Financial – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 14 Feb 2024 05:43:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Standard Chartered พิจารณาแผนยกเครื่องปรับโครงสร้างธุรกิจวาณิชธนกิจ เพิ่มผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น https://positioningmag.com/1462606 Wed, 14 Feb 2024 02:04:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462606 สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) สถาบันการเงินรายใหญ่จากอังกฤษ มีแผนที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น ล่าสุดกำลังพิจารณาที่จะแผนแยกธุรกิจวาณิชธนกิจออกมาเป็นบริษัทใหม่

สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Standard Chartered กำลังพิจารณาแผนแยกธุรกิจวาณิชธนกิจออกมาเป็นบริษัทใหม่ เพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาหุ้นของสถาบันการเงินรายดังกล่าวได้ตกลงมาโดยตลอด

Bill Winter ซึ่งเป็น CEO ของ Standard Chartered กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะแยกธุรกิจวาณิชธนกิจออกมาจากกลุ่มธุรกิจการธนาคารสำหรับสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดีในการแยกธุรกิจดังกล่าวออกมานั้นอาจมีการปรับลดพนักงานด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา Standard Chartered ประสบปัญหาในการตั้งสำรองหนี้เนื่องจากมีการปล่อยสินเชื่อให้กับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (CRE) ในประเทศจีนจำนวนมาก ซึ่งรายได้จากจีนและฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมดที่สถาบันการเงินรายนี้ทำได้

ปัญหาดังกล่าวยังทำให้ราคาหุ้นของ Standard Chartered เมื่อนับจากต้นปี 2024 นั้นตกลงไปแล้วถึง 13.35% และถ้าหากนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาราคาหุ้นตกไปแล้วไม่น้อยกว่า 30%

แผนการของ Standard Chartered คือต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ให้ได้มากกว่า 10% ภายในสิ้นปี 2024 อย่างไรก็ดีแผนการดังกล่าวยังช้ากว่าคู่แข่งอย่าง HSBC ที่มีอัตราส่วนดังกล่าวมากกว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2023 แล้ว

ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา Standard Chartered ได้จ้าง CFO รายใหม่ซึ่งเคยทำงานเป็นวาณิชธนกรให้กับ Bank of America และเคยนั่งเป็นคณะกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร (Non-Executive Director) ของสถาบันการเงินในอิตาลีอย่าง Unicredit โดยการจ้าง CFO รายใหม่นี้เพื่อที่จะปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อที่จะเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น

อย่างไรก็ดีโฆษกของ Standard Chartered ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวดังกล่าวกับ Bloomberg นอกจากนี้แหล่งข่าวของสื่อรายดังกล่าวยังชี้ว่าแผนการดังกล่าวมีความเป็นไปได้หลายแนวทาง รวมถึงยังไม่มีการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

]]>
1462606
Citi ประกาศปลดพนักงานกว่า 20,000 ราย หลังผลประกอบการออกมาแย่สุดในรอบ 15 ปี https://positioningmag.com/1458707 Sun, 14 Jan 2024 09:06:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1458707 ซิตี้ (Citi) สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศปลดพนักงานจำนวน 20,000 ราย หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ซึ่งแผนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2026 หลังจากที่ผลประกอบการในไตรมาสล่าสุดออกมาย่ำแย่สุดในรอบ 15 ปี 

Citi สถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศปลดพนักงานจำนวน 20,000 ราย หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด และการปลดพนักงานครั้งนี้จะช่วยทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้มากถึง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐในระยะยาว

แผนการปลดพนักงานของ Citi จำนวน 20,000 ราย ตามหลังมาจากกระบวนการปรับโครงสร้างในรอบ 20 ปี โดยมีการทยอยปลดผู้บริหาร เพื่อลดความซับซ้อนขององค์กร และยังรวมถึงแผนล่าสุดในการนำธุรกิจในประเทศเม็กซิโกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้พนักงานนั้นลดลงอีก 40,000 คน ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินรายนี้จะมีพนักงานเหลือ 180,000 ราย โดยแผนการดังกล่าวนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2026

ตัวแทนของ Citi ได้กล่าวกับ CNN ว่า แผนการปลดพนักงานนั้นเกิดขึ้นกับธุรกิจของ Citi ที่มีอยู่ทั่วโลก แต่ปฏิเสธที่จะแจกแจงตัวเลขตามทวีปต่างๆ ซึ่งสถาบันการเงินรายดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่าย 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกิดจากกระบวนการปลดพนักงานในช่วง 2 ปีหลังจากนี้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Citi ต้องออกมาปลดพนักงานชุดใหญ่ เนื่องจากผลประกอบการของสถาบันการเงินรายนี้ในไตรมาส 4 ของปี 2023 ขาดทุนถึง 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการตั้งสำรองในส่วนต่างๆ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังเป็นผลประกอบการที่แย่สุดในรอบ 15 ปีของสถาบันการเงินรายนี้

Jane Fraser ซึ่งเป็น CEO ของ Citi ได้ออกมากล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาส 4 ถือว่า “ผิดหวังมากที่สุด”

