Starbucks – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 03 Nov 2023 11:52:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘Starbucks’ โชว์รายได้ Q4/2023 เหนือความคาดหมาย พร้อมเล็งขยายสาขาเพิ่ม 1.7 หมื่นแห่งภายในปี 2573 https://positioningmag.com/1450594 Fri, 03 Nov 2023 07:08:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1450594 เชนร้านกาแฟรายใหญ่ของโลกอย่าง สตาร์บัคส์ (Starbucks) โชว์ผลงานไตรมาส 4 ประจำปีงบประมาณ (ก.ค.-ก.ย.) ที่ทำได้เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขยายสาขาใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

สตาร์บัคส์ ได้เปิดเผยผลประกอบการช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน โดยมีรายได้แตะ 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต +11% ซึ่งเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะทำรายได้ 9.3 พันล้านดอลลาร์ โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สตาร์บัคส์เติบโตเหนือความคาดหมายมาจากการ เปิดร้านใหม่ จำนวน 816 แห่ง ในไตรมาสดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันสตาร์บัคส์มีจำนวนสาขามากกว่า 38,000 แห่งทั่วโลก

นอกจากนี้ บริษัทได้มีการรีโนเวตสาขาอย่างต่อเนื่อง อย่างในอเมริกาเหนือที่มีอยู่ยังช่วยเพิ่มยอดขายและทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทได้ใช้งบรีโนเวตรวมกว่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของรายได้จากสาขาเดิม (ที่เปิดอย่างน้อยหนึ่งปี) เพิ่มขึ้น +8% ซึ่งเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.8% โดยเฉพาะสาขาในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8% และมีจำนวนลูกค้าเข้าร้านค้าเพิ่มขึ้น 2% นอกจากนี้ผู้บริโภคใช้เวลาในร้านนานขึ้น

ขณะที่ยอดขายสาขาในประเทศ จีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่เป็น อันดับสอง ของบริษัท เพิ่มขึ้น +2% มีลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้น +4% แต่ผู้บริโภคใช้เวลาในร้านน้อยลง อย่างไรก็ตาม สตาร์บัคส์ยังคงให้ความสำคัญกับตลาดจีน โดยเตรียมขยายสาขาจาก 6,500 สาขา เป็น 9,000 สาขา ภายในสิ้นปี 2568 ส่วนสาขาทั่วโลก บริษัทมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 17,000 สาขา เป็น 55,000 สาขา ภายในปี 2573

]]>
1450594
“สตาร์บัคส์” ประเทศไทยตั้งเป้าปี 2573 ขยายครบ 800 สาขา มีร้านกาแฟชุมชนแบ่งปันรายได้ 8 สาขา https://positioningmag.com/1436929 Thu, 06 Jul 2023 12:02:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1436929
  • ร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์” ก่อตั้งในประเทศไทยมานาน 25 ปี ปัจจุบันขยายไปถึง 465 สาขา และยังตั้งเป้า ไปต่อขอขยายครบ 800 สาขาภายในปี 2573
  • ปรับสาขา “ไอคอนสยาม” เป็น “ร้านกาแฟเพื่อชุมชน” แห่งที่สองในไทย แบ่งรายได้ 10 บาทจากการขายกาแฟแต่ละแก้วบริจาคเข้าองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยตั้งเป้าจะมีร้านกาแฟเพื่อชุมชนครบ 8 สาขาในอนาคต
  • ปีนี้ “สตาร์บัคส์” เข้าสู่วาระครบรอบ 25 ปีที่ได้เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย จากสาขาแรกที่ “เซ็นทรัล ชิดลม” วันนี้สตาร์บัคส์ขยายไป 465 สาขาทั่วประเทศ และยังต้องการจะเพิ่มสาขามากขึ้นไปอีก

    “เนตรนภา ศรีสมัย” กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เปิดเผยเป้าหมายการขยายสาขาในไทย ตั้งเป้าไปถึง 800 สาขาภายในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า โดยแต่ละปีสตาร์บัคส์จะขยายสาขาในไทยเฉลี่ยปีละ 30 สาขา มองโอกาสทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและต่างจังหวัด

    สตาร์บัคส์
    “เนตรนภา ศรีสมัย” กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย

    ท่ามกลางตลาดร้านกาแฟที่เป็นเรดโอเชียนและเศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่อนข้างฝืดเคือง แต่เนตรนภามั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะยาวของไทยจะเติบโต และตลาดกาแฟไทยจะยังเติบโตได้มากกว่านี้ บวกกับความมั่นใจในแบรนด์สตาร์บัคส์ที่มีความแตกต่างในตลาดร้านกาแฟ ทำให้บริษัทเดินหน้าการเปิดสาขาต่อเนื่อง

    เนตรนภายังกล่าวด้วยว่า โมเดลร้านที่กำลังมาแรงในช่วงหลังของสตาร์บัคส์เป็นประเภท Drive-thru เพราะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วได้ดี ทำให้ขณะนี้มีสาขาแบบ Drive-thru แล้ว 56 สาขา และเป็นไปได้ที่จะเปิดเพิ่มอีก

