Koji Fujiwara ซีอีโอฝ่ายธนาคารของ Mizuho ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังจะมีการเสนอขายข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคให้กับลูกค้าองค์กรเเละผู้ประกอบการที่สนใจ ซึ่งธนาคารมีข้อมูลเหล่านี้อยู่จำนวนมาก ทั้งการทำธุรกรรมและการกู้ยืมต่างๆ โดยเน้นย้ำว่า ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกรวบรวมทำให้เป็น “นิรนาม” ไม่ระบุตัวตน เเละจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค
Mizuho ตามรอยธนาคารใหญ่ในโลกหลายเเห่ง ที่หันมาหารายได้จากการขายข้อมูลพฤติกรรมทางการเงินของลูกค้าอย่าง Bank of America เเละ Lloyds Banking Group เช่นเดียวกับ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Facebook เเละ Alphabet (บริษัทเเม่ของ Google) ที่ทำเงินมหาศาลจากข้อมูลของผู้ใช้
โดยมีการประเมินว่า บรรดาธนาคารทั้งหลาย จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% ถึง 2% หากสามารถใช้ประโยชน์จากการแบ่งปันข้อมูลที่มีได้
ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีกฎข้อบังคับที่เข้มงวดต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร แต่หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยและดีมานด์การกู้ลดต่ำลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจปล่อยสินเชื่อของธนาคารอย่างมาก รัฐบาลจึงมีการผ่อนปรนนโยบายและปลดล็อกข้อกฏหมายต่าง ๆ ให้ธนาคารหารายได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น
ในเบื้องต้น Mizuho ไม่ได้เผยถึงรายได้หรือค่าบริการที่ตั้งเป้าไว้ เเต่ระบุว่า ธนาคารมีเป้าหมายในการให้เสนอบริการข้อมูลนี้กับลูกค้าให้ได้ 100 รายภายใน 3 ปี เเละหวังว่าจะมีการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจค้าปลีก หรือร้านอาหารอาจจะเลือกที่ตั้งของสาขาใหม่ โดยอ้างอิงจากข้อมูลรายได้การใช้จ่ายและข้อมูลอื่นๆ ของทางธนาคาร
เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ธนาคาร Mizuho เเละเเบงก์ต่างๆ ในญี่ปุ่น กำลังให้ความสำคัญเเละสนใจเข้าไปร่วมกิจการใหม่ๆ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Mitsubishi UFJ Financial Group ทุ่มเงินลงทุนกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสตาร์ตอัพยูนิคอร์นอย่าง Grab ขณะที่ Sumitomo Mitsui Financial Group เข้าซื้อหุ้นในบริษัทผู้ให้บริการแอปฯ ข้อมูลทางการแพทย์ของญี่ปุ่น
ซีอีโอฝ่ายธนาคารของ Mizuho เชื่อว่า แม้ธุรกิจหลักของธนาคารจะยังสำคัญอยู่ แต่ก็ไม่เพียงพออีกต่อไป โดยธนาคารต้องหันไปให้บริการแบบ Non-financial Service เพิ่มขึ้นต่อไป
นักวิเคราะห์ Bloomberg มองว่า ธนาคารในญี่ปุ่นมีเเนวโน้มจะการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากขึ้น หลังจากที่ “โยชิฮิเดะ ซูงะ” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ สัญญาว่าจะยกเครื่องการทำงานที่ล้าสมัย เเละปรับให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” มากขึ้น
ที่มา : Bloomberg , Japantimes