ในช่วงที่ผ่านมา CEO หญิงของ Citi พยายามแก้ไขปัญหาด้านกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกาได้สั่งให้สถาบันการเงินรายนี้ต้องแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการด้านความเสี่ยง การจัดการด้านข้อมูล ไปจนถึงการควบคุมภายในสถาบันการเงิน

ไม่เพียงแค่การแก้ปัญหาภายในองค์กรเท่านั้น แต่ราคาหุ้นของ Citi เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ราคาหุ้นของ Citi ได้ปรับตัวลดลงสวนทางกับคู่แข่งรายอื่นที่มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ทำให้ CEO รายดังกล่าวต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ CEO ของ Citi ต้องปรับโครงสร้างไม่ใช่แค่การปลดพนักงานเท่านั้น แต่ยังมีการขายธุรกิจในต่างประเทศออกไปเพื่อลดความเสี่ยง หรือแม้แต่การฟื้นฟูงบการเงินซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐฯ กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

ที่มา – CBS News, CNN, Yahoo Finance

]]>
1458707
Citi ปรับโครงสร้างครั้งใหม่ในรอบ 20 ปี ปลดผู้บริหารออกเพื่อลดความซับซ้อนในองค์กร ตัดสินใจได้เร็วขึ้น https://positioningmag.com/1444353 Thu, 14 Sep 2023 13:31:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1444353 หนึ่งในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Citi ล่าสุดได้มีการประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยจะมีการปลดผู้บริหารออกบางส่วนเพื่อลดความซับซ้อนในองค์กร และสามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญได้เร็วขึ้น ซึ่งการปรับโครงสร้างดังกล่าวเป็นการปรับครั้งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี

Citi สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้เตรียมปรับโครงสร้างครั้งใหม่ โดยจะมีการปลดพนักงานออกที่จะเน้นไปยังผู้บริหารเป็นหลัก อย่างไรก็ดีสำหรับจำนวนการปลดพนักงานครั้งนี้ยังมีจำนวนที่ไม่แน่นอน และจะมีการจ้างผู้บริหารจากภายนอกมาช่วยดูแลธุรกิจบางส่วนด้วย

ในการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ หัวหน้าธุรกิจทั้ง 5 ฝ่ายของธนาคาร เช่น กลุ่มลูกค้ารายย่อย กลุ่มตลาดทุน กลุ่มบริหารความมั่งคั่ง ฯลฯ จะรายงานตรงต่อ CEO อย่าง Jane Fraser นอกจากนี้ธนาคารจะลดบทบาทผู้บริหารนอกสหรัฐอเมริกาลง

ไม่เพียงเท่านี้ CEO รายดังกล่าวยังเตรียมที่จะจ้างผู้บริหารจากภายนอกสถาบันการเงินมาช่วยดูแลบางฝ่ายธุรกิจของธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะมีการแต่งตั้งในช่วงหลังจากนี้

มุมมองจากอดีตพนักงานของ Citi รวมถึงพนักงานปัจจุบันมองว่า โครงสร้างองค์กรแบบดั้งเดิมของสถาบันการเงินจากสหรัฐฯ รายนี้ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร และขาดภาระความรับผิดชอบ รวมถึงยังขัดขวางความคิดริเริ่มใหม่ๆ

การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่นี้ถือเป็นอีกก้าวของ Jane Fraser ตั้งแต่เธอเข้ารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเธอได้พยายามแก้ปัญหาของสถาบันการเงินรายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายธุรกิจในต่างประเทศออกไป ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

ขณะเดียวกันเธอยังต้องแก้ไขปัญหาด้านกฎระเบียบที่หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกาสั่งให้สถาบันการเงินรายนี้ต้องแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการด้านความเสี่ยง การจัดการด้านข้อมูล ไปจนถึงการควบคุมภายในสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินรายนี้ได้รับปากที่จะแก้ปัญหา รวมถึงจ่ายค่าปรับถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ในการปรับโครงสร้างองค์กรนั้นมีสาเหตุเพื่อที่จะลดความซับซ้อน เนื่องจากจำนวนผู้บริหารที่มีมากเกินไป และยังทำให้ Citi ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงมาได้ด้วย โดย CEO รายนี้ได้กล่าวว่าการปรับโครงสร้างของสถาบันการเงินรายนี้นั้น “เป็นผลกระทบมากที่สุด” ต่อระบบการทำงานของสถาบันการเงินรายนี้ในรอบ 20 ปี

Jane Fraser ยังได้กล่าวว่าผลที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้บริหารบางคนลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากแผนการดังกล่าว อาจทำให้บางคนรู้สึกไม่สบายใจ และแผนการนี้จะต้องบอกลาพนักงานที่ได้ทำงานหนักหรือแม้แต่มีส่วนสำคัญต่อองค์กร แต่เธอได้กล่าวว่าเธอได้ทำสิ่งที่ถูกต้องรวมถึงเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นด้วย

ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นของ Citi มีผลตอบแทนแย่กว่าคู่แข่งสถาบันการเงินรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Goldman Sachs หรือ Morgan Stanley ฯลฯ แม้ว่าสถาบันการเงินรายนี้กำลังแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตาม โดยคาดว่าการปรับโครงสร้างดังกล่าวนี้จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ของปี 2024

ที่มา – CNBC, Yahoo Finance, Reuters

]]>
1444353
ปิดดีลเรียบร้อย! UBS ประกาศซื้อกิจการ Credit Suisse มูลค่า 3,250 ล้านเหรียญสหรัฐ https://positioningmag.com/1423852 Mon, 20 Mar 2023 02:17:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1423852 หลังจากที่เกิดความวุ่นวายในระบบสถาบันการเงินในสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากราคาหุ้นของเครดิตสวิส (Credit Suisse) นั้นตกลงจนต้องทำให้ธนาคารกลางของประเทศเข้ามาช่วย ล่าสุดมีการเจรจาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาให้สถาบันการเงินคู่แข่งอย่างยูบีเอส (UBS) เข้าซื้อกิจการแล้ว

UBS ได้ประกาศว่าได้เข้าซื้อกิจการของ Credit Suisse ด้วยมูลค่า 3,250 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 110,695 ล้านบาท และถือเป็นการควบรวมกิจการธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ครั้งแรกหลังจากวิกฤตการเงินในปี 2008 เป็นต้นมา

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศซื้อกิจการของ Credit Suisse สถาบันการเงินรายนี้มีมูลค่ากิจการ 7,400 ล้านฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเงินไทย 271,852 ล้านบาท

หนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้ UBS เข้าซื้อกิจการของ Credit Suisse นั่นก็คือรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์รับประกันที่จะแบกรับผลขาดทุนสูงสุดถึง 9,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 330,158 ล้านบาท เนื่องจากการขาดทุนของ Credit Suisse

การควบรวมกิจการยังทำให้ UBS มีทรัพย์สินของธุรกิจบริหารความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้นเป็น 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีสาขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ UBS คาดว่าดีลดังกล่าวทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนมากถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2027 ด้วย

ก่อนหน้านี้ 2 สถาบันการเงินดังกล่าวเคยมีข่าวลือว่าจะมีการควบรวมกิจการมาแล้วหลายครั้ง หลังจากที่ Credit Suisse ประสบปัญหาด้านการเงินในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา จนในท้ายที่สุดได้มีการเจรจากันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังราคาหุ้น Credit Suisse ตกลงอย่างหนัก จากเหตุผลที่นักลงุทนไม่ให้ความไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงินรายดังกล่าวจนทำให้ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ต้องเข้ามาให้สภาพคล่องเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดีความน่าเศร้าของการควบรวมกิจการครั้งนี้นั้นยังทำให้มีพนักงานของ Credit Suisse อาจโดนปลดมากถึง 10,000 รายจากรายงานของสำนักข่าว Reuters

คาดว่าดีลดังกล่าวจะแล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปี 2023 นี้ และกลายเป็นการปิดฉากสถาบันการเงินอายุมากถึง 167 ปีอย่าง Credit Suisse

]]>
1423852
มาทำความรู้จักเครดิตสวิส สถาบันการเงินใหญ่ ที่อาจสร้างความสั่นสะเทือนต่อระบบการเงินโลก https://positioningmag.com/1423468 Thu, 16 Mar 2023 04:22:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1423468 มาทำความรู้จักกับ เครดิตสวิส (Credit Suisse) สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ได้เตรียมที่จะขอใช้สภาพคล่องจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์มากถึง 50,000 ล้านฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเงินไทยมากถึง 1.85 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมถึงลูกค้าที่ใช้บริการ

โดยแผนการการกู้ยืมเงินของ Credit Suisse อยู่ภายใต้โครงการจัดหาเงินกู้แบบครอบคลุมและการจัดหาสภาพคล่องในระยะสั้นของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากหุ้นของสถาบันการเงินรายนี้ตกลงอย่างหนักในช่วงการซื้อขายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นหลังปิดตลาดลดลงไปมากถึง 24%

ราคาหุ้นที่ตกลงอย่างหนักของ Credit Suisse เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในหุ้นกลุ่มธนาคารทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการล้มของ Silicon Valley Bank (SVB) ทำให้ท้ายที่สุดหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสหรัฐอเมริกาต้องออกมาตรการอุ้มผู้ฝากเงินทั้งหมดในธนาคารรายดังกล่าว

เหตุการณ์ของ SVB ยังทำให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินกังวลว่าผลจากการล้มของ SVB อาจกระจายไปทั่วโลกได้ แม้ว่าจะมีมาตรการที่รวดเร็วออกมาจากฝั่งสหรัฐฯ แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ต้นทุนการเงินของธนาคารหลายแห่งสูงขึ้น จนทำให้ความอ่อนแอของสถาบันการเงินเหล่านี้โผล่ออกมา

ซึ่งความสำคัญของ Credit Suisse ถือเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก (GSIB) ซึ่งรายชื่อดังกล่าวมี 30 ธนาคาร ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ธนาคารในประเทศจีน

