วงใน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 06 Aug 2020 09:23:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ เตรียมรับตำแหน่งซีอีโอ ‘LINE MAN Wongnai’ https://positioningmag.com/1291313 Thu, 06 Aug 2020 05:32:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291313 ถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการสตาร์ทอัพของไทยเลยทีเดียว เมื่อ ‘วงใน’ (Wongnai) แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ ได้ถูก ‘ไลน์แมน’ (LINE MAN) แพลตฟอร์ม on-demand ส่งอาหารและส่งของของ ‘LINE’ เข้าควบรวมกิจการในมูลค่า 3,300 ล้านบาท หลังจากที่ได้งบลงทุนจากบริษัท BRV Capital Management (BRV)

ล่าสุด LINE คอร์ปอเรชั่น ประกาศเลือก ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ ผู้ก่อตั้งวงในให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ บริษัท LINE MAN Wongnai บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างไลน์แมนและวงในแพลตฟอร์ม โดยจะมีผลในช่วงเดือนกันยายน 2563 โดย ‘ยอด’ จะรับหน้าที่บริหารจัดการธุรกิจและการปฏิบัติการต่าง ๆ ของบริษัท

“คุณยอด ชินสุภัคกุล เป็นผู้ที่เข้าใจในธุรกิจ O2O อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะด้านฟู้ดเดลิเวอรี ่LINE MAN Wongnai ภายใต้การบริหารของคุณยอด จะเป็นบริษัทที่สร้างโดยคนไทย บริหารโดยคนไทย และดำเนินงานเพื่อคนไทย ซึ่งจะสามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ น่าตื่นเต้นและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง” อึนจอง ลี หัวหน้าฝ่ายบริหารธุรกิจ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น กล่าว

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า “การผนึกกำลังของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างอีโคซิสเต็ม Online-to-offline ที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับทั้งร้านอาหารและผู้ใช้ สามารถสร้างคุณค่าให้กับทุกฝ่ายในธุรกิจ LINE MAN Wongnai เป็นบริษัทที่ก่อตั้งและบริหารโดยคนไทย ด้วยความเข้าใจเรื่องอาหารการกินของคนไทยอย่างแท้จริง เรามั่นใจว่านี่จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับเราที่จะดำเนินธุรกิจที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทย และธุรกิจไทยในประเทศไทยเช่นเดียวกัน”

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ ยอด ชินสุภัคกุล ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Wongnai ได้เคยรับตำแหน่งเป็น Support Manager ที่ Thomson Reuters ยอดจบการศึกษา MBA จาก UCLA Anderson School of Management ในปี 2010 และด้าน Computer Engineering จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2004

]]>
1291313
‘LINE MAN’ ควบรวม ‘Wongnai’ หลังได้เงินทุน 3,300 ล้านบาท https://positioningmag.com/1290132 Thu, 30 Jul 2020 08:48:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290132 อยู่คู่คนไทยมาถึง 10 ปีสำหรับ ‘Wongnai’ (วงใน) สตาร์ทอัพสัญชาติไทยเจ้าของแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ ที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 400,000 ร้านทั่วไทย และมีผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายต่อเดือน กำลังจะถูก ‘LINE MAN’ (ไลน์แมน) แพลตฟอร์ม on-demand ที่ส่งอาหารและส่งของของ ‘LINE’ ควบรวม

ย้อนไปเมื่อปี 2559 LINE MAN ได้ประกาศดึงเอา Wongnai มาเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนบริการ ‘ส่งอาหาร’ เนื่องจากความแข็งแรงของฐานข้อมูลร้านอาหารของ Wongnai ที่มีกว่า 4 แสนร้านทั่วไทย ดังนั้น LINE MAN ไม่จำเป็นต้องไปหาร้านอาหารเพื่อดึงมาเป็นพันธมิตรเอง ส่วน Wongnai เองก็พร้อมจะให้บริการด้าน O2O (Online-to-Offline) เชื่อมต่อบริการในชีวิตประจำวันกับผู้บริโภค ไม่ใช่แค่หาร้านอาหาร แต่สามารถสั่งผ่าน Wongnai ได้เลย ซึ่งถือว่าเป็นดีลที่ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย

แต่ดูเหมือนว่า การเป็นพันธมิตรอาจจะไม่มากพอสำหรับการเติบโตของ LINE MAN อีกต่อไป ล่าสุด LINE MAN ได้บรรลุข้อตกลงด้านเงินลงทุนมูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,300 ล้านบาท) จากบริษัท BRV Capital Management (BRV) เพื่อใช้ในการควบรวมกิจการ Wongnai ทั้งนี้ เงินทุนดังกล่าวนับเป็นการรับเงินทุนครั้งแรกสำหรับธุรกิจดาวรุ่งในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศของ LINE Group ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของ LINE MAN ในประเทศไทย และความพร้อมในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคต

 

 

ปัจจุบัน LINE MAN มีผู้ใช้กว่า 3 ล้านรายต่อเดือน ผ่าน 6 บริการ ประกอบด้วย ฟู้ดเดลิเวอรี่, บริการซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ต, แมสเซนเจอร์, ส่งพัสดุ, เรียกแท็กซี่ และบริการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ โดยปัจจุบันมีพันธมิตรร้านอาหารมากกว่า 100,000 ร้านค้าทั่วกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด อาทิ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี – เมืองพัทยา และ เชียงใหม่ โดยวางแผนที่จะขยายพื้นที่การให้บริการในประเทศไทยให้ครอบคลุม 15 จังหวัดภายในปีนี้

อึนจอง ลี หัวหน้าฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า การลงทุนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทที่ควบรวมใหม่และต่อยอดการพัฒนาในช่วงที่ธุรกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดประเทศไทย

“นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อ 4 ปีก่อน LINE MAN ได้เติบโตจนกลายเป็นแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ยอดนิยมสำหรับคนไทย และนับจากนี้ เงินลงทุนที่ได้รับจาก BRV จะช่วยผลักดันให้ LINE MAN สามารถเติบโตขึ้นไปอีกขั้น”

อึนจอง ลี หัวหน้าฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น

งานนี้คงต้องจับตาดูกันไปยาว ๆ ว่าหลังจากที่ควบรวมเเล้ว LINE MAN และ Wongnai จะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน เพราะ Wongnai เองไม่ได้เป็นเเค่เเพลตฟอร์มสำหรับหาข้อมูลและดูรีวิวร้านอาหาร แต่มีการเเตกไปยังไลฟ์สไตล์ด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน สุขภาพ, ความงาม, สอนทำอาหาร, ท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีบริษัทในเครืออย่าง Blongnone และ Brand Inside เว็บไซต์ข่าวสาร อีกทั้งยังมีระบบจัดการร้านอาหาร (Restaurant Solutions) ให้เจ้าของธุรกิจอีกด้วย

]]>
1290132
สรุป 3 ข้อสำคัญในการบริหาร “พนักงาน” ช่วง COVID-19 จาก “Wongnai” และ “ไมเนอร์” https://positioningmag.com/1278124 Tue, 12 May 2020 12:50:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1278124 การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ท้าทายองค์กรในทุกมิติ รวมถึงการบริหาร “พนักงาน” ในบริษัทด้วย เพราะสถานการณ์ไม่ปกติทำให้การทำงานต้องเปลี่ยนไปจากเดิม และอาจเกิดความไม่มั่นคงของบริษัททำให้พนักงานหวั่นกลัว จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญที่ทุกบริษัทควรใส่ใจกับ “คน” ของตนเองให้มากที่สุด

SkillSolved บริษัทเอเจนซีจัดหาบุคลากร จึงชวน บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด (Wongnai) และ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มาร่วมพูดคุยถึงการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรช่วง COVID-19 ระบาดเป็นกรณีศึกษา โดยมี “อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์” Head of People จากวงใน , “ภาณุวัฒน์ เบ็ญเราะมาน” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล จากไมเนอร์ ฟู้ด และ “เทียนธันย์ ณีศะนันท์” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ SkillSolved Recruitment ร่วมให้ข้อมูลในอีเวนต์เสวนาออนไลน์เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 63

