KBank Private Banking – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 18 Jul 2024 13:05:44 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิด 5 ปัจจัยอ่อนไหวที่ทำให้ ‘ธุรกิจกงสี’ อาจล่มสลายเมื่อเปลี่ยนเจน https://positioningmag.com/1483282 Thu, 18 Jul 2024 10:59:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1483282 ย้อนไป 10 ปีก่อน มีคำว่า The Great Wealth Transfer หรือ การส่งต่อความมั่งคั่งระหว่างรุ่นครั้งใหญ่ โดย KBank Private Banking คาดว่าการส่งต่อความมั่งคั่งครั้งใหญ่ทั่วโลกกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2573 แต่แน่นอนว่าการส่งต่อธุรกิจไปอีกรุ่นนั้น อาจไม่ได้ราบรื่นขนาดนั้น และหลายธุรกิจก็ล่มสลายในเจนถัดมา

ทรัพย์สิน 600 ล้านล้าน จะถูกส่งต่อในอีก 6 ปี

พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director – Wealth Planning and Non-Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายในปี 2573 ผู้มีสินทรัพย์สูงทั่วโลกจะส่งต่อความมั่งคั่งมูลค่าสูงถึง 18.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 662 ล้านล้านบาท

โดยเมื่อเทียบเป็นรายภูมิภาคพบว่า อเมริกาเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีการ ส่งต่อความมั่งคั่งมากสุดในโลก ตามมาด้วยยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา หากเจาะเฉพาะในภูมิภาค เอเชีย พบว่า ผู้มีสินทรัพย์สูงอยู่ที่ 70,000 ราย คาดว่าจะมีการส่งต่อทรัพย์สินรวม 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90 ล้านล้านบาท

ธุรกิจกงสีที่อยู่รอดถึงรุ่น 4 มีไม่ถึง 3%

อย่างไรก็ตาม การส่งต่อธุรกิจครอบครัวเหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะทั่วโลกมีธุรกิจครอบครัวเพียง 30% ที่อยู่รอดในรุ่น 2 และมีเพียง 12% ที่ส่งต่อไปรุ่น 3 ส่วนที่ รอดไปถึงรุ่น 4 มีเพียง 3% และจากการสำรวจยังพบอีกว่า 50% ของคนที่มีธุรกิจส่วนตัว ไม่มีการสื่อสารเรื่องการส่งต่อธุรกิจครอบครัว

“การระบาดของโควิด ทำให้ครอบครัวในเอเชียเริ่มตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการส่งต่อทรัพย์สิน เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น แต่แม้จะตระหนักมากขึ้น กลับมีเพียงแค่ 50% ของเจ้าของธุรกิจที่วางแผนคุยกับเจนถัดไป”

5 ปัจจัยอ่อนไหวที่อาจทำธุรกิจล่ม

สำหรับ ความอ่อนไหวของโครงสร้างธุรกิจครอบครัว ที่อาจทำให้ธุรกิจล่มสลายมีอยู่ 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  • ขาดมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญ: หลายบ้านจะกำหนดทิศทางธุรกิจมาจากครอบครัว ซึ่งทำธุรกิจด้วยความเคยชิน ไม่มีมุมมองของผู้เชี่ยวชาญหรือตลาด ทำให้ธุรกิจกงสีบางบ้านไม่ได้ปรับตัว และตายในที่สุด
  • พึ่งพาผู้บริหารมากกว่าระบบองค์กร: เจ้าของธุรกิจมักจะแทรกแซง แทนที่จะปล่อยให้องค์กรทำงานตามระบบที่ควรเป็น เช่น เจ้าของลงไปดูฝั่งการขายเอง และไม่ได้ทำตามนโยบายบริษัท ทำให้ตัวธุรกิจอ่อนไหว และเมื่อวันที่ลูกหลานมาสานต่อจะถูกคาดหวังว่า เจ้าของบริษัทจะทำได้เหมือนรุ่นก่อนที่มาช่วยไกด์แนวทางทั้งหมด แทนที่จะปล่อยให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้เอง
  • ปัญหาความโปร่งใส ระบบการตรวจสอบหละหลวม จนเป็นเหตุให้เกิดการฉ้อโกง: หลายบ้านมองว่าธุรกิจก็คือทรัพย์สินส่วนหนึ่ง จึงมีการโยกเงินมาใช้จ่ายส่วนตัว ทำให้ไม่ได้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
  • จะให้โอกาสลูกหลานหรือมืออาชีพ: ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างมาก โดยบางครอบครัวให้มืออาชีพมาดูแล บางบ้านให้โอกาสคนในครอบครัว และบางบ้านทำแบบไฮบริด ซึ่งก็จะยิ่งท้าทาย เพราะมีเรื่องของตัวชี้วัด, การเติบโต, ผลตอบแทน เป็นต้น
  • การจัดการบัญชีไม่เป็นระบบ: การจัดการบัญชีรวมถึงแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้ลูกหลานอยากกลับมาสานต่อธุรกิจมากขึ้น

“ปัจจัยที่ทำให้รุ่นถัดไปจะมารับช่วงต่อคือ เขาต้องการรู้ว่าจะต้องรับอะไรจากครอบครัว และอยากเข้ามาก็ต่อเมื่อมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ เขาอยากมีอำนาจในการตัดสินใจไม่ใช่แค่ให้คนที่อาวุโสกว่าตัดสินใจ เพราะทายาทบางส่วนไม่ได้อยากรับช่วงต่อ เพราะเขาก็มีสิ่งที่อยากทำ”

คนไทยยังอยากให้ลูกหลานเป็น CEO

สำหรับแนวคิดของครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่ยัง เชื่อในการส่งต่อธุรกิจให้คนในครอบครัว เมื่อเทียบกับทั่วโลกหรือในเอเชียที่เริ่ม เปลี่ยนความคิดเเล้ว ทำให้ธุรกิจครอบครัวในเอเชียเริ่ม ปล่อยให้มืออาชีพ โดยมองว่า ในเมื่อรวยแล้ว ทำไมไม่ให้โอกาสเขาไปทำอะไรที่อยากทำ

“เขามองแล้วว่าลูกเราเก่งพอจะแข่งกับคนนอกหรือเปล่า ซึ่งในต่างประเทศ เขาอยากให้ลูกหลานเป็น ผู้ที่หุ้นที่ดีพอ และปล่อยให้มืออาชีพทำไป แต่ต้องอ่านงบบัญชีเป็น ดังนั้น ถ้าอยากมานั่งทำธุรกิจก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้ แต่ธุรกิจต้องยังเติบโตได้”

อย่างเช่น ซัมซุง ที่เลือก ลูกที่เก่งที่สุด เอามืออาชีพมานั่งทุกตำแหน่งในบ้าน และเปลี่ยนนโยบายจาก Top Down มาเป็น Bottom Up และสุดท้าย แยกธุรกิจกับครอบครัวอย่างชัดเจน โดยมีการจัดระบบบัญชีและภาษีเทียบเท่าบริษัทในตลาดตั้งแต่แรก และวางบัญชีเป็นมาตรฐานโปร่งใส

Gen 2 ไป 3 จะเริ่มเปลี่ยนผ่านยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลครอบครัวอย่างจริงจังว่ามีกี่ครอบครัวที่ส่งต่อธุรกิจให้ลูกหลาน และไม่สามารถประเมินมูลค่าการส่งต่อได้ เพราะธุรกิจส่วนใหญ่จะนำสินทรัพย์กระจายในหลาย ๆ ธนาคาร แต่ปัจจุบันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของ Gen 1 ไป Gen 2

