แผนธุรกิจ 2566 – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 21 Feb 2023 11:41:16 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “LPN” คัมแบ็กพร้อมแบรนด์ใหม่ “168” รีเฟรชให้ “ทันสมัย” ล้างภาพ “คอนโดฯ รุ่นเดอะ” https://positioningmag.com/1420218 Tue, 21 Feb 2023 11:22:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1420218 LPN กลับมาอีกครั้งหลังเงียบหายจากตลาดไป 4-5 ปี พร้อมพลิกโฉมแบรนด์ใหม่ เปลี่ยนชื่อโครงการเป็นตระกูล “168” ทั้งหมด เพื่อล้างภาพจำแบรนด์ “ลุมพินี” ที่ถูกมองว่า ‘แก่’ และ ‘ไม่ทันสมัย’ เข้าสู่ยุคใหม่ที่จะเป็นบ้าน ทาวน์เฮาส์ และคอนโดฯ แบบ Simple & Stylish พร้อมกลับมาเปิดตัวใหม่มากที่สุดในรอบสิบปี รวม 17 โครงการ 14,000 ล้านบาท

บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ลดความเคลื่อนไหวในตลาดไป 4-5 ปี แต่ปี 2566 นี้บริษัทจะกลับมาโหมตลาดครั้งใหญ่ในรอบทศวรรษ

“โอภาส ศรีพยัคฆ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ LPN อธิบายถึงการชะลอพัฒนาโครงการในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพราะคณะกรรมการบริษัทประเมินว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเข้าสู่ช่วงวัฏจักรขาลง และบริษัทเองมีปรัชญาการทำงานที่จะ “ไม่เสี่ยง” เพราะเคยได้รับบทเรียนในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 มาแล้ว

“แต่การชะลอตัวก็จะกระทบกับอีกเรื่องนั่นคือ รายได้ในอนาคตจะลดลง และแบรนดิ้งก็จะเริ่มเงียบไปเพราะเรามีโครงการเปิดตัวน้อย” โอภาสกล่าว

LPN แบรนด์ 168
“โอภาส ศรีพยัคฆ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ LPN แถลงข่าวปี 2566 พร้อมด้วยโลโก้ใหม่ของบริษัท

ล้างภาพแบรนด์ “แก่” ด้วยแบรนด์ใหม่ “168”

อย่างไรก็ตาม LPN ไม่ได้หยุดนิ่งไปหมด เพราะใช้เวลา 4-5 ปีนั้นทบทวนตนเองว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร ซึ่งพบว่าบริษัทมีจุดแข็ง 2 เรื่องหลักคือ “ความน่าไว้วางใจ” เนื่องจากมีข้อร้องเรียนน้อย และ “สปีด & สเกล” คือบริษัทถนัดการสร้างโครงการขนาดใหญ่และสร้างได้รวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 1 ปีพร้อมเข้าอยู่

ขณะที่จุดอ่อนสำคัญของบริษัทคือ แบรนด์ “ลุมพินี” เคยเป็นแบรนด์ที่ดีในสายตาผู้บริโภควัย 40 ปีขึ้นไป หรือเจนเอ็กซ์ไปจนถึงเบบี้บูมเมอร์ แต่ในกลุ่มเจนวายลงมา แบรนด์นี้ถูกมองว่า แก่ ไม่ทันสมัย ดูเหมือนหอพักมากกว่าคอนโดมิเนียม

LPN แบรนด์ 168
Ville 168 บางหว้า คอนโดฯ แบรนด์ใหม่เปิดตัวเมื่อปี 2565

“แล้วเราจะปรับปรุงแบรนด์เดิมหรือสร้างแบรนด์ใหม่? หลังจากคณะกรรมการได้คุยกันแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับตัวผมเอง ระหว่างการทำให้ผมดูหนุ่มขึ้นกับเลือกคนใหม่ที่เด็กลง การเลือกคนใหม่คงจะง่ายกว่า เพราะลุมพินีติดภาพจำของโครงการที่มีอยู่ทั่วเมืองไปแล้ว” โอภาสอธิบาย

สำหรับการปรับมาใช้แบรนด์ “168” ความหมายแบรนด์นี้มาจาก บ้านเลขที่ของออฟฟิศบริษัทที่ลุมพินี ทาวเวอร์ และยังเป็นเลขของสาย ‘มูเตลู’ เพราะ 168 หมายถึง ฮก ลก ซิ่ว เป็นเทพแห่งสิริมงคล

