มาดู “รถพุ่มพวง” ฉบับญี่ปุ่น ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตเคลื่อนที่ กำลังเติบโตรับสังคมสูงวัย

Photo : www.tokushimaru.jp

สังคมสูงวัยในญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ธุรกิจ “ซูเปอร์มาร์เก็ตเคลื่อนที่” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เเละก็มีบริษัทเล็กๆ เเห่งหนึ่งในเมืองโทะกุชิมะคว้าโอกาสทองนี้มาได้

โทคุชิมารุ (Tokushimaru) เริ่มธุรกิจขายอาหารและของใช้ประจำวันบนรถบรรทุกขนาดเล็กมาตั้งเเต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 โดยให้บริการขายสินค้าไปถึงหน้าบ้านของลูกค้า เเละใช้เวลาเพียง 4 ปีก็ขยายจำนวนรถได้ 400 คัน เฉลี่ยเติบโตปีละ 100 คัน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนให้ได้ 1,000 คันภายในปี 2022

รถเร่ขายของของโทคุชิมารุ เเต่ละคันนั้นจะมีสินค้าราว 400 ชนิด และมีสินค้ารวมกว่า 1,500 ชิ้นให้ได้เลือกซื้ออย่างจุใจ โดยบริษัทจะขยายการให้บริการไปยังจังหวัดโอกินาว่าก่อน จากนั้นจึงจะขยายไปทั้ง 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น

Photo : www.tokushimaru.jp

สำหรับในไทยรถเร่ขายของเช่นนี้ เรามักเรียกว่า “รถพุ่มพวง” หรือบางคนก็เรียกว่ารถเร่ขายผัก รถขายกับข้าวหรือรถตลาดสดเคลื่อนที่ มีลักษณะเด่นที่ผู้ขายจะบรรจุสินค้าเป็นถุงแขวนห้อยที่ข้างรถกระบะในลักษณะเป็นพวงๆ หลายชนิด ให้บริการตามชุมชนต่างๆ ถึงหน้าบ้านเช่นกัน

“ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตเคลื่อนที่ เติบโตขึ้นพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเมืองเล็กที่เดินทางลำบากเเละยากต่อการขับรถ ซึ่งความต้องการนี้กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศ เเละต่อไปหากคนท้องถิ่นรับรู้ถึงความสะดวกสบายในการบริการของเราเเล้ว ทางบริษัทก็จะเพิ่มจำนวนรถขายของได้อีก” Tatsuya Sumitomo ประธานบริษัทโทคุชิมารุ กล่าว

Photo : www.tokushimaru.jp

ขณะเดียวกันบริษัทก็กำลังขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขาอยู่ตามเมืองต่างๆ ปัจจุบัน “โทคุชิมารุ” ได้ร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ต 120 บริษัทซึ่งมีทั้งหมด 1,700 สาขา จะทำให้บริษัทสามารถขยายรถขายของได้ 1,000 คันตามที่วางเป้าหมายไว้

“ตอนนี้มีลูกค้าเฉลี่ยราว 150 คนต่อรถขายของ 1 คัน โดยเริ่มสร้างการรับรู้เเละให้ข้อมูลโดยตรงกับลูกค้ากลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกขับรถยนต์หรือเดินทางไปซื้อของเอง โดยการโปรโมทเช่นนี้ เราหวังว่าจะเป็นการสร้างสื่อโฆษณาเเบบใหม่ที่สามารถดึงดูดผู้คนโดยไม่ต้องผ่านเว็บไซต์ สื่อโซเชียลหรือโฆษณาออนไลน์มากนัก”

Photo : www.tokushimaru.jp

ด้านประชากรในญี่ปุ่น เริ่มลดจำนวนลงเป็นครั้งแรกในตั้งแต่ปี 2005 โดยที่อัตราการเสียชีวิตของประชาชนแซงหน้าอัตราการเกิด แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นแต่อัตราการลดลงของประชากรยังคงมีแนวโน้มดำเนินต่อไปเป็นปีที่ 13 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2007

โดยเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นปี 2019 ลดจำนวนลงต่ำกว่า 900,000 คน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาในรอบ 120 ปี สร้างเเรงกดดันด้านสวัสดิการมากขี้น เนื่องจากการใช้เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุจำนวนมากในประเทศ อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

 

ที่มา : Nikkei Asian Review / Aging Japan creates demand for grocery stores on wheels