เกษียณอายุ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 15 Jun 2023 13:32:12 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 55% ของคนทำงานยังมี “เงินเก็บ” ไม่พอใช้หลัง “เกษียณ” หรือยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันนั้นจะมีพอหรือเปล่า https://positioningmag.com/1434313 Thu, 15 Jun 2023 12:43:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1434313 World Economic Forum สำรวจกลุ่มตัวอย่างจากคนวัยทำงานในหลายทวีป พบว่าคนส่วนใหญ่ 55% ยังไม่มี “เงินเก็บ” พอใช้หลัง “เกษียณ” หรือยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันนั้นจะมีพอหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม 44% ของคนวัยต่ำกว่า 40 ปียังฝันถึงการเกษียณในวัยไม่เกิน 60 ปี แม้แนวโน้มของคนส่วนใหญ่จะทำไม่ได้ตามเป้า

คนในโลกนี้พร้อมแค่ไหนที่จะ “เกษียณ” อายุ? World Economic Forum (WEF) หาคำตอบผ่านการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 397 คนจากหลากหลายทวีป ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ทวีปเอเชีย และตะวันออกกลาง ตามลำดับ โดย 90% สำรวจในกลุ่มคนที่จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีขึ้นไป แต่มีการกระจายตัวของกลุ่มอายุ ตั้งแต่ไม่เกิน 20 ปี จนถึงกลุ่มอายุมากกว่า 70 ปี

การสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะสหประชาชาติพบว่าค่าเฉลี่ยอายุขัยประชากรได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากอายุขัย 48 ปีในปี 1950 ขึ้นมาเป็น 73 ปีในปี 2019 และยังคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะขึ้นไปแตะ 81 ปีในปี 2100 อีกด้วย

ด้วยอายุขัยที่เพิ่มมากขึ้นจากคนรุ่นพ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่าตายายถึง 20 ปี นั่นแปลว่าประชากรวัยเกษียณในยุคต่อจากนี้จะต้องมีเงินเก็บเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณมากกว่าเดิม มิฉะนั้นอาจเกิดความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนยากไร้ในวัยชราได้

นอกจากอายุขัยจะเพิ่มขึ้นแล้ว ความคาดหวังของคนยุคนี้ยังต้องการจะเกษียณเร็วด้วย โดย 44% ของคนวัยไม่เกิน 40 ปี หวังว่าตนจะได้เกษียณในวัยไม่เกิน 60 ปี

(Photo : Shutterstock)

ในทางกลับกัน มีคนกลุ่มใหญ่เหมือนกันที่ต้องการทำงานไปเรื่อยๆ โดยมี 40% ของผู้ถูกสำรวจที่ต้องการทำงานไปจนอายุมากกว่า 65 ปี หากแยกตามประเทศที่อาศัยอยู่ คนทำงานจนถึงวัยชรามักจะอยู่ในเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน

แล้วคนเรามองว่า “ตนเองต้องการรายได้เท่าไหร่หลังเกษียณ?” คำตอบเป็นดังนี้

  • 9% ต้องการ 1 ส่วน 3 ของรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 24% ต้องการ 1 ส่วน 2 ของรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 38% ต้องการ 2 ส่วน 3 ของรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 23% ต้องการเท่ากับรายรับสุทธิปัจจุบัน
  • 6% ต้องการมากกว่ารายรับสุทธิปัจจุบัน
เกษียณ
(ที่มา: World Economic Forum)

 

ความเป็นจริงแล้วคนเราจะไม่ได้ “เกษียณ” ตามแผนที่ฝันไว้

แม้ว่าจะมีตัวเลขในใจแล้วว่าควรมีรายได้เท่าไหร่หลังเกษียณ แต่คนถึง 55% กลับยังไม่มีเงินเพียงพอหรือยังไม่รู้ว่าตัวเองจะมีเงินเก็บได้ถึงเป้าที่ตั้งไว้หลังเกษียณหรือไม่ และเฉพาะในกลุ่มคนวัยไม่เกิน 40 ปี มีถึง 37% ที่ยังไม่เคยคำนวณเลยด้วยว่าตนเองต้องมีเงินเก็บหลังเกษียณมากน้อยแค่ไหน

WEF ยังรายงานด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้วมีความเป็นไปได้ที่คนส่วนใหญ่จะไม่ได้เกษียณตามแผนที่ฝันไว้ เพราะตัวเลขรายได้หลังเกษียณที่ต้องการไม่สอดคล้องกับความจริงที่สามารถทำได้ นั่นแปลว่าคนทำงานจะมีทางออกอยู่ 4 เส้นทางหากต้องการจะถึงฝัน คือ

