แบน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 04 Sep 2023 13:01:29 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวประมง มูลค่านับแสนล้านเยน หลังจีนประกาศแบนอาหารทะเล https://positioningmag.com/1443320 Mon, 04 Sep 2023 12:43:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1443320 รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกองทุนช่วยเหลือเหลือชาวประมง หลังจีนประกาศแบนอาหารทะเล ตอบโต้กรณีญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน โดยงบดังกล่าวมีมูลค่ามากถึง 1 แสนล้านเยนแล้ว และสามารถขยายกองทุนเพิ่มเติมได้

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมเงินเพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่ได้ผลกระทบจากประเทศจีนได้ประกาศแบนอาหารทะเลในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีออกมาเป็นระยะหลังจากปริมาณส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ

จีนได้แบนอาหารทะเลญี่ปุ่นตามหลังที่ Tepco ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวลงสู่ทะเลเป็นครั้งแรกถึง 1.3 ล้านตัน เมื่อตอนบ่ายของวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยกรมศุลกากรของจีน ได้ออกแถลงการณ์ว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร

อย่างไรก็ดีทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศยืนยันถึงความปลอดภัย รวมถึงสหประชาชาติเองก็ออกมาไฟเขียวในเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ดีประชาชนหลายประเทศรอบญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้ กลับไม่เห็นด้วยกับวิธีการปล่อยน้ำเสียเท่าไหร่นัก

ในปี 2022 ที่ผ่านมา จีนเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่อันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น โดยอาหารทะเลหลายชนิดที่นำเข้าไปนอกจากจะบริโภคแล้ว จีนยังเป็นแหล่งแปรรูปอาหารทะเลรายใหญ่ก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่น

เมื่อไม่มานานมานี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทุนมูลค่ารวมถึง 80,000 ล้านเยนเพื่อช่วยพัฒนาให้ชาวประมงหาตลาดทะเลในประเทศอื่น และเก็บปลาส่วนเกินแช่แข็งจนกว่าจะขายได้เมื่อมีความต้องการฟื้นตัว หรือแม้แต่สนับสนุนในการแปรรูปอาหารทะเลโดยไม่ต้องพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่ง

ถ้าหากรวมกันกับงบช่วยเหลือล่าสุดแล้วจะทำให้งบประมาณที่รัฐบาลได้ช่วยเหลือชาวประมงของญี่ปุ่นมีมากถึง 100,700 ล้านเยน คิดเป็นเงินไทยราวๆ 24,218 ล้านบาท หรือเกือบเท่ามูลค่าที่ประเทศจีนนำเข้าอาหารทะเลในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา และรัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมที่จะขยายเม็ดเงินกองทุนดังกล่าวด้วย

ก่อนหน้านี้สื่อญี่ปุ่นอย่าง Japan Times ได้รายงานข่าวว่าผู้แทนของสภาญี่ปุ่นบางรายได้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลฟ้องร้ององค์การการค้าโลก (WTO)  ในกรณีการแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่นด้วย ถ้าหากใช้ช่องทางในการเจรจาทางการทูตแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ดีรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงระมัดระวังท่าทีในการฟ้องร้องต่อ WTO และจะใช้วิถีทางการทูตแบบปกติ และต้องการให้จีนยกเลิกมาตรการแบนอาหารทะเล

ที่มา – Reuters, Asahi

]]>
1443320
สหรัฐอเมริกาสั่ง Nvidia ห้ามส่งออกชิปประมวลผล AI ไปยังบางประเทศในตะวันออกกลาง https://positioningmag.com/1442938 Thu, 31 Aug 2023 01:40:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1442938 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการล่าสุด สั่ง Nvidia ห้ามส่งออกชิปประมวลผล AI ไปยังบางประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งในรายละเอียดนั้นไม่ได้ระบุว่ามีประเทศใดบ้าง แต่คาดว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเหล่านี้เป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายชิปเหล่านี้ไปยังประเทศจีนอีกทอดหนึ่ง

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า ทางการสหรัฐอเมริกา ได้ห้ามไม่ให้ Nvidia ส่งออกชิปประมวลผล AI ไปยังบางประเทศในตะวันออกกลาง โดยคาดว่าเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับบริษัท AI ในประเทศจีน สามารถส่งออกชิปจากประเทศเหล่านี้ไปที่จีนได้

อย่างไรก็ดีในเอกสารที่ Nvidia ได้ยื่นกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ระบุประเทศในตะวันออกกลางว่ามีประเทศใดบ้าง แต่บริษัทได้กล่าวว่ากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ และมาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้อย่างมีนัยสำคัญ

ก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติม ห้ามส่งออกชิป AI ไปยังประเทศจีน โดยให้เหตุผลด้านความมั่นคง แม้ว่า Nvidia จะปรับแต่งชิป AI ให้มีประสิทธิภาพต่ำกว่าซึ่งสามารถส่งออกไปยังตลาดในประเทศจีนได้แล้วก็ตาม รวมถึงบริษัทอื่นอย่าง AMD และ Intel

มาตรการดังกล่าวทำให้บริษัทเทคโนโลยีในประเทศจีนหลายแห่ง ต้องเริ่มไล่ซื้อชิปประมวลผล AI ของ Nvidia จำนวนมาก ก่อนที่จะไม่สามารถสั่งซื้อได้หลังจากนี้

