ASEAN – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 05 Jul 2024 13:12:04 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มองอนาคตธุรกิจ Food Delivery ทั้งไทยและต่างประเทศ บนการแข่งขันที่ยังดุเดือด แม้จะเหลือผู้เล่นน้อยราย https://positioningmag.com/1480493 Thu, 04 Jul 2024 05:42:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480493 ธุรกิจ Food Delivery ทั้งในไทยและต่างประเทศกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง แม้ว่าจะเหลือผู้เล่นน้อยรายแล้วก็ตาม ซึ่งต่างกับอดีต แต่ผู้เล่นที่เหลืออยู่ต่างต้องแข่งขันเพื่อกินส่วนแบ่งตลาด หรือหารายได้ใหม่ๆ เนื่องจากแรงกดดันทั้งจากนักลงทุนหรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งก็ตาม

อุตสาหกรรมส่งอาหาร (Food Delivery) ทั่วโลกหรือแม้แต่ในประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดสำคัญอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปิดกิจการของผู้เล่นบางราย การควบรวมกิจการ การเพิ่มรายได้ด้วยธุรกิจส่วนอื่นๆ หรือแม้แต่การขยายไปยังประเทศอื่นๆ

Positioning พาไปวิเคราะห์ถึงทิศทางของอุตสาหกรรม Food Delivery ในประเทศไทยหรือเทรนด์อุตสาหกรรมทั่วโลกว่าจะเป็นยังไงต่อไป

ดูภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อน

ก่อนอื่นต้องยกข้อมูลของ Statista ที่มองว่าตลาด Food Delivery ทั่วโลกในปี 2024 นั้นมีขนาดของรายได้ใหญ่ถึง 1.22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ารายได้จากปี 2024 ถึง 2029 จะเติบโตราวๆ 9.49% ต่อปี โดยตลาดที่ใหญ่สุดในโลกยังเป็นประเทศจีน

ทางด้าน Momentum Works ที่ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ผู้เล่นในตลาดบริการส่งอาหารมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และ LINE MAN ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 36%

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายรองลงมาอย่าง foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และ Shopee Food ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6% ที่เหลืออีก 3% เป็นของ Robinhood เท่านั้น ก่อนที่จะปิดตัวลง

นอกจากนี้ขนาดตลาดของธุรกิจ Food Delivery ในไทยของ Momentum Works เมื่อใช้ตัวเลขยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) ของไทยนั้นปี 2022 มีขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2023 เติบโตเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถ้าหากมองออกมาในหลายๆ ประเทศในอาเซียนแล้วนั้น ตลาดของธุรกิจ Food Delivery กลับกลายเป็นว่าเวียดนามนั้นมีอัตราการเติบโตมากที่สุด แต่สำหรับ ไทย สิงคโปร์ นั้นธุรกิจดังกล่าวเติบโตช้าลงเรื่อยๆ

Robinhood เป็นอีกผู้เล่นที่ต้องปิดตัวลงไปในอุตสาหกรรม Food Delivery ที่แข่งขันรุนแรง – ภาพจากบริษัท

ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม สร้างความได้เปรียบ

ผู้ให้บริการ Food Delivery หลายรายเริ่มมองลู่ทางหารายได้ใหม่ๆ นอกจากธุรกิจส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือต่างประเทศ

ถ้าหากมองกรณีของผู้ให้บริการ Food Delivery ในทวีปยุโรปหลายรายเองก็ขยายธุรกิจออกไปไม่ว่าจะเป็นการรับส่งอาหารสด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความใกล้เคียงกัน ใช้พนักงานส่งสินค้าเหมือนกัน และต้นทุนในการบริหารงานแทบจะไม่แตกต่างกันนัก

การโฆษณาภายในตัวแอปฯ หรือแม้แต่บนพาหนะที่ไว้ขนส่งอาหาร ซึ่งผู้เล่นทั้งในไทย อาเซียน หรือแม้แต่ผู้เล่นในธุรกิจนี้ทั่วโลกต่างงัดการหารายได้ในส่วนนี้แทบทั้งสิ้น

หรือแม้แต่การเข้าสู่โลก FinTech ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการเงินแบบง่ายๆ อย่าง Wallet ไว้จ่ายเงิน การขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกัน การให้บริการด้านสินเชื่อ จนถึงด้านการลงทุน หรือแม้แต่การเข้าสู่ธุรกิจ Buy Now Pay Later อย่างเช่นในกรณีของ GoTo (หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อเดิมอย่าง Gojek) ก็ลงมาเล่นในตลาดนี้เหมือนกัน

ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่น Food Delivery บางรายอย่าง Deliveroo ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในทวีปยุโรป ที่เริ่มรุกเข้ามาในตลาด E-commerce มากขึ้น โดยบริษัทมองถึงขนาดตลาดดังกลล่าวใหญ่มากถึง 700,000 ล้านปอนด์ และเริ่มนำสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ ดอกไม้ เครื่องสำอาง ไปจนถึงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

การหารายได้ทางใหม่ๆ ยังถือเป็นการสร้างป้อมปราการให้กับธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำธุรกิจ Food Delivery ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคฯ อย่าง TikTok หรือแม้แต่ Shopee รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่อาจรุกเข้ามาในธุรกิจดังกล่าว ส่งผลต่อบริษัทได้ในระยะยาว

บริการส่งอาหารทั่วโลก ในแต่ละประเทศนั้นแต่ละบริษัทต่างมีคู่แข่งรายสำคัญอยู่ – ข้อมูลจาก Presentation ของ Delivery Hero