    สตาร์บัคส์
    สตาร์บัคส์ Drive-thru สาขา สายไหม อเวนิว

    Positioning กางแผนที่สาขาของสตาร์บัคส์ไทย พบว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัดก็เปิดสาขาในหัวเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวค่อนข้างครบถ้วนแล้ว เช่น เมืองพัทยา, เชียงใหม่, ขอนแก่น, โคราช, ภูเก็ต, หัวหิน ฯลฯ ขณะที่ในเมืองรองก็มีกระจายสาขาเข้าไปหลายจังหวัดแล้ว เช่น เชียงราย, พิษณุโลก, จันทบุรี, ชุมพร ฯลฯ แต่ยังมีโอกาสอีกมากในเมืองรองอื่นๆ หรือการขยายสาขาเพิ่มในจังหวัดหลัก

     

    เปิด “ร้านกาแฟเพื่อชุมชน” 8 สาขา

    นอกจากเป้าหมายทางธุรกิจแล้ว อีกมุมหนึ่งร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์” ถือเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทำให้สตาร์บัคส์มีนโยบายในระดับสากลจัดตั้ง “Community Store” หรือ “ร้านกาแฟเพื่อชุมชน” ขึ้น เป็นร้านกาแฟที่แต่ละสาขาจะมีคอนเซ็ปต์เฉพาะเพื่อร่วมพัฒนาชุมชนในประเด็นที่เหมาะกับแต่ละสาขา

    ตัวอย่างในต่างประเทศ:

    • สาขา Gallaudet University ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ​ เป็นสาขาที่อุทิศให้กับ “ผู้พิการทางการได้ยิน” มีการจ้างงานพนักงานที่พิการทางการได้ยินมาให้บริการ โดยร้านช่วยสร้างความเข้าใจกับลูกค้า เช่น มีป้ายสอนวิธีสั่งเอสเปรสโซด้วยภาษามือเพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองเรียนรู้ โมเดลแบบนี้มีในอีกหลายประเทศ เช่น กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย, เมืองกวางโจว ประเทศจีน
    • สาขา Daehakro กรุงโซล เกาหลีใต้ เป็นสาขาที่ใช้โมเดลแบ่งปันรายได้ให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร Green Umbrella ChildFund Korea องค์กรที่มีเป้าประสงค์ช่วยเหลือเยาวชนที่ขาดโอกาส ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อและมีอาชีพ
    สตาร์บัคส์ สาขา Gallaudet University ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ เป็นสาขาที่อุทิศให้กับ “ผู้พิการทางการได้ยิน”

    สำหรับในประเทศไทย มีร้านกาแฟเพื่อชุมชนสาขาแรกมาตั้งแต่ปี 2556 ที่สาขา “หลังสวน” และถือเป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชนสาขาที่ 4 ของโลกด้วย คอนเซ็ปต์สาขาหลังสวนจะเป็นโมเดลแบ่งปันรายได้ โดยเลือกแบ่งปันรายได้ 10 บาทในทุกแก้วที่จำหน่ายให้กับ “มูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (ITDF)” เพราะมูลนิธินี้เป็นผู้สนับสนุนการฝึกอบรมการปลูกกาแฟของชาวเขาในภาคเหนือให้ปลูกได้อย่างถูกต้อง ไม่ตัดไม้ทำลายป่า มีคุณภาพดี และช่วยพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำดื่มสะอาด โรงเรียนในชุมชน ซึ่งสตาร์บัคส์เองมีการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวเขามาจำหน่ายในร้านด้วย

    เนตรนภากล่าวว่า ตั้งแต่เปลี่ยนสาขาหลังสวนเป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชนมานาน 10 ปี สตาร์บัคส์มอบเงินสนับสนุนให้ ITDF ไปแล้ว 17 ล้านบาท

    Starbucks Reserve
    “สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม” สาขาร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่ 2 ของไทย

    ล่าสุด สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ประกาศการเปลี่ยนร้านสาขา “สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม” เป็นสาขาร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่ 2 ของไทย สาขานี้จะใช้โมเดลแบ่งปันรายได้แก้วละ 10 บาทเหมือนเดิม แต่จะแบ่งให้กับมูลนิธิ 2 แห่ง คือ ITDF ที่ร่วมงานกันมายาวนาน และอีกมูลนิธิคือ “มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS)” มูลนิธินี้ช่วยรวบรวมอาหารเหลือจากการจำหน่ายของสตาร์บัคส์ไปส่งมอบให้ชุมชนที่ขาดแคลน ทำให้ร้านได้ลดขยะอาหาร (food waste) โดยส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ

    เหตุที่สตาร์บัคส์เลือกสาขาไอคอนสยามเป็นร้านกาแฟชุมชนแห่งที่ 2 เพราะสาขานี้เป็นสาขาใหญ่ที่สุดในไทย รองรับลูกค้าได้ 350 ที่นั่ง และมีลูกค้าทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ที่แวะเวียนเข้ามา จึงเชื่อว่าจะสร้างผลเชิงบวกได้ดีที่สุดในการดูแลชุมชน