การสื่อสารสำคัญที่สุด

สิ่งแรกที่ทุกคนในเวทีเสวนาเห็นตรงกันว่ามีความสำคัญในการจัดการด้านการบริหารบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ คือ “การสื่อสาร”

อานนทวงศ์กล่าวถึงกรณีของวงในก่อนว่า บริษัทมีพื้นฐานการบริหารบุคลากรในแนวทางสตาร์ทอัพที่พนักงานจะใกล้ชิดกับผู้บริหาร แม้ว่าวันนี้วงในจะขยายใหญ่จนมีพนักงาน 300-400 คนแล้วก็ตาม แต่การสื่อสารองค์กรยังใช้แนวทางเดิม คือเป็นการสื่อสารโดยตรง จากผู้บริหารคือ “ยอด ชินสุภัคกุล” ซีอีโอวงใน

ตั้งแต่เริ่มเกิดสถานการณ์ COVID-19 ระบาด วงในมีการสื่อสารรายวันเกี่ยวกับความปลอดภัย และซีอีโอมีการเขียนจดหมายถึงพนักงานผ่านทางอีเมลไปแล้ว 8 ฉบับ เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ที่บริษัทกำลังเผชิญ บริษัทกำลังทำอะไรบ้าง และขอให้ทุกคนช่วยกัน รวมถึงเมื่อมีการตัดสินใจที่กระทบเชิงลบ เช่น การตัดงบค่าใช้จ่าย ยอดจะเปิดวิดีโอคอลตรงกับพนักงานบริษัท เพื่อให้เป็นการสื่อสารสองทาง

“ควรเป็นวิดีโอคอลเพราะจะเห็นสีหน้า อารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด ไม่แห้งเหมือนการเขียนอีเมล และวิดีโอคอลยังทำให้พนักงานที่มีคำถามสามารถถามตอบได้ทันที พนักงานที่รู้สึกไม่ดีจะมีช่องทางพูดคุย แน่นอนว่าจะยังมีคนที่รู้สึกไม่ดี นั่นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็พยายามลดช่องว่างระหว่างกันให้มากที่สุด” อานนทวงศ์กล่าว

ด้านภาณุวัฒน์จากเครือไมเนอร์ บริษัทผู้บริหารเชนร้านอาหาร เช่น พิซซ่า คอมปะนี, แดรี่ควีน, เดอะ คอฟฟี่ คลับ ฯลฯ กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนในจีนด้วย ทำให้ทราบสถานการณ์จากทีมงานในจีนที่เกิดโรคระบาดก่อน ดังนั้นจึงมีโมเดลต้นแบบว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในไทย ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาสื่อสารต่อในองค์กร

บอนชอน : เชนร้านอาหารที่ไมเนอร์ปิดดีลซื้อสำเร็จเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเรื่องที่ไมเนอร์ ฟู้ดกำลังให้ความสำคัญคือ “New Normal” จากเคสที่ประเทศจีน หลังจากผู้บริหารรับทราบสถานการณ์แล้วจะนำมาสื่อสารต่อกับพนักงาน ในรายการ “Live สาระ” ผ่านระบบ MS Teams เพราะบริษัทมองว่า New Normal เหล่านี้จะเป็นความท้าทายใหม่ของบริษัท และบริษัทจะมีการส่งเสริมพนักงานให้ปรับตัว ทำให้ต้องให้ความรู้ความเข้าใจตั้งแต่วันนี้

ด้านเทียนธันย์สรุปประเด็นการสื่อสารว่า เป็นสิ่งแรกๆ ที่องค์กรต้องทำเพื่อบริหารบุคลากร ยิ่งในช่วงวิกฤตมีความจำเป็นที่ต้องพูดถึงสถานการณ์จริงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

“การสื่อสารอาจไม่ใช่การบอกเรื่องที่ดีตลอดเวลา บางครั้งการบอกสถานการณ์จริงนั้นสำคัญกว่า” เทียนธันย์กล่าว

การสื่อสารอาจไม่ใช่การบอกเรื่องที่ดีตลอดเวลา บางครั้งการบอกสถานการณ์จริงนั้นสำคัญกว่า