]]>จากผลการดำเนินงานของ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทได้อนุมัติบัญชีใหม่ไป 9.78 แสนบัญชี (จากจำนวนใบสมัครทั้งหมด 2.2 ล้านใบ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24% โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวม 3.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10% มียอดสินเชื่อใหม่ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%
ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ของปี 2562 มีการขยับขึ้นเล็กน้อย เเละมีเเนวโน้มขยับขึ้นอีกในปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สู้ดีนัก
สำหรับปีนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปีนี้เพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 3.55 แสนล้านบาท น้อยกว่าปีที่เเล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เเละตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% พร้อมตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างไว้ที่ 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%
“ตั้งเเต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา เรายังไม่มีข่าวดีต่อเศรษฐกิจไทยเลย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์” ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าว
จากแนวโน้มนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์จึงวางเป้าอนุมัติบัญชีใหม่ลดลง 10% มาอยู่ที่ 8.9 แสนบัญชี ซึ่งผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน และผู้ที่มีภาระหนี้ต่อรายได้มากกว่า 70% จะเป็นกลุ่มเเรกที่ถูกปฏิเสธคำขออนุมัติบัญชีใหม่ออกไปก่อน
“ขณะที่รูปแบบธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังกระจุกตัวอยู่ที่ธุรกิจสินเชื่อและบัตรเครดิต ส่วนรายได้ก็มีความเสี่ยงที่จะลดลงจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของภาครัฐ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังสูง”
อย่างไรก็ตาม เเม้ปีนี้ต้องเผชิญเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มภาระหนี้สูงกำลังซื้อลดลงเเละไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ เเต่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ก็ตั้งเป้าที่จะเติบโตต่อเนื่อง ด้วย 5 กลยุทธ์ Game Changer ทั้งเดินหน้าลงทุนในอาเซียน ใช้ข้อมูลของผู้ใช้บัตรเครดิตมาต่อยอดพัฒนา AI เเละ Face Payment รวมถึงปั้นสตาร์ทอัพของไทยให้ไปสู่ระดับยูนิคอร์น
เรามาเจาะพฤติกรรมผู้ใช้ “บัตรกรุงศรี” เเละเเอปพลิเคชั่น UCHOOSE พร้อมเเผนกลยุทธ์ในปี 2563 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่ต้องสู้กับทั้งภาวะเศรษฐกิจ การเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมไปถึงต้องเเข่งขันกับคู่เเข่งใหม่จากกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) ที่กำลังลงทุนเรื่องสินเชื่อออนไลน์อย่างหนัก