ความอ่อนแอของ Credit Suisse นั้นต้องไล่มาตั้งแต่เหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากช่วงวิกฤตการเงินปี 2007-2009 วิกฤตการเงินในทวีปยุโรปในช่วงปี 2010-2011 ทำให้สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีความอ่อนแอลงอย่างมาก

ปี 2021 Credit Suisse ยังต้องรับสภาพจากผลขาดทุนของการล่มสลายของ Greensill Capital ที่เป็นกองทุนที่เน้นด้านการปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสถาบันการเงินจากสวิตเซอร์แลนด์รายนี้ได้รับผลกระทบไปถึง 1,720 ล้านเหรียญสหรัฐ

และในช่วงปีดังกล่าวเองนั้น สถาบันการเงินรายนี้ยังมาเจ็บหนักกับการปล่อยกู้ให้กับกองทุนบริหารความเสี่ยงชื่อดังอย่าง Archegos Capital Management ที่สถาบันการเงินรายนี้ต้องรับรู้ถึงผลขาดทุนมากถึง 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งการรับรู้ของผลที่ขาดทุนอย่างหนักในปี 2021 ทำให้ Credit Suisse ต้องใช้ยาแรงในการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไร หรือสร้างความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินรายนี้ออกไปล็อตใหญ่

ขณะที่ในปี 2022 สถาบันการเงินรายนี้จะมีการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ จนทำให้มีอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่มากถึง 14% และที่ผ่านมา Credit Suisse ยังได้รื้อโครงสร้างภายในอีกรอบ โดยเตรียมที่จะ IPO ธุรกิจวาณิชธนกิจ (Credit Suisse First Boston) ในตลาดหลักทรัพย์หลังจากนี้ รวมถึงการปรับการบริหารภายในชุดใหญ่ก็ตาม

อย่างไรก็ดีการปรับโครงสร้างของ Credit Suisse ก็ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในเวลานี้เท่าไหร่นัก ซึ่งผลประกอบการในปี 2022 ที่ผ่านมาขาดทุนมากถึง 7,300 ล้านฟรังก์สวิส แม้ว่านักวิเคราะห์จะมีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 สถาบันการเงินรายดังกล่าวจะกลับมามีกำไรก็ตาม

ทำให้ท้ายที่สุดสถาบันการเงินรายนี้ต้องใช้กลไกของแบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง

ที่มา – Reuters [1], [2]

]]>
1423468
ทีเอ็มบีธนชาต ชู 4 กลยุทธ์ปั้นธุรกิจลูกค้าบุคคล ตั้งเป้ารายได้ปี 2023 เติบโต 10% https://positioningmag.com/1423330 Wed, 15 Mar 2023 12:45:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1423330 ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) ประกาศแผนกลยุทธ์ The Next REAL Change สำหรับธุรกิจลูกค้าบุคคล ปี 2023 ด้วยเป้าหมายการเป็นธนาคารที่ลูกค้าเลือกใช้และชื่นชอบจนต้องบอกต่อ และเน้นไปยังลูกค้า 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม Wealth พนักงานเงินเดือน คนมีรถ และคนมีบ้าน

ฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต ได้กล่าวถึง ความสำเร็จของทีเอ็มบีธนชาต ในปี 2022 ที่ผ่านมานั้นได้ช่วยลูกค้าไปเยอะมาก ในเรื่องของการเงิน เช่น การรวบหนี้ เพื่อที่จะทำให้ลูกค้าประหยัดดอกเบี้ย หรือแม้แต่ทำเรื่องการลงทุนให้กับลูกค้า การคุ้มครองจากประกันชีวิต

ในปีที่ผ่านมาฐากรยังชี้ว่า กลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยนั้นมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีฐานลูกค้าบุคคล จำนวนถึง 10 ล้านคน

สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของ TTB ในส่วนธุรกิจลูกค้าบุคคลในปีนี้นั้นจะมี 4 ด้านได้แก่

1. ขยายฐานลูกค้าบุคคล

TTB สำหรับในปีนี้ทางธนาคารจะเน้นหนักไปยังลูกค้า 4 กลุ่ม ได้แก่

  • ลูกค้ากลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง (ลูกค้ากลุ่ม Wealth) ได้มีการยึดโยงลูกค้าผ่านบัตรเครดิต ttb reserve เพื่อสร้างความแตกต่าง และตอบโจทย์ความต้องการได้ดีขึ้น ให้กับลูกค้า Wealth กว่า 40,000 ราย และยังรวมถึงในเรื่องการลงทุนของลูกค้ากลุ่มนี้ ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดพอร์ตการลงทุน หรือแม้แต่ RM คอยดูแล
  • กลุ่มพนักงานเงินเดือน ทาง TTB จะเสนอสินเชื่อสวัสดิการเพื่อช่วยลดภาระหนี้ ในอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีส่วนลดพิเศษสำหรับแผนประกันชีวิตและสุขภาพ รวมถึงมีแคมเปญเคลียร์หนี้พิเศษอย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มลูกค้าที่มีรถ ทาง TTB จะให้บริการสินเชื่อรถยนต์ ทีทีบีไดรฟ์ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง รถใหม่ รถมือสอง รถแลกเงิน  รวมไปถึงประกันคุ้มครองรถ และโปรโมชันพิเศษต่าง ๆ พร้อมเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มรถโดนใจ
  • กลุ่มคนมีบ้าน นำเสนอแผน Refinance และสินเชื่อบ้านแลกเงิน ขณะเดียวกันก็จะทำให้การอนุมัติสินเชื่อนั้นง่าย และรวดเร็ว