ซึ่งการส่งต่อจาก Gen 1 ไป 2 จะยังทำได้ง่าย เพราะมีความใกล้ชิดกัน เนื่องจากเป็นรุ่นพ่อสู่ลูก หรือพี่น้อง แต่รุ่น 2-3 ที่เป็นรุ่นลูกพี่ลูกน้องจะยากขึ้น เพราะไม่ได้ใกล้ชิดกันเหมือนก่อน และ ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม เป็นธุรกิจที่ ดูแลยากที่สุด เพราะการบริหารจัดการยังเป็นแบบดั้งเดิม และมีปัญหาด้านการลงบัญชีและภาษี เนื่องจากคู่ค้าไม่ได้อยู่ในระบบ Vat นี่จึงเป็นโจทย์ที่ยากมาก ที่จะช่วยให้เขาก้าวผ่านและเข้ามาอยู่ในระบบ

ปัจจุบัน KBank Private Banking มีบริการ Family Business Transformation ที่จะช่วยกำหนดกติกา, เป้าหมาย, ทิศทาง, การจัดการโครงสร้างและระบบฝั่งธุรกิจครอบครัว โดยปัจจุบันมีลูกค้า KBank Private Banking ที่ใช้บริการประมาณ 12-15% จากลูกค้าทั้งหมด 12,000 บัญชี โดยภายในสิ้นปีคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 17%

]]>
1483282
ตลาดหุ้นผันผวนหนัก ลงทุน ‘สินทรัพย์นอกตลาด’ มาแรง ให้ผลตอบแทนดี https://positioningmag.com/1472088 Sun, 05 May 2024 08:01:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472088 KBank Private Banking ชู ‘สินทรัพย์นอกตลาด’ โดยชี้ถึงจุดเด่นไม่ว่าจะเป็น ไม่ต้องรับความผันผวนของตลาดหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง แต่ยังได้รับผลตอบแทนที่ดี

ตรีพล ภูมิวสนะ Senior Managing Director, Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงในช่วงที่ผ่านมาได้มีการออกกองทุนสินทรัพย์นอกตลาด มากถึง 10 กอง โดยลงทุนทั้งในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) 6 กองทุน กองอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด 2 กองทุน รวมถึงหนี้นอกตลาด (Private Credit) 1 กองทุน

ผู้บริหารของ KBank Private Banking ได้กล่าวว่า ภาพรวมตลาดการลงทุนทั่วโลกในปี 2024 ยังคงผันผวน จากความไม่แน่นอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก การเลือกตั้งในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ต่างๆ ไปจนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิมต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้

ตรีพลชี้ยังกล่าวถึงสภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเหล่านี้สามารถผ่านช่วงเวลาแย่ๆ มาได้ เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วโลก ซึ่งตั้งกองทุนในปี 2019 นั้นให้ผลตอบแทนเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ 58.67%

เขายังได้กล่าวถึงข้อดีของการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ไม่ว่าจะเป็น

  • สินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้น
  • Private Assets ช่วยกระจายความเสี่ยง และยังทำให้เข้าถึงการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเขาได้ยกตัวอย่างกองทุนที่มีหุ้นของ SpaceX นั้นมีผลตอบแทนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาดีพอสมควร
  • ทำให้หลายบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันบทบาทของสินทรัพย์นอกตลาดคือการเพิ่มเสถียรภาพให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้า เนื่องจากไม่มีราคาซื้อขายทุกวันเหมือนกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่หลายกิจการเองยังดำเนินต่อไปทุกวัน ตรีพลยังชี้ถึงหลายบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้นถือเป็นโอกาสลงทุนในบริษัทที่อาจพลิกโฉมธุรกิจได้ หรือเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต

แนวทางการจัดพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาด – ข้อมูลจาก KBank Private Banking

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ KBank Private Banking วางแผนนำเสนอกองทุนที่ลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดให้กับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเสนอกลยุทธ์ในการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด เพื่อที่จะลดข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ที่จะจัดแบ่งส่วนหลักและส่วนเสริมเพื่อกระจายความเสี่ยง

โดยสัดส่วนหลักของพอร์ตการลงทุนหรือ Core จะคิดเป็น 60-80% ของพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาดจะเป็นกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดกึ่งสภาพคล่อง ที่ลงทุนเพิ่มได้ทุกเดือน ขายหน่วยลงทุนได้เป็นรายไตรมาส ขณะที่สัดส่วนเสริมหรือ Satellite คิดเป็น 20-40% ของพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาด จะเป็นกองทุนหุ้นนอกตลาดตามธีมต่างๆ เช่น หุ้นนอกตลาดทั่วโลก หุ้นนอกตลาดจีน หุ้นนอกตลาดไทย หุ้นเทคนอกตลาด หุ้นอสังหาฯ นอกตลาดทั่วโลก หุ้นอสังหานอกตลาดไทย รวมถึงหนี้นอกตลาด เป็นต้น

การจัดพอร์ตในลักษณะดังกล่าว ตรีพลกล่าวว่าจะช่วยลดความผันผวนผ่านการลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากการจับจังหวะลงทุนตามธีมและเมกะเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีบริการออกแบบพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดสำหรับลูกค้าแต่ละคนโดยเฉพาะอีกด้วย

ในการนำสินทรัพย์นอกตลาดมาให้บริการลูกค้า ทาง KBank Private Banking ได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายราย ไม่ว่าจะเป็น EQT ซึ่งเชี่ยวชาญการลงทุนบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์จากประเทศสวีเดน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถระดมทุนการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่ Apollo ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านการจัดการสินทรัพย์ทางเลือกที่มียอดการปล่อยสินเชื่อนอกตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก และยังมีแผนที่จะร่วมมือกับ Goldman Sachs เพื่อร่วมสร้าง Ecosystem การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดอีกด้วย

ตรีพลยังได้กล่าวถึงว่าในอดีตนักลงทุนชาวไทยไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดมากนัก ซึ่งถือว่าแตกต่างกับในปัจจุบัน

ปัจจุบันผู้บริหารของ KBank Private Banking ได้กล่าวว่าลูกค้าสัดส่วน 10% ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ซึ่งลูกค้าหลายรายมีประสบการณ์เคยลงทุนสินทรัพย์แนวนี้มาแล้ว และเขาตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจะมีลูกค้าลงทุนเพิ่มมากขึ้นเป็นสัดส่วน 20% ของลูกค้าทั้งหมด

]]>
1472088
KBank Private Banking และ Lombard Odier ชูแนวคิด Rethink Sustainability ชี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน https://positioningmag.com/1464208 Wed, 28 Feb 2024 16:21:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1464208 ธนาคารกสิกรไทย และ Lombard Odier รวมถึง KBank Private Banking ได้ชูแนวคิด Rethink Sustainability ชี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือ CBAM ที่กำลังใช้ในทวีปยุโรปในเวลานี้

อูแบร์ เคลเลอร์  Senior Managing Partner, Lombard Odier ได้ชี้ว่า เราพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมกันมาก แต่ปัญหาของสภาวะภูมิอากาศนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่โลกเรายังพบปัญหาอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ดินเป็นพิษจากสารเคมี น้ำทะเลที่มีความเป็นกรดมากขึ้น ฯลฯ

เราอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งมาพร้อมโอกาสในการลงทุนอย่างมหาศาล ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยหันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ

Senior Managing Partner ของ Lombard Odier ยกตัวอย่างว่า ในตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านด้านเศรษฐกิจหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาด 70% ของเศรษฐกิจโลก หรือการลดใช้วัสดุต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การให้ราคากับธรรมชาติ

เขายังกล่าวว่าการที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่หันมาใช้พลังงานสะอาด หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนให้ได้คือการทำให้ผู้คนส่วนมากหันมาใช้สิ่งดังกล่าวจนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้คนหันมาใช้จำนวนมาก (Tipping Point)

