อินโดนีเซียแบนธุรกรรม E-commerce ผ่านเครือข่ายสังคม TikTok Shop และผู้เล่นรายอื่นได้รับผลกระทบทันที

ภาพจาก Unsplash
รัฐบาลอินโดนีเซียใช้ยาแรง ประกาศแบนธุรกรรม E-commerce ผ่านเครือข่ายสังคม โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับผลกระทบทันทีคือ TikTok และอาจรวมถึง Facebook ด้วย เหตุผลที่มีการแบนเพื่อต้องการปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ

รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแบนการทำธุรกรรม E-commerce ผ่านเครือข่ายสังคม ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าผ่านเครือข่ายสังคม (Social Network) ได้ โดยข้อระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที และต้องทำตามภายใน 7 วัน ถ้าหากยังฝ่าฝืนต่อก็อาจมีสิทธิ์ถูกระงับการใช้งานในประเทศได้

กระทรวงการค้าของอินโดนีเซียให้เหตุผลว่าต้องการที่จะคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ เนื่องจากการซื้อสินค้าผ่านเครือข่ายสังคมนั้นถูกเอาเปรียบในเรื่องของราคา ซึ่งเครือข่ายสังคมกำลังคุกคามพ่อค้าแม่ค้าที่มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศ

นอกจากนี้กฎระเบียบดังกล่าวยังกำหนดให้แพลตฟอร์ม E-commerce ต้องกำหนดราคาขั้นต่ำที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าบางรายการที่ซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ

ปัจจุบันธุรกิจของพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีจำนวนมากถึง 64.2 ล้านคน เป็นเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย โดยคิดเป็นสัดส่วน 61% ของ GDP อินโดนีเซีย

รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียกล่าวว่า กฎระเบียบดังกล่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มั่นใจว่าการแข่งขันทางธุรกิจ นั้นมีความยุติธรรม โดยเขามองว่าปัจจุบันเครือข่ายสังคมหลายแห่งได้เพิ่มบริการทั้ง E-commerce หรือแม้แต่บริการด้านการเงิน แต่กลับกันเขามองว่าบริการ E-commerce ไม่มีทางที่จะมีบริการเครือข่ายสังคม

ผลกระทบจากกฎระเบียบดังกล่าว กระทบกับแพลตฟอร์มที่เน้นด้าน Social Commerce ซึ่งได้แก่ TikTok ที่เพิ่งจะมีการเปิดตัว TikTok Shop ไป โดยที่กฎระเบียบดังกล่าวอาจทำให้บริษัทต้องแยกตัวแอปออกมาใหม่

ก่อนหน้านี้ TikTok เองได้เปิดบริการในประเทศที่มองว่าเป็นตลาดสำคัญก่อนเพื่อน อย่างเช่น TikTok Shop หรือแม้แต่บริการสตรีมมิ่งเพลง โดยบริษัทได้กล่าวว่าตลาดในอินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญมากประเทศหนึ่ง จากปัจจัยของผู้ใช้งานจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า Facebook เองก็อาจได้รับผลกระทบดังกล่าวจากกกฎระเบียบนี้ด้วย

อย่างไรก็ดีผลประโยชน์ดังกล่าวกลับตกอยู่กับพ่อค้าแม่ค้าในประเทศ หรือแม้แต่แพลตฟอร์ม E-commerce ในประเทศอย่าง Tokopedia ของ GoTo หรือแม้แต่ Shopee ของ Sea

ที่มา – Tech Wire Asia, Reuters, The Jakarta Post