เเม่ค้าออนไลน์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 23 Feb 2022 07:33:02 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 วงการ ‘ไลฟ์สด’ เเข่งดุ เเบรนด์ ‘Big Player’ ชิงลูกค้า เจ้าเล็กหาจุดขายเอนเตอร์เทนคนดู https://positioningmag.com/1374658 Tue, 22 Feb 2022 12:20:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374658 วงการขายของบนสื่อออนไลน์ในไทยบูมไม่หยุด เเม่ค้าพ่อค้าเเบรนด์เล็กเเบรนด์ใหญ่กระโจนชิงเค้กกันต่อเนื่อง เเจ้งเกิดเซเลบไลฟ์สดกันถ้วนหน้า ขนสินค้าสารพัดสิ่งมาเอนเตอร์เทนคนดู

เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดประเด็นฮือฮาเมื่อมีคนสังเกตเห็นว่า พี่บิ๊กร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่นภายใต้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ได้ลงสนามเเข่งไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก 7-Eleven Thailand ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 7 ล้านคน ขายสินค้าต่างๆ ทั้งอาหารเครื่องดื่ม ของอุปโภคบริโภค น้ำหอม เสื้อผ้าไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าเเละต้นไม้ อัดโปรโมชันดึงดูดลูกค้าขั้นสุด แถมบริการส่งฟรีถึงบ้านหากซื้อสินค้าตามเงื่อนไข

หลายคนมองว่า ปกติตลาดขายของไลฟ์สดก็มีการเเข่งขันที่สูงอยู่เเล้ว เมื่อมี Big Player เข้ามาก็ยิ่งดุเดือดยิ่งขึ้นไปอีก ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนเเอ วิกฤตโรคระบาดยังดำเนินต่อเนื่อง

เเบรนด์ใหญ่ลงเเข่งไลฟ์สด ชูความน่าเชื่อถือ 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2564 เพจ 7-Eleven Thailand ก็มีการจับกระเเสอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง เเต่จะเป็นในรูปแบบขายของออนไลน์ ที่เน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านการเชิญดาราหรือคนในวงการบันเทิงที่มีชื่อเสียงมาร่วมเป็นเเขกในไลฟ์มากกว่า ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอสมควร เฉลี่ยยอดวิวอยู่ที่หลักหมื่นวิว

ต่อมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เพจ 7-Eleven Thailand เริ่มมีการปรับเปลี่ยนสไตล์เเละลีลาในการไลฟ์ขายของ เป็น #AllOnlineLive หันมาใช้ผู้ดำเนินรายการเพียงคนเดียว เปลี่ยนรูปแบบการคอนเฟิร์มสินค้าด้วยรหัสเลขต่างๆ มีหน้าจอการเเสดงผลคล้ายคลึงกับไลฟ์สดของเเม่ค้าชื่อดังหลายเจ้า พร้อมการลดเเลกเเจกเเถมที่มากขึ้น

ไม่ใช่เพียงเซเว่น อีเลฟเว่นเท่านั้น ปัจจุบันเเบรนด์ใหญ่ๆ ก็นำจับกลยุทธ์ไลฟ์สดขายสินค้ามาเป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญในการทำตลาดช่วงโควิด-19 ซึ่งได้ผลทั้งในเเง่ยอดขายเเละการสร้าง Brand Awareness

ยกตัวอย่าง เช่น B2S Thailand ศูนย์รวมสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นเเบรนด์มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กราว 4.3 เเสนคน ก็มีการเปิดไลฟ์สดขายของอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นของชิ้นเล็กๆ กุ๊กกิ๊ก ยิ่งขายดีเป็นพิเศษ เจาะตลาดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่ใช้เวลาอยู่ในสื่อโซเชียล เเละจับกลุ่มลูกค้าวัยทำงานด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับ Work From Home ทั้งเก้าอี้ ชั้นวางของ ปากกาเเละสมุดจดต่างๆ ไปจนถึงชุดตรวจโควิด ATK