อูแบร์ ได้ยกตัวอย่าง เช่น ราคาแผงโซลาร์เซลล์ถูกขึ้น ราคาของ Battery ถูกลง หรือแม้แต่ความนิยมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากกว่ารถยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว 

ไม่เพียงเท่านี้รัฐบาลในหลายประเทศ หรือแม้แต่เอกชน ยังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืนเหล่านี้ด้วย โดยคาดว่าเม็ดเงินลงทุนทั่วโลกรวมกันจะมากถึง 24.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2030 หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 883 ล้านล้านบาท

เขายังชี้ว่าการผลักดันของรัฐบาลถือเป็นอีกส่วนที่อุ้มชูให้เกิด Tipping Point ขึ้นมาได้

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ (ซ้าย) อูแบร์ เคลเลอร์ (กลาง) และ พิพิธ เอนกนิธิ (ขวา) / ภาพจาก KBank Private Banking

นอกจากนี้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ อูแบร์ ได้ชี้ว่าโมเดลธุรกิจทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เขายกตัวอย่างกรณีของ Tesla ที่ไม่ได้ขายแค่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่บริษัทได้ขาย Battery ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือการทำ Energy Distribution รวมถึงขาย Software บนรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

อูแบร์ได้ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมไอทีเองได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนมหาศาล และชี้ว่าสิ่งที่ลงทุนนั้นได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เขาชี้ว่ากำไรของกลุ่มไอทีในปี 2020 อยู่ที่ 20% มากกว่าในปี 1990 ซึ่งสัดส่วนกำไรอยู่ที่ 5% เท่านั้น

Senior Managing Partner ของ Lombard Odier ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านนั้นมาไวมาก เขาได้กล่าวถึงเรื่องการใช้พลังงานสะอาดนั้นเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาด และทำให้การใช้พลังงานจากฟอสซิลลดลงไวด้วยเช่นกัน และบริษัทผลิตพลังงานจากฟอสซิลได้รับผลจากสถาบันการเงินมากขึ้น เช่น การไม่ปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก KBank Private Banking ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำแนะนำการลงทุน มองว่านักลงทุนคือหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่มีมูลค่ามหาศาลเท่านั้น แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแห่งอนาคตไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วย

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยมุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน และเป็นผู้นำด้าน ESG ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งธนาคารพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในของธนาคารเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและยกระดับมาตรฐานสู่สากล

กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านของลูกค้าธนาคารสู่ความยั่งยืน โดยก้าวไปด้วยกัน และมองว่านี่เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากในต่างประเทศเริ่มมีการใช้มาตรการมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือ CBAM แล้ว อย่างเช่นทวีปยุโรป

]]>
1464208
KBank Private Banking ชี้ปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ แนะจัดพอร์ตการลงทุนเน้นเรื่องความเสี่ยงเป็นหลัก https://positioningmag.com/1455567 Thu, 14 Dec 2023 01:43:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1455567 KBank Private Banking มองมุมการลงทุนและสภาวะเศรษฐกิจในปี 2024 นั้น เศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ และอาจได้เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันก็แนะจัดพอร์ตการลงทุนเน้นเรื่องความเสี่ยงเป็นหลัก และแนะนำให้นักลงทุนชาวไทยถึงการลงทุนในต่างประเทศยังเป็นเรื่องสำคัญ

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2023 นี้แม้จะมีข่าวร้ายรายวันเกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นข่าวร้ายภายในประเทศไทย รวมถึงหุ้นไทย แต่ถ้าหากหันมามองภาพใหญ่แล้วนั้นปีนี้ดัชนีหุ้นโลก (MSCI World Index) นั้นให้ผลตอบแทนถึง 17.18%

แต่จิรวัฒน์ได้ชี้ว่าผลตอบแทนนั้นถ้าหากหักหุ้น 7 ตัวที่ทำผลงานได้ดีอย่างเช่น Tesla, Nvidia, Apple, Microsoft, Alphabet (Google), Amazon รวมถึง Meta ออกไปแล้ว ดัชนีหุ้นโลกจะมีผลตอบแทนแค่ 9.51% เท่านั้น

ถ้าหากข้ามฝั่งมาดูผลตอบแทนตลาดหุ้นอื่นๆ นั้น ในทวีปเอเชีย หุ้นญีปุ่นให้ผลตอบแทนมากถึง 30% ในรูปแบบเงินเยน แต่ถ้าหากคิดเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ อาจเหลือแค่ 15% เท่านั้น ขณะที่หุ้นจีนไม่ว่าจะเป็นทั้ง A-Share หุ้นที่จดทะเบียนซื้อขายในแผ่นดินใหญ่ กับดัชนีฮั่งเส็ง กลับทำผลงานไม่ดีนัก รวมถึงหุ้นไทยด้วย

ทางด้านสินทรัพย์อื่น อย่างหุ้นกู้เอกชนทั่วโลก ปีนี้ให้ผลตอบแทน 5% พันธบัตรรัฐบาล 0% ขณะที่ทองคำให้ผลตอบแทน 11% ขณะที่น้ำมันดิบให้ผลตอบแทน -9%

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจในปี 2024 ทาง KBank Private Banking ได้มองแนวโน้มของเศรษฐกิจ ได้แก่

  • เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถเลี่ยงภาวะถดถอย ยุโรปค่อยๆ ฟื้นตัว ขณะที่จีนกำลังรอมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม
  • เงินเฟ้อจะลดลง ธนาคารกลางจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย และจะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 2 หรือครึ่งหลังของปี 2024
  • ตลาดจะจับตาประเด็นการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ในส่วนการจัดพอร์ตการลงทุนนั้น KBank Private Banking ได้แนะนำให้เงินลงทุนส่วนใหญ่ (50-70%) ให้ลงทุนเป็นพอร์ตหลักในกองทุนผสมแบบ Risk-based asset allocation

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ – Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

ขณะที่เงินลงทุนในพอร์ตเสริม (30-50%) ให้กระจายลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีทั้งพันธบัตรและหุ้นกู้ เพราะดอกเบี้ยรับที่สูงกว่าอดีตและโอกาสที่ราคาจะเพิ่มขึ้นเมื่อดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลง ในส่วนของตลาดหุ้นยังมีความ  ท้าทายจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงควรเน้นกองทุนที่บริหารเชิงรุกในหุ้นเติบโตทั่วโลกรวมถึงหุ้นเอเชียที่ราคาถูกกดดันมามากทั้งในตลาดหุ้นไทย จีน อินเดีย รวมทั้งเวียดนาม

สำหรับการลงทุนในกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Funds) จะช่วยลดความผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่ไม่อิงกับภาวะตลาด แต่ควรเน้นสินทรัพย์อ้างอิงในตลาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลัก

นอกจากนี้ในปี 2024 ยังมีปัจจัยบวกที่เหมาะกับการลงทุนที่ KBank Private Banking มองคือ ยุคการลงทุนอย่างหนัก (Capex Boom) ซึ่งมีทั้งการลงทุนในพลังงานสะอาด หรือการลงทุนใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีมากขึ้นในการลงทุนได้

Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ยังได้กล่าวถึงการลงทุนในต่างประเทศนั้นมีความสำคัญ และมองว่านักลงทุนเองจะต้องเปิดมุมมองให้กว้างมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจิรวัฒน์ชี้ว่าเม็ดเงินของนักลงทุนในระดับมหาเศรษฐีนั้นจะกลับมาที่ประเทศไทยจากนโยบายภาษี แต่เม็ดเงินดังกล่าวก็ยังลงทุนในต่างประเทศเหมือนเดิม

ในส่วนของธุรกิจ KBank Private Banking ปี 2023 มีลูกค้าทั้งสิ้น ปัจจุบันมี 13,269 ราย เติบโต 2% และมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ 857,251 ล้านบาท

