KKP Research – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 15 Nov 2021 05:49:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เมื่ออุตสาหกรรมแข่งไม่ไหว หรือภาคบริการคือคำตอบของไทย? https://positioningmag.com/1360917 Sun, 14 Nov 2021 14:27:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1360917 KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าถึงแม้นักท่องเที่ยวจะยังคงสามารถกลับเข้ามาได้หลังจากโควิด-19 จบลง ภาคบริการที่พึ่งพาเฉพาะการท่องเที่ยวจะไม่เพียงพอเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

จากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ และอาจทำให้เติบโตได้ช้าลงกว่าเดิม จากทั้งปัญหาการถูกทิ้งห่างด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงอายุ และการเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์โลก หรือหมายความว่า เศรษฐกิจไทยแบบเก่ากำลังไม่เหมาะกับโลกยุคใหม่ที่มีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างมาก” 

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเสี่ยงที่การท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 จะฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่ากับที่คาด จากทั้งกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% อาจไม่กลับมาอย่างถาวรและในกรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวจีน (ประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยว) ไม่กลับมาในระยะยาวตามนโยบายของจีนที่สนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดค่อนข้างมาก

เหตุการณ์นี้กำลังเร่งให้ไทยต้องมองหาเครื่องยนต์อื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการเติบโตที่อาจลดลงในระยะยาว 

ภาคบริการเดิมไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว 

ภาคบริการมีความหลากหลายตามนิยามโดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มบริการสมัยใหม่ที่เน้นการใช้นวัตกรรม เช่น กลุ่มสื่อสารและสารสนเทศ
  2. กลุ่มบริการดั้งเดิมที่เน้นการใช้แรงงานทักษะต่ำ และเน้นการค้าระหว่างประเทศ (Low-Skill Tradable Services) เช่น ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง
  3. กลุ่มบริการที่ใช้แรงงานทักษะต่ำและพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก (Low-Skill Domestic Services) เช่น ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์
  4. กลุ่มบริการที่เน้นแรงงานทักษะสูง (High-Skill Intensive) เช่น แพทย์ การศึกษา
Photo : Shutterstock

เมื่อพิจารณาลักษณะของภาคบริการไทยยังพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริการแบบเก่าซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นตัวตามเศรษฐกิจมากกว่าตัวนำเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจาก

  1. โครงสร้างภาคบริการไทยยังอยู่ในกลุ่มบริการแบบเก่า เช่น การค้าปลีกค้าส่ง การขนส่ง การให้บริการสาธารณะ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มน้อย
  2. ภาคบริการไทยไม่ได้ทำหน้าที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม
  3. การเติบโตหลักของบริการในระยะหลังเกิดจากภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนทิศทางนโยบายของไทยในอดีตว่า ภาคบริการไทยยังไม่ได้รับการใส่ใจจากนโยบายภาครัฐและไม่ได้ถูกผนวกเข้าเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวทำให้โครงสร้างภาคบริการของไทยยังเป็นภาคบริการแบบเก่า

บริการโตได้แต่ตามหลังประเทศพัฒนาแล้ว  

ภาคบริการเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศพัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มมีความสำคัญมากขึ้น โดยประเทศรายได้สูงมีแนวโน้มพึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคบริการในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา

KKP Research มองว่าลักษณะสำคัญของบริการในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ภาคบริการสามารถเติบโตได้ดี เกิดจากองค์ประกอบของภาคบริการที่มักมีลักษณะเป็นบริการสมัยใหม่ในสัดส่วนที่สูง ตัวอย่างเช่น การบริการในกลุ่ม IT คอมพิวเตอร์ ภาคการเงิน ผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือธุรกิจ (Professional Business Services) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30%-40% จากบริการทั้งหมด เทียบกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนประมาณ 10%-20% เท่านั้น

สำหรับเศรษฐกิจไทยถือว่ามีสัดส่วนภาคบริการค่อนข้างใหญ่ คือ ประมาณ 60% ของ GDP แต่เป็นบริการสมัยใหม่เพียงประมาณ 14% เท่านั้นสะท้อนชัดเจนว่าภาคบริการไทยยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก 

KKP Research ประเมินว่าลักษณะของภาคบริการในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นบริการสมัยใหม่ (Modern Services) สร้างโอกาสสำคัญให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมจากลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ  

1) ภาคบริการสมัยใหม่มีลักษณะที่สามารถช่วยส่งเสริมศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกที่เกิดจากภาคบริการพบว่าประเทศพัฒนาแล้วพึ่งพาภาคบริการในประเทศเป็นหลักเกินกว่า 80% ของบริการทั้งหมดในขณะทีไทยพึ่งพาบริการในประเทศเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าทั้งหมดเท่านั้น

2) ภาคบริการสมัยใหม่สามารถเพิ่มขนาดตลาด (scalable) ผ่านการหารายได้จากการค้ากับต่างประเทศ (Tradeable) ได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตและมูลค่าของการค้าบริการสูงกว่าการค้าสินค้าปกติ สะท้อนโอกาสจากการเติบโตในภาคบริการที่ยังมีอยู่สูง

3) เทคโนโลยีใหม่มีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มโอกาสการขยายตัวและประสิทธิภาพของภาคบริการในอนาคต (Innovation) โดยเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาจะให้ประโยชน์มากกว่ากว่ากับกลุ่มบริการแบบใหม่ (Modern Services) โดยสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ผ่านรูปแบบของ Online Outsourcing ในขณะที่บริการแบบเก่าได้ประโยชน์น้อยกว่าเนื่องจากเป็นกลุ่มบริการที่ต้องเจอหน้ากันโดยตรง เช่น การค้า การท่องเที่ยว

ลักษณะของภาคบริการสมัยใหม่อาจเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ภาคบริการสามารถทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาภาคการผลิตมาก่อนตามความเชื่อแบบเก่า ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนว่าในระยะต่อไปประเทศไทยควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคบริการเพิ่มเติมจากภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน  