ต่อมากับร้านค้ากีฬารายใหญ่สุดในไทยอย่าง Supersports ที่มีผู้ติดตามเพจกว่า 1.7 ล้านคน ก็รุกตลาดขายออนไลน์อย่างจริงจัง โดยเน้นการโชว์วิธีใช้สินค้าให้ผู้ชมเข้าถึงได้ นำเสนออุปกรณ์เพื่อการออกกำลังกายที่บ้านเเละจัดโปรโมชั่นลดราคาพิเศษกับเเบรนด์ดัง พร้อมกิจกรรมร่วมสนุกต่าง ๆ

โดยจุดเด่นของเเบรนด์ใหญ่ที่ทำการขายของผ่านไลฟ์สดก็คือ ความน่าเชื่อถือเเละการมีสินค้าที่ครบครัน ตรงกับความต้องการของลูกค้า

เซเลบไลฟ์สด มาพร้อมพลังเเฟนคลับ 

ฝั่งเเม่ค้าออนไลน์ ระดับ #เซเลบ ที่มาเเรงสุดๆ ก็ต้องยกให้ พิมรี่พายขายทุกอย่าง ที่สร้างกระเเสบนพื้นที่สื่อได้ตลอด ทั้งประเด็นดราม่าเเละการเปิดตัวสินค้าต่างๆ โดยปัจจุบันมีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กมากถึง 7.4 ล้านคน

ตามมาด้วย กะฟา เเห่งเพจ MakeeShop จากเมืองยะลา ที่มียอดผู้ติดตาม 2.4 ล้านคน กับลีลาการขายเเบบใกล้ชิดลูกค้าด้วยวลีที่รักของกะฟา โชว์การทดลองใช้สินค้า พร้อมความสนุกสนานจากเสียงเชียร์ของทีมงาน

ขณะเดียวกัน ยังมีนักเเสดงชื่อดังอย่าง ยุ้ย จีรนันท์ มะโนแจ่ม ที่ขยับมาเอาดีด้านวิถีขายออนไลน์ เคยกวาดรายได้ 3 ชั่วโมง 3 ล้านบาท บนเพจ ซุปตาร์ออนไลน์ by ยุ้ย จีรนันท์ ที่มียอดติดตาม 1.6  ล้านไลค์ เน้นขายกระเป๋า เสื้อผ้า ของกินต่างๆ ด้วยสไตล์นางเอก พูดเพราะ ฟังเพลิน ทำให้ลูกค้าติดใจไปตามๆ กัน เเละบางวันก็จะมีเพื่อนนักแสดงมาร่วมไลฟ์ด้วย ยิ่งช่วยดึงยอดคนดูเเละเเฟนคลับให้เพิ่มขึ้นไปอีก

เจ้าเล็ก หาจุดขายชิงคนดู 

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการรายย่อยตัวเล็กๆ ที่ปั้นเเบรนด์ประสบความสำเร็จ โดยเริ่มต้นจากการไลฟ์สดอย่างเปี๊ยะทะลักบางแสนที่ เจริศา นุตสถาปนา นักศึกษาวัย 22 ปี ได้เริ่มไลฟ์ขายสินค้าในกลุ่มเพื่อนๆ รอบตัว จนขยายไปในวงกว้างมากขึ้น

เเละการแนะนำขนมเปี๊ยะผ่านช่องทาง ‘TikTok’ ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีออเดอร์เข้ามากขึ้น จนเคยมีออเดอร์เข้ามาต่อเดือนถึง 3 ล้านบาท ปัจจุบันได้ขยายไลน์การผลิตมากขึ้น มีตัวแทนจำหน่ายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

โดยยอดขายผ่านการไลฟ์สดทางโซเชียล คิดเป็น 70% ลูกค้าส่วนใหญ่มาจาก TikTok เเละเฟซบุ๊ก ส่วนด้านออฟไลน์เปิดขายหน้าร้านเพียงแห่งเดียวที่บางแสน มียอดขายคิดเป็น 30%

