AWC – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 25 Sep 2023 13:09:12 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เผยโฉม ‘อินเตอร์คอนฯ เชียงใหม่ แม่ปิง’ จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของ ‘ล้านนาทีค’ โปรเจกต์ 3 หมื่นล้าน ของ ‘AWC’ https://positioningmag.com/1445437 Mon, 25 Sep 2023 12:44:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1445437 เชียงใหม่ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ โดยแค่ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึงกว่า 7 ล้านคน มีเงินสะพัดกว่า 70,000 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะมีเงินสะพัด 8-9 หมื่นล้านบาท ที่น่าสนใจคือ โปรเจกต์ ล้านนาทีค มูลค่า 3 หมื่นล้านของ AWC ก็กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อย ๆ รับการกลับมาของนักท่องเที่ยว

โปรเจกต์ล้านนาทีคคืออะไร

ล้านนาทีค (LANNATIQUE) คือ โปรเจกต์ยักษ์มูลค่า 30,000 ล้านบาท ที่หวังจะฟื้นคืนชีพ ไนท์บาร์ซ่า แลนด์มาร์กสำคัญของเชียงใหม่โดย บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC บริษัทอสังหาริมทรัพย์หนึ่งในเครือตระกูล สิริวัฒนภักดี โดยมี วัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนรองของ เจ้าสัวเจริญ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

จาก “ไนท์บาซาร์” สู่ “ลานนาทีค” AWC ปั้นโปรเจ็กต์ชุบชีวิตอาณาจักรท่องเที่ยวใน “เชียงใหม่”

สำหรับพื้นที่ในโปรเจกต์ล้านนาทีคนั้นเกิดจากที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ เจ้าสัวเจริญสะสมมาตลอด 30 ปี โดยมีพื้นที่รวม 100 ไร่ ซึ่งเชื่อมโยงพื้นที่ตั้งแต่ถนนช้างคลาน, ไนท์บาซ่า, ตลาดอนุสาร ไปจนถึงริมน้ำปิง ซึ่งโปรเจกต์ล้านนาทีค นี้จะประกอบไปด้วยโรงแรมและพื้นที่รีเทลรวม 10 โครงการ

อินเตอร์คอนฯ เชียงใหม่ แม่ปิง จิ๊กซอว์สำคัญจับกลุ่มไฮเอนด์

จะเห็นว่า 4 ใน 10 โครงการเป็นโรงแรม โดยเปิดบริการแล้วก็มี โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ และที่จะเปิดในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้คือ โรงแรมแมริออท เชียงใหม่ อีกโรงแรมที่กำลังจะเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้ก็คือ อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล ที่ถือเป็นโรงแรมในเครืออินเตอร์คอนติเนนตัลแห่งแรกของภาคเหนือ

สำหรับโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล เป็นการรีโนเวตและรีแบรนด์จาก โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง (Imperial Mae Ping) โรงแรมที่มีอายุกว่า 31 ปี และถือเป็นหนึ่งในโรงแรมสำคัญของเชียงใหม่ที่รับแขกระดับโลกมากมายโดยโรงแรมได้เริ่มรีโนเวตตั้งแต่ปี 2020 ใช้งบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ภายใต้คอนเซ็ปต์ Living Museum หรือ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยได้ผสมผสานเทคโนโลยี AR ให้นักท่องเที่ยวสามารถศึกษาข้อมูลวัฒนธรรมของเชียงใหม่ จากการใช้สมาร์ทโฟนสแกนพื้นที่สำคัญ ๆ ในโรงแรม

Hotel Lobby

โดยในเฟสแรกมีห้องพักและห้องสวีทรวม 240 ห้อง ซึ่งได้รับการตกแต่งด้วยงานศิลปะจากช่าง 10 หมู่ เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์สำคัญของเชียงใหม่ อาทิ Kam Lobby Lounge (คำ ล็อบบี้เล้าจ์) ซึ่งนำอัตลักษณ์จากเทศกาลยี่เป็งมาประดับตกแต่งเหนือเพดานในรูปแบบของโคมไฟแบบล้านนาร่วมสมัย หรือ ห้องอาหาร The Gad Lanna (เดอะ กาด ลานนา) ที่จะให้บรรยากาศเหมือนกาดหรือตลาดแบบล้านนา เป็นต้น

Connecting Room – Mountain View
Classic King – Bathroom City View

มั่นใจดึงนักท่องเที่ยวจีนคุณภาพเข้าโรงแรม

สำหรับโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล จะเน้นจับ กลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ลักชัวรี่ และกลุ่ม MICE ระดับโลก และเนื่องจากเป็นเครือโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลที่มีกว่า 200 สาขาใน 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นเชนโรงแรมที่มีเครือข่าย ลูกค้าคนจีนใหญ่สุดในโลก ดังนั้น เมื่อไทยเปิดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน เชื่อว่าโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทลจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวจีนคุณภาพให้มาพักที่โรงแรมได้

นอกจากนี้ ด้วยความที่ในอดีตโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิงเดิมเคยให้การต้อนรับบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงมากมายระดับโลกมากมาย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ เติ้ง ลี่จวิน (Teresa Teng) ที่มักพักอาศัยอยู่ที่โรงแรมนี้เป็นประจำ และเติ้ง ลี่จวินก็ได้เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืดในระหว่างเดินทางมาพักที่โรงแรมดังกล่าวเมื่อปี 2538

ถึงแม้จะรีโนเวตเป็นอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทลแล้วก็ตาม แต่ทางโรงแรมยังเก็บรักษา ห้อง 1502 ของชั้น 15 ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ และได้เพิ่มพื้นที่ร้านอาหาร HONG’s Chinese Restaurant & Sky Bar ห้องอาหารจีนและสกายบาร์บนชั้น 16 และดาดฟ้าของโรงแรม เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนต่อไป

Grand Ballroom
Event lawn

ไม่เกิน 5 ปี เสร็จโปรเจกต์ล้านนาทีค

นอกจากเหนือจากโรงแรม 2 แห่งที่จะเปิดภายในปีนี้ ยังมี เดอะพันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ ฮับ ที่ AWC ทุ่มงบปรับโฉม พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ ที่จะเปิดในเดือนธันวาคมนี้ โดย AWC วางไว้ว่าจะเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์และเป็นที่พบปะสังสรรค์ โดยจะเปรียบเสมือนห้องนั่งเล่น และจะมีการรวมร้านอาหารชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดภาคเหนือเอาไว้ โดย วัลลภา ไตรโสรัส มั่นใจว่า โปรเจกต์ล้านนาทีค 30,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จภายใน ไม่เกิน 5 ปีจากนี้

เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และ วัลลภา ไตรโสรัส ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC
]]>
1445437
จาก “ไนท์บาซาร์” สู่ “ลานนาทีค” AWC ปั้นโปรเจ็กต์ชุบชีวิตอาณาจักรท่องเที่ยวใน “เชียงใหม่” https://positioningmag.com/1427124 Tue, 11 Apr 2023 09:47:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1427124 “ไนท์บาซาร์” เปิดบริการใน “เชียงใหม่” มานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี ก่อนที่โรคระบาดโควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ AWC วางโปรเจ็กต์ใหม่ รวบอาณาจักรที่ดินบนถนนช้างคลานมาชุบชีวิตเป็น “ลานนาทีค” ปั้นจุดขายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ “ต้องมา” ของชาวต่างชาติอีกครั้ง

อาณาจักรที่ดินในเชียงใหม่ของ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC บริษัทอสังหาริมทรัพย์หนึ่งในเครือตระกูลสิริวัฒนภักดี เฉพาะโครงการบนถนนช้างคลานต่อเนื่องถึงถนนศรีดอนไชยนั้นมีไม่ต่ำกว่า 12 แปลง

ที่ดินเหล่านี้สร้างเป็นโครงการหลากหลายประเภท ทั้งโรงแรมและพื้นที่รีเทล แต่บริเวณที่มีชื่อเสียงที่สุดหนีไม่พ้น “ไนท์บาซาร์” ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางจุดตั้งต้นในการพัฒนาโครงการใหม่ “ลานนาทีค”

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC แย้มแผนการชุบชีวิตยกระดับพื้นที่นี้ โดยเป้าหมายคือต้องการให้เป็น ‘Tourist Destination’ จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว แบบเดียวกับที่ในกรุงเทพฯ มี “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์”

“ในอนาคตรถบัส รถทัวร์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคันจะต้องมีโปรแกรมมาจอดที่ลานนาทีค เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่” วัลลภาฉายภาพเป้าหมายที่เธอมองเห็น

AWC
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC

บริเวณที่ขณะนี้ AWC คาดว่าจะนับรวมเข้ามาอยู่ในโปรเจ็กต์ “ลานนาทีค” จะมีทั้งหมด 7 แปลง คือ

  • ตลาดไนท์บาซาร์
  • กาแลไนท์บาซาร์
  • เดอะพลาซ่า
  • โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ (เตรียมรีโนเวตเปลี่ยนแบรนด์เป็น ‘แมริออท’)
  • โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่
  • ตลาดอนุสาร
  • บ้านโบราณเชียงใหม่

แม้ที่ดินอาจไม่ได้เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันครบทั้งหมด แต่อยู่ในระยะเดินต่อเนื่องกัน และจะมีบ้านโบราณเชียงใหม่ที่เป็นทางออกไปสู่ริมแม่น้ำปิงด้วย

ลานนาทีค เชียงใหม่
ลานนาทีค และอาณาจักรโครงการทั้งหมดของ AWC ในบริเวณถนนช้างคลาน-ถนนศรีดอนไชย (ภาพถ่ายจาก งานแถลงข่าว The Pantip Lifestyle Hub)

ปัจจุบันการค้าในพื้นที่ไนท์บาซาร์จะเน้นสินค้าประเภทของฝาก ของที่ระลึก งานศิลปะ ของทำมือ หัตถกรรม เสริมด้วยร้านอาหารต่างๆ แต่คอนเซ็ปต์ใหม่ที่รวมเอาที่ดินหลายแปลงมาพัฒนาเป็นเนื้อเดียวกัน AWC ต้องการจะพลิกโฉมให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม

 

Lifestyle Experience ใน 4 ทำเลแหล่งท่องเที่ยว

กลยุทธ์ในภาพใหญ่ของ AWC นั้น แบ่งการบริหารโครงการในมือเป็น 4 ประเภท คือ โครงการที่เป็นจุดหมายปลายทางไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยว, โครงการตลาดและศูนย์การค้าของชุมชนท้องถิ่น, โครงการค้าส่งและค้าออนไลน์ และสุดท้ายคือ กลุ่มอาคารสำนักงาน