ทางด้านสื่อในประเทศอังกฤษอย่าง The Telegraph ได้รายงานว่า หลายประเทศในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างจับมือกับจีน ในการพัฒนา แลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงวิจัยด้าน AI เพิ่มมากขึ้น และประเทศในตะวันออกกลางเหล่านี้ต่างได้สั่งชิปประมวลผล AI ของ Nvidia เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเคยระบุว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นแหล่งไว้ขนถ่ายสินค้าสำหรับรัสเซียเพื่อหลบเลี่ยงการมาตรการคว่ำบาตรมาแล้ว หลังจากที่รัสเซียได้บุกยูเครนในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา

สำหรับประเทศอื่นในตะวันออกกลาง สหรัฐฯ มีมาตรการคว่ำบาตรที่ครอบคลุมอยู่แล้ว เช่น ซีเรีย หรือ อิหร่าน

ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ ต้องการไม่ให้ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศตัวกลางสำหรับการส่งชิปเหล่านี้เข้าไปยังประเทศจีน

]]>
1442938
อินเดียกำลังพิจารณาห้ามส่งออก 4 แร่หายากสำคัญ จากปัจจัยเรื่องความมั่นคงของประเทศ https://positioningmag.com/1441648 Sun, 20 Aug 2023 07:42:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1441648 อินเดียเตรียมพิจารณาออกมาตรการใหม่ นั่นก็คือห้ามส่งออก 4 แร่หายากสำคัญ โดยให้เหตุผลว่าแร่ธาตุเหล่านี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวต่อจากการแบนห้ามส่งออกข้าวเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

Business Standard สื่อธุรกิจในประเทศอินเดีย รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า รัฐบาลอินเดียพิจารณาแบนการส่งออกแร่หายาก (Rare Earth) สำคัญ 6 ชนิด ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวต่อจากการห้ามส่งออกข้าวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

แร่หายากที่รัฐบาลอินเดียเตรียมพิจารณาแบนการส่งออกได้แก่ ลิเทียม เบริลเลียม ไนโอเบียม แทนทาลัม ซึ่งแร่เหล่านี้มีประโยชน์ตั้งแต่การนำไปใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ใช้สำหรับพัฒนาอุปกรณ์ด้านทหาร ไปจนถึงใช้ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอินเดียอาวุโสที่ไม่ระบุตัวตนได้กล่าวว่า รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะห้ามการส่งออกแร่ธาตุเหล่านี้ เนื่องจากมีความสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงาน และยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย

สำหรับอินเดียไม่ใช่ประเทศแรกที่มีโอกาสแบนการส่งออกแร่เหล่านี้ ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนจีนได้แบนการส่งออกโลหะสำหรับผลิตชิปมาแล้ว รวมถึงแบนการส่งออกแร่หายากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริการวมถึงพันธมิตร

นอกจากนี้ยังมีอินโดนีเซียที่แบนการส่งออกนิกเกิลมาแล้ว โดยให้เหตุผลว่าต้องการที่จะให้ผู้ผลิตที่ใช้แร่ธาตุดังกล่าวเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสร้างการจ้างงานในประเทศ

นอกจากแร่หายากแล้ว เมื่อเดือนที่ผ่านมา อินเดียเพิ่งจะแบนการส่งออกข้าว เนื่องจากข้าวในประเทศมีราคาสูงขึ้น และต้องการให้ราคาในประเทศนั้นคงตัวมากกว่านี้ ซึ่งแดนภาระตะนี้ถือว่ามีสัดส่วนในการส่งออกข้าวมากถึง 40% เป็นรองจากประเทศจีนเท่านั้น

หลังจากกรณีของประเทศอินเดีย หรือแม้แต่จีนแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้เราอาจเห็นหลายประเทศที่มีแร่ธาตุสำคัญ อาจใช้มาตรการห้ามส่งออก โดยให้เหตุผลถึงด้านความมั่นคง หรือไม่แล้วก็ด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องการใช้แร่ธาตุเหล่านี้ไม่น้อย

]]>
1441648
จีนแบน H&M! ถอดสินค้าออกจาก 3 แอปฯ ออนไลน์ ประเด็นการใช้ “ฝ้ายซินเจียง” https://positioningmag.com/1324996 Thu, 25 Mar 2021 10:17:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1324996 การเมืองโลกโยงเศรษฐกิจการค้า! “ฝ้ายซินเจียง” เป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อค่ายตะวันตกโจมตีจีนจากประเด็นนี้ ทำให้ฝั่งจีนใช้พลังอำนาจซื้อของประชาชนโจมตี โหมกระแสแบนแบรนด์ตะวันตกที่เคยกล่าวโจมตีฝ้ายซินเจียง โดยมี H&M เป็นเป้าหมายแรก ถูกแบนออกจากแอปฯ ขายของออนไลน์ 3 แห่ง และตำแหน่งร้านค้าถึงกับถูกลบออกจากแอปฯ แผนที่!

