แอปพลิเคชันจีน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 11 Dec 2021 09:47:48 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 จีนประกาศ “ชัยชนะ” ขั้นแรก “กวาดล้าง” บริษัทละเมิดดาต้า สั่ง “ลบแอปฯ” แล้วกว่า 600 ราย https://positioningmag.com/1366374 Sat, 11 Dec 2021 05:57:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1366374 หลังการเริ่มต้นนโยบายกวาดล้างแอปฯ จีนของรัฐบาล ล่าสุดหน่วยงานรัฐประกาศ “ชัยชนะ” ขั้นแรกในการเข้ากำกับควบคุมแอปฯ จีนมากกว่า 1.12 ล้านรายการ มิให้มีการจัดเก็บดาต้าประชาชนมากเกินควร โดยมีคำสั่ง “ลบแอปฯ” ไปแล้วมากกว่า 600 รายการ

นโยบายรัฐบาลจีนที่จะเข้าตรวจสอบแอปพลิเคชันบนมือถือมากกว่า 1.12 ล้านรายการที่บริการอยู่ในแดนมังกร เริ่มประสบความสำเร็จขั้นต้นแล้ว โดยมีการกวาดล้างลบแอปฯ เจ้าปัญหาออกไปเป็นจำนวนมาก พร้อมกับการตรากฎหมายด้านดาต้าฉบับใหม่ขึ้นมากำกับควบคุม

ทีมงานตอบสนองเชิงเทคนิคต่อเหตุฉุกเฉินในเครือข่ายคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (CNCERT) รายงานเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2021 ว่า สำนักงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์แห่งประเทศจีน (CAC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบโลกอินเทอร์เน็ตของประเทศ เริ่มการตรวจสอบแอปฯ ยอดนิยม 1,425 รายการ มาตั้งแต่ต้นปี 2021 และพบว่ามีแอปฯ 351 รายการที่ “ละเมิดกฎหมายและระเบียบอย่างร้ายแรง” จนถูกแจ้งเตือนให้แก้ไขปัญหาไปแล้ว

แม้ว่า CNCERT จะระบุว่าตนเองเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรและไม่ใช่องค์กรของรัฐ แต่จากประกาศรับสมัครงานเมื่อปี 2019 มีการระบุไว้ว่าองค์กรทำงานตรงภายใต้กำกับของ CAC จึงนับได้ว่า นี่เป็นรายงานที่ออกมาจากรัฐบาลจีน

Photo : Shutterstock

ที่ผ่านมา CAC มีเป้าหมายแก้ปัญหาการ “จัดเก็บดาต้าที่ไม่จำเป็น” ของประชาชนจีน และการที่แอปฯ ย่อหย่อนด้านการรักษาความเป็นส่วนตัวให้ลูกค้า มีการระบุให้ลูกค้าเลือก ‘ยินยอม’ รับเงื่อนไขการใช้บริการแบบรวมครั้งเดียว ไม่มีให้แยกเลือกยอมรับหรือปฏิเสธเป็นรายข้อ

ในหมู่แอปฯ ชื่อดังที่ปรากฏในรายงานว่าละเมิดกฎหมายและได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว เช่น WeChat ซูเปอร์แอปฯ ยอดนิยมจากค่าย Tencent, แอปฯ หางานรายใหญ่ 51job สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนกำลังกวาดล้างแอปฯ จีนทุกระดับ โดยเฉพาะบิ๊กเทคคัมปะนีที่ไม่เพียงแต่ถูกเพ่งเล็งเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน แต่ยังมีพฤติกรรมผูกขาดตลาดอีกด้วย

 

จีนอาจมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง?

ในวันเดียวกับที่ CNCERT ออกรายงาน กระทรวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีข้อมูล (MIIT) มีคำสั่งใหม่ออกมาให้แอปสโตร์ต่างๆ ระงับการเข้าถึงแอปฯ 106 รายการ ในจำนวนนี้รวมถึงแอปฯ ยอดฮิต เช่น Douban แพลตฟอร์มเขียนกระทู้ถามตอบออนไลน์, Changba แอปฯ ร้องคาราโอเกะ และ Aihuishou บริการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดถูกประกาศชื่อว่ามีการเก็บดาต้าผู้ใช้เกินควร และไม่ได้แก้ไขตามที่รัฐต้องการ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรัฐบาลจีนอาจมีจุดประสงค์อื่นแฝงด้วยในการกวาดล้าง South China Morning Post รายงานจากข้อสังเกตของผู้ใช้แอปฯ Douban รายหนึ่งที่มองว่า แอปฯ นี้เป็นศูนย์รวมของกลุ่มเฟมินิสต์ที่มีชื่อเสียง และเคยถูกกดดันให้ปิดแอปฯ มาแล้ว