    เนตรนภากล่าวด้วยว่า ตามนโยบายของบริษัทแม่ต้องการจะขยายร้านกาแฟเพื่อชุมชนทั่วโลกให้ครบ 1,000 สาขาภายในปี 2573 ในจำนวนนี้ประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งโดยตั้งเป้าจะมีร้านกาแฟเพื่อชุมชนให้ครบ 8 สาขา

    ]]>
    1436929
    ดราม่าพนักงาน “Starbucks” สหรัฐฯ แฉบริษัทสั่ง “แบน” ของตกแต่งสีรุ้งในช่วง Pride Month https://positioningmag.com/1434124 Wed, 14 Jun 2023 13:05:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1434124 สหภาพแรงงาน “Starbucks” ในสหรัฐฯ แฉผ่านโซเชียลมีเดียว่าบริษัทมีคำสั่ง “แบน” การตกแต่งร้านด้วยสีรุ้งในช่วง Pride Month ขณะที่ฝั่งบริษัทปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นความจริง ถือเป็นดราม่าที่ขัดต่อความเป็นมาของเชนร้านกาแฟแบรนด์นี้ที่ให้การสนับสนุน LGBTQ มาตลอดหลายปี

    สหภาพแรงงาน Starbucks สหรัฐฯ ทวีตแฉคำสั่งจากบริษัทให้งดการตกแต่งด้วยสีรุ้งเพื่อฉลอง Pride Month และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน Forbes ว่า สหภาพฯ ได้รับคำบอกเล่าจากพนักงานใน 21 มลรัฐว่าได้รับคำสั่งแบบเดียวกัน โดยในรัฐโอคลาโฮมาให้เหตุผลกับพนักงานว่า จำเป็นต้องงดตกแต่งร้านด้วยสีรุ้งเพื่อความปลอดภัยของร้านเอง หลังจากห้าง Target ถูกขู่วางระเบิดเพราะวางจำหน่ายสินค้าต้อนรับ Pride Month

    พนักงานบางคนยังแชร์ภาพหรือวิดีโอลงในโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok , Twitter เพื่อยืนยันว่ามีคำสั่งงดเกิดขึ้นจริง เช่น วิดีโอการเก็บของตกแต่งสีรุ้งออกจากสาขาหนึ่งในรัฐวิสคอนซิน ซึ่งทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์บริษัท

    อย่างไรก็ตาม Andrew Tull โฆษก Starbucks ปฏิเสธว่านโยบายงดตกแต่งร้านด้วยธงสีรุ้งนั้นไม่เป็นความจริง และกล่าวว่าข้อกล่าวหานั้นเป็น “ข้อมูลที่ผิด” รวมถึงให้ความมั่นใจว่าบริษัทยังสนับสนุนชุมชน LGBTQ เช่นเดิม

    Starbucks นั้นมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นบริษัทที่เป็นมิตรกับ LGBTQ มานาน โดยบริษัทนี้ได้คะแนนระดับสมบูรณ์แบบจาก “ดัชนีความเท่าเทียมในองค์กร” จัดโดย Human Rights Campaign ซึ่งจะพิจารณาจากการดูแลและสวัสดิการที่ให้แก่พนักงาน LGBTQ และไม่ใช่เพิ่งจะได้ในปีนี้ แต่บริษัทได้สถานะนี้มาตั้งแต่ปี 2015 และยังสนับสนุนการจัดเทศกาล Pride รวมถึงบริจาคให้กับกลุ่ม LGBTQ มาโดยตลอด

    (Photo : Shutterstock)

    อีกตัวอย่างการสนับสนุน LGBTQ คือเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน Starbucks อินเดีย มีการออกอากาศโฆษณาชุดหนึ่งเล่าเรื่องคุณพ่อที่พยายามจะกลับมาสานสัมพันธ์อันดีกับลูกสาวที่เป็นทรานสเจนเดอร์ ซึ่งทำให้ได้รับทั้งคำชื่นชมในความกล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และคำวิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษนิยม

    ไม่ว่าความจริงในกรณีดราม่านี้จะเป็นเช่นไร แต่ที่เห็นได้ชัดคือสังคมอเมริกันมีการโต้กลับจากกลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัดรุนแรงขึ้นมากในปีนี้ โดยมีอินฟลูเอนเซอร์หลายรายที่คอยติดตามล่าชื่อบริษัทที่ถือว่าเป็นบริษัท “woke” ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เพศ เชื้อชาติ ช่องทางเหล่านี้มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1-2 ล้านคนต่อช่อง

    กลุ่มอนุรักษนิยมเหล่านี้ต้องการจะ “ทำสงครามทางวัฒนธรรม” และรู้สึกรับไม่ได้อีกต่อไปแล้วกับ “ทุนนิยมสีรุ้ง” ที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน

    ตั้งแต่ต้นปีนี้มีแบรนด์จำนวนมากที่ถูกโซเชียลมีเดียกลุ่มขวาจัดไล่ล่าเพื่อบอยคอต เช่น Bud Light เบียร์ที่เลือกทรานสเจนเดอร์ชื่อดังมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ให้แบรนด์ หรือห้าง Target ที่เปิดจำหน่ายสินค้าเพื่อ LGBTQ ต้อนรับ Pride Month ทำให้ถูกกลุ่มขวาจัดบุกข่มขู่พนักงานจนห้างต้องยอมนำของบางชิ้นออกจากชั้นวางจำหน่าย

    Source

    ]]>
    1434124
    Starbucks รุกตลาดอินเดียหนัก ขายเครื่องดื่มแก้วเล็ก เพิ่มเมนูพิเศษ ขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ https://positioningmag.com/1433512 Fri, 09 Jun 2023 03:35:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1433512 เชนร้านกาแฟรายใหญ่อย่าง Starbucks ล่าสุดได้มีแผนในการบุกตลาดอินเดียเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การขายเครื่องดื่มแก้วเล็กที่มีราคาถูกลง การเพิ่มเมนูพิเศษ หรือแม้แต่การขยายสาขาเพิ่มหลังจากนี้ เพื่อที่จะเจาะฐานลูกค้าในแดนภารตะ

    สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า Starbucks เชนร้านกาแฟรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกานั้นกำลังรุกประเทศอินเดียมากขึ้น โดยแผนการล่าสุดคือการเพิ่มเมนูพิเศษ หรือแม้แต่การขายเครื่องดื่มแก้วเล็ก เพื่อที่จะเจาะตลาดกาแฟในแดนภาระตะให้ได้

    โดย Starbucks ได้เพิ่มเมนูกาแฟขนาด Pico ซึ่งมีขนาด 6 ออนซ์ ราคาเริ่มต้นราวๆ 2.24 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 79 บาท และปรับราคามิลค์เชคเริ่มต้นที่ 3.33 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 116 บาท และยังมีเมนูพิเศษนั่นก็คือชาใส่นมแบบอินเดียซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่ 2.24 ดอลลาร์สหรัฐ

    Sushant Dash ผู้บริหารระดับสูงของ Starbucks ในอินเดียกล่าวว่า “เมื่อคุณขยายขนาด คุณต้องหาผู้บริโภครายใหม่” นอกจากนี้เขายังกล่าวเสริมว่าการใช้กลยุทธ์ด้านราคาของเชนร้านกาแฟรายนี้จะช่วยทำลายการรับรู้ที่ว่าราคากาแฟของ Starbucks นั้นมีราคาแพง

    ซึ่งเมนูที่ทำพิเศษสำหรับลูกค้าในประเทศอินเดีย รวมถึงกาแฟที่มีขนาดเล็กลงมา จะไม่สามารถหาซื้อได้ในประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นที่ไทย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา

    นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา Starbucks ได้มีพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญก็คือ Tata Group ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของประเทศอินเดียที่พยายามผลักดันเชนร้านกาแฟรายนี้เข้าไปในประเทศ แหล่งข่าวไม่ระบุตัวตนของ Reuters ยังกล่าวว่า Starbucks ยังมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มเติมในอื่นๆ หลังจากนี้ด้วย

    คู่แข่งของ Starbucks ในอินเดียนั้นมีหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Third Wave และ Blue Tokai ซึ่งปัจจุบันมีสาขาราวๆ 150 สาขา ขณะที่เชนร้านกาแฟรายใหญ่อย่าง Tim Hortons ก็ยังมีสาขายังไม่มากนัก ส่วนใหญ่แล้วร้านกาแฟเหล่านี้มักจะอยู่ตามเมืองใหญ่เช่น New Delhi หรือแม้แต่เมืองที่เป็นฮับทางเทคโนโลยีอย่าง Bengaluru

    การแข่งขันของธุรกิจร้านกาแฟในประเทศอินเดียถือว่าท้าทายไม่น้อย เนื่องจากประเทศอินเดียนั้นผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมทานชาเป็นหลัก แต่ธุรกิจร้านกาแฟก็ยังมีการขยายตัวได้ดี ซึ่งข้อมูลของ Euromonitor คาดว่าตลาดกาแฟในอินเดียจะเติบโตได้ถึง 12% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันมูลค่าตลาดกาแฟในอินเดียถือว่ามีขนาดเล็กมาก เพียงแค่ 300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

    สอดคล้องกับในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไมเคิล คอนเวย์ ประธานฝ่ายพัฒนาช่องทางระหว่างประเทศของ Starbucks ได้กล่าวว่าตลาดอื่นๆ นอกประเทศจีนถือว่าขยายตัวได้ดี และภายในสิ้นปี 2023 บริษัทจะมีการเปิดสาขาเพิ่ม 400 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิก

    ปัจจุบัน Starbucks ในประเทศอินเดียมีสาขาทั้งสิ้น 343 สาขา ซึ่งจำนวนสาขายังตามหลังประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ซึ่งอินเดียถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เชนกาแฟรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาต้องการตีตลาดให้ได้