ฝ้ายซินเจียงกลับมาเป็นประเด็นร้อนบนเวทีโลกอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป (EU), สหราชอาณาจักร และแคนาดา ร่วมกัน “คว่ำบาตร” เจ้าหน้าที่รัฐของจีนจำนวนหนึ่ง โดยสั่งห้ามเข้าประเทศและยึดทรัพย์

สาเหตุการแบน เกิดจากประเด็นที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงทั้งนี้ ประเทศตะวันตกมีการรายงานเสมอเรื่องแคมป์กักกันชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง และใช้แรงงานทาสคนอุยกูร์ในไร่ฝ้าย

ต่อมารัฐบาลจีนออกมาตอบโต้ประเด็นนี้ทันทีโดยปฏิเสธเช่นเคยว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ขณะที่ CGTN สื่อของรัฐบาลจีนมีการเผยแพร่วิดีโอคลิปใน Weibo โซเชียลมีเดียยอดฮิตของจีน แสดงภาพการใช้ระบบออโตเมชันเก็บฝ้ายในซินเจียง และเกษตรกรชาวอุยกูร์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า คนอุยกูร์ต้องต่อสู้ชิงตำแหน่งงานในไร่ฝ้ายเพราะว่าได้รายได้สูง

กระแสรณรงค์จึงถูกจุดขึ้นทั่วโลกออนไลน์ของจีน โดยแฮชแท็กที่แปลว่า “ฉันสนับสนุนฝ้ายซินเจียง” ถูกพูดถึงบน Weibo มากกว่า 1.8 พันล้านครั้ง

H&M สาขาปักกิ่ง (Photo : Shutterstock)

เรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับ H&M เพราะปีที่แล้ว H&M เคยออกแถลงการณ์ว่า แบรนด์มีความ “กังวล” เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ และยืนยันว่าแบรนด์ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ผลิตจากซินเจียง เมื่อชาวเน็ตพบข้อมูลดังกล่าว กระแสบอยคอต H&M จึงแพร่สะพัดทันที

กระแสที่รุนแรงนี้ทำให้ H&M เป็นแบรนด์แรกที่ถูกถอดรายการสินค้าทั้งหมดออกจากแอปฯ ขายของออนไลน์ดัง 3 แห่ง ได้แก่ JD.com, Taobao (เถาเป่า) และ Pinduoduo (พินตัวตัว) ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 64 ผู้ใช้จะค้นหาสินค้าไม่เจออีกต่อไป แม้แต่แอปฯ แผนที่ของจีน เช่น Baidu (ไป่ตู้) ก็ถึงกับลบข้อมูลร้าน H&M ออกจากแผนที่ไปเลย หรือแอปฯ เรียกรถอย่าง Didi ก็ลบร้าน H&M ออกจากสารบบ ผู้ใช้จะไม่สามารถปักหมุดเรียกรถไปกลับจาก H&M สาขาใดๆ ได้

ไม่ใช่แค่ H&M อีกหลายแบรนด์ต่างประเทศกำลังเป็นเป้าหมายถัดไป เพราะเคยออกแถลงการณ์ไม่ใช้ฝ้ายซินเจียง เช่น Nike, Uniqlo, Adidas และแบรนด์ที่เริ่มมีชื่อตกเป็นเป้าบ้างแล้ว เช่น New Balance, Burberry

กระแสนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในจีน เพราะแม้แต่ดาราเซเลบจีนหลายคน เช่น หวังอี้ป๋อ, หวงเซวียน, วิคตอเรีย ซ่ง ยังร่วมรณรงค์กับประชาชน โดยประกาศตัดสัมพันธ์ ยกเลิกสัญญากับแบรนด์ที่เป็นเป้าบอยคอต โดยให้เหตุผลว่า “ประโยชน์ของชาติอยู่เหนือทุกอย่าง”

ในทางกลับกัน กระแสบอยคอตแบรนด์ต่างชาติกลายเป็นอานิสงส์เชิงบวกให้กับแบรนด์จีน หลายแบรนด์พลิกกลับมาแรงตามความรู้สึก “ชาตินิยม” ที่เกิดขึ้น เช่น Li Ning (หลี่หนิง) แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาชื่อดัง จนหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้น 8.31% วันนี้

Source: BBC, SCMP, Yahoo Finance

]]>
1324996
‘เสียวหมี่’ ก็ไม่รอด! ถูกฝ่ายบริหารทรัมป์ ‘Blacklist’ ข้อหาเกี่ยวข้องกับทหารคอมมิวนิสต์จีน https://positioningmag.com/1314405 Fri, 15 Jan 2021 04:30:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1314405 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จะลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนนี้ ก็ได้ทิ้งทวนแบน 8 แอปพลิเคชันของจีน ซึ่งมี ‘วีแชท (WeChat)’ ของบริษัทเทนเซ็นต์ และแอป ‘Alipay’ ของแอนท์ กรุ๊ป ในเครือของอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ล่าสุด ฝ่ายบริหารของทรัมป์ก็ขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีนชื่อดังอย่าง ‘เสียวหมี่ (Xiaomi)’

เสียวหมี่ เป็น 1 ใน 9 บริษัทที่ถูกเพิ่มเข้าในรายชื่อบัญชีดำในครั้งใหม่นี้ ซึ่งประกอบด้วย AMEC, LKCO, Beijing Zhongguancun Development Investment Center, GOWIN Semiconductor Corp, GCAC, GTCOM, CNAH, COMAC โดยทั้งหมดที่ถูกขึ้นบัญชีดำด้วยสาเหตุ “มีความเกี่ยวข้องกับทหารคอมมิวนิสต์จีน” ซึ่งนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันขั้นสุดท้ายเพื่อ ‘กดดันปักกิ่ง’ ก่อนที่ ‘ประธานาธิบดีโจ ไบเดน’ ที่ได้รับเลือกจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนนี้

