink Drive E-Learning
  • ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านความหลากหลาย (Inclusion and Diversity)
  • สร้างความยั่งยืนในทุกขั้นตอนการผลิต (Grain to Glass Sustainability) ผ่านการนำเข้าสินค้าของดิอาจิโอที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากวัสดุรีไซเคิล ที่มีความปลอดภัยมาจำหน่ายในประเทศไทย และสานต่อโครงการรีไซเคิลขวดจอห์นนี่ วอล์กเกอร์หลังการบริโภค โดยการนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้

หลังจากประสบการณ์ HR มากว่า 20 ปี รุ่งกานต์มองว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่มองหาจากองค์กรมากที่สุด คือการเปิดกว้างทางความคิด ให้พวกเขาได้มีโอกาสเเสดงศักยภาพเเละรับฟังข้อเสนอเเนะโดยไม่ติดเรื่องอายุ พร้อมการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น

รวมถึงการสนับสนุนให้ทุกคนมี ‘Career Path’ เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ เเละมีความสุขในการใช้ชีวิต

ส่วนสิ่งที่องค์กรอยากได้จากคนรุ่นใหม่’ ก็คือความคิดสร้างสรรค์ พลังในการทำงาน เเพชชั่นที่จะเห็นความก้าวหน้าเเละการเปลี่ยนเเปลง…

 

 

]]>
1334079
งานหนักคร่าชีวิต 7 เเสนคนต่อปี ทำเกิน 55 ชั่วโมง/สัปดาห์ เสี่ยงตายโรคหัวใจ-หลอดเลือดสมอง https://positioningmag.com/1332677 Tue, 18 May 2021 09:05:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1332677 ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป ได้คร่าชีวิตผู้คนหลายเเสนคนต่อปี เเละยิ่งเลวร้ายลงไปอีกในช่วงโรคโควิด-19 โดยคนที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฝั่งแปซิฟิกตะวันตก ได้รับผลกระทบมากที่สุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Environment International ระบุว่า การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องทำงานทางไกล และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก เพิ่มความเสี่ยงให้ลูกจ้างมีชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้นตามไปด้วย

โดยการทำงานมากกว่า ’55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น 35% และเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงขึ้น 17% เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานสัปดาห์ละ 35-40 ชั่วโมง

ในปี 2016 ประชาชนกว่า 745,000 คน เสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกและโรคหัวใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทำงานยาวนานหลายชั่วโมง สูงขึ้นเกือบ 30% จากปี 2000

ผลวิจัยของ ILO พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบ 3 ใน 4 เป็นผู้ชายในวัยกลางคนหรือสูงอายุ หลายกรณีเสียชีวิตในช่วงบั้นปลายชีวิต 10 ปีให้หลังจากที่ทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน

โดยแรงงานที่ใช้ชีวิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก ตามนิยามของ WHO รวมจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้มากที่สุด

Photo : Shutterstock

นักวิจัย ชี้ว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งด้านสรีรวิทยาโดยตรงเเละก่อให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ยังส่งผลให้เเรงงานมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมทำลายสุขภาพ เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การนอนหลับน้อยลง ไม่มีเวลาออกกำลังกายและทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

การทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง ต้องยอมรับว่าการทำงานที่ยาวนาน อาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร” Maria Neira ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพของ WHO กล่าว

การทำงานทางไกล ประชุมออนไลน์ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากพิษไวรัส เร่งให้พนักงานต้องเเบกภาระงานหนักมากขึ้น WHO ประเมินว่า ประชาชนอย่างน้อย 9% มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่าเดิม

ในทางตรงกันข้าม การลดชั่วโมงการทำงานลงจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้างมากกว่า เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าจะช่วยให้ผลิตภาพของพนักงานเพิ่มขึ้น

ไม่มีงานใดที่คุ้มค่าจะเสี่ยงกับการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุข้อตกลงเพื่อปกป้องสุขภาพของเเรงงาน

 

ที่มา : BBC , Reuters 

 

 

]]>
1332677