ตั้งเเต่ 3 มีนาคมเป็นต้นไป ลูกค้าจะได้เปิดให้บริการแอปพลิเคชั่น UCHOOSE เวอร์ชั่นใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น ฟีเจอร์ U manage ที่ผู้ใช้สามารถล็อกไม่ให้ใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศหรือซื้อของออนไลน์ได้ ฟีเจอร์ U insure สามารถเปรียบเทียบประกันได้บนแอป เเละฟีเจอร์ U card เปิดบัญชีธนาคารกรุงศรี ผ่านแอปได้เลย เป็นต้น
บัตรเครดิตกรุงศรีมีฐานลูกค้าราว 6 ล้านบัญชี ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งานแอปพลิเคชั่น UCHOOSE 4.8 ล้านราย เเบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 50 % เเละต่างจังหวัด 50 % เป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบ Android ราว 61% เเละระบบ iOS ราว 39% โดยปีนี้ตั้งเป้าจะดึงผู้ใช้ UCHOOSE ใหม่ให้ได้ 6 ล้านราย
ในสัดส่วนผู้ใช้ตามวัยต่าง ๆ เเบ่งเป็นอายุ 31-40 ปีราว 36% อายุ 41-50 ปี 24 % อายุต่ำกว่า 30 ปี 24 % เเละอายุเกิน 50 ปี 16 %
ด้านโครงสร้างฐานลูกค้าเเยกตามช่วงรายได้ เเบ่งเป็น ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท 32% รายได้ 2-3 หมื่นบาท 23% รายได้ 3-5 หมื่นบาท 21% รายได้ 5 หมื่น – 1 เเสนบาท 15% เเละมากกว่า 1 เเสนบาท 10%
ขณะที่ 5 จังหวัดที่มีการอนุมัติบัตรเครดิตมากที่สุด ได้เเก่ 1) กรุงเทพฯ 2) ชลบุรี 3) นนทบุรี 4) สมุทรปราการ เเละ 5) ปทุมธานี
โดย 12 อันดับภาคธุรกิจที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกรุงศรีมากที่สุด ได้เเก่
อันดับ 1 : ประกันภัย 134,000 ล้านบาท
อันดับ 2 : ซูเปอร์มาร์เก็ต 82,000 ล้านบาท
อันดับ 3 : น้ำมัน 71,000 ล้านบาท
อันดับ 4 : บ้าน 60,000 ล้านบาท
อันดับ 5 : หมวดเดินทางท่องเที่ยว 58,000 ล้านบาท
อันดับ 6 : ห้างสรรพสินค้า 44,000 ล้านบาท
อันดับ 7 : แฟชั่น 39,000 ล้านบาท
อันดับ 8 : ร้านอาหาร 36,000 ล้านบาท
อันดับ 9 : แกดเจ็ตไอที 32,000 ล้านบาท
อันดับ 10 : โรงพยาบาล 31,000 ล้านบาท
อันดับ 11 : ออนไลน์ช้อปปิ้ง 24,000 ล้านบาท
อันดับ 12 : รถยนต์ 23,000 ล้านบาท
“เรายังเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีเเละคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ต่างมีการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นเช่นกัน” ฐากรระบุ
ส่วนพฤติกรรมการใช้งาน UCHOOSE จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นเดือนเเละปลายเดือน ซึ่งเป็น “วันเงินเดือนออก” ส่วนเวลาที่ใช้บ่อยที่สุดคือช่วง 11.00 น. เเละ 16.00 น.
สำหรับฟีเจอร์ที่ผู้ใช้เเอปชอบมากที่สุดคือ E- Coupon Redeemed ที่มีคนแลกคูปองไปแล้ว 9 แสนคูปอง รวมถึงฟีเจอร์แลกแต้มที่มีการแลกแต้มไปแล้วกว่า 300 ล้านแต้ม
นอกจากนี้ยังมีการขอเพิ่มวงเงินชั่วคราว (Temp Line request) ถึง 1.3 ล้านครั้ง ส่วนอัตราหนี้เสียจากแคมเปญผ่อน 0% หมวดรถยนต์เเละเครื่องประดับยนต์ ยังมีมากที่สุด
ด้านตั๋วชมภาพยนตร์ก็มีการเเลกเเต้มไปแล้วกว่า 2 เเสนเเต้ม โดย Avengers: Endgame ได้รับการเเลกเเต้มมากที่สุดที่ 10,778 ที่นั่ง ตามมาด้วย Spider-Man: Far From Home 5,913 ที่นั่งเเละตุ๊ดซี่ส์แอนด์เดอะเฟค ที่ 5,495 ที่นั่ง