    ]]>
    1433512
    ‘สตาร์บัคส์’ เร่งเครื่องแรงสุดในรอบ 5 ปี! ลุยขยายสาขากว่า 400 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิกภายในสิ้นปี https://positioningmag.com/1419681 Thu, 16 Feb 2023 12:31:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1419681 นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แบรนด์กาแฟชื่อดังอย่าง ‘สตาร์บัคส์’ (Starbucks) เลยไม่สามารถขยายสาขาได้อย่างเต็มที่ แต่ในปี 2023 นี้ ที่สถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง สตาร์บัคส์ก็เร่งเรื่องในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเต็มสูบถึง 400 สาขาภายในปีนี้

    สตาร์บัคส์ ตั้งเป้าจะขยายหน้าร้านให้ได้มากกว่า 400 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิก ภายในปี 2023 นี้ ซึ่งนับเป็นการขยายตัวครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ในรอบ 5 ปี ครอบคลุมทั้งอินเดีย อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว ที่จะเปิดเป็นสาขาแรก โดยบริษัทระบุว่า การขยายสาขาในปีนี้จะเน้นที่เมืองรองเป็นหลัก

    ไมเคิล คอนเวย์ ประธานฝ่ายพัฒนาช่องทางระหว่างประเทศของสตาร์บัคส์ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสตาร์บัคส์ เกิดจากที่บริษัทต้องการคว้าโอกาสที่ภูมิภาตเอเชียกำลังกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ในขณะที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤต COVD-19

    “เรากำลังเห็นกระแสลมเปลี่ยนไป สู่กระแสลมในตลาดต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากโควิด ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญสำหรับสตาร์บัคส์ทั่วโลก และเรายังคงมองในแง่ดีเกี่ยวกับการเติบโตและโอกาสในระยะยาว โดยได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคกาแฟที่เพิ่มขึ้น”

    ทั้งนี้ สตาร์บัคส์ ได้แบ่ง ประเทศจีนและญี่ปุ่น ออกจากการบริหารของภูมิภาค เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนั้นถือเป็นประเทศที่มีโอกาสเติบโตที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท โดยจีนถือเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของบริษัท แม้ว่าโควิดจะทำให้บริษัทสะดุดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิมในจีน ลดลง 29% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 ส่วนรายได้จากตลาดเอเชียแปซิฟิกเติบโตขึ้นถึง 20%

    “ตลาดของเรานอกประเทศจีนทำงานได้ดีกว่าที่เราคิด”

    ปัจจุบัน สตาร์บัคส์กำลังปรับโฉมร้านไปสู่รูปแบบ ไดรฟ์ทรู มากขึ้น เนื่องจากลูกค้ามองหาความสะดวกสบายมากขึ้น โดยปัจจุบัน สาขาที่เป็นไดรฟ์ทรูของสตาร์บัคส์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 สาขา และในปีนี้ สตาร์บัคส์มีแผนจะเพิ่มสาขาในรูปแบบไดรฟ์ทรูอีกประมาณ 100 สาขาทั่วภูมิภาคภายในปีนี้

    ]]>
    1419681
    ข้อมูลลูกค้า ‘Starbucks’ ในสิงคโปร์รั่วกว่า 2 แสนราย https://positioningmag.com/1400612 Mon, 19 Sep 2022 04:14:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1400612 ข่าวของการถูกแฮกหรือการโจมตีทางไซเบอร์มีให้เห็นเป็นระยะ ๆ อย่างในญี่ปุ่นก็มีการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์เพิ่มสูงขึ้นถึง 87% ในช่วงครึ่งปีแรก ล่าสุด Starbucks ในสิงคโปร์ก็ถูกแฮกเอาข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ไปกว่า 2 แสนราย และถูกขายไปในราคากว่า 9 หมื่นบาท

    เชนร้านกาแฟระดับโลกอย่าง Starbucks ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าของโดยบริษัท Maxim’s Caterers ในฮ่องกง ได้ส่งอีเมลถึงลูกค้าว่า ได้พบการเข้าถึงบางส่วนโดยไม่ได้รับอนุญาต ในรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ชื่อ เพศ วันเกิด หมายเลขโทรศัพท์ และที่อยู่บ้าน

    โดยหน่วยงานประชาสัมพันธ์ที่เป็นตัวแทนของ Starbucks Singapore นั้นระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยจำนวนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบได้ โดยแจ้งเพียงว่าได้รับทราบถึงการละเมิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน และยืนยันว่า ข้อมูลบัตรเครดิตนั้นไม่ได้รั่วไหล เพราะไม่มีการเก็บข้อมูลบัตรเครดิตใด ๆ ไว้ มีเพียงข้อมูลส่วนตัวตามที่แจ้งเท่านั้น และขอให้ลูกค้ารีบรีเซ็ตรหัสผ่าน