เมื่อแอปฯ ล้มหายตายจาก หรือขายกิจการนั้นถือเป็นเรื่องปกติ

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการเกิดใหม่ของแพลตฟอร์มส่ง Food Delivery ลดลงบ้างแล้ว เนื่องจากผู้เล่นหน้าเก่าสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดได้ และตัวเลขสัดส่วนในการครองตลาดนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีในบางประเทศในอาเซียนที่มีผู้เล่นหลายราย เช่น เวียดนาม ที่ตลาดดังกล่าวยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

ที่ไทยเองนั้นตลาด Food Delivery เริ่มทรงตัวมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นทั้ง Grab และ LINE MAN เองครองตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ ขณะเดียวกันในส่วนของ Foodpanda และ Grab นั้นบริษัทตั้งเป้าที่จะทำกำไรให้ได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดีในบางตลาดนั้นกลับมีการซื้อและขายกิจการ อย่างเช่นกรณีของ ไต้หวัน ที่ Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda ประกาศขายธุรกิจให้กับ Uber ทำให้ผู้เล่นจากสหรัฐอเมริกาแทบจะครองตลาด Food Delivery แทบทั้งหมดในไต้หวัน

เทรนด์ในการซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการธุรกิจ Food Delivery นั้นยังคงไม่หมดไป แต่เทรนด์ดังกล่าวนั้นจะไปอยู่ในประเทศที่ตลาดดังกล่าวยังคงเติบโต และมีผู้เล่นจำนวนมาก เช่น อินเดีย หลายประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น หรือแม้แต่ Foodpanda พิจารณาการขายกิจการธุรกิจในอาเซียน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศสิงคโปร์ด้วย

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือผู้เล่นในประเทศจีนอย่าง Meituan ที่มีข่าวลือว่าอาจมีการขยายกิจการออกมานอกประเทศจีนนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีข่าวลือว่าเป็นผู้เล่นอีกรายที่สนใจซื้อกิจการของ Foodpanda

นอกจากธุรกิจ Food Delivery นั้นจะมีการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการคู่แข่งแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ยังสนใจที่จะซื้อการควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) เช่น กรณีในไทย LINE MAN ลงทุนในกิจการของ FoodStory และ Rabbit Line Pay เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในอนาคต

ต้องมาลุ้นกันว่าธุรกิจส่งอาหารจากประเทศจีนอย่าง Meituan เองนั้นจะมีการรุกตลาดนอกประเทศจีนหรือไม่ – ภาพจาก Shutterstock

เส้นทางสู่กำไรที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง (หรือตั้งคำถาม)

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้เล่น Food Delivery หลายรายเองทั่วโลกยังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของเหล่า Rider ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบไอทีต่างๆ ซึ่งจุดคุ้มทุนของแต่ละบริษัทนั้นมีความแตกต่างกันไป

บทความของ Financial Times ได้คำนวณตัวเลขของผู้เล่น Food Delivery ในยุโรปและสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เข้า IPO บริษัทเหล่านี้ขาดทุนรวมกันแล้วมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจนี้

ขณะเดียวกันหลายบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อย่างเช่น Sea​ บริษัทแม่ของ Shopee Food รวมถึงผู้เล่นในตลาด Food Delivery อย่าง Uber Grab Deliveroo Doordash รวมถึง Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda เป็นต้น ต่างโดนเหล่านักลงทุนบีบให้บริษัทต่างทำกำไรให้ได้ไวที่สุด ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่เน้นการขยายธุรกิจกินส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่นักลงทุนต้องการไม่ใช่แค่กำไรเท่านั้น แต่ยังต้องเลิกเผาเงินสด หรือเลิกยึดครองตลาดที่นักลงทุนมองว่าไม่สามารถทำกำไรต่อไป

การบีบของนักลงทุนนั้นยังทำให้แผนธุรกิจของผู้เล่น Food Delivery หลายรายเริ่มเปลี่ยนจากการหารายได้ที่เน้นการส่งอาหาร การรับส่งลูกค้า ซึ่งรายได้ 2 ส่วนนี้นั้นมากกว่า 50% ของรายได้รวม เริ่มทำให้หลายผู้เล่นต้องปรับตัวให้คล้ายกับซุปเปอร์แอปฯ (Super App) มากขึ้น

คำถามคือในระยะยาวแล้ว การที่แอปเหล่านี้ปรับตัวคล้ายกับ Super App จะสามารถแข่งกับผู้เล่นดั้งเดิม เช่น  การเข้าไปยังธุรกิจ E-commerce หรือแม้แต่ FinTech นั้นแต่ละบริษัทสามารถสร้างจุดแข็งหรือแม้แต่ความได้เปรียบจากผู้เล่นเดิมในธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร

ไม่เพียงเท่านี้บริษัทเหล่านี้ยังโดนจับตามองจากหน่วยงานกำกับดูแลถึงเรื่องของการแข่งขันด้านธุรกิจ เนื่องจากหลายประเทศ ผู้เล่นในธุรกิจเหล่านี้กำลังเหลือน้อยราย และยังรวมถึงเรื่องของการดูแลสวัสดิภาพของเหล่า Rider รับส่งอาหาร (หรือแม้แต่ Rider คนขับ) โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่

ในอนาคตอันใกล้นี้เรากำลังเห็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม Food Delivery ต่างเหลือผู้เล่นน้อยรายลงเรื่อยๆ ซึ่งในบางประเทศการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นในธุรกิจนี้เหลือไม่เกิน 3-4 รายแล้ว ภายใต้การแข่งขันที่ยังคงดุเดือดทั้งคู่แข่งทางตรง หรือแม้แต่คู่แข่งทางอ้อม