  1. เก็บเงินออมให้มากขึ้นตั้งแต่วันนี้
  2. เกษียณให้ช้าลง
  3. ยอมรับที่จะมีรายได้หลังเกษียณน้อยลง
  4. ปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เสี่ยงมากขึ้นแต่โอกาสได้ผลตอบแทนจะสูงขึ้น
45% ของกลุ่มคนวัยไม่เกิน 40 ปี คาดว่าตนเองจะต้องมีเงินเก็บเตรียมไว้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่จะทำให้แผนเกษียณของคนยุคต่อไปยากยิ่งขึ้น เพราะคนกลุ่มใหญ่มองว่านอกจากจะเตรียมเงินเก็บให้ตนเองแล้ว “ยังต้องเตรียมเงินเก็บไว้ดูแลพ่อแม่ยามแก่ชราด้วย” โดย 1 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจเห็นด้วยว่าตนเองจะต้องใช้เงินดูแลพ่อแม่ในอนาคต

ตัวเลขนี้ยิ่งสูงขึ้นในกลุ่มคนวัยไม่เกิน 40 ปี ซึ่งมีถึง 45% ที่คาดว่าตนเองจะต้องมีเงินเก็บเตรียมไว้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า โดยเฉพาะผู้ถูกสำรวจจากทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงคนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่คนผิวขาวในทุกทวีป จะยิ่งมีค่าเฉลี่ยปัจจัยเรื่องการดูแลพ่อแม่มากกว่าคนอื่น

สรุปจาก WEF มีความเห็นว่า โลกกำลังก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ที่ประชากรต้องเปลี่ยนมุมมองเรื่องการ “เกษียณ” ที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อน จากในอดีตคนเรามีขั้นตอนการใช้ชีวิต 3 ขั้น คือ วัยเรียน, วัยทำงาน และวัยเกษียณ แต่ยุคต่อไปชีวิตจะมีหลายขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นและคนเราอาจจะมีทางเดินหลายแบบ หมายถึงเราจะต้องอาศัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปลี่ยนแปลงอาชีพ และมีอาชีพใหม่ในช่วงบั้นปลาย รวมถึงโลกทางการเงินอาจจะต้องมีวิธีหรือนวัตกรรมใหม่ที่จะส่งเสริมให้คนยังยืดหยุ่นทางการเงินได้ หากอายุขัยยืนยาวขึ้นกว่าเดิม

Source

]]>
1434313
“ไทย” ติดอันดับ 9 ประเทศที่เหมาะใช้ชีวิตหลัง “เกษียณ” มากที่สุดในโลก ปี 2023 https://positioningmag.com/1432527 Tue, 30 May 2023 12:38:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1432527 นิตยสาร International Living จัดอันดับประเทศที่เหมาะกับกับการใช้ชีวิตวัย “เกษียณ” ประจำปี 2023 ปรากฏ “ไทย” ติดโผในอันดับ 9 และเป็นประเทศแถบเอเชียหนึ่งเดียวที่ติดลิสต์ในกลุ่ม 10 อันดับแรก สะท้อนศักยภาพประเทศไทยยังแข็งแรงหลังผ่านพ้นโควิด-19

International Living นิตยสารอเมริกันด้านการใช้ชีวิตเกษียณในต่างประเทศที่มีมานานกว่า 30 ปี และมีการจัดอันดับประเทศที่เหมาะกับกับการใช้ชีวิตวัย “เกษียณ” อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2023 ปรากฏว่าประเทศ “ไทย” ยังคงอยู่ในใจชาวต่างชาติ ติดอันดับลิสต์นี้ในอันดับที่ 9

ไทยถือเป็นประเทศแถบเอเชียหนึ่งเดียวในกลุ่ม 10 อันดับแรก ร่วมกับประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา โดยนิตยสารฉบับนี้มองจุดเด่นไทยในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ คือ ค่าครองชีพต่ำ อุดมด้วยแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งไลฟ์สไตล์ ระบบสาธารณสุขดีและบุคลากรสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ รวมถึงสภาพอากาศมีแดดตลอดปี

การจัดอันดับของ International Living นั้นรวบรวมอินไซต์จากเครือข่ายแหล่งข่าวที่นิตยสารมี ซึ่งทางนิตยสารมองว่ามีน้ำหนักมากกว่าการเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาโหวตหรือส่งข้อมูลใดๆ ก็ได้

10 อันดับแรกประเทศที่เหมาะกับกับการใช้ชีวิตวัย “เกษียณ” ประจำปี 2023 ได้แก่

อันดับ 10 โคลอมเบีย
Cartagena de Indias ประเทศโคลอมเบีย (Photo: Shutterstock)