    อย่างไรก็ตาม The Straits Times สื่อสิงคโปร์ รายงานว่า ข้อมูลของลูกค้าที่ถูกขโมยไปมีถึง 200,000 ราย และวางขายในฟอรัมออนไลน์เมื่อวันที่ 10 กันยายน ซึ่งสำเนาฐานข้อมูลหนึ่งชุดถูกขายไปแล้วในราคา 3,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (9.1 หมื่นบาท) และคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสิงคโปร์ ระบุว่า ได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวและได้ติดต่อ Starbucks Singapore เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว

    ]]>
    1400612
    Starbucks ตั้งซีอีโอคนใหม่ “Laxman Narasimhan” ดึงตัวจากบริษัท Reckitt ยักษ์อุปโภคบริโภค https://positioningmag.com/1398648 Fri, 02 Sep 2022 06:12:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1398648 ในที่สุดก็หาคนที่ใช่ได้! Starbucks ประกาศแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ “Laxman Narasimhan” ที่ดึงตัวมาจาก Reckitt Benckiser เขาจะขึ้นกุมบังเหียนแทน Howard Schultz ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยนับว่าเป็นการขึ้นสู่ตำแหน่งท่ามกลางความท้าทาย จากการล็อกดาวน์อยู่เรื่อยๆ ในตลาดประเทศจีน และกระแสก่อตั้งสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ

    Laxman Narasimhan จะขึ้นมารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของ Starbucks ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2022 ตามแถลงการณ์ของบริษัทเมื่อวานนี้ (1 กันยายน 2022) โดยเขาย้ายมาจากตำแหน่งหัวเรือของ Reckitt Benckiser ยักษ์อุปโภคบริโภค เจ้าของแบรนด์ เช่น ถุงยาง Durex, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด Dettol, ยาอม Strepsils ฯลฯ

    นั่นทำให้ Narasimhan จะย้ายงานแบบข้ามประเทศ เพราะ Reckitt นั้นมีสำนักงานใหญ่อยู่ในลอนดอน ส่วน Starbucks ตั้งอยู่ในซีแอตเทิล

    Starbucks ซีอีโอใหม่
    Laxman Narasimhan ซีอีโอใหม่ของ Starbucks (Photo: Reckitt Benckiser)

    ขณะที่ Howard Schultz ซีอีโอปัจจุบันก็จะยังนั่งตำแหน่งซีอีโอชั่วคราวต่อไปก่อนจนถึงเมษายน 2023 เพื่อช่วยเหลือและถ่ายงานให้ Narasimhan ได้อย่างราบรื่น หลังจากนั้น Narasimhan จะเป็นซีอีโอเต็มตัวและเข้าร่วมในคณะกรรมการบริหาร

    สำหรับ Schultz นั้นนับได้ว่าเป็นเหมือน ‘หน้าตา’ ของบริษัท Starbucks มานาน เพราะเขาเข้าออกบริษัทนี้ถึงสามรอบ รอบแรกเข้ามารับตำแหน่งระหว่างปี 1986-2000 (รวม 14 ปี) รอบสองมาเป็นซีอีโอช่วงปี 2008-2017 (รวม 9 ปี) และรอบสามคือเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ เมื่อ Kevin Johnson ซีอีโอเก่าเกษียณอายุ และบริษัทยังหาใครไม่ได้ Schultz จึงกลับมาดูแลชั่วคราวไปก่อน

     

    รับเผือกร้อนธุรกิจร้านกาแฟ

    การมารับตำแหน่งของ Narasimhan ถือว่าอยู่ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย เพราะธุรกิจของ Starbucks กระท่อนกระแท่นมาตั้งแต่เผชิญโรคระบาด COVID-19 และขณะนี้ก็ยังมีปัญหากับตลาดจีนซึ่งมีการล็อกดาวน์อยู่เป็นระยะๆ โดยที่ตลาดจีนนั้นเป็นแหล่งรายได้อันดับสองรองจากสหรัฐฯ

    เมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 บริษัทเปิดเผยว่าในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมา บริษัทปิดร้านที่บริษัทเป็นผู้บริหารเองในสหรัฐฯ ไปแล้ว 424 สาขา หรือคิดเป็น 5% ของทั้งหมด แต่ก็มีการเปิดใหม่ทดแทน 449 สาขา ทำให้ในสหรัฐฯ ยังมีร้านอยู่ประมาณ 9,000 สาขา

    (Photo : Shutterstock)

    ในประเทศบ้านเกิดเอง Starbucks ก็กำลังเจอกับกระแสการก่อตั้งสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมีความพยายามที่จะสกัดการก่อตั้งมาตลอด และทำให้ภาพลักษณ์การเป็น ‘บริษัทหัวก้าวหน้า’ ที่คอยดูแลความเป็นอยู่ให้พนักงานต้องสูญเสียไป

    Narasimhan ชาวอินเดียนอเมริกันวัย 55 ปีจะต้องรับมือกับปัญหาเหล่านี้ทันทีที่บินเข้ามารับตำแหน่งในซีแอตเทิลเดือนหน้า

