B2B – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 09 Mar 2023 13:54:23 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Grab ตั้งเป้าปี 66 ลดการขาดทุน หารายได้จากกลุ่มธุรกิจ Enterprise เพิ่มมากขึ้น https://positioningmag.com/1422634 Thu, 09 Mar 2023 12:43:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1422634 แกร็บ ประเทศไทย (Grab) ได้แถลงแผนธุรกิจในปี 2566 ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะเน้นในเรื่องประสิทธิภาพของแต่ละธุรกิจ รวมถึงหันมาเน้นการทำธุรกิจแบบ B2B กับองค์กรต่างๆ ซึ่งล่าสุดมีลูกค้าบ้างแล้ว และกล่าวว่าบริษัทจะลดการขาดทุนและเข้าสู่เส้นทางการทำกำไรได้หลังจากนี้

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงว่าครบรอบ 10 ปีการก่อตั้ง Grab ในประเทศไทย โดยสำหรับปีนี้ทางบริษัทจะเติบโตแบบที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้โปรโมชันเพื่อเพิ่มลูกค้าและในปีนี้หยุดเรื่องการขาดทุนให้ได้ก่อน โดยในปีนี้บริษัทมีผลประกอบการที่ขาดทุนลดลง

เขาได้กล่าวถึงผลประกอบการในปี 2565 ที่ผ่านมาของกลุ่ม (รวมทุกประเทศในอาเซียน) ว่าจำนวนผู้ใช้งานของ Grab ไม่ได้ลดลง รายได้เติบโต 112% (เป็นรายได้ Net จริงๆ) ขาดทุนลดลง 51% เมื่อเทียบกับปี 2021 และทางบริษัทคาดว่าจะมีกำไรได้ภายในสิ้นปี 2023 นี้ เขาชี้ว่าเป้าหมายของบริษัทแม่ส่งผลทำให้บริษัทลูกในแต่ละประเทศต้องปรับตัวทำให้มีกำไร

ธุรกิจเรียกรถในปีที่ผ่านมา เขาได้ยกรายงานของ Bain Google และ Temasek ที่ได้จัดทำร่วมกัน ชี้ว่าธุรกิจเรียกรถนั้นเติบโตแบบทบต้นปีละ 40% จนถึงปี 2567 ได้ ขณะเดียวกันเขาก็ชี้ว่าตัวเลขการเรียกรถของ Grab เติบโตมากถึง 152% จากปีที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะยังไม่มีนักท่องเที่ยวจีนกลับเหมือนกับช่วงก่อนโควิด-19 ก็ตาม

เขายังชี้ว่าการมีบริการหลายตัวทำให้บริษัทผ่านช่วงเวลาต่างๆ ได้ เห็น Trend นักท่องเที่ยวกลับมาตั้งแต่ครึ่งปีที่แล้ว

ขณะที่ธุรกิจส่งอาหาร (Food Delivery) เติบโต 15% จากปี 2564 ลูกค้ามีปริมาณ Order เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับ 2562 นอกจากนี้ตลาดต่างจังหวัดกำลังเติบโตอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น รวมถึง GrabMart ที่เติบโต 28% เมื่อเทียบกับ 2563 การสั่งปริมาณและราคาต่อ Order เพิ่มขึ้นยังทำให้ผลขาดทุนที่ลดลงด้วย และยังมี Grab Unlimited ที่เป็นบริการ Subscriptions และลูกค้ากว่า 50% เป็น Membership และลูกค้าเหล่านี้สั่งอาหารมากกว่าลูกค้าขาจรมากถึง 3 เท่า

ด้านการเงิน วรฉัตรชี้ว่าส่วนใหญ่ Grab ได้ปล่อยกู้ดอก 0% ให้กับคนขับ เพื่อนำไปผ่อนสินค้า เขายังกล่าวเสริมว่าบริการการเงินคือเหมือนวงจรความสุข ทำยังไงให้คนขับกับร้านอาหารให้ได้เงินเร็วที่สุด เพราะมีคนขับหลายแสนราย  รวมถึงร้านอาหารต่างๆ ที่ต้องใช้เงินวันต่อวัน นอกจากนี้ยังมีบริการอื่นๆ เช่น ประกันภัย ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อ ทดแทนการกู้เงินนอกระบบ ทำให้คนขับหรือร้านอาหารสามารถทำงานอย่างมีความสุขได้

ภาพจาก Shutterstock

กลยุทธ์ระยะยาวของ Grab

กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ 3P ที่จะนำมาใช้ และเป็นเส้นทางในการเติบโตระยะยาวของบริษัท ได้แก่

Profit เขาชี้ถึงการสร้างผลกำไรนั้นทำให้ บริษัทสามารถยืนได้ในระยะยาว และยังสร้าง Ecosystem ที่ยั่งยืน ไม่ขาดทุน วรฉัตรได้ชี้ว่าช่วงที่ผ่านมาแพลตฟอร์มส่งอาหารขนาดใหญ่จำนวนมากขาดทุนมากแล้วก็ปิดตัวไป ส่งผลทำให้คนตกงานหลายคน รวมถึงร้านอาหารได้รับผลกระทบ ถ้าไม่ยืนด้วยตัวเองให้ได้ก็อาจสร้างผลกระทบต่อคนอื่น

Planet ทำยังไงไม่ให้เป็นปัญหาของสังคม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ออกแคมเปญ Grab for good สร้างโอกาสในการหารายได้ของคนในสังคม การเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือแม้แต่เรื่องของการรักษ์โลก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไปจนถึงการลดใช้ภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว

People วรฉัตรได้กล่าวถึงว่าทำยังไงให้คนรักเรา เขาชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การเข้าตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาคือเน้นเรื่องความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล มีการประกอบกิจการที่ดี ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นที่คนทั้งสิ้น

ภาพจาก Shutterstock

 

แผนธุรกิจในปีนี้

วรฉัตร ได้กล่าวถึงแผนธุรกิจของ Grab ประเทศไทยคือ การสร้าง Ecosystem ของแพลตฟอร์มผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ และปีนี้เขาเองได้กล่าวว่าบริษัทจะเน้นไปยังบริการสำหรับ Enterprise Services (B2B) ก็คือ Grab for Business และ Grab Ad ซึ่งเป็นบริการโฆษณา

ซึ่งแต่ละบริการย่อยๆ ของ Grab นั้นมีรายละเอียดดังนี้

บริการเรียกรถ จะมีบริการพรีเมี่ยมมากขึ้น เช่น รถราคาแพง หรือ SUV ซึ่งตอบโจทย์คนขับและคนเรียกใช้บริการ ขณะเดียวกันปีนี้ก็เน้นไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยจับมือกับสนามบินใหญ่ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงมีบริการให้กับนักท่องเที่ยว เช่น สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ใส่เข้าไปยังบริการมากขึ้น และมีบริการแปลภาษาสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

นอกจากนี้ Grab จะมีการกลับเข้าไปดูว่า ปริมาณของคนขับรถพอหรือไม่ และหลายประเทศที่เจอเหมือนกันก็คือคนไม่พอ และเข้าไปรับคนขับเพื่อที่จะมีคนขับเพียงพอตามเมืองใหญ่ๆ นอกกรุงเทพฯ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น

ขณะเดียวกันในระบบของแผนที่นั้น Grab สามารถบอกลูกค้าได้ละเอียดมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นตึกต่างๆ มีบอกจุดรับส่ง ซึ่งทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานดีขึ้น และยังทำให้ค่าใช้จ่ายโปร่งใสมากขึ้น ขณะที่ความปลอดภัย ก็มีระบบตรวจสอบ เช่น รถจอดนานผิดปกติจะมี Call Center โทรถามว่าเกิดอะไรขึ้น ลดการเกิดปัญหาของลูกค้าที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัย

บริการส่งอาหาร เขากล่าวว่าจะเน้นเรื่องของประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นคนขับที่รออาหารรวดเร็วกว่าเดิม 30% ด้วยการพัฒนาระบบการรองานให้ดีกว่าเดิม และทำให้รายได้ของคนขับต่อชั่วโมงได้มากกว่าเดิม 15% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ยังรวมถึงการขยาย Grab Unlimited รวมทุกบริการของ Grab เข้ามาด้วยในปีนี้

บริการทางการเงิน ตอนนี้มีสินเชื่อครบแล้ว เริ่มให้สินเชื่อร้านอาหารขนาดใหญ่ 500,000 บาทแล้ว ขณะที่สินเชื่อคนขับสามารถผ่อนอยู่บนระบบรายวันที่ดอกเบี้ยต่ำ

Enterprise Business เขาชี้ว่าคือการเอาบริการของ Grab มาให้บริการให้กับบริษัทขนาดใหญ่มากขึ้น จากในอดีตบริษัทต่างๆ ต้องซื้อรถและจ้างคนขับ ที่มาใช้บริการเรียกรถของบริษัทแทน หรือแม้แต่บางองค์กรที่เคยใช้บริการบุฟเฟต์อาหาร ก็มาใช้ Code ของบริษัทให้พนักงานสั่งอาหารเอง ซึ่งลดภาระในการจัดเตรียมอาหารได้

กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทยชี้ว่านอกจากบริการของ Enterprise แล้วก็ยังมีบริการโฆษณา (Grab Ad) ซึ่งบริษัทที่สนใจลงโฆษณาสามารถทำการตลาดกับแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานต่อเดือนมากกว่า 30 ล้านคนได้ โดยตอนนี้บริษัททำงานกับเอเจนซี่โฆษณาอยู่ และชี้ว่าระบบโฆษณาของบริษัทนั้นผูกโลกออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกันได้ ซึ่งมีลูกค้าบางรายได้ใช้บริการแล้ว

]]>
1422634
Alibaba ไปไม่ไหวในตลาด “สหรัฐฯ” แผนดึงซัพพลายเออร์สู้ Amazon ไม่เป็นไปตามเป้า https://positioningmag.com/1394251 Thu, 28 Jul 2022 04:38:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1394251 ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากจีน “Alibaba” ไปไม่ถึงดวงดาวใน “สหรัฐฯ” หลังจากแผนดึงซัพพลายเออร์ท้องถิ่นอเมริกันให้ถึง 1 ล้านรายล้มไม่เป็นท่า พร้อมกับปัญหาพนักงานเกินครึ่ง “ลาออก” เพราะวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่าง

Alibaba.com เป็นเว็บไซต์ค้าส่งระดับสากลที่จะดึงผู้ซื้อผู้ขายจากทั่วโลกมาอยู่บนแพลตฟอร์ม โดยเมื่อ 3 ปีก่อนนี้บริษัทมีการเปิดตัวเว็บไซต์ Alibaba.com อีคอมเมิร์ซรูปแบบค้าส่ง B2B ในสหรัฐฯ โดยหวังว่าจะสามารถดึงซัพพลายเออร์ผู้ขายท้องถิ่นสัญชาติอเมริกันได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านรายมาขายบนแพลตฟอร์มของตน เพื่อจะแข่งขันในตลาดโลกได้เหมือนกับ Amazon

Financial Times รายงานจากแหล่งข่าววงใน พบว่า การปฏิบัติงานของ Alibaba.com ในสหรัฐฯ กลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บีบให้บริษัทจีนรายนี้ต้องปรับเปลี่ยนเป้าการเติบโตของตนเอง นอกจากการดึงคู่ค้าไม่เป็นไปตามเป้าแล้ว ยังเผชิญปัญหาการลาออกของพนักงานจำนวนมากที่ออฟฟิศในเมืองนิวยอร์กอีกด้วย

Alibaba ยังเจอศึกรอบด้านในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะขณะที่หน่วยธุรกิจในสหรัฐฯ มีปัญหา ที่สำนักงานใหญ่ในประเทศจีนก็กำลังถูกรัฐบาลตรวจสอบ ตามนโยบายจีนต้องการลดอำนาจของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี รวมถึงมีปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่คู่แข่งกลับมากขึ้น ทำให้บริษัทอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก

ตั้งแต่เปิดตัวเว็บไซต์มา Alibaba.com ยากลำบากมากในการดึงซัพพลายเออร์อเมริกันให้อยู่กับแพลตฟอร์มต่อไป เพราะราคาขายของผู้ผลิตอเมริกันนั้นแข่งขันกับตลาดผู้ขายทั่วโลกได้ยาก

“ผู้ผลิตอเมริกันนั้นไม่ได้มีศักยภาพแข่งขันมากเท่า เนื่องจากต้นทุนของทุกสิ่งทุกอย่างแพงกว่า รวมถึงค่าแรงด้วย ทีมงานเองก็ไม่ได้มีแรงสนับสนุนภายในที่มากเพียงพอ ดังนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถจะดึงผู้ขายหรือซัพพลายเออร์อเมริกันให้ขึ้นระบบขายบนแพลตฟอร์มได้เพียงพอ” พนักงานปัจจุบันรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าว

ผู้ขายอเมริกันส่วนใหญ่ยกเลิกเป็นสมาชิกหลังผ่านไป 1 ปี ทำให้ Alibaba.com ต้องยอมลดเป้าหมายดึงผู้ขายที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ 1 ล้านราย เหลือเพียงปีละ 2,000 รายเท่านั้น

Photo : Shutterstock

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากแหล่งข่าววงใน 3 คนยืนยันตรงกันว่า พนักงานอย่างน้อย 35 คนของ Alibaba.com ในนิวยอร์กได้ทยอยลาออกไปในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ทีมงานลดลงมากกว่าครึ่ง สาเหตุการลาออกมาจากทั้งผลงานของแพลตฟอร์มไม่เป็นไปตามเป้า รวมถึงวัฒนธรรมการกลั่นแกล้งรังแกจากพนักงานอาวุโสสูงและการทำงานหนักหลายชั่วโมงต่อวัน

ตำแหน่งงานหลายตำแหน่งไม่ได้ถูกจ้างทดแทนคนเดิม เพราะแพลตฟอร์มกำลังค่อยๆ ออกจากตลาดสหรัฐฯ อย่างเงียบๆ

Alibaba.com ถือเป็นแกนหลักในการลุยตลาดโลกของบริษัท โดยบริษัทเลือกจับตลาด B2B แทน B2C ที่เป็นแกนหลักธุรกิจจากการเล็งเห็นศักยภาพ รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ประเมินตลาดอีคอมเมิร์ซสำหรับ B2B ไว้ว่ามีโอกาสทางการตลาดถึง 23.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่าตลาด B2C ถึง 6 เท่า

แม้ว่าจะมีผู้ซื้อ 20 ล้านคนจาก 200 ประเทศในแพลตฟอร์ม Alibaba.com และมีผู้ขายกว่า 200,000 คนจากทั่วโลก แต่มีแค่ไม่กี่พันรายที่มาจากสหรัฐฯ โดยการเป็นผู้ขายจากสหรัฐฯ จะต้องจ่ายค่าสมาชิกปีละ 3,000 เหรียญ

ภาพจาก Shutterstock

เมื่อปีงบประมาณรอบก่อนสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2022 ธุรกิจค้าส่งสากลซึ่งรวมถึง Alibaba.com ทำรายได้ให้บริษัท 1.84 หมื่นล้านหยวน หรือคิดเป็น 2% ของรายได้รวม

วิธีการเข้าตลาดสหรัฐฯ ของ Alibaba เริ่มขึ้นในปี 2018 โดยใช้การเทกโอเวอร์บริษัทซอฟต์แวร์อเมริกันชื่อ Opensky (ไม่เปิดเผยมูลค่าลงทุน) จอห์น แคปแลน ผู้ร่วมก่อตั้ง Opensky และพนักงานเดิมจำนวนหนึ่ง ได้รับการว่าจ้างต่อเพื่อให้เปิดเว็บไซต์ Alibaba.com ขึ้นในสหรัฐฯ

แคปแลนเพิ่งจะออกจากบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และขึ้นเป็นซีอีโอร่วมที่บริษัท Payoneer บริษัทด้านบริการชำระเงิน พนักงานที่เคยอยู่มาตั้งแต่ยุค Opensky ปัจจุบันลาออกแล้วกันเป็นส่วนใหญ่เพราะไม่มีความสุขหลังบริษัทถูกซื้อกิจการ

Alibaba ไม่มีความเห็นตอบกลับสำนักข่าวในประเด็นเหล่านี้

Source

]]>
1394251
เปิด 5 เมกะเทรนด์ปี 2565 ของวงการจัดหาสินค้าออนไลน์ “สินค้ากรีนๆ” ยืนหนึ่ง https://positioningmag.com/1383673 Tue, 03 May 2022 06:34:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383673
Alibaba.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ B2B ของอาลีบาบาสำหรับการค้าระดับโลก เผยเมกะเทรนด์ (Megatrend)  4 ประการเกี่ยวกับวงการจัดหาสินค้าออนไลน์ทั่วโลก โดยอิงจากการวิเคราะห์สินค้าขายดีและสินค้าใหม่บนแพลตฟอร์ม

โดยเฉลี่ยแล้ว สินค้าใหม่ๆ ถูกเพิ่มในสินค้าสี่ประเภทนี้เร็วกว่าสินค้าประเภทอื่นอย่างน้อย 5 เท่า และสินค้าที่มาแรงเหล่านี้ยังดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับสินค้าหมวดอื่น โดยในที่นี้ เราจะมาเจาะลึกกับ 4 เมกะเทรนด์ ที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ซื้อทางธุรกิจและผู้ขาย

เมกะเทรนด์ 1 : สินค้าที่ยั่งยืน

สินค้าที่จัดอยู่ในประเภทสินค้ายั่งยืนกำลังเติบโตเร็วกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ตั้งแต่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และจักรยานไฟฟ้าไปจนถึงสินค้าแบบใช้แล้วทิ้ง “สีเขียว” อย่างหลอดชานอ้อย ข้อมูลที่ได้จากสัปดาห์แรกของแคมเปญ March Expo ประจำปีของ Alibaba.com ชี้ว่า ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังพุ่งสูงขึ้น อย่างแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน แผงโซลาร์เซลล์ หรือแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน นอกจากนี้ แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดบนหลังคาบ้านก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เมื่อเทียบปีต่อปี