สำหรับโครงการที่เน้นเจาะไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยว ที่เปิดบริการแล้วมีเพียงแห่งเดียวคือ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ แต่ในตระกูลเดียวกันจะมีตามมาอีก 3 แห่ง คือ เวิ้งนครเขษม, อควอทีค พัทยา และ ลานนาทีค เชียงใหม่ ที่เพิ่งจะเปิดแผนออกมา

เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ต้นแบบการพัฒนาโครงการเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว

วัลลภากล่าวว่า หลังจากผ่านจุดเปลี่ยนในช่วงโควิด-19 ทำให้บริษัทกลับมาคิดทบทวนใหม่ว่า “อะไรที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ในธุรกิจรีเทล”

คำตอบที่ได้คือ รีเทลจะต้องเป็นการตอบโจทย์ Lifestyle Experience ให้กับลูกค้า ต้องสร้างประสบการณ์ให้คนอยากมาสัมผัส โดยเธอแบ่งออกเป็น 3 ด้านที่จะชวนคนมาได้ ได้แก่

1.Attractions มีจุดดึงดูดในเชิงการท่องเที่ยว เป็นจุดหมายให้มาเช็กอิน มีกิจกรรมให้ทำ

2.Food มีร้านอาหารที่น่าสนใจ เป็นจุดร่วมให้คนมาพบปะสังสรรค์

3.Lifestyle Market มีตลาดขายสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนแต่ละกลุ่ม เช่น ศิลปะ แคมป์ปิ้ง กีฬา สัตว์เลี้ยง

เห็นได้ว่า “ลานนาทีค” มีบางอย่างที่พร้อมอยู่แล้ว คือการเป็นตลาดขายสินค้าเฉพาะ เป็น Lifestyle Market ที่จับกลุ่มคนที่สนใจงานศิลปะ สะท้อนวัฒนธรรมล้านนา

โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ “ลานนาทีค” เป็นที่พักที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่บริเวณ

สิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มจึงเป็นเรื่อง Attractions จุดดึงดูดให้ต้องมาเยือนที่นี่ ซึ่งวัลลภาแย้มว่าปัจจุบัน AWC มีการเจรจาอยู่กับผู้จัดแหล่งท่องเที่ยวในระดับโลก 5 ราย เป็นการพูดคุยที่ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 4 แห่งของบริษัท

หากยังนึกภาพไม่ออกว่า Attractions คืออะไร ล่าสุด เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เริ่มนำร่องให้เห็นก่อนแล้วด้วยการดึง ‘Disney 100 Village’ เข้ามาในพื้นที่ สามารถดึงกลุ่มลูกค้าครอบครัวเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับลานนาทีคอาจจะต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะคอนเซ็ปต์ของพื้นที่จะต้องคงความเป็น “ล้านนา” ของเชียงใหม่ไว้ให้ได้

วัลลภากล่าวว่า โปรเจ็กต์ลานนาทีคน่าจะได้เห็นภาพการพัฒนาเฟสแรก ภายในปลายปี 2566 นี้ และมีอีกหลายเฟสที่จะทยอยพัฒนาต่อเนื่องกันไป

 

ปลุกการท่องเที่ยว “เชียงใหม่” ให้ฟื้นคืน

นอกจากบริเวณที่ถูกนับรวมเป็นลานนาทีคแล้ว ยังมีที่ดินอีก 5 แปลงที่กำลังรีโนเวตหรือมีแผนการพัฒนา ซึ่งจะทำให้อาณาจักรของบริษัทบริเวณช้างคลาน-ศรีดอนไชยคึกคักขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” ที่กำลังรีโนเวตใหม่ให้เป็นศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์แทนที่ศูนย์ไอที หรือ “โรงแรมอินเตอร์คอนทิเนนทัล เชียงใหม่ แม่ปิง” ที่กำลังรีโนเวตมาจากโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิงเดิม หรือ “สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์” ก็อยู่ในแผนรีโนเวตให้เพิ่มพื้นที่รีเทลเข้าไป

เชียงใหม่
โรงแรมอินเตอร์คอนทิเนนทัล เชียงใหม่ แม่ปิง (ปัจจุบันอยู่ระหว่างรีโนเวต)

ในภาพร่างพื้นที่ยังมีการเอ่ยถึงโรงแรมใหม่ชื่อ “Siem Pakdee” ที่จะเป็นดีไซน์โฮเทล ทำเลติดกับสุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ และมีพื้นที่ชื่อ “Baan K Sirin” อยู่บริเวณตรงข้ามแม่น้ำปิง เยื้องกับบ้านโบราณเชียงใหม่ ซึ่งจะมาในคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับเวลเนสด้วย

“วันนี้ผู้เช่ามีความไม่แน่ใจกับตลาดเชียงใหม่อยู่จริง ไม่แน่ใจกำลังซื้อเพราะอัตราการเข้าพักโรงแรมในเชียงใหม่ยังต่ำกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่น เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต แล้วยังมีฝุ่น PM 2.5 เข้ามาอีก” วัลลภากล่าว

“แต่เรามีความพยายามที่จะเล่าเรื่องเสน่ห์ของเชียงใหม่ว่า นี่คือเมืองท่องเที่ยวคู่ขนานกับกรุงเทพฯ เชียงใหม่ยังคงเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น สแกนดิเนเวียน เพียงแต่เราต้องมีพื้นที่ท่องเที่ยวที่จะเป็น ‘showcase’ สร้างคุณค่าให้กับเมือง”

]]>
1427124
ฉีกภาพ ศูนย์ไอที! “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” รีโนเวตเป็น “ไลฟ์สไตล์ ฮับ” รวมกวดวิชา-ร้านอาหารแทน https://positioningmag.com/1426996 Mon, 10 Apr 2023 08:32:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1426996 กางแผน “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” รีโนเวตพลิกโฉมเป็น THE PANTIP LIFESTYLE HUB ฉีกภาพศูนย์ไอทีดั้งเดิม กลายเป็นแหล่งรวมกิจกรรมเยาวชน เช่น กวดวิชา กิจกรรมเสริมประสบการณ์ สนามเด็กเล่น และแหล่งร้านอาหารท้องถิ่น หวังดึงกลุ่มเด็กและครอบครัวเข้าห้าง

ศูนย์การค้า “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” ก่อตั้งมานาน 18 ปี ด้วยจุดแข็งเดียวกับ พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ในสมัยนั้น คือ เป็นแหล่งรวมสินค้าไอที ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์-มือถือ แต่ด้วยยุคสมัยเปลี่ยน การใช้อุปกรณ์ยุคนี้ลดการสั่งประกอบ มีการซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้น การซ่อมน้อยลง ทำให้ศูนย์ฯ เริ่มไม่ตอบโจทย์ลูกค้าอีกต่อไป

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เจ้าของศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ ระบุตรงไปตรงมาว่าปัจจุบันค่าเช่าของศูนย์ฯ แห่งนี้ไม่เป็นไปตามภาวะตลาด โดยปกติรีเทลในเชียงใหม่จะคิดค่าเช่ากันที่ 600-800 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน ทำให้ถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน

โครงการพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่จึงเตรียมพลิกโฉมเป็น “THE PANTIP LIFESTYLE HUB” ที่จะเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้าใหม่หมดภายใต้แนวคิด “Every Happiness for Everyone” มูลค่าโปรเจ็กต์ 800 ล้านบาท

แนวคิดการปรับศูนย์ฯ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ

  • 30% เป็นแหล่งรวมกิจกรรมของเยาวชนและคนในครอบครัว เช่น ศูนย์การเรียนรู้ กวดวิชา โรงเรียนดนตรี สนามเด็กเล่นในร่ม กิจกรรมเสริมประสบการณ์เด็ก ฟิตเนส ศูนย์สุขภาพและความงาม เป็นต้น
  • 35% เป็น Food Lounge รวมร้านอาหารชั้นนำในจังหวัด ทั้งอาหารไทยและอาหารนาชาชาติ ในราคาจับต้องได้ง่าย จัดพื้นที่ในแบบ co-dining space ให้ทุกคนสามารถมานั่งทานอาหารพร้อมสังสรรค์กับครอบครัว/เพื่อนๆ ได้
  • 35% เป็นพื้นที่ Lifestyle Market โซนตลาดขายสินค้าที่สะท้อนความเป็นเชียงใหม่ เช่น งานศิลปะ สินค้าทำมือ ของตกแต่งบ้าน อาหารปลอดสารพิษ ฯลฯ และโซนไอทีเดิมจะมารวมอยู่ในพื้นที่นี้

หากเป็นแผนผังพื้นที่ภายใน THE PANTIP LIFESTYLE HUB ทั้ง 4 ชั้น จะแบ่งดังนี้

ชั้น 1 LANNA GAD โซนค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตบิ๊กซี และร้านอาหาร
ชั้น 2 LANNA ARTISAN โซนตลาดไลฟ์สไตล์ ไอที และร้านอาหาร
ชั้น 3 LANNA AESTHETIC โซนสินค้าแฟชั่น ศูนย์สุขภาพและความงาม แม่และเด็ก
ชั้น 4 LANNA AMUSEMENT โซนศูนย์การเรียนรู้ สนามเด็กเล่นในร่ม พื้นที่สร้างสรรค์

แน่นอนว่าภาพลักษณ์ของศูนย์ฯ จะต้องเปลี่ยนใหม่ จากเดิมที่เป็นศูนย์ไอทีจะไม่ได้ตกแต่งมากนัก แต่คอนเซ็ปต์ใหม่จะมากับสไตล์ตกแต่ง “ล้านนา โมเดิร์น” เพื่อให้เป็นศูนย์ฯ ที่ลูกค้ามาแฮงเอาต์ รับประสบการณ์ ทำกิจกรรม

“แต่ก่อนที่เป็นศูนย์ไอที เราจะตกแต่งมากไม่ได้ เพราะกลุ่มเป้าหมายจะมองว่าของในห้างฯ แบบนี้ ‘แพง’ แต่เมื่อเป็นไลฟ์สไตล์ ฮับ ก็จะต้องตกแต่งให้น่ามานั่ง มาทำกิจกรรมกัน” วัลลภากล่าว

พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่
พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ (ภาพจาก Google Maps เดือน พ.ค. 2564)

แผนการรีโนเวตพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2565 แล้ว โดยไม่มีการปิดศูนย์ฯ AWC จะทยอยปรับปรุงไปพร้อมกับการหาผู้เช่าใหม่เข้ามาในพื้นที่ และคาดว่าจะเริ่มเห็นความสมบูรณ์ช่วงปลายไตรมาส 3 ปีนี้