หลังปรับมาเป็น 168 แล้ว LPN จะปรับการทำโครงการด้วยตามคอนเซปต์ ‘Simple & Stylish’ คือโครงการมีความเรียบง่ายเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาของผู้อยู่อาศัย แต่จะต้องมีสไตล์เฉพาะของพื้นที่แต่ละโครงการ ต่างจากในอดีตที่ขยายคอนโดฯ แบบเดิมไปในทุกทำเล

Venue 168 เวสต์เกต

โดยแบรนด์ใหม่เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เปิดตัวแล้ว 6 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่มคอนโดฯ 3 แห่ง คือ Ville 168 บางหว้า, Place 168 ปิ่นเกล้า และ Park 168 อ่อนนุช 19 กับกลุ่มทาวน์เฮาส์ภายใต้แบรนด์ Venue 168 มี 3 ทำเล คือ ราชพฤกษ์, คูคต สเตชั่น และเวสต์เกต สังเกตว่าวิธีการใช้แบรนด์ 168 จะนำไปต่อท้ายกับชื่อแบรนด์ที่สื่อถึงรูปแบบและเซ็กเมนต์ของสินค้า

 

แผนใหม่ 5 ปีที่ต้อง ‘เสี่ยง’ ให้มากขึ้น

โอภาสกล่าวต่อถึงภาพรวมบริษัท การเปลี่ยนแบรนด์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “แผน 5 ปี 2565-69” ของ LPN ที่ต้องการจะกลับมามีส่วนแบ่งในตลาดอย่างชัดเจนและ ‘ยืนหนึ่ง’ ในใจผู้บริโภคอีกครั้ง โดยเป้าหมายภายในปี 2569 ได้แก่

1.รายได้สะสมตลอด 5 ปี แตะ 50,000 ล้านบาท เติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 20%

2.กำไรสะสมตลอด 5 ปี แตะ 5,000 ล้านบาท

3.เป็นแบรนด์ในกลุ่ม Top of Mind ของผู้บริโภค

การกลับมาของ LPN โอภาสยอมรับว่าบริษัทอาจจะต้องยอมรับความเสี่ยงให้มากขึ้นเพื่อการขยายตัว เช่น การปรับแบรนด์ใหม่เมื่อปีก่อน มีโครงการที่สร้างยอดขายได้ไม่ถึง 20% หลังเปิดตัว

“ถ้าเป็นสมัยก่อนเราได้ยอดขายแค่ 5% แบบนี้เราจะพับโครงการ คืนเงินลูกค้า เก็บที่ดินรอพัฒนาแบบใหม่ แต่วันนี้เราจะต้องอดทนรอรอบการขายให้ได้ เพราะเราเรียนรู้แล้วว่าลูกค้าของเรามักจะผ่อนดาวน์ไม่ไหว ต้องรอซื้อเมื่อตึกสร้างเสร็จ” โอภาสกล่าว

 

ปี 2566 เปิดตัวมากที่สุดในรอบสิบปี เริ่มบุกต่างจังหวัด

ปีนี้จึงเป็นปีที่เห็นการท้าทายตนเองที่ชัดเจนของ LPN เพราะบริษัทจะเปิดตัว 17 โครงการ มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท มากที่สุดในรอบสิบปี แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 13 โครงการ มูลค่ารวม 9,000 ล้านบาท กับคอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท

ในจำนวนนี้บริษัทจะเริ่มเข้าสู่น่านน้ำใหม่คือทำเล “ต่างจังหวัด” ด้วย โดยมีแลนด์แบงก์แล้ว 1 แปลงที่ จ.นครปฐม และกำลังจัดหาที่ดินใกล้อมตะนคร จ.ชลบุรี 2 แปลง เพื่อขึ้นโครงการคอนโดฯ 1 แห่ง และแนวราบ 1 แห่ง

ด้านไฮไลต์โครงการของบริษัท คือการพัฒนาแนวราบกลุ่มพรีเมียมมากขึ้น ปีนี้จะมี 3 โครงการ คือ