ร้าน Xiaomi ในเมืองนานจิง มณฑลเจียงซู (photo: CookieWei / Shutterstock.com)

ภายใต้คำสั่งบริหารที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามในเดือนพฤศจิกายน ทำให้นักลงทุนสหรัฐฯ ต้องชะลอการลงทุนในบริษัทที่มีรายชื่อภายในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า โดย ‘Keith Krach’ ปลัดกระทรวงการเติบโตทางเศรษฐกิจพลังงานและสิ่งแวดล้อมของกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า “สาธารณชนได้รับคำเตือนอย่างเพียงพอเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน”

ที่ผ่านมา เสียวหมี่ ได้มียอดขายสมาร์ทโฟนแซงหน้า ‘Apple’ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2020 ตามข้อมูลของ International Data Corporation จากนั้นบริษัทก็เข้าในตลาดหลักทรัพย์ ‘Hang Seng Index’ ของฮ่องกงในเดือนกันยายน หลังจากคว้าส่วนแบ่งการตลาดจาก ‘หัวเว่ย’ Huawei Technologies Co. เนื่องจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯต่อ Huawei เพิ่มมากขึ้น

จากนี้คงต้องจับตาว่าอนาคตที่กำลังสดใสของเสียวหมี่จะดับวูบไหม เพราะอย่างกรณีหัวเว่ยที่ถูกขึ้นบัญชีดำไปก่อนหน้านี้ก็ทำให้ใช้งาน Google ไม่ได้ ซึ่งทำให้หัวเว่ยต้องออก ‘HarmonyOS’ หรือ ‘HongmengOS’ ของตัวเองมาใช้ ดังนั้นคงต้องรอดูว่าจะเกิดผลกระทบกับเสียวหมี่ในทิศทางไหนบ้าง และจะหนักหนาเหมือนกันกรณีของหัวเว่ยหรือไม่

Source

Source

]]>
1314405
สรุปทุกปัญหาที่รุมเร้าจน ‘หัวเว่ย’ ย้ำเป้าหมายจากนี้ ‘ต้องเอาชีวิตรอด’ https://positioningmag.com/1298806 Fri, 25 Sep 2020 11:09:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298806 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กั้ว ปิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท หัวเว่ย (Huawei) ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน ได้ออกมากล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทตอนนี้คือ ‘เอาชีวิตรอด’ จากการโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่าของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่เกิดจากข้อหา มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดยอ้างว่ารัฐบาลจีนสามารถใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในการสอดแนมได้ ขณะที่บริษัทก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้นตลอดมา ดังนั้น Positioning จะมาสรุปกันว่าหลังจากที่สหรัฐฯ ได้กล่าวหาหัวเว่ยนั้น เกิดอะไรขึ้นกับแบรนด์บ้าง

เริ่มจากโดน Entity list ในปี 2019

จุดเริ่มต้นมาจากในปี 2019 เมื่อกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เปิดเผยคำฟ้องถึงบริษัทหัวเว่ยรวม 23 ข้อหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา แต่ประเด็นหลักคือ ความกังวลว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยจะถูกนำไปใช้เพื่อสอดแนมในต่างประเทศและในบริษัทอื่น ๆ อีกทั้ง ทางรัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง บังคับให้บริษัทจีนต้องส่งมอบข้อมูลทุกอย่างให้ทางรัฐบาลจีน หากรัฐบาลจีนร้องขอ

ส่งผลให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งให้ลิสต์หัวเว่ยเข้าไปในรายการของกระทรวงอุตสาหกรรมและความปลอดภัยของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ โดยทำการแบนหัวเว่ยจากเครือข่ายการสื่อสารของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และอีกคำสั่งมาจากฝั่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่ได้เพิ่มชื่อหัวเว่ยใน Entity list โดยบริษัทที่อยู่ในลิสต์ดังกล่าว จะต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยไม่สามารถใช้งาน Google และระบบปฏิบัติการ Android ได้

กดดันนานาประเทศแบนหัวเว่ย

สหรัฐฯ ไม่ได้แค่แบนหัวเว่ยในประเทศตัวเอง แต่ยังกดดันนานาประเทศทั่วโลกแบนอุปกรณ์หัวเว่ยจากเครือข่ายโทรคมนาคม 5G ของตน ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร ที่จากตอนแรกได้อนุมัติให้หัวเว่ยเข้ามาวางเครือข่าย 5G แต่จำกัดการมีส่วนร่วมที่ 35% ของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แต่ก็ได้ยกเลิกไป แม้มาตรการดังกล่าวจะทำให้การเริ่มใช้ระบบการสื่อสาร 5G ของประเทศต้องล่าช้าออกไปอีก 1 ปี อีกทั้งจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าสะสมนานถึงสามปีซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่า 2 พันล้านปอนด์ หรือราว 8 หมื่นล้านบาทก็ตาม

หรือในปี 2561 รัฐบาลออสเตรเลียประกาศแบนหัวเว่ยไม่ให้จัดส่งอุปกรณ์ป้อนโครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสาร 5G โดยอ้างถึงความเสี่ยงที่จะถูกต่างชาติแทรกแซง ทำให้หัวเว่ยต้องลดจำนวนพนักงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงรวมกว่า 1,000 ตำแหน่ง และก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้ระงับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 72.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ห้ามซื้อชิป แรงกดดันล่าสุดที่ถึงตาย

