วิกฤตประชากรญี่ปุ่น : ขยายเวลาเกษียณอายุการทำงานเป็น 70 ปี แก้ปัญหาขาดเเรงงาน

Photo : Shutterstock

การเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นของญี่ปุ่น กำลังสร้างความกังวลให้กับการพัฒนาประเทศชาติ เพราะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โครงสร้างงบประมาณประกันสังคม อีกทั้งยังขาดเเคลนเเรงงานเเละมีอัตราการเกิดต่ำ

ล่าสุดกับความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการผลักดันกฎหมายให้ภาคเอกชนขยายระยะเวลาทำงานหรือ “ขยายเวลาเกษียณอายุ” ให้กับลูกจ้างไปจนถึงอายุ 70 ปี จากเดิมที่บริษัทญี่ปุ่นมีภาระผูกพันที่จะต้องให้พนักงานทำงานจนถึงอายุ 65 ปี

เเม้ในขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ได้บังคับให้ทุกบริษัทต้องรักษาสภาพพนักงานไปจนถึงอายุ 70 ปี
เเต่ก็ให้เป็นตัวเลือกมาลองใช้ 5 เเบบ ได้เเก่ การขยายเวลาเกษียณอายุ การปลดลูกจ้างต่อเมื่อไม่สามารถทำงานได้
เเละการอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานเกินอายุที่กำหนด

มีตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการทำงานยุคใหม่อีก 2 เเบบคือ การให้บริษัทจ้างงานลูกจ้างที่เกษียณอายุแล้วในรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” เเละให้จ้างงานลูกจ้างให้ทำงานเป็นการกุศลของบริษัท

โดยจะมีผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติ และคาดว่าจะบังคับใช้ให้ได้ภายในเดือนเมษายนปี 2021

ต่อจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนจะทำให้การขยายเวลาเกษียณอายุงานไปถึง 70 ปีกลายเป็นพันธะผูกพันในอนาคต ซึ่งหากมองอีกมุมก็สร้างความกังวลให้กับคนรุ่นใหม่ไม่น้อย เพราะการทำงานตลอดชีวิตของพวกเขาจะต้องยืดไปอีก 5 ปีนั่นเอง

วิกฤตประชากรญี่ปุ่น อีกด้านที่น่าวิตกคือมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก โดยในปี 2019 มีเด็กเกิดใหม่ลงต่ำกว่า 900,000 คน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาในรอบ 120 ปี

อัตราการเกิดที่ลดลงจนน่ากังวลเช่นนี้ จะนำไปสู่การขาดเเคลนวัยเเรงงานซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเเละเป็นกลุ่มคนจ่ายภาษี ซึ่งจะมีผลกระทบด้านสวัสดิการมากขี้น เนื่องจากรัฐต้องใช้เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุจำนวนมากในประเทศ

ที่ผ่านมาทางการญี่ปุ่นพยายามอย่างหนักที่จะเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rate) ให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1.8 ภายในสิ้นปี 2025 โดยออกมาตรการสนับสนุนการเลี้ยงเด็กและการจ้างงานคนรุ่นใหม่ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีบุตรกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญพันธุ์ที่เป็นค่าเฉลี่ยการให้กำเนิดบุตรต่อประชากรของผู้หญิงในญี่ปุ่น เมื่อปรับตามรายอายุและหมวดอายุของสตรีแล้ว ยังอยู่ที่ 1.42 ในปี 2018

นอกจากนี้ จำนวนคู่รักที่แต่งงานใหม่ในปี 2019 ลดลงกว่า 3,000 คู่ เเละต่ำกว่า 583,000 คู่ เป็นครั้งแรกนับตั้งเเต่หลังสงครามโลก ขณะเดียวกันคู่แต่งงานที่มีการหย่าร้างในปี 2019 ก็เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 คู่ โดยอยู่ที่ 210,000 คู่

อ่านเพิ่มเติม : วิกฤตประชากรญี่ปุ่น : จำนวนเด็กเกิดใหม่ปีนี้ ต่ำสุดในรอบ120 ปี เเต่งงานน้อย-หย่าร้างเพิ่ม

 

ที่มา : japantoday , scmp