เกมคอนโซล – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 15 Aug 2024 13:58:02 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คาดการณ์อุตสาหกรรม ‘เกม’ ปี 2025 จะพลิกกลับมาโตกระฉูด หลังปี 2024 โตต่ำ เพราะถูกตลาดคอนโซลฉุด https://positioningmag.com/1486428 Thu, 15 Aug 2024 07:52:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1486428 หลังจากตลาดวิดีโอเกมทั่วโลกโตกระฉูดในช่วง COVID-19 แล้ว ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของตลาดเกมทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะในปีนี้ที่กลุ่มเกมคอนโซลที่ฉุดตลาดรวม

ตามรายงานใหม่จากบริษัทวิจัยตลาด Newzoo เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเกมมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพียง 2.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าประมาณ 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการณ์คาดการณ์ในเดือนมกราคมที่คาดว่า อุตสาหกรรมวิดีโอเกมจะเติบโต 2.8% เป็น 1.89 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

Newzoo คาดว่า เกือบครึ่งหนึ่งของรายจ่าย ของผู้บริโภคทั้งหมดสำหรับเกมในปี 2024 จะมาจาก สหรัฐอเมริกาและจีน โดยสหรัฐอเมริกาสร้างรายได้ 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนจีนคิดเป็น 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดวิดีโอเกมเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดมาจากกลุ่ม เกมคอนโซล ที่คาดว่าจะ ลดลง -1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในปีนี้ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Sony เปิดเผยว่า ยอดขายเครื่องเกม PlayStation 5 ได้ 2.4 ล้านเครื่อง ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ ซึ่งลดลงจาก 3.3 ล้านเครื่อง ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้การเติบโตในปี 2024 คาดว่าจะชะลอตัว แต่ Michiel Buijsman นักวิเคราะห์ตลาดเกมหลักของ Newzoo มองว่า ปีหน้าจะเป็น ปีที่สำคัญของอุตสาหกรรมเกม โดยเฉพาะการเติบโตในตลาดคอนโซลที่มีแนวโน้มที่จะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่

เนื่องจากการเปิดตัวเกมสำคัญ ๆ เช่น Nintendo Switch รุ่นเรือธงของ Nintendo โดย ชุนทาโร ฟุรุคาวะ ประธานนินเทนโด เปิดเผยว่า จะเปิดตัว ช่วงเดือนมีนาคม 2025 นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวเกมใหม่ในแฟรนไชส์ ​​Grand Theft Auto VI ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะช่วย เพิ่มโอกาสของอุตสาหกรรม ได้ หลังจากที่การเติบโตชะลอตัวลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเกมเคยเติบโตอย่างมากระหว่างปี 2020-2021 เนื่องจากผู้คนใช้เวลาอยู่ในบ้านมากขึ้นจากการล็อกดาวน์ แต่ในช่วงปี 2022-2023 อุตสาหกรรมก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน อาทิ การใช้จ่ายที่ลดลง, การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเกมยังมีการ เลิกจ้างงาน ทั่วโลก โดยเฉพาะในสตูดิโอเกมรายใหญ่ ๆ หลายแห่งที่ต้องเลิกจ้างพนักงานรวมแล้วหลายพันคน อาทิ Microsoft เลิกจ้างพนักงาน 1,900 คน ในแผนกเกม หลังจากที่ซื้อค่าย Activision Blizzard ได้เพียง 3 เดือน ถัดจากนั้น 1 เดือน Sony ประกาศว่ากำลังจะเลิกจ้างพนักงาน 900 คน จากแผนก PlayStation

“ความท้าทายสำคัญสำหรับสตูดิโอเกมในปีนี้คือ การควบคุมต้นทุนในตลาดที่มีการแข่งขันสูงและมีการรวมตัวกันเพิ่มมากขึ้น” Michiel Buijsman กล่าว

นอกจากนี้ นักพัฒนาจะต้องเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่าง เกมเล่นฟรีและเกมพรีเมียม รวมถึงการใช้เอไอเชิงสร้างสรรค์ในการพัฒนาเกม การตลาด และการดำเนินงานเกม

Source

]]>
1486428
ประธาน ‘นินเทนโด’ ยืนยัน จะวางขาย ‘Nintendo Switch รุ่นใหม่’ ภายในเดือน มี.ค. 2025 แน่นอน https://positioningmag.com/1472614 Wed, 08 May 2024 07:42:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472614 มีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลายคนว่า นินเทนโด (Nintendo) บริษัทเกมสัญชาติญี่ปุ่นชื่อดังจะเปิดตัวเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ต่อจาก Nintendo Switch ที่ออกวางตลาดมานานถึง 8 ปี ล่าสุด นินเทนโดก็ออกมาเปิดเผยเองว่าจะได้เห็นเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่จริง ภายในปีงบประมาณ 2024

แม้ว่าบริษัทจะสามารถทำกำไรได้สูงสุดในช่วงไตรมาส 1/2024 ที่ผ่านมา และตลอดปีงบประมาณ 2023 ก็สามารถทำลายสถิติปี 2020 ที่ทำกำไร 4.8 แสนล้านเยน เป็น 4.9 แสนล้านเยน โดยได้รับแรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม นินเทนโดคาดการณ์ว่า กำไรสุทธิในปีงบประมาณ 2024 จะลดลงเกือบ 40% เหลือกำไรสุทธิที่ 3 แสนล้านเยน

“ปีที่ผ่านมา นินเทนโดได้นับประโยชน์จากค่าเงินเยนที่อ่อนลง ช่วยให้ทำกำไรได้มากขึ้น นอกจากนี้ นินเทนโดยังมีเกมอย่าง The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom และภาพยนตร์ Super Mario ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงช่วยดันรายได้และกำไรบริษัท”