“ขณะนี้ยังระบุชื่อผู้เช่าไม่ได้ แต่มีเจรจาอยู่ราว 60 ราย ในส่วน Food Lounge ที่จะเป็นแหล่งรวมร้านอาหาร เรามีการทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเจ้าหนึ่งด้วย เพื่อช่วยเราคัดเลือกร้านอาหารดังๆ ในเชียงใหม่เข้ามา” วัลลภากล่าวเสริม

ท่ามกลางศูนย์การค้าที่มีอยู่หลายแห่งในเชียงใหม่ วัลลภาเชื่อว่าจุดแข็งของ THE PANTIP LIFESTYLE HUB คือ “ทำเล” ที่อยู่กลางเมืองเชียงใหม่มากที่สุด ไม่ต้องวิ่งรถออกไปรอบนอก หลังเลิกเรียนนักเรียน-นักศึกษาเดินทางมาง่ายกว่าศูนย์การค้าที่อยู่รอบนอก รวมถึงอยู่กลางแหล่งท่องเที่ยว ทำให้จะได้ลูกค้าชาวต่างชาติด้วย

THE PANTIP LIFESTYLE HUB ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในอาณาจักร AWC เชียงใหม่ ในบริเวณถนนช้างคลาน บริษัทนี้มีโครงการในพื้นที่รวม 12 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรม 4 แห่ง คือ มีเลีย เชียงใหม่, ดุสิต ดีทู เชียงใหม่, อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง (รีโนเวตจากอิมพีเรียล แม่ปิง) และ เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ (เตรียมรีโนเวตเป็น แมริออท) และมีพื้นที่รีเทลอีก 8 แห่ง เช่น ตลาดไนท์บาซาร์ ตลาดอนุสาร ซึ่งปีนี้บริษัทกำลังจะสร้างคอนเซ็ปต์ใหม่เพื่อปลุกย่านนี้ในชื่อ “ล้านนาทีค” คาดเปิดเฟสแรกได้ช่วงปลายปี 2566

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

]]>
1426996
“เอเชียทีค” ลงทุน 800 ล้านรีโนเวตพื้นที่ให้เที่ยวได้ “ทั้งวัน” จับมือ Disney สร้างกิจกรรมดึง “คนไทย” https://positioningmag.com/1419413 Wed, 15 Feb 2023 11:50:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1419413
  • “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” ครบรอบ 10 ปี ขึ้นทศวรรษใหม่ด้วยแผนลงทุน 800 ล้านบาท ปรับปรุงครั้งใหญ่สร้างเดสติเนชันที่เที่ยวได้ “ทั้งวัน” เป้าหมายหลังโควิด-19 ดึงทั้งต่างชาติและ “คนไทย”
  • ไฮไลต์กิจกรรมแม่เหล็กใหม่ “Disney 100 Village” จัดโซนถ่ายภาพและรับประสบการณ์จากคาแรกเตอร์ที่ทุกคนชื่นชอบ
  • แผนระยะยาวในทศวรรษนี้ เตรียมงบลงทุนเฟส 2 ต่อขยาย 10 ไร่ ขึ้นโครงการมิกซ์ยูสอาคารสูง 100 ชั้น
  • หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” จะปรับเป้าหมายใหม่ จัดสมดุลทราฟฟิกมาจากทั้งชาวต่างชาติและ “คนไทย” จากในอดีตที่นี่เคยเป็นเดสติเนชันของต่างชาติเป็นหลัก 90% โดยเฉพาะชาวจีนที่นิยมมาก

    เมื่อจะปรับใหม่สู่ทศวรรษใหม่ของเอเชียทีค “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดแผนการลงทุน 800 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้ตรงกับเป้าหมายทั้งคนไทยและต่างชาติมากขึ้น

    “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC

    โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะลงทุนกับการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้เอเชียทีคเป็นจุดหมายที่มาได้แบบ “ALL DAY, EVERYDAY” จะมีการสร้างหลังคาบังแดดบังฝน ปรับเลย์เอาท์การวางแนวร้านค้าให้ทางเดินรับลมจากแม่น้ำ เสริมต้นไม้-ดอกไม้ในพื้นที่ ให้ลุคใหม่ที่สดชื่นขึ้น เพื่อให้สามารถมาเที่ยวชมในช่วงกลางวันได้ด้วย และเอเชียทีคจะปรับเวลาเปิดปิดใหม่เป็น 10:00-24:00 น. จากปกติร้านค้าจะเริ่มเปิดราว 16:00 น.

     

    ดึงคนด้วยกิจกรรม อาหาร และตลาดนัดไลฟ์สไตล์

    หลังปรับพื้นที่ให้พร้อมแล้ว เอเชียทีคจะมีองค์ประกอบใหม่เพิ่มเข้ามา แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

    1.กิจกรรม-จุดท่องเที่ยวใหม่

    แต่เดิมเอเชียทีคมีจุดท่องเที่ยวอยู่แล้วคือ ชิงช้าสวรรค์เอเชียทีค สกาย, ม้าหมุน, บ้านผีสิง และโรงจัดการแสดงคาลิปโซ่ แต่หลังจากนี้จะเติมกิจกรรมใหม่เข้ามาอีกโดยเน้นระดับ Global Partner เริ่มต้นจากเดือนมีนาคมนี้จะเปิด “Disney 100 Village” เป็น pop-up attraction นำตัวละครและประสบการณ์จาก Disney เข้ามาจัดกิจกรรม

    รวมถึงกิจกรรม Trashpresso จากมิลาน อิตาลี ซึ่งเป็นเครื่องผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่จากขยะพลาสติกอัตโนมัติ เช่น จานรองแก้ว พวงกุญแจ

    2.ร้านอาหารและเครื่องดื่ม

    จะเพิ่มโซน “อาหารท้องถิ่น” ลักษณะเป็น Co-Dining มีบูธร้านอาหารท้องถิ่นไทยชื่อดังมาออกร้าน และมีที่นั่งรวมส่วนกลาง แตกต่างจากที่ผ่านมาเอเชียทีคจะมีร้านอาหารแยกเป็นร้านๆ และเป็นร้านขนาดใหญ่

    3.ไลฟ์สไตล์มาร์เก็ต

    เปิดพื้นที่ใหม่บริเวณเอเชียทีค สกาย จัดเป็น “ตลาดนัดตกแต่งพิเศษ” หมุนเวียนอิงตามเทศกาล เช่น สงกรานต์ หรืออิงตามธีมความนิยม เช่น Pet Market, ของแต่งบ้าน, งานศิลปะ ของทำมือ เป็นต้น ร้านค้าในงานจะเปิดรับผู้เช่ารายย่อยที่ตรงกับธีมเข้ามาเปิดจำหน่าย

    นอกจากนี้ เอเชียทีคยังมีผู้เช่ารายใหญ่รายใหม่คือ บิ๊กซี (Big C) จะเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตพื้นที่ 2,000 ตร.ม. ซึ่งจะมีโซนของฝาก ของที่ระลึก ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติด้วย

     

    Disney แม่เหล็กดึงกลุ่มครอบครัว

    แม่เหล็กสำคัญที่จะสร้างความฮือฮาคือ Disney 100 Village ซึ่งจะเปิดบริการช่วงวันที่ 24 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2566 ลักษณะไม่ใช่ธีมปาร์คสวนสนุกขนาดใหญ่ แต่จะเป็นการจัดพื้นที่ถ่ายภาพร่วมกับคาแรกเตอร์ และกิจกรรมพิเศษแบบ pop-up event เน้นการมารับประสบการณ์จากการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ

    รูปโปรโมตเบื้องต้นของงาน Disney 100 Village

    เท่าที่เปิดเผยได้ขณะนี้ Disney 100 Village จะมี 6 โซน ได้แก่

    1.Frozen Zone (*) บริเวณ Warehouse 4 หน้าหอนาฬิกา คล้ายกับที่เคยมีการจัดอีเวนต์ในไต้หวัน

    2.Marvel Zone (*) บริเวณเกือบถึงพื้นที่ริมน้ำ เป็นการสร้างประสบการณ์จากภาพยนตร์ Marvel แตกต่างจากที่เคยจัดในไทยที่จะอิงจากหนังสือการ์ตูน

    3.Princess Garden Zone (*) ธีมเจ้าหญิงดิสนีย์ Enchanted Ever After

    4.Disney 100 Zone บริเวณ Main Corridor รวมคาแรกเตอร์และฉากจากเรื่องต่างๆ เช่น Toy Story, Lion King

    5.Star Wars Zone บริเวณ Warehouse 10 โดยจะมีกิจกรรมประสบการณ์ใหม่

    6.Pixar Putt Zone ตีมินิกอล์ฟ 18 หลุมริมแม่น้ำเจ้าพระยา

    สำหรับโซนที่มี (*) คือโซนที่จะต้องซื้อตั๋วเข้าชมและจะเริ่มเปิดจำหน่ายบัตรวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนโซนอื่นๆ นั้นสามารถเข้าชมได้ฟรี

    กิจกรรมจาก Disney ถือเป็นโซนที่จะช่วยดึงกลุ่มครอบครัวได้เป็นอย่างดี และจะเป็นบริเวณที่มาได้ทั้งกลางวันกลางคืน ตอบโจทย์การปรับเวลาของเอเชียทีคให้มาเที่ยวได้ทั้งวัน

    เอเชียทีค

    เป้าหมายการปรับครั้งนี้ วัลลภาเชื่อว่าจะทำให้เอเชียทีคมีทราฟฟิกเพิ่มขึ้นในอนาคต ในวันธรรมดาเพิ่มเป็น 50,000 คนต่อวัน และวันเสาร์-อาทิตย์เพิ่มเป็น 80,000 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ประมาณ 60%

    รวมถึงเป็นการปรับสัดส่วนลูกค้า จากเดิมมีต่างชาติถึง 90% เป้าหมายใหม่จะทำให้มีลูกค้าไทย 50% และลูกค้าต่างชาติ 50% โดยในครึ่งปีแรกยังมองลูกค้ากลุ่มเกาหลีใต้, สิงคโปร์, ฮ่องกง รวมถึงประเทศกลุ่มเอเชียอื่นๆ ก่อน เนื่องจากทัวร์จีนแผ่นดินใหญ่คาดว่าจะเริ่มคึกคักในช่วงครึ่งปีหลัง

     

    ทศวรรษนี้มาแน่ “อาคารสูง 100 ชั้น” แลนด์มาร์กใหม่

    วัลลภากล่าวต่อถึงแผนงานในทศวรรษที่สองของเอเชียทีค จะมีการขยายพื้นที่ที่ยังเหลืออยู่ จากเฟส 1 ที่ใช้พื้นที่ไปแล้วกว่า 40 ไร่ เฟส 2 จะมีการขยายพื้นที่อีก 10 ไร่ซึ่งเป็นที่ดินติดกันกับที่ดินเดิม