ก่อนหน้าคำสั่งครั้งล่าสุด MIIT เคยประกาศชื่อแอปฯ ละเมิดกฎหมายไปมากกว่า 2,000 รายการ และสั่งลบแอปฯ จากแอปสโตร์ไปแล้ว 540 รายการ

CNCERT ยังระบุในรายงานด้วยว่า 95% ของแอปฯ ในจีนมีผู้ใช้ไม่ถึง 1 ล้านคน และแอปฯ เหล่านี้เองที่มักจะหละหลวมในการปกป้องดาต้าของผู้ใช้ ทำให้ต้องกระตุ้นให้ฝั่งแอปสโตร์พัฒนาขั้นตอนกลั่นกรองแอปฯ ที่จะขึ้นมาเผยแพร่ให้มีความรับผิดชอบมากกว่านี้

Source

]]>
1366374
เอาบ้าง! ByteDance ซุ่มเงียบพัฒนาแอปฯ สนทนาเสียงแบบเดียวกับ Clubhouse https://positioningmag.com/1321910 Thu, 04 Mar 2021 08:37:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321910 ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok กำลังซุ่มเงียบพัฒนาแอปฯ ใหม่ที่คล้ายกับ Clubhouse หลังจากแอปฯ โซเชียลมีเดียสื่อสารด้วยเสียงจากสหรัฐฯ รายนี้ฮิตไปทั่วประเทศจีนก่อนจะถูกรัฐบาลสั่งระงับ ทำให้สารพัดบริษัทเทคฯ แข่งขันพัฒนาแอปฯ ‘เลียนแบบ’ หวังจับตลาดใหม่

Clubhouse แอปพลิเคชันสนทนาเสียงที่ฮิตไปทั่วโลก เคยฮิตในจีนอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะถูกรัฐบาลจีนสั่งระงับห้ามใช้งานเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เนื่องจากผู้ใช้ใช้แพลตฟอร์มนี้สนทนาเรื่องที่เป็น ‘ประเด็นอ่อนไหว’ ของแดนมังกร เช่น ค่ายกักกันซินเจียง หรือการแยกตัวเป็นอิสระของฮ่องกง

แต่ความฮิตของแอปฯ ลักษณะนี้มีผลกระตุ้นให้บริษัทอื่นพัฒนาแอปฯ เลียนแบบอีกเพียบ แค่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีแอปฯ ใหม่แบบเดียวกันออกสู่ตลาดแล้วเกินสิบตัว หนึ่งในนั้นคือแอปฯ Mi Talk จากบริษัท Xiaomi โดยใช้วิธีเจาะตลาดกลุ่มผู้บริหารก่อน และผู้จะเข้าใช้แอปฯ ได้ต้องได้รับ ‘คำเชิญ’ เท่านั้น

ล่าสุด Reuters รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าววงในสองราย ระบุว่า “จาง อี้หมิง” ซีอีโอบริษัท ByteDance เจ้าของแอปฯ TikTok มีความสนใจแอปฯ ในลักษณะเดียวกับ Clubhouse และอยู่ในช่วงศึกษาขั้นต้นเพื่อพัฒนาแอปฯ ทั้งนี้ ByteDance ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ความสำเร็จและฮิตจัดของ Clubhouse นั้น อาจจะดูเหมือนเกิดขึ้นในโลกตะวันตกเป็นหลัก เพราะเป็นแอปฯ ที่กำเนิดในซิลิคอนวัลเลย์ แต่เมื่อไปดู Google Trend รอบ 90 วันที่ผ่านมา 4 อันดับแรกเขตการปกครองที่พูดถึง Clubhouse มากที่สุดคือ จีน, มองโกเลีย, ไต้หวัน และฮ่องกงตามลำดับ (ไทยอยู่ในอันดับ 5) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทเทคฯ จีนต่างรีบเร่งพัฒนาแอปฯ มาแย่งตลาด

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าแอปฯ จีนจะต้องมีระบบเซ็นเซอร์และสอดส่องโดยรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะสื่อสารกันด้วยอะไรก็ตาม และที่จริงแล้วแอปฯ สนทนาเสียงเป็นกลุ่มแบบนี้ก็มิใช่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะจีนมีแอปฯ Zhiya ที่เป็นโซเชียลมีเดียแบบเสียง เปิดตัวตั้งแต่ปี 2013 แต่ฮิตในกลุ่มเฉพาะทาง เช่น เกมเมอร์ที่จะเข้ามาคุยเรื่องเกมกัน หรือกลุ่มที่เข้ามาร้องเพลงร่วมกัน

