นักธุรกิจ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 19 Dec 2023 07:22:30 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 หลายบริษัทลด “การเดินทางเพื่อธุรกิจ” ลงแม้หลังโควิด-19 ผ่านพ้น ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอน https://positioningmag.com/1456185 Tue, 19 Dec 2023 03:17:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1456185 เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทระดับโลก 217 แห่งลด “การเดินทางเพื่อธุรกิจ” ลงระหว่างปี 2019-2022 ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงได้อย่างน้อย 50% แม้หลังผ่านโควิด-19 การเดินทางเพื่อธุรกิจก็ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับการเดินทางเพื่อการพักผ่อน

แม้การเดินทางในโลกนี้จะฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก แต่หากเจาะลึกไปในกลุ่ม “การเดินทางเพื่อธุรกิจ” กลุ่มนี้ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากลูกค้าองค์กรจำนวนมากเปลี่ยนมาใช้ระบบประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน หรือเดินทางด้วยรถไฟแทนการขึ้นเครื่องบินซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า

Transport and Environment กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในทศวรรษนี้เราจำเป็นต้องลดการเดินทางเพื่อธุรกิจลง 50% เทียบกับก่อนโควิด-19 เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนลงให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส

รายงานวิเคราะห์จาก Travel Smart Emissions Tracker พบว่า บริษัทสากลหลายบริษัท เช่น SAP บริษัทเทคโนโลยี, PwC บริษัทที่ปรึกษา หรือ Lloyd บริษัทด้านการธนาคาร ทั้งหมดมีการลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางเพื่อธุรกิจลงได้มากกว่า 75% เทียบกับปี 2019

“หนทางในอนาคตคือจะต้องมีการประชุมออนไลน์ให้มากขึ้น เดินทางด้วยรถไฟมากขึ้น และลดการเดินทางด้วยเครื่องบิน” Denise Auclair ผู้จัดการแคมเปญรณรงค์ Travel Smart กล่าวในแถลงการณ์

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้พบด้วยว่ามี 21 บริษัทจาก 217 แห่งที่ “บิน” มากกว่าปี 2019 ไปแล้ว เช่น Marriott International, Boston Scientific, L3Harris บริษัทเหล่านี้มีการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยมากกว่าปี 2019 ถึง 69%

วิดีโอคอนเฟอเรนซ์กลายเป็นตัวเลือกทดแทนการเดินทางเพื่อธุรกิจ พบปะออนไลน์แทนการเจอตัวจริง

บรรดาสายการบินมองว่าการลดการบินเพื่อเดินทางธุรกิจอาจจะทำร้ายธุรกิจของพวกเขาและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่เนื่องจากกลุ่มนักเดินทางเพื่อการพักผ่อนกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลังโรคระบาด ทำให้สายการบินคลายความกังวลลง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีการสำรวจร่วมกันระหว่าง American Express Global Business Travel และ Harvard Business Review เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า 84% ขององค์กรมองว่าทริปการเดินทางเพื่อพบเจอตัวจริงกันนั้นยังสำคัญและมีคุณค่ากับธุรกิจ

สำหรับสายการบินอเมริกันในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดนั้น  การเดินทางเพื่อธุรกิจถือเป็นผู้โดยสารกลุ่มสำคัญ มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของรายได้สายการบิน เพราะสายการบินเหล่านี้สามารถขายที่นั่งแบบพรีเมียมที่ได้กำไรดีกว่าได้ และยังเติมที่นั่งในเที่ยวบินวันธรรมดาให้เต็มมากขึ้นได้ด้วย

ส่วนในทวีปยุโรป สายการบินใหญ่ เช่น Air France เริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์มาเสนอขายที่นั่งพรีเมียมให้กับนักเดินทางเพื่อการพักผ่อนทดแทนผู้โดยสารเชิงธุรกิจที่ลดลง

ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงผลดีผลเสีย เพราะบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการเดินทางเพื่อธุรกิจมองว่าเทรนด์นี้จะทำให้ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจของบริษัทต่างๆ อ่อนแอลง แต่กลุ่มนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมมองว่า เทรนด์นี้คือก้าวสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนของโลก

Source

]]>
1456185
ส่องโอกาส ‘นักลงทุนจีน’ เเห่ขนเงินบุกตลาดไทย หลังวิกฤต COVID-19 https://positioningmag.com/1313268 Thu, 07 Jan 2021 11:49:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313268 ความไม่เเน่นอนของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางโรคระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