แม้ว่าปีที่ผ่านมา ในส่วนของซอฟต์แวร์จะช่วยทำกำไรมหาศาลให้กับนินเทนโด แต่ยอดขายฮาร์ดแวร์ ในปีงบประมาณดังกล่าวกลับลดลงเกือบ -13% คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 15.7 ล้านเครื่อง ในขณะที่ยอดขายปีนี้ นินเทนโดคาดว่าจะลดลงเหลือ 13.5 ล้านหน่วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่นินเทนโดจะปล่อยเครื่องเกมรุ่นใหม่ในปีงบประมาณนี้ เพราะรายได้เกือบ 40% ของบริษัทมาจากฮาร์ดแวร์

“แม้ว่ายอดขายของ Nintendo Switch จะลดลง แต่ก็ถือว่าคงที่สำหรับเครื่องเกมที่เปิดตัวมานานถึง 8 ปี อย่างไรก็ตาม เครื่องเกมส่วนใหย่จะมีอายุประมาณ 6-7 ปีเท่านั้น” Nathan Naidu นักวิเคราะห์ของ Bloomberg Intelligence กล่าว

ทำให้มีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่าในปีนี้ อาจได้เห็นเครื่องเกมคอนโซลใหม่จากค่าย เพื่อกลับมาช่วยให้นินเทนโดกลับมาทำกำไรเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยล่าสุด Shuntaro Furukawa ประธานนินเทนโด ก็ออกมาเปิดเผยผ่าน X ว่า จะได้เห็นเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ภายในปีงบประมาณ 2024 หรือ ภายในเดือนมีนาคม 2025

อย่างไรก็ตาม Hideki Yasuda นักวิเคราะห์จาก Toyo Securities มองว่า นักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับการประกาศเปิดตัวเครื่องเกมใหม่ ดังนั้น ถ้า Nintendo Switch รุ่นใหม่ไม่สามารถวางขายได้ภายในเดือยมีนาคม 2025 จะสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนอย่างมาก

Source

]]>
1472614
ยอดขาย ‘Nintendo Switch’ ลดลง 22% นักวิเคราะห์มอง “ผ่านจุดสูงสุด” ไปแล้ว หลังขายมานาน 6 ปี https://positioningmag.com/1429934 Tue, 09 May 2023 08:54:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1429934 นับตั้งแต่ช่วงปี 2020 ที่ COVID-19 กำลังระบาดใหม่ ๆ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้อานิสงส์ไปเต็ม ๆ ก็คือ เกม ซึ่งรวมไปถึง Nintendo Switch เครื่องเกมคอนโซลค่าย นินเทนโด (Nintendo) หรือปู่นินที่คนไทยเรียกกันจนคุ้นปาก อย่างไรก็ตาม พอสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย ยอดขาย Nintendo Switch ก็หดตัวตาม

นินเทนโด บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นได้รายงานผลกำไรและรายได้ของปีงบประมาณ 2023 (เมษายน2022-มีนาคม 2023) โดยมีรายได้ 1.6 ล้านล้านเยน ลดลง 5.5% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 4.32 แสนล้านเยน โดยลดลงมากกว่า 9% อย่างไรก็ตาม ถือว่าดีกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ว่าจะมีกำไรเพียง 3.7 แสนล้านเยน

สำหรับยอดขายของ Nintendo Switch อยู่ที่ 17.97 ล้านเครื่อง สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมียอดขายราว 18 ล้านเครื่อง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 22% ที่มียอดขาย 23 ล้านเครื่อง โดยนินเทนโดระบุถึงสาเหตุที่ยอดขายลดลงว่า การขาดแคลนชิปและส่วนประกอบอื่น ๆ นั้นส่งผลต่อการผลิต นอกจากนี้ ยอดขายในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวก็ไม่ได้เติบโตอย่างที่คิด

อย่างไรก็ตาม ยอดขาย 18 ล้านเครื่องก็ยังไม่ใช่ จุดต่ำสุด โดยบริษัทคาดว่า ในปีงบประมาณ 2024 ยอดขายจะอยู่ที่ 15 ล้านเครื่อง เท่านั้น เช่นเดียวกับกำไรของบริษัทที่คาดว่าจะลดลง 21.4% อยู่ที่ 3.4 แสนล้านเยน

Serkan Toto ซีอีโอของ Kantan Games บริษัทที่ปรึกษาด้านเกมในโตเกียว มองว่า “ยอดขายของ Nintendo Switch ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วอย่างแน่นอน” เพราะไม่ใช่แค่หมดช่วงโควิด แต่เพราะตัว ฮาร์ดแวร์เก่าเกินไป ดังนั้น นินเทนโดควรมีเครื่องเกมใหม่ออกสู่ตลาดมาขาย

“เกมคอนโซลจะมีอายุไขของมัน และตอนนี้นินเทนโดก็ต้องการฮาร์ดแวร์ชิ้นใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขาย”

สำหรับ Nintendo Switch นั้นอยู่ในตลาดมานานกว่า 6 ปีแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมานินเทนโดได้พยายามรีเฟรชคอนโซลด้วย Nintendo Switch Lite และรุ่นที่มีหน้าจอ Oled แต่ก็ช่วยกระตุ้นยอดขายได้เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ต่างจากคู่แข่งอย่าง Sony ที่ออก Play Station 5 ลงสู่ตลาด โดยช่วยให้ Sony สามารถทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มียอดขายทะลุ 19.1 ล้านเครื่อง หลังจากวางขายได้เพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญสำหรับสร้างรายได้ให้กับนินเทนโด คือ ผู้ใช้ที่ชำระเงิน 114 ล้านรายต่อปี จากยอดขายเกม โดย Nintendo มียอดขายจากเกมที่ 213.96 ล้านหน่วย ลดลง 9% และในปีนี้ บริษัทคาดการณ์จะลดลงเหลือ 180 ล้านหน่วย