2. พัฒนาผลิตภัณฑ์จากความต้องการของลูกค้า

ทาง TTB จะเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบัญชีเงินฝาก ที่มีหลายรูปแบบ รวมถึงบัญชีเงินฝากที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ที่ธนาคารเริ่มผลักดันมากขึ้น บัตรเครดิตที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน

ขณะเดียวกันทางธนาคาร ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การรวบหนี้เพื่อลดภาระหนี้ให้กับลูกค้า (Debt Consolidation) ด้วยสินเชื่อบ้านแลกเงิน รถแลกเงิน ผลิตภัณฑ์ประกันหลากหลายชนิด รวมถึงด้านการลงทุน ที่ TTB จะนำเสนอกองทุนรวมหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของลูกค้า

ฐานลูกค้าบุคคลในปี 2022 ที่ผ่านมา – ข้อมูลจาก TTB

3. ยกระดับช่องทางการขายและการให้บริการ

ฐากร ยังกล่าวถึงพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งปัจจุบันลูกค้าเริ่มไปใช้บริการในสาขาลดลง แต่ใช้บริการ Mobile Banking เพิ่มมากขึ้น ทำให้ทาง TTB เพิ่มฟังก์ชั่นสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ประกัน หรือผลิตภัณฑ์อื่นนๆ ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการจัดการภาษีได้ภายในแอป หรือแม้แต่การเตือนลูกค้าถึงแอปฯ ที่ไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ฐากรยังกล่าวถึงทางธนาคารได้เตรียมเปิดสาขาทดลอง ซึ่งจะเป็นสาขาจะไม่มีการใช้เอกสารกระดาษ และจะไม่รับเงินสด ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เช่น การรับจ่ายบิลต่างๆ เขาให้เหตุผลว่าเพราะบางสาขาธุรกรรมลดลง โดยจะสามารถจองคิวในการปรึกษาการลงทุน หรือเรื่องต่างๆ ได้ดีมากขึ้น

ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาตได้กล่าวว่าภายในสิ้นปีนี้ธนาคารจะมีสาขาที่ลดลง แต่ก็จะมีการย้ายพนักงานไปยังสาขาอื่นๆ รวมถึงมองว่าพนักงานนั้นสามารถทำเรื่องต่างๆ ให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ไม่จำกัดแค่เพียงในสาขาอีกต่อไป

4. ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์สิ่งที่ลูกค้าต้องการ

ฐากร ยังกล่าวถึงการนำข้อมูลมาใช้เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชันที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด เช่น การใช้ข้อมูลพฤติกรรมการใช้บริการในแต่ละผลิตภัณฑ์มาวิเคราะห์โอกาสทางการขาย เพื่อนำเสนอได้ตรงตามความต้องการในช่วงเวลาที่เหมาะสมขณะเดียวกันได้ใช้ข้อมูลเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด  เช่น การใช้ข้อมูลในเรื่องการจัดการบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณาการปล่อยสินเชื่อและติดตามหนี้อย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงการนำข้อมูลเรื่องการทำงานในธนาคาร การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละแผนกด้วย

ในปี 2023 นี้เป้าหมายกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยของทีเอ็มบีธนชาต นั้นได้แก่ เงินฝากมีเพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท สินเชื่อบ้าน บ้านแลกเงิน คิดเป็นยอดสินเชื่อใหม่ 68,000 ล้านบาท ฐากรคาดว่ารายได้ของกลุ่มในปีนี้จะโตได้ราวๆ 10% ได้ จากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีปัจจัยที่ดีขึ้น

]]>
1423330
ผลสำรวจของ Visa เผยคนไทยสนใจใช้งาน Virtual Bank ถึง 90% ปี 73 ไทยเป็นสังคมไร้เงินสดได้ https://positioningmag.com/1423086 Tue, 14 Mar 2023 08:40:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1423086 ผลสำรวจล่าสุดจาก Visa ชี้ว่าคนไทยถึง 90% สนใจใช้งาน Virtual Bank อย่างไรก็ดีก็ยังเลือกใช้บริการของธนาคารรูปแบบปกติ เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกัน 71% ของผู้สอบถามยังชี้ว่าประเทศไทยสามารถเป็นสังคมไร้เงินสดได้ภายในปี 2573 ได้

วีซ่า (Visa) ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างในประเทศไทยที่มีอายุ 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาท จำนวน 1,050 คน จากผู้สำรวจทั้งหมดใน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม รวมกัน 6,550 คน เพื่อสอบถามถึงทัศนคติต่อการชำระเงิน