จุดเด่นของโคลอมเบีย คือ การได้ใช้ชีวิตในภูมิอากาศที่ดีตลอดปีด้วยค่าครองชีพต่ำ และวัฒนธรรมคนท้องถิ่นเปิดกว้างต่อคนแปลกหน้า ยินดีต้อนรับผู้มาอยู่อาศัยใหม่ นอกจากนี้ โคลอมเบียยังมีระบบสาธารณสุขที่ดีระดับ Top 25 ของโลก ในราคาที่ต่ำกว่าในสหรัฐฯ 2-3 เท่า

ปัจจุบันโคลอมเบียมีวีซ่าระบบใหม่เอื้อต่อผู้พำนักต่างชาติมากขึ้น โดยชาวต่างชาติที่มีเงินบำนาญไม่ต่ำกว่าเดือนละ 700 เหรียญสหรัฐ สามารถขอวีซ่าเกษียณในโคลอมเบียได้ทันที รวมถึงมีการเปิดวีซ่าสำหรับกลุ่ม ดิจิทัล โนแมด ด้วยเช่นกัน

ค่าใช้จ่ายที่ต่ำในโคลอมเบียหมายถึงการมีรายได้ 1,000-2,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างสบายในไลฟ์สไตล์แบบชนชั้นกลางบนได้ โดยโคลอมเบียมีแหล่งไลฟ์สไตล์มากมาย เช่น สนามกอล์ฟ สนามเทนนิส เต้นรำแทงโก้ พิพิธภัณฑ์ แกลลอรีศิลปะ โรงละคร ฯลฯ

อันดับ 9 (ร่วม) ไทย
หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต

จุดเด่นของไทย คือ ภูมิอากาศร้อน แสงแดดสดใส แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมงดงามตั้งแต่หมู่เกาะทางใต้ ไปจนถึงขุนเขาทางเหนือ เต็มไปด้วยแหล่งไลฟ์สไตล์ ร้านอาหาร-คาเฟ่หลายสัญชาติ งานเทศกาลต่างๆ ที่ทำให้ผู้มาอาศัยมีชีวิตชีวาเสมอ รวมถึงระบบสาธาณสุขดีเยี่ยมโดยบุคลากรที่พูดภาษาอังกฤษได้ โดยทั้งหมดนี้มาพร้อมกับค่าครองชีพที่ต่ำ

ประเทศไทยยังเป็นแหล่งเกษียณอายุมานานหลายทศวรรษ ทำให้ปัจจุบันมีชุมชน expat ที่แข็งแรง โดยเฉพาะชาวอเมริกัน อังกฤษ แคนาเดียน ฝรั่งเศส และสวิส

ในแง่ค่าครองชีพ expat ส่วนใหญ่ในไทยมองว่าหากมีรายได้ 2,500 เหรียญสหรัฐต่อเดือนก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในไทยได้แล้ว

อันดับ 9 (ร่วม) อิตาลี
Photo : Shutterstock

จุดเด่นของอิตาลี คือ ภูมิอากาศ ชายหาด อาหาร ไวน์ กีฬา ระบบสาธารณสุขอันดับ 2 ของโลก และไลฟ์สไตล์ที่แวดล้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

โครงสร้างพื้นฐานของอิตาลีก็รองรับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชน อินเทอร์เน็ตเข้าถึงทั่วประเทศ ระบบไฟฟ้าเสถียร น้ำประปาดื่มได้

ด้านค่าครองชีพที่คนมักจะมองว่าแพง แต่จริงๆ แล้วสามารถใช้ชีวิตได้ในราคา 3,500 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หากเลือกพักอาศัยในเมืองหรือในทำเลที่ไม่ใช่จุดท่องเที่ยวหลัก และปัจจุบันอิตาลีมีบางเมืองที่ต้องการหาผู้พักอาศัยด้วย โดยการจ่ายค่าที่พักให้บางส่วนเพื่อดึงคนเข้ามา

อันดับ 8 ฝรั่งเศส
(Photo by Pascal Le Segretain/Getty Images )

ฝรั่งเศสมักจะถูกมองข้ามเมื่อพูดถึงประเทศสำหรับใช้ชีวิตวัยเกษียณ แต่ที่จริงแล้วฝรั่งเศสมีจุดเด่นที่ “คุณภาพชีวิต” ซึ่งฝังอยู่ในวัฒนธรรม มีภูมิความรู้ด้าน “อาหาร” ที่ได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกประเภทจับต้องไม่ได้ สิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสเอื้อให้คนวัยเกษียณได้ใช้ชีวิต “สโลว์ไลฟ์” อย่างที่ต้องการ

สำหรับค่าครองชีพที่หลายคนกังวล ที่จริงแล้วหากไม่ได้เลือกอาศัยในปารีสหรือเฟรนช์ริเวียร่า ค่าที่พักจะถูกกว่าในสหรัฐฯ​ ประมาณ 34%

อันดับ 7 กรีซ
ซานโตรินี่ ประเทศกรีซ (Photo by Aleksandar Pasaric from Pexels)