]]>
1429934
Microsoft, Sony, Nintendo รายได้ธุรกิจ “เกม” ลดลงตามคาด หมดล็อกดาวน์-ชิปขาดแคลน https://positioningmag.com/1395569 Tue, 09 Aug 2022 06:11:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1395569 รายได้ธุรกิจ “เกม” ของยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft, Sony, Nintendo ต่างลดลงถ้วนหน้าในรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2022 หมดช่วงอานิสงส์ล็อกดาวน์ คนกลับไปใช้ชีวิตนอกบ้าน รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อทำให้ต้องรัดเข็มขัด และการส่งมอบฮาร์ดแวร์ไม่เป็นไปตามเป้าจากวิกฤตชิปขาดแคลน

ไตรมาส 2/2022 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ถือเป็นช่วงที่ธุรกิจเกมหมดอานิสงส์จาก COVID-19 อย่างแท้จริง ในภาพกว้างจากตลาดเกมสหรัฐฯ บริษัทวิจัย NPD รายงานว่า มูลค่าตลาดลดลง -13% จากปีก่อนหน้า เหลือเพียง 1.24 หมื่นล้านเหรียญเท่านั้น (ประมาณ 4.4 แสนล้านบาท)

นั่นทำให้ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเกมหลายรายรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2022 ต่ำลงกันเกือบทั้งหมด เช่น

  • Sony รายได้ลดลง -2% YoY และกำไรจากการดำเนินงานลดลง -37% YoY (หลังจากนั้นบริษัทมีการลดคาดการณ์กำไรสุทธิของทั้งปี 2022 ลดลง -16% จากคาดการณ์เดิม)
  • Microsoft รายได้ธุรกิจเกมลดลง -7% YoY ยอดขายคอนโซล Xbox ลดลง -11% YoY รายได้กลุ่มคอนเทนต์และบริการเกี่ยวกับเกมลดลง -6% YoY
  • Nintendo ยอดขายคอนโซล 43 ล้านเครื่อง ลดลง -23% YoY ยอดขายซอฟต์แวร์เกมลดลง -8.6% YoY กำไรจากการดำเนินงานลดลง -15% YoY

ไม่ใช่แค่รายใหญ่ แต่บริษัทพับลิชเชอร์เกมหลายรายก็ประสบปัญหา เช่น Activision Blizzard บริษัทเกมที่ Microsoft เข้าซื้อกิจการ และเป็นผู้พัฒนาเกมสุดฮิต ‘Call of Duty’ ก็รายงานกำไรสุทธิลดลง -70% YoY และรายได้ลดลง -29% YoY ในไตรมาสที่ผ่านมา หรือบริษัท Ubisoft ผู้พัฒนาเกม ‘Assassin’s Creed’ ก็รายงานยอดขายลดลง -10% YoY

มีแค่ Electronic Arts ที่เป็นหนึ่งในบริษัทเกมจำนวนน้อยมากๆ ซึ่งสามารถฝ่าด่านปัจจัยลบมาได้ และทำรายได้เติบโต 14% YoY ทำกำไรเพิ่มขึ้น 50% YoY

 

หลายปัจจัยสิ้นสุดช่วงนาทีทองของธุรกิจ “เกม”

ประเด็นแรกที่ส่งผลชัดเจนคือการผ่อนคลายกิจกรรมนอกบ้านหลังพ้นวิกฤต COVID-19 ทำให้คนหันไปใช้ชีวิตนอกบ้านเหมือนเก่า และลดเวลาเล่นเกมหรือกิจกรรมบันเทิงภายในบ้านลง

อีกประเด็นคือการขาดแคลนชิป ทำให้ตลาดไม่สามารถส่งมอบอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ได้ตามเป้าหมาย Nintendo ระบุถึงสาเหตุนี้ว่าเป็นปัจจัยหลัก ทำให้บริษัทผลิตเครื่องคอนโซล Switch ไม่ทันตามความต้องการ

nintendo switch
Photo : Shutterstock

ไมเคิล แพชเตอร์ กรรมการผู้จัดการ Wedbush Securities กล่าวว่า การส่งมอบคอนโซลไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้รายได้และกำไรบริษัทเกมลดลง เพราะปกติผู้ซื้อฮาร์ดแวร์เกมเครื่องใหม่มักจะซื้อเกมเป็นจำนวนมาก และทั้ง Switch กับ PlayStation ต่างประสบปัญหาเดียวกันในสายการผลิต

แม้แต่การทำงานทางไกลในช่วงล็อกดาวน์ ก็มีผลกระทบต่อเนื่องกับบริษัทเกมด้วยเหมือนกัน เพราะทำให้การผลิตเกมยอดฮิตที่คนอยากจะซื้อออกมาไม่ทันความต้องการ เช่น Microsoft ต้องดีเลย์การปล่อยเกม Starfield ออกไปจนถึงต้นปี 2023 หรือบริษัท Ubisoft ก็ต้องชะลอการเปิดตัวเกม Avatar ไปก่อน

อย่างไรก็ตาม แพตเชอร์มองว่า ตัวเลขที่น่าผิดหวังเหล่านี้เกิดจากการเปรียบเทียบกับ “ผลการดำเนินงานที่ดีเลิศ” เมื่อปีก่อนนี้ กล่าวง่ายๆ ก็คือ เมื่อปีก่อนธุรกิจเกมทำรายได้สูงมากจนเป็นไปไม่ได้ที่ปีนี้จะทำได้อีก การที่รายได้ลดลงเป็นเรื่องที่คาดหมายไว้แล้ว

 

ปัจจัยลบยังไม่หมด?