ผลสำรวจพบว่าคนไทยจำนวน 90% สนใจใช้งานธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) ซึ่งบริการดังกล่าวนั้นให้บริการเหมือนธนาคารเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฝากถอนเงิน การลงทุน ไปจนถึงเรื่องของสินเชื่อ เพียงแต่บริการดังกล่าวนี้ไม่มีสาขาของธนาคารเท่านั้น

สำหรับบริการ Virtual Bank ที่คนไทยสนใจใช้งานมากที่สุดคือ ฝากและถอนเงิน รองลงมาคือโอนเงินและชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่เพียงเท่านี้ ผลสำรวจของ Visa ยังชี้ว่าคนไทยมากถึง 92% สนใจที่จะใช้วิธีการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless)

ปัจจุบันทั้งสถาบันการเงินไทย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร หรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งต่างสนใจ รวมถึงศึกษาเรื่องการทำธุรกิจ Virtual Bank อย่างจริงจัง อย่างไรก็ดีบริษัทที่จะทำธุรกิจดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท โดยในขั้นต้นนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกใบอนุญาตให้กับผู้ที่ชนะ โดยใบอนุญาตดังกล่าวมีจำนวนจำกัดแค่ 3 ใบ

อย่างไรก็ดีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 65% กลับระบุว่าจะเลือกใช้บริการธนาคารทั่วไปเป็นบัญชีหลักมากกว่า  Virtual Bank เนื่องจากการบริการที่ดี ประสบการณ์การใช้บริการ และความน่าเชื่อถือที่ธนาคารเหล่านี้มอบให้กับลูกค้า

นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มากถึง 71% ยังเชื่อว่าประเทศไทยสามารถเป็นสังคมไร้เงินสดได้ภายในปี 2573 โดยหมวดการใช้จ่ายอันดับแรกๆ ที่จะเป็นแบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบคือ การชำระค่าสาธารณูปโภคและบริการต่างๆ การชำระเงินที่ร้านสะดวกซื้อ และการชำระเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต ตามลำดับ

]]>
1423086
กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าขยายลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เตรียมเปิดตัว Buy Now Pay Later ในปีนี้ https://positioningmag.com/1422267 Wed, 08 Mar 2023 07:56:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1422267 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าขยายลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นในปีนี้ โดยมองสัญญาณของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันเตรียมเข้ามารุกในตลาด Buy Now Pay Later ซึ่งจะมีการเปิดตัวในภายหลัง รวมถึงการรุกเข้าไปในตลาดอาเซียนมากขึ้น

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้กล่าวถึงการใช้จ่ายบัตรของลูกค้าในปี 2565 ที่ผ่านมาว่ามีสูงถึง 333,000 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อใหม่มากถึง 87,000 ล้านบาท หลังจากสภาวะเศรษฐกิจได้ฟื้นตัว รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้ช่องทางดิจิทัลในการจับจ่ายใช้สอย

สำหรับยอดใช้จ่ายของลูกค้าบัตรกรุงศรีในปีที่ผ่านมา เมื่อเรียงตามยอดใช้จ่ายมากที่สุดได้แก่ ประกันภัย ปั๊มน้ำมัน และ ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ ขณะที่หมวดต่างๆ นั้น หมวดสายการบินมากสุด รองลงมากคือตัวแทนท่องเที่ยว และสถานเสริมความงาม

ขณะเดียวกันเธอก็ยังชี้ว่าคนไทยยังใช้ QR Code สำหรับการทำธุรกรรมติดอันดับ 5 ของโลก และเธอยังเปิดเผยว่าลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลของ Krungsri Consumer ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 3 เท่า ซึ่งตัวเลขล่าสุดนั้นอยู่ที่ 549,000 ราย

ปัจจุบันกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรเครดิตกรุงศรี นาว, บัตรเครดิตโฮมโปร, บัตรเครดิตสยามทาคาชิมายะ, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน, บัตรเครดิตโลตัส, บัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า แพลทินัม และบัตรเอ็กซ์ยู ดิจิทัล การ์ด

โดยในปี 2566 กลยุทธ์ทางธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ 4 ประการได้แก่

  1. การใช้นวัตกรรมและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง ตอบโจทย์ ตรงใจ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ส่งผลทำให้สามารถสร้างรายได้ผ่านช่องทางใหม่ ๆ ได้ เช่น การทำ Data Analytics
  2. จับมือร่วมกับพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ เพื่อความเติบโต โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์จะจับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ ขยายโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
  3. มอบบริการและผลิตภัณฑ์ของกรุงศรีให้กับลูกค้า โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
  4. ขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรีในภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารที่ได้ประกาศไปว่าจะเน้นตลาดอาเซียนจริงจังมากขึ้น

สำหรับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ได้ตั้งเป้าภายในปี 2566 จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 350,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 97,000 ล้านบาท และจำนวนลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลเติบโต 20% และจะมีลูกค้าผ่านช่องทางดังกล่าวจำนวนมากขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้ประธานกรรมการของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังได้กล่าวถึงบริการ Buy Now Pay Later ที่เตรียมเปิดตัวในปีนี้ และจะใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ นำมาพิจารณาลูกค้าในแต่ละราย ซึ่งลูกค้าสามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาบริการดังกล่าวได้รับความนิยมทั่วโลกทำให้สถาบันการเงินไทยหลายรายลงมาเล่นในธุรกิจดังกล่าวมากขึ้นด้วย

]]>
1422267
LHFG ชูกลยุทธ์เน้นรายได้จากกลุ่มลูกค้ารายย่อย มองสินเชื่อรวมโตได้ 8-10% ในปีนี้ https://positioningmag.com/1421559 Fri, 03 Mar 2023 04:22:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1421559 กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประกาศกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2023 นี้ โดยโฟกัสรายได้หลักมายังกลุ่มลูกค้ารายย่อย รวมถึง SME เพื่อที่จะกระจายรายได้ นอกจากนี้การย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมายังอาเซียนยังส่งผลดีต่อกลุ่มฯ เนื่องจากปริมาณธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น

ฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องราว 3.7% โดยได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวการจ้างงานและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น คาดว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาไทยอาจสูงถึง 25.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี หลังจากที่ตัวเลข GDP ได้ประกาศออกมาเติบโตเหลือแค่ 2.6% อาจทำให้ทางกลุ่มฯ ปรับตัวเลข GDP ใหม่ได้

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะทยอยปรับลดลงตามราคาพลังงาน อย่างไรก็ดี LHFG ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เช่น การฟื้นตัวของรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบาง การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

นอกจากนี้ทาง LHFG ยังมีมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยอ้างอิงจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าเศรษฐกิจโต 2.9% มองว่าหลายพื้นที่ทั่วโลกเศรษฐกิจจะมีโอกาสชะลอตัวลง แต่ก็มีโอกาสว่าจีนอาจฟื้นตัว ซึ่งเศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

ในปี 2022 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของ LHFG มีกำไรสุทธิ 1,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.1% เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ย

กลยุทธ์ของธนาคารปี 2023 นี้ LHFG จะเน้นการเติบโตพอร์ตสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนที่ดี หรือ กลุ่ม Higher Yield ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อย หรือแม้แต่ SME รวมถึงการจับมือกับพันธมิตร เช่น บริษัท E-commerce ในการปล่อยสินเชื่อ ทางกลุ่มฯ คาดว่าสินเชื่อรวมจะเติบโตในช่วง 8-10% ในการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (Cross Selling) ผลิตภัณฑ์ของธนาคาร รวมถึงการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม

นอกจากนี้การย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน ยังสร้างผลดีให้กับกลุ่มฯ โดยเฉพาะลูกค้าจากไต้หวันที่เป็นกลุ่มภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เคมีภัณฑ์ ฯลฯ เนื่องจากปริมาณธุรกรรม และสินเชื่อที่เติบโตมากขึ้น หลังจากที่ทางกลุ่มฯ มองว่าลูกค้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับธุรกิจในกลุ่มอย่าง บริษัทหลักทรัพย์นั้นจะเพิ่มช่องทางบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงผนวกบริการผ่าน Mobile Banking ของ LH Bank ส่วนธุรกิจบริหารกองทุนรวม กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปีนี้จะเน้นไปที่กองทุนส่วนบุคคลทั้งในส่วนสถาบันและลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง

ทางกลุ่มฯ ยังได้กล่าวถึงการพัฒนารวมถึงใช้ช่องทาง Digital มากขึ้น โดยในระยะยาวธนาคารคาดว่าช่องทางดิจิทัลจะเป็นช่องทางหลักมากถึง 90%

โดยแผนระยะยาวในปี 2027 ทางกลุ่มฯ คาดว่าสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าบริษัทรายใหญ่ 35% ลูกค้า SME 30% ลูกค้ารายย่อย 30% ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น 4 เท่าจากปัจจุบัน

]]>
1421559
กรุงศรีเปิดแผนธุรกิจปี 66 มองตลาดอาเซียนเป็นรายได้ใหม่ ศึกษาธุรกิจ Virtual Bank จริงจัง https://positioningmag.com/1417775 Fri, 03 Feb 2023 02:42:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1417775 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2566 โดยเน้นให้ความสำคัญในการกระจายรายได้ของธนาคารออกไปยังธุรกิจที่ลงทุนไว้ทั่วอาเซียน โดยให้เหตุผลเนื่องจากอาเซียนเองมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงประชากรที่สูง ขณะเดียวกันประเด็นของ Virtual Bank นั้นธนาคารได้กล่าวว่ากำลังศึกษาธุรกิจนี้อย่างจริงจัง

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงแผนธุรกิจระยะกลางของธนาคารนั้นจะสิ้นสุดในปี 2566 นี้ แม้ว่าตัวของธนาคารเองได้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มาอย่างมากมายเช่น การแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบต่อ Supply Chain ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไปจนถึง Digital Transformation