“สินค้าที่ซื้อ หนังที่ดู อาหารที่กิน ทำให้เรารู้จักลูกค้ามากขึ้น นำไปสู่การออกโปรโมชั่น การนำเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่จะมีการสุ่มโทรไปหาลูกค้า โดยที่พวกเขาไม่อยากได้บริการเหล่านั้นเเละก็จะรู้สึกรำคาญ จึงเป็นที่มาของหลักมาร์เก็ตติ้งใหม่ที่เราใช้อย่าง Right Offer to the Right Customer at the Right Time though the Right Channel“
กลยุทธ์ต่อไปคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้บัตรเครดิตกรุงศรี ที่มีฐานลูกค้าราว 6 ล้านบัญชี มีวงเงินพร้อมใช้ราว 500,000 ล้านบาท ในปี 2562
“เราจะทำ Data Monetization เรียกง่ายๆ ว่าเราจะทำมาหากินกับข้อมูลที่เรามีอยู่ นี่คือข้อได้เปรียบของเราเพราะข้อมูลบัตรเครดิตจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมลูกค้า เราจะรู้จากการใช้จ่ายได้ว่าพวกเขาเข้าโรงพยาบาลหรือเปล่า ชอบสินค้าเเนวไหน ออกกำลังกายที่ไหน สั่งอาหารออนไลน์อะไรบ้าง ”
ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือใน “เเคมเปญการตลาด” ซึ่งกรุงศรี คอนซูมเมอร์ได้แคมเปญไปมากกว่า 6,000 แคมเปญในปีที่ผ่านมา “จากนี้ไปรูปแบบการทำการตลาดจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง“
โดยแคมเปญการตลาดจะถูกสร้างขึ้นมา แล้วนำ AI มาวิเคราะห์ว่าข้อเสนอถัดไปที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าคืออะไร ซึ่งผู้บริหารกรุงศรีบอกว่า ระบบใช้เวลาคิดแคมเปญที่เร็วที่สุดเพียง 3 วินาทีเท่านั้น “เมื่อลูกค้าอะไรสักอย่างในเเอปแล้ว AI จะมีข้อเสนอให้ว่าอะไรเป็น Next Best Offer”
ยกตัวอย่าง ในกรณีลูกค้าใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าจองที่พัก AI ก็จะประมวลผลและส่งข้อเสนอประกันการเดินทางมาให้กับลูกค้าภายใน 3 วินาที นอกจากนี้ยังมีการโปรโมตผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ลูกค้าใช้ด้วย
กลยุทธ์ที่สำคัญอีกอย่างของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ คือการนำ ใช้ A.I. Manow (มะนาว) มายกระดับการให้บริการเป็น ผู้ช่วยส่วนตัว (personal assistance) ให้กับผู้ใช้ สามารถโทรศัพท์หาลูกค้าเพื่อเสนอวงเงินเพิ่ม ช่วยจองตั๋วหนัง หรือเตือนการชำระเงินให้ลูกค้า รวมถึงจะพัฒนาให้จำเสียงลูกค้าได้
โดยปีที่ผ่านมา A.I. Manow ให้บริการลูกค้าผ่านระบบ Call Center ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ไปเเล้ว 1.3 ล้านครั้ง ช่วยลดระยะเวลาคุยลงได้ 60% เเละสามารถตอบคำถามลูกค้าได้เองโดยไม่ต้องโอนสายไปให้เจ้าหน้าที่ถึง 22% ซึ่งทางบริษัทกำลังวางเเผนจะนำ A.I. Manow ไปใช้กับระบบ Call Center หลักของธนาคารกรุงศรีด้วย
ขณะเดียวกันยังต่อยอดเทคโนโลยีการชำระเงินด้วยการสแกนใบหน้า หรือ Face Payment ซึ่งกำลังอยู่ในการพัฒนาระบบ และจะเริ่มทดสอบได้ในไตรมาส 3 เเต่จะใช้จ่ายเงินได้เฉพาะกับพาร์ตเนอร์บางราย เช่น โฮมโปร ก่อน
ในขณะที่ตลาดในเมืองไทยอิ่มตัวเเล้ว เเต่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นเหมือน “ขุมทรัพย์” กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงกำลังการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่