การพัฒนาภาคบริการไทยยังเผชิญอุปสรรคมหาศาล 

ภาคบริการในแต่ละกลุ่มมีโอกาสในการเติบโตและต้องการปัจจัยสนับสนุนที่แตกต่างกัน KKP Research ประเมินว่าในภาพรวมการพัฒนาภาคบริการไทยจะเจอความท้าทายมหาศาลแต่ยังมีโอกาสในบริการบางกลุ่มอยู่บ้าง ได้แก่

Photo : Shutterstock
  1. ภาคบริการสมัยใหม่ (Modern Services) มีโอกาสเติบโตจากการยกระดับสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แต่ไทยขาดการลงทุนด้าน R&D และนวัตกรรม และแรงงานมีฝีมือซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา ทำให้ในระยะสั้นประเทศไทยจะไม่มีศักยภาพมากพอในการพัฒนาไปสู่ Modern Services และเป็นศูนย์กลางบริการของโลกได้
  2. ภาคการเงินมีโอกาสเติบโตจากความเชื่อมโยงของภาคการเงินระหว่างประเทศที่มากขึ้น แต่ไทยยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบและข้อจำกัดในระบบการเงิน โอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค (Financial Center) ในไทยจึงมีความท้าทายสูง
  3. อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ (Low-Skilled Labor) เช่น การท่องเที่ยว การค้าปลีกค้าส่ง ยังเติบโตได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ในระยะยาวต้องเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ภาคบริการในกลุ่มนี้ของไทยมีโอกาสเติบโตได้แต่ต้องหันไปพึ่งพาปัจจัยด้านคุณภาพมากขึ้น เช่น พัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูงรวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยวและการค้า
  4. บริการที่เน้นแรงงานทักษะสูงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะแนวโน้มความต้องการดูแลสุขภาพและการเข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่ไทยยังการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางและเทคโนโลยีด้านการสื่อสารขั้นสูง บริการสุขภาพของไทยมีศักยภาพในการเติบโตผ่านการสนับสนุนท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แต่ต้องเร่งดำเนินการในหลายเรื่อง คือ 1) เพิ่มจำนวนแรงงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 2) การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโทรคมนาคม

นโยบายภาครัฐ ปัจจัยสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภาคบริการ 

แม้ภาคบริการอื่นๆ ของไทยนอกเหนือจากการท่องเที่ยวในปัจจุบันจะยังเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก การพัฒนาภาคบริการให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีมูลค่าเพิ่มที่สูง และผนวกเข้าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ

ทั้งในแง่ของการช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในทางอ้อม ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทยในมิติของการกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกในยุคของ De-Globalization และสร้างโอกาสให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาจากลักษณะของภาคบริการที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก 

Photo : Shutterstock

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร สรุปภาพรวมว่าเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์และสามารถพัฒนาภาคบริการได้อย่างเต็มที่ในระยะต่อไป จำเป็นต้องดำเนินนโยบายในอย่างน้อย 4 เรื่องหลัก

  1. การปฏิรูปกฎระเบียบ เพิ่มการแข่งขันในภาคบริการ
  2. การปฏิรูปและปรับปรุงระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน การพัฒนาภาคบริการจะเกิดขึ้นได้จากแรงงานที่มีทักษะสูงซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของภาคบริการซึ่งต่างจากภาคอุตสาหกรรม
  3. การลดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของภาคบริการ ภาคบริการยังถือเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับการปกป้องมากที่สุดของไทย การเปิดเสรีจะช่วยให้การพัฒนาภาคบริการเกิดเร็วขึ้น
  4. เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดแรงงานและตลาดทุน โดยเปิดให้มีการแข่งขันในตลาดแรงงาน และตลาดทุนอย่างเสรี จะช่วยส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกลุ่มผู้ประกอบการในภาคบริการ 

การพัฒนาภาคบริการในระยะยาวจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง และการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวจำเป็นต้องพิจารณาโอกาสของภาคบริการในการเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มไปด้วย การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้หรือการพัฒนาบริการเชิงสร้างสรรค์จะเป็นอีกหนึ่งทางออกของไทย 

]]>
1360917
จุดเปลี่ยน เมื่อโลก ‘ไม่สนใจ’ ไทย นักลงทุนหาย ส่งออก-ผลิตเทคฯ ล้าหลัง ติดหล่มคอร์รัปชัน https://positioningmag.com/1343221 Tue, 20 Jul 2021 12:32:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1343221 เมื่อไทยไม่น่าดึงดูดส่งสัญญาณต่างชาติเทขายหุ้นต่อเนื่อง นักลงทุนไทยหนีไปต่างประเทศกว่า 3 แสนล้าน การลงทุน FDI ลดลงเรื่อยๆ ติดหล่มคอร์รัปชัน สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออกผลิตเทคโนโลยีล้าหลัง-ตกยุค ทำเเค่รับจ้างผลิต เวียดนามเเซงขึ้นมาชิงส่วนเเบ่งตลาด เเนะรัฐต้องเร่งส่งเสริม 4 ด้าน เพราะ ‘ถึงเวลาต้องเปลี่ยน’ 

KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์ จุดเปลี่ยนการส่งออก เมื่อโลกเริ่มไม่สนใจไทยอีกต่อไป โดยจับสัญญาณความสนใจการลงทุนที่ลดลงในหลายมิติ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

มิติแรก คือ การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ตลาดหุ้น ที่นักลงทุนต่างชาติมีสัญญาณขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันนักลงทุนในไทยก็เริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปี 2021 ที่ในไตรมาส 1 นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างชาติแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท

มิติที่สอง คือ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) พบว่าในปัจจุบันต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ในขณะที่บริษัทไทยก็เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน

มิติที่สาม เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญ คือ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก โดยในปี 2021 การส่งออกทั่วภูมิภาคขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้เร็ว แต่สัญญาณที่เราเห็น คือ การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในโลก

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย มีสัดส่วนของสินค้าส่งออกที่ใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีคู่แข่งที่น่ากลัวเพิ่มขึ้น และต่างชาติกำลังมีความต้องการสินค้าไทยลดน้อยลง” 

สินค้าส่งออกไทย กำลังจะ ‘ตกยุค’ 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันที่ ‘ลดลง’ มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ดังต่อไปนี้