อ่านต่อเปี๊ยะทะลัก บางแสนเปี๊ยะลาวาชื่อดังโลกออนไลน์ ยอดขายเดือนละ 3 ล้านบาท 

อีกหนึ่งดาว TikTok ที่ชูการเอนเตอร์เทนลูกค้ามาต่อยอดการขายได้เป็นอย่างดี ก็คือ ก๊อตจิบิวตี้ สองแม่ค้าออนไลน์สายเต้น จากเพจเสื้อผ้าแฟชั่น by Polyyclothes ที่มุ่งสร้างความสุขให้ลูกค้าตามคอนเซปต์เต้นแรงก่อนขายพร้อมนำเสนอเสื้อผ้าแฟชั่นตัดเย็บเองได้อย่างน่าสนใจ

เรียกได้ว่าตลาดไลฟ์สดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยต้นทุนการตลาดที่ต่ำ ไม่ต้องมีสาขาหน้าร้านก็ทำได้ เเถมยังมีจุดเด่นในด้านการนำเสนอสินค้าได้หลายตัว สร้างการรับรู้ว่าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเเบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก พร้อมส่งเเรงกระตุ้นให้ตัดสินใจซื้อสินค้าภายในเวลาที่รวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีระบบไลฟ์สดสำเร็จรูปที่เข้ามาเจาะตลาดพ่อค้าเเม่ค้าออนไลน์ด้วย เพิ่มความสะดวกในการเริ่มธุรกิจมากขึ้น

เหล่านี้ ดึงดูดให้เเบรนด์ใหญ่ที่ได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือ เซเลบดาราที่มีชื่อเสียงเข้ามาทำตลาดนี้มากขึ้น ฝั่งผู้ประกอบการรายย่อยก็ต้องงัดจุดเด่นของตัวเองออกมาสู้ สร้างความเป็นกันเองให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือก็คือความจริงใจซึ่งจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้เรื่อยๆ ไม่ใช่ลูกค้ามาลองซื้อครั้งเดียวเเล้วจบ เเต่เป็นการรักษายอดขายให้ได้ในระยะยาว ท่ามกลางการเเข่งขันสูงมากๆ

]]>
1374658
คว้าโอกาส ตลาด ‘อีคอมเมิร์ซ’ ไทย ฉายเเววรุ่ง โตเฉลี่ยปีละ 20% คาดเเตะ 7.5 แสนล้านในปี 68 https://positioningmag.com/1349187 Mon, 30 Aug 2021 08:59:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1349187 ตลาด ‘อีคอมเมิร์ซ’ ในไทย หลังโควิดฉายเเววรุ่ง ประเมินขยายตัวเฉลี่ย 20% ตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดอาจพุ่งเเตะ 7.5 แสนล้านในปี 2568 จาก 3 แสนล้านในปัจจุบัน E-marketplace เเข่งขันดุเดือดเหลือเจ้าใหญ่ไม่กี่ราย โอกาสร้านเล็กกระจายความเสี่ยง ปรับตัวรับลูกค้าเเนวใหม่ 

KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า ตลาดค้าปลีกออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในไทยหลังวิกฤตโควิด-19 จะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาท เป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 2568 หรือคิดเป็น 16% ของตลาดค้าปลีกรวม

โดยในปี 2563 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยขยายตัวก้าวกระโดดถึง 80% สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ท่ามกลางข้อจำกัดการเดินทางเเละมาตรการล็อกดาวน์

สำหรับสินค้าที่มีเเนวโน้ม ‘ขยายตัวได้ดี’ จะอยู่ในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและสุขภาพ สวนทางกับยอดใช้จ่ายเพื่อการจองโรงแรมและการเดินทางท่องเที่ยวที่หดตัวลงอย่างรุนแรง 

อีคอมเมิร์ซไทย ใหญ่เบอร์ 2 อาเซียน มีปัจจัยหนุนอะไรบ้าง 

ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย แต่ในแง่มูลค่าใช้จ่ายต่อผู้ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ชี้ให้เห็นโอกาสในการเติบโตได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นโดย 3 ปัจจัยหลักๆ ที่จะทำให้อีคอมเมิร์ซในไทยเเละอาเซียน สามารถเติบโตได้สูงต่อเนื่อง ได้แก่

1. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต : เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปัจจุบันที่เฉลี่ยราว 80% ของประชากร

2. การใช้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น : โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z โดยกลุ่มประเทศในอาเซียนมีจำนวนบัญชี Facebook ต่อประชากรสูงที่สุดในโลกและเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ

3.บริการชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในอาเซียน : ไทยเป็นประเทศที่มีการใช้บริการธนาคารผ่านมือถือ (mobile banking) และการชำระเงินผ่านมือถือ (mobile payments) สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก โดยมีบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่สะดวกและมีต้นทุนต่อผู้ใช้ต่ำ

เเพลตฟอร์มใหญ่ ‘คุมตลาด’ 

ธุรกิจค้าปลีกในไทย เปลี่ยนไปเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือ E-marketplace มากขึ้น คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซรวมของไทย
“โดยเป็นการแข่งขันระหว่างสองแพลตฟอร์มข้ามชาติ ได้แก่ Shopee และ Lazada ทิ้งห่างแพลตฟอร์มรายอื่น” 
ส่วนแนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจแพลตฟอร์มที่เข้มข้นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด และเป็นฐานต่อยอดไปสู่โอกาสธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้โดยรวมแล้วแม้รายได้ของธุรกิจแพลตฟอร์มจะขยายตัวขึ้นอย่างมาก แต่ยังคงมีแนวโน้มขาดทุนต่อเนื่องจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการร่วมอุดหนุนการขาย
KKP Research ประเมินว่า ท้ายที่สุดจะเหลือธุรกิจแพลตฟอร์มที่สามารถทำกำไรได้เพียงไม่กี่ราย และอาจมีผู้ชนะเพียงรายเดียว เช่นเดียวกับตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนและสหรัฐฯ ที่มีกลุ่ม Alibaba และ Amazon เป็นเจ้าตลาดทิ้งห่างคู่แข่งที่เหลือ

ร้านเล็ก-ใหญ่ ต้องกระจายความเสี่ยง 

ธุรกิจค้าปลีก ที่มีหน้าร้านสามารถปรับกลยุทธ์ไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และขยายโอกาสการเติบโตในคราวเดียวกัน ในภาวะที่สูตรสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกเปลี่ยนจากการมีทำเลที่ตั้งที่ใกล้แหล่งผู้บริโภค (localization) ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย (trust) และประสบการณ์หน้าร้าน (human touch) และถูกแทนที่ด้วย

1.การส่งสินค้าถึงบ้าน (home delivery)

2. คะแนนรีวิวและยอดขาย (online reputation)

3. การสอบถามและบริการผ่านการสนทนาออนไลน์ (online support) บนอีคอมเมิร์ซ 

ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีหน้าร้านควรเริ่มสร้างรอยเท้าดิจิทัล (Digital footprint) บนช่องทางและแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อเพิ่มการมองเห็น (visibility) และเพื่อกระจายความเสี่ยงหากบางแพลตฟอร์มต้องปิดตัวลง

KKP Research มองว่า ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่นห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าประเภทที่มีผู้ให้คำแนะนำ (Specialist Shops) มีข้อได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือของผู้ขายเป็นทุนเดิมและมีบริการหลังการขายที่ดี สามารถนำช่องทางออนไลน์มาหลอมรวมกับหน้าร้านเพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค (omnichannel experience) หรืออาจสร้างช่องทางออนไลน์แยกจากช่องทางหน้าร้าน (multichannel) และเน้นการส่งสินค้าอย่างรวดเร็วถึงบ้าน เช่น การส่งสินค้าถึงบ้านใน 3 ชั่วโมงในเขตกรุงเทพฯ

แม้ฐานลูกค้า E-commerce ของธุรกิจค้าปลีกเดิม จะมีไม่สูงนักเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มรายใหญ่ แต่จำนวนผู้เข้าใช้บริการสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ธุรกิจหน้าร้านยังคงมีข้อเสียเปรียบในด้านโครงสร้างต้นทุน โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่และค่าจ้างพนักงาน จึงจำเป็นต้องปิดจุดอ่อนผ่านการบริหารต้นทุนของช่องทางหน้าร้าน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรักษาอัตรากำไรในระยะต่อไป”