ที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูเมอร์ ได้เริ่มธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในลาว (asset รวมอยู่ที่ 6 พันล้านบาท) เเละและธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชา (asset รวมอยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท) โดยในไตรมาส 2/63 บริษัทจะเข้าไปขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล ประกันชีวิต และบัตรเครดิตในประเทศฟิลิปปินส์ ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) นอกจากนี้กำลังศึกษาโอกาสในการขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา และอินโดนีเซีย
“เราตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะมีรายได้จากตลาดต่างประเทศเป็นสัดส่วนราว 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ไม่ถึง 5% เท่านั้น”
กรุงศรี เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ลงทุนกับโปรเจกต์ “ปั้นสตาร์ทอัพ” สัญชาติไทยให้เป็นระดับยูนิคอร์น (มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญขึ้นไป)
ฐากร เปิดเผยว่า เบื้องต้นวางงบไว้ที่ 20 ล้านบาท เพื่อคัดเลือก 8 ทีม (ทีมละ 3 คน) เฉลี่ยให้ทุนทีมละ 3 ล้านบาทในการพัฒนาโปรเจกต์ มีที่ปรึกษาเเละโค้ชคอยให้คำเเนะนำ ซึ่งจะให้โอกาสกับ “พนักงานของกรุงศรีฯ” สมัครมาก่อน ตอนนี้มียอดสมัครมาเเล้วถึง 600-700 คน ส่วนใหญ่เป็นไอเดียการทำแอปพลิเคชั่น
สำหรับโครงการนี้ จะเเบ่งเป็น 3 ช่วง คือ Pony ในระยะ 4 เดือนเเรก เป็นการนำเสนอไอเดีย ถ้าผ่านการตัดเลือกมา 8 ทีม จะเข้าช่วง Centaur ในระยะ 8-12 เดือนถัดมา เพื่อเริ่มพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และโมเดลธุรกิจ มีการนำไปขายงานจริง
“หากสตาร์ทอัพรายไหนมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นบริษัทได้ก็จะแยกออกมา มีเจ้าของไอเดียเป็นซีอีโอ ส่วนกรุงศรีเป็นผู้ถือหุ้น หรือถ้าโปรดักต์นั้นเกี่ยวข้องกับกรุงศรีก็สามารถตั้งเป็นเเผนกใหม่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ “
นี่คือก้าวสำคัญของธุรกิจ “เเบงก์” ที่จะไม่ได้เป็นเพียงธนาคารอีกต่อไป ด้วยต้องก้าวทันเทคโนโลยี ต่อสู้คู่เเข่ง ตอบสนองผู้บริโภค รวมถึงสู้กับพิษเศรษฐกิจด้วย
อ่านเพิ่มเติม : กางเเผน 2563 “กรุงศรี” เจาะลูกค้าด้วยดิจิทัล จ่อหั่นเป้าสินเชื่อ พิษไวรัสฉุด GDP ไม่ถึง 2.5%
]]>กลุ่ม “New Wealth” ที่มีกำลังซื้อสูง พวกเขาใช้จ่ายอย่างไร เปลี่ยนเเปลงมากน้อยเเค่ไหน เเละธุรกิจต้องปรับตัว วางแผนเเละตอบโจทย์ลูกค้าอย่างตรงใจอย่างไร… ตามมาดูกัน
สำหรับ The 1 Insight ฉบับแรกที่เพิ่งเปิดตัวในวันนี้ (23 ธ.ค.) เป็นเรื่อง “New Wealth” หรือ “คนรวยยุคใหม่” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงและทุกธุรกิจให้ความสนใจ ด้วยทัศนคติและวิถีชีวิตแตกต่างไปจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเครื่องแสดง “สถานะ” (Status) ที่จากเดิมวิถีคนรวยเป็นเรื่องวัตถุนิยม และยึดติดกับคำว่า “ฉันมีอะไร” หรือ “ฉันเป็นใคร” มาเป็นการให้ความสำคัญกับนิยามความเป็นตัวของตัวเองว่า “ฉันให้คุณค่ากับอะไร” มากขึ้นเเละเน้นการได้ประสบการณ์ที่ดี