Photo : Shutterstock

เมกะเทรนด์ 2 : สินค้าอัจฉริยะ

สินค้าอัจฉริยะหรือที่เรียกว่าสินค้า IoT นั้น เป็นสินค้าที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและสามารถแชร์ข้อมูลได้ ซึ่งเป็นสินค้าอีกประเภทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว บน Alibaba.com มีสินค้าประเภทนี้รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์เสริมต่างๆ และอุปกรณ์ไร้สัมผัสที่เอาไว้ใช้ในสถานที่สาธารณะ เช่น ก๊อกน้ำอัตโนมัติ และโซลูชันบ้านอัจฉริยะ ตั้งแต่ระบบล็อกอัจฉริยะไปจนถึงเตียงที่ปรับระดับได้

ทั้งนี้ สินค้าอัจฉริยะที่เพิ่งจดทะเบียนลงขายบน Alibaba.com มีคำสั่งซื้อโดยเฉลี่ยมากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ถึง 70% ในช่วงระยะเวลาสามเดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565

Metaverse
Photo : Shutterstock

สินค้าอัจฉริยะดังกล่าวยังรวมไปถึงสินค้าในวงการเกมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลเชิงลึกของ Alibaba.com การแพร่ระบาดของโควิดและการพัฒนาของเทคโนโลยี Virtual Reality ทำให้ตลาดของอุปกรณ์ที่ใช้เล่นเกมเติบโตขึ้น เช่น คีย์บอร์ดและไมโครโฟนสำหรับเล่นเกม เพราะปัจจุบันเกมถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยระบายความเครียด โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีนี้ยังสร้างความสนใจให้กับสินค้าประเภท Wearable ที่ช่วยมอนิเตอร์ไบโอเมตริกซ์และการนอนหลับอีกด้วย

เมกะเทรนด์ 3 : สินค้าสุขภาพ

แม้กระทั่งช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด ความสนใจในสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพก็เฟื่องฟูอยู่แล้ว เห็นได้ชัดจากแคมเปญ March Expo ของ Alibaba.com ที่สินค้าเพื่อสุขภาพอย่างจักรยานไฟฟ้าอเนกประสงค์ แทรมโพลีนแบบเป่าลม และเสื่อโยคะ ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยสินค้าเพื่อสุขภาพที่เพิ่งจดทะเบียนลงขายบน Alibaba.com มีคำสั่งซื้อโดยเฉลี่ยมากกว่าสินค้าประเภทอื่น 2.5 เท่าในช่วงสามเดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565

Photo : Shutterstock

เมกะเทรนด์ 4 : สินค้าไลฟ์สไตล์

สินค้าไลฟ์สไตล์ที่จัดว่าเป็นเมกะเทรนด์นั้นคือเทรนด์การแต่งกาย ของตกแต่งบ้าน เทรนด์การแสดงออกด้านตัวตน และการใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ

ความต้องการทางธุรกิจสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์บน Alibaba.com มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ตัวขับเคลื่อนหลักที่ช่วยให้สินค้าประเภทนี้เติบโตคือการซื้อสินค้าทางโซเชียลอย่าง Instagram โดยบริษัทต่างๆ ที่ซื้อเครื่องประดับ แว่นกันแดด หมวกชายหาด และสินค้าอื่นๆ ต่างก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ สินค้าหมวดไลฟ์สไตล์ที่เพิ่งจดทะเบียนลงขายบน Alibaba.com ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 นั้น มีคำสั่งซื้อโดยเฉลี่ยมากกว่าสินค้าประเภทอื่นประมาณ 2.3 เท่า เทียบเท่าสินค้าเพื่อความงามที่เป็นคลีนบิวตี้ หรือสินค้าเพื่อความงามที่ใส่สารเคมีน้อยลง

Photo : Shutterstock

เทรนด์ทั่วโลกที่มีความสนใจในกิจกรรม “กลางแจ้ง” มากขึ้นรวมไปถึงการใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์กีฬานั้น กำลังเพิ่มขึ้นในหลายๆ ประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งใน Alibaba.com ก็มีหมวดหมู่ย่อยอย่าง “call of the wild” ที่ขายสินค้าอย่างเรือคายัค กระเป๋าเป้สะพายหลังเดินป่า และหูฟังกันน้ำเช่นกัน

อุปกรณ์ทำความสะอาดอัจฉริยะก็เป็นสินค้าอีกหนึ่งประเภทที่ยังสามารถเติบโตในตลาด และยังเป็นการควบรวมเทรนด์ต่างๆ อีกด้วย เช่น เครื่องดูดฝุ่น และไม้ถูพื้นแบบ 2-in-1 ซึ่งการใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นทำให้คนลงทุนกับเครื่องมือที่ช่วยประหยัดเวลา เพื่อทำให้พื้นที่อยู่อาศัยสะอาดเรียบร้อย

อนาคตของการค้าออนไลน์แบบ B2B

นอกเหนือจากความสนใจที่เพิ่มขึ้นในหมวดหมู่สินค้าดังกล่าวแล้ว Alibaba.com ยังสังเกตเห็นความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในภาพรวมตลาด B2B ทั่วโลก จากผลการสำรวจของ Alibaba.com พบว่า ในเดือนธันวาคม 2564 เกือบสามในสี่ (74%) ของบริษัท SMEs ในสหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมในการตอบแบบสำรวจเห็นสัญญาณบวกของเศรษฐกิจ ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดที่มีเพียง 62% แม้จะมีความท้าทายในด้านซัพพลายเชน รวมไปถึงเงินเฟ้อและตลาดแรงงานในปัจจุบันก็ตาม

จากรายงานร่วมที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2565 โดย Alibaba.com และบริษัทวิจัย Euromonitor International กล่าวว่า ภาคธุรกิจ B2B จำเป็นต้องพึ่งช่องทางอีคอมเมิร์ซมากกว่าเดิม เพราะการระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดน นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 จำนวนธุรกิจที่เกิดขึ้นทางออนไลน์อาจเริ่มเข้ามามีพื้นที่ในธุรกิจมากขึ้น โดยคิดเป็น 32.6% ในประเทศเยอรมนี 25.3% ในประเทศสเปน 16.4% ในประเทศอิตาลี และ 16.8% ในประเทศตุรกี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญมากขึ้นของอีคอมเมิร์ซต่อตลาด B2B

]]>
1383673
Jetts Fitness แก้เกม บุกตลาด B2B รับเทรนด์ Corporate wellness https://positioningmag.com/1352884 Wed, 22 Sep 2021 14:55:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352884 ตลาดฟิตเนสเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤต COVID-19 ต้องปิดให้บริการก่อนใครเพื่อน อีกทั้งไม่ได้รับเงินเยียวยา แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นธุรกิจที่เชื่อว่าจะยังคงเติบโต เพราะผู้คนหันมาดูแลสุขภาพสร้างภูมิต้านทานมากขึ้น โดย Jetts Fitness ได้ทำการแก้เกมด้วยการบุกตลาด B2B หรือตลาดองค์กรมากขึ้น จับกระแส Corporate Wellness ที่องค์กรดูแลพนักงานให้มีสุขภาพดี

Corporate Wellness มาแรง องค์กรดูแลสุขภาพพนักงาน

เทรนด์การดูแลสุขภาพเริ่มเห็นได้ชัดมา 4-5 ปีแล้ว เริ่มจากอาหารการกินทั้งหลาย ที่เริ่มมีสูตรหวานน้อย ลดเค็ม หรือสูตรไม่มีน้ำตาล เพื่อเอาใจคนที่ดูแลสถขภาพอย่างจริงจัง รวมถึงเทรนด์การออกกำลังกายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ปั่นจักรยาน เซิร์ฟสเก็ต

รวมไปถึงฟิตเนสที่เป็นธุรกิจดาวรุ่งมาโดยตลอด มีทั้งผู้เล่นรายใหญ่ตบเท้าเข้ามาทำตลาด แถมยังมีผู้เล่นรายย่อยที่เปิดตามชุมชน เรียกว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด

แม้ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่เริ่มจากปีที่แล้ว ทำให้ฟิตเนสได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่เชื่อว่าหลังจากที่จะเปิดให้บริการได้นั้น ดีมานด์ความต้องการจะกลับมา แถมอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ที่มาแรงอย่างมากก็คือ Corporate Wellness องค์กรใหญ่ๆ เริ่มดูแลสุขภาพพนักงาน

Jetts Fitness (เจ็ทส์ ฟิตเนส) เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นใหญ่ในตลาดฟิตเนสก็ได้โฟกัสที่เทรนด์นี้ และจับตลาด B2B มากขึ้น เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาด อีกทั้งยังได้ขยายฐานลูกค้ามากขึ้นด้วย

เดน แคนท์เวล กรรมการผู้จัดการเจ็ทส์ ฟิตเนส ประเทศไทย เริ่มเล่าว่า

“เทรนด์สุขภาพขององค์กรมีมาสักระยะหนึ่งแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมฟิตเนสโดยทั่วไปประมาณ10-20% ของสมาชิกทั้งหมดเป็นสมาชิกแบบองค์กร แนวโน้มในปัจจุบันกำลังพัฒนาปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ”