แคร์พนักงานจากใจจริง

ประเด็นต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลพนักงานทั้งกายและใจ ดูแลทั้งความปลอดภัยจากโรคระบาด และแสดงออกถึงความใส่ใจในแง่จิตใจด้วย

ในแง่ความปลอดภัยจากโรค ทั้งวงในและไมเนอร์ ฟู้ดมีนโยบาย ทำงานจากบ้าน (Work from Home) ไปแล้วตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม โดยวงในยังทำงานจากบ้านทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นทีมที่ยังต้องไปเยี่ยมร้านอาหาร ส่วนไมเนอร์ ฟู้ด มีการแบ่งเป็น 2 ทีมเพื่อสลับกันเข้าออฟฟิศแล้ว แต่มีการจัดออฟฟิศใหม่ให้โต๊ะห่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร รวมถึงมีนโยบายสวมหน้ากากอนามัยระหว่างการประชุม

นโยบายให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัยของเบอร์เกอร์ คิง ในเครือไมเนอร์

ส่วนในแง่จิตใจ ภาณุวัฒน์กล่าวว่า สถานการณ์นี้ทำให้บริษัทต้องโยกย้ายพนักงานจากร้านที่มียอดขายต่ำไปอยู่ในร้านยอดขายสูง เช่น บอนชอน ซึ่งมีการขยายสาขาเพิ่ม และพนักงานบางกลุ่มต้องทำงานหนักขึ้น เช่น ทีมเดลิเวอรี่ ดังนั้นบริษัทจึงให้ผู้บริหารอัดคลิปสั้นๆ ส่งถึงพนักงานระดับปฏิบัติการเพื่อขอบคุณความเสียสละ โดยบริษัทไม่เคยมีการสื่อสารลักษณะนี้มาก่อน

ฟากวงใน มีเดียมีสถานการณ์ที่สาหัสกว่า เพราะต้องรัดเข็มขัดทุกทางจนมีผลกระทบถึงตัวพนักงานคือ การลดสวัสดิการและการตัดเงินเดือน แต่ซีอีโอยังยืนยันว่าไม่มีการเลย์ออฟ อานนทวงศ์กล่าวเชื่อมโยงกับประเด็นการสื่อสารว่า สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่าบริษัท “แคร์” พนักงาน การตัดสินใจปรับลดค่าใช้จ่ายบริษัทต้องมีเหตุผลรองรับว่าได้ตัดส่วนที่ไม่สำคัญไปก่อนแล้ว ก่อนจะมาถึงสิ่งที่กระทบกับพนักงานโดยตรง

เทียนธันย์กล่าวสรุปว่า อย่างไรก็ตาม การแสดงออกถึงความแคร์พนักงานเป็นสิ่งที่ต้องสร้างรากฐานมาก่อนหน้านี้จึงจะมีประสิทธิภาพ และเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะการตัดสินใจลดเงินเดือนหรือเลย์ออฟคนจะมีผลกระทบระยะยาว เนื่องจากในอนาคตเมื่อองค์กรกลับมายืนได้ใหม่และต้องการคนเพิ่ม ต้องมีพื้นฐานชื่อเสียงที่ดีเกี่ยวกับการบริหารพนักงานจึงจะมีคนต้องการร่วมงานด้วย

สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

ข้อนี้เป็นเรื่องการบริหารทีมให้ยังรู้สึกใกล้ชิดกัน โดยยกกรณีของไมเนอร์ ฟู้ด ที่นอกจากมีการทำ Live สาระ เป็นประเด็นสาระความรู้แล้ว ยังจัดกิจกรรมไลฟ์สไตล์ออนไลน์ในช่วงที่ต้อง Work from Home ด้วย เช่น จัดให้พนักงานรีวิวการทำอาหารหรือการออกกำลังกายจัดโปรแกรม Minor Got Talent และ TikTok Challenge ประกวดผ่าน MS Teams ซึ่งมีพนักงานทุกระดับเข้าร่วมรวมถึง C-level องค์กร โดยคลิปที่ชนะ TikTok Challenge บริษัทจะนำไปเผยแพร่ใน TikTok จริงๆ