สาเหตุในชั้นแรก เกิดจากสินค้าส่งออกหลักของไทยปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ โดย สินค้าใน 5 กลุ่มหลัก คือ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ สินค้าเกษตร และปิโตรเคมี มีสัญญาณชะลอตัวลงหรือไม่สามารถขยายตัวได้ดีเท่ากับในอดีต

เมื่อพิจารณาความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Revealed Comparative Advantage) พบว่าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว มีความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงชัดเจนที่สุด

[เวียดนามชิงส่วนเเบ่งตลาดโลก เเซงไทย]

ส่วนแบ่งตลาดโลกในกลุ่มสินค้าหลักทั้งหมดเริ่มคงที่ในระยะหลัง ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่าง ‘เวียดนาม’ มีส่วนแบ่งตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นและแซงไทยในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างคงที่ คือ 1.42% ในปี 1995 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.45% ในปี 2018

“ขณะที่เวียดนาม เริ่มจากไม่มีสินค้าส่งออกกลุ่มนี้เลยในปี 1995 กลับมีส่วนมีส่วนแบ่งตลาดถึง 4.1% ในปี 2018 สอดคล้องกับโครงสร้างการส่งออกของเวียดนามที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง”

และในปัจจุบันมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มโทรศัพท์แบบเครื่องและพกพาถึงประมาณ 20% ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ส่วนแบ่งตลาดโลกในสินค้าเกษตรของเวียดนามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนอยู่ที่ระดับ 1.48% ในระดับใกล้เคียงกับไทยที่ 1.99% ในปี 2018

[ผลิตเทคฯ ล้าหลัง ]

ยิ่งไปกว่านั้นสินค้าส่งออกของไทยหลายอย่างกำลังเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ และปัจจัยสนับสนุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ เช่น

1) สินค้าอิเลกทรอกนิกส์ ที่ไทย ‘ไม่มีการส่งออก’ ใหม่ ๆ เช่น เช่น ชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก และไทยยังเป็นฐานการผลิต Hard Disk Drive เป็นหลักซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น Solid State Drive

2) ‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’ ที่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่น เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงที่ชัดเจนขึ้น และบริษัทญี่ปุ่นเริ่มมีกำไร

3) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเก่า ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า

4) สินค้าเกษตรกำลังเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่มากขึ้น ในขณะที่ผลิตภาพการผลิตของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

5) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีความเสี่ยงจากต้นทุนที่อาจสูงขึ้นในอนาคต ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เริ่มมีปริมาณการผลิตลดลงเรื่อยๆ

ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่มีเทคขั้นสูง ทำแค่ ‘รับจ้างผลิต’ 

สาเหตุในชั้นที่สอง ไทยไม่มีสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และทำหน้าที่เพียงรับจ้างผลิต เมื่อพิจารณาโครงสร้างการเติบโตของสินค้าส่งออกไทยในช่วงกว่า 25 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเติบโตในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางเฉพาะรถยนต์

“ไม่มีทิศทางการพัฒนาไปสู่การส่งออกในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับต่างประเทศเเล้ว ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่น้อยกว่าภูมิภาค คือ 19%” 

เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดเท่านั้นในปี 2019 เทียบกับเวียดนามที่ 28% และเอเชียที่ 26% ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพียง 2.2% ขณะที่เอเชียโตเฉลี่ยถึง 6.6% โครงสร้างการส่งออกที่ยังเป็นสินค้าแบบเก่าทำให้ในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค

อีกประเด็นที่น่ากังวล คือ ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้าและไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มจากการผลิต (Value added) ที่บริษัทไทยสร้างได้ พบว่าอยู่ในสัดส่วนคงที่มาโดยตลอด สะท้อนว่าในช่วงที่ผ่านมายังไม่เกิดกระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสู่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่น ๆ โดยเฉพาะประเด็นการเข้าสู่ สังคมสูงอายุ’ ที่เลี่ยงไม่ได้ จะเป็นอีกปัจจัยลบต่อการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจ ทั้งมิติขนาดของตลาดและความพร้อมของแรงงาน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การขาดการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาใหม่ ๆ ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในไทยลดน้อยลงไป

ผูกขาดสินค้า ติดหล่มคอร์รัปชัน

สาเหตุในชั้นสุดท้าย คือ นโยบายของรัฐยังไม่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระยะยาว เมื่อพิจารณาจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดย IMD (World Competitiveness Index) ไทยอยู่ในลำดับที่ 40 ในปี 2019 ซึ่งแม้ไทยไม่อยู่ในลำดับที่แย่มาก แต่มีอุปสรรคใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และส่งผลไปถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สามารถพัฒนาไปตามเทรนด์โลก ทั้งในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดของตลาดสินค้าในประเทศจาก ‘ปัญหาการคอร์รัปชัน’ การเอื้อประโยชน์พวกพ้องทำให้ไม่เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพราะไม่คุ้มค่าสำหรับบริษัท ปัญหาด้านคุณภาพแรงงาน ที่แรงงานยังไม่ถูกพัฒนาไปเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและท้าทายของเศรษฐกิจระยะยาว ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐในไทยยังไม่ให้ความสำคัญในการมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และการปฏิรูปกฎระเบียบที่เหมาะสมพร้อมดึงดูดการลงทุน

Photo : Shutterstock

พึ่งพาท่องเที่ยวไม่ได้อีกต่อไป

จากปัญหาความสามารถในการแข่งขันเหล่านี้ อาจกำลังผลักให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ ‘จุดเปลี่ยน’ ในอย่างน้อยใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

เศรษฐกิจไทยในอดีตที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอาจไม่ได้ผลอีกต่อไปในอนาคต

หากประเทศไทยยังไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างการส่งออกที่ชัดเจนอาจทำให้สินค้าส่งออกไทยไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าเดิม หรืออาจหดตัวลงในบางกรณี เช่น หากทั่วโลกหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน จะกระทบภาพการส่งออกรถยนต์และการจ้างงานในประเทศอย่างมหาศาล

ดุลการค้าของไทยอาจจะเกินดุลลดลงและสร้างความเสี่ยงกับฐานะการเงินระหว่างในระยะยาว

ในวันนี้หลายฝ่ายยังเชื่อว่าดุลบุญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลอยู่จะกลับมาเกินดุลจากนักท่องเที่ยวที่จะทยอยกลับมาในปี 2564 และ 2565

