ANA – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 26 Apr 2021 13:41:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ANA สายการบินใหญ่สุดในญี่ปุ่น เลิกใช้ ‘พลาสติก’ เสิร์ฟอาหาร มุ่งใช้ภาชนะย่อยสลายได้ https://positioningmag.com/1329375 Mon, 26 Apr 2021 13:16:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1329375 All Nippon Airways (ANA) กำลังจะเป็นสายการบินเเรกของญี่ปุ่นที่นำวัสดุย่อยสลายได้มาใช้เป็นภาชนะใส่อาหารที่เสิร์ฟให้แก่ผู้โดยสาร ขับเคลื่อนนโยบายรักษ์สิ่งเเวดล้อม

โดย ANA จะเริ่มใช้ภาชนะเสิร์ฟอาหารที่ทำจากชานอ้อยในที่นั่งชั้นประหยัดของเที่ยวบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 317 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 30% ของพลาสติกใช้แล้วทิ้งของบริษัทในช่วงปีงบประมาณ 2019

ส่วนเที่ยวบินในประเทศนั้น จะยังมีการใช้ภาชนะที่เป็นกล่องกระดาษอยู่ ซึ่งขณะนี้สายการบินยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนเป็นภาชนะจากชานอ้อยด้วยหรือไม่

ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปเริ่มจำกัดการใช้พลาสติกแล้ว ดังนั้นทางสายการบินจึงต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเตรียมตัวล่วงหน้าเจ้าหน้าที่ของ ANA กล่าวกับ Kyodo News

ภาพเปรียบเทียบระหว่างภาชนะเเบบเดิม (ขวา) เเละภาชนะเเบบใหม่ที่ทำมาจากชานอ้อยที่ย่อยสลายได้ (ซ้าย) FB : All Nippon Airways

ANA เริ่มใช้ช้อนส้อมที่ทำจากไม้ และหลอดทำจากพลาสติกย่อยสลายได้ มาตั้งเเต่ปี 2020 เเละมีนโยบายที่จะลดขยะพลาสติกต่อไปในระยะยาว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตภาชนะและการเผาทำลายขยะพลาสติก พร้อมกับการหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เเละเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม

นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ประกาศว่า ญี่ปุ่นจะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ให้เป็น ‘ศูนย์’ ภายในปี 2050 โดยรัฐบาลหวังจะทยอยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 46% ภายในปี 2030

 

 

ที่มา : Kyodonews , Japantoday

]]>
1329375
สายการบินใหญ่ญี่ปุ่น ANA เเละ JAL เริ่มทดสอบใช้ “บัตรผ่านดิจิทัล” โชว์สถานะผู้ตรวจ COVID-19 https://positioningmag.com/1308259 Mon, 30 Nov 2020 07:44:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1308259 สองสายการบินใหญ่ของญี่ปุ่น เริ่มทดสอบใช้ทดสอบระบบใบรับรองดิจิทัล สำหรับผู้เดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ ที่มีผลตรวจเป็นลบเพื่อลดความซับซ้อนของขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง

โดย All Nippon Airways หรือ ANA จะเริ่มใช้งานเเอปพลิเคชัน “CommonPass” บนเที่ยวบินระหว่างสนามบินฮาเนดะของกรุงโตเกียว กับนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน ซึ่งทาง Japan Airlines ก็กำลังพิจารณาใช้โปรแกรมใบรับรองดิจิทัลในลักษณะนี้เช่นกัน

สำหรับเเอปพลิเคชัน “CommonPass” เป็นระบบที่เเสดงผลของผู้ผ่านการตรวจ PCR รวมถึงชื่อสถานที่ตรวจ หมายเลขหนังสือเดินทาง แผนการเดินทาง สถานะสุขภาพปัจจุบันของผู้ใช้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางอื่นๆ ผ่านการสแกนทางสมาร์ทโฟน

โดยเป็นการช่วยลดขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองในสถานการณ์ COVID-19 ที่มีความซับซ้อนเเละจะทำให้ทราบอย่างรวดเร็วว่าผู้ใช้เเอปฯ นี้ มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดในการเข้าประเทศหรือไม่