]]>
1480493
อินโดนีเซียเตรียมขึ้นภาษีสินค้าจีนบางรายการถึง 200% ชี้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องปิดกิจการ https://positioningmag.com/1480645 Tue, 02 Jul 2024 05:58:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480645 อินโดนีเซียเตรียมที่จะขึ้นภาษีสินค้าจีนบางรายการสูงสุดถึง 200% โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ตามมาจากสินค้าจีนหลายประเภท เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า ฯลฯ ได้ทะลักเข้าสู่ประเทศมากเกินไป ส่งผลทำให้ธุรกิจสิ่งทอและผู้ผลิตเสื้อผ้าในประเทศได้รับผลกระทบจนต้องมีการปิดกิจการ

Reuters และ Channel News Asia รายงานข่าวว่า อินโดนีเซียเตรียมที่จะขึ้นภาษีสินค้าจีนบางรายการสูงสุดถึง 200% โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ตามมาจากสินค้าจีนหลายประเภทได้ทะลักเข้าสู่ประเทศมากเกินไป จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการดังกล่าวออกมา

สินค้าจากจีนที่จะมีการขึ้นภาษีนั้นประกอบไปด้วย รองเท้า ผลิตภัณฑ์เซรามิก เสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องสำอาง เหล็ก โดยอัตราภาษีนั้นเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 100% และบางรายการนั้นปรับเพิ่มมากถึง 200%

Zulkifli Hasan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ได้กล่าวว่า สินค้าจีนหลายประเภทได้ทะลักเข้าสู่ประเทศมากเกินไป ซึ่งผลดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดย่อมนั้นล่มสลายลงได้ และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้สินค้าเหล่านี้ลดการทะลักเข้ามา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ยังได้กล่าวเสริมในการสัมภาษณ์ของ Channel News Asia ว่า ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า เนื่องจากสินค้านำเข้ามีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผู้ประกอบการในประเทศผลิต

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในประเทศอินโดนีเซียไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศจีนได้ มาตรการดังกล่าวนั้นออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องปิดตัวลง หรือแม้แต่ต้องมีการปลดพนักงาน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการปิดตัวลงของธุรกิจประเภทดังกล่าว หรือแม้แต่การล้มละลายจำนวนมาก

สาเหตุที่ทำให้อินโดนีเซียต้องประกาศมาตรการดังกล่าวออกมานั้น เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ทวีความรุนแรง ทำให้สินค้าจากแดนมังกรที่ไม่สามารถส่งออกไปยังโลกตะวันตกได้ทะลักเข้าสู่หลายประเทศ ซึ่งอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

ในปี 2023 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ออกกฎระเบียบเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้ามากกว่า 3,000 รายการ ตั้งแต่ส่วนผสมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และสารเคมี เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้มีการผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทหลายแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ Apple เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว

จีนนั้นถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ 1 ใน 3 ของอินโดนีเซีย นอกจากนี้จีนยังเป็นประเทศที่นำเม็ดเงินลงทุน หรือ FDI เข้าอินโดนีเซียเป็นอันดับต้นๆ ด้วย

]]>
1480645
‘อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส’ เปิดตัว AWS Region ในไทยช่วงต้นปี 2025 ช่วยลูกค้าเก็บข้อมูลบน Cloud ในประเทศได้ https://positioningmag.com/1475915 Thu, 30 May 2024 17:04:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1475915 อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ประกาศเปิดตัว AWS Region ในไทยช่วงต้นปี 2025 การเปิดตัวดังกล่าวนั้นจะทำให้ภาคธุรกิจไทยสามารถย้ายข้อมูลที่เคยเก็บไว้ใน Cloud ที่เก็บข้อมูลในต่างประเทศ นำกลับมาเก็บอยู่ในประเทศไทย

AWS ประกาศเปิดตัว AWS Region ในไทยช่วงต้นปี 2025 ซึ่งจะทำให้ไทยนั้นมี Cloud ของยักษ์ใหญ่ไอทีรายนี้ในประเทศมากถึงในระดับหลาย Data Center และทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกในการใช้บริการต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต

สำหรับ AWS Region ในประเทศไทยนี้ถือเป็น Region ทื่ 4 ของ AWS ที่เปิดตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทชี้ว่าจะช่วยให้ลูกค้าที่ใช้บริการ Cloud สามารถเก็บข้อมูลของตนไว้ในประเทศไทย ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดความหน่วงของการรับส่งข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการที่เติบโตขึ้นในการใช้ Cloud ในภูมิภาคนี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ตามมาจากแผนการลงทุนในประเทศไทยในปี 2022 ซึ่งบริษัทประกาศการลงทุนเป็นเม็ดเงินมากถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 190,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 15 ปี จนถึงปี 2037 เพื่อที่จะลงทุนในระบบ Cloud ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานไอทีในประเทศไทย

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ประจำ AWS ประเทศไทย ได้กล่าวถึงการเปิดตัว AWS Region ว่าจะยิ่งช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีภายในภูมิภาค โดยเรามีความยินดีอย่างยิ่งในการส่งเสริมอนาคตที่รุ่งเรืองสำหรับลูกค้าและพาร์ตเนอร์ของเราทุกราย

Country Manager ประจำ AWS ประเทศไทย ได้กล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า AWS มาลงทุนในประเทศไทยไม่ใช่แค่ลงทุนแค่ Data Center แห่งเดียวเท่านั้น แต่ลงทุนมากกว่านั้น เนื่องจากการทำระบบ Cloud ต้องใช้หลาย Data Center ซึ่ง 1 Zone จะเท่ากับ 3-4 Data Center แต่ละประเทศนั้นจะมีไม่น้อยกว่า 3 Zone

ขณะที่ AWS Region อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย นั้นบริษัทเตรียมที่จะเปิดตัวภายในปี 2024 นี้