KKP Research ต้องการชี้ให้เห็นว่ายังมีความเสี่ยงใน ‘กรณีเลวร้าย’ ที่ความสามารถในการแข่งขันของไทยแย่ลงไปเรื่อย ๆ และไทยเสียส่วนแบ่งตลาดในสินค้าส่งออกหลักของไทย ทำให้รายได้ของคนในประเทศลดลงและไทยต้องหันมานำเข้าสินค้าที่เคยส่งออก เป็นไปได้ที่จะทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเปลี่ยนจากเกินดุลเป็นขาดดุล สร้างความเสี่ยงให้เงินบาทเปลี่ยนทิศทางจากแข็งค่าเป็นอ่อนค่าลงได้

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกไทยยังมีข้อได้เปรียบในแง่ความซับซ้อนของสินค้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างดีและสามารถต่อยอดสู่สินค้าใหม่ ๆ ได้ แนวทางการพัฒนาสินค้าของไทยยังสามารถต่อยอดจากสินค้ากลุ่มเดิมทั้งจากการเร่งให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีมาสู่ผู้ประกอบการไทย และการขยายการผลิตสินค้าไปในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์

เเนะรัฐส่งเสริม 4 ด้าน 

KKP Research เเนะนำว่าเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ ภาคเอกชนต้องมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และรัฐก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทาง ส่งเสริม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญใน 4 ด้าน คือ

1) การพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ พัฒนาการศึกษาและคุณภาพแรงงานให้มีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ

2) การเข้าถึงตลาดและเพิ่มขนาดของตลาด เพื่อขายสินค้าผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรี อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องพัฒนาเศรษฐกิจและสินค้าในประเทศให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก

3) โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัย เช่น การขนส่ง การปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีและการใช้สิทธิทางภาษีให้วางแผนและเข้าใจง่าย การเตรียมความพร้อมด้าน ICT และ High Speed Broadband

4) สถาบันเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี ปราศจากการคอร์รัปชัน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้

KKP Research ระบุว่า ในระยะต่อไปรัฐจำเป็นต้องดำเนินโยบายเชิงรุกมากขึ้นเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจความต้องการของนักลงทุน ออกนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติรายใหม่ ๆ ที่ตรงจุดเพื่อสร้างจุดเริ่มต้นให้ไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ ได้

“แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา การไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและหวังพึ่งพาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดิม ๆ อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับวันนี้” 

 

 

 

 

]]>
1343221
ปีหน้าฟื้นยาก! KKP หั่นเป้า GDP ปี 2021 โตแค่ 3.4% ท่องเที่ยวซบยาว ธุรกิจกลาง-เล็ก จ่อปิดกิจการ https://positioningmag.com/1298164 Tue, 22 Sep 2020 08:21:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298164 KKP Research ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 จาก 5.2% เหลือ 3.4% กรณีเลวร้ายสุดอาจโตเเค่ ระดับ 0%-1% เท่านั้น มองภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าเดิม คาดนักท่องเที่ยวลดเหลือเเค่ 6.4 ล้านคน เเละมีความเสี่ยงจะต่ำกว่านี้ หากไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จริง แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การว่างงาน ความเสี่ยงปิดกิจการ ยังน่าเป็นห่วง

ไทยจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น หากยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยว

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์ฉบับล่าสุด แสดงความกังวลถึงเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ระบุว่า เเม้ไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อในประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง 

เเต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย พบว่ามีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนมากถึง 12% ของ GDP ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนวิกฤต COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากและช้ากว่าประเทศอื่นๆ มากในภาวะที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา

หนึ่งในสัญญาณที่อาจสามารถสะท้อนให้เห็นทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้บ้าง คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยซึ่งเปรียบเทียบแล้วตลาดหุ้นไทยแทบไม่ฟื้นตัวในขณะที่หุ้นในหลายประเทศฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับจุดก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 แล้ว

สำหรับในปี 2020 นี้คาดว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้บางส่วนในช่วงปลายปีนี้ 

โดยมองไปในปี 2021 ไทยจะยังคงเผชิญกับโจทย์อันท้าทายในการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวงกว้าง เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านความสามารถในการกักตัวและติดตามนักท่องเที่ยว ประกอบกับพัฒนาการของวัคซีนที่มีแนวโน้มจะยังไม่สามารถใช้ได้ทันในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ต้องเปลี่ยนการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2021 จาก 17 ล้านคน เหลือเพียง 6.4 ล้านคน

คาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับเข้ามาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2021 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติก่อน COVID-19 ที่มีจำนวนมากถึง 40 ล้านคน

KKP Research จึงปรับการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2021 เหลือเพียง 3.4% เมื่อเทียบกับการหดตัวถึง 9% ในปีนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 3-4 ปีกว่าที่จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ 

อย่างไรก็ตาม สมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ในกรณีเลวร้ายที่ประเทศไทยอาจไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้เลยในช่วงปี 2021 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งการจ้างงานและการเลิกกิจการของบริษัทในวงกว้าง การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของหนี้เสีย (NPL) ที่จะฉุดรั้งการบริโภคและการลงทุนในประเทศ เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจจะหดตัวลึกไปกว่าเดิม และอาจโตได้ในระดับ 0%-1% เท่านั้น

เราเที่ยวด้วยกัน ยังกระตุ้นไม่พอ

ผลกระทบจากการไม่มีนักท่องเที่ยวทำให้หลายพื้นที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในระดับสูง โดยจังหวัดที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Domestic Product: GPP) อยู่ในระดับสูง (มากกว่า 50% ของ GPP) คือ ภูเก็ต และพังงา ยังคงมีอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำภายหลังสิ้นสุดมาตรการปิดเมือง เฉลี่ยไม่ถึง 10% ในเดือนกรกฎาคม จากระดับปกติที่เกือบ 80% ในปี 2019