สายการบินหลายเเห่งทั่วโลก อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้ “CommonPass” กับเที่ยวบินโดยสาร เช่น สายการบิน United Airlines และ Cathay Pacific Airways ของฮ่องกง ก็กำลังทำการทดลองใช้เเอปฯ นี้ ซึ่งที่ผ่านมา CommonPass ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาจาก World Economic Forum

อย่างไรก็ตาม การใช้ CommonPass อย่างเต็มรูปแบบเเละมีมาตรฐานระดับโลกนั้น ยังมีความท้าทายอยู่มากเพราะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่กักกันโรค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามประเทศต่างๆ ซึ่งต้องรอดูว่าต่อไปจะมีการพัฒนาเชื่อมต่อข้อมูลกันได้ในระดับใด

 

ที่มา : NHK , Financial Times 

]]>
1308259
10 อันดับ “แบรนด์ญี่ปุ่น” มูลค่าสูงที่สุดปี 2021 – “Toyota” ยังครองแชมป์ https://positioningmag.com/1306952 Fri, 20 Nov 2020 09:21:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306952 BrandZ และ Kantar ร่วมกันจัดทำผลสำรวจและประเมิน “แบรนด์ญี่ปุ่น” ที่มีมูลค่าสูงที่สุดประจำปี 2021 ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ภาพรวมมูลค่าแบรนด์ที่จัดสำรวจลดลง -9% บริษัทรถยนต์ “Toyota” ยังครองแชมป์มูลค่าสูงสุด ขณะที่แบรนด์อย่าง LINE, SK-II, Nintendo คือกลุ่มแบรนด์มาแรงที่เติบโตพุ่งสวนตลาด

BrandZ และ Kantar จัดทำสำรวจ “แบรนด์ญี่ปุ่น” มูลค่าสูงที่สุดประจำปี 2021 วัดจากการสำรวจอินไซต์ผู้บริโภค ภาพรวมปีนี้ มูลค่าแบรนด์ 50 อันดับแรกรวมกันอยู่ที่ 2.03 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งลดลง -9% เทียบกับปีก่อน จากจำนวน 50 แบรนด์ มี 35 แบรนด์ที่มีมูลค่าลดลง มีเพียง 12 แบรนด์ที่มูลค่าสูงขึ้นจากปีก่อน และมี 3 แบรนด์ที่เข้ามาเป็นหน้าใหม่ในโผครั้งนี้

10 อันดับ “แบรนด์ญี่ปุ่น” มูลค่าสูงที่สุดปี 2021

1) Toyota (ยานยนต์) มูลค่าแบรนด์ 2.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (-2%)
2) NTT (โทรคมนาคม) มูลค่าแบรนด์ 2.03 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (+1%)
3) Sony (เทคโนโลยี) มูลค่าแบรนด์ 1.20 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (+3%)
4) Softbank (โทรคมนาคม) มูลค่าแบรนด์ 1.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (+3%)
5) Honda (ยานยนต์) มูลค่าแบรนด์ 9.97 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-15%)
6) AU (โทรคมนาคม) มูลค่าแบรนด์ 8.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+7%)
7) Nissan (ยานยนต์) มูลค่าแบรนด์ 8.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-17%)
8) Nintendo (ความบันเทิง) มูลค่าแบรนด์ 8.59 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+19%)
9) Uniqlo (เครื่องแต่งกาย) มูลค่าแบรนด์ 8.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-16%)
10) 7-Eleven (ค้าปลีก) มูลค่าแบรนด์ 8.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-10%)

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 และการเลื่อนอีเวนต์ยักษ์ใหญ่อย่างโตเกียว โอลิมปิก 2020 ออกไป แต่บางแบรนด์ยังสามารถปรับตัวได้ดี และสร้างการเติบโตของมูลค่าแบรนด์แบบพุ่งทะยาน ดังนี้