โดยนักลงทุนจากประเทศจีน ถือเป็นกลุ่มใหญ่ลำดับต้นๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ มาดูกันว่าทิศทางของเม็ดเงินการลงทุนของจีนจะเป็นอย่างไร ธุรกิจที่น่าสนใจ ผู้ประกอบการชาวไทยต้องเตรียมตัว เเละมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมรับโอกาสการลงทุนในปี 2021 นี้

คาดจีน ‘ขนเงิน’ ลงทุนไทย หลัง COVID-19 

สำหรับภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักธุรกิจ SMEs ที่ปรับกลยุทธ์หันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อขยายตลาดในอาเซียน

หากย้อนไปในช่วง 5 ปีก่อน จะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนของจีนในไทยไม่ได้อยู่ในอันดับ 5 แต่ในปี 2561 ประเทศจีนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 เเทนที่ประเทศญี่ปุ่นที่เคยเป็นอันดับ 1 ในการลงทุนในตลาดไทย

มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ให้ข้อมูลว่า สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในปี 2562 มีมูลค่าการลงทุนสะสมรวมอยู่ที่
1.4
แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนในอาเซียนสัดส่วนประมาณ 11% และไทยมีสัดส่วนประมาณ 1% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2558 ที่มีสัดส่วนการลงทุนสะสมเพียง 0.3% เท่านั้น

แม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังค่อนข้างน้อย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น CLMV ที่มีสัดส่วนการลงทุนถึง 4% โดยเฉพาะการลงทุนในเวียดนามที่ค่อนข้างโดดเด่น สะท้อนว่าการลงทุนในไทยยังค่อนต่ำเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน เเต่ก็มองว่าส่วนนี้ยังสามารถขยายเพิ่มได้อีก

โดย SCB ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจีนขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 170 รายที่มีการลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับไทย พบว่า นักลงทุนกว่า 2 ใน 3 ให้ความสนใจที่จะขยายการลงทุนมายังไทยในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ราว 60% ยังเป็นกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน ถือว่าเป็นโอกาสใหม่ที่สำคัญ

เหตุผลหลักๆ คือ มองว่าไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีความพร้อมและตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่จะสามารถก้าวเป็นศูนย์กลางอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น ต่างจากในอดีตที่นักลงทุนจีนเคยมองว่า ประเทศไทยเป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น

อีกทั้ง ยังมีปัจจัยที่เอื้อให้การลงทุนไทยยังเติบโต จากนโยบายการลงทุนต่างประเทศของจีนที่น่าจะเปลี่ยนไปเพราะภัยโรคระบาด จากเดิมที่เคยมองการลงทุนในสหรัฐฯ เเละยุโรป ก็มีเเนวโน้มจะนำเงินทุนเหล่านั้นมาลงในประเทศ
เเถบอาเซียนเเละไทย ที่มีความรุนเเรงในการเเพร่ระบาดน้อยกว่า

จีนลุยเจาะธุรกิจ ‘บริการ’ ในไทย 

อุตสาหกรรมที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจเริ่มกระจายตัวมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออก และอุตสาหกรรมหนัก อย่าง การลงทุนในระบบรางขนส่ง รถไฟ ฯลฯ

แต่ในระยะหลังนักธุรกิจจีนเริ่มหันมาบุกตลาดไทยมากขึ้น ทั้งในภาคบริการ เทคโนโลยี สาธาณูปโภค โลจิสติกส์ ร้านอาหาร รวมไปถึงการตั้งสำนักงานทนายความรองรับนักธุรกิจจีนในไทย

จากเดิมเม็ดเงินลงทุนจากจีนจะมีขนาดใหญ่ราว 1,000 ล้านบาท เเละจำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมหลัก อย่าง ยางรถยนต์ ต่างจากตอนนี้ที่มีการกระจายการลงทุนมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนมีขนาดเล็กลง อาจเหลือเพียง 500 ล้านบาท แต่เราจะได้เห็นปริมาณโครงการลงทุนว่ามีมากขึ้นเกินความคาดหมาย

โดยพฤติกรรมของนักลงทุนจีน โดยเฉพาะ SMEs (ที่มีขนาดใหญ่กว่าในไทย) ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า จะใช้เงินลงทุนในช่วงแรกน้อยลง เพื่อเรียนรู้ตลาดก่อนขยายธุรกิจในอนาคตตามโอกาสและทิศทางการเติบโต โดยธุรกิจบริการและเทคโนโลยี จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของนักธุรกิจจีนที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อไป