ถึงแม้จะมีมาตรการรัฐอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ตามที่คาดหวังไว้ เเต่จากการใช้มาตรการมากว่า 2 เดือน ยังมีการใช้สิทธิ์จองที่พัก เพียง 1 ล้านจาก 5 ล้านสิทธิ์ หรือ 20% เท่านั้น

โดยพื้นที่ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และสามารถเดินทางไปด้วยรถยนต์ได้ อาทิ หัวหิน พัทยา เนื่องจากความกังวลต่อ COVID-19 ยังคงมีอยู่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังคงเลือกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากกว่าเครื่องบิน อีกทั้งคนที่ยังมีกำลังซื้อส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ฯ จึงทำให้หลายพื้นที่ยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้

ถึงแม้ว่าหลายพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวไทยยังคงไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญไปจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยในปีที่ผ่านมารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศทั้งหมด ส่งผลให้รายได้ของโรงแรมลดลงและหลายโรงแรมต้องปิดตัวไป โดยปัจจุบันโรงแรมกว่า 40% ของโรงแรมทั้งหมดยังคงปิดบริการชั่วคราวอยู่ 

ข้อมูลจากการขอใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน ยังแสดงให้เห็นความแตกต่างของการฟื้นตัวในกลุ่มโรงแรมที่พักด้วยกันเอง โดยคนใช้สิทธิ์จองที่พักมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,900 บาทต่อคืน หรือกล่าวได้ว่าโรงแรมที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงแรมระดับ 3 ดาวขึ้นไป

ขนส่ง-ค้าปลีก เริ่มฟื้นครึ่งปีหลัง 

ธุรกิจแต่ละประเภทได้รับผลกระทบแตกต่างกันจากการหดตัวของนักท่องเที่ยว เมื่อย้อนดูข้อมูล GDP ไตรมาส 2 ปี 2020 ที่หดตัว 12.2% มากที่สุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 และเมื่อมองในระดับธุรกิจเราจะเห็นผลกระทบที่ต่างกันไป โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้เเก่

  • ธุรกิจที่พักอาศัยและอาหาร -50.2%
  • การเดินทาง -38.9%
  • การผลิต -14.4%
  • ค้าปลีก -9.8%

ส่วนธุรกิจที่ยังพอขยายตัวได้ คือ การก่อสร้าง +7.3% บริการทางการเงิน +1.7% และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร +1.6%

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการปิดเมือง เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจหดตัวลงในช่วงไตรมาส 2 โดยผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นใน ธุรกิจการเดินทางและการขนส่ง การค้าปลีก และที่พักและอาหาร ซึ่งผลจากการปิดเมืองทำให้รายได้ของธุรกิจกลุ่มนี้หายไปประมาณ 10% 

อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปีนี้ธุรกิจในกลุ่มนี้อาจปรับตัวดีขึ้นบ้างหลังการเปิดเมือง แต่ยังคงอยู่ในแดนติดลบจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ

“ในปี 2021 การฟื้นตัวจะแตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในแต่ละกลุ่มที่ไม่พร้อมกัน กลุ่มธุรกิจที่พึ่งพานักท่องเที่ยวสูงจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก ขณะที่กลุ่มที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศและการส่งออกเป็นหลัก เช่น การค้าปลีก ค้าส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภาคการผลิต จะสามารถกลับมาขยายตัวได้บ้างตามการฟื้นตัวของการบริโภค ในขณะที่ภาคการก่อสร้างอาจฟื้นตัวจากโครงการลงทุนของภาครัฐ”

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เศรษฐกิจในประเทศค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายจากอีก 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

ธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก เสี่ยงเลิกกิจการ 

หากสถานการณ์การปิดประเทศยังคงลากยาว แต่ผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของธุรกิจอาจเลวร้ายลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก โรงแรมจะยังประสบปัญหาอัตราการเข้าพักที่ยังไม่กลับมาจนถึงระดับที่คุ้มทุนในการดำเนินกิจการ

เมื่อดูตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานในรูปเงินสด (EBITDA) ของบริษัทในกลุ่มโรงแรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่ากระแสเงินสดเปลี่ยนจากตัวเลขบวก เป็นติดลบในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการชำระหนี้ของบริษัท

“สถานการณ์มีแนวโน้มจะรุนแรงมากกว่า สำหรับโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์” 

นอกจากนี้ ธุรกิจอีกหลายกลุ่มยังมีความเสี่ยงที่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เเละหากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ธุรกิจยังคงมีกระแสเงินสดที่ติดลบต่อเนื่อง อาจทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการจ้างงานในระยะต่อไป

“ว่างงาน” อาจรุนแรงขึ้นอีก

ความเสี่ยงด้านกระแสเงินสดอาจส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงาน แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นบ้างจากการผ่อนคลายการปิดเมือง แต่เรายังคาดว่าผลที่จะเกิดขึ้นกับการจ้างงานยังไม่ถึงจุดต่ำสุด จากความเสี่ยงในการเลิกกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่จะยิ่งสูงขึ้นหากสถานการณ์ลากยาวต่อไป

ตัวเลขชั่วโมงการทำงานในเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงถึง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนและหดตัวลงในแทบทุกกลุ่มอาชีพ สะท้อนให้เห็นว่าลำพังเฉพาะตัวเลขสำรวจการจ้างงานในไตรมาส 2 ที่ระบุว่ามีการว่างงานประมาณ 7 แสนคน หรือ 1.9% อาจไม่ใช่ปัจจัยที่สะท้อนสถานการณ์ในตลาดแรงงานได้ทั้งหมด

หากนับรวมกลุ่มคนที่ถูกพักงานไม่ได้รับเงินเดือน หรือคนที่ถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงานลง จะทำให้ตัวเลขนี้รวมกับคนว่างงานในปัจจุบันสูงถึงกว่า 3 ล้านคน KKP Research คาดว่าจำนวนการว่างงานอาจสูงถึง 5 ล้านคน หรือมากกว่านั้นได้หากเศรษฐกิจเข้าสู่กรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาได้ในปีหน้า

ปัญหาการขาดรายได้และการว่างงานเป็นวงกว้างเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อชีวิตผู้คน ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาทางสังคมอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่งอีกด้วยผ่านการชะลอลงของการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 18% ของการบริโภคทั้งหมด ทำให้การบริโภคในปี 2021 อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดได้