“เราทำทั้งหมดนี้เพื่อให้คน Work from Home ได้โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว” ภาณุวัฒน์กล่าว

ทั้ง 3 ข้อคือสิ่งที่องค์กรต่างๆ ควรนำไปปรับใช้ เพราะช่วงเวลาวิกฤต COVID-19 คือบทพิสูจน์การบริหารอย่างแท้จริงว่าบริษัทไหนที่ “แคร์พนักงาน” และต้องการ “รอดไปด้วยกัน”

]]>
1278124
เปิดใจ “ยอด ชินสุภัคกุล” วันที่ COVID-19 เป็นพายุลูกใหญ่ของทั้ง Wongnai และร้านอาหาร https://positioningmag.com/1276405 Thu, 30 Apr 2020 16:18:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1276405 พาไปพูดคุยกับ “ยอด ชินสุภัคกุล” บอสใหญ่แห่ง “Wongnai” ที่วันนี้เจอพายุลูกใหญ่ที่ชื่อว่า COVID-19 ส่งผลกระทบทั้งในแง่ของธุรกิจ และพาร์ตเนอร์คนสำคัญก็คือ “ร้านอาหาร” กลายเป็นศึกใหญ่ที่ต้องฝ่าวิกฤตธุรกิจ และพาร้านอาหารในไทยรอดไปด้วยกัน

ยอมหั่นเงินเดือน ลดค่าใช้จ่ายบริษัท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกะรทบไปทั่วโลกในตอนนี้ เรียกว่าสร้างความเสียหายทางด้านร่างกาย และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในประเทศไทยเองได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งการล็อกดาวน์ และการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ทุกธุรกิจต้องหยุดชะงักกันตามๆ กัน

วันนี้ Positioning ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ยอด ชินสุภัคกุล” CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม วงใน (Wongnai) แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ที่เติบโตจากการรีวิวอาหาร และได้ต่อยอดไปยังไลฟ์สไตล์อื่นๆ ทั้งท่องเที่ยว บิวตี้ และทำอาหาร

วงในไม่ต่างกับธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งต้องฝ่าวิกฤตของทั้งบริษัทตัวเอง และช่วยพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านอาหารให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน แต่ด้วยความที่ Culture ขององค์กรเป็นสตาร์ทอัพที่คิดเร็ว ทำเร็ว ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการปรับตัวครั้งนี้

ยอดบอกว่า มาตรการเบื้องต้นของบริษัทในตอนนี้คือ “ลดค่าใช้จ่าย” เป็นนโยบายที่หลายองค์กรเริ่มใช้แล้วเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเงินเดือนพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง ปรัยลดสวัสดิการของพนักงานต่างๆ แต่ยืนยันไม่ปลดพนักงาน

“ตอนนี้ทุกวงการได้รับผลกระทบหมด วงในมีทั้งสื่อ และงานอีเวนต์ ก็ได้รับผลกระทบทั้ง 2 ส่วน เพราะสปอนเซอร์หาย แบรนด์ชะลอการใช้จ่าย ตอนนี้ได้มีมาตรการปรับลดเงินเดือนบางส่วน ลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง ลดสวัสดิการของพนักงาน ตัดงบการตลาดเหลือศูนย์ จากปกติที่ใช้หลักหลายล้าน”

การปรับลดเงินเดือนของวงในมีเป็นขั้นบันได และเบื้องต้นได้ลดเป็นเวลา 2 เดือนก่อน ตัวของยอดเองยอมลดเงินเดือน 50% ระดับเมเนจเมนต์ลด 30% และพนักงานทั่วไปลด 20% มีการปรับลดสวัสดิการอย่างอาหารกลางวัน เบิกค่ารถ ค่า และกิจกรรมอื่นๆ และให้พนักงาน Work from Home

โดยปกติแล้ววงในจะมี Core Value ที่เรียกง่ายๆ เหมือนค่านิยมองค์กร 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ Impact, Grit, Speed และ Flexible เพื่อสะท้อนการทำงานของคนรุ่นใหม่ แต่เมื่อเกิดวิกฤตครั้งนี้ ได้มีการเปลี่ยน Core Value เป็น “ออกศึก” เพียงคำเดียวเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้พนักงานสู้ไปด้วยได้