ล่าสุด Jetts Fitness ได้ร่วมมือกับ JLL หรือ บริษัท โจนส์แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการสร้างสุขภาวะให้พนักงาน ยิ่งในสถาการณ์ปัจจุบันมีการทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ Work from Home เป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีการออกแบบการออกกำลังกายที่ตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบันด้วย

ความร่วมมือกับ JLL มีทั้งรูปแบบ การให้ส่วนลดสำหรับสมาชิกแบบองค์กร และออกแบบคลาสให้ตรงกับความต้องการของพนักงาน เช่น คลาส Office Syndrome ที่ให้ความรู้และการรับมือกับโรคออฟฟิศซินโดรม เป็นการยกระดับความพึงพอใจของพนักงานอีกด้วย

ทางด้าน ไมเคิล แกลนซี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า

“จากจุดยืนของ JLL ในช่วง COVID-19 นอกจากการดำเนินธุรกิจในแง่องค์กรการเข้าใจพนักงาน และคำนึงถึงสุขภาพของพนักงานยังเป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญต่อไปในอนาคตเราต้องการดูแลพนักงานให้มีรอยยิ้มจากการมีสุขภาพที่ดีทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เรายังมีโปรแกรมอีกมากมายก้าวไปข้างหน้าเพื่อสนับสนุนสุขภาวะของพนักงานของเรา”

บุกตลาด B2B มากขึ้น

Jetts Fitness จับตลาดองค์กรตั้งแต่ปี 2561 นับตั้งแต่เปิดตัวในประเทศไทย ตลาดนี้เป็นอีกหนึ่งตลาดที่สำคัญจากสัดส่วน10-20% ของรายได้ทั้งหมด มีการเพิ่มทีมงานสำหรับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ โดยเป้าหมายหลักคือ การเข้าถึงบริษัทต่างๆ เพื่อนำเสนอบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก และข้อเสนอต่างๆ

โปรแกรมสำหรับองค์กรมีข้อเสนอมากมาย อย่างแรกคือ ส่วนลดสำหรับองค์กรซึ่ง สำหรับองค์กรขนาดเล็กเพียง 10 คนขึ้นไป ก็สามารถมอบส่วนลดในเรทขององค์กรได้แล้วเพราะเป้าหมายหลัก คือ การส่งเสริมให้ทุกคนได้บรรลุเป้าหมายในการออกกำลังกาย

Photo : Shutterstock

“สำหรับราคาของเราจริงๆ แล้วอยู่ในเรตที่จับต้องได้ เลยคิดว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ ซึ่งสำหรับองค์กรแล้วสิ่งที่พวกเขาต้องการทราบคือ ข้อหนึ่ง เจ็ทส์ ฟิตเนสจะทำให้พนักงานของพวกเขามีความสุข และมีสุขภาพดีขึ้น ลดวันลาป่วยลง รวมถึงอยากมาทำงานได้อย่างไร ข้อสอง เจ็ทส์ ฟิตเนสจะช่วยให้พนักงานของเขาบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพ และการออกกำลังกายในระยะยาวได้อย่างไร เพราะคิดว่าสำหรับองค์กรที่ก้าวหน้าและพัฒนาแล้วนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่จะรักษาพนักงานไว้ได้

การทำให้พนักงานอยากมาทำงาน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมและองค์กรที่ประสบความสำเร็จจะใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้ นั่นคือประเด็นทั้งหมดที่เราเคยพูดถึงมาก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นคลาสเกี่ยวสุขภาพ หรืออื่นๆ”

ปัจจุบัน Jetts Fitness มีลูกค้าองค์กรประมาณ 200 แห่ง โดย 20 อันดับแรกของลูกค้าองค์กร มักจะมีส่วนร่วมระหว่างกันมากขึ้น และจะมีกลุ่มคนที่สนใจในฟิตเนสอยู่แล้ว ซึ่งมองหาสถานที่ที่เดินทางสะดวก หรือตอบโจทย์การออกกำลังกายหรือเป็นที่รวมคนสนใจเรื่องฟิตเนสเหมือนกัน

ในการขยายตลาดลูกค้าองค์กร ปัจจุบันมีสัดส่วนจะอยู่ประมาณ 10-20% ของฐานสมาชิกทั้งหมด ตอนนี้เจ็ทส์ฟิตเนสมีสมาชิกจำนวน 30,000 คน หรือกว่า 3,000คน เป็นสมาชิกองค์กร จำนวนสมาชิกขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ตั้ง เช่น เดอะ ปาร์ค อาคารสำนักงานมีสัดส่วนของลูกค้าองค์กรสูงกว่าเมื่อเทียบกับสถานที่อื่นๆ

หลังคลายล็อก ดีมานด์จะกลับมาพุ่ง

แม้ในช่วงล็อกดาวน์ ธุรกิจฟิตเนสจะเป็นธุรกิจที่ต้องถูกปิดในอันดับต้นๆ และเปิดให้บริการในอันดับท้ายๆ อยู่เสมอ อีกทั้งมาตรการการเยียวยา การช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ยังคลุมเครือ แต่เดนมีการประเมิณว่า หลังจากคลายล็อกดาวน์ และสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ ดีมานด์ความต้องการของฟิตเนสจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

“ผมคิดว่า COVID-19 ทำให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ และการมีร่างกายที่แข็งแรงและสมบูรณ์มีผลต่อภูมิคุ้มกัน นอกจากจะต้องรักษาสุขภาพเป็นพื้นฐาน ผมว่าสุขภาพดี และแข็งแรง สองอย่างนี้ควรมาพร้อมกัน ขณะที่ภาพรวมในประเทศไทย ผมมองว่าคลับขนาดเล็ก หรือคลับระดับท้องถิ่นต้องเจอกับความท้าทายจากวิกฤตครั้งนี้แน่นอน

สิ่งที่เราเห็นตัวอย่างจากประเทศจีนหลังจากกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง พบว่า กว่า 50%ของกิจการฟิตเนสต้องปิดตัวลง ดังนั้นเราจะเห็นผู้เล่นตัวเล็กๆ พบเจอช่วงเวลาที่ยากลำบาก จำนวนคลับอาจลดลง เราอาจมีโอกาสเห็นผู้เล่นรายใหญ่อื่นๆ พยายามเข้ามาใช้พื้นที่เหล่านั้นแทนบางส่วนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และต้องติดตามสถานการณ์ในอุตสาหกรรมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และในปีต่อๆ ไปว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป”

ธุรกิจฟิตเนสของประเทศไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยมีผู้ประกอบการหลักประมาณ 3 ใน 4 รายเป็นกลุ่มแบรนด์ขนาดใหญ่ และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

ปัจจุบัน Jetts Fitness มี 37 สาขาทั่วประเทศ มีเพียง 2 แห่งที่เปิดให้บริการได้ในช่วงล็อกดาวน์ จึงค่อนข้างเป็นเรื่องท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ สาขากรุงเทพฯ ปิดมาระยะหนึ่งแล้ว หวังว่าเราจะได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กันในเดือนตุลาคม

“หากคุณถอยมามองไปในระดับโลก เมื่อสิ่งต่างๆ ถูกปิดลงระยะเวลาหนึ่ง แน่นอนว่ามันคือความท้าทายที่แต่ละธุรกิจต้องเผชิญ เมื่อธุรกิจกลับมาเปิดอีกครั้ง หลายธุรกิจอย่างฟิตเนส ที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูง ผู้คนต้องการกลับไปสร้างพลังบวกให้กับชีวิตอีกครั้งก็กลับมาเติบโตขึ้นอย่างมาก ในออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงยุโรป ธุรกิจฟิตเนสสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ด้วยดีมานด์ที่ดีดกลับมา เราจึงตั้งตารอวันนั้นเมื่อสถานการณ์ในประเทศไทยคลี่คลาย”

ยังจับโลเคชั่น CBD

แม้ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกจิที่อยู่ในศูนย์การค้า เช่น ร้านอาหาร ธนาคาร ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวลง ต้องมีการปรับตัวในการหาโลเคชั่นนอกศูนย์การค้ามากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง แต่ในมุมมองของ Jetts Fitness ยังคงเน้นทำเลในเมือง หรือใจกลางธุรกิจเช่นเดิม

“ในการลงทุนเรายังไม่เปลี่ยนจากความคิดเดิมมากนัก เรามีข้อกำหนดที่ค่อนข้างเข้มงวดเพื่อเตรียมการกลับมาเปิดให้บริการโดยปกติ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะย้ายสาขาออกจากพื้นที่สำคัญย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ (CBD) ถึงแม้จะมีการปิดเมืองที่นานขึ้นเล็กน้อย ทำเลเหล่านี้เป็นยังสามารถทำกำไร และเป็นจุดที่มีการคืนทุนที่เร็วกว่าในพื้นที่อื่นๆ จึงพูดได้เลยว่าเราจะเติบโตต่อไปในประเทศไทย”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Jetts Fitness ได้ติดสปีดในการขยายสาขาอย่างเต็มที่ เพื่อเป้าหมายที่จะเปิดให้ครบ 100 สาขาให้ได้อย่างเร็วที่สุด ทำให้ในปีที่แล้วสามารถเปิดสาขาใหม่ได้ถึง 12 แห่ง หรือเปิดเดือนละ 1 แห่ง

แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้การประเมินเรื่องการลงทุนยากขึ้น ทำให้ต้องดูสถานการณ์ต่อไปว่าจะขยายเพิ่มอีกกี่สาขา และขึ้นอยู่กับการตอบรับของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ฟินเนสควรได้เปิด

เมื่อถามเดนถึงประเด็นที่ว่า อยากฝากอะไรถึงทางรัฐบาลบ้างหรือไม่ เนื่องจากฟิตเนสเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เริ่ม และไม่ได้รับการเยียวยา เดนมองว่าจริงๆ ฟิตเนสควรได้รับการเปิดให้บริการด้วยซ้ำ เพราะยิ่งทำให้สุขภาพจิตแย่ลง

“มุมมองระดับโลกสะท้อนให้เห็นว่ามีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ฟิตเนสควรเปิดให้บริการได้ สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะเน้นย้ำ คือ จากสถิติพบว่า 42% ของพนักงานทั่วโลกมีสุขภาพจิตที่แย่ลงจากผลของ COVID-19 สำหรับผมนั่นถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นประเด็นที่น่ากังวลที่ควรมีการพูดคุยกัน

ฟิตเนสนั้นมีประโยชน์มากมายสำหรับคนไทยทุกคนเมื่อเทียบกับผลกระทบด้านลบผมรู้สึกว่าฟิตเนสควรเปิดให้บริการได้ รวมถึงสวนสาธารณะ และสถานที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสุขภาพและร่างกายที่สมบูรณ์ และแข็งแรง นั่นคือสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแต่กับสภาพร่างกายเท่านั้นแต่ยังหมายรวมถึงสภาพจิตใจอีกด้วย”

ปัจจุบัน Jetts Fitness มีสาขารวม 37แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี โคราช พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต เพชรบุรี หัวหิน มีสมาชิกมากกว่า 30,000 คน

อายุเฉลี่ยของสมาชิกอยู่ระหว่าง 21-40 ปี แบ่งเป็นเพศหญิง 53% และชาย 47% วันที่มีสมาชิกเข้าใช้บริการมากที่สุดคือ วันจันทร์-ศุกร์ สาขาที่คึกคักที่สุดคือ เดอะสตรีทรัชดา และวันนิมมาน เชียงใหม่

]]>
1352884
‘ฟู้ดดีฮับ’ อาหารเเช่เเข็งออนไลน์ การเเก้เกมของ ‘สยาม คานาเดี่ยน’ จากขายส่งสู่รายย่อย https://positioningmag.com/1333791 Wed, 02 Jun 2021 12:15:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333791 อาหารเเช่เเข็งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตคนยุคใหม่ เเม้ว่าธุรกิจร้านอาหารเเละโรงแรม ต้องเจอวิกฤตหนักจากพิษโควิด เเต่ตลาดอาหารพร้อมปรุงพร้อมทานส่งตรงถึงบ้านกลับเติบโตได้ดี

พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ผู้คนมองหาวัตถุดิบที่สั่งได้ทันทีจากออนไลน์ ไม่ต้องไปซื้อของตามตลาดหรือห้างร้านที่แออัด

เป็นโอกาสธุรกิจที่สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ปบริษัทดำเนินธุรกิจอาหารแช่แข็งเเบบพรีเมียมมากว่า 34 ปี ที่เคยเน้นขายบิ๊กล็อต’ ส่งออกหลายพันตู้คอนเทนเนอร์ ตัดสินใจขยายสู่ตลาดขายตรงสู่ผู้บริโภค’ ในราคาหลักร้อย แก้โจทย์ยอดขายฝั่งลูกค้าฟู้ดเซอร์วิสที่หดหายไป

อย่างไรก็ตาม ทิศทางตลาดอาหารแช่แข็งทั่วโลก ยังคงเติบโตสูงมีมูลค่าถึง 3.06 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา เเละมีการเติบโตเฉลี่ยราว 4.1% ในช่วงระหว่างปี 2015-2020 ขณะที่ตลาดอาหารแช่แข็งในไทย คาดว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ยราว 6% ในช่วงระหว่างปี 2017-2022 ซึ่งถือว่าโตสูงกว่าระดับตลาดโลก

พลิกเกมโควิด จาก B2B สู่ B2C 

สำหรับ ‘สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ปเป็นผู้นำเข้าและส่งออกอาหารแช่แข็ง เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้แช่แข็ง มีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่สหรัฐฯ แคนาดา ยุโรปและเอเชีย มีการส่งออกสินค้าถึง 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปีไปยัง 70 ประเทศ

ส่วนในตลาดเมืองไทย จะเน้นเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารแช่แข็งจากแหล่งผลิตทั่วโลก เพื่อส่งต่อให้คู่ค้าเเบบ B2B หลักๆ เป็นเชนค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล เเละสายการบิน

ชัยพัฒน์ คุณาภิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทยของฟู้ดดีฮับในกลุ่มสยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป จำกัด เล่าให้ฟังว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลต่อธุรกิจอาหารเเช่เเข็งเช่นกัน โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม ‘ฟู้ดเซอร์วิส’ ทั้งในเเละต่างประเทศที่ยอดขายลดลงกว่า 40% เเต่ก็มีได้รายได้จากส่วนอื่นมาทดเเทน อย่างกลุ่มค้าปลีกที่เจาะลูกค้ารายย่อย

ปีนี้คาดว่ารายได้ในไทย อาจจะลดลงประมาณ 10% มาอยู่ที่ราว 380 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าเราทำได้ดีแล้ว ท่ามกลางโควิดที่ยังระบาดหนัก ส่วนภาพรวมของทั้งกลุ่มนั้นมีรายได้ราว 300 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าค่อนข้างทรงตัว

เมื่อผู้คนต้องอยู่บ้าน ทำให้ความต้องการซื้ออาหารไปทานที่บ้านก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นจังหวะดี ที่จะปลุกปั้นฟู้ดดีฮับเพื่อมาขายอาหารแช่แข็งผ่านเเพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมุ่งเจาะผู้บริโภคทั่วไปโดยตรง ตอบสนองตลาดความต้องการในตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะทำรายได้ราว 3 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2022 และปี 2023 คาดว่าจะมีรายได้ 10-12 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2020 ระบุว่า กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานและอาหารพร้อมปรุง มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 21,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 3-5% ต่อปี

เเต่สนามออนไลน์ก็ไม่ง่ายนัก ผู้บริหารฟู้ดดีฮับยอมรับว่าวงการนี้มีการเเข่งขันสูงทั้งจากรายย่อยเเละรายใหญ่ เพื่อสร้างความเเตกต่างในตลาด บริษัทตั้งใจจะชูจุดเด่นเรื่องความชำนาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมา เป็น ‘Core business’ ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าต่างประเทศ ทั้งเรื่องจัดหาวัตถุดิบ ควบคุมคุณภาพเเละระบบโลจิสติกส์ มาใช้ในการทำตลาด B2C ในประเทศไทย โดยสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ ฟู้ดดีฮับ มี 5 กลุ่ม ได้แก่

1.อาหารทะเลสดแช่แข็ง แบรนด์  Natural Coast

2.เบเกอรี่แช่แข็ง แบรนด์ Club Gourmet

3.อาหารทะเลและเนื้อสัตว์ทำจากพืช หรือ (Frozen plant-based food)

4.อาหารทานเล่น เช่น ซาลาเปา ขนมจีบ ฮะเก๋า ฯลฯ

5.เนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยม เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะนำเข้า ฯลฯ

เบื้องต้นตอนนี้เรามีสินค้า 50 รายการ (SKU) และใน 1 ปีครึ่งจะเพิ่มเป็น 100-120 รายการ ส่วนเบเกอรี่มีเเผนจะขยายไปจำหน่ายตามร้านค้าปลีกในเร็วๆ นี้

จับเทรนด์ Plant-Based พร้อมลุยส่งออก 

ยุคนี้ใครๆ ก็ลงสนามอาหารเเห่งอนาคตอย่าง Plant-Based ที่มีการเติบโตสูง คาดว่าในตลาดโลกมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 12-14% ไปจนถึงปี 2027 เป็นอย่างต่ำ

สำหรับในประเทศไทย พบว่ากลุ่มผู้บริโภคมีความตื่นตัวสูงเเละหันมาเลือกซื้ออาหาร Plant-Based มากขึ้นจากเทรนด์รักษ์โลก รักสุขภาพ โดยปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าเเตะ 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตถึง 60% เลยทีเดียว

ตลาด Plant-Based กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เราอยากจะเป็นซัพพลายเออร์ของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนเอเชียเเละยุโรป โดยจะไม่เน้นตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว เเต่จะมุ่งส่งออกควบคู่กันไปด้วย

เบื้องต้นสินค้า Plant-Based ของฟู้ดดีฮับ ภายใต้แบรนด์ Meatoo เเบ่งเป็น 2 ประเภทคือ อาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) 5 รายการ ได้เเก่ หมูกรอบ (ไร้หมู) ซี่โครงหมู (ไร้หมู) ปลาเค็ม (ไร้ปลา) ทอดมันปลา (ไร้ปลา) ลูกชิ้นกุ้ง (ไร้กุ้ง) และสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) อาทิ เมนูข้าวกะเพราหมู (ไร้หมู) และ กะเพราไก่ (ไร้ไก่) ไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งมีแผนวางจำหน่ายในเดือนกรกฎาคมนี้