5 อันดับ “แบรนด์ญี่ปุ่น” ที่มีมูลค่า “เติบโตสูงที่สุด” ปี 2021

1) LINE (เทคโนโลยี) มูลค่าแบรนด์ 4.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+34%)
2) Rakuten (ค้าปลีก) มูลค่าแบรนด์ 2.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+22%)
3) Nintendo (ความบันเทิง) มูลค่าแบรนด์ 8.59 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+19%)
4) SK-II (ของใช้ส่วนตัว) มูลค่าแบรนด์ 1.69 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+19%)
5) Tsuruha (ค้าปลีก) มูลค่าแบรนด์ 835 ล้านเหรียญสหรัฐ (+14%)

 

ไฮไลต์แบรนด์ที่ “น่าจับตามอง” ในปีนี้

การสำรวจครั้งนี้เป็นการสอบถามอินไซต์ผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ในแง่มุมต่างๆ เช่น ความรักของผู้บริโภคต่อแบรนด์, ความทรงพลัง, ความเป็นผู้นำ, แบรนด์ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นแค่ไหน, ความโดดเด่นและแตกต่าง เป็นต้น

เราได้เห็นรายชื่อ 10 อันดับแรกที่สร้างมูลค่าได้มากที่สุดแล้ว แต่บางแบรนด์นั้นเป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก ตั้งแต่อันดับ 1 ที่ยังยึดบัลลังก์เหนียวแน่นเป็นปีที่สอง และแบรนด์ที่กำลังเติบโตสูง จนถึงแบรนด์ที่มูลค่าติดลบก็จริง แต่ทำได้ดีที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับแบรนด์ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ยึดแชมป์อันดับ 1 เป็นปีที่สองติดต่อกัน แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายในปีแห่งวิกฤต Toyota มีมูลค่าแบรนด์ลดลงเล็กน้อยที่ -2% แต่หากคิดเป็นสัดส่วนในมูลค่ารวม 50 อันดับ แบรนด์ค่ายรถยนต์แห่งนี้มีสัดส่วนสูงขึ้นจาก 13% ในปีก่อนเป็น 14% ในปีนี้

Toyota ยังถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่ทรงพลังที่สุดของญี่ปุ่นเมื่อวัดจากมูลค่าแบรนด์ เพราะแบรนด์ยานยนต์ทั้งหมด 5 แบรนด์ที่ติดโผในปีนี้คือ Toyota, Honda, Nissan, Suzuki และ Subaru มีมูลค่ารวมกันคิดเป็น 25% ของแบรนด์ทั้งหมดที่มาจัดอันดับ

มาแรงแซงทุกโค้ง! LINE เติบโตถึง 34% ในปีแห่งความท้าทาย จนปัจจุบันไต่ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 13 จาก 50 อันดับ วิธีการสื่อสารแบรนด์ที่สดใสและสนุกสนานของ LINE คือวิธีต่อสู้กับสภาวะตลาดปัจจุบัน และทำให้แบรนด์ยังคงได้รับความนิยมในตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย

การที่แบรนด์เข้าสู่เทคโนโลยีกลุ่มใหม่ เช่น AI, กระเป๋าเงินดิจิทัล, คอนเทนต์ ทำให้แบรนด์ยิ่งมีมูลค่าสูงเพราะเข้าสู่ชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วง COVID-19 LINE กลายเป็นช่องทางสำคัญในการติดตามข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด แม้แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังใช้ LINE เป็นช่องทางในการสื่อสารไปถึงกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ทั้งให้ข้อมูล ทำแบบสำรวจ และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านช่องทางนี้

ที่สุดแห่งตำนานการเติบโต Nintendo อยู่ในอันดับที่ 8 และมีการเติบโต 19% ในปีเดียว ด้วยอุปกรณ์เกม Nintendo Switch และเกมสุดฮิต เช่น Animal Crossing และ Ringfit Adventure ทำให้เกมของ Nintendo
เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในยุคโรคระบาดได้อย่างพอดิบพอดี

เกมยังไม่ใช่แค่ความต้องการ สำหรับบางคน “เกม” กลายเป็น “ความจำเป็น” ในห้วงแห่งความเครียดและยากลำบาก ดังนั้น Nintendo ซึ่งตอบสนองคนได้ดีจึงเอาชนะใจและกลายเป็นแบรนด์ด้านความบันเทิงที่เติบโตสูงสุด