วอชิงตันได้เพิ่มแรงกดดันต่อ โดยออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคมและสิงหาคม ด้วยการแบนไม่ให้หัวเว่ยเข้าถึงชิปที่จำเป็นต่อการผลิตสมาร์ทโฟน, อุปกรณ์เครือข่าย 5G และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ส่งผลให้บริษัท Qualcomm และ TSMC จะไม่สามารถขายให้กับหัวเว่ยได้อีกต่อไป หากไม่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก่อน มีเพียงแค่ Intel ที่ยังได้รับใบอนุญาตจากทางการสหรัฐฯ ในการจัดหาอุปกรณ์ให้หัวเว่ยต่อไป แต่ไม่ได้ระบุว่าจะขายผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เรียกการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ว่า “ระเบิดร้ายแรงที่ส่งผลถึงชีวิต” โดยหัวเว่ยเองได้ระบุว่า บริษัทมีซัพพลายชิปเพียงพอสำหรับธุรกิจอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคม แต่ไม่เพียงพอสำหรับผลิตโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกำลังไปได้ดี เพราะในไตรมาส 2 ที่ผ่านมามียอดจัดส่งสูงถึง 55.8 ล้านเครื่อง ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดโลก ดังนั้นจากนี้คงต้องจับตาดูว่าหัวเว่ยจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร เพราะโอกาสที่สหรัฐฯ จะยอมอนุญาตให้ Qualcomm กลับมาส่งชิปให้หัวเว่ยนั้นค่อนข้างริบหรี่ อีกทั้งนักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่าหัวเว่ยได้กักตุนเซมิคอนดักเตอร์ไว้เพียงพอที่จะใช้งานจนถึงสิ้นปีเท่านั้น

Source

]]>
1298806
เปิดมหากาพย์บุญมีแต่กรรมบังของ ‘TikTok’ จากแอปฯ ดาวรุ่งพุ่งแรง สู่การถูกแบนในอินเดียและสหรัฐฯ https://positioningmag.com/1290788 Mon, 03 Aug 2020 09:54:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290788 เปิดปี 2020 มาอย่างสวยงาม สำหรับ ‘TikTok’ แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยมของคนทั่วโลกที่มียอดดาวน์โหลดกว่า 2,000 ล้านครั้งใน 150 ประเทศทั่วโลก! แต่แล้วฝันก็สลายไปในพริบตา เมื่อประเทศอินเดียประกาศแบน และตอนนี้กำลังจะถูกแบนในสหรัฐฯ ด้วยข้อหา ‘ภัยคุกคามต่อความมั่นคง’ เลยกลายเป็นว่าแอปฯ ที่กำลังมาแรงกลับต้องถูกเบรกซะงั้น ดังนั้น Positioning จะพาไปย้อนไทม์ไลน์ของ TikTok ในปี 2020 ว่าเกิดอะไรขึ้นกันบ้าง

รู้จัก ‘TikTok’

TikTok เป็นแอปพลิเคชันสัญชาติจีน ก่อตั้งในปี 2012 โดย ByteDance โดยหลักการใช้ก็ง่าย ๆ คือ เป็นแอปฯ สร้างวิดีโอสั้นความยาว 15-60 วินาที โดยผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์วิดีโอได้โดยการใส่เพลงและเล่นกับเอฟเฟกต์ต่าง ๆ บางคอนเทนต์ที่ทำออกมาโดนใจก็จะถูกแชร์จนเกิดเป็น ‘Viral’ ได้ง่าย ๆ อย่างเช่น เพลง ‘เจน นุ่น โบว์’ ของวง Super วาเลนไทน์ก็น่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างชั้นดี

เมื่อส่วนผสมทั้งหมดถูกปั่นรวมกันอย่างลงตัว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม TikTok ถึงได้เติบโตอย่างรวดเร็วขนาดนั้น โดยภายในเดือนมกราคมปี 2020 TikTok ก็สามารถทะยานเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดอันดับ 1 ของโลกด้วยยอด 104.7 ล้านครั้ง รวมยอดดาวน์โหลดกว่า 1,500 ล้านครั้ง ผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก และสามารถทะยานเป็น 2,000 ล้านครั้งในปัจจุบัน เติบโตถึง 2 เท่าจากปีที่แล้ว ซึ่ง ‘Covid-19’ ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องกักตัวอยู่แต่บ้าน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ TikTok สามารถเติบโตได้เร็วขนาดนี้

ปัญหา ‘ความมั่นคง’ ข้อกล่าวหายอดนิยม

หากย้อนไปเมื่อช่วงกลางปี 2019 ‘หัวเว่ย’ (Huawei) ได้ถูกกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มชื่อใน ‘Entity List’ หรือบัญชีดำการซื้อขาย ก็เพราะประเด็นด้านความมั่นคง เนื่องจากมีความกังวลว่ารัฐบาลจีนจะบังคับให้หัวเว่ยเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งาน แม้หัวเว่ยจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ก็ตาม