    เฟส 2 นี้เบื้องต้นมีการอนุมัติงบลงทุนแล้ว 2,000 ล้านบาทเพื่อขยายพื้นที่ตามคอนเซปต์ “Retailtainment” พื้นที่ค้าปลีกผสานความบันเทิง

    รวมถึงโครงการอาคาร “มิกซ์ยูส” สูง 100 ชั้น AWC ยังคงเดินหน้าการออกแบบ แต่มีการปรับเปลี่ยนแบบใหม่หลังผ่านโควิด-19 เปลี่ยนให้มีองค์ประกอบการเป็นอาคารพลังงานสะอาดโดยใช้พลังงานลม ยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรบริษัทออกแบบระดับโลก Adrian Smith + Gordon Gill Architecture ซึ่งเป็นผู้ออกแบบตึกเบิร์จ คาลิฟะ ในดูไบ

    อาคารหลังนี้ส่วนประกอบใหญ่ภายในจะเป็น “โรงแรม” โดยมีพันธมิตรเชนโรงแรมเข้ามาบริหาร 3 แบรนด์ คือ The Ritz Carlton Reserve, Autograph Collection และ JW Marriott

    วัลลภากล่าวว่าโครงการอาคาร 100 ชั้นยังไม่สรุปงบลงทุน แต่ต้องการจะให้ก่อสร้างเสร็จภายในปี 2576 หรือครบรอบ 20 ปีเอเชียทีค

    AWC ยังมีที่ดินส่วนขยายของเอเชียทีคได้อีกคือ ที่ดินขนาด 28 ไร่ บริเวณตรงข้ามถนนเจริญกรุง ปัจจุบันเป็นที่จอดรถ วางแผนว่าในอนาคตจะเป็นศูนย์รวมเวลเนส และอีกแปลงหนึ่งคือแปลงฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ บนถนนเจริญนคร พื้นที่ 29 ไร่ ที่ยังรอการออกแบบพัฒนา

    ]]>
    1419413
    ททท. วางเป้า 2565 “ต่างชาติ” เข้าไทย 7 ล้านคน โรงแรมเครือ AWC คาดอัตราเข้าพักแตะ 50% https://positioningmag.com/1381190 Sun, 10 Apr 2022 11:51:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381190 อัปเดตสถานการณ์ “ท่องเที่ยว” ประเทศไทย อนาคตดูจะสดใสขึ้นแม้ยังห่างไกลกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 โดย ททท. วางเป้าปี 2565 ดึงนักท่องเที่ยว “ต่างชาติ” เข้าไทย 7 ล้านคน ธุรกิจท่องเที่ยวยังต้องพึ่งชาวไทยเป็นหลัก ด้านเครือโรงแรม AWC คาดอัตราเข้าพักปีนี้จะอยู่ระหว่าง 30-50% พร้อมเปิดโรงแรมแห่งล่าสุด “มีเลีย เชียงใหม่” รับลูกค้าคนรุ่นใหม่และธุรกิจ MICE

    ปี 2565 เป็นปีแห่งความหวังของธุรกิจท่องเที่ยวไทย หลังจากเริ่มทยอยคลายล็อกเปิดประเทศมาตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยเมื่อช่วงต้นปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์แบบกว้างๆ ว่านักท่องเที่ยว “ต่างชาติ” จะเข้าไทยประมาณ 5-15 ล้านคน ก่อนที่จะเกิดปัจจัยลบเพิ่มขึ้นอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน

    “สมฤดี จิตรจง” รองผู้ว่าการด้านการบริหาร ททท. เปิดเผยว่าปี 2565 ททท.วางเป้าดึงเม็ดเงินการท่องเที่ยวทั้งหมด 1.07 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวรวม 17.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40% คือ 7 ล้านคน เห็นได้ว่าปีนี้ภาคท่องเที่ยวไทยจะยังต้องพึ่งพิงชาวไทยเที่ยวในประเทศเสียส่วนใหญ่

    ปัจจัยลบอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงคือ “สงครามรัสเซียยูเครน” เนื่องจากปกตินักท่องเที่ยวรัสเซียอยู่ในกลุ่ม Top 5 ของไทย และสงครามยังมีผลต่อราคาน้ำมันที่กระทบโดยอ้อมต่อนักท่องเที่ยวยุโรปด้วย

    รัสเซีย
    (Photo: Shutterstock)

    “กลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียนั้นตอนแรกเหมือนจะไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้เริ่มมีแล้ว เพราะมีการปิดช่องทางชำระเงินสากล และสายการบินที่บินตรงกรุงเทพฯ-มอสโกตอนนี้เหลือแค่การบินไทย” สมฤดีกล่าว “อีกส่วนหนึ่งที่กระทบคือราคาน้ำมันสูง ทำให้ตั๋วเครื่องบินแพง จนนักท่องเที่ยวตลาดยุโรปจะเบนเข็มไปที่ที่ใกล้กว่า เช่น ตุรกี แต่เราก็มีตลาดอื่นทดแทน เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง มีความต้องการเข้าไทยมาก และเป็นกลุ่มที่พร้อมด้านการเงิน”

     

    รอปลดล็อกยกเลิกการตรวจ COVID-19

    อีกประเด็นที่ยังเป็นข้อติดขัดทำให้ประเทศไทยยังแข่งขันยากในตลาดโลก คือ ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโรค COVID-19 ก่อนเข้าประเทศ ในขณะที่บางประเทศปลดล็อกไปแล้ว เช่น มัลดีฟส์ , ดูไบ (UAE) โดยวันที่ 1 เมษายน 2565 ไทยเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นโดยยกเลิกการตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทาง แต่ยังต้องตรวจเมื่อเดินทางมาถึง ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ต่างชาติยังไม่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย เพราะยังต้องเสียเวลาการรอคอยผลตรวจในโรงแรมที่พัก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

    (ซ้าย) “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC (ขวา) “สมฤดี จิตรจง” รองผู้ว่าการด้านการบริหาร ททท.

    “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ยังต้องรอมาตรการที่พร้อมต้อนรับ

    “นักท่องเที่ยวต่างชาติรอเข้ามาอีกเยอะ เพียงแต่ว่านักท่องเที่ยวก็ต้องการประสบการณ์โดยรวมที่ดีที่สุดจากประเทศที่เขาเลือกไป เวลาทุกนาทีที่เข้ามาท่องเที่ยว เขาต้องการให้เป็นเวลาที่มีคุณค่า ถ้าหากเราพร้อมเมื่อไหร่จะมีดีมานด์ขนาดใหญ่รออยู่แน่นอน” วัลลภากล่าว

    ทั้งนี้ สมฤดีระบุว่า ททท. ได้ยื่นข้อเสนอให้ ศบค. ยกเลิกทั้งระบบ Thailand Pass, Test & Go และ Sandbox ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศสามารถเข้าประเทศได้ในแบบเดียวกับช่วงก่อนปี 2563 โดยเสนอให้ยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 หาก ศบค. ตอบรับข้อเสนอนี้ก็จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัวอย่างชัดเจน

     

    AWC คาดอัตราเข้าพักขึ้นไปแตะ 50%

    ด้านการดำเนินการของเครือโรงแรม AWC ซึ่งมีพอร์ตโรงแรม 19 แห่ง รวมห้องพัก 5,201 ห้อง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ ภูเก็ต เกาะสมุย หัวหิน เชียงใหม่ มองเช่นกันว่าปีนี้จะเป็นปีที่กระเตื้องขึ้นของบริษัท

    วัลลภาฉายภาพย้อนหลังว่า ตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เครือโรงแรม AWC มีอัตราเข้าพักที่ดีขึ้น โดยขึ้นไปพีคที่เดือนธันวาคม 2564 มีอัตราเข้าพัก 38% ก่อนจะกระทบจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เดือนมกราคม 2565 ลดลงมาบ้างที่ 30% แต่จากนั้นปรับเป็นขาขึ้นมาตลอด

    โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาคีส์ ควีนส์ปาร์ค หนึ่งในพอร์ตโรงแรมของ AWC

    คาดการณ์ว่าตลอดปี 2565 อัตราเข้าพักจะอยู่ระหว่าง 30-50% แต่เชื่อว่าปี 2566 น่าจะเป็นปีที่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่าของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ อัตราเข้าพักของโรงแรมเครือ AWC เมื่อเดือนมกราคม 2563 ก่อนเกิดโรคระบาด เคยสูงถึง 78%

    ด้านการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเครือ AWC วัดจากช่วงไตรมาส 4/64 ตลาดคีย์หลักอย่าง “ภูเก็ต” มีต่างชาติเข้าพักเพิ่ม 8 เท่า โดยเพิ่มสัดส่วนจาก 8% ในปีก่อนหน้าเป็น 66% ด้านตลาด “กรุงเทพฯ” ก็ปรับเพิ่ม 1.8 เท่า เช่นเดียวกับ “เชียงใหม่” มีต่างชาติพักเพิ่ม 1.8 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าการเปิดประเทศสามารถดึงชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้

     

    “มีเลีย เชียงใหม่” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่-ธุรกิจ MICE

    วัลลภากล่าวต่อถึงโรงแรมล่าสุดในเครือ AWC ที่เปิดบริการได้แก่ “มีเลีย เชียงใหม่” เริ่มแกรนด์โอเพนนิ่งวันที่ 10 เมษายน 2565 โดยเป็นการรีโนเวตจากโรงแรมเดิม มีห้องพักทั้งหมด 260 ห้อง ใช้เชนโรงแรมมีเลียจากสเปนเป็นผู้บริการ เนื่องจากเชนนี้มีความเชี่ยวชาญด้าน Leisure และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใช้วัตถุดิบอาหารจากท้องถิ่นจากฟาร์มออร์แกนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหลวงหรือ Ori9in Farm

    มีเลีย เชียงใหม่ AWC
    โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่

    โรงแรมนี้เป็นโรงแรม 1 ใน 3 แห่งที่ AWC มีในเชียงใหม่ โดยมีเลีย เชียงใหม่จะเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบความเรียบง่าย แต่ยังแฝงด้วยความสนุกจากรูฟท็อปบาร์ที่สูงที่สุดของเมือง รวมถึงตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจ MICE จากห้องประชุมที่สามารถปรับเป็นแบบกึ่งกลางแจ้งได้

    มีเลีย เชียงใหม่
    พบกับรูฟท็อปบาร์ที่สูงที่สุดของเมืองเชียงใหม่ได้ที่ มีเลีย เชียงใหม่