1.Residence 168 ราชพฤกษ์ บ้านเดี่ยว ราคา 35-50 ล้านบาท
2.Maison 168 เมืองทอง ทาวน์เฮาส์ ราคา 12-15 ล้านบาท
3.Villa 168 เวสต์เกต ทาวน์เฮาส์ ราคาเริ่ม 7.9 ล้านบาท

Residence 168 ราชพฤกษ์

ส่วนแบรนด์กลุ่มแวลูจะมีทั้งแบรนด์ Venue 168 ซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ราคาประมาณ 2-3 ล้านบาท และ Haus 168 ที่เป็นบ้านเดี่ยว-บ้านแฝด ราคา 4-6 ล้านบาท

ฝั่งคอนโดฯ จะแบ่งเป็นแบรนด์ Ville 168 ราคา 1.5-2.0 ล้านบาทต่อยูนิต, Park 168 ราคา 2.0-2.5 ล้านบาทต่อยูนิต และ Place 168 ราคา 2.5-3.0 ล้านบาทต่อยูนิต

เป้าหมายยอดขายปีนี้ของบริษัทตั้งไว้ที่ 13,000 ล้านบาท และเป้าหมายรายได้ 7,600 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อน ขึ้นบันไดอีกขั้นในการไปสู่เป้าระยะ 5 ปีของ LPN

สรุปรวมแบรนด์ทั้งหมดหลังเปลี่ยนเป็น 168
]]>
1420218
อสังหาฯ วางแผนเปิดตัว “โครงการใหม่” มากแค่ไหนในปี 2566 https://positioningmag.com/1419738 Fri, 17 Feb 2023 08:10:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1419738 Positioning รวมข้อมูลจาก 10 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศแผนธุรกิจปี 2566 พบว่า ปีนี้บริษัทรายใหญ่-รายกลางจะเปิดตัวโครงการรวมกัน 214 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 3.14 แสนล้านบาท

เมื่อแบ่งตามประเภทโครงการ กลุ่มโครงการแนวราบได้รับความนิยมมากกว่า โดยจะมีการเปิดตัว 170 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.23 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 71% ของภาพรวม

ส่วนโครงการแนวสูง มีแผนเปิดตัว 44 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 9.11 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 29% ของภาพรวม

จะเห็นได้ว่าปีนี้ผู้ประกอบการก็ยังเน้นการพัฒนาโครงการแนวราบมากกว่า โดยบางบริษัทเลือกที่จะไม่เปิดโครงการคอนโดมิเนียมเลย เช่น บมจ.สิงห์ เอสเตท หรือ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ และบางบริษัทเปิดคอนโดฯ ในสัดส่วนที่น้อยมาก เช่น บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ที่มีแผนเพียงโครงการเดียว และเป็นโครงการขนาดเล็กเพียง 1,000 ล้านบาท

“ปีนี้ยังไม่มีการเปิดคอนโดฯ เพราะเรายังมีสต็อกขายเพียงพอ และเรามองตลาดคอนโดฯ ลักชัวรีก็ยังไม่กลับมา ตั้งแต่ปีที่แล้วที่มีการเปิดคอนโดฯ ใหม่กันมาก จะเห็นว่าเป็นกลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ตลาดที่ขายดีก็เป็นกลุ่มซื้อไว้ปล่อยเช่ามากกว่า” ณัฐวุฒิ มัธยมจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการพัฒนาธุรกิจพักอาศัย บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวในมุมของบริษัทว่าทำไมจึงยังไม่มีการเปิดคอนโดฯ ใหม่

บางบริษัทเชื่อในตลาด “คอนโดฯ”

ในทางกลับกัน บางบริษัทยังคงหรือกลับมาเดินหน้าเต็มที่ในตลาดคอนโดฯ เช่น บมจ.แอสเสทไวซ์, บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าเปิดตัวคอนโดฯ มากกว่าแนวราบ

กลุ่มนี้จะสังเกตได้ว่าเป็นบริษัทที่เติบโตมาด้วยการพัฒนาคอนโดฯ อยู่เป็นทุนเดิม แม้ตลาดรวมจะยังเทไปที่โครงการแนวราบ แต่ด้วยความถนัดทำให้บริษัทมีแนวโน้มที่จะพัฒนาคอนโดฯ มากกว่า เช่น แอสเสทไวซ์ ที่ลุยในกลุ่มแคมปัสคอนโดใกล้มหาวิทยาลัย