จากนั้นปัญหาดังกล่าวก็ลามมาถึง TikTok โดยเริ่มจากช่วงต้นปีที่กองทัพสหรัฐฯ ได้ประกาศสั่งห้ามไม่ให้ทหารใช้เเอปฯ นี้ เพราะข้อหา ‘ภัยต่อความมั่นคง’ โดยระบุว่า TikTok ถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมมีคำสั่งห้ามทหารเรือทุกนายติดตั้งเเอปฯ TikTok ลงบนโทรศัพท์ที่ใช้งานราชการ อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะในกองทัพ เรื่องจึงเงียบไป

แต่แล้วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารของอินเดียและจีนในบริเวณชายแดนจีน-อินเดีย ส่งผลให้มีทหารอินเดียเสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย จนเกิดกระแสการแบนสินค้า และบริการจีนในอินเดีย โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี จนในที่สุด รัฐบาลอินเดียได้แบนแอปพลิเคชันต่างชาติรวม 59 แอป โดยรัฐบาลอินเดียอ้างว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพของชาติ ซึ่งหวยก็มาออกที่ TikTok ได้กลายเป็นหนึ่งในนั้น ถือเป็นการชัตดาวน์โอกาสทางธุรกิจในอินเดียไปโดยปริยาย

ยอม ‘ขาย’ หรือถูก ‘แบน’

หลังจากที่กองทัพได้แบน TikTok แล้ว ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯ ก็สานต่อ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ประกาศว่าจะแบน TikTok ออกจากสหรัฐฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่และสมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ แสดงความกังวลว่าแพลตฟอร์ม TikTok อาจถูกปักกิ่งนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยข่าวกรองของจีน พร้อมกับระบุว่า เขาจะสั่งดำเนินการทันที โดยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉิน หรือคำสั่งบริหาร อย่างไรก็ตาม ารแบนจะไม่เกิดขึ้นหาก TikTok ไม่ใช่บริษัทจีน หรือแปลว่า ByteDance ต้องขาย TikTok ให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกา

ขณะที่ด้านของ TikTok ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ โดย Hilary McQuaide โฆษกของ TikTok ยืนยันว่าข้อมูลผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ทั้งหมดถูกจัดเก็บในสหรัฐฯ และสำรองข้อมูลไว้ที่ศูนย์ข้อมูลใหญ่ที่สิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายและการควบคุมของรัฐบาลจีน เเละเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจีนจะเข้ามาเเทรกเเซงตามข้อกล่าวหา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ระบุว่า ข้อกล่าวหาส่วนใหญ่เป็นเพียงทฤษฎีและไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลผู้ใช้ของ TikTok นั้นถูกบุกรุกโดยหน่วยข่าวกรองของจีน

จับตา ‘เจ้าของใหม่’

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่รุมเร้า ByteDance เองกำลังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร และมีรายงานว่าได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขายหุ้นใหญ่ใน TikTok โดยเปิดโอกาสที่จะเจราจากับหลายบริษัท แต่ Microsoft ยักษ์ใหญ่ไอทีสัญชาติอเมริกาก็ถือเป็นเต็ง 1 ในการครอบครอง TikTok โดยล่าสุด Microsoft ได้ออกแถลงการณ์ว่า การเจรจาเข้าซื้อจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ และหากดีลสำเร็จ Microsoft จะเป็นเจ้าของและดำเนินการ TikTok ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ทั้งนี้ TikTok ถูกประเมินมูลค่าอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีผู้ใช้สหรัฐฯ มีผู้ใช้งานมากกว่า 80 ล้านคนต่อวัน และมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 300 ล้านครั้งในสหรัฐฯ

แพลตฟอร์มใหม่รอเสียบเพียบ

แม้ว่าอนาคตในสหรัฐฯ จะยังไม่แน่นอน และสำหรับอินเดียนั้นถูกปิดไปเรียบร้อย แต่มรสุมของ TikTok ยังไม่หมด เพราะความ Hot ของแพลตฟอร์มได้ให้กำเนิดคู่แข่งรายใหม่จำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งระดับโลกและคู่แข่งในภูมิภาค อาทิ Sloy สัญชาติรัสเซีย, HiPi สัญชาติอินเดีย, Short จาก YouTube, Reels จาก Instagram และ Lasso จาก Facebook เรียกได้ว่ารอบด้านเลยทีเดียว

และต้องยอมรับว่าหาก TikTok ต้องเสียตลาดอินเดียและอเมริกาไปอย่างถาวร ต้องไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ เพราะแค่ตลาดอินเดียเอง TikTok มียอดดาวน์โหลดถึง 600 ล้านครั้ง ขณะที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอินเดียยังมีเพียงครึ่งเดียวของจำนวนประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน ซึ่งแปลว่าโอกาสยังมีอีกมาก และในสถานการณ์ที่มีคู่แข่งจำนวนมากรอเสียบอยู่แบบนี้ ดังนั้นการขาย TikTok ในเวลานี้อาจจะเป็นเรื่องดีก็เป็นได้

]]>
1290788
‘ทรัมป์’ ขู่แบน ‘TikTok’ เหตุความมั่นคง ด้าน ‘ByteDance’ อาจขาย TikTok ทิ้งเพื่อตัดปัญหา https://positioningmag.com/1290538 Sun, 02 Aug 2020 06:17:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290538 กลายเป็นเครื่องมือของเกมการเมืองไปเสียแล้ว สำหรับ ‘TikTok’ แอปวิดีโอสั้นที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหลายประเทศ เพราะล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ประกาศว่าจะแบน TikTok ออกจากสหรัฐฯ เนื่องจากแอปฯ ดังกล่าวอาจเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยข่าวกรองของจีน