ปัจจุบันลูกค้าของ AWS นั้นมีทั้งองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทย สถาบันการเงิน สตาร์ทอัพมีชื่อเสียง ซึ่งล้วนแต่ใช้บริการ Cloud ของบริษัททั้งสิ้น

]]>
1475915
อินโดนีเซียอยู่ระหว่างสอบสวน Shopee และ Lazada อาจมีพฤติกรรมผูกขาด เน้นใช้บริการขนส่งของตัวเองเป็นหลัก https://positioningmag.com/1475286 Tue, 28 May 2024 02:11:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1475286 หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของอินโดนีเซียอยู่ระหว่างสอบสวน Shopee และ Lazada อาจมีพฤติกรรมว่าอาจมีพฤติกรรมละเมิดกฎต่อต้านการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีในการใช้บริษัทขนส่งของตัวเองนั้นอาจทำให้ผู้บริโภคนั้นไม่สามารถเลือกบริษัทขนส่งได้อย่างอิสระ

หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของอินโดนีเซีย (KKPU) กำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน 2 ผู้เล่น E-commerce รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Shopee รวมถึง Lazada ว่าอาจมีพฤติกรรมละเมิดกฎต่อต้านการแข่งขัน ซึ่งถ้าหากมีผู้เล่นรายใดรายหนึ่งทำผิดจริง อาจต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมาก

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้นมีการสอบสวนในฝั่งของ Shopee ในวันนี้ (อังคารที่ 28 พฤษภาคม) ว่าอาจมีการละเมิดกฎต่อต้านการแข่งขัน ขณะที่ฝั่งของ Lazada นั้นหน่วยงานพบว่ามีเหตุต้องสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมละเมิดกฎต่อต้านการแข่งขัน

รายงานของ DealStreetAsia ได้ชี้ว่า Shopee มีพฤติกรรมที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจขนส่งสินค้าของตัวเองอย่าง SPX ซึ่งถือเป็นการกีดกันไม่ให้บริษัทขนส่งรายอื่นเข้ามาทำธุรกิจ เพิ่มปริมาณการจัดส่งสินค้าให้กับบริษัทตัวเอง และยังเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค

M. Fanshurullah Asa ประธานของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของอินโดนีเซีย ได้กล่าวว่า Shopee และ Lazada มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกันในเรื่องดังกล่าว แต่เขาไม่ได้กล่าวในรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม

ประเทศอินโดนีเซียนั้นตลาดในการขนส่งสินค้าถือว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีการแข่งขันสูง และมีผู้เล่นหลายรายทั้งผู้เล่นภายในประเทศอย่าง เช่น GoTo หรือแม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab หรือแม้แต่ J&T Express

นอกจากนี้อินโดนีเซียเองยังเป็นประเทศที่หน่วยงานกำกับดูแลคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ ในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น TikTok หรือแม้แต่ Meta นั้นถูกการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว

ถ้าหาก 2 ผู้เล่นรายใหญ่ของ E-commerce รายดังกล่าวถูกตัดสินคดีว่ามีความผิดจริง โทษปรับที่บริษัทจะโดนคือปรับกำไร 50% หรือรายได้จากยอดขาย 10% ในช่วงเวลาที่เกิดการกระทำผิด

ที่มา – Reuters, Inquirer

]]>
1475286
เศรษฐีอาเซียนโตพุ่ง ดันธุรกิจ “เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว” โต 14% https://positioningmag.com/1474657 Sun, 26 May 2024 11:29:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1474657 ธุรกิจ “เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว หรือ Private Jet ในอาเซียนนั้นกำลังเติบโตอย่างมาก ปัจจัยสำคัญคือเรื่องของเหล่ามหาเศรษฐีที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงปัจจัยการประหยัดเวลาทำให้คุ้มค่าในการเดินทางหรือแม้แต่ใช้สำหรับการติดต่อด้านธุรกิจ

Positioning จะพาไปมองธุรกิจเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว หรือ Private Jet ที่กำลังเติบโตในอาเซียน ซึ่งทำให้มีการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยสำคัญคือการประหยัดเวลาในการเดินทาง สามารถที่จะติดต่อในด้านธุรกิจหรือท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น

ปริมาณเที่ยวบินยังเพิ่มมากขึ้นหลังโควิด

ณัฏฐภัทร สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ได้กล่าวถึงการใช้งานเครื่องบินเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว (Private Jet) นั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังการแพร่ระบาดของโควิดเองนั้นตัวเลขปริมาณการใช้งานของลูกค้านับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาเติบโตมากกว่าก่อนการแพร่ระบาดแล้ว

จุดเด่นของเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวคือความเร็วของที่มีมากกว่าเครื่องบินโดยสารทั่วไป ยังทำให้สามารถทำเวลาได้เร็วกว่าอีกด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงไม่ต้องเสียเวลารอในสนามบิน ซึ่งแตกต่างกับเที่ยวบินของสายการบินต่างๆ

ความนิยมดังกล่าวนั้นนอกจากนักธุรกิจระดับโลกจะใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ปัจจุบันนักแสดงหรือแม้แต่นักร้องหลายคนอย่างเช่น เทเลอร์ สวิฟต์ ก็ใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวเช่นกัน

ราคาของ Private Jet และราคาต่อเที่ยว

สำหรับราคาเครื่องบินเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวนั้นขึ้นกับแต่ละรุ่น ซึ่งมีจำนวนที่นั่งต่างกัน อ้างอิงเว็บไซต์ Investopedia นั้นราคานั้นมีตั้งแต่ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องบินส่วนตัวขนาดเล็ก ไปจนถึงราคาระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นกับความจุที่นั่งหรือแม้แต่ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์

เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวขนาดใหญ่อย่างเช่น เครื่องบินของ Bombadier หรือ Gulfstream รุ่นที่มีราคาแพงมาก สามารถบินจากกรุงเทพไปยังทวีปยุโรปโดยไม่ต้องแวะจอดเติมน้ำมันที่ไหนเลย

ในขณะที่ราคาต่อเที่ยวบินนั้นขึ้นอยู่กับเส้นทางการบิน เครื่องบินที่ลูกค้าเลือกใช้ ระยะเวลาในการอยู่ที่ปลายทาง ถ้าหากมีค้างคืนก็จะต้องจ่ายอีกราคาหนึ่ง ซึ่งราคาเริ่มต้นส่วนใหญ่อยู่ในหลักแสนบาทต่อเที่ยวบิน ถ้าเป็นเส้นทางการเดินทางภายในประเทศ และราคาจะบวกเพิ่มมากขึ้นถ้าหากเป็นการเดินทางไปยังต่างประเทศ

แต่ถ้าคิดเป็นราคาเฉลี่ยต่อคนแล้วนั้นจะอยู่ในระดับ 5-60,000 บาทขึ้นไปต่อคน และจะค่าโดยสารจะเพิ่มมากขึ้นถ้าหากเป็นการเดินทางไปยังต่างประเทศ ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายจะคิดค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Private Jet ได้รับความนิยมคือเรื่องของการประหยัดเวลาในการเดินทาง – ภาพจาก Unsplash

ตลาดอาเซียนยังเติบโตได้ดี

ข้อมูลจาก Mordor Intelligence ที่วิเคราะห์อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ของอุตสาหกรรมเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวในอาเซียนจะอยู่ที่ 14.36% ซึ่งคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นจาก 463.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 สู่ 906.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2029

ปัจจัยสำคัญนั้นมาจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการเพิ่มของลูกค้ากลุ่มสินทรัพย์สูงและสูงพิเศษ (High & Ultra-High Net Worth Individuals) โดยเฉพาะลูกค้ามหาเศรษฐีที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในอาเซียน จากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การย้ายถิ่นฐานของเศรษฐีชาวจีนมายังละแวกนี้

การใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวในภูมิภาคนี้มีทั้งเพื่อการจัดกิจกรรมทางธุรกิจอย่างการประชุม มหกรรม หรือการพูดคุยระหว่างองค์กรในภูมิภาคที่มีจำนวนมากขึ้น ไปจนถึงการใช้เพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยเองถือว่าเป็นศูนย์กลางทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว หรือแม้แต่การประชุม จนถึงการพูดคุยธุรกิจ

เศรษฐีกับนักธุรกิจในอาเซียนใช้งานเพิ่มมากขึ้น

ณัฏฐภัทร ได้กล่าวถึงเทรนด์การใช้งานเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวนั้นในช่วงที่ผ่านมา ได้ยกกรณีในการเดินทางเพื่อไปพูดคุยด้านธุรกิจ สามารถทำได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อกลับมาได้

ผู้บริหารของสูงสุดของ บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ได้กล่าวว่า ลูกค้าบางคนมีมีตติ้งที่หัวหินตอนเที่ยง แต่ตอนเย็นมีนัดดินเนอร์ที่ภูเก็ต ถ้าเดินทางด้วยรถยนต์และเครื่องบินปกติไม่มีทางทำได้ และต้องเสียเวลานั่งรถต่อเครื่อง แต่ถ้าใช้บริการ Private Jet ทำได้แน่นอน ซึ่งการประหยัดเวลานั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนเหล่านี้มหาศาล

เขายังได้ยกกรณีการเดินทางของ วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ซึ่งเป็นประธานกลุ่มไมเนอร์ (รวมถึงเป็นเจ้าของร่วมและกรรมการบริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด) ที่ใช้เครื่องบินเดินทางไปพูดคุยด้านธุรกิจในทวีปยุโรปนั้นสามารถประหยัดเวลาการเดินทาง และยังทำให้สามารถพูดคุยหรือพบปะด้านธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น

ด้วยเทรนด์ที่เกิดขึ้น ทำให้ บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ได้ประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท วิงส์โอเวอร์เอเชีย จำกัด เป็นมูลค่าดีล 17 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ จะทำให้บริษัทขยายเครือข่ายการให้บริการไปยังอาเซียนได้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทเองยังเผยว่ามีแผนที่จะปิดดีลในการลงทุนเพิ่มหลังจากนี้ด้วย

]]>
1474657
GDP ไทยไตรมาส 1 ปี 67 เติบโต 1.5% ดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ ภาคการท่องเที่ยวยังแบกเศรษฐกิจต่อเนื่อง https://positioningmag.com/1474277 Mon, 20 May 2024 04:09:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1474277 สภาพัฒน์รายงานตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ที่ผ่านมานั้นเติบโต 1.5% เท่านั้น ซึ่งดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ โดยปัจจัยหลักในไตรมาสนี้ที่ยังทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้คือ ภาคการบริโภค รวมถึงภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดีปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยไตรมาสนี้คือภาคการส่งออก รวมถึงการลงทุนและการบริโภคของภาครัฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ของปี 2567 นั้น GDP เติบโตได้ 1.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ของปีนี้ถือว่าดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ โดยผลสำรวจของสำนักข่าว Bloomberg คาดว่า GDP ไทยจะโตแค่ 0.8% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเท่ากันกับสำนักข่าว Reuters ที่สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 19 รายในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แต่ถ้าหากมองเป็นการเติบโตต่อไตรมาส เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากไตรมาส 4 ของปี 2566 ที่ 1.1%