อีกบริษัทที่ลงทุนคอนโดฯ มากกว่าค่าเฉลี่ยตลาดคือ บมจ.แสนสิริ ซึ่งให้สัดส่วนเปิดตัวกลุ่มคอนโดฯ 32.4% จำนวนโครงการจะเปิดคอนโดฯ ถึง 22 แห่ง สะท้อนให้เห็นความมั่นใจว่าตลาดคอนโดฯ จะกลับมา

“ก่อนโควิด-19 เราเปิดคอนโดฯ เฉลี่ยปีละ 22,000-25,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นปีนี้ก็กลับไปอยู่ในสภาวะปกติ” องอาจ สุวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บมจ.แสนสิริ กล่าว “เราดูจังหวะจากสต็อกคอนโดฯ พร้อมอยู่เราลงมาเหลือ 8,000 ล้านบาท จากระดับที่เหมาะสมควรมี 12,000 ล้านบาท ทำให้การเปิดตัวปีนี้จะเป็นการเติมพอร์ต มองว่าไม่ได้ aggressive เกินไป”

ยังเหลืออีกหลายบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ยังไม่แถลงแผน เช่น บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง, บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน, บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์, บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย, บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ฯลฯ อาจรอติดตามได้อีกครั้งว่าหลังทุกบริษัทประกาศแผนครบ สัดส่วนจะยังคงเน้นหนักที่โครงการแนวราบหรือไม่

]]>
1419738
“อนันดาฯ” ปี 2566 ผ่อนคันเร่งเปิดโครงการใหม่ เน้นระบายสต็อกพร้อมอยู่ 45,000 ล้านบาท https://positioningmag.com/1418994 Mon, 13 Feb 2023 09:22:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1418994
  • ยังเป็นอีกปีที่ “อนันดาฯ” ต้องใช้ “ลูกอึด” ในการทำธุรกิจ โดยปี 2566 จะเปิดตัวใหม่เพียง 2 โครงการ แต่เป็นโครงการระดับบิ๊กโปรเจ็กต์ มูลค่ารวม 14,600 ล้านบาท
  • สต็อกพร้อมอยู่ปีนี้จะขึ้นไปแตะ 45,000 ล้านบาท เป็นแหล่งทำยอดขายและรายได้ โดยหวังกวาดยอดขายจากกลุ่มต่างชาติโดยเฉพาะ “จีน” ที่ยังนิยมซื้อที่อยู่อาศัยไทย
  • แตกไลน์ธุรกิจใหม่ APSMC ที่ปรึกษารับบริหารโครงการ ประเดิมที่แรกกับสินทรัพย์ของ แรบบิท โฮลดิ้งส์ ย่านสุขุมวิท 38
  • คำกล่าวเปิดงานแถลงข่าวของ “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) น่าจะสรุปสถานการณ์ของบริษัทได้ดีที่สุด หลังจากโควิด-19 สร้างผลขาดทุนติดต่อกันในปี 2563-64 และรอบ 9 เดือนแรกปี 2565 ก็ยังคงขาดทุน จึงเป็นช่วง 2-3 ปีที่ค่อนข้างจะ ‘หนัก’ ทีเดียว

    เนื่องจากอนันดาฯ เป็นบริษัทที่เน้นกลยุทธ์พัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้ามาตลอด ภายใต้สโลแกน “Urban Living Solutions” ที่เชื่อในการใช้ชีวิตแบบคนเมือง เมื่อโควิด-19 ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคย้ายไปสู่กลุ่มตลาดโครงการแนวราบโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว อนันดาฯ จึงมาถึงทางแยกว่าจะเดินไปในทิศทางไหน

    “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

    “หลายบริษัทรีบเทขายที่ดินที่เตรียมไว้สร้างคอนโดฯ เพื่อดึงกระแสเงินสด (cash flow) กลับเข้ามาในบริษัทก่อน” ชานนท์กล่าว “ส่วนเราเลือกที่จะ balance เรื่องนี้ คือมีการหากระแสเงินสดบ้าง แต่เรายังเชื่อว่าทุกโปรดักส์มีวัฏจักรของมัน เราจึงอดทนไม่เทขายที่ดินไปหมด”