อัดโปรขยายฐาน ‘ออนไลน์’ ส่งทั่วไทย 

ด้านกลยุทธ์การตลาด ดุษฎีลักษณ์ อัครสกุลเกียรติ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการและผลิตภัณฑ์ ฟู้ดดีฮับ กล่าวว่า บริษัทมุ่งแผนการตลาดแบบ 360 องศา โดยตอนนี้เน้นไปที่ออนไลน์ถึง 85-90% ผสมด้วยออฟไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึง

โดยล่าสุดมีช่องทางขายผ่านช้อปปี้ ลาซาด้า ไลน์และเฟซบุ๊ก และเตรียมขยายไปยังเจดีเซ็นทรัล พร้อมมีแผนที่จะทำเเพลตฟอร์มของตัวเองด้วยการพัฒนาเว็บไซต์ให้สามารถซื้อขายได้

“สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน การทำตลาดแบบออนไลน์ช่วยกระจายและขยายสินค้าได้ครอบคลุมมากกว่า ส่วนช่องทางค้าปลีกออฟไลน์ก็ยังคงต้องมีอยู่ ซึ่งคาดว่าจะมีวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใน 37 สาขา โดยฟู้ดดีฮับ ถือว่าเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดอีคอมเมิร์ซ จึงต้องมีการอัดโปรโมชันเเจกเเถมเเละส่วนลดต่างๆ โปรโมตผ่านอินฟลูเอนเซอร์ สร้างเเบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก สร้างคอนเทนต์ให้ความรู้เเละกระตุ้นยอดขายไปในตัว”

โดย 3 สินค้าขายดีที่สุดในช่วงโควิด-19 ของฟู้ดดีฮับ ได้เเก่ ปลาเเซลมอน หอยเชลล์เเละกลุ่มเบเกอรี่

สำหรับการสั่งซื้ออาหารเเช่เเข็ง ส่วนใหญ่ลูกค้าจะกังวลเรื่อง ‘ระยะทางเเละค่าจัดส่ง’ ฟู้ดดีฮับจึงเลือกใช้ระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิที่ได้มาตรฐานสำหรับสินค้าทุกตัว แม้ค่าบริการในการขนส่งจะสูงกว่าการขนส่งด้วยรถร้อน ซึ่งบริษัทก็ได้ออกโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า โดยการ ‘ออกค่าขนส่งให้มากกว่าครึ่ง’ คิดค่าขนส่งทั่วไทยเพียงแค่ 99 บาทต่อออเดอร์ในขณะนี้

นอกจากนี้ ยังเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ (Recyclable packaging) ออกแบบถุงให้มีผนึกซิปล็อก (Resealable zip-lock bags) ให้ลูกค้าสามารถนำถุงไปใช้ซ้ำภายในครัวเรือนได้

นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคยุค New Normal ที่ต้องติดตามต่อไปว่า ‘ฟู้ดดีฮับ’ จะคว้าโอกาสอาหารเเช่เเข็งออนไลน์นี้ไว้อยู่หมัดหรือไม่ …

 

 

]]>
1333791
‘ซัมซุง’ ส่ง ‘มือถือ-แท็บเล็ต’ เกรดทหาร ลุยตลาด ‘องค์กร’ หลังดีมานด์พุ่งเพราะ COVID-19 https://positioningmag.com/1310698 Wed, 16 Dec 2020 10:53:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1310698 ต้องยอมรับว่าตลาด ‘สมาร์ทโฟน’ ในประเทศไทยและทั่วโลกจะค่อนข้างตัน ๆ แล้วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แม้ในปีนี้จะมี ‘5G’ สร้างความตื่นเต้นบ้าง แต่ก็มาเจอพิษ COVID-19 สกัดดาวรุ่งไปเกือบครึ่งปี แต่ในส่วนของตลาด ‘องค์กร’ กลับยิ่งไปได้ดีเมื่อมี COVID-19 เข้ามา ดังนั้น ‘ซัมซุง’ จึงเดินหน้าลุยตลาดองค์กรที่ยังเป็นช่วงขาขึ้นในตอนนี้

ดร.มารุต มณีสถิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

ดร.มารุต มณีสถิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า สินค้ากลุ่ม ‘Rugged Device’ ที่มีความคงทนระดับ ‘ทหาร’ นั้น องค์กรในประเทศไทยมีการใช้งานถึง 44% ของดีไวซ์ทั้งหมด โดยในปี 2021 คาดว่าตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 73 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตประมาณ 5-10%

เนื่องจากแต่ละองค์กรมีความต้องการดีไวซ์ที่เฉพาะเจาะจงและทนทานเพื่อใช้ในการทำงานมากขึ้น อย่าง COVID-19 ก็ทำให้ตลาดเฮลท์แคร์ต้องการดีไวซ์ที่สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ หรืออย่างธุรกิจขนส่งที่เติบโตเพราะอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือแม้กระทั่งตลาดโฮมยูสที่ต้องการเครื่องที่ทนทานให้ลูกใช้งาน”

ที่ผ่านมา หลังจากที่องค์กรลงทุนกับสินค้ากลุ่ม Rugged Device พบว่าช่วยให้ลดต้นทุนได้ 40% ภาพรวมการบริหารจัดการด้านไอทีในองค์กรลดลง 25% ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรได้ 35% ทั้งนี้ อายุใช้งานของ Rugged Device จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ปี เนื่องจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วทำให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยน พอเปลี่ยนมาใช้ มีประสิทธิภาพดีขึ้น 35% ช่วยเพิ่มความปลอดภัย 25%

“อย่างอุตสาหกรรมการผลิตเขาใช้สินค้าปกติไม่ได้ เพราะมีโอกาสเจอฝน เจอน้ำ เจอฝุ่น และอาจตกกระแทก หรืออย่างกลุ่มเฮลท์แคร์ เขาต้องการดีไวซ์ที่สามารถใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดได้ ซึ่งสินค้าทั่วไปในตลาดไม่สามารถทำได้”

สำหรับซัมซุงเพิ่งเข้าทำตลาดองค์กรได้เพียง 2 ปี โดยปัจจุบันมีลูกค้าในมือกว่า 100 ราย เติบโตจาก 20 รายในปี 2018 โดยในช่วงครึ่งปี 2020 นี้ ซัมซุงมีอัตราการเติบโต 42% และในปี 2021 คาดว่าจะเติบโตได้ 20% เป็นอย่างต่ำ ขณะที่ตลาดคาดว่าจะเติบโตประมาณ 10%

ปัจจุบัน สินค้าที่ซัมซุงใช้ทำตลาดมีเป็นสมาร์ทโฟน 2 รุ่น คือ Galaxy XCover4 และ Galaxy XCover Pro (ราคาเริ่มต้น 16,900 บาท) แท็บเล็ตมี 2 รุ่น คือ Galaxy Tab Active3 และ Galaxy Tab Active Pro (ราคาเริ่ม 21,900 บาท) โดยทั้งหมดเป็นสินค้าเกรดทหาร โดยทนทานต่อการกระแทก การตกจากที่สูง การกันน้ำและกันฝุ่น 100% สามารถเช็ดล้างทำความสะอาดได้ สามารถใช้งานได้แม้หน้าจอเปียก หรือในขณะสวมถุงมือ นอกจากนี้ อีกส่วนที่เป็นจุดแข็งของซัมซุงก็คือ Knox ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสามารถจัดการเครื่องในองค์กรทั้งหมดได้พร้อมกัน นอกจากนี้ราคาของซัมซุงยังดีกว่าคู่แข่งถึงครึ่งหนึ่งอีกด้วย

“ลูกค้ารายใหญ่ของเราตอนนี้มี CP, SCG ที่ซื้อสินค้าเราไปให้พนักงานใช้ภายในองค์กร โดยเรามองว่าโอกาสของเราในปีหน้าอยู่ที่กลุ่มเฮลท์แคร์, แมนูแฟคทอริ่ง และรีเทล”

ทั้งนี้ ในปี 2019 รายได้จากฝั่ง B2B ของซัมซุงในไทยอยู่ที่ 5% ขณะที่ปี 2020 นี้คาดว่าจะมีสัดส่วน 10% และในปี 2021 จะเติบโตเป็นเท่าตัว

]]>
1310698
อ่านเกม OfficeMate โหม “แฟรนไชส์” มากกว่าติดสปีดสาขา คือ “คอนเนกชั่น” ท้องถิ่นล้วนๆ https://positioningmag.com/1294797 Mon, 31 Aug 2020 10:32:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294797 OfficeMate บุกธุรกิจแฟรนไชส์ OfficeMate Plus+ หลังซุ่มปั้นมากว่า 1 ปี หวังใช้คอนเนกชั่นของผู้ประกอบการท้องถิ่นในการบุกตลาด เป้าขยาย 150 สาขา ภายใน 5 ปี ต้องเป็นศูนย์ขายสินค้าสำหรับธุรกิจ B2B ครบวงจรให้ได้