ในเดือนมิถุนายน อินเดียได้สั่งแบน 59 แอปพลิเคชันจีน รวมถึง TikTok โดยให้เหตุผลว่า อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอินเดีย และเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ เจ้าหน้าที่และสมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ แสดงความกังวลว่าแพลตฟอร์ม TikTok กำลังถูกปักกิ่งนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการจารกรรมข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน แต่ทางบริษัทได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างสิ้นเชิง

ล่าสุด ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศว่าจะแบน TikTok เว้นเสียแต่ว่าแอปฯ นี้จะไม่ได้เป็นของบริษัท ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่อยู่ในจีน พร้อมกับระบุว่า เขาจะสั่งดำเนินการทันที โดยใช้อำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉิน หรือคำสั่งบริหาร แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะบังคับใช้อย่างไร

“ตราบใดที่ TikTok ยังน่ากังวลอยู่ เราจะแบนมันในสหรัฐฯ” ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าว

ทางด้าน Hilary McQuaide โฆษกของ TikTok ยืนยันว่าข้อมูลผู้ใช้ TikTok US ถูกเก็บไว้ในสหรัฐอเมริกา โดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวด และบริษัทมุ่งมั่นที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ระบุว่า ข้อกล่าวหาของ TikTok ส่วนใหญ่เป็นเพียงทฤษฎีและไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลผู้ใช้ของ TikTok นั้นถูกบุกรุกโดยหน่วยข่าวกรองของจีน

อย่างไรก็ตาม ByteDance เองกำลังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร และมีรายงานว่าได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขายหุ้นใหญ่ใน TikTok โดย Microsoft ยักษ์ใหญ่ไอทีสัญชาติอเมริกาก็กำลังเจรจาเพื่อซื้อ TikTok แต่ ByteDance เองยังไม่ปิดโอกาสที่จะเจรจากับบริษัทอื่น ๆ ที่สนใจ ทั้งนี้ TikTok ถูกประเมินมูลค่าอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

ปัจจุบัน TikTok มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 2 พันล้านครั้ง เติบโตถึง 2 เท่าจากปีที่แล้ว ส่วนในสหรัฐฯ มีผู้ใช้งานมากกว่า 80 ล้านคนต่อวัน

CNBC / reuters

]]>
1290538
‘อังกฤษ’ กลับลำ สั่งแบน 5G ‘หัวเว่ย’ แม้จะทำให้เสียหายถึง 8 หมื่นล้านบาทก็ตาม https://positioningmag.com/1287848 Wed, 15 Jul 2020 09:11:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1287848 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ‘อังกฤษ’ ได้อนุมัติให้ ‘หัวเว่ย’ เข้ามาวางเครือข่าย 5G แต่จำกัดการมีส่วนร่วมที่ 35% ของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แม้ว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ พยายามกดดันให้แบนหัวเว่ยเนื่องจากข้อสงสัยเรื่องความมั่นคงปลอดภัยก็ตาม แต่ในที่สุด ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะทำสำเร็จ เพราะอังกฤษได้ออกมาประกาศว่าจะแบนหัวเว่ยเรียบร้อย

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้เตือนถึงความกังวลด้านความปลอดภัยของหัวเว่ยเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากกังวลว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยจะทำให้ปักกิ่งสามารถสอดแนมการสื่อสารที่ละเอียดอ่อนได้ โดยได้เรียกร้องให้พันธมิตร ‘Five Eyes’ ได้แก่ สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แคนาดา และอังกฤษ ปิดกั้นหัวเว่ยจากเครือข่าย 5G แต่อังกฤษไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว โดยจำกัดการมีส่วนร่วมในการวางโครงข่าย 5G ที่ 35%

ล่าสุด รัฐบาลอังกฤษก็ได้กลับลำสั่งห้ามบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศซื้ออุปกรณ์เครือข่าย 5G จากหัวเว่ย ตั้งแต่ 1 ม.ค.ปีหน้า อีกทั้งรัฐบาลยังสั่งให้บริษัทเหล่านี้ถอดอุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยที่ติดตั้งไปแล้วทั้งหมดออกจากเครือข่ายภายในปี 2027

นายโอลิเวอร์ ดาวเดน รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และกีฬา ของอังกฤษได้แจ้งการตัดสินใจดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้การเริ่มใช้ระบบการสื่อสาร 5G ของประเทศต้องล่าช้าออกไปอีก 1 ปี อีกทั้งจะส่งผลให้เกิด ‘ความล่าช้าสะสม’ นานถึงสามปีซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่า 2 พันล้านปอนด์ หรือราว 8 หมื่นล้านบาท

“นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเครือข่ายโทรคมนาคมของ U.K. เพื่อความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจของเราทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว เนื่องจากไม่สามารถมั่นใจได้อีกต่อไปว่าจะสามารถรับประกันความปลอดภัยของอุปกรณ์ Huawei 5G ในอนาคต”

การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับหัวเว่ย เพราะไม่ใช่แค่เรื่อง 5G แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มการลงทุนในอังกฤษกว่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาขนาด 50,000 ตารางเมตรในเคมบริดจ์