ไม่ต้องสืบเลยว่าทำไมกรีซจึงอยู่ในลิสต์ ประเทศชายทะเลเมดิเตอเรเนียนนี้มีวิวทิวทัศน์แสนงาม ผู้คนมีใจรักการบริการ อาหารชั้นเลิศ เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ และค่าครองชีพไม่สูงมากนัก

หนึ่งในวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเกษียณอายุ คือคนกรีกมีความเคารพและโอบอุ้มกลุ่มคนสูงวัยมาก ทำให้คนสูงวัยยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และทำให้ระบบการแพทย์มีคุณภาพในราคาถูก บุคลากรการแพทย์ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ดี

ค่าครองชีพที่ว่าถูกนั้นประมาณการว่าถูกกว่าในสหรัฐฯ ราวครึ่งหนึ่ง และไลฟ์สไตล์ในกรีซยังทำให้การเข้าสังคมไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากอีกด้วย

อันดับ 6 สเปน
(Photo by David Ramos/Getty Images)

อีกหนึ่งประเทศชายทะเลที่มีแดดตลอดปี เป็นประเทศยอดนิยมหลังเกษียณของคนในยุโรปด้วย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เยอรมัน หรือกลุ่มยุโรปเหนือ ชื่นชอบที่จะย้ายมาใช้ชีวิตในสเปนหลังเกษียณ

ค่าครองชีพที่จริงไม่ได้สูงมากนัก โดยสามารถใช้จ่ายที่ 2,000-2,500 เหรียญสหรัฐต่อเดือนได้ หากเลือกอาศัยในเมืองที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญหรือเมืองหลวง และราคาพืชผักผลไม้ยังถูกกว่าในสหรัฐฯ​ มากทำให้มีโภชนาการที่ดี นำไปสู่อายุที่ยืนยาว

นอกจากนี้ สเปนยังเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ มากที่สุดในโลก ทำให้มีชุมชนคนวัยเกษียณที่เป็นเพศ LGBTQ+ อยู่ด้วย

อันดับ 5 คอสตาริกา
Photo by Edgar Arroyo / Pexels

ปัจจุบัน 10% ของผู้อาศัยในคอสตาริกาเป็น expat ต่างชาติที่ถูกดึงดูดด้วยจุดเด่นหลายอย่าง เช่น ภูมิอากาศ ค่าครองชีพต่ำ มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตนอกบ้าน คนท้องถิ่นที่เป็นมิตร และล่าสุดยังให้สิทธิแต่งงานของเพศเดียวกัน ทำให้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เหมาะกับ LGBTQ+

คอสตาริกามีชื่อเล่นว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แห่งอเมริกากลาง” เพราะประเทศไม่มีกองทัพมาตั้งแต่ปี 1948 และใช้งบประมาณส่วนนี้ไปกับการศึกษาและระบบสาธารณสุข จนทำให้เป็นประเทศชั้นนำด้านการแพทย์ในแถบละตินอเมริกา

ค่าครองชีพในคอสตาริกาอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 เหรียญสหรัฐ เพื่ออาศัยในบ้านหรือคอนโดฯ ขนาด 2 ห้องนอน และใช้ชีวิตได้สะดวกสบาย

อันดับ 4 เอกวาดอร์
เอกวาดอร์ (Photo by Alejandra Tellez Venegas / Pexels)

ประเทศนี้กำลังมาแรงเพราะการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น 30% ในช่วง 5 ปีหลัง ถือเป็นประเทศใหม่ที่คนยังไม่ค่อยรู้จัก แต่ expat กลับย้ายเข้าไปอยู่มากขึ้น เพราะพบว่าค่าครองชีพถูก แต่มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งขนส่งมวลชนและอินเทอร์เน็ตพร้อม ในภูมิอากาศแสงแดดสดใสชายทะเลแปซิฟิก และผู้คนที่เป็นมิตรกับไลฟ์สไตล์สุดชิล

ค่าครองชีพในเอกวาดอร์อยู่ที่ประมาณ 1,500-1,800 เหรียญสหรัฐต่อเดือนเท่านั้น

อันดับ 3 ปานามา
ปานามา (Photo by Luis Quintero / Pexels)

ปานามามีเสน่ห์จากทะเลสีฟ้าคราม และกิจกรรมไลฟ์สไตล์ครบทั้งแหล่งเที่ยวกลางคืน ร้านอาหาร คาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร ฯลฯ มาพร้อมกับค่าครองชีพและราคาอสังหาริมทรัพย์ยังไม่สูง พร้อมด้วยบริการทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และน้ำประปาดื่มได้