สำหรับตัวเลขที่น่าสนใจในไตรมาส 1 นี้

  • การบริโภคในประเทศเติบโต 6.9%
  • การส่งออกของไทยถดถอย -2% (ในสกุลดอลลาร์ -1%) ขณะที่การนำเข้าสินค้าเติบโต 3.2%
  • การลงทุนภาคเอกชนเติบโต 4.6%
  • การลงทุนภาครัฐถดถอย -27.7%
  • การอุปโภคภาครัฐกลับถดถอยที่ -2.1%

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่สภาพัฒน์มองไว้ ได้แก่ เรื่องหนี้ของครัวเรือนที่มีระดับสูง ผลกระทบของสภาวะอากาศต่อภาคการเกษตร ความผันผวนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จากเรื่องของสภาวะดอกเบี้ยที่ยังมีระดับสูง ผลของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนด้านการค้าระหว่างประเทศ

สภาพัฒน์คาดว่า GDP ไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 2.5% โดยมองข้อดีของการส่งออกและการท่องเที่ยวรวมถึงการเบิกจ่ายภาครัฐที่ฟื้นตัว และคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 0.1-1.1%

ในบทวิเคราะห์ของ HSBC ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างช้าๆ แต่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขที่สร้างความประหลาดใจคือตัวเลขการบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะขัดกับดัชนีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำไว้ ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงก็ตาม

ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1 นั้นทำให้ HSBC มองว่าแบงกชาติจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ตลอดทั้งปี  และในบทวิเคราะห์ดังกล่าวชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบ V Shape หลังจากนี้ เนื่องจากมาตรการของรัฐบาล เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ปัจจัยดังกล่าวเองก็อาจส่งผลลบต่อ GDP ไทย ถ้าหากมีการเบิกจ่ายล่าช้ากว่าที่คาด

ขณะที่บทวิเคราะห์จาก Goldman Sachs นั้นมองว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตกว่าที่คาดไว้ แต่มองว่าปัจจัยภายนอกก็เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตัวเลขการส่งออก

Note: อัพเดต 15:34 เพิ่มบทวิเคราะห์จาก HSBC และ Goldman Sachs

]]>
1474277
Elon Musk เยือนอินโดนีเซีย เปิดตัว ‘Starlink’ เป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน เน้นบริการไปยังพื้นที่ห่างไกล https://positioningmag.com/1474237 Sun, 19 May 2024 18:14:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1474237 Elon Musk เจ้าของกิจการหลากหลายธุรกิจอย่างเช่น SpaceX และ Tesla ฯลฯ ได้เยือนประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทได้มีการเปิดตัวบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมอย่าง Starlink ซึ่งการเปิดตัวดังกล่าวเน้นบริการไปยังพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการแพทย์

Elon Musk เจ้าของกิจการหลากหลายธุรกิจอย่างเช่น SpaceX และ Tesla ฯลฯ ได้เยือนประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทได้มีการเปิดตัวบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมอย่าง Starlink อย่างเป็นทางการ โดยบริการดังกล่าวนั้นเน้นไปยังด้านการแพทย์ตามพื้นที่ห่างไกล

เจ้าของ SpaceX รายนี้ได้เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวมายังเกาะบาหลี เพื่อที่จะพบปะกับ Budi Gunadi Sadikin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย และเปิดตัวบริการดังกล่าว ซึ่งเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนต่อจากมาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ในเริ่มต้นนั้นศูนย์การแพทย์ในเกาะบาหลีจะใช้งาน Starlink ได้ 2 แห่ง และอีกแห่งบนเกาะ Aru ซึ่งใกล้กับหมู่เกาะปาปัว โดย Elon Musk ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ว่าจะสามารถช่วยชีวิตได้มากเพียงใด และเขายังได้มีการทดสอบพูดคุยกับทีมงานในศูนย์การแพทย์ด้วย

นอกจากนี้ Starlink ยังมีการเปิดใช้งานในอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลเองมีแผนที่จะนำบริการดังกล่าวเข้าไปยังพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากประเทศมีหมู่เกาะใหญ่เล็กรวมกันหลายร้อยเกาะ ทำให้ประสบปัญหาในเรื่องการติดต่อสื่อสาร

ผู้ใช้งานของ Starlink นั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2021 นั้นมีผู้ใช้งานราวๆ 500,000 รายเท่านั้น แต่ตัวเลขล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานมากถึง 2.4 ล้านรายรวมกัน และมีประเทศที่เปิดให้ใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นประเทศล่าสุด

ที่มา – Reuters, The Independent

]]>
1474237
‘ทรู ดิจิทัล พาร์ค’ ชูเรื่องด้านความยั่งยืน ประกาศผลักดันสตาร์ทอัพกลุ่ม Climate Tech แก้ไขปัญหาโลกร้อน https://positioningmag.com/1473375 Tue, 14 May 2024 01:46:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1473375 ทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park) ได้ชูประเด็นเรื่องของ Ecosystem ของบริษัทเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเรื่องของความยั่งยืน โดยประกาศผลักดันสตาร์ทอัพกลุ่ม Climate Tech แก้ไขปัญหาโลกร้อน เนื่องจากเป็นปัญหาที่สำคัญในอนาคต

ฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้กล่าวถึง True Digital Park นั้นมีอายุ 6 ปีแล้วได้พัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งไทยและในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้บริการสำนักงานให้เช่า การขอสิทธิประโยชน์จาก BOI ไปจนถึงการช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอวีซ่าให้กับพนักงาน