“การตัดสินใจที่น่าผิดหวังนี้ เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทุกคนอังกฤษ เพราะมันทำให้อังกฤษขยับตัวช้าและอาจทำให้ค่าบริการพุ่งสูงขึ้น เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลมากขึ้น” เอ็ด บรูว์สเตอร์ โฆษกของหัวเว่ยประจำประเทศอังกฤษ กล่าว

อ่าน >>> ‘หัวเว่ย’ เตรียมสร้างศูนย์วิจัยมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์ในอังกฤษ หลังได้รับอนุมัติวางเครือข่าย 5G

ทั้งนี้ จากการคว่ำบาตรต่าง ๆ รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้การเติบโตในครึ่งปีแรกช้าที่สุดในรอบ 7 ปี โดยบริษัทมีรายได้ 64.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเติบโต 13.1% จากปีก่อนหน้า

Source

]]>
1287848
‘สหพันธ์ผู้โฆษณาโลก’ ชี้ การคว่ำบาตร ‘Facebook’ จะไม่หยุดจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง https://positioningmag.com/1286687 Tue, 07 Jul 2020 08:24:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286687 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีบริษัทมากกว่า 500 รายที่ร่วมกัน ‘บอยคอตโฆษณา’ ใน Facebook อย่างไรก็ตาม บริษัทวิเคราะห์หุ้นจาก Wall Street ประเมินว่ารายได้ Facebook จะลดลงเพียง 5% เท่านั้น แต่ถ้าเกิดขึ้นยาวนานกว่า 1 เดือนก็อาจจะมีผลกระทบสูงขึ้น ขณะที่ Mark Zuckerberg เชื่อว่า “ผู้โฆษณาเหล่านี้จะกลับมาบนแพลตฟอร์มในไม่ช้า” แต่ไม่แน่ว่าสิ่งที่ Mark คิดนั้นอาจจะผิด

Mark Zuckerberg CEO Facebook

Stephan Loerke ซีอีโอของ World Federation of Advertisers (WFA) หรือ สหพันธ์ผู้โฆษณาโลก เชื่อว่าการที่แบรนด์ใหญ่ ๆ ยกเลิกการลงโฆษณาในโซเชียลมีเดียจะไม่กลับมาจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจริง

“ฉันไม่เห็นแบรนด์ใหญ่เหล่านั้นกลับมาอีก ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” เขากล่าว

โดย WFA ได้ทำผลสำรวจ 58 บริษัท จากสมาชิกกลุ่มการค้า 120 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย PepsiCo, P&G และ Diageo ซึ่งใช้จ่ายด้านสื่อสารด้านการตลาดมากถึง 90% พบว่ามี 31% ที่ตัดสินใจระงับโฆษณาในโซเชียลมีเดีย 41% ระบุว่า พวกเขายังไม่ได้ตัดสิน และ 29% ยังไม่มีแผนการที่จะระงับการโฆษณา

การสำรวจครั้งนี้ เกิดหลังจากที่แบรนด์ใหญ่อย่าง Unilever และ Starbucks ได้ประกาศหยุดโฆษณาทาง Social Media หลังจากมีแคมเปญที่เรียกว่า “#StopHateForProfit” โดยกลุ่มองค์กรที่เรียกร้องให้ผู้โฆษณาคว่ำบาตร Facebook เมื่อเดือนกรกฎาคม ขณะที่การระงับโฆษณาบนโซเชียล มีทั้งหยุดยาวจนหมดปีนี้ หรืออาจจะเป็นเพียง 1 เดือน หรือ 2 เดือน

“หากแบรนด์ใหญ่ ๆ ร่วมกันแบนประมาณ 1-3 เดือน ก็อาจจะไม่ทำให้รายรับของ Facebook ลดลงมากเลย แต่มุมมองที่แบรนด์เหล่านั้นแสดงออก เชื่อว่ามันมีน้ำหนักในอุตสาหกรรมและคิดว่าในระยะยาว จะมีความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ Social Media”

อ่าน >>> แค่ผิวๆ! นักวิเคราะห์ประเมินกระแส “บอยคอตโฆษณา” Facebook กระทบรายได้เพียง 5%

Loerke กล่าวว่า เขาเชื่อว่าผู้ประกอบการในระบบนิเวศรวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีความสนใจในการบรรเทาคำพูดและเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชัง แต่วิธีที่เขาทำในตอนนี้อาจไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มมีนโยบายค่านิยมและเครื่องมือของตัวเอง

สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย 4 สิ่ง 1.มีการจำกัดความของ “คำพูดแสดงความเกลียดชัง” ในทุกหน่วยงาน 2.ข้อมูลจะต้องถูกรวบรวมเป็นหนึ่งเดียว 3.จำเป็นต้องมีการตรวจสอบบุคคลที่สามแทนข้อมูลที่รายงานด้วยตนเอง และ 4.มีเครื่องมือที่ทำงานข้ามระบบนิเวศ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาสหพันธ์ผู้โฆษณาโลกได้สร้าง Global Alliance for Responsible Media เพื่อจัดการกับปัญหาเช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา Facebook จะพยายามอธิบายว่าแพลตฟอร์มมีการรับมือกับข้อความ hate speech และพยายามสร้างความมั่นใจให้พนักงานว่าโฆษณาทั้งหลายจะกลับมาใช้บริการเร็ว ๆ นี้ แน่นอน

Source

]]>
1286687