ทิศทางธุรกิจในปี 2024 ของ KBank Private Banking นั้นยังคงพัฒนาบริการและสานต่อโซลูชัน 4 เสาหลัก ที่ประกอบไปด้วย การลงทุนบนหลักการ Risked-based Asset Allocation การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก การลงทุนเพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว โดยคาดว่ารายได้ในปี มองรายได้ในปี 2024 จะเติบโต 15-20% จากปี 2023

]]>
1455567
KBank Private Banking แนะการลงทุนปี 2023 สินทรัพย์หลายตัวเริ่มน่าสนใจ จับจังหวะเข้าลงทุนได้ https://positioningmag.com/1413380 Thu, 22 Dec 2022 03:16:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1413380 KBank Private Banking มองการลงทุนในปี 2023 ว่าสินทรัพย์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้นกู้ ทองคำ เริ่มน่าสนใจมากขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองครั้งสำคัญคือดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อไหร่ แต่ยังเน้นในหลักการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2022 นี้ว่าหลายสินทรัพย์นั้นมีผลตอบแทนติดลบ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีหุ้นโลก (MSCI World Index) ปีนี้ช่วงผลตอบแทนที่แย่ที่สุดของดัชนีดังกล่าวนั้นอยู่ที่ -26.1% ก่อนที่ล่าสุดมีผลตอบแทนอยู่ที่ -17.9% เนื่องจากสภาวะตลาดดีขึ้น

ขณะที่สินทรัพย์อื่นๆ จิรวัฒน์มองว่าพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ทั่วโลกทำผลตอบแทนแย่มาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนของพันธบัตรและหุ้นกู้ไม่เคยแย่ขนาดนี้มาก่อน และยังเป็นอีกปีที่ผลตอบแทนทั้งตราสารหนี้กับหุ้นนั้นทำผลตอบแทนที่แย่ที่สุดในรอบหลายปีด้วย

ไม่เพียงเท่านี้สินทรัพย์อื่นๆ ก็ให้ผลตอบแทนที่แย่ ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ น้ำมัน ขณะที่พระเอกในปีนี้คือ Dollar Index ถือว่าให้ผลตอบแทนดีในบรรดาสินทรัพย์ทางเลือก

พอร์ตการลงทุนของลูกค้า

Executive Chairman ของ KBank Private Banking ได้เปิดเผยถึงการจัดพอร์ตการลงทุนให้กับลูกค้าว่าจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

  • Liquidity – พอร์ตการลงทุนที่เน้นสภาพคล่องสูงโดยมีสัดส่วนเงินสดหรือตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 15-20% ซึ่งปีนี้ได้เพิ่มสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากสภาวะตลาดที่ไม่เป็นใจ
  • Long Term Investment – พอร์ตการลงทุนระยะยาว มีสัดส่วน 60-70% เขากล่าวว่ากองทุนหลายๆ กองนั้นติดลบน้อยกว่าตลาด แต่ถ้าเป็นกองทุนที่ลงทุนในธีมต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ติดลบ แต่ KBank Private Banking แนะนำลดการลงทุนพอร์ตการลงทุนในปีนี้
  • Aspiration พอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก มีสัดส่วน 15-20% ซึ่งกองทุนที่ลงทุนใน Private Equity ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับตลาดการเงิน

ทำให้ในปี 2022 ผลตอบแทนของลูกค้า KBank Private Banking มีผลตอบแทนตั้งแต่ -3.8% ถึง -5.5% แล้วแต่ความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ซึ่งจิรวัฒน์ได้ชี้ว่าดีกว่าตลาดโดยรวม

ลงทุนปี 2023 ยังไง

จิรวัฒน์ได้ชี้ว่า ในปี 2023 นี้สถานการณ์การลงทุนน่าจะดีขึ้นกว่าปี 2022 โดยเขาชี้ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2023 นี้คือจุดที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกาขึ้นจุดสูงสุด ถ้าหากตัวเลขเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสหรัฐยังขึ้นดอกเบี้ยเท่าเดิม อย่างไรก็ดีเขาได้ชี้ว่าจุดเปลี่ยนนี้จะขึ้นอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

ถ้าหากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา 10 ปี “ยังไม่ขึ้นจุดสูงสุด”

  1. ลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น
  2. เน้นการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพสูง เช่น หุ้นบริษัทที่ความสามารถในการแข่งขัน และกำหนดราคา ทำให้สามารถเป็นผู้ชนะในภาวะเงินเฟ้อสูงได้
  3. กระจายความเสี่ยงผ่านสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุน Hedge Fund
  4. กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์นอกตลาดที่มีความผันผวนด้านราคาในระยะสั้นต่ำ

ถ้าหากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกา 10 ปี “ขึ้นจุดสูงสุด” ไปแล้ว

  1. ลงทุนบางส่วนในทองคำ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นอ่อนค่าลง
  2. หุ้นกู้เอกชนผลตอบแทนสูง (High Yield) จะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
  3. ทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น หากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพื่อต้านทานภาวะเศรษฐกิจถดถอยชัดเจนขึ้น

หัวเรือใหญ่ของ KBank Private Banking ยังมองว่าในปี 2023 ตราสารหนี้และหุ้นกู้น่าจะมีผลตอบแทนเป็นบวกได้ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ

มองธุรกิจ KBank Private Banking ในปี 2023

เสาหลักธุรกิจในปี 2023 ของ KBank Private Banking ที่จะเน้นนั้นประกอบไปด้วย การลงทุนบนหลักการ Risked-based Asset Allocation การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก การลงทุนเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว ที่ให้บริการไปแล้วถึง 790 ครอบครัว

ในปี 2022 นั้น KBank Private Banking มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 1% มีสินทรัพย์ AUM ลดลง 1% เมื่อเทียบกับปี 2021 จากสภาวะตลาด ซึ่งจิรวัฒน์มองว่าในปี 2023 ปริมาณการเติบโตของลูกค้าน่าจะกลับไปเติบโต 3-5% เท่ากับช่วงเวลาปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิดได้ 

]]>
1413380
KBank Private Banking เปิดตัวบริการ Family Office ขยายฐานลูกค้าเพิ่ม ชูจุดเด่นเน้นบริการครบวงจร https://positioningmag.com/1409561 Wed, 23 Nov 2022 10:18:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1409561 KBank Private Banking ได้เปิดบริการ Family Office หรือ “สำนักงานครอบครัว” โดยชูจุดเด่นคือบริการที่ครบวงจร นอกจากนี้ผู้บริหารยังเชื่อมั่นว่าบริการดังกล่าวยังช่วยทำให้มีโอกาสที่จะมีลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้เล่นรายแรกๆ ในประเทศไทย

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายปัจจัยกระตุ้นให้การบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งวิกฤตเงินเฟ้อ ความผันผวนของตลาดลงทุน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลอดจนนโยบายการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่าง สรรพากรไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ (FATCA) รวมถึงรัฐบาลชาติอื่นๆ ภายใต้ความตกลง Common Reporting Standard หรือ CRS ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มบุคคลสินทรัพย์สูงเกิดความตื่นตัวในการวางแผนทรัพย์สินครอบครัวและต้องการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านภาษีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังชี้ว่า จำนวนสมาชิกในครอบครัวที่มีมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการส่งต่อจากรุ่นที่ 1 ไปรุ่นที่ 2 ปัจจุบัน เป็นการส่งต่อจากรุ่นที่ 2 ไปรุ่นที่ 3 หรือจากรุ่นที่ 3 ไปรุ่นที่ 4 มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การส่งต่อทรัพย์สินมีขั้นตอนและรายละเอียดที่มากขึ้นไปด้วย