พักชำระหนี้…กำลังจะหมดลง

หลังจากที่มีการระบาดของ COVID-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจผ่านธนาคารพาณิชย์ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย การพักและเลื่อนการชำระหนี้ออกไป 3-6 เดือน การเพิ่มระยะเวลาในการคืนหนี้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของหนี้และสถาบันการเงิน

“จำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนกรกฎาคม โดยรวมมีถึง 12.5 ล้านบัญชี รวมมูลค่า 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของหนี้ทั้งระบบ” 

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศว่าหลังจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะไม่มีการต่อโครงการพักชำระหนี้แบบทั่วไปเช่นในปัจจุบันอีก เพื่อป้องกันปัญหาการเข้าร่วมโครงการทั้งที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจริง (Moral Hazard) และป้องกันความเคยชินจากการไม่จ่ายหนี้ของลูกหนี้ ธนาคารแต่ละแห่งอาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้าเป็นราย ๆ ไป ทำให้เรายังต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้จะมีลูกหนี้สัดส่วนมากน้อยเพียงใดที่จะไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ และหนี้จำนวนมากแค่ไหนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL)

สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจะทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพิ่มเติม จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่จะกดดันการบริโภคสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ รวมถึงการลงทุนที่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมเงินจากธนาคาร

เศรษฐกิจยังอ่อนเเอ เเนะรัฐออก “มาตรการเพิ่มเติม” 

จากมุมมองต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่ยังอ่อนแอและมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐยังจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าและรองรับแรงงานที่ตกงานจำนวนมหาศาล แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกชุดมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้วในจำนวน 1 ล้านล้านบาท (6% ของ GDP) แต่การใช้จริงยังทำได้น้อยมาก

“ในจำนวน 6 แสนล้านบาทที่เป็นมาตรการเยียวยามีการใช้เงินไปเพียง 390,000 ล้านบาท ผ่านโครงการแจกเงิน 5,000 บาทให้กับชาวนาและแรงงานนอกระบบจำนวน 24 ล้านคน และที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาทที่จะใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็มีเพียง 42,000 ล้านบาทที่ใช้ไปเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศ” 

KKP Research ประเมินว่า รัฐยังมีความสารถในการทำนโยบายการคลังเพิ่มเติมหลังจากนี้ แม้ว่าจะมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มจะแตะระดับ 60% ซึ่งเป็นเพดานตามกฎหมายในปัจจุบัน แต่จากต้นทุนในการกู้ยืมเงินของรัฐที่ต่ำลงมากเมื่อเทียบกับอดีต (อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี อยู่ที่ 1.5% เทียบกับ 3.5% ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา) ทำให้ประเมินว่าประเด็นเรื่องความสามารถในการจ่ายหนี้และความมั่นคงทางการคลังจะไม่เป็นปัญหามากนักบนเงื่อนไข 3 ข้อ ได้เเก่

(1) หนี้ที่กู้ยืมมาต้องถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างการเติบโตของ GDP ในอนาคต

(2) ตลาดยังมีความเชื่อมั่นในความมั่นคงทางการคลังและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

(3) รัฐมีการวางแผนในการลดการขาดดุลการคลังในอนาคตที่ชัดเจนเช่นการปฏิรูปภาครัฐเพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ภาครัฐในอนาคต

“ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้รัฐจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม และคิดถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมเครื่องมือให้พร้อมหากสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามคาด”

 

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม (ที่นี่)

 

]]>
1298164
COVID-19 ดันตลาด “รถยนต์มือสอง” คึกคัก สวนทางรถป้ายเเดงซบเซา “โตโยต้า” ราคาตกน้อยสุด https://positioningmag.com/1291612 Fri, 07 Aug 2020 12:20:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1291612 อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างรุนเเรง หลังซบเซามาหลายปี  โดยคาดว่าตลาดรถยนต์ใหม่ของไทยปีนี้จะหดตัวลึกกว่า 35% เเละแนวโน้มยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศในช่วง 10 ปีข้างหน้าอาจไม่กลับมาแตะหลัก 1 ล้านคันต่อปีได้อีก

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ตลาดรถยนต์มือสอง กลับมาคึกคัก เต็นท์รถเริ่มกล้ารับซื้อมากขึ้น สวนทางยอดขายของรถยนต์ใหม่ป้ายแดง พบโตโยต้าราคาตกน้อยที่สุด ตามมาด้วยฮอนด้าเเละมิตซูบิชิ

คาดตลาด “รถยนต์ใหม่” ปีนี้ หดตัวลึกกว่า 35% 

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดบทวิเคราะห์ “จับชีพจร ตลาดรถไทยหลัง COVID-19” โดยมองว่า ตลาดรถยนต์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าและถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชากรและความต้องการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างรถยนต์ จากความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน

อีกทั้งยังมีแนวโน้มใหญ่ (Megatrends) ที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ต่อเนื่องถึงธุรกิจจัดจำหน่าย (Dealership) ในอนาคต ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนไปใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งมีประสิทธิภาพดีขึ้นและมีแนวโน้มต้นทุนที่ถูกลง และวิถีชีวิตของคนเมืองที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากทางเลือกในการเดินทางที่เพิ่มขึ้นที่อาจส่งผลให้ความเชื่อที่ว่า “รถคือปัจจัยที่ 5” ลดความสำคัญลง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง

“ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรถใหม่หดตัวแล้วถึง 37% โดยตลอดปี 2020 KKP Research คาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่จะลดลงเหลือเพียง 651,000 คัน คิดเป็นการหดตัวถึง 35% จากยอดขายในปีที่แล้วที่ 1 ล้านคัน”

นอกจากนี้ KKP Research พบว่า วัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ของผู้ใช้รถในไทยอยู่ที่ประมาณ 74 เดือนหรือประมาณ 6 ปี และมีแนวโน้มสั้นลงเรื่อยๆ โดยรอบใหญ่ของการซื้อรถยนต์เกิดขึ้นระหว่างปี 2012-2013 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถขนาดต่ำกว่า 1,500 ซีซีและรถกระบะเพื่อใช้สิทธิคืนภาษีสรรพสามิตตามโครงการรถคันแรกของภาครัฐในขณะนั้น ส่งผลให้รอบการเปลี่ยนรถที่เคยใช้สิทธิจากโครงการฯ เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2018 และตลาดรถยนต์ใหม่หรือรถป้ายแดงขยายตัวได้ถึง 20%