    ประวัติของ Narasimhan นั้นมีความหลากหลาย เขาเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของหลายบริษัท เช่น PepsiCo, McKinsey & Company ด้านประวัติการศึกษา เขาจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์จาก Savitribai Phule Pune University ในอินเดีย จากนั้นจบปริญญาโทสองใบ ใบแรกด้านศิลปะศาสตร์ เยอรมนีศึกษาที่ University of Pennsylvania ต่อด้วยโท MBA ด้านการเงินที่ University of Pennsylvania เช่นกัน

    Starbucks

    ในแถลงการณ์แต่งตั้งซีอีโอ Mellody Hobson กรรมการอิสระของ Starbucks มองว่าประสบการณ์ของ Narasimhan นั้นจะเป็นแรงขับเคลื่อน “การทรานสฟอร์มด้านกลยุทธ์ของธุรกิจที่ต้องบริการลูกค้าทั่วโลก”

    “ความเข้าใจของเขาต่อวัฒนธรรมและคุณค่าของบริษัทเรา รวมกับความเชี่ยวชาญของเขาในการสร้างแบรนด์ ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม และผู้นำในงานปฏิบัติการ จะเป็นผู้สร้างความแตกต่างในตำแหน่งทางการตลาดของ Starbucks ในอีก 50 ปีข้างหน้า และสร้างคุณค่าให้ผู้ถือหุ้นของเราทุกคน” Hobson กล่าว

    ราคาหุ้นของ Starbucks ไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนักหลังการประกาศตั้ง Narasimhan แต่ฝั่งหุ้นของ Reckitt นั้นลดต่ำลงทันทีที่แจ้งข่าว

    Source

    ]]>
    1398648
    รัสเซียผุด ‘Stars Coffee’ เสียบแทน ‘Starbucks’ ที่ถอนตัวออกจากประเทศ https://positioningmag.com/1396919 Fri, 19 Aug 2022 07:47:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1396919 ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แบรนด์กาแฟรายใหญ่ของโลกอย่าง สตาร์บัคส์ (Starbucks) ได้ประกาศถอนตัวออกจาก รัสเซีย โดยปิดหน้าร้านทั้งหมด 130 สาขา เนื่องจากต้องการแสดงจุดยืนให้เห็นว่าไม่สนับสนุนการบุกยูเครนของรัสเซีย

    เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมที่สตาร์บัคส์ได้ส่งสัญญาณว่าจะยุติการทำธุรกิจในรัสเซีย โดยเริ่มยุติการขนส่งผลิตภัณฑ์ของสตาร์บัคส์ทั้งหมดมายังรัสเซีย เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่สนับสนุนการโจมตียูเครน จนมาช่วงปลายเดือนพฤษภาคมสตาร์บัคส์ก็ได้ปิดหน้าร้านทั้ง 130 สาขา พร้อมกับจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานในรัสเซียนาน 6 เดือน

    เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนที่สตาร์บัคส์จากไป ล่าสุด ก็มีแบรนด์กาแฟใหม่เข้ามาแทนที่สตาร์บัคส์ภายใต้ชื่อ Stars Coffee (สตาร์คอฟฟี่) ซึ่งเรียกได้ว่าคล้ายตั้งแต่ชื่อยันโลโก้ ที่เรียกได้ว่าอาจเป็น ฝาแฝด ของนางเงือกสตาร์บัคส์ โดยมีผมที่พลิ้วไหว รอยยิ้มลึกลับเล็ก ๆ และดาวบนหัว ขณะที่เมนูต่าง ๆ ที่มีก็ต่างคุ้นตาแฟนสตาร์บัคส์

    สำหรับแบรนด์ Stars Coffee เกิดจาก Yunus Yusupov ศิลปินแร็ปยอดนิยมที่ใช้ชื่อในวงการว่า Timati และเจ้าของภัตตาคาร Anton Pinsky ได้ร่วมมือกันซื้อทรัพย์สินของสตาร์บัคส์ จากนั้นก็ออกแบบชื่อและโลโก้ร้านให้ ใกล้เคียงเดิม โดยพวกเขาระบุว่าจะ เปิดร้านสตาร์บัคส์เดิมทั้งหมด (130 สาขา) อีกครั้งภายใต้อัตลักษณ์ใหม่ (Stars Coffee)

    (AP Photo/Dmitry Serebryakov)

    “ตอนนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยากลำบาก แต่นี่เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาส” Oleg Eskindarov ประธานบริษัทโฮลดิ้งที่ร่วมมือในข้อตกลงของสตาร์บัคส์กล่าว

    แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ Stars Coffee ที่เข้ามาแทนที่แบรนด์ดังที่ถอนตัวออกจากรัสเซียไป แต่ก่อนหน้านี้ก็มี Vkusno — i Tochka ที่มาแทนที่แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง McDonald’s ซึ่งการจากไปของบริษัทเหล่านี้ส่งผลทางจิตวิทยาต่อชาวรัสเซียที่เคยชินกับความสะดวกสบายของวัฒนธรรมผู้บริโภคแบบตะวันตก ทำให้ผู้ประกอบการชาวรัสเซียมองเห็นโอกาสในร้านค้าหายไป โดยการเปิดร้านใหม่ที่ คล้ายกัน มาแทนที่