โดย Ecosystem ของ True Digital Park นั้นมีทั้งบริษัทขนาดเล็กไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ บริษัทร่วมลงทุน (VC) รวมถึงสตาร์ทอัพต่างๆ และมีสมาชิกราวๆ 14,000 ราย และมีผู้เช่าอยู่ราวๆ 200 องค์กร บนพื้นที่สำนักงาน 80,000 ตารางเมตร

นอกจากนี้ ฐนสรณ์ ยังกล่าวถึงการเชื่อมต่อองค์กรมากถึง 5,800 องค์กร ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย บริษัทต่างๆ นั้นสามารถเชื่อมต่อและสามารถสร้าง Ecosystem ดังกล่าวได้

ฐนสรณ์ ยังได้กล่าวถึงในส่วนของ True Digital Park ยังเน้นในเรื่องของความยั่งยืนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียวในอาคาร และทางตึกได้มีการใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ มีการใช้ระบบไอทีที่สามารถดูการใช้พลังงาน อุณภูมิตึกได้ มีระบบทำความเย็นของตึกที่ใช้น้ำ รวมถึงการบำบัดน้ำเสีย

ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวถึง True Digital Park ยังมีการผลักดันสตาร์ทอัพ Climate Tech ให้มีการเติบโต ผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการจัดโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

โดยตลาด Climate Tech มีการเติบโตจากความต้องการใช้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถเติมเต็มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางนโยบายที่เข้มงวดของภาครัฐและกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผู้จัดการทั่วไป ทรู ดิจิทัล พาร์ค ยังชี้ว่าสตาร์ทอัพผู้พัฒนานวัตกรรม Climate Tech ยังต้องการมาตรการส่งเสริมการเติบโตจากภาครัฐ และการสนับสนุนทั้งในด้านการตลาดและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Climate Tech ให้มีความหลากหลายและก้าวหน้าในระยะยาว

นวัตกรรม Climate Tech 4 กลุ่มที่น่าจับตามอง ได้แก่

  1. E-Mobility เช่น EV และระบบขนส่ง
  2. Decarbonization เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการคาร์บอน และคาร์บอนเครดิต
  3. AgriTech เช่น ระบบบริหารจัดการน้ำ เชื้อเพลิงชีวภาพ และวัตถุดิบทางเลือก
  4. Energy เช่น การบริหารจัดการพลังงาน และพลังงานหมุนเวียน

สองผู้บริหารของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ยังมองว่าท้ายที่สุดแล้วเรื่องดังกล่าวนั้นจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากหลายประเทศกำลังจะมีการเก็บภาษีในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎระเบียบใหม่ของโลกถือว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

]]>
1473375
Scoot ประกาศยกเลิกบางเที่ยวบินเดือนพฤษภาคมในสิงคโปร์ จากปัญหาด้าน Supply Chain ที่ยังไม่กลับมาปกติ https://positioningmag.com/1473139 Sun, 12 May 2024 15:56:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1473139 Scoot สายการบินราคาประหยัดจากสิงคโปร์ ได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินบางเที่ยวในเดือนพฤษภาคม โดยสาเหตุสำคัญคือปัญหาการขาดแคลนอะไหล่ซ่อมเครื่องบิน นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการซ่อมแซมเครื่องบิน

สายการบิน Scoot ได้แจ้งกับสื่อมวลชนในสิงคโปร์ว่า เที่ยวบินหลายเที่ยวบินที่กำหนดในเดือนพฤษภาคมได้ถูกยกเลิกเนื่องจากเหตุผลด้านการปฏิบัติงานหลายประการ รวมถึงเครื่องบินไม่พร้อมให้บริการเนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่เนื่องจากปัญหาด้าน Supply Chain

นอกจากนี้สายการบินยังให้รายละเอียดว่า การขาดแคลนซึ่งเป็นผลจาก Supply Chain กำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินโดยรวม แต่ Scoot ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชิ้นส่วนอะไหล่และประเภทเครื่องบินที่ได้รับผล กระทบ โดยกล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหวทางการค้า

ขณะเดียวกันสายการบินเองก็ได้กล่าวขอโทษในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน และจะมีการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว

โดยสื่อในประเทศสิงคโปร์อย่าง The Strait Times รายงานว่าเที่ยวบินของ Scoot จากสนามบินชางงีในช่วงวันที่ 2-6 พฤษภาคมที่ผ่านมามีการยกเลิกเที่ยวบินไปถึง 33 เที่ยวบิน

ล่าสุดปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดแค่กับสายการบินอย่าง Scoot เท่านั้น แต่สายการบินราคาประหยัดอย่าง Jetstar ที่มีเส้นทางบินจากสนามบินในสิงคโปร์ก็มีเที่ยวบินล่าช้า การเปลี่ยนเวลาทำการบิน หรือแม้แต่การยกเลิกเที่ยวบิน โดยสายการบินได้ให้เหตุผลในเรื่องดังกล่าวคล้ายคลึงกัน

ปัญหา Supply Chain ทำให้การผลิตเครื่องบินของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Airbus และ Boeing มีการผลิตเครื่องบินได้ช้ากว่าคาด ส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งสร้างผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาต่อทั้งสายการบินในไทยและต่างประเทศ หรือแม้แต่บริษัทให้เช่าเครื่องบิน

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายสายการบินต้องใช้เครื่องบินเก่าที่มีอยู่ เนื่องจากความต้องการเครื่องบินรุ่นใหม่ยังสูง

ไม่เพียงเท่านี้การนำเครื่องบินไปเก็บรักษาและนำกลับมาใช้งานใหม่ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิดยังส่งผลทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่จำนวนมากในคราวเดียวกัน ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่เหล่านี้ไม่สามารถที่จะผลิตได้ทัน และยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ไม่ได้บินเป็นระยะเวลาหลายเดือนให้กลับมาบินได้ปกติอีกด้วย