    อีก 2 แห่งในเชียงใหม่ ได้แก่ เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จะมีการปรับเปลี่ยนแบรนด์เป็นแมริออทในช่วงปลายปีนี้ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือ อินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ซึ่งอยู่ระหว่างรีโนเวตจากโรงแรมแห่งเดิม แบรนด์นี้เป็นแบรนด์ดั้งเดิมที่สื่อถึงมาตรฐานและความละเอียดในงานบริการ จะดึงดูดทั้งกลุ่มท่องเที่ยวและลูกค้าองค์กรได้

    สมฤดีกล่าวถึงจังหวัดเชียงใหม่ว่า ปีนี้ ททท. คาดว่าเชียงใหม่จะดึงเม็ดเงินธุรกิจท่องเที่ยวได้ราว 5.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นครึ่งหนึ่งของที่ทำได้ในปี 2562

    โดยขณะนี้ ททท. กำลังมุ่งต่อยอดชื่อเสียงของเชียงใหม่ในกลุ่ม “ดิจิทัล โนแมด” ซึ่งยกให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายอันดับ 25 ของโลกที่ดิจิทัล โนแมดชื่นชอบ และมองว่าจะเลือกดึงดิจิทัล โนแมดจากสหรัฐฯ เข้ามาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ การเจาะกลุ่มโนแมดยังทำให้ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์เพิ่มขึ้นด้วย

    ]]>
    1381190
    AWC ขานรับนโยบายเปิดประเทศ เปิดโรงแรมใหม่ “คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์” ใจกลางเมืองภูเก็ต https://positioningmag.com/1362428 Wed, 17 Nov 2021 04:38:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362428 “แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” จับมือ ททท. ขานรับนโยบายเปิดประเทศ สนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมต้อนรับนักเดินทางสู่กลุ่มโรงแรมในเครือทั้ง 18 แห่งทั่วไทย อวดโฉมใหม่ “โรงแรม คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์” 248 ห้อง กลางเมืองภูเก็ต

    บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เดินหน้ารับนโยบายการเปิดประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ประกาศความพร้อมต้อนรับนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกสู่กลุ่มโรงแรมในเครือทั่วประเทศทั้ง 18 แห่ง มั่นใจภาคการท่องเที่ยวปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้ากลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมเผยโฉมโรงแรม คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ อีกหนึ่งโรงแรมคุณภาพจากเครือ AWC ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองภูเก็ต ได้ฤกษ์เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

    ตามที่ประเทศไทยได้มีนโยบายเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัวนั้น ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงภาพรวมและผลตอบรับหลังเปิดประเทศว่า จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นโดยลำดับ อัตราการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเฉลี่ย 2,000-3,000 คน/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าในเดือน พ.ย.นี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 300,000 คน และในเดือน ธ.ค. ไม่ต่ำกว่า 300,000 คนเช่นกัน

    โดยที่นักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาเข้ามามีจำนวนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีน ผ่านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมและมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด ควบคู่กับการส่งเสริมแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว “Visit Thailand Year 2022” ด้วยแนวคิด “Amazing New Chapters” ของ ททท. ทั้ง 29 สำนักงานทั่วโลก ทั้งคาดว่าปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะสามารถรับนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน

    “ททท. มั่นใจว่า ภายในปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะสร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ไม่น้อยกว่า 625,700 ล้านบาท และจะบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวในปี 2565 จำนวนไม่น้อยกว่า 1,938,034 ล้านบาท ด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ 160 ล้านคน-ครั้ง และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ 18 ล้านคน”

    ทางด้าน วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ทางบริษัทฯ ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่ตั้งอยู่ในหัวเมืองสำคัญอย่างกรุงเทพฯ หรือภูเก็ต ที่เปรียบเสมือนประตูด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งมีตัวเลขของอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นทันทีกว่า 2 เท่า รวมถึงแพกเกจ “TEST & GO” สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ด้วยบริการที่พักพร้อมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ที่ต่างได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

    ทั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณบวกของภาคการท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 และในช่วงต้นปีหน้าที่เริ่มมีกำลังซื้อจากกลุ่มนักเดินทางชาวต่างชาติกลับเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูงที่เริ่มเดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มแรกๆ รวมถึงงานในรูปแบบที่การประชุมออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ เช่น งานแต่งงาน งานสัมมนารวมทีมสร้างพลังองค์กรและธุรกิจ ได้เห็นยอดคอนเฟิร์มการจัดงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะมีอัตราเติบโตกลับมาได้ต่อเนื่องการสามารถกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นไป

    “ด้วยกลยุทธ์ของ AWC ที่มีความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก ทำให้บริษัทฯ สามารถดึงฐานลูกค้าเดิมที่มีกำลังซื้อสูงกลับเข้ามาได้ทันทีตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของเราในการร่วมกับพันธมิตรให้การสร้างคุณค่าและประสบการณ์รวมทั้งจัดรูปแบบบริการแบบองค์รวมในการดูแลการเดินเข้ามาในประเทศ เพื่อสร้างความประทับใจให้การท่องเที่ยวไทยของเรากลับมาดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกอีกครั้ง”

    นอกจากนี้ AWC ยังเดินหน้าเสริมพอร์ตโฟลิโอ ธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ได้ฤกษ์เปิดให้บริการโรงแรม คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ โรงแรมขนาด 248 ห้องพัก ที่บริหารโดยแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล เครือโรงแรมระดับโลกที่มีแบรนด์อันโดดเด่นภายใต้การบริหารกว่า 30 แบรนด์ชั้นนำ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นโรงแรมแห่งแรกภายใต้แบรนด์ “คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท” บนเกาะภูเก็ต

    โรงแรม คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ เป็นการปรับปรุงโรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ใจกลางเมืองที่ชาวภูเก็ตภาคภูมิใจ ตั้งอยู่บนถนนถลางใจกลางพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าภูเก็ต สะท้อนให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมของเกาะแห่งนี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถออกไปสัมผัสกับตลาดท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ วัดวาอาราม รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร และสถานบันเทิงชั้นนำ ภายในโรงแรมประกอบไปด้วยห้องพัก จำนวน 248 ห้องพัก และห้องสวีทที่สามารถเลือกได้ทั้งเตียงเดี่ยว เตียงคู่ และห้องสำหรับครอบครัว รวมถึงห้องฟิตเนส คลับสำหรับเด็ก สระว่ายน้ำกลางแจ้ง ห้องอาหารที่เปิดให้บริการตลอดทั้งวัน และล็อบบี้เลานจ์ นอกจากนี้ ทางโรงแรมยังสามารถรองรับการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ด้วยห้องประชุมขนาดใหญ่ รวมถึงห้องประชุมอเนกประสงค์อีกจำนวน 5 ห้อง

    ]]>
    1362428
    “แอสเสท เวิรด์” เดินหน้า 3 โครงการ “แลนด์มาร์ก” เอเชียทีค-อควอทิค-เวิ้งนครเขษม https://positioningmag.com/1355979 Mon, 11 Oct 2021 06:15:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1355979 “แอสเสท เวิรด์” ครบรอบ 2 ปีเปิด IPO ประกาศเดินหน้าลงทุนโครงการระดับ “แลนด์มาร์ก” 3 แห่ง ได้แก่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, อควอทิค ดิสทริค พัทยา และ เวิ้งนครเขษม ด้านธุรกิจโรงแรมฟื้นตัว คาดอัตราเข้าพักแตะ 30% ช่วงไตรมาสสุดท้าย ปีนี้ต่างชาติยังกลับเข้ามาช้า ชี้เทรนด์ “Workation” บูมจัด ลูกค้าอยู่ยาว 1 เดือน

    “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC ประกาศเดินหน้าการลงทุนใน 3 โครงการด้านการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็น “แลนด์มาร์ก” สำคัญของบริษัทในรอบ 5 ปีข้างหน้า ได้แก่

    1. เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ (เฟสใหม่) (ยังไม่ระบุเงินลงทุน)
    2. อควอทิค ดิสทริค พัทยา (ยังไม่ระบุเงินลงทุน) (*ข้อมูลเดิมคาดว่าจะลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท)
    3. เวิ้งนครเขษม มูลค่าการลงทุน 16,000 ล้านบาท

     

    “เอเชียทีค” ดึงผู้ออกแบบ Burj Khalifa ร่วมงาน

    รายละเอียดของแต่ละโครงการ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” วางคอนเซ็ปต์ต้องการให้เป็นแลนด์มาร์กระดับ “ไอคอนิค” ของเมืองไทย จะมีโซนค้าปลีกใหม่ สำนักงาน โรงแรม และเรสซิเดนซ์ ซึ่งเซ็นสัญญาแล้วกับแบรนด์เชนโรงแรมชั้นนำ คือ ริทซ์ คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ, เจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ และริทซ์ คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนเด็ด เรสซิเดนซ์

    ภาพเบื้องต้นของโครงการเอเชียทีค เฟสใหม่ ด้านล่างเป็นภาพร่างของอาคารไอคอนิกแห่งใหม่ในโครงการ

    นอกจากนี้ บริษัทได้ร่วมงานกับ “เอเดรียน สมิธ” ผู้ออกแบบตึก Burj Khalifa ดูไบ เพื่อสร้างอาคารไอคอนิกให้กับเอเชียทีค ปักหมุดเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีในการออกแบบ ส่วนแรกของโครงการคือโซนค้าปลีกจะเปิดตัวก่อนในปี 2567 และทั้งโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ราวปี 2573

     

    “อควอทิค” ดึงสวนสนุกเลโก้แลนด์เป็นแม่เหล็ก

    ภาพเบื้องต้นของส่วนต่างๆ ในโครงการอควอทิค ดิสทริค พัทยา

    ถัดมาที่โครงการ “อควอทิค ดิสทริค พัทยา” จะเป็นมิกซ์ยูสใหม่ในพัทยา ติดหน้าหาด บริเวณพัทยากลาง แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ส่วน คือ