KBank Private Banking ได้ประกาศเปิดตัวบริการใหม่ Family Office หรือ “สำนักงานครอบครัว” ภายใต้บริการ Family Wealth Planning Service หรือ ที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ซึ่งแต่เดิมนั้นทาง KBank Private Banking ได้ให้คำปรึกษาเท่านั้น

บริการ Family Office ของทาง KBank Private Banking ประกอบไปด้วย

  1. งานจดทะเบียนที่ดิน เช่น รังวัด ขอราคาประเมิน จำนอง เสียภาษี เป็นต้น
  2. งานเอกสารด้านกฎหมาย เช่น ตรวจทานพินัยกรรม จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เป็นต้น
  3. งานจดทะเบียนบริษัทหรือจัดตั้งบริษัท รวมถึงจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับ
  4. งานติดตามหนี้
  5. งานติดตามทรัพย์สิน
  6. บริการจัดเก็บเอกสาร

สำหรับจุดเด่นของบริการ Family Office จาก KBank Private Banking ได้แก่

  • การจัดการแบบองค์รวม: ด้วยบริการที่ครบวงจรทำให้ลูกค้าเข้าใจภาพรวมของแผนงานทั้งหมด ทราบความเคลื่อนไหวในการทำงานแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน จึงสามารถกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนได้แม่นยำ
  • ความสะดวกและความต่อเนื่อง: ลูกค้าสามารถใช้บริการสำนักงานครอบครัวดำเนินการตามแผนได้ทันที ทำให้การบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสะดวกสบาย
  • ความเชื่อมั่น: ด้วยความร่วมมือจาก ทองเอก แอนด์ ทราทิต สำนักงานกฎหมายแนวหน้าของประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าบริการที่ลูกค้าจะได้รับนั้นจะมีมาตรฐานเดียวกับสำนักงานกฎหมายและสถาบันการเงินชั้นนำ

ค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้นลูกค้าของ KBank Private Banking จะไม่โดนเรียกเก็บค่าบริการแต่อย่างใด แต่ค่าใช้จ่ายนั้นจะเกิดขึ้นกับสำนักงานกฎหมายที่เป็นพาร์ตเนอร์ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ เป็นต้น

โดย KBank Private Banking นั้นคาดว่าบริการดังกล่าวจะทำให้ลูกค้านั้นเพิ่มมากขึ้นจากบริการดังกล่าว และมีสินทรัพย์ภายใต้การปรึกษา (AUA) มากกว่าในปัจจุบันที่ 180,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีครอบครัวที่ใช้บริการดังกล่าวแล้วมากกว่า 790 ครอบครัว

]]>
1409561
10 กลยุทธ์ลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จาก KBANK รับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ‘หุ้นยุโรป’ โดดเด่น https://positioningmag.com/1338447 Wed, 23 Jun 2021 10:03:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1338447 KBANK มองบวกเศรษฐกิจโลกปี 64 มีเเนวโน้มขาขึ้น จากเเรงหนุนฉีดวัคซีน ช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวแบบขรุขระเเนะกลยุทธ์เพิ่มน้ำหนักลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะ ‘หุ้นยุโรปที่จะโดดเด่นต่อจากสหรัฐฯ เเละสินทรัพย์ทางเลือก ปรับลดทองคำเเละพันธบัตรรัฐบาล ส่วนหุ้นไทยยังน่าสนใจ เเต่ต้องจับตาการคุมโรคระบาดรับมือโควิดกลายพันธุ์

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเร่งฉีดวัคซีน เดินหน้าเปิดเมือง รวมถึงนโยบายการเงินและการคลังที่ยังผ่อนคลาย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตได้ดี

เเต่การฟื้นตัวในแต่ละภาคธุรกิจรวมถึงภูมิภาคนั้นเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ภาคบริการมีแนวโน้มนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง หลังจากที่การค้าและการบริโภคฟื้นตัวได้ดีก่อนหน้านี้ และมีแนวโน้มถึงจุดสูงสุดแล้ว

แต่ละประเทศก็ฟื้นตัวไม่พร้อมกัน จีนได้ฟื้นตัวนำหน้าไปแล้ว ตามมาด้วยสหรัฐฯ และตอนนี้มาที่ยุโรป ส่วนประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) น่าจะฟื้นตัวในลำดับถัดไป หากคุมโควิดได้

Photo : Shutterstock

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ปรับขึ้นแบบ ‘ขรุขระ’ 

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก น่าจะขยายตัวสูงสุดในไตรมาส 3 ของปีนี้ หลังกลุ่มประเทศพัฒนาเเล้ว เริ่มขยับขึ้นเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด-19 มากขึ้น ส่วนภาพรวมการลงทุนในปีนี้ มีความแตกต่างจากปีก่อนค่อนข้างมาก

โดยทิศทางการฟื้นตัวของสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยง จึงไม่ได้เป็นลักษณะ V Shape แบบในช่วงที่ผ่านมาแล้ว แต่จะเป็นการปรับตัวขาขึ้นแบบขรุขระ ที่ต้องเผชิญกับหลุมบ่อระหว่างทาง จึงต้องปรับมุมมองการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ 

  • จีน : เศรษฐกิจจีนจะยังคงแข็งแกร่งในปีนี้ แต่มาตรการทางการเงินและการคลังจะเริ่มลดลงเพื่อลดความร้อนแรง ดังนั้นเราจะเห็นเศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ชะลอลง 
  • สหรัฐฯ: การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ได้รับแรงหนุนหลักจากสหรัฐฯ ซึ่งต่างจากช่วงที่ผ่านมาที่จีนเป็นส่วนสำคัญการเติบโตของเศรษฐกิจโลก 
  • ยุโรป: แม้ยุโรปจะเริ่มฉีดวัคซีนช้ากว่าสหรัฐฯ แต่ก็สามารถเร่งการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะหนุนภาคบริการที่เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจยุโรป นอกจากนี้เศรษฐกิจยุโรป ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งวงเงิน Recovery Fund และธนาคารกลางยุโรปก็ยังคงมาตรการผ่อนคลาย 

ผู้บริหาร KBank Private Banking มองว่า การลงทุนระยะยาวผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น

โดยจะยังคงเน้นการลงทุนหุ้นในธีม Winner of New Economy, Health is Wealth, Save the World และ Laggard and Cyclical Upturns ที่ล้วนมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะ รวมไปถึงความสามารถในการคัดเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลก จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว  

เงินเฟ้อพุ่ง เเค่ ‘ชั่วคราว’ 

ด้าน ศิริพร สุวรรณการ Managing Director – Private Banking Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ความเสี่ยงสำคัญเป็นเรื่องการกระจายวัคซีนทั่วโลกยิ่งฉีดช้า เชื้อไวรัสยิ่งมีโอกาสกลายพันธ์สูง

อีกหนึ่งความความเสี่ยง คือ เศรษฐกิจที่เติบโตจนร้อนแรงเกินไป ทำให้ต้องถอนมาตรการทางการคลังและการเงินเร็วเกินกว่าที่ตลาดคาด

ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก เป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากเป็นกาดีดตัวกลับของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในปีก่อน ที่ได้รับแรงกดดันจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาน้ำมัน ราคาทองแดง และราคาเหล็ก ฯลฯ

เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น แม้ว่าเงินเฟ้อจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้น แต่ทั่วโลกยังคงอยู่ในยุคของเงินเฟ้อต่ำ” 

ขณะที่ความกังวลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มผ่อนคลายนโยบายและถอนสภาพคล่องนั้น ล่าสุดในการประชุม FOMC เดือนมิ.. Fed ได้ปรับเพิ่มประมาณการ GDP การจ้างงาน และเงินเฟ้อ สำหรับปี 2565 และ 2566 เพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นการปรับให้สอดคล้องกับมุมมองของตลาดเท่านั้น