ปัจจัยลบของธุรกิจเกมยังไม่หมดเท่านี้ เพราะปีนี้ยังมีประเด็นเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นในทุกด้าน และอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

SEOUL, SOUTH KOREA – 2020/11/13: People wearing masks exit a PlayStation Store in Seoul. (Photo by Simon Shin/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

ปิแอร์ส ฮาร์ดิง-โรลส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่ Ampere Analysis เปิดเผยกับ CNBC ว่า ผลกระทบของค่าครองชีพน่าจะมีผลต่อสินค้าราคาสูงก่อน โดยเกมคอนโซลจะรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย แต่ในระยะต้น ดีมานด์ที่ยังค้างอยู่จากการขาดแคลนชิปจนผลิตไม่ทัน จะทำให้ปัจจัยนี้ยังมีผลกระทบน้อยกว่ากับสินค้าเกมคอนโซลถ้าเทียบกับสินค้าราคาสูงอื่นๆ

แต่เงินเฟ้อก็จะมีผลกดดันต่อการใช้จ่ายภายในเกมของเกมเมอร์แทน เพราะพวกเขาจะต้องปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

บางบริษัทเกมเริ่มมีการปรับแผนเพื่อรับมือแล้ว โดยหันไปเน้นการสมัครสมาชิกแทนการขายเกมเป็นครั้งๆ Microsoft รายงานว่าแผนสมัครสมาชิก Game Pass ของ Xbox ช่วยลดความรุนแรงของดีมานด์ที่ลดลงได้มาก ขณะที่ Sony ก็มีการปรับปรุงสิทธิสมาชิก PS Plus โดยหวังว่าจะช่วยพยุงรายได้ต่อไป ปัจจุบัน ณ ไตรมาสสอง PS Plus มีสมาชิกอยู่ 47.3 ล้านราย ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย

Source

]]>
1395569
คาดการณ์ยอดขาย “วิดีโอเกม” 2022 ลดลงครั้งแรกในรอบ 7 ปี หมดอานิสงส์ล็อกดาวน์ https://positioningmag.com/1391663 Thu, 07 Jul 2022 06:36:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1391663 หมดเวลาสนุกแล้วสิ! ตลาด “วิดีโอเกม” ได้รับการคาดการณ์ว่า ยอดขายรวมทั่วโลกจะลดลง -1.2% ในปี 2022 หลายปัญหารุมเร้า เช่น ขาดแคลนชิป, การคว่ำบาตรรัสเซีย, ค่าครองชีพพุ่ง หลังจากมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 ช่วงเกิดโรคระบาดนั้นได้อานิสงส์สูงสุด ทำให้ตลาดเติบโตมากถึง 26%

Ampere Analysis บริษัทด้านวิจัยข้อมูลการตลาด คาดการณ์ว่ายอดขาย “วิดีโอเกม” ปี 2022 น่าจะเติบโตติดลบ -1.2% เทียบกับปีก่อน โดยลดเหลือมูลค่า 1.88 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.79 ล้านล้านบาท) ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบหลายปี อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2015

ตลาดวิดีโอเกมนั้นได้รับอานิสงส์อย่างมากในช่วงโรคระบาด โดยระหว่างปี 2019-2021 มีการเติบโตสะสม 26% ทำสถิติยอดขายต่อปีสูงสุดที่ 1.91 แสนล้านเหรียญ (ประมาณ 6.90 ล้านล้านบาท)

ในช่วงล็อกดาวน์จาก COVID-19 คนทั่วโลกเริ่มใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น และเมื่อทั้ง Microsoft และ Sony ออกเกมคอนโซลเจนใหม่ในปี 2020 จึงทำให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ยิ่งเติบโตดีมากขึ้นไปอีก

 

สารพันปัญหาของปีนี้

แต่การออก Xbox Series X และ S รวมถึง Sony PlayStation 5 ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะปัญหาการขาดแคลนชิปและการขนส่งขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ก็ทำให้มีดีมานด์แต่ไม่มีซัพพลายพอที่จะขายด้วยเช่นกัน

การบุกยูเครนของรัสเซียช่วงต้นปี 2022 ก็ทำให้เกิดความผันผวนในสายการผลิตมากขึ้นไปอีก โดยผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เกมหลายรายในรัสเซีย ตัดสินใจหยุดการผลิตไปก่อน ในจำนวนนี้รวมถึง Microsoft และ Sony ด้วย

ในแง่ดีมานด์ก็เช่นกัน รัสเซียถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 10 ของโลกที่ซื้อเกมเมื่อปี 2021 เมื่อเกิดการคว่ำบาตร เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายในรัสเซียหดลงจนตกไปอยู่ที่ 14 ตลาดเกมจะสูญเสียรายได้ราว 1,200 ล้านเหรียญ (ประมาณ 43,000 ล้านบาท)

นอกจากนี้ “ปิแอร์ ฮาร์ดิง-โรลส์” ผู้อำนวยการแผนกวิจัยที่ Ampere ยังบอกด้วยว่า ตัวเลขนี้บ่งบอกว่าอุตสาหกรรมเกมไม่ได้ “ทนทานต่อเศรษฐกิจถดถอย” จากความท้าทายเรื่องค่าครองชีพพุ่ง น่าจะมีผลกระทบต่อการบริโภคเกมด้วยเช่นกัน

ส่วนปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ปีนี้ไม่ใช่ปีที่ดีของตลาดเกม เช่น Apple มีการเปลี่ยนนโยบายด้านความเป็นส่วนตัว ทำให้นักพัฒนาเกมมือถือจะติดตามการใช้งานของผู้ใช้ iPhone ยากขึ้น หรือการดีเลย์การปล่อยเกมสุดฮิตอย่าง Starfield และ Redfall ของ Microsoft