    • ส่วนที่ 1 ธุรกิจเวลเนสและการประชุมสัมมนา (MICE) ดึงแบรนด์ร่วมงาน ได้แก่ แมริออท มาร์คีส์, เจดับบลิว แมริออท, เจดับบลิว แมริออท แบรนเด็ด เรสซิเดนซ์, ชีวาศรม และบำรุงราษฎร์
    • ส่วนที่ 2 โรงแรม “เดอะ วีนแยทท์ คอลเล็กชั่น” เน้นการพักผ่อนในโรงแรมที่มีเอกลักษณ์ (ส่วนนี้จะเริ่มเปิดปี 2567)
    • ส่วนที่ 3 โรงแรม “คิมป์ตัน” และ ที่พักอาศัย “คิมป์ตัน แบรนเด็ด เรสซิเดนซ์” เน้นพื้นที่สีเขียว ร้านอาหาร บาร์ และคอมมูนิตี้ มอลล์แบบ open-air ที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง
    • ส่วนที่ 4 ธุรกิจด้านการกีฬา ผจญภัย สวนสนุก จะมีสวนสนุกแบบในร่ม “อควอเรีย” และ “เลโก้แลนด์” พร้อมด้วยโรงแรม “แมริออท ออโต้กราฟ คอลเล็กชัน”

     

    “เวิ้งนครเขษม” ตั้งเป้าแลนด์มาร์กใหม่เยาวราช

    โครงการนี้น่าจะเป็นโครงการที่ชาวไทยจับตามองอย่างมาก เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเก่าและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ โดย AWC เปิดแผนมาแล้วเบื้องต้นว่าจะเป็นมิกซ์ยูสที่มีทั้งโรงแรม ที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร และมีเจดีย์ทองคำ 8 ชั้นเป็นแลนด์มาร์กของที่นี่

    ภาพเบื้องต้นการพัฒนาโครงการบริเวณเวิ้งนาครเขษม (Photo : IHG)

    “เราจะทำให้เวิ้งนครเขษมกลับมาเป็นแลนด์มาร์กความรุ่งเรืองของเยาวราช และเราจะเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามา มีการจัดเทศกาลต่างๆ ได้ เป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับพื้นที่โดยรอบ แน่นอนว่าจะมีที่จอดรถขนาดใหญ่ด้วย เพราะต้องตอบโจทย์คนที่มาเที่ยวเยาวราช” วัลลภากล่าว

    โครงการจะเริ่มเปิดตัวปี 2566 ขณะนี้มีเชนโรงแรมที่เซ็นสัญญากันแล้วคือ อินเตอร์คอนติเนนตัล และอีกแห่งหนึ่งจะเป็นแบรนด์บูติกโฮเทลในเครือ IHG

    ภาพจำลองอีกมุมหนึ่งของเวิ้งนครเขษม (Photo : AWC)

    ไม่เฉพาะการสร้างแลนด์มาร์กใหม่ แอสเสท เวิรด์ จะมีการรีโนเวตใหญ่และปรับตำแหน่งทางการตลาดของธุรกิจรีเทลเดิมหลายแห่ง ทั้งแบรนด์เกตเวย์ ตะวันนา ลาซาลล์อเวนิว เอเชียทีค จะมีการปรับปรุงให้ศูนย์การค้าเหมาะกับการมาใช้ชีวิต เป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ มากกว่ามาช้อปปิ้งเท่านั้น สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค

     

    โรงแรมฟื้นไวขึ้น คาด Q4 แตะ 30%

    สำหรับสถานการณ์ระยะสั้นและระยะกลางของธุรกิจโรงแรมซึ่งถือเป็น 50% ของพอร์ต AWC และเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก COVID-19 วัลลภาเปรียบเทียบสถานการณ์ก่อนว่า หลังคลายล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา อัตราเข้าพักโรงแรมกลับมาแทบจะในทันที เมื่อเทียบกับหลังคลายล็อกดาวน์ระลอกแรกเมื่อปีก่อนซึ่งลูกค้าจะกลับมาอย่างช้าๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกว่าที่นักท่องเที่ยวไทยจะเป็นปกติ

    ทำให้เดือนกันยายน โรงแรมในเครือ AWC มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 16% เดือนตุลาคมนี้คาดว่าจะขึ้นมาเป็น 20% และตลอดไตรมาส 4 นี้เชื่อว่าจะได้อัตราเข้าพักอย่างน้อย 30%

    “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC

    อัตราดังกล่าวมองในกรณีคนไทยท่องเที่ยวกันเป็นปกติ มีกิจกรรมทีมบิลดิ้งของบริษัทองค์กรต่างๆ และมีกลุ่ม Workation เข้าพักเป็นระยะเวลานาน ส่วนตลาด MICE น่าจะยังไม่กลับมาในปีนี้เพราะการจัดประชุมสัมมนาต้องใช้เวลาวางแผนงาน

    เหตุที่ยังไม่มองกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นสัดส่วนใหญ่ แม้ว่าไทยมีแผนเปิดประเทศหลายจังหวัดวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

    วัลลภามองสถานการณ์นี้ว่า ลูกค้าต่างชาติจะพิจารณาความสะดวกในการกักตัวก่อน ยกตัวอย่างภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ถึงจะไม่ต้องกักตัวอยู่แต่ในห้อง แต่ไม่สามารถออกนอกจังหวัดได้ ทำให้มากกว่า 50% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าโครงการจะเป็นกลุ่มมีความจำเป็น เช่น เยี่ยมญาติ เยี่ยมสามีภรรยา ดังนั้น ถ้าหากยังต้องมีการกักตัวใดๆ ลูกค้าต่างชาติน่าจะกลับมาช้า

     

    “Workation” เทรนด์นี้น่าจะอยู่ยาว

    กระแสการพักโรงแรมอย่างหนึ่งที่แอสเสท เวิรด์สนใจและจะมีการปรับตัวตามคือ “Workation” วัลลภากล่าวว่า เทรนด์นี้เป็นกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้ยอดเข้าพักประมาณ 20% ของบริษัทมาจากลูกค้า Workation จากเมื่อก่อนอาจจะมีแค่ 2-3% เท่านั้น และลูกค้าอยู่ยาวขึ้นต่อรอบ จากเดิมประมาณ 1 สัปดาห์ ปัจจุบันอยู่กันยาว 1 เดือน

    ทำให้อนาคตแอสเสท เวิรด์จะมีการปรับโรงแรมให้มีบางยูนิตที่รองรับกลุ่ม Workation โดยเฉพาะ เช่น มีครัวในห้อง จัดพื้นที่ห้องทำงานหรือโซนทำงานขนาดใหญ่

    แผนงานของ AWC ทั้งการเดินหน้าสร้างโครงการการท่องเที่ยวใหม่ๆ การรีโนเวตกลุ่มค้าปลีก และการปรับโรงแรมให้สอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภคอนาคต สะท้อนให้เห็นความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 โดยวัลลภาเชื่อว่ารายได้ประจำไตรมาสของแอสเสท เวิรด์จะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ราวไตรมาส 3/2565

    ]]>
    1355979
    AWC ควง IHG เปิดโรงแรมหรูแบรนด์ใหม่ “Vignette” ในโครงการมิกซ์ยูส “อควอทิค” พัทยา https://positioningmag.com/1348712 Thu, 26 Aug 2021 08:29:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1348712 อสังหาฯ กลุ่มเจ้าสัวเจริญ “AWC” เซ็นสัญญาแบรนด์ใหม่ “Vignette” (วีนแยทท์) ของเครือโรงแรม IHG เปิดในโครงการมิกซ์ยูสหมื่นล้าน “อควอทิค” (Aquatique) ติดหน้าหาดพัทยา คาดเปิดบริการปี 2567

    บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ร่วมด้วย IHG Hotels & Resort แถลงข่าวร่วมกันเปิดโครงการโรงแรมแบรนด์ใหม่ “Vignette” (เดอะ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น) ในโครงการมิกซ์ยูส “อควอทิค” (Aquatique) ติดหน้าหาดพัทยา

    โดย “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC เปิดเผยว่า โครงการอควอทิค จะเป็นโครงการมิกซ์ยูสที่พลิกโฉมพื้นที่พัทยากลาง ใช้งบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท พัฒนาบนพื้นที่ทำเลเดิมที่เคยเป็นโรงแรมแกรนด์ โซเล่ พัทยา ใกล้กับโรงแรมฮาร์ดร็อค

    ภาพโดยสังเขปจาก Google Maps

    ภายในโครงการจะมีโรงแรมทั้งหมด 5 แบรนด์ โดย 2 ใน 5 แบรนด์นี้ร่วมกับเชนของ IHG ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ จะมีทั้งโซนความสนุกและความบันเทิง เน้นไลฟ์สไตล์ริมชายหาด โซนค้าปลีก เวลเนส ที่อยู่อาศัย และกีฬา

    สำหรับ โรงแรมเดอะ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น จะเป็นส่วนแรกของโครงการที่เปิดบริการก่อน โดยเป็นโรงแรมไลฟ์สไตล์ระดับลักชัวรี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2565 แล้วเสร็จปี 2567 ใช้งบลงทุนเฉพาะส่วนนี้ 1,900 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบพัฒนา จะมีจำนวนห้องพักราว 240 ห้อง

     

    เปิดแบรนด์ใหม่รับโรงแรมเล็ก

    ด้าน “เซเรน่า ลิม” รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี IHG อธิบายถึง Vignette Collection ว่าเป็นแบรนด์ใหม่ภายใต้เครือ IHG คอนเซ็ปต์คือ “ช่วงเวลารื่นรมย์บันดาลใจ” โดยเป็นโรงแรมที่เน้นความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละทำเล เหมาะกับโรงแรมขนาดเล็กที่ต้องการเก็บกลิ่นอายความเป็นตัวของตัวเองในพื้นที่ แต่จะมีทิศทางการบริหารแบบเดียวกันคือเน้นด้านความยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน

    Hotel X บริสเบน ออสเตรเลีย โรงแรมอีกแห่งหนึ่งที่จะเข้าใช้แบรนด์วีนแยทท์ (Photo : IHG)

    “เราพบว่าทั่วโลกมีโรงแรมขนาดเล็กถึง 1.5 ล้านห้อง ซึ่งสร้างมูลค่าการตลาด 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แบรนด์ใหม่อย่างวีนแยทท์จะช่วยคงเอกลักษณ์เฉพาะของโรงแรมเล็กไว้ได้ แต่เครือ IHG จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการตลาดและเครือข่ายฐานลูกค้าให้” เซเรน่ากล่าวถึงที่มาการเปิดแบรนด์ใหม่ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเผชิญความท้าทาย

    โรงแรมเดอะ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น พัทยาถือเป็นหนึ่งใน 2 แห่งแรกของโลกที่ IHG ได้เซ็นสัญญาแล้ว อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในบริสเบน ออสเตรเลีย และมีอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างเจรจา เซเรน่าตั้งเป้าว่าวีนแยทท์จะได้เซ็นสัญญาครบ 100 แห่งภายใน 10 ปีข้างหน้า

     