“ในระยะ 10 ปีข้างหน้าตลาดรถยนต์ใหม่ในประเทศอาจไม่กลับมามียอดขายเกิน 1 ล้านคันต่อปีได้อีก” 

โดยตลาดรถยนต์ของไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังวิกฤติการเงินโลก ประกอบกับความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของครัวเรือนและการแข่งขันด้านการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ลีสซิง และ captive finance ที่ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศในทศวรรษที่ผ่านมายืนอยู่ในระดับเฉลี่ย 970,000 คันต่อปี และสามารถทะลุระดับ 1 ล้านคันได้ในช่วงปี 2012-2013 และ 2018-2019 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพการเติบโตในระดับต่ำลง จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง และระดับหนี้ครัวเรือนที่เริ่มตึงตัว จะทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศไม่สามารถฟื้นกลับสู่ระดับ 1 ล้านคันได้อีกตลอดทศวรรษนี้ และหากเปรียบเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย และประเทศในกลุ่ม BRIC รวมถึงเม็กซิโก โดยพิจารณาปัจจัยทาง GDP ต่อประชากร รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของรายได้ในอนาคต พบว่ายอดขายรถใหม่ต่อปีของไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้าอาจอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 660,000-870,000 คันเท่านั้น

ตลาดรถยนต์โลก “ซึมยาว” เเม้ผ่านพ้นวิกฤต 

สำหรับ “ตลาดรถยนต์โลก” กำลังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันและอาจถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ตลาดรถยนต์โลกเริ่มมีสัญญาณหดตัวนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาต่อเนื่องถึงปี 2019 โดยเฉพาะในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีไปยังรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV (Electric vehicles) ในตลาดหลักอย่างจีนและยุโรป ในขณะที่ในปี 2020 นี้ ตลาดรถยนต์โลกมีแนวโน้มจะหดตัวกว่า 20% จากการแพร่ระบาดของ COVID-19  ที่จะส่งผลให้กำลังซื้อของประชากรลดลง นับเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน

สวนทางกับตลอดศตวรรษที่ผ่านมาที่ตลาดรถยนต์โลกมีแนวโน้มเติบโตมาโดยตลอด เว้นเพียงวิกฤตการณ์สำคัญของโลกบางช่วง ขณะที่ยอดขายรถในตลาดที่เคยเติบโตสูงในระหว่างปี 2007-17 อย่างจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ต่างกลับมาหดตัวในระหว่างปี 2017-19 และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้

“ยอดขายรถยนต์ที่มีแนวโน้มหดตัว 3 ปีติดต่อกันบ่งชี้ว่าตลาดรถยนต์โลกกำลังถึงจุดอิ่มตัว และในอนาคตอาจไม่กลับมาเติบโตได้ดีดังเดิมแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงไป”

จากแนวโน้มใหญ่ ทั้งในด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่ปัจจุบันมีการผลิตเป็นอันดับที่ 11 ของโลก จ้างงานกว่า 7.5 แสนคน และพึ่งพาการส่งออกถึงกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการผลิตทั้งหมด

COVID-19 กระตุ้น “ตลาดรถมือสอง” กลับมาคึกคัก

ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ “รถมือสอง” ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลายคนเริ่มมองหา ในช่วงที่ภาวะการเงินของครัวเรือนได้รับผลกระทบและมีความไม่แน่นอน แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้รถเพื่อเดินทางไปทำงาน หรือเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ แทนการเดินทางด้วยเครื่องบินหรือการท่องเที่ยวต่างประเทศ จากความกังวลด้านสุขภาพ

“แม้ว่ายอดขายรถยนต์ป้ายแดงจะหดตัว 37% ตลอดครึ่งปีแรก แต่ยอดขายรถมือสองที่วัดจากยอดโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ลดลงเพียง 15% เท่านั้น”

สะท้อนให้เห็นสภาวะตลาดรถยนต์มือสองที่ยังคงแข็งแกร่ง และยืดหยุ่นกว่าตลาดรถใหม่ เนื่องมาจากกำลังซื้อที่หดตัวลงอย่างมากจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ออกไป รวมทั้งอาจมีบางส่วนตัดสินใจหันไปซื้อรถยนต์มือสองเพื่อทดแทนการซื้อรถยนต์ป้ายแดงมากขึ้น

อีกทั้งแนวโน้มราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลงจนมีความน่าสนใจ และมีสัดส่วนรถปีใหม่ๆ คือ หลังปี 2015 ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากการเทขายของผู้ใช้รถที่เผชิญปัญหาสภาพคล่อง หรือจากการขายทอดตลาด

ข้อมูลจาก Google Trends ยังชี้ให้เห็นว่าตลาดรถมือสองในช่วงคลายล็อกดาวน์กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น โดยการค้นหาข้อมูลรถมือสองยี่ห้อหลักในอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ชี้ให้เห็นถึงความต้องการมีรถยนต์เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในแง่กำลังซื้อที่ทำให้ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้

ด้านข้อมูลบนเว็บไซต์ One2car ที่เป็นตลาดรถออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าจำนวนรถที่ลงประกาศขายก่อนครบรอบการเปลี่ยนรถปกติ (Replacement cycle) หรือรถมือสองที่จดทะเบียนหลังปี 2015 เพิ่มขึ้นถึง 6.1% จากต้นปี สวนทางกับรถปีเก่าที่มีจำนวนลดลงกว่า 1 ใน 4 และขยายสัดส่วนเพิ่มจาก 26% ในเดือนมกราคมเป็น 32% ในเดือนมิถุนายน