มาร์โก้ ล่าย ซีอีโอ บริษัท Lizhi เจ้าของแอปฯ Zhiya กล่าวว่า การลงทะเบียนใช้แอปฯ นี้จะต้องระบุตัวตนจริง รวมถึงบริษัทต้องมีทั้งระบบ AI และพนักงานที่เป็นมนุษย์คอยดักฟังการสนทนาในห้องทุกห้อง เพื่อตรวจจับแบนคอนเทนต์ “ไม่พึงประสงค์” ต่างๆ เช่น เรื่องอนาจาร ประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น แอปฯ นี้ยังเคยถูกรัฐบาลระงับมาแล้วเมื่อปี 2019 ก่อนจะได้กลับมาเปิดใช้ใหม่เมื่อบริษัทแก้ไขปัญหาการกลั่นกรองคอนเทนต์ได้แล้ว

แม้มาตรการของรัฐจะทำให้คนจีนคุยเรื่องการเมืองในห้องแชทเสียงไม่ได้ แต่ล่ายมองว่าตลาดมีโอกาสสำหรับการมาคุยกันในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความบันเทิง จะได้ผลดีมากกับชาวจีน

Google Trends เช็กความฮิต Clubhouse รอบ 90 วันที่ผ่านมา โดยแบ่งตามภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ระบบกลั่นกรองคอนเทนต์ที่พัฒนาไม่ง่ายน่าจะเป็นกำแพงกั้นแอปฯ ใหม่ที่อยากเข้าตลาดโซเชียลมีเดียแบบเสียง ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Inke Ltd. เพิ่งจะออกแอปฯ Duihuaba เมื่อสองสัปดาห์ก่อน โดยมุ่งเจาะกลุ่มนักลงทุนเวนเจอร์แคปิตอล นักวิจารณ์ด้านแฟชั่น และเซเลบดารา ให้มาตั้งห้องสนทนาในแอปฯ แต่ปัจจุบันถูกสั่งระงับไปเสียเฉยๆ โดยบริษัทไม่ได้ชี้แจงอะไรมากไปกว่า “แอปฯ ยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม”

ความเคลื่อนไหวการเกาะกระแส Clubhouse ไม่ได้เกิดแต่ที่ประเทศจีน แม้แต่ยักษ์ใหญ่ซีกโลกตะวันตกอย่าง Facebook กับ Twitter ก็กำลังเร่งพัฒนาแอปฯ แบบเดียวกัน โดยเฉพาะรายหลังที่เปิดตัวเวอร์ชันเบต้าเรียบร้อยในชื่อ Twitter Spaces ใช้ได้ทั้ง iOS และ Android แต่ปัจจุบันยังทดลองใช้ในกลุ่มจำกัดอยู่

Source

]]>
1321910
แอปฯ จีน Shein ขึ้นแท่นอี-คอมเมิร์ซ “ซื้อเสื้อผ้า” อันดับ 2 ในใจกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน https://positioningmag.com/1301135 Mon, 12 Oct 2020 09:14:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301135 Shein อี-คอมเมิร์ซจากจีนเริ่มมาแรงในสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายเสื้อผ้าออนไลน์อันดับ 2 ในใจผู้บริโภควัยรุ่นอเมริกัน รองจาก Amazon แม้จะยังห่างจากเบอร์ 1 อยู่มาก แต่สามารถแซงเจ้าถิ่นรายอื่นขึ้นมาได้เพราะ “ราคาถูก” และมีสินค้าใหม่เข้าวันละ 500 รายการ

Shein เป็นแพลตฟอร์มที่ก่อตั้งขึ้นในเมืองนานจิง ประเทศจีน เมื่่อปี 2008 ปัจจุบันกลายเป็นแพลตฟอร์มซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ยอดนิยมอันดับ 2 ในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน เป็นรองจาก Amazon ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซที่ขายสินค้าทุกประเภท

โดยบริษัทบริการทางการเงิน Piper Sandler ทำการสำรวจล่าสุดในกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นจำนวน 9,800 คนทั่วสหรัฐฯ มีค่าอายุเฉลี่ย 15.8 ปี ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามโดยเฉลี่ยมีรายได้ครอบครัว 67,500 เหรียญสหรัฐ ถือเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง การสำรวจครั้งนี้พบว่า วัยรุ่นอเมริกัน 54% เลือก Amazon เป็นเบอร์ 1 ในใจเมื่อจะซื้อเสื้อผ้า ตามมาด้วยเบอร์ 2 คือ Shein ซึ่งมีผู้เลือก 5%

แม้ว่าจะยังห่างกับเจ้าตลาดอยู่มาก แต่น่าสนใจว่าแอปฯ จีนรายนี้เอาชนะแพลตฟอร์มแบรนด์อเมริกันรายอื่นที่อยู่มาก่อนได้ เช่น  Nike, PacSun, Urban Outfitters, Lululemon เป็นต้น นอกจากนี้ ถ้าวัดเฉพาะ “แบรนด์” เสื้อผ้าออนไลน์ Shein กลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์อันดับ 1 ที่วัยรุ่นอเมริกันเลือกสวมใส่ไปแล้ว

 

View this post on Instagram

 