อย่างไรก็ตาม Ampere ยังเชื่อว่าตลาดเกมจะกลับมาได้ในปี 2023 โดยคาดว่าจะมาทำสถิติใหม่เติบโตสู่ 1.95 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7.04 ล้านล้านบาท)

Source

]]>
1391663
‘NetEase’ ค่ายเกมเบอร์ 2 จีนเปิดตัวสตูดิโอเกมใหม่ในญี่ปุ่นเสริมแกร่งตลาด ‘คอนโซล’ https://positioningmag.com/1371497 Tue, 25 Jan 2022 09:35:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371497 หลายคนน่าจะรู้กันดีว่าอุตสาหกรรม ‘เกม’ นั้นใหญ่และมีการเติบโตสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทั่วโลกเจอการระบาดของ COVID-19 โดยข้อมูลจาก Newzoo มีระบุว่าในปี 2020 อุตสาหกรรมเกมมีทั่วโลกสามารถสร้างรายได้สูงถึง 1.8 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าภายในปี 2023 จะมีมูลค่าถึง 2 แสนล้านดอลลาร์

NetEase บริษัทเกมอันดับ 2 ของจีน คู่แข่ง Tencent เจ้าของเกมดังอย่าง Onmyoji ล่าสุดได้เปิดสตูดิโอเกมอีกแห่งในโตเกียวประเทศญี่ปุ่นชื่อ Nagoshi Studio หลังจากที่ปี 2020 เคยเปิดตัวค่าย Sakura Studio เนื่องจากบริษัทต้องการขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดย NetEase ได้ Toshihiro Nagoshi อดีตผู้สร้างซีรีส์เกม ‘ยากูซ่า’ ของสตูดิโอ Sega มาดูแลสตูดิโอ โดยทาง NetEase ระบุว่าสตูดิโอดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา เกมคอนโซลคุณภาพสูง เพื่อวางจำหน่ายทั่วโลก

NetEase ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากทั่วโลกเป็น 50% จากเดิมมีสัดส่วนเพียง 10% ส่วนที่เหลือมาจากตลาดจีน” Hu Zhipeng รองประธาน NetEase กล่าว

รู้จัก ‘NetEase’ คู่แข่งคนสำคัญของ ‘Tencent’ เตรียมเข้าตลาดหุ้นฮ่องกง ลุยเกม Console เต็มตัว

ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนตุลาคม 2021 ทาง NetEase ก็เพิ่งซื้อสตูดิโอ Grasshopper Manufacture ของนักสร้างเกมคนดัง “ซุดะ โกอิจิ” (Suda51) มาอยู่ใต้สังกัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การรุกตลาดต่างประเทศของ NetEase นั้นยังน้อยกว่าคู่แข่งอย่าง Tencent ที่ได้เข้าซื้อกิจการและการลงทุนในบริษัทเกมขนาดเล็กหลายแห่ง ส่วน NetEase นอกจากจะตั้งสตูดิโอใหม่ก็มีแค่เข้าถือหุ้นเล็กน้อยในบริษัทอื่นเท่านั้น

 

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ประเทศจีนเคยแบนเกมคอนโซลยาวจนถึงปี 2014 เป็นเวลาเกือบ 14 ปีที่จีนไม่ได้เล่นเกมคอนโซล ส่งผลให้ตลาดเกมคอนโซลในจีนมีขนาดเล็กลงมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บริษัทเกมของจีนอย่าง NetEase และ Tencent ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมบนพีซีและมือถือซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศนั้นเกมคอนโซลค่อนข้างเป็นที่นิยม ทำให้ค่ายเกมจากจีนเริ่มหันมาผลิตเกมคอนโซลเพื่อดึงดูดเกมเมอร์นอกประเทศ ทั้งนี้ เกมคอนโซลคิดเป็นเกือบ 28% ของรายรับจากตลาดเกมทั่วโลก 1.8 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ตามรายงานของบริษัทวิจัยตลาด Newzoo

นอกจากนี้ หลายคนยังมองว่าการที่ค่ายเกมจากจีนเริ่มหันมาทำตลาดโลกมากขึ้นเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลจีนที่เข้ามาควบคุมตลาดเกมมากขึ้นเพื่อไม่ให้เยาวชนถูกมอมเมาจนเป็นเหตุให้ค่ายจีนรายย่อยต้องปิดตัวลงจำนวนมาก

บริษัท ‘เกม’ จีนตายนับหมื่น เหตุขายเกมไม่ได้ เพราะรัฐบาล ‘ไม่อนุมัติเกมใหม่’ ลงตลาด

]]>
1371497
‘ซินเน็ค’ จับ ‘NADZ’ – ‘NGIN’ 2 พันธมิตรใหม่ลุยตลาด ‘เกม’ ชิงส่วนแบ่ง 3 หมื่นล้าน https://positioningmag.com/1368984 Tue, 28 Dec 2021 05:32:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368984 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาด ‘เกมมิ่ง’ ถือเป็นดาวรุ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงที่ COVID-19 ระบาดตลาดยิ่งเติบโตเนื่องจากคนมีเวลาว่างมากขึ้น ซินเน็ค (SYNEX) ดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอทีรายใหญ่ในไทยเองก็พยายามจะจับตลาดเกมมิ่งมากขึ้น โดยล่าสุดได้จับมือ NADZ-NGIN เพื่อเสริมแกร่งในตลาดเกม

ย้อนไปเมื่อปี 2020 ซินเน็คได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเกมมิ่งเกียร์ระดับโลกอย่างแบรนด์ Razer ส่งผลให้ครองมาร์เก็ตแชร์ในพอร์ตเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรวมกับเกมมิ่งเกียร์อันดับหนึ่งในประเทศไทย โดยมีแบรนด์ในมือกว่า 30 แบรนด์ ล่าสุด ได้ออกมาประกาศว่าได้จับมือกับ บริษัท เนคท์ เจเนอเรชั่น อินโนเวชั่น จำกัด (NGIN) ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายนำเข้าเกมคอนโซล และแผ่นเกมในไทย ซึ่งมีสินค้าเด่น ๆ อย่าง Nintendo Switch และ Play Station 5 (PS5)