ต้องติดสปีดขยายสาขา

OfficeMate (ออฟฟิศเมท) ดำเนินงานภายใต้ บริษัท ออฟฟิศเมท (ไทย) จำกัด ในกลุ่ม บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งหน่วยธุรกิจภายในอาณาจักรเซ็นทรัล ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้มีปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรมากมาย รวมถึงการบริหาร ที่ล่าสุด “วรวุฒิ อุ่นใจ” CEO และผู้ก่อตั้ง ได้ลดบทบาทลง เพราะได้เบนเข็มเล่นการเมืองสังกัดพรรค “กล้า” อย่างเต็มตัว

โดยที่ OfficeMate ได้ทำตลาดมา 26 ปีแล้ว แต่เดิมได้วางจุดยืนเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ จนขยายสู่เซ็กเมนต์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ได้ลงทุน 1,000 ล้านบาทในการสร้างคลังสินค้าไฮเทคอัจฉริยะ บนพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ถนนสุวินทวงศ์ จ.ฉะเชิงเทรา เรียกว่าเป็นการอัพสเกลเพื่อรองรับอีคอมเมิร์ซ

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เป็นบิ๊กมูฟของ OfficeMate ก็คือการบุกโมเดล “แฟรนไชส์” อย่างจริงจัง เรียกว่า OfficeMate Plus+ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นร้านสะดวกซื้อสำหรับองค์กร ซึ่งได้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 สร้างร้านโมเดลต้นแบบร้านแรกที่สาขาหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี รังสิต

จนในปี 2019 เริ่มมีการขยายสาขามากขึ้น มีการขายแฟรนไชส์อย่างจริงจัง ทำให้ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.ปทุมธานี, สาขาหัวหิน, สาขา CK Plaza จ.ระยอง, สาขาเชียงราย, สาขาสกลนคร และสาขาบิ๊กซีปากช่อง จ.นครราชสีมา

โจทย์สำคัญของการบุกโมเดลแฟรนไชส์นั้น การติดสปีดในการขยายสาขาให้มากขึ้นนั่นเอง เพราะลำพังแค่บริษัทลงทุนเอง ขยายสาขาเองอย่างมากขยายได้ไม่กี่สาขาเท่านั้น การขยายสาขามากขึ้น รายได้ก็มากขึ้น อีกทั้งการใช้โมเดลแฟรนไชส์ ยังได้คอนเนกชั่นของคนในท้องถิ่นด้วย เป็นกลยุทธ์สำคัญของการประมูลงานต่างๆ

วิลาวรรณ ฤกษ์เกรียงไกร กรรมการผู้จัการใหญ่ ออฟฟิศเมท พลัส บอกว่า

“โจทย์ของ OfficeMate คือต้องการติดสปีดการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางการขายใหม่ๆ ต้องขยายได้เร็ว และมีการเพิ่มช่องทาง รวมถึงการเพิ่มสินค้าในเซ็กเมนต์ใหม่ๆ โมเดลแฟรนไชส์เป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มช่องทางการขาย เป็นการได้เซลล์เอเย่นต์มาช่วยขายนั่นเอง ตอนนี้ก็ยังตั้งเป้า 1 อำเภอ 1 แฟรนไชส์อยู่เหมือนเดิม”

โมเดลแฟรนไชส์ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นที่ 2.9 ล้านบาท มีขนาดพื้นที่เฉลี่ย 100-200 ตารางเมตร หลักการเลือกโลเคชั่นมีทั้งต้องเข้าถึงง่าย เห็นได้ชัดเจน และมีที่จอดรถ อาจจะอยู่ใกล้โรงงาน โรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ ด้วยก็ได้

พลังของ “คอนเนกชั่น”

ปัจจุบันเครือข่ายร้านอุปกรณ์สำนักงาน หรือร้านเครื่องเขียนทั่วประเทศมีอยู่หลายหมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นร้านระบบโลคอลที่มีสาขาเดียว และมีสินค้าจำกัดอยู่ไม่กี่กลุ่ม

ในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ OfficeMate ได้ขยายตัวเองสู่เซ็กเมนต์อื่นๆ ที่มีตลาดใหญ่มหาศาล สินค้าในโรงงาน, โฮเรก้า และสินค้าสถานพยาบาล จับกลุ่มทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และ SMEs

ซึ่งในการทำตลาดพื้นที่ต่างจังหวัด ต้องยอมรับว่า “คอนเนกชั่น” ในพื้นที่มีความสำคัญมากจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการประมูลงาน หรือการรู้จักคนในพื้นที่ รู้จักสถานที่ต่างๆ พฤติกรรมของคนท้องถิ่น การได้แฟรนไชส์มาจึงช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้อย่างดี

วิลาวรรณเสริมว่า ผู้ซื้อแฟรนไชส์ OfficeMate Plus+ มีทั้งผู้ที่เคยทำร้านเครื่องเขียนมาก่อนก็มี แต่ในช่วงหลังมานี้เริม่มีคนที่คนที่เคยทำโรงงาน หรือมีพื้นที่ใกล้ๆ โรงงานก็มาซื้อแฟรนไชส์ เพราะมองเห็นโอกาสต่างๆ

ไม่หยุดแค่สินค้าสำนักงาน แต่ครอบจักรวาล B2B

OfficeMate มองว่าร้านแฟรนไชส์ หรือ OfficeMate Plus+ จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการเข้าถึงผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ได้ เพราะจุดแข็งที่มีสินค้าครอบคลุมในทุกกลุ่ม และมีช่องทางจัดจำหน่ายทั้งหน้าร้าน และ Omni Channel

ปัจจุบันบัน OfficeMate มีสินค้าในระบบทั้งหมดรวมกว่า 60,000 รายการทั้ง เครื่องเขียน, อุปกรณ์สำนักงาน, Gadget สินค้าไอที, เครื่องปริ้นต์ เมาส์, เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ และชั้นวาง ไปจนถึงสินค้าเฉพาะทาง เช่น อุปกรณ์นิรภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์สำหรับโรงงาน และซ่อมบำรุง บรรจุภัณฑ์ และเครื่องใช้ในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และคาเฟ่

รองรับความต้องการของผู้ประกอบการท้องถิ่นรายย่อย SME, รีสอร์ต, โรงแรม, บริษัทเอกชนเล็กใหญ่, หน่วยงานราชการ, โรงงานอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา

วิลาวรรณบอกว่า ร้านโมเดลนี้เรียกว่าร้าน Disruptive B2B Omni Channel Franchise ขายสินค้าได้ครอบคลุมทุกความต้องการของธุรกิจ สามารถขายได้ตลอด 24 ชม. เพราะมีหลายช่องทางรองรับ และโมเดลแฟรนไชส์นี้ไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 เท่าไหร่นัก เพราะมีช่องทางออนไลน์รองรับ อีกทั้งยังมีหลายกลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการในช่วงของการล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะอุปกรณ์ทำความสะอาด และอุปกรณ์สำนักงาน เฟอรืนิเจอร์ ที่ตอบรับเทรนด์ Work from Home

แต่ 3 กลุ่มที่น่าจับตามอง มีการเติบโตสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์, อุปกรณ์โรงงาน (Factory Supplies) และธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และบริการจัดเลี้ยง (HORECA Supplies) แต่ละตลาดมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ อย่างเช่น ตลาดอุปกรณ์โรงงานมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท ไม่มีผู้เล่นในตลาดชัดเจน ไม่มีร้านที่เป็นศูนย์รวมขายสินค้าหลายๆ อย่างรวมกัน ส่วนตลาดโฮเรก้ามูลค่านับแสนล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง มีการซื้อซ้ำเยอะ

เป้าหมายใหญ่ของ OfficeMate จึงต้องการขยายสินค้าที่ครอบคลุมจักรวาลความต้องการของธุรกิจ B2B เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้ประกอบการทั่วประเทศ ทั้งผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3.1 ล้านราย, โรงเรียน 45,000 แห่ง และองค์กรรัฐ 392 แห่ง

5 ปี ต้องมี 150 สาขา

ปัจจุบัน OfficeMate Plus+ มีทั้งหมด 6 สาขา ภายในสิ้นปีนี้จะมีเปิดเพิ่มอีก 7 สาขา รวมทั้งหมดจะมี 13 สาขา ได้แก่ ปราจีนบุรี, ร้อยเอ็ด, เลย, สุพรรณบุรี, สระบุรี, นครสวรรค์ และสมุย ภายในปี 2568 หรือภายใน 5 ปีจะต้องมีสาขาแฟรนไชส์ทั้งหมด 150 สาขา

ส่วนสาขาที่ทาง OfficeMate ลงทุนเอง ปัจจุบันมีทั้งหมด 76 สาขา เป็นสาขาใน กทม. 35 สาขา ในต่างจังหวัด 41 สาขา ในปีนี้จะเน้นรีโนเวตสาขาเดิม ในปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 2-3 สาขา เน้นเป็นแฟลกชิพสโตร์ หรือเน้นเป็นกลุ่มๆ สินค้า เช่น โฮเรก้า, อุปกรณ์โรงงาน และเฟอร์นิเจอร์ เน้นพัฒนาเซ็กเมนต์ใหม่ๆ