    หลังต้องใช้ลูกอึดมาพักใหญ่ ชานนท์เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่วัฏจักรเริ่มกลับเข้าทางอนันดาฯ อีกครั้ง โดยมองเห็นจากปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาที่ดินที่ยังคงปรับขึ้นผนวกกับการคมนาคมจากชานเมืองเข้ากรุงก็ยังคงเป็นปัญหาเดิม แปลว่าที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯ จะกลับมาตอบโจทย์ ไม่ได้ถูก ‘ดิสรัปต์’ จากโควิด-19

    อีกส่วนคือดีมานด์จากชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ‘ชาวจีน’ ที่ยังมองไทยเป็นบ้านหลังที่สอง และยิ่งต้องการย้ายออกจากจีนมากขึ้นหลังผ่านสถานการณ์โควิด-19

     

    ผ่อนคันเร่งเปิดใหม่ เน้นขายสต็อกพร้อมอยู่

    “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดาฯ กล่าวต่อถึงแผนธุรกิจปี 2566 จะมีการเปิดตัว 2 โครงการ มูลค่ารวม 14,600 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อน ได้แก่

    1.New Branded Residence ทำเลสุขุมวิท 38 มูลค่าโครงการ 6,500 ล้านบาท – เป็นแบรนด์จากพันธมิตรระดับโลกที่ไม่เคยเปิดในไทยมาก่อน และจะเป็นคอนโดฯ ยูนิตใหญ่ในราคาเริ่มต้น 250,000 บาทต่อตร.ม. ราคาต่อยูนิต 150-300 ล้านบาท

    2.ไอดีโอ พหล-สะพานควาย มูลค่าโครงการ 8,100 ล้านบาท – ทำเลใกล้ BTS สะพานควาย ดีไซน์ห้องชุดแบบ Hybrid New Series ราคาเริ่ม 1 แสนต้นๆ ต่อตร.ม.

    ด้านเป้าหมายยอดขายตั้งไว้ที่ 18,024 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% เป้าหมายรายได้ 14,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21% และที่สำคัญปีนี้อนันดาฯ ตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นจะขึ้นไปแตะ 30.6% ด้วย เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 25%

    ปีนี้เปิดใหม่ลดลง แต่ยอดขายและรายได้จะเพิ่มขึ้น มาจาก “สต็อกพร้อมอยู่” ที่อนันดาฯ จะมีในมือกว่า 45,000 ล้านบาทภายในปี 2566 แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

    • โครงการพร้อมอยู่ ณ ต้นปี 2566 ทั้งบ้านและคอนโดฯ รวม 28 โครงการ มูลค่ากว่า 34,000 ล้านบาท
    • โครงการที่จะสร้างเสร็จภายในปี 2566 อีก 3 โครงการ มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท ได้แก่ โครงการบ้านเดี่ยว อาร์เทล พระราม 9, โครงการทาวน์โฮม อันดา ราชพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ และคอนโดฯ ไอดีโอ จุฬา-สามย่าน
    อนันดา 2566
    ตัวอย่างโครงการพร้อมอยู่: ไอดีโอ โมบิ สุขุมวิท อีสต์พอยท์

    ปีนี้อนันดาฯ ยังจะเน้นดึงลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะ “คนจีน” เข้าซื้อด้วย โดยตั้งเป้ารับรู้รายได้จากกลุ่มต่างชาติ 3,100 ล้านบาท และเป้ายอดขายใหม่เกือบ 4,500 ล้านบาท เชื่อว่าในตลาดนี้อนันดาฯ จะได้เปรียบในแง่โปรดักส์มีคอนโดฯ ใกล้รถไฟฟ้าหลายโครงการแบบพร้อมโอน

     

    APSMC รับเป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ

    อนันดาฯ ยังมีการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ด้วยในปีนี้โดยใช้ชื่อ APSMC (Ananda Professional Services and Management Consultancy) รับเป็นที่ปรึกษาและรับจ้างบริหารโครงการอสังหาฯ ให้กับเจ้าของแบบ Total Solutions คือรับบริหารตั้งแต่จัดหาที่ดิน ออกแบบ ขายและการตลาด ก่อสร้าง และบริหารจัดการการเงิน