นอกจากนี้ ซินเน็คยังได้จับมือกับ บริษัท แน๊ดซ์โปรเจค จำกัด (NADZ) ร้านจำหน่ายสินค้าในกลุ่มเกมคอนโซล และซอฟต์แวร์เกม เบื้องต้น ทาง NADZ จะเข้ามาเปิดช็อป NADZ by Synnex ภายในร้านค้าตัวแทนของซินเน็ค เริ่มจากในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และในต่างจังหวัดอีก 19 แห่ง

ปัจจุบัน ซินเน็คมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าไอทีกว่า 5,000 ช่องทาง และบริการหลังการขายสินค้าเกมมิ่งที่ครบวงจร ดังนั้น การจับมือกับทั้ง 2 บริษัทจะทำให้ซินเน็คขยายพอร์ตสู่ตลาดเกมคอนโซล และเข้าถึงเหล่าเกมเมอร์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะแผ่นเกม และเครื่องคอนโซล PlayStation 5

“สินค้าไอทีปรับไปที่เกมมากขึ้น เพราะคนไม่ได้แค่เรียนหรือทำงานออนไลน์ แต่หันมาเล่นเกมมากขึ้น และตอนนี้เกมขาเกมขาดตลาดมากสุด”

ทั้งนี้ ตลาดเกมของไทยมีมูลค่าราว 33,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 10-15% โดยแบ่งเป็นเกม Mobile 67%, PC 24% และ คอนโซล 9% ส่วนเฉพาะมูลค่าของ ฮาร์ดแวร์ คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดที่จะสร้างการเติบโตให้กับซินเน็ค

“ตลาดเกมดีตรงที่มีคนยอมจ่ายคล้ายกับ Apple แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่ขอแค่มีของคนก็ยอมจ่าย ซึ่งเราเห็นโอกาส เห็นการเติบโต และผู้เล่นในไทยแข็งแรงให้เราต่อยอดได้อย่างก้าวกระโดด”

สำหรับกลยุทธ์ในอนาคต ซินเน็คต้องการเป็นมากกว่าแค่ดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอที แต่เริ่มขยายให้ครอบคลุมอีโคซิสเต็มส์ เช่น เซอร์วิสที่จะมีบริการออนไซส์ เริ่มเข้าไปลงทุนในตลาดมือ 2 เพื่อทำให้บริษัทมีช่องทางมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำ House Brand เพื่อเพิ่มกำไรให้บริษัท และสิ่งที่ยังขาดคือ ซอฟต์แวร์เกม ที่ยังไม่ได้แตะ แต่สนใจทำในอนาคตเพื่อให้ครบวงจร

สำหรับการเติบโตในปี 63 คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 2 หลัก และในปีหน้าคาดว่าจะมีรายได้ 40,000 ล้านบาท โดยรายได้จากกลุ่มเกมมิ่งจะเติบโตได้ 2 หลัก จากที่ปัจจุบันสินค้าเกมมิ่งคิดเป็น 15% ของสัดส่วนรายได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาซัพพลายเชนยังคงส่งผลกระทบ อาจต้องรอดูสถานการณ์อีกที แต่มองว่าปีหน้าน่าจะดีขึ้น

]]>
1368984
เกมเมอร์ทำใจ! Sony ประกาศลดกำลังผลิต ‘Ps5’ เหลือ 15 ล้านเครื่อง เซ่นปัญหาขาดแคลนชิป https://positioningmag.com/1362012 Mon, 15 Nov 2021 05:10:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362012 เป็นเวลา 1 ปีแล้ว หลังจาก Sony เปิดตัว Play Station 5 หรือ Ps5 ซึ่งสามารถทำยอดขายได้ 13.4 ล้านเครื่องทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เครื่องเกมคอนโซลก็ยังเป็นของหายาก เพราะยอดขายที่มากกว่ากำลังการผลิตจะผลิตได้ เนื่องจากทั้งปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลต่อการผลิต และการขาดแคลนชิป

ก่อนหน้านี้ Sony ได้ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทได้ซื้อชิปเซมิคอนดักเตอร์มามากพอที่จะบรรลุเป้าหมายยอดขายในปีงบประมาณปัจจุบันที่ 14.8 ล้านเครื่อง แต่บริษัทก็ยังได้ชี้แจงด้วยว่า เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่การผลิตอาจต้องหยุดชะงักลง

อย่างไรก็ตาม รายงานโดย Bloomberg ได้อ้างว่าปัญหาด้านผลกระทบจาก COVID-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ Sony ยังต้องประสบปัญหาในการจัดหาชิปในการผลิต Ps5 สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน (ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2022) โดยก่อนหน้านี้ Sony หวังว่าจะผลิต PS5 ได้ที่ 16 ล้านเครื่องตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบัน มีรายงาน Sony ได้ปรับตัวเลขให้ลดลงเหลือ 15 ล้านเครื่อง ซึ่งแทบจะเท่ากับเป้าหมายยอดขาย 14.8 ล้านเครื่อง

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงตัวอย่างของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิป ที่ส่งผลกระทบต่อแผนของบริษัท อย่าง Nintendo เพิ่งออกมาประกาศว่าจะไม่สามารถผลิต Nintendo Switch ได้มากเพียงพอต่อความต้องการในช่วงเทศกาลวันหยุด ขณะที่ Valve เพิ่งเลื่อนการออก Steam Deck เครื่องเล่นเกมพกพา ที่เกิดจากการร่วมมือกันกับทาง AMD ไปเป็นกุมภาพันธ์ 2022 ด้วยเหตุผลเดียวกัน ก่อนหน้านี้ Microsoft ยังระบุด้วยว่าการขาดแคลน Xbox Series X/S จะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2022

ปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง บริษัทต่าง ๆ เช่น Toshiba, Foxconn และ AMD ได้กล่าวว่า สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นภายในปี 2022 แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง Intel ได้ประเมินว่าปัญหาดังกล่าวอาจขยายออกไปยาวถึงปี 2023

Source

]]>
1362012
‘Microsoft’ ปวดหัวเหตุ ‘Xbox’ ขายดีเกินไปจนผลิตไม่ทัน https://positioningmag.com/1312913 Tue, 05 Jan 2021 05:00:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1312913 การอยู่บ้านและเล่นเกมเป็นเทรนด์อย่างแน่นอนในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่เรื่องที่ยากที่สุดของเหล่าเกมเมอร์ในนาทีนี้ก็คือ การเป็นเจ้าของ ‘คอนโซลรุ่นล่าสุด’ อย่าง ‘Play Station 5’ และ ‘Xbox Series X และ Series S’

นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนคอนโซล PlayStation 5 ของ ‘Sony’ และ Xbox Series X และ Series S ของ ‘Microsoft’ ได้สร้างความต้องการมากกว่าที่ทั้ง 2 บริษัทจะสามารถผลิตออกมาได้ทัน โดย Phil Spencer รองประธานบริหารของ Microsoft Gaming ยอมรับถึงปัญหาการขาดแคลน Xbox รุ่นล่าสุด และกล่าวว่า เขาได้ขอความช่วยเหลือจากผู้ผลิตชิป AMD ในการผลิตชิปประมวลผลและกราฟิกสำหรับคอนโซล Xbox ให้มากขึ้น

“เราคุยโทรศัพท์กับ Lisa Su CEO AMD พร้อมกับถามว่าเราจะได้ชิปมากขึ้นได้อย่างไร เพราะตั้งแต่เราได้เปิดตัวคอนโซล หวังว่าเราจะมีของมากกว่านี้ เพราะเราขายหมดเร็วเกินไป โดยเราคาดว่าปัญหาการขาดตลาดจะยาวไปถึงฤดูใบไม้ผลินี้” Spencer กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ในเดือนพฤศจิกายนว่า Microsoft และ Sony มีเจตนา ‘จำกัดการผลิต’ เพื่อช่วยเพิ่มผลกำไรสูงสุด ซึ่ง Spencer ยืนยันว่าบริษัทไม่ได้ทำแน่นอน พร้อมระบุว่าหลายบริษัทประสบปัญหาการหยุดชะงักของซัพพลายเชนรวมถึงการขาดแคลนที่เกิดจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างการระบาดของ COVID-19

“เราไม่ได้แทงกั๊กหรือชะลอการผลิต เราพยายามผลิตให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรามีสายการประกอบทั้งหมดที่กำลังดำเนินอยู่ โดยเราได้เห็นความต้องการทั่วโลกอย่างล้นหลามจากแฟน ๆ ของเราสำหรับ Xbox รุ่นต่อไป และกำลังทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกับพันธมิตรค้าปลีกของเราเพื่อนำ Xbox ไปเติมสต๊อกให้เร็วที่สุด เพราะเราแทบรอไม่ไหวแล้วที่แฟน ๆ จะได้สัมผัสประสบการณ์การเล่นเกมบน Xbox Series X และ Series S”

ในระหว่างรายงานผลประกอบการรายไตรมาสล่าสุดในเดือนตุลาคม Microsoft มีการเติบโตของรายได้ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีสำหรับเนื้อหาและบริการ แต่ในส่วนของ Xbox กลับทรงตัวในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วน AMD ในไตรมาสที่ 3 สิ้นสุดที่เดือนกันยายนรายได้เติบโต 56% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี ทั้งนี้ หุ้นของ Microsoft เพิ่มขึ้นเกือบ 37% ในปีที่ผ่านมา AMD เพิ่มขึ้นเกือบ 91%

“ตอนนี้มีความสนใจในการเล่นเกมเป็นอย่างมากและฮาร์ดแวร์ก็ขาดตลาด ดังนั้น ยอดขายคอนโซลถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่เห็นได้ชัด ซึ่งเรากำลังทำงานอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้”

Source

]]>
1312913
เจาะลึกสงคราม ‘คอนโซล’ เมื่อ ‘Microsoft’ มองไกลกว่าแค่เอา ‘Xbox’ มาชนตรงกับ ‘Ps5’ https://positioningmag.com/1306271 Mon, 16 Nov 2020 12:45:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306271 ถือเป็นสงครามที่ยาวนานของ ‘Sony (โซนี่)’ และ ‘Microsoft (ไมโครซอฟท์)’ กับการปะทะกันของ ‘Play Station : Ps’ (เพลย์สเตชั่น) และ ‘Xbox’ (เอ็กซ์บ็อกซ์) ซึ่งผู้ที่กำชัยมาโดยตลอดก็คือ Sony โดยตั้งแต่ที่ ‘Xbox One’ วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2013 จนถึงต้นปี 2020 สามารถทำยอดขายได้เพียง 41 ล้านเครื่องหรือเพียง ‘ครึ่งเดียว’ ของ ‘Ps4’ ที่มียอดขายถึง 91 ล้านเครื่อง แต่ในสงครามของ ‘Xbox Series X’ และ ‘Series S’ ใหม่ที่ขอท้าชน ‘Ps5’ ครั้งนี้ดูเหมือน Microsoft จะไม่ได้โฟกัสที่จำนวนยอดขาย แต่มองไปไกลกว่านั้น