โดยกลุ่ม New Wealth จาก ฐานข้อมูลของ The 1 หมายถึงลูกค้าคนไทยที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยราว 4 เเสนบาทต่อปีขึ้นไป คิดเป็น 1-2% จากสมาชิก 16 ล้านราย เเต่กลับน่าสนใจเเละต้องจับตามองอย่างมาก เพราะมีการเติบโตที่ก้าวกระโดด ซึ่งการใช้จ่ายไม่ได้จำกัดเเค่การซื้อของลักชัวรี่เท่านั้น เเต่รวมไปถึงการใช้จ่ายในกลุ่มสุขภาพ อาหาร งานอดิเรก ความบันเทิงต่างๆ ด้วย
“ลูกค้ากลุ่ม New Wealth จะเป็นกลุ่มคนที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจในการซื้อสินค้าหลักของตลาด จากข้อมูลสมาชิกของ The 1 พบว่า ในปี 2019 มีสมาชิกที่มีรายได้สูง มีกำลังซื้อสูง ช่วงอายุน้อยกว่า 45 ปี มากถึง 47% ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2017 ขึ้นมา 4% และมีแนวโน้มที่จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกนัยหนึ่งคือคนกลุ่มนี้จะเป็นตัวแปรหลักของเศรษฐกิจในอนาคต” ธีรพล ไทยหิรัญ Head of The 1 Data & Insight กล่าว
นอกจากนี้ ฐานข้อมูลสมาชิก The 1 พบว่า กลุ่มสมาชิก New Wealth ของ The 1 มีพฤติกรรมการใช้จ่ายสินค้าและบริการ ทุกๆ 5 วัน ซึ่งมากกว่าสมาชิกกลุ่มอื่นๆ ถึง 3.5 เท่า สอดคล้องกับยอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่สูงมากกว่าสมาชิกกลุ่มอื่นๆ ถึง 3 เท่าเลยทีเดียว
ด้วยตัวเลขที่น่าสนใจขนาดนี้ ทำให้ New Wealth กลายเป็น Potential Customers กำลังซื้อสูง ฉลาดใช้เงิน หาความคุ้มค่าก่อนซื้อ ซึ่งทุกแบรนด์ต้องให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ TOP 5 กลุ่มสินค้าที่สมาชิก The 1 ซื้อมากที่สุด ได้เเก่ เเฟชั่น ความงาม สมาร์ทโฮม อาหาร กลุ่มเเม่เเละเด็ก ตามลำดับซึ่งกลุ่มลูกค้า The 1 คิดเป็น 87% ของคนที่มาซื้อสินค้าในเครือเซ็นทรัลทั้งหมด โดยในปีนี้คาดว่ายอดสมาชิกจะได้ 17 ล้านคน เเละในปี 2020 ตั้งเป้าเพิ่มให้ได้เป็น 19 ล้านคน
The 1 Insight ได้รับความร่วมมือจาก Pulse Metrics บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านบิ๊กดาต้าและการวิเคราะห์ข้อมูลเอเชีย มาช่วยเสริมการทำงานด้านการใช้เทคโนโลยีด้าน AI เพื่อให้มีความเเม่นยำมากขึ้น
เยน ชิน ผู้ก่อตั้งเเละกรรมการผู้จัดการ Pulse Metrics กล่าวถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนรวยรุ่นใหม่ในเอเชียว่า ทุกวันนี้อำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือลูกค้า ซึ่งก่อนซื้อส่วนใหญ่มักจะเทียบราคากับเจ้าอื่นๆ ก่อน จึงเป็นความท้าทายของผู้ขายที่ต้องเเข่งขันครองใจผู้ซื้อให้มากที่สุด ทั้งเรื่องความน่าเชื่อถือ ราคาเเละคุณภาพสินค้า
“คนไทยช้อปปิ้งเก่งมากเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย เเละมีวัฒนธรรมชื่นชอบการบริการ ซึ่งนำมาสู่ความนิยมในการเเชทถามก่อนซื้อ หรือพูดคุยก่อนการตัดสินใจ เเละสิ่งที่น่าสนใจคือคนรวยรุ่นใหม่คือ Shop Hard, Redeem Harder พวกเขาคำนวณการใช้เงินว่าจะสิ่งตอบเเทนกลับมาหรือไม่ ใช้เงินอย่างชาญฉลาดมากขึ้น”
อ่านเพิ่มเติม : รู้จัก Conversational Commerce คนไทยซื้อของออนไลน์ผ่าน “แชท” มากสุดในโลก