พร้อมกับกำหนดวลี และคำย่อใหม่ว่า #สปดกรจรกม แปลว่า “สู้ไปด้วยกันเราจะรอดกันหมด”

ปรับคอนเทนต์ตามสถานการณ์

นอกจากการมีมาตรการเรื่องลดค่าใช้จ่ายแล้ว ในเรื่องการทำงานก็ต้องปรับครั้งใหญ่ เพราะ COVID-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีการเสพสื่อ เสพคอนเทนต์อย่างสิ้นเชิง

ธุรกิจหลักของวงในก็คือการทำสื่อ การทำคอนเทนต์ต่างๆ ที่วันนี้มีแตกไลน์ออกมาทั้ง Wongnai Beauty, Wongnai Travel และ Wongnai Cooking เมื่อวิถีชีวิตของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลง ไปทานอาหารเหมือนเดิมไม่ได้ เดินศูนย์การค้าก็ไม่ได้ ท่องเที่ยวก็ไม่ได้ การทำคอนเทนต์ของวงในก็ต้องมีการปรับใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์

“ด้านคอนเทนต์มีการปรับใหม่ ทำแบบเดิมไม่ได้เพราะคนไม่สนใจ สำหรับอาหารต้องมาดูว่าคนใช้ชีวิตอย่างไรในตอนนี้ รวมถึงทำคอนเทนต์ช่วยเหลือร้านอาหารด้วย ร้านมีการปรับตัวอย่างไร มีโปรดักต์อะไรใหม่ๆ รวมถึงทำ Unbox สำหรับเดลิเวอรี่ ส่วนของบิวตี้มาทำคอนเทนต์พวกออกกำลังกายอยู่ที่บ้าน แต่ท่องเที่ยวจะกระทบหนัก ก็หยุดทำหมดเลย แต่คอนเทนต์ทำอาหารคนยังสนใจอยู่ เพราะคนอยู่บ้านกัน”

ทำให้มีการ Rotation ตำแหน่งงานกันภายในชั่วคราว ย้ายทีม หรือตำแหน่งที่ทำหน้าที่เดิมไม่ได้ ไปช่วยทีมอื่น ที่ผ่านมีการโยกตำแหน่งเป็นร้อยคนแล้ว เป็นการปรับเรื่องการทำงานภายในให้คล่องตัว

ต้องพาร้านอาหารรอดไปด้วยกัน

“ร้านอาหารกระทบหนักกว่า ข้อมูลจาก Wongnai POS ของเราพบว่า ร้านอาหารยอดขายหายไป 80%”

เป็นข้อมูลที่หลายคนรู้อย่างดี เพราะร้านอาหารเปิดให้บริการแบบปกติไม่ได้ วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ไม่สามารถให้บริการแบบนั่งทานที่ร้านได้ ต้องซื้อกลับบ้าน หรือแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น ทำให้ร้านอาหารต้องประสบวิกฤตอย่างหนัก บางเจ้าต้องหากลยุทธ์หนีตายเพื่อให้ร้าน และพนักงานอยู่ ความท้าทายของวงในจึงต้องทำให้ร้านอาหารในไทยอยู่รอดไปด้วยกัน

ยอดบอกว่าร้านอาหารกลุ่ม Fine Dining ร้านที่ต้องอาศัยกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงร้านชาบู ปิ้งย่าง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ในการนั่งทานที่ร้าน แต่ก็พบว่าในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการทำโปรโมชั่นซื้อชาบูแถมหม้อให้เห็นบ้างแล้ว ก็ทำให้มียอดขายกลับมาบ้าง

“ทางรอดของร้านอาหารในตอนนี้ ต้องลดรายจ่าย เพราะรายได้ไม่เท่าเดิมอีกต่อไป และร้านปรับตัวให้เร็ว ตอนนี้เดลิเวอรี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ต้องปรับเมนูให้เหมาะเดลิเวอรี่มากที่สุด”