Photo : Shutterstock

เเนะรัฐส่งเสริม ‘โลจิสติกส์-ระบบการเงิน’ ลดขั้นตอนระหว่างแดน

การขยายตัวธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์ไปด้วย ได้แก่ ธุรกิจคลังสินค้า (Warehouse) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) และขนส่ง (Logistics) รวมถึงโฆษณาออนไลน์

ขณะที่มีบางธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่อาศัยหน้าร้าน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการขายหรือให้เช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ หรือร้านอาหารขนาดใหญ่ที่ถูกแย่งส่วนแบ่งจากบริการส่งอาหาร (Food Delivery)

กลยุทธ์การปรับตัวไปสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจที่จะอยู่รอดต่อไป และเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตใหม่ของธุรกิจได้

KKP Research วิเคราะห์ว่า ภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เพื่อยกระดับผลิตภาพในภาคบริการ สร้างงานในภาคธุรกิจใหม่ และสร้างการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมแก่ธุรกิจรายย่อย ผ่านการส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานและลดขั้นตอนและกฎระเบียบใน 3 ด้าน ได้แก่

(1) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโลจิสติกส์ในประเทศ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการจัดตั้งคลังสินค้าสมัยใหม่แบบครบวงจร (Fulfillment center)

2) สนับสนุนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และการจัดเก็บภาษีบนธุรกิจออนไลน์อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกรรมค้าปลีกออนไลน์ในอนาคต

3) ขยายตลาดค้าปลีกออนไลน์ ให้ไปไกลกว่าตลาดในประเทศผ่านการลดขั้นตอนและกฎระเบียบระหว่างแดน เพื่อให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 470 ล้านคนในอาเซียนได้

 

 

]]>
1349187
เฮือกสุดท้าย ‘เเม่ค้าออนไลน์’ ขายไม่ได้ สินค้าตีกลับ ผลกระทบขนส่งพัสดุ ล่าช้า-อ่วมโควิด https://positioningmag.com/1344529 Thu, 29 Jul 2021 13:05:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1344529 หลังเจอวิกฤตโควิดจนล้มลุกคลุกคลานมาหลายรอบ บรรดาแบรนด์ต่างๆ ทั้งค้าปลีก ร้านอาหาร สินค้าเกษตร พ่อค้าเเม่ค้ารายย่อย คนตกงานหารายได้เสริม กระโจนเข้าสู่โลกช้อปปิ้งออนไลน์เพื่อดิ้นรนหาทางรอด ปรับตัวพยุงธุรกิจ

ฝั่งผู้บริโภคเอง ด้วยความกังวลเสี่ยงติดโรคเเละมาตรการล็อกดาวน์ ก็หันมาสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ เเทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตไปเเล้ว

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย กำลังจะไปได้สวย จนกระทั่งวันนี้ การระบาดใหญ่รอบล่าสุด ที่มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเเตะระดับ 17,000 คนต่อวัน ได้ขยายวงกว้างไปสู่พนักงานขนส่งพัสดุซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของธุรกิจขายออนไลน์เลยก็ว่าได้

บริษัทขนส่งยักษ์ในไทย กำลังประสบปัญหาเรื่องการรับ-ส่งสินค้าบางรายอาการหนักจนต้องปิดศูนย์กระจายสินค้า พนักงานจำนวนมากต้องกักตัว บางเจ้าต้องปิดสาขาตามห้างสรรพสินค้าตามคำสั่งล็อกดาวน์ ทำให้ช่วงนี้มีพัสดุตกค้างเเละล่าช้า จำนวนมาก อีกทั้งยังเปิดให้บริการได้ไม่เต็มที่