แต่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญจากการประชุม ได้แก่ การคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งภายในปี 2566 และการเริ่มหารือเกี่ยวกับการลดการซื้อสินทรัพย์แล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการประชุม FOMC อีกครั้งในช่วงเดือนส.. ที่จะเริ่มเห็นสัญญาณลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ลงในช่วงปี 2565 เเละจะเริ่มลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่ต้นปลายปี 2565 เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

คาดว่า ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงกลางปี 2566 โดยการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ถือว่ามีโอกาสสูง และอยู่ในวิสัยที่เหมาะสม 

10 กลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลัง

ตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director – Private Banking Business Head แนะนำ 10 กลยุทธ์การลงทุนสำหรับช่วงครึ่งปี จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้แก่

  1. ลงทุนต่อเนื่องในสินทรัพย์เสี่ยง (Stay invested in risky assets) จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีในปีนี้ จะช่วยหนุนกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียงชั่วคราว จะยังหนุนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นให้ไปต่อได้
  2. ลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักร และ Value ที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว (Capture the recovery with cyclical and value stocks) ปัจจุบันหุ้น Growth นั้นถูกซื้อขายที่ราคาสูงกว่าหุ้น Value อยู่มาก นอกจากนี้ แนวโน้มผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น จะเป็นแรงหนุนให้กับหุ้น Value มากกว่าหุ้น Growth
  3. อย่าพลาดการลงทุนในหุ้นยุโรป (Don’t miss Pan-European equities) เพราะหุ้นยุโรปและหุ้นอังกฤษมี ระดับ Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และมีศักยภาพการเติบโตของกำไรสูง
  4. ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะปรับเพิ่มขึ้น (Yields to move up at a regular pace) โดยประเมินว่าผลตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ 2% ณ สิ้นปี 2564 และ 2.5% ในช่วงปลายปี 2565 สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของดอกเบี้ยนโยบาย Fed
  5. ลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในจีน (Use carry strategies to generate yield) เพราะโดยเฉลี่ยตราสารหนี้จีนให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีอายุเท่ากันถึง 1.5% นอกจากนั้น ตราสารหนี้จีนจะได้ประโยชน์จากทิศทางเงินหยวนที่แข็งค่าอีกด้วย
  6. คงมุมมองบวกต่อค่าเงินหยวน และหาจังหวะเข้าซื้อค่าเงินยูโร (Remain overweight RMB and look for attractive entry points on EUR) เราคาดว่าเงินหยวนจะแข็งค่าสู่ระดับ 6.22 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี หนุนโดยส่งออกและดุลการชำระเงินที่แข็งแกร่ง ขณะที่ยูโรจะแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ยูโร ภายในสิ้นปีนี้
  7. คงมุมมองว่าดอลลาร์สหรัฐ จะอ่อนค่า (Remain slightly bearish on the dollar) จากข้อมูลในอดีต ดอลลาร์สหรัฐมักอ่อนค่ากว่ามูลค่าที่เหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี ดังเช่นในปัจจุบัน
  8. ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวลดลง (Remain bearish on gold) ทองคำจะถูกกดดันจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ทั้งนี้ เราคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ ราคาทองคำจะอยู่ที่ระดับ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
  9. มองหุ้นโครงสร้างพื้นฐานให้ผลตอบแทนโดดเด่น (Infrastructure should outperform) หนุนโดยแผนการฟื้นฟูของสหรัฐฯ และยุโรป ที่พุ่งเป้าไปยังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เราจึงคาดว่าราคาหุ้นกลุ่มนี้จะสามารถปรับขึ้นได้ดี หนุนโดยกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าต่อเนื่อง
  10. การลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะเป็นกุญแจสำคัญของพอร์ตแห่งอนาคต (Sustainability is a key driver of portfolio performance) บริษัทที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เช่น บริษัทน้ำมันที่เปลี่ยนธุรกิจไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือระบบโซลาร์เซลล์แทน โดยในระยะยาว บริษัทเหล่านี้ถือเป็นผู้นำเทรนด์เศรษฐกิจในโลกอนาคต

สำหรับการหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเพิ่มในช่วงตลาดที่หลากหลายและมีความผันผวนสูง เเนะให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ เช่น หุ้นนอกตลาดเเละ ‘กองรีท’ (REIT) ไปจนถึงกลยุทธ์การลงทุนแบบ Hedge Fund หรือ Structured Notes

ส่วนหุ้นกู้เอกชนจีน’ นั้น ดอกเบี้ยในฝั่งประเทศเกิดใหม่จะน่าสนใจกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ตลาดหุ้นกู้จีนก็ยังมี
เสถียรภาพมากขึ้น โดยการลงทุนในหุ้นกู้จีนในบริษัทที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดีคาดว่าจะช่วงพยุงพอร์ตโดยรวมได้ดี

“การคัดสรรหุ้นกู้คุณภาพมีความสำคัญ ในทางกลับกัน ก็ให้ลดน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะจะได้รับผลกระทบจากบอนด์ยีลด์ขาขึ้นที่จะทำให้ราคาปรับลง รวมถึงอัตราผลตอบแทนก็ต่ำมาก อาจไม่สามารถชดเชยกับแนวโน้มราคาที่ปรับลงได้” 

ด้านภาพรวมตลาดหุ้นไทย มองว่ายังมีความน่าสนใจ เพราะราคาไม่แพงและบริษัทจดทะเบียนยังทำกำไรได้ พร้อมปัจจัยหนุนจากฝั่งยุโรป เเต่ก็ยังมีความท้าทายที่ต้องจับตาอย่างเรื่องการควบคุมโควิด-19 ระลอก 3 การกระจายวัคซีน และแผนการรับมือกับการกลายพันธุ์ ซึ่งหากสามารถเปิดประเทศได้ทันดีมานด์โลก ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เเต่ถ้าไม่ทันก็จะส่งผลกระทบหนัก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวเเละบริการที่เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของไทย

 

]]>
1338447
จัดการเงิน ‘กงสี’ ยุคใหม่อย่างไร ? KBank ปรับทิศทางบริหารพอร์ตครอบครัวเศรษฐี 1.2 แสนล้าน  https://positioningmag.com/1333029 Thu, 20 May 2021 13:28:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333029 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไทย ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจครอบครัวหรือที่เรามักเรียกว่า ‘ธุรกิจกงสีคิดเป็นรายได้กว่า 80% ของจีดีพี มูลค่ารวมกว่า 3 เเสนล้านบาท

ปัจจัยเร่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากโรคระบาด ทำให้ครอบครัวผู้มีสินทรัพย์สูง เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบเเละให้ทายาทรุ่นถัดไปเข้ามาจัดการธุรกิจเร็วขึ้น 

เหล่านี้ ทำให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Service) ได้รับความสนใจจากลูกค้ามั่งคั่ง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กว่า 3 ใน 4 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นธุรกิจครอบครัว

จากสถิติพบว่า 75% เป็นธุรกิจครอบครัวไทย ที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 2 และมีเพียง 4% เท่านั้น ที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ยังจัดตั้งมาไม่นานและกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการเริ่มวางแผนเพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

จากผลสำรวจของ Lombard Odier พบว่า 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวมีความสนใจที่จะเริ่มวางแผนบริหารทรัพย์สินครอบครัวในอนาคต 

ขณะเดียวกัน PWC Family Business Survey 2019 พบว่า 64% ของธุรกิจครอบครัวยังไม่ได้เตรียมการรับมือกับการวางแผนการส่งต่อธุรกิจ รวมทั้งเรื่อง Technology Disruption