    โดยจะเริ่มรับบริหารโครงการแรกให้กับ บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโครงการมิกซ์ยูสคอนโดฯ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ และ F&B อยู่บริเวณสุขุมวิท 38

    อนันดา 2566

    “เราคิดจะทำธุรกิจแบบ APSMC มานานแล้ว เพราะถ้าสมมติให้ธุรกิจอสังหาฯ เป็นโรงงาน วัตถุดิบหลักก็คือที่ดิน หลายบริษัท เช่น บริษัทประกัน ถือที่ดินไว้แต่ต้องการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่ตัวเองถือ เราก็ไปรับจ้างผลิตให้ โดยได้รายได้เป็นค่าธรรมเนียม” ชานนท์กล่าว

    ชานนท์คาดว่า APSMC จะสร้างรายได้ปีแรกได้กว่า 100 ล้านบาท และหวังว่าจะเติบโตมากขึ้นในปีต่อๆ ไป จนสามารถ spin-off เป็นอีกบริษัทได้

     

    ระยะยาว มีแผนเติมพอร์ตอีก 10 โครงการ

    สำหรับภาพระยะยาวของอนันดาฯ ต้องการจะเปิดโครงการเพิ่ม 10 โครงการ มูลค่ารวม 21,200 ล้านบาท แบ่งเป็น

    • โครงการแนวราบ 4 โครงการ มูลค่ารวม 7,200 ล้านบาท
    • โครงการคอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท
    • โครงการเซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ 2 โครงการ มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท

    โดยบริษัทจะเริ่มจัดหาลงทุนที่ดินตั้งแต่ปีนี้ เป็นการยืนยันว่าอนันดาฯ ผ่อนคันเร่งปีนี้แต่ไม่ได้ผ่อนไปอีกยาว

    ]]>
    1418994
    “เอพี” ปี 2566 ตั้งเป้าเปิดตัว 58 โครงการ 77,000 ล้านบาท รุกเซ็กเมนต์ใหม่ “บ้านหรู 100 ล้าน” https://positioningmag.com/1418685 Thu, 09 Feb 2023 11:07:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1418685
  • วางแผนเปิดตัวแบบดุดัน ไม่เกรงใจใคร “เอพี” ปี 2566 จะเปิดตัวทั้งหมด 58 โครงการ มูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาท สูงที่สุดในตลาดอสังหาฯ
  • ปีนี้ยังคงเน้นตลาดแนวราบเป็นหลัก และจะมีการรุกช่องว่างเซ็กเมนต์หรือโปรดักส์ที่บริษัทไม่เคยพัฒนา เช่น บ้านเดี่ยวหรูราคาแตะ 100 ล้านบาท
  • เปิดแนวคิด “อินเฮาส์ สตาร์ทอัพ” ระดมนวัตกรปั้นธุรกิจใหม่ต่อยอดให้บริษัท ประเดิมธุรกิจแรก “FitFriend” เทรนเนอร์เดลิเวอรี อนาคตต้องการให้กลุ่มธุรกิจนี้ช่วยให้พอร์ตสมดุล
  • “วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2565 และแผนธุรกิจปี 2566 ของบริษัทที่กำลังเป็นขาขึ้นหลังผ่านช่วงโควิด-19 มาได้

    โดยปี 2565 บริษัทเปิดตัวไป 51 โครงการ มูลค่ารวม 63,600 ล้านบาท ทำยอดขาย 50,415 ล้านบาท และคาดว่าจะปิดยอดโอนที่ 48,000 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดและสูงกว่าช่วงปี 2562 (ก่อนโควิด-19)

    สำหรับ ปี 2566 เอพีจะทำสถิติเติบโตต่อเนื่องในทุกด้าน โดยวางเป้าหมาย ดังนี้

    • เป้าหมายเปิดตัว 58 โครงการ มูลค่ารวม 77,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21% YoY)
    • เป้าหมายยอดขาย 58,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 15% YoY)
    • เป้าหมายรับรู้รายได้ 57,500 ล้านบาท
    เอพี 2566
    เป้าเปิดตัวโครงการเอพี 2566

    แผนการเปิดตัวโครงการ 58 โครงการ แบ่งตามโปรดักส์ต่างๆ ได้แก่

    • บ้านเดี่ยว 22 โครงการ 34,800 ล้านบาท
    • ทาวน์โฮม 27 โครงการ 26,400 ล้านบาท
    • คอนโดฯ 4 โครงการ 11,800 ล้านบาท
    • ต่างจังหวัด 5 โครงการ 4,000 ล้านบาท (เป็นโครงการแนวราบทั้งหมด)