นอกจากความเดือดร้อนของบริษัทขนส่งเเละพ่อค้าเเม่ค้าออนไลน์ ที่ต้องเจอศึกหนัก ตามหาของที่ยังส่งไม่ถึงเเล้ว อีกมุมหนึ่งปัญหาเหล่านี้ ก็ส่งผลให้เหล่าผู้บริโภคไม่กล้าสั่งซื้อของออนไลน์ ในช่วงนี้ ซ้ำเติมยอดขายเเละรายได้ที่ลงลดอยู่เเล้ว จากการหดหายของกำลังซื้อให้ยิ่งลดลงไปอีก

บิ๊กขนส่งพัสดุในไทย ‘อ่วมโควิด’ 

ล่าสุดของบริษัทขนส่งต่างๆ ยังสามารถเปิดให้บริการตามปกติ’ ได้ทุกเจ้า แต่มีการกำหนดเกณฑ์การรับพัสดุใหม่ เเละบางส่วนอาจส่งของล่าช้า 1-2 วัน

ย้อนกลับไปไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายเเรกที่ออกมายอมรับว่า มีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 เเม้จะฉีดวัคซีนเข็มแรกไปเเล้วกว่า 12,000 คน และเข็มสองอีกกว่า 4,200 คนก็ตาม

ปกติเเล้ว ไปรษณีย์ไทย มีปริมาณไปรษณียภัณฑ์และพัสดุด่วน เฉลี่ยอยู่ที่ 8 ล้านชิ้นต่อวัน เป็นเบอร์หนึ่งในตลาด จากสถานการณ์ดังกล่าว “อาจมีการจัดส่งสิ่งของล่าช้าในบางพื้นที่

โดยได้ระงับการฝากส่ง ผลไม้สด ต้นไม้ กล้าพันธุ์ไม้ และของเน่าเสียง่าย เป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 .. 2564 เพื่อป้องกันผลไม้และต้นไม้เสียหาย 

ไปรษณีย์ไทย มีปรับแผนบริหารความเสี่ยงเคลียร์พัสดุตกค้าง เช่น แบ่งเจ้าหน้าที่นำจ่ายออกเป็น 2 กลุ่ม กำหนดให้ทำงานเหลื่อมเวลากัน นำเจ้าหน้าที่จากไปรษณีย์ที่อยู่ใกล้เคียงมาปฏิบัติหน้าที่ในการนำจ่ายแทนเจ้าหน้าที่ของไปรษณีย์ที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราว

รวมไปถึง ปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ กำชับให้เว้นระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยง ขยายพื้นที่ปฏิบัติงานสำรอง พร้อมย้ำว่าจะไม่ปกปิดข้อมูล’ กับลูกค้า 

ด้าน ‘Flash Express’ สตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายเเรกของไทย ที่มีมูลค่ากิจการเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท) เมื่อเดือนมิ..ที่ผ่านมา ก็เกิดปัญหาใหญ่ พนักงานติดโควิด-19 เช่นเดียวกัน จนถึงขั้นต้องปิดศูนย์กระจายสินค้าที่วังน้อยชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อลูกค้าจำนวนมาก

คมสันต์ ลีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Flash Express เทคเเอกชั่นด้วยการส่งจดหมายเเสดงความเสียใจเเละขอโทษลูกค้าทุกคน พร้อมตั้งงบชดเชยความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

โดยมีมาตรการเยียวยาอย่าง การคืนเงินค่าขนส่ง 100% มอบคูปองมูลค่ารวม 50 บาท เเละชดเชยความเสียหายของพัสดุเต็มจำนวนภายใต้กฎเกณฑ์ของบริษัท เป็นต้น

-คมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group)

นอกจากนี้ ยังต้องงดรับของสด และ ผลไม้ทุกชนิดเเละงดพัสดุที่มีน้ำหนักเกินกว่า 10 กิโลกรัม และขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงแต่ละด้านเกินกว่า 100 เซนติเมตร และสามด้านรวมกันเกินกว่า 150 เซนติเมตรเป็นการชั่วคราวด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2563 Flash Express มียอดส่งมากกว่า 300 ล้านชิ้น ส่วนในปี 2564 บริษัทมีจำนวนพัสดุเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 ล้านชิ้น เติบโตจากเดิมที่มียอดส่งพัสดุเฉลี่ยอยู่ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน

ขณะที่เจ้าใหญ่ฝั่งเอกชนอย่าง Kerry Express เเม้ตอนนี้ปัญหาเรื่องพนักงานติดโควิดจะไม่รุนเเรงเท่ารายอื่น เเต่ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ 

ทำให้ต้องปิดบางสาขาในห้างฯ เเละบางสาขามีพนักงานติดโควิด ดังนั้นการขนส่งไปยังปลายทาง จึงต้องใช้เวลามากกว่าปกติราว 1-2 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยเเนะนำให้ลูกค้าวางแผนก่อนส่ง หลีกเลี่ยงพัสดุที่มีวันหมดอายุและเน่าเสียง่าย

ประกอบกับช่วงนี้จำนวนพัสดุเพิ่มขึ้นมากขึ้น 2.2 ล้านชิ้น จากช่วงปกติจำนวนพัสดุอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านชิ้น ในขณะที่พนักงานเคอร์รี่ทั่วประเทศมีประมาณ 20,000 คน จึงมีความล่าช้ากว่าปกติด้วย

ด้านขนส่งรายอื่นๆ อย่าง J&T Express , SCG Express , BEST Express เเละ NIM Express ก็ยังไม่สามารถให้บริการพ่อค้าเเม่ค้าออนไลน์ได้เต็มที่ เพราะมีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน

โดย SCG Express งดจัดส่งบางพื้นที่ และงดบริการเข้ารับพัสดุที่บ้านชั่วคราว ส่วนพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ แช่เย็นแช่แข็งยังจัดส่งได้ตามปกติ

NIM Express แจ้งการส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด เเละของดรับสินค้าปลายทางในพื้นที่สาขาพุทธมณฑล สาย 2 ในระหว่างวันที่ 27-30 .. 2564 โดยยังคงดำเนินการจัดส่งสินค้าตามปกติ 

BEST Express ประกาศ จัดส่งพัสดุเกิดความล่าช้ากว่าปกติ ในพื้นที่สาขาเขตพระนคร กรุงเทพฯ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2564

J&T Express จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณน้ำหนักและขนาดปริมาตรใหม่ โดยด้านใดด้านหนึ่งไม่เกิน 100 ซม. ทั้งสามด้านรวมกันไม่เกิน 180 ซม. และน้ำหนักจริงไม่เกิน 50 กิโลกรัม ข้อกำหนดนี้ใช้กับพัสดุทุกประเภท ยกเว้นพัสดุจาก Shopee เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

ท่ามกลางความปั่นป่วนของธุรกิจขนส่งในไทยนั้นทีวี ไดเร็คเห็นโอกาสธุรกิจ รีบเปิดรับฝากส่งพัสดุ อุดช่องว่างขนส่งขาด ราคาเริ่มต้น 32 บาท โดยมีจุดรับฝากส่งพัสดุ ณ ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท จำนวน 58 แห่งทั่วประเทศ

ประกาศรับสินค้าขนาดใหญ่น้ำหนักไม่เกิน 150 กก. สามารถจัดส่งสินค้าได้ทุกประเภท รวมถึงกล้าพันธุ์ไม้ ระยะเวลาจัดส่ง ภายในกรุงเทพฯปริมณฑลใช้เวลา 2 วันทำการ ส่งต่างจังหวัดประมาณ 3 วัน สามารถรองรับการขนส่งพัสดุได้ 10,000 ชิ้นต่อวัน

ช้อปปิ้งออนไลน์ สะดุด ขายไม่ได้-ส่งของยาก-สินค้าตีกลับ 

เเม่ค้าออนไลน์รายหนึ่ง บอกกับ Positioningmag ว่า เริ่มปรับตัวมาขายออนไลน์อย่างจริงจัง มาตั้งเเต่ช่วงปีก่อน หลังยอดขายหน้าร้านลดลงมาก จึงได้ส่วนขายออนไลน์ ช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดในช่วงโรคระบาด

โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีปัญหาในระบบขนส่ง บางสินค้าส่งไปถึงปลายทางเเต่เกิดความเสียหาย ต้องรับผิดชอบด้วยการส่งของใหม่ไปให้ลูกค้า ทำให้ต้องเเบกรับต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงมีสินค้าโดน ‘ตีกลับจำนวนมาก มองว่า เเม้จะมีการชดเชยค่าส่ง 100% เเต่ก็ไม่คุ้มกับความเสียหายของสินค้า เเละความเชื่อใจของลูกค้าที่หายไป 

ส่วนยอดขายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เหมือนคนไม่ค่อยกล้าสั่งของออนไลน์กัน เพราะกลัวเสี่ยงติดเชื้อเเละกังวลจะได้รับของช้าหรืออาจเสียหาย

โดยหวังว่าสถานการณ์ของธุรกิจขนส่งจะคลี่คลายโดยเร็ว เบื้องต้นในช่วงนี้ก็ต้องปรับตัว เช่น เปลี่ยนบริษัทที่ส่งให้เหมาะสมกับจังหวัดปลายทาง เเม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ก็พยายามให้ของไปถึงลูกค้าอย่างสมบูรณ์เเละรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้พร้อมต้องติดตามสินค้าให้ด้วย

ด้านพ่อค้าเเม่ค้าออนไลน์ที่จำหน่าย ผลไม้สด ต้นไม้ กล้าพันธุ์ไม้ และของเน่าเสียง่าย ที่บริษัทขนส่งหลายราย ‘งดรับบริการชั่วคราวนั้น เรียกได้ว่าซวยเเล้วซวยอีก จากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำอยู่เเล้ว

โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง โพสต์ข้อความถึงความเสียหายจากอุทกภัย ทำให้มังคุดที่มีอยู่ขายไม่ได้ เเม้จะลดราคาลงเหลือกิโลกรัมละ 5 บาทเเล้วก็ตาม อีกทั้งส่งขายทางออนไลน์ไม่ได้อีก

ระวังพิษเศรษฐกิจ ฉุด ‘กำลังซื้อลด’ 

จากข้อมูลของ We are Social เปิดเผยในรายงาน Global Digital Stat 2021 ระบุว่า วิกฤตโควิดเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซไทย ทั้งอีโคซิสเต็มส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ

คนไทยนิยมช้อปปิ้งออนไลน์สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือราว 83.6% สูงกว่าหลายประเทศพัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับการช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านมือถือ คนไทยก็ครองอันดับ 2 ของโลก ด้วยสัดส่วนถึง 74.2% โดยหมวดอาหาร ของใช้ส่วนตัว ของใช้ภายในบ้านเพิ่มขึ้นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์

ขณะเดียวกัน ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ก็ทำให้กำลังซื้อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย เพราะคนต้องประหยัดมากขึ้น ระวังการจับจ่ายใช้สอย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC ประเมินว่า โควิด-19 ระลอกที่ 3 มีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท หรือราว 4.8% ของ GDP จากผลของมาตรการล็อกดาวน์ ความกังวลของประชาชนต่อการติดเชื้อและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก ตลอดจนรายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานในหลายภาคธุรกิจที่จะปรับลดลงมาก

แม้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคบางส่วนจะหันไปใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วนเท่านั้น ทำให้เกิด ‘แผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น’ ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ออกมายังไม่เพียงพอ โดยรัฐต้องเร่งกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงอย่างเร็วที่สุด

ผลกระทบต่อธุรกิจขายออนไลน์ครั้งนี้ จึงเป็นการซ้ำเติมความลำบากของประชาชนรายย่อยให้ร้าวลึกลงไปอีก โดยฝั่งธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนเองก็ต้องปรับตัวรับมือครั้งใหญ่ เมื่อโรคระบาดยังไม่หายไปโดยเร็ว เเต่พนักงานยังต้องลงพื้นที่เสี่ยงในทุกๆ วัน

 

]]>
1344529