หลายธุรกิจต้องเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ทำให้ต้องเร่งปรับตัวเข้ากับ ‘New Economy’ ที่จะเปลี่ยนเเปลงไปหลังผ่านวิกฤต เป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่จะต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เเละผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ เข้ามา โดยไม่ต้องรอให้ถึงการส่งต่อสู่รุ่นที่ 3-4

Photo : Shutterstock

ความท้าทายของ ‘กงสี’ ในธุรกิจยุคใหม่ 

พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Chief – Wealth Planning, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่า ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ยังคงเน้นไปที่การขยายธุรกิจมากกว่าการวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ

โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการล่มสลายของธุรกิจครอบครัว มาจากหลายสาเหตุ เช่น ความขัดเเย้งของสมาชิก การบริหารที่ไม่เป็นระบบ การไม่มีเเผนส่งต่อธุรกิจให้ทายาท

ธุรกิจครอบครัวไทย จึงมีความท้าทายและมีความต้องการที่คล้ายคลึงกัน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

1) มองหาความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการความเสี่ยง จากการดำเนินธุรกิจและการถือครองทรัพย์สิน โดยเฉพาะการวางแผนด้านภาษีเเละต้นทุนทางภาษีที่ต้องแบกรับ

ปัจจัยเร่งสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อการเก็บภาษีที่เข้มงวดขึ้น อย่างกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) ของสหรัฐอเมริกา หรือระบบ Common Reporting Standard 

2) บริหารจัดการระบบกงสีแบบดั้งเดิมมีความท้าทายมากขึ้นในบริบทปัจจุบัน

ความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมในการตัดสินใจเป็นหลัก หลายครอบครัวจึงเร่งปรับกติกาของกงสีให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัว เช่น การจัดตั้งโครงสร้างที่เป็นระบบโดยใช้กลุ่มบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว หรือการใช้ทรัสต์ที่จัดตั้งในต่างประเทศ เพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการกงสีอย่างยั่งยืน

พร้อมทั้งวางแผนการด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่น ในกรณีที่สมาชิกคนใดประสบปัญหาด้านการเงินส่วนตัว ยังมีทรัพย์ที่ได้รับจากกองทรัสต์ เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวต่อไป รวมถึงระบบสวัสดิการสำหรับสมาชิกในครอบครัวได้อีก

3) ทัศนคติและเป้าหมายที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะทายาทรุ่นที่ 2 และ 3 ที่มีโอกาสได้ไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ แนวความคิดใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านได้

สิ่งที่สำคัญที่แนะนำแก่ลูกค้าคือ การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่และการเปิดให้พวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญ ส่วนการวางกติกาครอบครัวที่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกรุ่น ก็มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยคนกลางที่มีประสบการณ์ในการวางแผนอย่างมีระบบ

จับทางพอร์ตครอบครัวเศรษฐี 1.2 แสนล้าน 

ปัจจุบัน KBank Private Banking ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวแก่ลูกค้ามาเเล้วทั้งสิ้น 3,600 ราย คิดเป็น 720 ครอบครัว ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัว มีธุรกิจและที่ดินรวมมูลค่าราว 1.2 แสนล้านบาท ชี้ให้เห็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก

เราตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะให้บริการแก่ลูกค้าอย่างน้อย 6,000 ครอบครัว หรือประมาณ 50% ของพอร์ตจากตอนนี้ที่ให้บริการลูกค้า Family Wealth Planning ไปแล้วประมาณ 32%” 

ปัจจุบัน KBank Private Banking มีจำนวนลูกค้ารวมประมาณ 12,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 8 แสนล้านบาท

KBank Private Banking วางกลยุทธ์ใหม่เพื่อยกระดับบริการทั้งในด้านกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบติดตามผล ช่วยให้ครอบครัวสามารถวางแผนและดำเนินการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง

ต้องมีเตรียมเสริมบริการในด้านการทำสาธารณกุศลของครอบครัว และการอำนวยความสะดวกในเรื่องบริการสำนักงานครอบครัวด้วย

โดยปัจจุบันมีบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ 

  • การจัดโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินของครอบครัว (Asset Holding Structures)  
  • การบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัว (Financial Asset, Liability and Risk Management)
  • การสร้างกติกาของครอบครัวและการสืบทอดธุรกิจ อย่างเป็นระบบ (Family Continuity Planning)  
  • การวางแผนการส่งต่อทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น (Inheritance and Wealth Transfer)  
  • การทำสาธารณกุศล (Philanthropy)
  • การทำหน้าที่เป็นสำนักงานของครอบครัว (Family Office)  

โดยความยากง่ายของบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของครอบครัวนั้นๆ รวมไปถึงโครงสร้างของธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนั้นอยู่ด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา ครอบครัวระดับมหาเศรษฐีที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 อย่างกลุ่มโรงแรมท่องเที่ยว ยังมีสายป่านยาวพอจะประคับประคองธุรกิจไปได้ ในบางธุรกิจก็ใช้ช่วงนี้กลับมาปรับปรุง เปลี่ยนเเปลงเเละหันมาดูแลระบบโครงสร้างภายในของธุรกิจตนเองมากขึ้น

บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ต้องใช้เวลาและความละเอียดในการกำหนดแผนการและข้อกำหนดของแต่ละครอบครัว เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกคน เห็นพ้องต้องกัน

 

]]>
1333029
เปิดความเห็น ‘เศรษฐีเอเชีย’ มองเทค บริหารเงินกงสี ความยั่งยืน ปรับพอร์ตลงทุนในตลาดผันผวน https://positioningmag.com/1320828 Wed, 24 Feb 2021 17:23:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320828 เปิดความเห็นของเหล่า ‘เศรษฐี’ ในเอเชีย กับมุมมองด้านเทคโนโลยี การลงทุน การบริหารทรัพย์สินครอบครัว และความยั่งยืน ท่ามกลางตลาดที่ผันผวนในวิกฤต COVID-19 

Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ร่วมกับ KBank Private Banking สำรวจมุมมองและข้อกังวลของผู้มีความมั่งคั่งสูง (UHNWIs) ในประเด็นสานสัมพันธ์ เปลี่ยนผ่าน และพลิกโฉม : การเข้าถึงผู้มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาคเอเชีย ในยุค New Normal’ 

โดยรวบรวมความคิดเห็นของศรษฐี 150 ราย ใน 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน 

วินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner and Chief Executive Officer, Asia, Lombard Odier กล่าวว่า ผลกระทบจากโรคระบาดครั้งใหญ่ในศตวรรษ ทำให้เหล่านักธุรกิจชั้นนำเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว รวมไปถึงหันมาเน้นลงทุนไม่หวือหวา แต่ถือได้ยาวนานขึ้น

ผู้มีความมั่งคั่งสูงหลายราย ต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ ในช่วงที่การเดินทางยังลำบาก เราจึงได้เห็นสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มมาเปิดธุรกิจบริหารความมั่งคั่งร่วมกับสถาบันการเงิน ‘ท้องถิ่น’ มากขึ้น

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (ซ้าย) วินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner and Chief Executive Officer, Asia, Lombard Odier (ขวา)

เเม้เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำ เเต่ธุรกิจ Private Banking ที่ดูเเลลูกค้ามั่งคั่ง กลับมีผลประกอบการดีที่สุดในรอบหลายปี เพราะพิษเศรษฐกิจสะเทือน ‘รากหญ้า’ มากกว่า ‘คนรวย’

Lombard Odier เเละ KBank Private Banking คาดว่า แนวโน้มการเติบโตของบุคคลผู้มีสินทรัพย์สูง หรือ Ultra High Net Worth Individuals : UHNWIs ในเอเชียจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ราว 10-15% ภายหลังวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เเละสงครามการค้าคลี่คลายลง