ปานามามีวีซ่าที่ส่งเสริมให้ expat มาเกษียณอายุที่นี่ โดยถ้าหากมีบำนาญมากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือนก็สามารถยื่นขอวีซ่าได้ทันที ทำให้มีชุมชนคนต่างชาติจากทั่วโลกมาอาศัย เช่น อเมริกัน แคนาเดียน เวเนซูเอลา อาร์เจนตินา จาไมกา ฝรั่งเศส กรีก เกาหลี จีน ฯลฯ

อันดับ 2 เม็กซิโก
เม็กซิโก (Photo by Rafael Guajardo / Pexels)

เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศหลากหลายมาก ตั้งแต่ชายหาด ทะเลทราย ป่าดิบชื้น จนถึงภูเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม ประเทศนี้ถือเป็นแหล่งอาศัยของ expat อเมริกันและแคนาเดียนมากกว่า 2 ล้านคน

ด้วยความหลากหลายของประเทศทำให้มีไลฟ์สไตล์ตอบสนองคนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเที่ยวกลางคืน ปีนเขา เต้นรำ คอนเสิร์ต ละครเวที ฯลฯ และคนท้องถิ่นยังมีความเป็นมิตร ทำให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้ไม่ยาก

ค่าครองชีพในเม็กซิโกอยู่ที่ 2,000-2,500 เหรียญสหรัฐต่อเดือน รวมค่าประกันสุขภาพแล้ว

อันดับ 1 โปรตุเกส

ประเทศที่เป็นมิตรกับการเกษียณอายุด้วยภูมิประเทศติดกับทะเลเมดิเตอเรเนียน เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อาหาร รวมถึงผู้คนท้องถิ่นที่เป็นมิตร ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ดีโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ทำให้ประเทศนี้ยินดีต้อนรับชาวต่างชาติ

แหล่งเกษียณของโปรตุเกสนั้นมีให้เลือกทั้งเมืองชายทะเลใกล้ชิดกับแหล่งเกษตรกรรม หรือเมืองหลวงลิสบอนที่เต็มไปด้วยแหล่งไลฟ์สไตล์ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ค่าครองชีพประมาณ 2,500-3,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน

]]>
1432527
ค้าปลีกในญี่ปุ่น เริ่มขยายเวลาเกษียณอายุการทำงานจาก 65 ปี เป็น 80 ปี รับวิกฤตสังคมสูงวัย https://positioningmag.com/1289697 Mon, 27 Jul 2020 12:15:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1289697 ร้านค้าปลีกในญี่ปุ่น เริ่มขยายอายุขยายระยะเวลาทำงาน หรือขยายเวลาเกษียณอายุให้กับพนักงานไปจนถึงอายุ 80 ปี (ตามความสมัครใจ) จากเดิมที่บริษัทมีภาระผูกพันที่จะต้องให้พนักงานทำงานจนถึงอายุ 65 ปี

การเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นของญี่ปุ่น กำลังสร้างความกังวลให้กับการพัฒนาประเทศชาติ เพราะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โครงสร้างงบประมาณประกันสังคม อีกทั้งยังขาดเเคลนเเรงงานเเละมีอัตราการเกิดต่ำ

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า บรรดาบริษัทเอกชนในญี่ปุ่น จะต้องขยายอายุการจ้างงานพนักงานไปจนถึงอายุ 70 ปี ตามนโยบายรัฐบาล เเต่ตอนนี้ร้านค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อย่าง Nojima ไปไกลกว่านั้น ด้วยการขยายไปจนถึง 80 ปี ครอบคลุมพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ในโยโกฮาม่าราว 3,000 คน

ในปัจจุบัน Nojima ไม่ได้พึ่งพายอดขายจากร้านค้าตัวเเทนอย่างเดียว เเต่เน้นไปที่การให้บริการลูกค้าที่ให้ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ในช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์เเละออนไลน์ ดังนั้นพนักงานที่มีทักษะการบริการลูกค้าจึงเป็นทรัพยากรที่มีค่า

Yoshiyuki Tanaka ผู้บริหารของ Nojima กล่าวว่า บริษัทต้องการจะเห็นพนักงานอาวุโสเหล่านี้มีบทบาทในอาชีพการงานต่อไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องสถานที่มากนัก อย่างไรก็ตาม การต่ออายุการทำงานจนถึง 80 ปีครั้งนี้จะมีการต่อสัญญาเป็นรายปี ซึ่งรายละเอียดจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการทำงานของแต่ละบุคคล

โดยการขยายอายุการทำงานครั้งนี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจค้าปลีกรายอื่นๆ ให้หันมาสนใจลงทุนในทรัพยากรบุคคลมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสังคมสูงวัยในประเทศ ที่ผู้สูงอายุต้องเกษียณออกมาอยู่ตามลำพังอย่างเดียวดาย เเละช่วยลดการขาดเเคลนเเรงงาน ที่กำลังเป็นวิกฤตใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น

 