    ระยะยาวธุรกิจโรงแรมจะกลับมา

    IHG ยังคงมั่นใจในตลาดโรงแรม โดย “ราจิต สุขุมารัน” กรรมการบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี IHG ระบุว่าขณะนี้ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเผชิญความท้าทาย เพราะส่วนใหญ่ยังปิดพรมแดนและการฟื้นตัวขึ้นอยู่กับนโยบายวัคซีน แต่บริษัทมองตลาดที่เริ่มเปิดการท่องเที่ยวแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จีน บางโรงแรมกลับมาทำรายได้ได้มากกว่าปี 2561-62 ดังนั้น ช่วงนี้โรงแรมในภูมิภาคนี้ต้องปรับตัวเพื่อฝ่าวิกฤตไปให้ได้ก่อน

    “ประวัติศาสตร์แสดงให้เราเห็นว่าเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจะกลับมาได้อย่างแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นหลังเผชิญวิกฤต 9/11 โรคซาร์ส หรือวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์” ราจิตกล่าว โดยรายงานเพิ่มเติมว่าช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ IHG เซ็นสัญญาโรงแรมใหม่ไปกว่า 200 แห่งทั่วโลก สะท้อนว่าเจ้าของโรงแรมบางส่วนยังมั่นใจในศักยภาพระยะยาวของธุรกิจ

    รวมถึงวัลลภาแห่ง AWC ด้วย เธอมองสถานการณ์ในระยะยาวมากกว่า โดยเชื่อว่าประเทศไทยยังคงมีคุณค่าการท่องเที่ยว การลงทุนใหม่ของ AWC ที่พัทยาจะมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นจังหวะที่การท่องเที่ยวน่าจะกลับมาแล้วอย่างเต็มที่ รวมถึงพัทยายังเป็นทำเลที่ดีเพราะเป็นชายหาดที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด

    ]]>
    1348712
    AWC จับมือ “อินเตอร์คอนฯ” เปิดโรงแรมหรูใน “เวิ้งนาครเขษม” ที่ดินทำเลทองกลางกรุงเก่า https://positioningmag.com/1338174 Tue, 22 Jun 2021 04:40:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1338174 IHG ประกาศเซ็นสัญญาบริหารโรงแรมใหม่ในไทย 3 แห่งกับ AWC โดย 2 ใน 3 แห่งตั้งอยู่ในโครงการ “เวิ้งนาครเขษม” แบ่งเป็นโรงแรมแบรนด์หรู “อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์” กำหนดเปิดปี 2569 และโรงแรมแบบไลฟ์สไตล์-บูติกอีกแห่งหนึ่ง

    การพัฒนาโครงการย่าน “เวิ้งนาครเขษม” มีความคืบหน้าไปอีกขั้น โดยการประกาศจากทาง IHG Hotel& Resorts บรรลุดีลเซ็นสัญญาบริหารโรงแรม 3 แห่งให้กับ Asset World Corporation (AWC) รวมทั้งหมด 629 ห้อง ดังนี้

    • โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ – ตั้งอยู่ในโครงการมิกซ์ยูสย่านเวิ้งนาครเขษม ใกล้เยาวราช จำนวน 332 ห้อง ภายในมีบาร์ฟิตเนส สระว่ายน้ำ พื้นที่อเนกประสงค์รองรับการจัดอีเวนต์ขนาด 1,400 ตร.ม. และห้องประชุม 8 ห้อง กำหนดเปิดปี 2569
    • โรงแรมไลฟ์สไตล์-บูติก (ยังไม่ระบุแบรนด์) – ตั้งอยู่ในโครงการมิกซ์ยูสย่านเวิ้งนาครเขษม ใกล้เยาวราช จำนวน 63 ห้อง ดัดแปลงมาจากอาคารพาณิชย์ดั้งเดิม สูง 4 ชั้น (ยังไม่กำหนดช่วงเวลาเปิด)
    • โรงแรมไลฟ์สไตล์-บูติก (ยังไม่ระบุแบรนด์) – ตั้งอยู่ในโครงการ “อควอทิค” (Aquatique) เมืองพัทยา ซึ่งเป็นโครงการคอมเพล็กซ์ไลฟ์สไตล์ความบันเทิง มีโรงแรม ห้างร้าน ร้านอาหาร และพื้นที่จัดประชุม ตัวโรงแรมนี้มีจำนวนห้องพัก 234 ห้อง กำหนดเปิดปี 2567

    สำหรับโครงการมิกซ์ยูสบนพื้นที่เวิ้งนาครเขษมนั้น ตามแผนการพัฒนาของ AWC จะใช้เงินลงทุนประมาณ 16,600 ล้านบาท สร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ภายในมีโรงแรม 2 แห่งดังกล่าว โครงการที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหารที่เปิด 24 ชั่วโมง และมีไฮไลต์เป็น “เจดีย์ทองคำ” สูง 8 ชั้น เป็นแลนด์มาร์กสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว

    ภาพเบื้องต้นการพัฒนาโครงการบริเวณเวิ้งนาครเขษม (Photo : IHG)

    “นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินไปกับร้านค้าปลีกใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เส้นทางมรดก มรดกทางประวัติศาสตร์ และถนนแห่งความบันเทิง ที่มีพื้นที่สำหรับการเฉลิมฉลองเทศกาล รวมไปถึงการแสดงต่างๆ ทางวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งใหม่อย่างเจดีย์ทองคำ ที่กำลังอยู่ในแผนพัฒนา เช่นเดียวกันกับการก่อสร้างประตูทางเข้า เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่เมืองที่สะท้อนคุณค่าแห่งประวัติศาสตร์” เป็นข้อมูลการพัฒนาที่ระบุในแถลงการณ์จาก IHG

    ที่ดินเวิ้งนาครเขษมขนาด 14 ไร่นี้ เครือทีซีซีของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีเป็นผู้ชนะประมูลด้วยเม็ดเงินเกือบ 5,000 ล้านบาท (รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด) โดยซื้อจากราชสกุลบริพัตร เจ้าของเดิม เมื่อปี 2555 ก่อนส่งต่อให้ AWC ที่เป็นบริษัทในเครือเช่นกันเป็นผู้พัฒนา

    ก่อนหน้าการซื้อขายเปลี่ยนมือ เวิ้งนาครเขษมเคยเป็นย่านดังด้านการขายเครื่องดนตรี รวมถึงการค้าของเก่า หนังสือเก่า ปัจจุบันพื้นที่นี้ยิ่งกลายเป็นทำเลทองเมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตัดผ่าน และมีสถานีรถไฟฟ้าสามยอดอยู่ห่างไปเพียง 300 เมตร

    “การลงนามสัญญาข้อตกลงกับพาร์ตเนอร์ระดับโลกในครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพและวิสัยทัศน์ในการสร้างความยั่งยืนเพื่อการเติบโตในอนาคตของเราด้วยเช่นกัน การร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่น ว่าเราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการท่องเที่ยวไทย โดยโครงการเหล่านี้ของเรา นำเสนอการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ควบคู่ไปกับประสบการณ์ที่น่าประทับใจ พร้อมทั้งสร้างคุณค่าให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบอีกด้วย” วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) กล่าว

    อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

    ]]>
    1338174
    ทำไม AWC ต้องยกเครื่อง “พันธุ์ทิพย์” เป็นศูนย์ค้าส่ง ปิดฉาก 36 ปี ห้างไอทีในตำนาน https://positioningmag.com/1303992 Mon, 02 Nov 2020 13:01:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303992 ย้อนกลับไปเมื่อปี 2527 จุดเริ่มต้นของยุครุ่งโรจน์ของพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ห้างใหญ่ย่านประตูน้ำที่ใครๆ ก็นึกถึง ด้วยดีไซน์ทันสมัยมากๆ (ในยุคนั้น)

    เมื่อ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งทีซีซี กรุ๊ป ได้เข้ามาซื้อกิจการต่อในปี 2530 “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าได้รับการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นเเลนด์มาร์กของคนไอที ใครจะซื้อคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก มือถือ อุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องชวนกันไปดูของที่นั่น เป็นห้างไอทีในตำนานที่มีชื่อติดลมบน จนเป็นหนึ่งในเพลงของวงร็อคชื่อดังอย่าง LOSO

    จากประตูน้ำ ได้ขยายสาขาไปยังพันธุ์ทิพย์ บางกะปิ และพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน กลายเป็นต้นเเบบ “ไอทีมอลล์ในเมืองไทย ที่มีห้างอื่นๆ แห่เปิดตามกันในเวลาต่อมา

    ในปี 2559 “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำขยับอีกครั้งด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่เทคไลฟ์ มอลล์ตามความนิยมของยุคสมัยที่ยังเน้นความเป็นแหล่งเทคโนโลยี เเต่มีการเพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์เข้ามา เช่นโซนพระเครื่องก็ได้รับความนิยมไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีโซน Co-working Space สำหรับผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพให้มีมุมทำงานนอกออฟฟิศ รวมถึงเจาะตลาดเกมเมอร์สร้าง E-Sport Arena บุกเรื่องอีสปอร์ตอย่างจริงจัง

    เเต่หลายทศวรรษผ่านไป ต้องยอมรับว่าค้าปลีกไอทีไม่มีวันเหมือนเดิม เราสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ผ่านปลายนิ้วคลิก หมดยุคการเดินไปเลือกซื้อตามตึกคอม เมื่อสินค้าสเปกดี ราคาถูกลงนั้นเข้าถึงง่าย  มีให้เลือกซื้อใกล้บ้านส่งเร็ว ผู้คนไม่นิยมประกอบคอมเองอีกต่อไป จึงถึงเวลาที่ห้างไอทีเก่าเเก่ต้องปรับตัวไปจนถึงขั้นเปลี่ยนธุรกิจไปเลย

    ภาพของศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ หลังการปรับเป็น “เทค-ไลฟ์ มอลล์” ในปี 2559

    ทำไมต้องเป็นศูนย์ค้าส่ง ?

    มาถึงในปี 2563 ครบ 36 ปีที่ห้างไอทีในตำนาน ต้องปิดฉากลงเเล้ว

    ก่อนหน้านี้ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้บริหารพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำออกมาส่งสัญญาณว่า จะมีการยกเครื่องใหม่ เมื่อการเป็นห้างไอทีอยู่ยากเเล้วในยุคนี้

    ล่าสุด ศูนย์ไอทีย่านประตูน้ำ กำลังจะเเปลงร่างเป็นศูนย์ค้าส่งที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกเเห่งอาเซียน ด้วยช่องว่างในตลาดที่ยังมีโอกาสอยู่มาก เเละยังไม่มีศูนย์ค้าส่งใหญ่ๆ ในไทย

    โดย AWC ได้ประกาศเปลี่ยนพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ สู่ธุรกิจ Wholesale ด้วยคอนเซ็ปต์ ศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติครบวงจรของอาเซียน ที่มีชื่อว่า AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการในวันที่ 26 พฤศจิกายน นี้ โดยใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาทในการปรับพื้นที่ วางระบบอาคารเเละการขนส่งต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์ค้าส่งแห่งใหญ่ใจกลางเมือง ด้วยพื้นที่รวมกว่า 30,000 ตร..