กลุ่มสินค้าขายดีในปัจจุบันได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้สำนักงาน ปริ้นเตอร์ รวมไปถึงสินค้าทำความสะอาดด้วย

ติดต่อที่ปรึกษาแฟรนไชส์ โทร 1281 กด 6 หรือ 065-998-2988 หรือพูดคุยทาง Line: @OFM_Plus

]]>
1294797
ชี้แนวทางการทำธุรกิจ B2B จากงาน “B2B Digital Marketing Talk” by Content Shifu https://positioningmag.com/1254554 Fri, 22 Nov 2019 15:20:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1254554 เมื่อวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2019 Content Shifu ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ความรู้ด้าน Digital Marketing ที่มีผู้ติดตามเป็นประจำในเว็บไซต์ contentshifu.com และผู้พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ เวิร์กช็อป และการจัดอบรมในองค์กร ได้จัดงานเสวนา “B2B Digital Marketing Talk”

เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้การทำการตลาดด้าน B2B (Business-to-Business) โดยมีผู้เชี่ยวชาญในสายงานการทำ Digital Marketing จาก Content Shifu, Magnetolabs และ HubSpot ร่วมถ่ายทอดแนวคิดและเคล็ดลับจากประสบการณ์ทำงานที่นำมาพัฒนากลุ่มธุรกิจ B2B ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง

เนื้อหาภายในงาน

เรียนรู้หลักการ กลยุทธ์ เทคนิค กรณีศึกษา และเครื่องมือที่ ‘ใช่’ สำหรับธุรกิจ B2B โดยเฉพาะ ภายใต้การบรรยายทั้ง 4 หัวข้อ โดยวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่

  1. คิดและลงมือทำอย่างไรให้ธุรกิจ B2B สำเร็จบนโลกดิจิทัล (How to Think and Act to be Successful in Digital Marketing in 2020) โดยคุณลินดา ไกรวณิช : ถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการทำ Digital Marketing สำหรับธุรกิจ B2B จากประสบการณ์ยาวนานกว่า 10 ปีในสายงานดิจิทัล

2. 4 กลยุทธ์การตลาดที่ช่วยให้ HubSpot เติบโตในระดับโลก (4 Marketing Strategies that Transform HubSpot’s Growth) โดยคุณ Kathryn Phyo Partner Manager ของ HubSpot กับการบอกเล่าแนวคิดและกลยุทธ์การทำธุรกิจจาก HubSpot ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์แบบ B2B ที่ “เร่ง” อัตราการเติบโตให้สูงยิ่งขึ้นและรักษาระดับให้ยั่งยืน

3. วิธีดึงดูดลูกค้า โดยใช้เงินค่าโฆษณา ‘ศูนย์’ บาท (How to Acquire Clients Using Zero Advertising Budget) โดยคุณสิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์กับการยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากดิจิทัลเอเจนซีที่ใช้เงิน ศูนย์บาท ในการลงโฆษณาเพื่อหาลูกค้า แต่เติบโตขึ้นมากกว่า 300% ใน 1 ปี

4. แม้ไม่เคยพบหน้า ก็สร้าง Trust กับลูกค้าองค์กรบนโลกออนไลน์ได้ (Online Trust Building Case Study) โดยคุณอรวี สมิทธิผลร่วมแบ่งปันกรณีศึกษาทั้งความผิดพลาดที่เคยพบ การแก้ไขปัญหา และวิธีการทำ Digital Marketing เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust) และสานสัมพันธ์กับลูกค้าองค์กรที่ใช้ได้ผลจริง

 

 

 

เดินหน้าต่อกับคลังความรู้เพิ่มเติม

นอกจากความพิเศษของเนื้อหาภายในงานแล้ว ทุกท่านที่สนใจเกี่ยวกับ B2B Digital Marketing สามารถขอรับข้อมูลการเรียนรู้เพิ่มเติมจาก Content Shifu ได้ดังนี้

 

  • แจกฟรี Presentation Slide ที่วิทยากรใช้บรรยายในงาน

 

สามารถดาวน์โหลดสไลด์ได้ที่ http://bit.ly/2KJ2SQ4

 

  • คอร์สเรียนออนไลน์สอนการใช้ซอฟต์แวร์ HubSpot คอร์สแรกของไทย

 

ภายในงานนี้ได้มีการ Demo การใช้งานซอฟต์แวร์ HubSpot ที่ทางวิทยากรใช้จริงในการทำ Digital Marketing อีกทั้งยังได้มีการประกาศเปิดตัวคอร์สเรียนออนไลน์คอร์สใหม่จาก Content Shifu โดยคอร์สนี้มีความพิเศษคือคอร์สออนไลน์สอนการใช้งาน HubSpot คอร์สแรกของประเทศไทย

สามารถติดตามคอร์สเรียนนี้ได้ที่ http://bit.ly/37Cv9Si

]]>
1254554
เตรียมพบกับ “B2B Digital Marketing Talk” งานสัมมนาครั้งใหญ่ ที่ธุรกิจ B2B ไม่ควรพลาด https://positioningmag.com/1252115 Mon, 04 Nov 2019 04:12:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1252115 ธุรกิจต่างๆ เริ่มทำ Digital Marketing กันอย่างจริงจังแล้ว แต่สำหรับวงการธุรกิจ B2B (Business to Business) ในไทย หลายคนยังไม่ค่อยแน่ใจว่า การทำ Digtial Marketing จะได้ผลดีกว่าการส่งฝ่ายขาย (Sales) ไปทำหน้าที่หรือเปล่า เพราะสินค้าหรือบริการแบบ B2B ต้องอาศัยกระบวนการและข้อมูลในการตัดสินใจซื้อ และไม่ค่อยมีกรณีศึกษาของธุรกิจ B2B ให้เห็นมากนัก (โดยมากจะเห็นเพียงกรณีของธุรกิจ B2C – Business to Consumer มากกว่า)

ด้วยความเข้าใจเช่นนั้น เป็นที่มาที่ Content Shifu แหล่งคอนเทนต์และผู้เผยแพร่ความรู้ด้าน Digital Marketing เตรียมจัดงาน “B2B Digital Marketing Talk: Getting Your Company Ready for 2020” ขึ้นใน วันพุธ ที่ 20 พฤศจิกายน 2562 สถานที่ Victor Club FYI Center (ติด MRT ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) เพื่อแชร์แนวคิด หลักการ และประสบการณ์จริงในการทำ Digital Marketing สำหรับธุรกิจ B2B โดยเฉพาะ

เนื้อหาภายในงาน

ความพิเศษในงานนี้ คือ ประเด็นที่คัดสรรสำหรับธุรกิจ B2B โดยเฉพาะ ประกอบไปด้วยการบรรยาย 4 หัวข้อ โดยวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่

    1. คิดอย่างไร ลงมืออย่างไร ให้ธุรกิจ B2B สำเร็จบนโลกดิจิทัล (How to Think and Act to be Successful in Digital Marketing in 2020) โดยคุณลินดา ไกรวณิช
    2. เทรนด์ หลักการ และตัวอย่าง B2B Digital Marketing ระดับ APAC (B2B Digital Marketing Trends, Practices and Case Studies in APAC) โดยคุณ Kathryn Phyo

 

  • วิธีดึงดูดลูกค้า โดยใช้เงินค่าโฆษณา ‘ศูนย์’ บาท (How to Acquire Clients Using Zero Advertising Budget) โดยคุณสิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์
  • แม้ไม่เคยพบหน้า ก็สร้าง Trust กับลูกค้าองค์กรบนโลกออนไลน์ได้ (Online Trust Building Case Study) โดยคุณอรวี สมิทธิผล

ทุกหัวข้อออกแบบให้ทันสมัย สามารถนำไปใช้งานได้ในปี 2020 รวมทั้งมีการเปิดเผยเบื้องหลังและเครื่องมือจริงที่ใช้ในการทำการตลาด แชร์ซอฟต์แวร์ที่ใช้จริง เปิด “หลังบ้าน” เว็บไซต์และเครื่องมือที่ใช้ในการทำ Digital Marketing เช่น Marketing Automation, Lead Generation Software, CRM (Customer Relationship Management) ฯลฯ

นอกจากความพิเศษของหัวข้อแล้ว  ภายในงานนี้จะมีการเปิดตัว Premium Content จาก Content Shifu ที่ผู้เข้าร่วมงานจะเป็นคนกลุ่มแรกที่รู้และได้สิทธิพิเศษ ทั้งนี้ หลังจากจบช่วงเสวนา จะมี Networking session เพื่อให้ธุรกิจ B2B ได้มาสร้าง Connection กัน และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการทำ Digital Marketing ภายในงานด้วย

วิธีลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

ลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน จากนั้นรอรับอีเมลแจ้งผลการเข้าร่วม* ในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน จากนั้นจึงค่อยชำระค่าบัตรเข้างาน 990 บาทกับผู้จัด ภายในวันที่ 12 พ.ย.

*หมายเหตุ งาน “B2B Digital Marketing Talk: Getting Your Company Ready for 2020” มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมงานที่เป็นธุรกิจ B2B เพื่อประโยชน์สำหรับกลุ่มผู้ฟังที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของงานโดยตรง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่ง: http://bit.ly/2p2nTxG

]]>
1252115