     

    ขยายจับตลาดที่ยังมีช่องว่าง

    การขยายตัวของเอพีนั้นนอกจากจะจับตลาดเดิมที่พัฒนาอยู่แล้ว ยังมีการขยายไปจับตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีก่อนด้วย แบรนด์ใหม่ที่เปิดตัวเมื่อปีก่อน เช่น “พลีโน่ทาวน์” เป็นโครงการมิกซ์โปรดักส์แนวราบในกลุ่มราคา 1.7-3.6 ล้านบาท หรือแบรนด์ “โมเดน” บ้านเดี่ยวราคา 3-5 ล้านบาท ถือเป็นการลงมาเล่นในตลาดกลางล่างซึ่งเอพีไม่ค่อยได้พัฒนาในระยะหลัง

    วิทการกล่าวว่า ปี 2566 จะยังคงเห็นภาพการขยายตัวของเอพีในตลาดใหม่อีก เช่น บ้านเดี่ยวในกลุ่มลักชัวรีจนถึงซูเปอร์ลักชัวรี จะบุกด้วยแบรนด์ “บ้านกลางกรุง” เป็นบ้านเดี่ยว 4-5 ชั้น ทำเลในเมือง ราคา 30-50 ล้านบาท และ “เดอะ พาลาซโซ” บ้านเดี่ยวหลังใหญ่ ราคา 70-100 ล้านบาท

    THE CITY จรัญ-ปิ่นเกล้า โครงการที่จะเริ่มมีบ้านเดี่ยวขนาดที่ดิน 100 ตร.ว.

    รวมถึงมีการปรับโปรดักส์แบรนด์ “THE CITY” ซึ่งปกติเป็นบ้านเดี่ยวที่ดินเฉลี่ย 54 ตร.ว. มาเป็นบ้านหลังใหญ่ที่ดินขนาด 100 ตร.ว. ปั้นราคาขาย 25-40 ล้านบาท

    ถือเป็นการขยับขึ้นไปในตลาดหรูยิ่งขึ้น เพราะปกติเอพีเคยพัฒนาบ้านแพงที่สุดคือราคา 50 ล้านบาท และส่วนใหญ่บ้านหรูเอพีจะมีราคา 20 ล้านบาทบวกลบ ปีนี้จึงเป็นปีที่เอพีจะเข้าตลาดหรูชัดเจนมากขึ้น

    “ตลาดบ้านเดี่ยวกลุ่มที่เราถนัดจริงๆ คือราคา 7-20 ล้านบาท แต่เมื่อกลุ่มลักชัวรีราคามากกว่า 20 ล้านบาทขายดี ตลาดนี้ปีก่อนมียอดขายรวมทะลุ 2 หมื่นล้านบาท และผู้เล่นรายใหญ่มีเพียง 2-3 ราย เราจึงต้องบุกเข้าตลาดนี้ให้มากขึ้น โดยเราเริ่มชิมลางไปบ้างแล้วเมื่อปีก่อนและลูกค้าให้การตอบรับดี ทำให้มีความมั่นใจที่จะไปต่อ” รัชต์ชยุตม์ นันทโชติโสภณ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มสินค้าบ้านเดี่ยว กล่าว

    ทีมผู้บริหาร เอพี ไทยแลนด์

    อีกกลุ่มช่องว่างที่เอพีจะยิ่งรุกหนักคือ “บ้านแฝด” ซึ่งจะรุกด้วยสองแบรนด์ คือ “แกรนด์ พลีโน่” บ้านแฝด 2 ชั้น ราคา 6-8 ล้านบาท และ “บ้านกลางเมือง THE EDITION” บ้านแฝด 3 ชั้น ราคา 8-12 ล้านบาท เป็นกลุ่มตลาดที่ผู้เล่นมีน้อยราย ขณะที่เอพีเห็นว่ามีผู้บริโภครออยู่ เป็นลูกค้าที่ต้องการขยับขยายแต่งบอาจจะมีไม่ถึงบ้านเดี่ยว บ้านแฝดจึงตอบโจทย์มากกว่า