คะแนนด้านความแตกต่างของ SK-II พุ่งสูงอย่างมาก เพราะในช่วงเวลาแห่งโรคระบาด หลายคนอาจมองว่าเครื่องสำอางและสกินแคร์มีความจำเป็นน้อยลง ทำให้แบรนด์เลือกจะหยุดหรือลดการสื่อสารกับผู้บริโภค แต่ SK-II ไม่คิดเช่นนั้น

ตลอดช่วงเวลาวิกฤต แบรนด์ยังคงสื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยหันมาบุกด้านออนไลน์และทำแคมเปญผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น #NoCompetition เป็นแคมเปญร่วมกับนักกีฬาโอลิมปิก (แคมเปญเปิดตัวตั้งแต่ช่วงที่การระบาดยังไม่รุนแรงและการแข่งขันโอลิมปิกยังไม่เลื่อน) เพื่อสื่อสารว่าการแข่งขันกีฬาเป็นสิ่งที่เราเฉลิมฉลอง แต่การแข่งขันเรื่องความสวยความงามนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ

สายการบิน All Nippon Airways หรือ ANA เป็นแบรนด์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งวิกฤตหนักที่สุดในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแบรนด์จะมีมูลค่าติดลบถึง -27% (ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 28) แต่ก็ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ติดลบน้อยที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมเดียวกัน

ในช่วงเวลาวิกฤต ANA มีภาพลักษณ์ของการดูแลลูกค้าและรับผิดชอบสังคมสูงที่สุด โดยมีการออกแคมเปญ “ANA Care Promise” สำหรับสื่อสารเรื่องความปลอดภัยและความสะดวกสบาย รับรองมาตรฐานการบินแบบใหม่ในยุค New Normal รวมถึงมีการจัดทำแคมเปญ “โคโคโระ โนะ ซึบาสะ” (หัวใจติดปีก) ทำคอนเทนต์ที่ให้ความรู้ความบันเทิง สื่อสารกับผู้บริโภค

 

นวัตกรรม แตกต่าง ผู้บริโภคไว้วางใจ – 3 กุญแจหลักที่ทำให้แบรนด์แข็งแรง

ทำไมต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง? ทุกอย่างย้อนกลับมาที่ยอดขายและการเงิน BrandZ รายงานว่า แบรนด์ที่แข็งแรงคือสิ่งที่รับประกันความเสี่ยงในช่วงแห่งความผันผวนในตลาด การลงทุนเพื่อสร้างแบรนด์จะมีประโยชน์เป็นบวกในช่วงเวลาที่ตลาดหดตัวลง เพราะแบรนด์ที่แข็งแรงจะหดตัวตามช้ากว่า และเมื่อตลาดกลับมาเติบโต แบรนด์ที่แข็งแรงก็ฟื้นตัวได้เร็วกว่าด้วย

ยกตัวอย่างช่วง 5 สัปดาห์วิกฤต คือตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 2020 ดัชนีตลาดหุ้น MSCI ร่วงลงถึง 75% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 51% แต่กลุ่มแบรนด์ที่แข็งแรงในพอร์ต BrandZ ร่วงลงเพียง 42% หากนับเฉพาะ 10 อันดับแรกแบรนด์มูลค่าสูงสุดในครั้งนี้รวมกัน หดตัวลงเพียง 37%

บทเรียนในปีนี้ BrandZ ได้หยิบกุญแจหลักๆ ที่เห็นในแบรนด์ซึ่งยังเติบโตได้ในช่วงตลาดวิกฤต พบว่า จุดสำคัญของแบรนด์ยุคใหม่ที่ยังแข็งแรงคือ

1) สร้างนวัตกรรม – ภาพของความเป็นผู้นำในการดิสรัปต์วงการของตนเอง ซึ่งไม่ใช่แค่การดิสรัปต์ในระดับมหภาค เช่น การวิจัยการผลิต เท่านั้น แต่หมายถึงการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น