ร้านอาหารจีน
Photo : Shutterstock

เเซงญี่ปุ่น จีนขึ้นเบอร์ 1 ดันเม็ดเงิน FDI ในไทย 5 หมื่นล้าน

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า ในปี 2564 GDP ทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ 5.4% ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ติดลบ 4.1%

โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เเละยุโรปจะฟื้นตัว แต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ขณะที่จีนยังเป็นมหาอำนาจใหญ่ชาติเดียวที่ยังเติบโตได้ แม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าก็ตาม

คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ 8.3% เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ที่ 5.4% ถือว่าเป็นโอกาสดีในการทำธุรกิจกับจีน

หากดูข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของโลก จากการประเมินของ UNCTAD ในปี 2564 พบว่า ยังมีแนวโน้มหดตัว -10% จากปี 2563 ที่หดตัวสูงถึง -30-40% หรือคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ที่มีเม็ดเงินลงทุน 2.04 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจาก COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์

เเต่จะเห็นว่าภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบน้อยสุด โดยเม็ดเงิน FDI หดตัว -12% เมื่อเทียบกับภูมิภาคยุโรปที่หดตัว -100% สะท้อนการควบคุม COVID-19 ได้ค่อนข้างดี

เมื่อเจาะลึกถึงการลงทุนในไทยของนักลงทุนจากจีน พบว่า ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน เเม้การยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะมีอัตราการหดตัว -19% แต่จะเห็นว่าการอนุมัติโครงการมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากการยื่นขอในช่วง 2-3 ปีก่อนทำให้มีเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาในไทยต่อเนื่อง

ปัจจุบันการขอส่งเสริมการลงทุนของจีน ขึ้นแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 1 แล้ว โดยมูลค่าเงินทุนที่ได้รับอนุมัติของจีนอยู่ที่ 5.15 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ 2.21 หมื่นล้านบาท

“ในปี 2563 จะเห็นว่าญี่ปุ่นยื่นขอส่งเสริมการลงทุน BOI มากที่สุด แต่จีนได้รับการอนุมัติการลงทุนมากที่สุด”

โดยต่อไป ไทยต้องเร่งในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ไปพร้อมๆ กับปัจจัยสนับสนุน อย่าง การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และต้องจับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยการที่สหรัฐฯ มีผู้นำคนใหม่เป็น “โจ ไบเดน” ก็จะเห็นทั้งนโยบายส่งเสริมและกีดกันทางการค้ามากขึ้น เเละโลกจะแบ่งเป็น 3 ขั้วอำนาจได้แก่ จีน สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา

โอกาสเเละความเสี่ยงที่ควรระวัง

มาณพ ระบุว่า การที่โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ CLMV นั้นต้องพึ่งพาจีนมากกว่าไทย เเละมีชายเเดนใกล้กัน ทำให้มีความสัมพันธ์กับนักลงทุนจีนมากกว่า เเต่ไทยก็ยังสามารถวาง ‘จุดเเข็ง’ ของตัวเองได้ ด้วยการเป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเเละเทคโนโลยีที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงความพร้อมเรื่องของบุคลากร ที่จะเป็นตัวต่อยอดกับนักธุรกิจจีนต่อไปได้

“เหตุผลนักลงทุนจีนเลือกมาที่ประเทศไทย เขาไม่ได้มองไปที่การประหยัดต้นทุนเป็นอันดับเเรก ซึ่งต่างกับการไปลงทุนที่ใน CLMV ที่มักจะพิจารณาถึงต้นทุนที่ต่ำกว่า”

สำหรับข้อดีที่เป็นโอกาสต่อไป คือ นักธุรกิจจีนกำลังจะเข้ามาในลงทุนในไทยมากกว่าทุกวันนี้ เเละกระจายตัวไปในหลายภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อตีตลาดไทย หาช่องทางการตลาดโดยตรงเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจไทย

เหล่านี้เป็นโอกาสของนักธุรกิจไทย ที่จะเข้าไปเป็น “พันธมิตรร่วมทุน” หรือจับมือการค้าต่างๆ รวมไปถึงการให้บริการหรือขายบริการให้กับนักธุรกิจจีนที่มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ดังนั้น จึงต้องเตรียมการทำเข้าใจนักธุรกิจจีนมากขึ้น เพราะคนจีนจากเเต่ละภูมิภาค เเต่ละมณฑลก็มีลักษณะการทำธุรกิจที่เเตกต่างกัน นักธุรกิจจากบริษัทขนาดใหญ่เเละขนาดเล็กก็เเตกต่างกัน เป็นช่องทางที่เราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านกฎระเบียบของไทย ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของตลาดไทยมากขึ้น

Photo : Shutterstock

ด้าน “ความเสี่ยง” ที่ต้องระมัดระวังนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าเเต่เดิมจีนวางว่าไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก จึงไม่ค่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจบ้านเราเท่าไหร่ ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อดีมานด์-ซัพพลาย เเต่ปัจจุบันเมื่อนักธุรกิจจีนเลือกที่จะเข้ามาตีตลาดไทยเอง ก็ทำให้สมการการเเข่งขันเปลี่ยนเเปลงไป

อีกทั้งนักธุรกิจจีนยังมาพร้อมกับเงินทุน ต้นทุนที่ต่ำกว่า เเละเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า ตลอดจนวิธีการทำงานของนักธุรกิจจีนบางรายก็มีความก้าวร้าวมากกว่านักธุรกิจชาติอื่นๆ เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องทำความเข้าใจให้รอบคอบ

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเเบรนด์จีนขยับขึ้นมามีชื่อเสียงระดับโลกเพิ่มขึ้นมาก สินค้ามีคุณภาพ มีการดีไซน์สินค้า นำไปสู่การเเข่งขันในตลาดที่ดุเดือดมากขึ้น ดังนั้นนักธุรกิจไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ รวมถึงการหาแนวทางเป็นคู่ค้ากับนักธุรกิจจีนเพื่อรับกระเเสเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนต่อไป” 

 

]]>
1313268
“ญี่ปุ่น” เดินหน้าปลดล็อกเศรษฐกิจ ยกเลิกกักตัวนักธุรกิจ และคนกลับจากต่างประเทศ https://positioningmag.com/1300936 Fri, 09 Oct 2020 14:40:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300936 รัฐบาลญี่ปุ่นจะพิจารณางดเว้นข้อกำหนดกักตัวดูอาการโรค COVID-19 สำหรับผู้เดินทางด้านธุรกิจ และผู้มีสถานะพำนักในญี่ปุ่นที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ยกเว้นนักท่องเที่ยวและผู้ไม่เคยมีวีซ่าระยะยาวในญี่ปุ่นมาก่อนจะต้องกักตัวเหมือนเดิม

โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกฯญี่ปุ่น ระบุว่า การกักตัว 14 วันเป็นอุปสรรคสำคัญในการติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศ การยกเลิกข้อกำหนดนี้จะช่วยฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

การพิจารณาผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางเข้าประเทศจะมีขึ้นภายในเดือนนี้เป็นอย่างเร็ว โดยจะนำมาใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และในช่วงแรกจะจำกัดจำนวนของผู้ที่จะได้รับการงดเว้นในแต่ละวัน

นักธุรกิจและผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศจะต้องยื่นแผนกิจกรรมในญี่ปุ่น โดยระบุว่ามีแผนจะไปเยือนที่ใด รวมทั้งระบุสถานที่พัก สถานที่ทำงาน นอกจากนี้จะไม่สามารถใช้ขนส่งสาธารณะเป็นเวลา 14 วันหลังจากมาถึงญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ถือสถานะผู้พำนักอาศัยระยะกลางและระยะยาว (วีซ่า 90 วันขึ้นไป) เดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม แต่นักท่องเที่ยวทั้งหมดยังไม่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ในขณะนี้ โดยคาดว่าญี่ปุ่นจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศได้ราวเดือนเมษายนปีหน้า โดยมีข้อกำหนดว่าต้องตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19

ญี่ปุ่นยังกลับมาเปิดการเดินทางเพื่อธุรกิจให้แก่เกาหลีใต้และสิงคโปร์ เพิ่มเติมจากหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย ที่เปิดการเดินทางของกลุ่มธุรกิจ ครอบครัว และผู้ที่ทำงานในญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้

รัฐบาลญี่ปุ่นจะพิจารณาที่จะปรับลดระดับการเตือนการเดินทางให้บางประเทศ และดินแดนที่อยู่ในระดับ 3 คือหลีกเลี่ยงการเดินทางทั้งหมดมาเป็นระดับ 2 คือหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่สำคัญจำเป็นนอกจากนี้ ก็ยังมีแผนที่จะยกเลิกการห้ามเข้าประเทศให้แก่ผู้คนจากกลุ่มประเทศ และดินแดนเหล่านี้ด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่นหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และฟื้นการเดินทางระหว่างประเทศ ด้วยการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ไปพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 ตามท่าอากาศยานต่างๆ

Source

]]>
1300936