โดยผู้บริหาร Pulse Metrics เเนะนำว่าการเข้าใจลูกค้าต้องยึดหลัก P-U-R-E นั่นคือ P- Purpose มีเป้าหมาย U-Useful มีประโยชน์ R-Relevant มีความหมายเเละความสำคัญ E- Explain อธิบายได้
โดยยก 3 ประเด็นการตลาดที่โดดเด่นของพฤติกรรมผู้บริโภคที่นำมาเสนอ ประกอบด้วย 1) Re-defining Luxury 2) More On Experience และ 3) Smart Wealth
สามารถอ่านข้อมูลฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ slideshare.net/The1Insight (ดาวน์โหลดฟรี)
เป็นการนิยามคำว่า “ลักชัวรี่” แบบใหม่ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต ความชอบ และการซื้อสินค้าลักชัวรี่ที่แตกต่างไปจากยุคก่อน ซึ่งประกอบด้วยเรื่องที่น่าสนใจ ดังนี้
“กลุ่มสินค้าสมาร์ทโฮม มียอดขายในเซ็นทรัลกว่า 700 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา” ธีรพลกล่าว
การที่กลุ่ม New Wealth ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ได้รับหลังจากการใช้เงินที่ต้องเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และดีกว่ามาตรฐานทั่วไป เช่น การลงทุนไปกับการท่องเที่ยวด้วยตั๋วเครื่องบิน First Class หรือการรับประทานอาหารที่ไม่จำเป็นต้องหรูหรา แต่ขอให้ได้ประสบการณ์ที่ดี อย่าง Street Food ในห้างดัง ประกอบด้วยเรื่องที่น่าสนใจ ดังนี้
กลุ่ม New Wealth วางแผนการใช้เงิน รวมถึงคะแนนและพริวิลเลจต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกลอยัลตี้แพลตฟอร์มหรือบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องที่น่าสนใจ ดังนี้
“ปัจจุบันคนรวยยุคใหม่มีบัตรเครดิตเฉลี่ย 4 ใบต่อคน เเละมีบัตรหลักในการใช้จ่าย เเต่เมื่อมีโปรโมชั่นก็จะเลือกใช้จ่ายให้ได้ประโยชน์กลับมาตามความต้องการมากที่สุด”
ด้าน ฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ Project Manager ของ Central Chat & Shop เเพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์ของห้างในเครือเซ็นทรัล ที่เน้นการให้บริการผ่านการพูดคุยโดยตรงกับผู้ซื้อ กล่าวว่า ด้วยเทรนด์ที่คนไทยชอบเเชทก่อนซื้อของกำลังมาเเรงมาก ซึ่งเป็นช่องทาง social commerce ที่เราให้ความสำคัญเเละกำลังเจาะตลาดนี้ ตามกลยุทธ์ที่จะขยายเป็น Omni Channel ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ โดยปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 78% เเละตั้งเป้าว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
“ 1 ใน 5 ของยอดซื้อสินค้าใน Central Chat & Shop เป็นกลุ่มกระเป๋าลักชัวรี่เเละน้ำหอมเเบรนด์ดัง ซึ่งเป็นหมวดที่เราทำตลาดได้เพราะที่อื่นไม่มีขาย อีกทั้งลูกค้ายังมั่นใจว่าได้ของเเท้เเน่นอน นอกจากนี้ลูกค้าออนไลน์ยังคำนึงถึงการที่สั่งเเล้วต้องได้เร็วที่สุด เเละไม่อยากลุ้นว่าสินค้าจะหายระหว่างทางหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม เเม้ยุคนี้เเชทบอทจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยตอบลูกค้า เเต่เขามองว่าการใช้การตอบโต้ระหว่างบุคคลยังสำคัญ เพราะลูกค้าจะให้ความไว้วางใจมากกว่า รวมถึงสร้างสัมพันธ์ให้กลับมาซื้อซ้ำได้มากกว่า
]]>