     

    “คอนโดฯ” ฟื้นแล้ว ปีนี้เปิดอีก 4 โครงการ

    ด้านตลาดคอนโดฯ ที่ฟุบไปในช่วงโควิด-19 ตัวเลขจากเอพีระบุยอดพรีเซลปี 2565 เฉพาะคอนโดฯ พุ่งขึ้นมาที่ 11,440 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) เคยมียอดขายคอนโดฯ 14,438 ล้านบาท นับว่าปีก่อนทำยอดได้ใกล้เคียงฐานตลาดก่อนโรคระบาด สะท้อนการกลับมาของตลาดคอนโดฯ

    ไลฟ์ พหล-ลาดพร้าว

    ปี 2566 เอพีจึงมีแผนจะเปิดตัวคอนโดฯ ใหม่อีก 4 โครงการ มูลค่ารวม 11,800 ล้านบาท ดังนี้

    1.ไลฟ์ พหล-ลาดพร้าว (*) มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท จำนวน 598 ยูนิต เปิดพรีเซลเดือนมิถุนายนนี้ โดยเป็นคอนโดฯ เริ่มก่อสร้างก่อนขาย ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 45%
    2.ริธึ่ม ทำเลตรงข้ามไอคอนสยาม (*) มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท จำนวน 584 ยูนิต
    3.แอสไปร์ วิภา-วิคตอรี มูลค่าโครงการ 2,300 ล้านบาท จำนวน 593 ยูนิต
    4.แอสไปร์ เกษตร-พหล 49 มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท จำนวน 622 ยูนิต

    (*) = JV กับมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป จากญี่ปุ่น

     

    “เอพี” ปั้นธุรกิจใหม่ แหล่งรายได้อนาคตระยะยาว

    วิทการยังกล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญในระยะยาวของบริษัทคือการ “Hatch the New Business” ผ่านการส่งเสริมนวัตกรในบริษัท สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ในลักษณะ “อินเฮาส์ สตาร์ทอัพ” สร้างไอเดีย ทดลองทำโปรโตไทป์ เพื่อหาธุรกิจใหม่ที่ไปต่อได้

    โดยคอนเซปต์การหาธุรกิจใหม่ของเอพีจะต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิมนั่นคือ “การอยู่อาศัย” เพื่อให้เป็นการต่อยอดซึ่งกันและกัน

    เมื่อปี 2565 บริษัทมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่อย่างแรกออกมาคือ “FitFriend” เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมและจองเทรนเนอร์เดลิเวอรีไปสอนส่วนตัวให้ที่บ้าน ซึ่งตอบโจทย์ในช่วงโควิด-19 ที่คนไม่นิยมเข้าฟิตเนส และทำให้แพลตฟอร์มนี้มีเครือข่ายเทรนเนอร์มากกว่า 100 คน ทำยอดขายเฉลี่ย 8 แสนบาทต่อเดือน เป้าหมายปีนี้ต้องการผลักดันยอดขายไปถึง 1-1.5 ล้านบาทต่อเดือน และจะเริ่มทำกำไรสะสมได้ทันทีเพราะต้นทุนไม่สูง รวมถึงจะมีการผลักดันธุรกิจอื่นๆ ออกมาอีก

    “คุณอนุพงษ์ (อัศวโภคิน ซีอีโอของเอพี) ให้แนวทางไว้ว่า อยากให้พอร์ตธุรกิจใหม่ของเอพีเติบโตจนสามารถบาลานซ์กับธุรกิจอสังหาฯ ดั้งเดิมได้ อนาคตระยะยาวอยากให้เป็นครึ่งหนึ่งของพอร์ต” วิทการกล่าว “ส่วนเป้าหมายระยะกลาง 5 ปีจากนี้ ธุรกิจใหม่น่าจะทำรายได้ได้ 300-500 ล้านบาท”

    เป็นแนวทางธุรกิจที่น่าสนใจ ในขณะที่อสังหาฯ รายอื่นนิยมแตกไลน์ไปในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการหาที่ดินและการก่อสร้าง เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม คลังสินค้า ฯลฯ แต่เอพีมองโอกาสในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต และต้องใช้เวลาในการสร้างฐานเพื่อทำกำไร

    ]]>
    1418685