ตลาดรถมือสองได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดรถใหม่ และได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นหลัง COVID-19 จากความกังวลด้านสุขภาพ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาและการใช้จ่ายสินค้าคงทนต่างๆ มีแนวโน้มหดตัว รถมือสองหรือรถใช้แล้วกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่ารถใหม่ เนื่องจากสามารถทดแทนรถใหม่ได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก และยังเป็นตลาดแลกเปลี่ยนให้ผู้ใช้รถสามารถขยับขยายขนาด หรือประเภทของรถตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงอายุ (Life cycle) โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินสดก้อนใหญ่หรือขอสินเชื่อ

Photo : Shutterstock

เต็นท์กล้ารับซื้อมากขึ้น ราคารถมือสองเริ่มทรงตัว

ตลาดรถมือสองเริ่มทรงตัวได้ ตั้งแต่ช่วงต้นปีก่อน COVID-19 ข้อมูลจาก One2car ชี้ว่าราคารถในตลาดมือสองโดยภาพรวมปรับตัวลงมากในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ราคารถยนต์มือสองโดยภาพรวมปรับลดลงเพียง 1.4%

ขณะเดียวกัน ราคารถประมูลซึ่งสะท้อนต้นทุนสำหรับเต็นท์รถดิ่งลงในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงระบาดหนักที่สุด โดยลดลงถึง 18% เมื่อเทียบกับต้นปี จากการเปลี่ยนรูปแบบการประมูลมาเป็นการประมูลแบบออนไลน์แทนที่ศูนย์ประมูล จึงกลายเป็นโอกาสที่เต็นท์รถมือสองสามารถซื้อรถด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาก

นอกจากนี้ ยังสามารถปรับราคาขายเพื่อกระตุ้นยอดขายโดยยังคงส่วนต่างกำไรได้ ด้วยสาเหตุนี้ประกอบกับความต้องการที่อั้น (Pent-up demand) มาจากช่วง COVID-19 ในช่วงแรกของการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ KKP Research เชื่อว่าตลาดรถมือสองจะยังคงคึกคักต่อไปได้ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า

เมื่อพิจารณาตามยี่ห้อรถยนต์ พบว่า โตโยต้า (Toyota) ได้รับผลกระทบด้านราคาน้อยที่สุด โดยติดลบราว 3% YTD กลุ่มยี่ห้อที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ ฮอนด้า (Honda), มิตซูบิชิ (Mitsubishi), ฟอร์ด (Ford), อีซูซุ (Isuzu) ที่ติดลบประมาณ 4-6% YTD ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่ นิสสัน (Nissan) และ มาสด้า (Mazda) ซึ่งติดลบราว 8%

 

สิ่งที่น่าจับตามมองต่อไปคือ แม้ว่าตลาดรถโดยรวมจะกระเตื้องขึ้นในช่วงคลายล็อกดาวน์ แต่ตลาดมีแนวโน้มแผ่วลงในช่วงปลายปีนี้จากกำลังซื้อที่ลดลง โดยคาดว่าตลาดรถจะเริ่มแผ่วลงในไตรมาส 4 พร้อมกับการทยอยสิ้นสุดของการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน และการเลิกจ้างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ถูกจัดชั้นเป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีรถที่ถูกยึดและถูกขายทอดตลาดในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เกินกว่าความต้องการของตลาดจะดูดซับได้ ทำให้ตลาดอาจกลับมาซบเซาอีกครั้ง

 

 

 

]]>
1291612
COVID-19 ทุบเศรษฐกิจไทย คนว่างงานอาจพุ่ง 5 ล้านคน KKP ปรับลดจีดีพีปีนี้ ดิ่งลึก -6.8% https://positioningmag.com/1271841 Sun, 05 Apr 2020 10:18:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1271841 KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 2020 ลงอีกครั้งจากเดิม -2.4% เป็น -6.8% คนว่างงานอาจพุ่งถึง 5 ล้านคน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หดตัวลึกและยาวนานยิ่งขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ โดย KKP สรุปปัจจัยสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจไทย ไว้ 3 ด้าน ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้หลายประเทศมีการประกาศมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America ล่าสุดปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศหลักลงอย่างหนัก โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะติดลบถึง 6% สหภาพยุโรปติดลบที่ 7.6% และเศรษฐกิจจีนคาดจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวถึง 2.7% จากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดขยายตัว 0.3% ซึ่งจะเป็นการหดตัวที่รุนแรงยิ่งกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2009

2. มาตรการปิดเมืองและ social distancing ที่เข้มข้นขึ้น รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมกับเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ มีการประกาศปิดร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่ต่างๆ เป็นวงกว้าง รวมถึงล่าสุดมีการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศมากกว่าที่เคยประเมินไว้

3. การประกาศปิดการเข้าออกระหว่างประเทศ รวมทั้งการประกาศปิดเมืองในหลายจังหวั เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดข้ามจังหวัด จะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและภายในประเทศได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีกจากที่เคยคาดไว้ในการประเมินครั้งก่อน

เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 นี้จะทำให้เกิดภาวะการว่างงานเป็นวงกว้าง โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร ภาคการค้า และภาคการขนส่ง มีการจ้างงานรวมถึง 10.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานนอกระบบถึง 5.6 ล้านคน หรือ 55%

ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจเหล่านี้จะส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างหรือถูกขอให้หยุดงานชั่วคราว นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และบริการอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงด้วยเช่นกัน

“อาจมีการว่างงานสูงถึง 5 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 13% ในช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี” KKP Research ระบุ

แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้มีมาตรการด้านโยบายการคลังและการเงินออกมาเพื่อตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ KKP Research มองว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนใน 3 ด้านใหญ่ ได้เเก่

1. ทบทวนและจัดสรรงบประมาณอย่างเร่งด่วนให้กับงานด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างความสามารถในการตรวจ สอบสวนความเชื่อมโยง คัดแยก และรักษาผู้ติดเชื้อ และจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมและมีคุณภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การควบคุมการระบาดของโรคทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. มีมาตรการทางการคลังระยะสั้นเพื่อเยียวยา และลดภาระของผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ของรัฐ รวมไปถึงเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับแรงงานในระยะต่อไป

3.จัดเตรียมมาตรการด้านการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระบบการเงิน เช่น เตรียมมาตรการรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการผลักดันสภาพคล่องในระบบการเงินช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้

]]>
1271841