    โดยชื่อเต็มๆ ของ AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION มาจากการรวมคำที่เป็น “Keyword” ของธุรกิจ เพื่ออธิบายถึงความเป็นอาเซียนด้วยคำว่า AEC ตามด้วยความเป็นศูนย์ค้าส่ง – TRADE CENTER เเละคำว่า WHOLESALE ซึ่งยังคงคำว่า PANTIP (พันธุ์ทิพย์) ไว้เพราะเป็นชื่อที่คุ้นหูผู้คนมานาน ส่วนคำว่า DESTINATION นั้น อธิบายถึงคอนเซ็ปต์ของรีเทลยุคใหม่ที่ต้องปรับเป็นจุดหมายที่รวมความน่าสนใจของสินค้าและบริการต่างๆ ไว้ 

    อย่างไรก็ตาม ชื่อใหม่ของ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ ดูจะยาวเเละ “จำยาก” ไปเสียหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้อง “รีเเบรนด์ใหม่” เเละลบภาพจำห้างไอทีดั้งเดิม ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขยายการรับรู้อยู่ไม่น้อย 

    ปรับโฉมใหม่เป็น AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

    วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ศูนย์ค้าส่งเเห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนไทย ทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า เป็นโอกาสที่จะขยายตลาดขายสินค้าให้กลุ่มลูกค้าใหม่ ได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความนิยมสินค้าไทยสูงมาก

    “ย่านประตูน้ำมีชื่อเสียงด้านค้าส่งอยู่เเล้ว เเละตอนนี้เมืองไทยยังไม่มีธุรกิจค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีทำเลอยู่ใจกลางกรุงเทพ AWC จึงมองว่าโอกาสที่ดีที่จะปั้นพันธุ์ทิพย์ให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติ” 

    โดยศูนย์ค้าส่งแห่งนี้ จะเชื่อมโยงการส่งออกและนำเข้าสินค้าของภูมิภาคผ่านโครงการ AEC TRADE CENTER ประตูน้ำพระอินทร์ที่มีทำเลขนาด 160 ไร่ ในตำบลเชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติม วางเเผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2564 นี้

    หลังจากนั้น AWC มีเเผนจะขยายไปยังพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีที่ดินเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่การก่อสร้างเท่านั้น เเต่จะสร้างเมื่อไรนั้นต้องรอดูสถานการณ์ก่อน

    วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC

    อัดโปรใจป้ำ “ให้เช่าฟรี 6 เดือน” 

    อนันต์ ลาภสุขสถิต หัวหน้ากลุ่ม Wholesales Business Officer บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป เสริมว่า ธุรกิจค้าส่งเป็นรูปเเบบธุรกิจที่เข้ากับย่านประตูน้ำ ที่มีทั้งสินค้าเสื้อผ้าเเฟชั่น เเละศูนย์ไอทีค้าส่งอยู่เเล้ว

    “AEC TRADE CENTER เป็นโมเดลทดลองธุรกิจใหม่ของ AWC ที่ต้องการช่วยเหลือคนไทย เรายังมีที่ดินอีกจำนวนมากที่จะสานต่อธุรกิจนี้ให้เป็นศูนย์กลางค้าส่งในภูมิภาค

    หากดูจากความนิยมของมหกรรม Thaifex งานแสดงนวัตกรรมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทย ที่มีผู้ซื้อจากทั่วโลกเดินทางมาทำ Business Matching ในงานจำนวนมาก เเต่ติดปัญหาว่ามีเวลาเเค่ 4 วันเช่นเดียวกับงาน STYLE Bangkok แหล่งสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งจัดปีละครั้ง ก็มีผู้สนใจร่วมงานจำนวนมาก เเต่ผู้ส่งออกยังไม่มีหน้าร้านเเสดงสินค้าเเบบถาวร

    เหล่านี้เป็น Pain Point ที่ทาง AEC TRADE CENTER ต้องการเข้ามาแก้ไขเเละวางคอนเซ็ปต์ห้างพันธุ์ทิพย์ใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งแบบวันสต็อปครบวงจรใจกลางกรุงเทพฯ แห่งแรกของไทย ช่วยให้คู่ค้าสามารถเจรจาธุรกิจได้ตลอด 365 วัน สร้างโอกาสสำคัญให้คู่ค้าได้มาสรรหา (Sourcing) สินค้าในพื้นที่เดียวประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา เข้ากับการค้าขายในยุค New Normal

    เบื้องต้น AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION จะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะเข้ามาขายสินค้า โดยเน้นผลักดันให้มีสินค้าจากผู้ผลิตต้นน้ำที่มีคุณภาพ เเละมีความหลากหลาย เช่น เฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์ตกแต่งภายใน ของเล่น ของชำร่วย เครื่องเขียน ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน นวัตกรรมการพิมพ์ ฯลฯ

    นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่แสดงสินค้า และศูนย์ SMEs Service Solution (SSS) ซึ่งจะมีสตูดิโอถ่ายภาพเพื่อให้ผู้ค้าสามารถใช้บริการถ่ายทอดสดออนไลน์ (Live Streaming) ห้องประชุม และสัมมนาขนาดย่อม พื้นที่ให้บริการคำปรึกษาด้านธุรกิจ ที่จะเชื่อมโยงกลุ่มผู้ซื้อ ทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าสินค้า ทั้งภายในประเทศ ระหว่างภูมิภาค และทั่วโลก

    ในเฟสแรกคาดว่าจะมีร้านค้าเข้ามาทั้งสิ้น 300 ร้านค้า ซึ่ง AWC มีโปรโมชันดึงดูดใจอย่างการไม่คิดค่าเช่านาน 6 เดือนจากปกติพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำจะมีค่าเช่าตั้งเเต่ 800-7,000 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เลยทีเดียว

    มีการประเมินว่า โปรโมชันให้เช่าฟรี 6 เดือนในครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 300 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของอาคารตามที่กล่าวมาข้างต้นอีก 200 กว่าล้านบาท รวมๆ เเล้ว AWC ทุ่มใช้งบไปกับโครงการนี้ถึง 500 ล้านบาท

    ขณะเดียวกัน ยังมีผู้เช่าเดิมเหลืออยู่บางส่วนราว 10-15% ซึ่งจะมีการดูเเลเเละพูดคุยกันต่อไป โดยอาจจะต้องพัฒนาไปขายในรูปแบบค้าส่ง จากนั้นไตรมาสแรก ปี 2564 จะเปิดเต็มพื้นที่ทั้งอาคารกว่า 50,000 ตารางเมตร คาดทั้งโครงการจะมีผู้เช่าเต็มพื้นที่ราว 500 ร้านค้า โดยได้ลงนามกับสมาคมการค้า 11 แห่งในไทย เพื่อดึงดูดสมาชิกของหอการค้าฯ ที่มีอยู่ถึง 1 เเสนรายให้เข้ามาตั้งร้านค้าต่อไป

    ตั้งเป้าเงินสะพัด “พันล้าน” ต่อเดือน เเม้เปิดช่วง COVID-19 

    เเม้การค้าขายในโลกทุกวันนี้ จะปรับไปสู่เเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเเล้ว ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของธุรกิจ “ค้าส่ง”

    โดยผู้บริหาร AWC มองว่า อย่างไรเเล้วการค้าปลีกก็ต้องควบคู่กันไปเเบบ “ออนไลน์-ออฟไลน์” การซื้อสินค้าน้อยชิ้นสั่งออนไลน์ได้ เเต่หากต้องซื้อในรูปเเบบค้าส่ง การสั่งซื้อ “บิ๊กล็อต” ระดับเเสนบาทขึ้นไป ก็ยังมีความจำเป็นที่คู่ค้าต้องเห็นและสัมผัสสินค้าจริง รวมไปถึงการเจรจาต่อรองเเบบเจอหน้ากัน เพื่อสร้างความมั่นใจของทั้งสองฝ่าย

    “ในเฟสแรก เราหวังว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เเม้ตอนนี้จะมีเเต่ลูกค้าคนไทยเป็นหลัก เเต่บริษัทต่างๆ น่าจะมาซื้อของเพื่อจัดเทศกาลปีใหม่กันเยอะ หากอนาคตมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ก็คาดว่าจะเห็นเงินสะพัดถึง 4,000-5,000 ล้านบาทต่อเดือน” 

    นอกเหนือจากช่องทางออฟไลน์แล้ว ยังเตรียมที่จะเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นทั้งเว็บไซต์เเละเเอปพลิเคชัน ภายใต้ชื่อ ‘ฟีนิกซ์บ็อก’ (Phenixbox) ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้าสามารถติดต่อกับคู่ค้าต่างประเทศได้ทุกช่องทาง คาดว่าจะเปิดตัวในเฟส 2 ช่วงต้นปีหน้า

    เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเติบโตได้ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) และจีน บริษัทได้ร่วมมือกับความร่วมมือกับ Zhejiang China Commodities City Group Co., Ltd. (CCC Group) รัฐวิสาหกิจผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู (Yiwu) ประเทศจีน จัดศูนย์แสดงสินค้า Yiwu Selection Thailand Showcase” และศูนย์ให้บริการด้านการส่งออกไปยังจีนใน IC Mall” เชื่อมโยงช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการจะส่ง
    ออกสินค้าไปยังประเทศจีนด้วย 

    ผู้บริหาร AWC มองว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ปลุกปั้นให้ AEC TRADE CENTER เป็นที่รู้จักในวงกว้างก่อน โดยหัวใจของศูนย์ค้าส่ง คือ “การขายของได้” ดังนั้นหากผ่านช่วงโปรโมชันไม่คิดค่าเช่า 6 เดือนไปแล้ว ยังมีผู้เช่าอยู่ต่อ เเละเพิ่มขึ้นในระดับที่วางไว้…ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

    ต้องมาลุ้นกันว่า ก้าวใหม่ของ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” สู่ศูนย์ค้าส่งระดับอาเซียน จะเป็นไปในทิศทางไหน เสียงตอบรับจะเป็นอย่างไร เมื่อยังคงมีอุปสรรครออยู่อีกมาก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่เเน่นอนหลังวิกฤต COVID-19 

     

    ]]>
    1303992