2) สร้างความแตกต่าง – เห็นได้ชัดมากว่าปีนี้คีย์หลักของแบรนด์ที่จะโตหรือตกคือ “ความแตกต่าง” เพราะวิกฤต COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย และมีแนวโน้มจะเลือกสินค้าที่ราคาถูกลง งดใช้เงินฟุ่มเฟือยไปกับสินค้าที่ถูกมองว่าเป็นสินค้าลักชัวรี แบรนด์ที่แข็งแรงจะเอาชนะสงครามราคานี้ได้ด้วยความแตกต่าง เป็นแบรนด์ที่ให้ความรู้สึก “คุ้มค่า” หรือ “เกินคุ้ม” กับเงินที่เสียไป ทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกผิดที่จะหยิบสินค้าราคาสูงกว่า

3)สร้างความไว้วางใจ – อีกหนึ่งคีย์สำคัญในห้วงเวลาวิกฤต แบรนด์ต้องสร้างความไว้วางใจจากลูกค้า (ANA ทำได้ดีที่สุดในเรื่องนี้) โดยความไว้วางใจจะเกิดขึ้นได้เมื่อแบรนด์มี “ความซื่อสัตย์” – ทำในสิ่งที่สัญญา กล้าที่จะยอมรับความผิดพลาด “มีตัวตนจับต้องได้” – สร้างสัมพันธ์กับลูกค้าเหมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง “ใกล้ชิด” – สร้างความรู้สึกของความผูกพัน

]]>
1306952
สายการบิน ANA ขาดทุน 4,800 ล้านดอลลาร์ มากสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ก่อตั้ง https://positioningmag.com/1303563 Thu, 29 Oct 2020 06:31:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303563 สายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ หรือ ANA ของญี่ปุ่นคาดว่า บริษัทคาดว่าจะขาดทุนมากเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้การเดินทางลดลงอย่างมาก

ANA Holdings รายงานประมาณการผลประกอบการสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า คาดว่าจะขาดทุนมากเป็นประวัติการณ์กว่า 4,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการขาดทุนสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น

รายได้ช่วง 6 เดือนนับจนถึงเดือนกันยายนอยู่ที่ประมาณ 2,800 ล้านดอลลาร์ ลดลง 72% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้ยอดขาดทุนสุทธิของช่วงดังกล่าวมากเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์ และยังไม่มีแนวโน้มว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัว เนื่องจากหลายประเทศยังไม่ผ่านพ้นวิกฤตการระบาดของ COVID-19 และเกือบทั่วโลกยังคงห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ ทางบริษัทจึงคาดว่ายอดขาดทุนสุทธิจะมากกว่า 4,800 ล้านดอลลาร์ สำหรับปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปี 2564

สายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์มีจำนวนลูกค้าลดลงอย่างมาก เที่ยวบินระหว่างประเทศลดลง 96% ขณะที่เที่ยวบินภายในประเทศลดลง 79% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ANA กำลังต่อรองกับสหภาพแรงงานของบริษัท เรื่องการเพิ่มเงินชดเชยให้แก่พนักงานที่ลาออกโดยสมัครใจ และลดรายได้ต่อปีของพนักงานทั่วไปลง 30% รวมทั้งลดค่าจ้างและโบนัสสำหรับผู้บริหาร ตลอดจนการเพิ่มวันหยุด และการพักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้ ทางสายการบินจะลดจำนวนเครื่องบินกว่า 30 ลำเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ANA กำลังรวบรวมเงินกู้จากธนาคารรายต่างๆ ของญี่ปุ่นจำนวน 400,000 ล้านเยน เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ธนาคารซูมิโตโมะ มิตซุย และธนาคารเอกชนรวม 4 แห่งจะให้เงินกู้ ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นธนาคารที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาล

เงินกู้ก้อนนี้เมื่อรวมกับเงินที่ทางบริษัทได้กู้ก่อนหน้าราว 1 ล้าน 5 หมื่นล้านเยนจากแหล่งอื่นๆ จะมีเงินทุนมากพอที่จะดำเนินธุรกิจไปได้ราว 1 ปี แต่ก็ต้องการเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมหากการเดินทางโดยเครื่องบินยังคงลดน้อยลงต่อเนื่อง

Source

]]>
1303563