ความสำเร็จของธนาคารในปีที่ผ่านมา เช่น การเปิดตัวสินเชื่อดิจิทัล U Choose การขยายกิจการไปในอาเซียนอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือทางธุรกิจกับ SB Finance ประเทศฟิลิปปินส์ และ SHB Finance ในประเทศเวียดนาม การซื้อกิจการ Home Credit ที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ในปี 2565 ที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจในอาเซียนของธนาคารนั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 6% จากรายได้รวมของธนาคาร

ความร่วมมือของธนาคารกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ เช่น การจับมือกับ Grab ในเรื่องสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ การจับมือกับ ShopeeFood ในการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า การลงทุนใน ADDX แพลตฟอร์มที่ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น

ขณะที่เรื่องของ ESG นั้นธนาคารได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในเรื่องของ ESG ตั้งแต่การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในธนาคาร หรือร่วมมือกับลูก้าในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2566 ที่ธนาคารวางไว้ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่

1. รุกตลาดอาเซียน

ธนาคารจะเริ่มกระจายรายได้ไปยังอาเซียนมากขึ้น โดยดูจากประเทศที่มีฐานประชากรที่ใหญ่ และ GDP เติบโตสูง จึงทำให้ตัวธนาคารเข้าไปทำธุรกิจในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม นอกจากนี้ธนาคารยังเชื่อมโยงลูกค้าที่เข้าไปลงทุนในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นในด้านธุรกิจ โดยมี Advisory Services สามารถให้บริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจได้ เรื่องของการโอนเงินต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศต่างๆ ในอาเซียนผ่าน Krungsri iGlobal

ธนาคารมองว่ารายได้จากธุรกิจในอาเซียนเพิ่มเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้รวมนั้นคาดว่าจะเป็นไปได้ โดยสิ่งที่แตกต่างเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆ คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ออกไปทำธุรกิจจริงๆ ซึ่งเริ่มจาก Consumer Finance โดยใช้จุดแข็งคือมีธนาคารที่ MUFG ถือหุ้นอยู่ในประเทศต่างๆ

2. เน้นธุรกรรมด้าน ESG เพิ่มขึ้น

ในปีนี้ธนาคารจะสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านและดำเนินงานตามแนวทาง ESG ผ่านหลายโครงการสำหรับลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ในส่วนของภาคธุรกิจ ยังรวมถึงการให้เงินสนับสนุนกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงาน เช่น หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์  จุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทน 

นอกจากนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อหรือธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ ESG ราวๆ 50,000-100,000 ล้านบาทให้ได้ภายในปี 2030 หรือเร็วกว่านั้น

3. Digital & Innovation

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงเรื่องของระบบดิจิทัลและนวัตกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจด้วยเช่นกัน ในปีนี้นั้นจะมีการพัฒนาระบบหลายๆ อย่าง เช่นระบบ API ที่ทำให้พันธมิตรของธนาคารสามารถนำไปใช้งานได้ ภายใต้เรื่องของ Banking As A Service ซึ่งมีบริการหลากหลายชนิด เช่น การเปิดบัญชี การคิดอัตราดอกเบี้ย ไปจนถึง ระบบ KYC 

ขณะเดียวกันธนาคารยังได้กล่าวว่ายังมีการขยาย QR Cross Border Payment ทำให้คนไทยสามารถจ่ายเงินในประเทศญี่ปุ่นผ่าน QR ในสถานที่สำคัญๆ เช่น สถานี JR บางสถานีในโตเกียว และจะขยายไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงความร่วมมือสกุลเงินดิจิทัลที่เป็นโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย (CBDC) ที่กำลังพัฒนาและทดลองระบบอยู่ในตอนนี้

ไม่เพียงเท่านี้ธนาคารยังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเช่น การอัปเกรดระบบ Mobile Banking การพัฒนาระบบ Core Banking ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต และยังมองถึงเรื่องของการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในองค์กรมากขึ้น 

ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีความท้าทาย แต่มุมมองเศรษฐกิจในอาเซียนที่ได้ประโยชน์จากการบริโภค ขณะที่เศรษฐกิจไทยมองว่า GDP โต 3.6% 

โดยธนาคารตั้งเป้าหมายทางการเงินในปีนี้คือเงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.5% ซึ่งคาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income) จะยังอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.5-2.6%

ทางด้านประเด็นของ Virtual Bank นั้นธนาคารได้กล่าวว่ากำลังศึกษาธุรกิจนี้อย่างจริงจัง

ความท้าทายปีนี้ที่เซอิจิโระมองคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังกลับมา อย่างไรก็ดีในแต่ละภาคธุรกิจกลับเติบโตไม่เท่ากัน และธนาคารพร้อมที่จะช่วยเหลือกับลูกค้าที่เปราะบางเหล่านี้ ขณะเดียวกันในด้านบวกนั้นมองเห็นโอกาสในไทยและอาเซียนนั้นทำให้กรุงศรีขยายธุรกิจเข้าไปเพิ่มเติมได้

]]>
1417775