A post shared by SHEIN.COM (@sheinofficial) on

Shein ใช้การทำตลาดผ่าน Instagram เป็นหลัก โดยมักจะรีโพสต์รูปจากอินฟลูเอนเซอร์ที่สวมใส่เสื้อผ้าของแบรนด์ ทำให้มีผู้ติดตามบัญชี Instagram กว่า 13.9 ล้านคน มีจุดขายหลักคือเสื้อผ้าที่ตามเทรนด์ได้อย่างรวดเร็ว มาพร้อมกับ “ราคาที่ถูกสุดๆ” ยกตัวอย่างเช่น เสื้อยืดผู้หญิงเริ่มต้นที่ 6 เหรียญ (ประมาณ 180 บาท) หรือเดรสผู้หญิงเริ่มต้นที่ 12 เหรียญ (ประมาณ 360 บาท)

คอนเซ็ปต์การทำธุรกิจของบริษัทนี้คือการขายสินค้าแบบฟาสต์แฟชั่นบนโลกออนไลน์เท่านั้น โดยไม่มีหน้าร้านเลย ยกเว้นตั้งร้านแบบ pop-up store เป็นครั้งคราวตามเมืองต่างๆ ความเป็นฟาสต์แฟชั่นทำให้ Shein จะเติมสินค้าใหม่ 500 รายการทุกวัน ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมหาศาลในการจับจ่ายไปใช้แต่งตัวตามเทรนด์ และยังทำราคาถูกสุดๆ เทียบกับเสื้อผ้าที่ขายในโลกตะวันตก จึงขายดีในหมู่วัยรุ่นรักการแต่งตัว

ตลาดต่างประเทศของ Shein ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ เท่านั้น แต่มีการส่งสินค้าไปทั่วโลก (ในไทยก็มีบริการจัดส่งเช่นกัน)
อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคที่บริษัทมุ่งเน้นคือ ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง โดยบริษัททำรายได้ทั่วโลกเมื่อปี 2019 ที่ 2,830 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามข้อมูลที่บริษัทแจ้งบนบัญชี WeChat ของตนเอง

สำหรับตลาดประเทศไทย เท่าที่สืบย้อนได้นั้นแอปฯ Shein เริ่มยิงโฆษณาทำตลาดตั้งแต่ปี 2559 ช่วงแรกมีปัญหาหลักเรื่องการจัดส่งที่ต้องรอส่งจากประเทศจีน และผู้บริโภคบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าใช้เวลาส่งของนานหลายสัปดาห์ จนปีนี้เริ่มส่งรวดเร็วขึ้น แต่ยังติดปัญหาสินค้าคุณภาพ ‘ไม่ตรงปก’ เป็นบางชิ้น ทำให้อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ยังเป็นแอปฯ ที่น่าจับตามอง เพราะบัญชี Instagram เวอร์ชันไทยของ Shein มีผู้ติดตาม 4.62 แสนคน ถือว่าไม่น้อยเหมือนกัน!

Source

]]>
1301135
จีนค้านหนักกรณี “อินเดีย” สั่งแบน 118 แอปพลิเคชันจีน https://positioningmag.com/1295653 Sat, 05 Sep 2020 07:09:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1295653 สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ก.ย. กระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยว่าจีนมีความกังวล และคัดค้านกรณีอินเดียประกาศห้ามการใช้งานแอปพลิเคชันสัญชาติจีน จำนวน 118 รายการ

“ฝ่ายอินเดียได้ใช้แนวคิดความมั่นคงของชาติโดยมิชอบ และดำเนินมาตรการที่กีดกันและเลือกปฏิบัติกับผู้ประกอบการชาวจีน ตลอดจนละเมิดกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องขององค์การการค้าโลก (WTO)” เกาเฟิง โฆษกกระทรวงฯ แถลงข่าวออนไลน์

เมื่อวันพุธที่ 2 ก.ย. อินเดียประกาศห้ามการใช้งานแอปพลิเคชันสัญชาติจีนในประเทศ จำนวน 118 รายการ โดยอ้างว่าแอปฯ เหล่านั้น “บั่นทอนอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพของอินเดีย รวมทั้งกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ”

เการะบุว่าการกระทำของรัฐบาลอินเดียไม่เพียงแต่ทำร้ายสิทธิ และผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของนักลงทุนและผู้ให้บริการชาวจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคชาวอินเดีย และสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนของประเทศในฐานะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด

“จีนเรียกร้องฝ่ายอินเดียแก้ไขแนวทางปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง” เกากล่าว พร้อมย้ำว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศเป็นแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย อีกทั้งอินเดียควรพยายามสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้าง ยุติธรรม และเป็นธรรมสำหรับนักลงทุนและผู้ให้บริการจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธุรกิจต่างๆ จากจีนด้วย

]]>
1295653