แต่ถึงแม้ว่าเดลิเวอรี่จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่สามารถทดแทนได้แค่ 30% เท่านั้น อีกทั้งเรื่องการใช้จ่ายต่อครั้งก็ต่างกัน ด้วยพฤติกรรมคนไทย ถ้าไปทานอาหารที่ร้านยอมจ่ายหัวละ 500 บาทได้ ได้ทานอาหารครบทั้งคาวหวาน แต่กับช่องทางเดลิเวอรี่คนยอมจ่ายเฉลี่ย 150 บาท เป็นเรื่องของประสบการณ์ล้วนๆ

เดลิเวอรี่โตสุด แต่กำไรแสนบาง

นอกจากธุรกิจสื่อ วงในยังมีกลุ่มธุรกิจ POS เป็นผู้ช่วยให้กับร้านอาหาร และยังมีธุรกิจเดลิเวอรี่ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทาง LINE MAN และ Lalamove เป็นผู้บุกเบิกตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยก็ว่าได้

ในวิกฤตนี้ตลาดเดลิเวอรี่เติบโตสูงสุดในบรรดาทุกธุรกิจ แต่กลายเป็นว่าธุรกิจนี้กลับไม่มีกำไรมากมายขนาดนั้น เพราะด้วยการแข่งขันอันดุเดือดในตลาดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

LINE MAN ได้เปิดตลาดมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่การแข่งขันของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เริ่มมีให้เห็นอย่างดุเดือดเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นเจ้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดทั้ง GrabFood, Food Panda และ GET ซึ่งทำให้ตลาดแข่งกันด้วย “ค่าส่ง” ที่แสนถูก เริ่มต้นเพียงแค่ 10 บาท เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ใช้งาน แต่ส่วนทางกับต้นทุน

แน่นอนว่าการตัดราคาเรื่องค่าส่ง ทำให้กลไกตลาดผิดเพี้ยน เพราะจริงๆ แล้วตลาดเดลิเวอรี่ต้องมีการคิดค่าส่งตามระยะทางของลูกค้า การแข่งขันแบบนี้เป็นการ “สปอย” ผู้บริโภค เมื่อทางแพลตฟอร์มเก็บค่าส่งกับลูกค้าในราคาถูกที่ 10 บาท แพลตฟอร์มก็ต้องมาเก็บรายได้จากทางร้านในรูปแบบของค่า GP หรือค่าธรรมเนียมร้านค้าในอัตรา 25-30%

เมื่อดูข้อมูลตลาดในต่างประเทศในตลาดใหญ่ๆ อย่างเกาหลี หรือสหรัฐอเมริกา จะมีการต่อสู้กันราวๆ 2-3 ปี จนถึงจุดหนึ่งที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ทั้งแพลตฟอร์ม ร้านค้า และลูกค้า ค่าส่งอาจจะเพิ่มขึ้น และลด GP ร้านค้าลง

ยอดได้พูดถึงประเด็นดราม่าที่ว่าแพลตฟอร์มมีการเก็บค่า GP ที่แพง “เราอยากช่วยร้านอาหารจริงๆ ช่วยโดยที่ไม่ตาย แต่ถ้าเราลดค่า GP เราตายก่อน เพราะแพลตฟอร์มไม่ได้มีกำไร อาจจะสามารถลดค่า GP ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า หลังจากที่ผ่านการแข่งขัน แล้วตลาดมีความลงตัว ตอนนี้เอาตัวรอดให้ได้ก็เก่งแล้ว”

สุดท้ายยอดได้พูดถึงวิกฤตครั้งนี้ไว้ว่า “ครั้งนี้เป็นผลกระทบที่หนักจริงๆ หาคนที่ไม่กระทบน้อยมาก เราเป็นสตาร์ทอัพก็เหนื่อย อยากให้ทุกคนต้องดูเรื่องกระแสเงินสดให้ดี ต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้ ตอนนี้ยังไม่รู้วิกฤตจะจบเมื่อไหร่ ต้องแข่งกันดำน้ำ ใครไม่ไหวตายไปก่อน”