ที่มา : Nikkei Asian Review

]]>
1289697
ถ้าพนักงานวัย “เบบี้บูม” ต่ออายุปลดเกษียณ เจนเอ็กซ์-เจนวายจะถูกลดโอกาสขึ้นเงินเดือน https://positioningmag.com/1283227 Thu, 11 Jun 2020 15:53:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1283227
  • งานวิจัยจากอิตาลีพบว่า หากพนักงานวัยเบบี้บูมขอต่ออายุงานก่อนเกษียณออกไปอีก พนักงานรุ่นน้องจะถูกบล็อกจากการเลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า รวมถึงการขึ้นเงินเดือนด้วย
  • หากคิดเป็นอัตราเฉลี่ยคือ การยืดอายุงานก่อนเกษียณ 1 ปี จะทำให้พนักงานที่เด็กกว่าถูกลดโอกาสเลื่อนขั้นไป 20%
  • ยิ่งเป็นบริษัทที่เติบโตช้า ผลกระทบต่อพนักงานอายุน้อยจะยิ่งเห็นชัดขึ้น
  • “พนักงานอาวุโสยืดเวลาปลดเกษียณ ทำให้พนักงานอายุน้อยไม่ได้เลื่อนขั้นเสียที” เสียงบ่นทำนองนี้เป็นเรื่องปกติในหมู่คนเจนเอ็กซ์-เจนวาย

    แต่นักเศรษฐศาสตร์มักจะโต้แย้งแนวคิดนี้ด้วยสองเหตุผลคือ หนึ่ง หากพนักงานอายุน้อยแสดงความสามารถ บริษัทสามารถปรับเพิ่มตำแหน่งระดับบริหารให้พวกเขาได้ สอง หากบริษัทที่พวกเขาทำงานอยู่ไม่ดูแลเรื่องเลื่อนขั้น บริษัทคู่แข่งจะยื่นข้อเสนองานที่ดีกว่าทันที “ถ้าคุณทำงานได้ดีจริงๆ ใครบางคนจะโฉบเข้ามาคว้าตัวคุณไป” นิโคล่า เบียนคี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ธุรกิจ มหาวิทยาลัย Kellogg กล่าว

    แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น เสียงบ่นของพนักงานอายุน้อยจะมีความจริงอยู่ในนั้นบ้างไหม?

    คำตอบคือ “มี” เพราะงานวิจัยใหม่โดยเบียนคี และ ไมเคิล พาวเวลล์ รองศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ธุรกิจ มหาวิทยาลัย Kellogg พิสูจน์ว่า การเกษียณช้าของพนักงานรุ่นใหญ่มีผลต่อพนักงานรุ่นน้องจริง

    (Photo by August de Richelieu from Pexels)

    โดยทีมของพวกเขาเลือกหยิบนโยบายปฏิรูปของอิตาลีเมื่อปี 2011 ซึ่งปรับข้อกำหนดการรับเงินบำนาญให้เข้มงวดขึ้นและลดเงินบำนาญลง ส่งผลให้สูตรการคำนวณเพื่อรับเงินบำนาญเต็มเปลี่ยนไป และกลายเป็นว่า พนักงานหลายคนต้องยืดอายุงานก่อนเกษียณออกไปอีก

    ทีมได้หยิบผลที่เกิดขึ้นใน 105,000 บริษัททั่วอิตาลีมาใช้ในการคำนวณของงานวิจัยและพบว่า บริษัทหลายแห่งที่พนักงานอาวุโสเลื่อนกำหนดการเกษียณออกไป พนักงานรุ่นน้องของบริษัทจะได้ขึ้นเงินเดือนช้ากว่าและเลื่อนขั้นช้ากว่าเช่นกัน

    ผลลัพธ์ของการศึกษานี้พบว่า เส้นทางอาชีพของพนักงานแต่ละคน ส่วนหนึ่งจะได้รับผลกระทบจากเพื่อนร่วมงานด้วย ไม่ใช่แค่เพียงแรงกระทำของตลาดงานโดยกว้างเท่านั้น

     

    ยิ่งบริษัทเติบโตช้า ยิ่งเห็นผลกระทบชัด

    การเลื่อนการปลดเกษียณออกไปไม่ได้ส่งผลต่อพนักงานทุกคนเท่ากัน สำหรับพนักงานอายุน้อยที่อยู่ใน บริษัทที่กำลังเติบโตรวดเร็ว จะยังมีโอกาสเลื่อนขั้น และเงินเดือนที่เติบโตช้าลงจะเกิดขึ้นเฉพาะกับพนักงานวัยมากกว่า 35 ปีเท่านั้น เพราะบริษัทที่กำลังขยายตัวมีโอกาสเปิดตำแหน่งระดับบริหารเพิ่มและการขึ้นเงินเดือนมากกว่า แต่พาวเวลล์คาดว่าผลกระทบนั้นก็มีอยู่บ้าง แต่ส่งผลลดหลั่นกันลงไปจนไปถึงพนักงานที่อายุน้อยที่สุดของบริษัท

    ในอีกมุมหนึ่ง สำหรับ บริษัทที่เติบโตช้า ผลกระทบเรื่องการเลื่อนขั้นและเงินเดือนที่โตช้าลงของพนักงานอายุน้อยจะยิ่งเห็นชัดขึ้น แล้วทำไมคนเหล่านั้นจึงไม่รู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญจนลาออกไปทำงานที่อื่น?

    (Photo by Tim Gouw from Pexels)

    กรณีของอิตาลีปี 2011 ซึ่งเป็นแบบในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เศรษฐกิจของอิตาลีอยู่ในช่วงเติบโตช้า และคนส่วนมากจะไม่กล้าเสี่ยงเปลี่ยนที่ทำงาน ในเชิงสถิติแล้วทีมวิจัยก็ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการยืดอายุเกษียณกับการลาออกของพนักงานอายุน้อย

    สถิติสรุปผลได้ว่า เมื่อพนักงานเจอโครงสร้างตำแหน่ง “ตัน” พนักงานมักลังเลที่จะทิ้งผลงานที่สั่งสมมาในที่ทำงานปัจจุบันและไปเริ่มต้นใหม่ พวกเขาจะยังต่อคิวรอการเลื่อนขั้นต่อไป

     

    บริษัทควรบริหารอย่างไร

    ข้อแนะนำสำหรับผู้บริหารองค์กรด้านทรัพยากรบุคคลคือ บริษัทที่จะรับสมัครพนักงานใหม่ควรระมัดระวังการวาดฝันเรื่องการเติบโตไปกับบริษัท ถ้าหากจะให้คำสัญญาเรื่องตำแหน่ง บริษัทต้องมั่นใจว่ามีโครงสร้างที่ช่วยเติมเต็มความฝันให้พนักงานอายุน้อยเหล่านี้ได้

    สิ่งเหล่านี้คำนวณได้จากอัตราการเติบโตของบริษัท และการกระจายระดับอายุของพนักงานระดับบริหาร หากผู้บริหารระดับสูงทุกคนยังอายุน้อย ขณะที่บริษัทเติบโตช้า บริษัทอาจจะไม่มีพื้นที่ให้พนักงานระดับล่างเติบโตมากนัก

    ถ้าหากบริษัทต้องการเปิดพื้นที่ให้พนักงานอายุน้อยได้ปรับตำแหน่งขึ้นมา อาจต้องพิจารณาโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดสำหรับพนักงานสูงวัย หรือถ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ อาจจะต้องทดแทนด้วยการขึ้นเงินเดือนเพื่อเก็บพนักงานความสามารถสูงไว้กับบริษัทก่อน

    และผู้บริหารบริษัทต้องตระหนักด้วยว่า การปรับอายุเกษียณให้สูงขึ้นจะส่งผลต่อพนักงานอายุน้อย ดังที่งานวิจัยนี้พบ

    Source

    ]]>
    1283227
    วิกฤตประชากรญี่ปุ่น : ขยายเวลาเกษียณอายุการทำงานเป็น 70 ปี แก้ปัญหาขาดเเรงงาน https://positioningmag.com/1263684 Fri, 07 Feb 2020 19:04:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263684 การเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นของญี่ปุ่น กำลังสร้างความกังวลให้กับการพัฒนาประเทศชาติ เพราะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โครงสร้างงบประมาณประกันสังคม อีกทั้งยังขาดเเคลนเเรงงานเเละมีอัตราการเกิดต่ำ

    ล่าสุดกับความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการผลักดันกฎหมายให้ภาคเอกชนขยายระยะเวลาทำงานหรือ “ขยายเวลาเกษียณอายุ” ให้กับลูกจ้างไปจนถึงอายุ 70 ปี จากเดิมที่บริษัทญี่ปุ่นมีภาระผูกพันที่จะต้องให้พนักงานทำงานจนถึงอายุ 65 ปี

    เเม้ในขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ได้บังคับให้ทุกบริษัทต้องรักษาสภาพพนักงานไปจนถึงอายุ 70 ปี
    เเต่ก็ให้เป็นตัวเลือกมาลองใช้ 5 เเบบ ได้เเก่ การขยายเวลาเกษียณอายุ การปลดลูกจ้างต่อเมื่อไม่สามารถทำงานได้
    เเละการอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานเกินอายุที่กำหนด

    มีตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการทำงานยุคใหม่อีก 2 เเบบคือ การให้บริษัทจ้างงานลูกจ้างที่เกษียณอายุแล้วในรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” เเละให้จ้างงานลูกจ้างให้ทำงานเป็นการกุศลของบริษัท

    โดยจะมีผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติ และคาดว่าจะบังคับใช้ให้ได้ภายในเดือนเมษายนปี 2021

    ต่อจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนจะทำให้การขยายเวลาเกษียณอายุงานไปถึง 70 ปีกลายเป็นพันธะผูกพันในอนาคต ซึ่งหากมองอีกมุมก็สร้างความกังวลให้กับคนรุ่นใหม่ไม่น้อย เพราะการทำงานตลอดชีวิตของพวกเขาจะต้องยืดไปอีก 5 ปีนั่นเอง

    วิกฤตประชากรญี่ปุ่น อีกด้านที่น่าวิตกคือมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก โดยในปี 2019 มีเด็กเกิดใหม่ลงต่ำกว่า 900,000 คน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาในรอบ 120 ปี

    อัตราการเกิดที่ลดลงจนน่ากังวลเช่นนี้ จะนำไปสู่การขาดเเคลนวัยเเรงงานซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเเละเป็นกลุ่มคนจ่ายภาษี ซึ่งจะมีผลกระทบด้านสวัสดิการมากขี้น เนื่องจากรัฐต้องใช้เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุจำนวนมากในประเทศ

    ที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นพยายามอย่างหนักที่จะเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rate) ให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1.8 ภายในสิ้นปี 2025 โดยออกมาตรการสนับสนุนการเลี้ยงเด็กและการจ้างงานคนรุ่นใหม่ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีบุตรกันมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญพันธุ์ที่เป็นค่าเฉลี่ยการให้กำเนิดบุตรต่อประชากรของผู้หญิงในญี่ปุ่น เมื่อปรับตามรายอายุและหมวดอายุของสตรีแล้ว ยังอยู่ที่ 1.42 ในปี 2018

    นอกจากนี้ จำนวนคู่รักที่แต่งงานใหม่ในปี 2019 ลดลงกว่า 3,000 คู่ เเละต่ำกว่า 583,000 คู่ เป็นครั้งแรกนับตั้งเเต่หลังสงครามโลก ขณะเดียวกันคู่แต่งงานที่มีการหย่าร้างในปี 2019 ก็เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 คู่ โดยอยู่ที่ 210,000 คู่

    อ่านเพิ่มเติม : วิกฤตประชากรญี่ปุ่น : จำนวนเด็กเกิดใหม่ปีนี้ ต่ำสุดในรอบ120 ปี เเต่งงานน้อย-หย่าร้างเพิ่ม

     

    ที่มา : japantoday , scmp

    ]]>
    1263684
    เวียดนามเตรียมปรับ “อายุเกษียณ” จาก 60 ปี เป็น 62 ปี มีผลปีใหม่ https://positioningmag.com/1254489 Thu, 21 Nov 2019 15:57:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1254489 เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา สมัชชาแห่งชาติของเวียดนาม ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ อนุมัติการแก้ไขประมวลกฎหมายแรงงานครั้งสำคัญ ซึ่งรวมถึงการปรับเพิ่มอายุเกษียณงาน และการเพิ่มวันหยุดราชการอีก 1 วัน

    อายุเกษียณของประชาชนที่ทำงานในเวียดนามจะถูกปรับเพิ่มจากปัจจุบันที่ผู้ชายจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และผู้หญิง 55 ปี เป็น 62 ปี และ 60 ปีตามลำดับ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2021 เป็นต้นไป ซึ่งจะปรับให้อายุเกษียณภายใต้สภาพการทำงานปกติเพิ่มเป็น 60 ปี 3 เดือน สำหรับผู้ชาย และ 55 ปี 4 เดือนสำหรับผู้หญิง

    หลังจากนั้นจะค่อยๆ ทยอยปรับอายุเกษียณเพิ่มขึ้นปีละ 3 เดือน และ 4 เดือนตามลำดับ จนกระทั่งในปี 2028 ผู้ชายจะมีอายุเกษียณที่ 62 ปี และในปี 2035 ผู้หญิงจะมีอายุเกษียณครบ 60 ปี

    การเกษียณอายุก่อนกำหนดจะอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย หรือทำงานที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหนัก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงสามารถเกษียณได้ไม่เกิน 5 ปีหลังอายุเกษียณปกติ

    รายงานจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในปี 2017 ระบุว่าราว 10% ของประชากรเวียดนาม มีอายุมากกว่า 60 ปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% และกว่า 30% ในปี 2030 และ 2050 ตามลำดับ

    นอกจากนี้ภายใต้กฎหมายที่เพิ่งผ่านร่าง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2021 ยังได้กำหนดให้ประชาชนที่ทำงานในเวียดนามมีวันหยุดราชการเพิ่มอีก 1 วันเนื่องในวันชาติ เพิ่มจากเดิมที่มีวันหยุด 10 วันต่อปี

    ]]>
    1254489