แม้ว่าความต้องการในการเดินทางในหลายส่วนของโลกจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่ปัญหา Supply Chain หรือแม้แต่ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้นกลับยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดได้ดีเท่าที่ควรมากนัก ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นอาจต้องใช้เวลายาวนานกว่าคาด

ที่มา – CNA, The Strait Times

]]>
1473139
UOB มองเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ แม้ได้ภาคการท่องเที่ยวช่วยไว้ แนะนำลงทุนกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นปันผลดี https://positioningmag.com/1472645 Thu, 09 May 2024 07:05:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472645 ยูโอบี (UOB) ได้คาดการณ์ว่าอาจปรับลดตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วง 2 เดือนแรก แม้ว่าจะมีภาคการท่องเที่ยวช่วยไว้ก็ตาม นอกจากนี้ยังแนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มปันผลนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาตลาดมีความผันผวน

เอ็นริโก้ ทานูวิดจายา นักเศรษฐศาสตร์ Global Economics and Market Research กลุ่มธนาคารยูโอบี ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาว่ามีความท้าทาย และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกนั้นเพิ่มมากขึ้น ทางด้านเรื่องของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นั้นมีผลกระทบต่อราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก เอ็นริโก้ มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีความแข็งแกร่งอยู่ แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวนั้นจะปรับตัวลดลงมาก็ตาม ทำให้เขามองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้เริ่มต้นในเดือนกันยายน และในช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่เศรษฐกิจจีนเขามองว่าชะลอตัวลง แต่มีเสถียรภาพมากขึ้น ตรงข้ามกับอินเดียที่เติบโตอย่างมาก และเขามองว่าอินเดียจะเป็นดาวเด่นทางเศรษฐกิจด้วย

ข้อมูลจาก UOB

ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ แม้ท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์ Global Economics and Market Research กลุ่มธนาคารยูโอบี ยังได้กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยว่าเศรษฐกิจไทยนั้นได้กลับมาเติบโตเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว แต่การเติบโตนั้นกลับไม่เท่ากันจะเห็นได้จากภาคบริการเติบโตมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดไปแล้ว แต่หลายอุตสาหกรรมเองกลับไม่ฟื้นตัวกลับมา เช่น ภาคการผลิต เป็นต้น

เขากล่าวว่าภาคการท่องเที่ยวที่เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยนั้น นักท่องเที่ยวชาวจีนได้กลับมาแล้ว แต่ไทยเองยังต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ขณะเดียวกันภาคการส่งออกของไทยเขาก็มองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

อย่างไรก็ดี เอ็นริโก้ มองว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะตัวเลขการเติบโตของเงินให้สินเชื่อของสถาบันการเงินไทยที่เติบโตติดลบ แสดงให้เห็นการบริโภคภายในประเทศถือว่าอ่อนแอมาก ทำให้เขามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 2 ครั้งในปีนี้ โดยเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน และในช่วงปลายปี

UOB ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ในรายงานล่าสุดอยู่ที่ 2.8% แต่ เอ็นริโก้ มองว่าอาจมีความเสี่ยงขาลงจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ 2 เดือนแรกของปีแย่กว่าคาด และอาจมีการปรับประมาณการใหม่ เขาคาดว่า GDP ไทยจะเติบโตแค่ 2.4-2.5% ถ้าหากมีการประมาณการตัวเลขใหม่

สำหรับค่าเงินบาทของไทย เขาไม่ได้กังวลมากนัก และมองว่าเม็ดเงินจะไหลออกระยะสั้นเท่านั้น แต่มองว่าค่าเงินบาทของไทยมีเสถียรภาพเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นบวก นอกจากนี้ถ้าหากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ก็จะทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าด้วย

ข้อมูลจาก UOB

หุ้นปันผล อีกหนึ่งทางเลือกลงทุน

เอเบล ลิม Head of Wealth Management Advisory and Strategy กลุ่มธนาคารยูโอบี ได้กล่าวถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะมีอุปสรรคมากมาย เช่น ความไม่แน่นอน แต่ก็พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตได้ดี ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในสภาวะฟื้นตัว ขณะที่ญี่ปุ่นตลาดหุ้นทำผลตอบแทนได้ดีมาก บริษัทญี่ปุ่นยังเติบโตได้ ทางฝั่งยุโรปพบว่ามีเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 1 ปีที่แล้วแต่บริษัทหลายแห่งกลับยังทำผลงานได้ดี

เขากล่าวยังว่า “เนื่องจากตลาดมีความอ่อนไหวต่อดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราการเติบโตและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่แตกต่างกัน การสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอผ่านการลงทุนในหุ้นปันผลจึงเป็นสิ่งสำคัญ” โดยเขายกเหตุผลถึงถ้าหาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็จะเป็นผลดีกับหุ้นปันผลด้วย

ในส่วนของการลงทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อเสริมพอร์ตการลงทุนหลัก UOB ได้แนะนำ 4 กลุ่มได้แก่ หุ้นเติบโตขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ (High Quality) หุ้นกลุ่ม Healthcare หุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น รวมถึงหุ้นในอาเซียน

ขณะที่ความเสี่ยงของการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2024 นี้ที่ UOB มองไว้ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อลดลงได้ช้ากว่าคาด ส่งผลทำให้ธนาคารกลางต้องคงดอกเบี้ยสูงเป็นระยะเวลานาน และยังรวมถึงความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีนจะขยายตัวขึ้น

]]>
1472645