“จำนวนของเศรษฐีใหม่ในเอเชียจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามเทรนด์การลงทุนในธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ ที่เเจ้งเกิดเเละเติบโตในช่วง COVID-19”

สำหรับในประเทศไทย มองว่า ธุรกิจที่จะสามารถ ‘ฟื้นตัวได้เร็ว’ จากวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจด้านพลังงาน ,  ธุรกิจด้านวัสดุหรือวัตถุดิบ (Material) และธนาคาร

เทคโนโลยี : more digital…เเต่ยังชอบ ‘พบปะพูดคุย’ 

ผลสำรวจนี้ ชี้ให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงในการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล

กว่า 81% ของคนรวยในเอเชีย เห็นว่าการติดต่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และลดการพบปะกันลง more digital, less physical จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่

โดยผู้มีความมั่งคั่งสูงในไทยที่คิดเห็นเช่นนี้ มีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 3 ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม พวกเขามองว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่สามารถขับเคลื่อนบนโลกดิจิทัลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการติดต่อสื่อสาร และการสร้างความไว้วางใจระหว่างลูกค้าและ Private Bank

เพราะการลงทุนครั้งละกว่าร้อยล้านพันล้าน การได้พูดคุยกันต่อหน้ายังมีความจำเป็น

โดย 59% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียและในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังคงต้องการพบปะพูดคุยที่ธนาคารหรือสถานที่อื่นๆ มากกว่าการติดต่อผ่านทางอีเมล จดหมาย วิดีโอคอล หรือโทรศัพท์

เมื่อสถานการณ์ COVID-19 จบลง ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยจำนวนหนึ่งกล่าวว่า การพบปะกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการดำเนินธุรกิจ และไม่คิดว่ากิจกรรมเหล่านี้จะสามารถทดแทนได้ผ่านการติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์

การลงทุน : ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่

ผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชีย เห็นความผันผวนของตลาดมากขึ้น เเต่กลุ่มนักลงทุนที่เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมากเเล้ว ‘ไม่ได้ตื่นตระหนกต่อวิกฤตครั้งนี้มากนัก”

ผลสำรวจ ระบุว่า70% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย เเละ 81% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียไม่ได้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะระยะเวลาของการลงทุน

สำหรับด้านการบริหารสินทรัพย์ แม้ว่าจะมีผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียบางส่วน เลือกที่จะบริหารจัดการแบบที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (Conservative) โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เงินฟรังก์สวิส เงินเยน และพันธบัตรรัฐบาล

“แต่ก็ยังมีผู้มีความมั่งคั่งสูงอีกจำนวนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสในช่วงเวลานี้ โดยให้ความสนใจกับหุ้น และตราสารหนี้ภาคเอกชน เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่” 

โดย 78% มองว่าภาวะดอกเบี้ยตํ่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคหลัง COVID-19 และอาจดําเนินต่อเนื่องไปอีกทศวรรษ

ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยกว่า 87% กล่าวว่า การมีบริการพิเศษที่นอกเหนือบริการด้านลงทุนจะส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการเลือกธนาคาร โดยบริการ 3 อันดับแรกที่มีความสำคัญสูงสุด ได้เเก่ 

  • บริการด้านสินเชื่อ
  • ความสามารถในการเข้าถึงเครือข่ายผู้ประกอบการ
  • ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงิน
  • การเข้าถึงโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์

บริหารทรัพย์สินครอบครัว : สนใจ ‘ธรรมาภิบาล’ มากขึ้น 

ความผันผวนของตลาด ทำให้ผู้มั่งคั่งในเอเชีย เริ่มกลับมา ‘ทบทวน’ ธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพย์สินครอบครัวและการดําเนินธุรกิจในระยะยาว และทําให้เรื่องนี้เร่งด่วนขึ้น

สำหรับประเทศไทย 35% ของครอบครัวผู้มีความมั่งคั่งสูงได้มีการจัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวแล้ว และวิกฤตในครั้งนี้ก็ได้ส่งผลให้อีก 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวสนใจที่จะเริ่มวางแผนในอนาคต

นอกจากนี้ บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Advisory Service) ได้กลายเป็นอีกหนึ่งบริการที่เติบโตสูงที่สุด และเข้ามาตอบโจทย์การบริหารจัดการที่ดินของครอบครัวผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย

สำหรับในปี 2020 ที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้ทำการศึกษาและดูแลพอร์ตการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งสูงจำนวน 121 ราย โดยครอบคลุมที่ดินทั้งหมด 940 แปลง

เศรษฐีรุ่นใหม่มองความ ‘ความยั่งยืน’ คืออนาคต 

เหล่ามหาเศรษฐี เริ่มตระหนักถึงสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตหลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งเทรนด์ ‘ความยั่งยืน’ เป็นที่สำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินใจเลือก Private Bank

69% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย ได้จัดอันดับให้เทรนด์ด้านความยั่งยืนเป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่สำคัญที่สุด โดยไทยคือประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเป็นที่สอง รองจากญี่ปุ่น

แม้ว่า 89% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียกล่าวว่า เทรนด์ความยั่งยืนจะยังคงมีบทบาทสำคัญในระยะยาว แต่กลับมีเพียง 61% ที่วางแผนการลงทุนโดยคำนึงถึงมิติด้าน ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้มีความมั่งคั่งสูงบางส่วน ยังไม่เชื่อมั่นว่าการลงทุนด้านความยั่งยืนจะสร้างผลตอบแทนท่ีดีได้ โดย 1 ใน 3 ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชีย (ส่วนใหญ่จาก ฮ่องกง ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์) ไม่มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนที่คํานึงถึงมิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไพรเวทแบงก์ในการให้คำแนะนำ เพื่อแสดงให้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงเห็นถึงศักยภาพและแนวทางการสร้างผลกำไรของการลงทุนอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“กลุ่มเศรษฐีรุ่นใหม่ ให้ความสําคัญกับความยั่งยืนเป็นลําดับต้นๆ และต้องการใช้บริการของธนาคารที่มีการลงมือด้านนี้อย่างจริงจัง” 

4 เรื่องที่ Private Bank ต้องพัฒนา 

KBank Private Banking ให้บริการการบริหารความมั่งคั่งแก่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนกับธนาคาร ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ส่วน Lombard Odier เป็นบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งที่มีประสบการณ์กว่า 220 ปี ดูแลสินทรัพย์รวมของลูกค้าทั่วโลกกว่า 290 พันล้านฟรังก์สวิส (ข้อมูล วันที่ 30 มิถุนายน 2563)

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ระบุว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นความต้องการของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่เพิ่มขึ้นและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

KBank Private Banking เเละพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Lombard Odier มองว่ามี 4 เรื่องที่ผู้ให้บริการต้องทำเพื่อช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้า ได้แก่

  1. เร่งพัฒนาคุณภาพของบริการดิจิทัล ทั้งในด้านการสื่อสาร การส่งมอบบริการ การรายงานข้อมูลทางการเงิน และการทำธุรกรรม ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการให้บริการของไพรเวทแบงเกอร์
  2. สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง ติดตั้งเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้สะดวกขึ้นในทุกๆ ผลิตภัณฑ์
  3. เสริมความแข็งแกร่งของบริการที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลงทุนในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนนอกตลาดและลงทุนโดยตรงในบริษัท หรือบริการให้คำแนะนำด้านอสังหาริมทรัพย์และการวางแผนความมั่งคั่ง
  4. เป็นสื่อกลางในการพิสูจน์ให้เห็นถึงผลตอบแทนในระยะกลางและระยะยาวของการลงทุนอย่างยั่งยืน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม (ที่นี่)

 

]]>
1320828