สำหรับ 3 กิจกรรมที่ยอดอยากทำมากที่สุด หลังจากหมดวิกฤต COVID-19 ได้แก่ ไปทานอาหารร้านที่จองยากๆ อย่างร้าน “มหาสาร” ไปเที่ยวต่างจังหวัด และปาร์ตี้กับเพื่อน

]]>
1276405
‘วงใน’ เผย ร้านอาหาร ‘Go ออนไลน์’ ทะลุ 1.5 หมื่นร้าน เติบโต 5 เท่าใน 1 สัปดาห์ https://positioningmag.com/1271574 Fri, 03 Apr 2020 07:22:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1271574 ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมเป็นต้นมา ที่มีการออกประกาศมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยให้ร้านอาหารเปิดขายเฉพาะนำกลับบ้านเท่านั้น ตัวเลขร้านอาหารที่เปิดหน้าร้านออนไลน์ และเปิดขายเดลิเวอรีบน LINE MAN ผ่าน Wongnai Merchant App (WMA) ทะลุ 15,000 ร้าน (เฉพาะ 22-31 มี.ค.) ซึ่งสูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 3-5 เท่า โดยมีจำนวนร้านที่สมัครใหม่เพิ่มขึ้นมากถึง 2,000 ร้านต่อวัน

“ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีร้านอาหารจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากและเร่งปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ โดย Wongnai เองได้ปล่อยฟีเจอร์และแคมเปญใหม่ พร้อมยกเครื่องหน้าโฮมโฉมใหม่ที่จะทำให้ผู้ใช้ Wongnai มีส่วนร่วมในการ #Saveร้านอาหาร และ #สู้ไปด้วยกัน กับพวกเรา” ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด กล่าว

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด

ทั้งนี้ Wongnai ได้ปล่อยฟีเจอร์-แคมเปญ-หน้าโฮมใหม่ ได้แก่ “Pickup (รับที่ร้าน)” ฟีเจอร์ใหม่ที่สามารถกดสั่งอาหารและจ่ายเงินออนไลน์ไว้ล่วงหน้า เพื่อรับอาหารที่ร้าน แล้วไปกินที่บ้านได้ทันที สามารถดูรายชื่อร้านอาหารที่สามารถสั่งล่วงหน้า รับที่ร้านทั่วกรุงเทพฯ ได้ที่ https://www.wongnai.com/collections/self-pick-up-restaurant

หน้าโฮมโฉมใหม่ทั้งบนแอปและเว็บไซต์ Wongnai รวมเนื้อหาที่จำเป็นให้ผู้ใช้ร่วมฝ่าวิกฤติได้แม้อยู่ที่บ้าน อาทิ อ่านเรื่องราวและการปรับตัวจากร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ, ค้นหารายชื่อร้านอาหารที่น่าลองสั่งเดลิเวอรี และมี Topic  “อยู่บ้านทำไรดี?” ที่รวมเนื้อหาและทิปส์สำหรับการอยู่บ้านให้มีความสุข

แคมเปญล่าสุด “Covid Relief Gift Voucher” โดยการซื้อเวาเชอร์เงินสด เพื่อช่วยร้านเพิ่มกระแสเงินสดในช่วงวิกฤติ ซื้อได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2563 และเก็บไว้ใช้ได้สูงสุดถึง 30 เมษายน 2564 ราคาเริ่มต้น 300 – 5,000 บาท ดูรายชื่อร้านอาหารเกือบ 50 ร้านที่เข้าร่วมได้ที่ https://www.wongnai.com/evouchers?domain=1

นอกจากนี้ Wongnai จะพยายามทำให้ร้านอาหารใหม่ขึ้นระบบเดลิเวอรีได้ภายใน 1 วัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถเลือกเข้าร่วม GP หรือไม่เข้าร่วมก็ได้ตามความต้องการ และให้ร้านอาหารได้ใช้ฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น โปรโมตร้านและสร้างเมนูโปรโมชันบน Wongnai เพื่อดึงดูดลูกค้าและเพิ่มยอดขายได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงฟีเจอร์ใหม่ Pickup ที่ร้านอาหารสามารถใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 พฤษภาคม 2563 อีกด้วย

]]>
1271574