เครื่องแรงแต่ไม่มีเกม Exclusive

การแพร่ระบาดทำให้ผู้คนมีเวลาว่างในการเล่นเกมมากขึ้น นักเล่นเกมอาจติดยาเสพติดไปอีกหลายปีซึ่งหมายถึงธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับทั้ง 2 บริษัท โดยส่วนของ Gaming คิดเป็น 24% ของรายได้ทั้งหมดของ Sony และคิดเป็น 8% ของรายได้ของ Microsoft แต่ Microsoft เป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับสามรองจาก Apple และ Saudi Aramco เท่านั้น ซึ่งความสำเร็จในการเล่นเกมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นจำนวนมาก

ล่าสุด Microsoft และ Sony เปิดตัวเครื่องเล่นวิดีโอเกมใหม่ในสัปดาห์นี้ โดย Microsoft มี Xbox Series X ราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ และ Series S ราคา 300 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ Sony มี PlayStation 5 สองรุ่นเริ่มต้นที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเครื่องคอนโซลของทั้ง 2 แบรนด์ถือเป็นคอนโซลรุ่นล่าสุดในรอบ 7 ปีเลยทีเดียว
อย่างที่รู้กันว่า Ps4 ของ Sony สามารถทำรายได้อย่างถล่มทลาย เนื่องจากมีไม้ตายก็คือ ‘เกม Exclusive’ ที่ไม่มีให้บริการในระบบอื่น ๆ อาทิ ‘Uncharted 4’ ‘Horizon Zero Dawn’ และ ‘Spider-Man’ ส่วน Xbox One มีแค่ไม่กี่เกม อาทิ ‘Halo 5’

โดย Blackley Lewis Ward ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเกมของ IDC มองว่า Sony จะขายคอนโซล PlayStation 5 ได้มากถึง 5 ล้านเครื่องในปีนี้ ส่วน Microsoft ขายคอนโซล Xbox Series X และ S ได้ 3.8 ล้านเครื่อง ซึ่งความได้เปรียบยังมาจากเกม Exclusive

ยอดขายไม่สำคัญเท่า คนเล่น

อย่างไรก็ตาม Microsoft ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการเล่นเกมตั้งแต่เปิดตัว Xbox One โดย Phil Spencer รองประธานบริหารฝ่ายเกมของ Microsoft ซึ่งถือเป็น หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดแห่งวงการเกม กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Verge เมื่อปีที่แล้วว่า การวัดความสำเร็จจากการจัดส่งคอนโซลไม่สำคัญเท่ากับการมีส่วนร่วมรวมถึงจำนวนคนที่เล่นด้วย

ดังนั้น Xbox Series X และ S ใหม่แค่จะไม่มีเกม Exclusive พิเศษเหมือนครั้งที่แล้ว แล้ว Microsoft จะโดดเด่นอย่างไร? คำตอบคือ Xbox Game Pass ซึ่งเป็นบริการสมัครสมาชิกออนไลน์ที่ช่วยให้ลูกค้ามีเกมมากกว่า 100 เกมในมือในราคาเพียง 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 300 บาทต่อเดือน ขณะที่ Ps5 ก็มี ‘PlayStation Plus Collection’ ระบบ Subscription เกมที่ผู้ใช้ Ps5 เล่นเกม Exclusive PlayStation และเกม Third-Party ของ Ps4 ซึ่งแม้ราคาจะถูกกว่าครึ่ง (5 เหรียญต่อเดือน หรือราว 150 บาท) แต่จำนวนเกมก็น้อยกว่ามาก

กว้านซื้อสตูดิโอเกมไม่หยุด

ปัจจุบันฝ่ายเกมของ Microsoft ได้รับความสนุกสนานในการเข้าซื้อกิจการสตูดิโอพัฒนาเกมอย่างมาก โดยที่ผ่านมาได้ซื้อไปแล้วถึง 23 รายรวมถึง Bethesda กับ Zenimax ในมูลค่าถึง 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ล่าสุดมีข่าวว่า Microsoft เริ่มเข้าหาผู้พัฒนาเกมในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของ Nintendo และ Sony แล้ว ขณะที่ Sony เองมีสตูดิโอเกมในมือประมาณ 14 ราย

ปัจจุบัน นักลงทุนให้ความสำคัญกับยอดขายคอนโซลของ Microsoft น้อยลง เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วบริษัทได้เปิดตัวเมตริกใหม่ คือ การเติบโตของรายได้จากเนื้อหาและบริการของ Xbox ซึ่งรวมถึงการสมัครใช้บริการ Game Pass และบริการ Xbox Live

Keith Weiss และ Josh Baer นักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley มองว่า ยอดขายคอนโซลที่สูงขึ้นไม่ได้ช่วยเรื่องการเงินของ Microsoft เสมอไป ยิ่ง Microsoft มีรายได้จากคอนโซลมากขึ้นในปีงบประมาณปัจจุบันซึ่งสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน อัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมของบริษัทก็จะยิ่งลดลง ส่งผลให้ Microsoft ให้ความสำคัญกับการดึงสมาชิก Game Pass มากกว่าการขายคอนโซลซึ่งแตกต่างจาก Sony

“การจะมุ่งเน้นไปที่คอนโซลเพียงอย่างเดียวเป็นวิธีที่ไม่สมบูรณ์ในการประเมินอุตสาหกรรมเกมและจะเติบโตอย่างไรในอนาคต เนื่องจากนักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับเราสามารถเข้าถึงเกมเมอร์ผ่านพีซี คอนโซลและมือถือ ด้วยระบบคลาวด์ และผู้เล่นใหม่ทุกคนที่เก็บเกมของพวกเขาก็มีตัวเลือกมากมายสำหรับวิธีการเล่น”

Source

]]>
1306271