    Source

    ]]>
    1396919
    ‘Starbucks’ ก็ไม่ไหว! ประกาศขายกิจการในรัสเซียปิดฉาก 15 ปี https://positioningmag.com/1386340 Tue, 24 May 2022 05:17:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1386340 จากที่รัสเซียได้ทำการรุกรานยูเครน ทำให้แบรนด์ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในรัสเซียพากันคว่ำบาตรยุติบริการชั่วคราว แต่หลังจากที่เลิกบริการแล้วราว 3 เดือน หลายแบรนด์เริ่มจะเลือกที่จะ ถอนตัวถาวร โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา แบรนด์อาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังของโลกอย่าง ‘แมคโดนัลด์’ (McDonald’s) ก็ได้ประกาศขายกิจการทั้งหมดในรัสเซีย มาสัปดาห์นี้เป็นคิวของ ‘สตาร์บัคส์’ (Starbucks)

    ก่อนหน้านี้ แบรด์อย่าง McDonald’s , Exxon Mobil และ British American Tobacco ได้ประกาศขายกิจการในรัสเซียทิ้งเพื่อถอนตัวออกอย่างถาวร ล่าสุด ก็ถึงคิวของ Starbucks เชนกาแฟยักษ์ใหญ่ของโลก ที่ประกาศขายสาขาทั้งหมด 130 แห่งในรัสเซีย ปิดฉาก 15 ปี

    โดย Starbucks ระบุว่า จะจ่ายเงินให้กับคนงานชาวรัสเซียเกือบ 2,000 คนเป็นเวลา 6 เดือน และช่วยให้พวกเขาหางานใหม่ในสายงานอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การยุติธุรกิจในรัสเซียคงไม่ได้ส่งผลอะไรกับ Starbucks มากนัก เพราะคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรายได้ของบริษัท

    อย่างไรก็ตาม ในรายงานผลประกอบการรายไตรมาสล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม Starbucks ไม่ได้เปิดเผยผลกระทบทางการเงินจากการระงับการดำเนินธุรกิจในรัสเซีย แต่อดีตซีอีโออย่าง เควิน จอห์นสัน ได้ให้สัญญาว่าจะบริจาคค่าลิขสิทธิ์ของการขายธุรกิจในรัสเซียเพื่อการกุศล

    หากเทียบผลกระทบของ Starbucks กับ McDonald’s ที่ทำธุรกิจในรัสเซียมากว่า 30 ปีแล้ว แน่นอนว่า Starbucks กระทบน้อยกว่า McDonald’s มาก โดยบริษัทฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่รายนี้เปิดเผยว่า การระงับการดำเนินงานขนาดใหญ่ของรัสเซียและยูเครนนั้นมีมูลค่าถึง 127 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรก ตลาดทั้งสองแห่งคิดเป็น 9% ของรายได้ในปี 2021 บริษัทมีร้านอาหารประมาณ 850 ร้านในรัสเซีย โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา McDonald’s ประกาศว่า ได้ขายแฟรนไชส์ให้กับนักธุรกิจชาวไซบีเรียซึ่งจะดำเนินการภายใต้แบรนด์ใหม่

    ไม่ไปต่อ! ‘แมคโดนัลด์’ ขอถอนตัวจาก ‘รัสเซีย’ ประกาศขายทิ้งหน้าร้าน 850 สาขา

    ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนได้กดดันบริษัทตะวันตกอย่าง Starbucks ให้ตัดสัมพันธ์กับรัสเซียเพื่อแสดงการต่อต้านสงคราม ส่งผลให้เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา Starbucks ได้ระงับกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดในรัสเซีย รวมถึงการจัดส่งผลิตภัณฑ์ Starbucks ทั้งหมดและการปิดร้านกาแฟชั่วคราว และมีการประเมินกว่ากระแสถอนตัวของแบรนด์ชาติตะวันตกทำให้ ชาวรัสเซียจำนวนมากต้องตกงาน แค่เฉพาะกรุงมอสโกก็อาจมีถึง 2 แสนคนเลยทีเดียว

    Source

    ]]>
    1386340
    Blue Bottle และร้านกาแฟแบรนด์เนม กำลังเข้าตีตลาด “จีน” หลังบัลลังก์ Starbucks สั่นคลอน https://positioningmag.com/1379487 Mon, 28 Mar 2022 12:08:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379487 ตลาดร้านกาแฟใน “จีน” กำลังเกิดเซ็กเมนต์ “ไฮเอนด์” ขึ้น หลังจากผู้บริโภคตอบรับวัฒนธรรมกาแฟและต้องการคุณภาพที่สูงกว่าเดิม จนกาแฟแบรนด์ดัง Blue Bottle เริ่มเปิดสาขาแรกในเซี่ยงไฮ้ และบรรดา “แบรนด์เนม” คอลแลปเปิดร้านกาแฟหรู คว้าโอกาสในช่วงที่ Starbucks เจ้าตลาดเก่าถูกกระแสสังคมกดดัน

    ก่อนหน้านี้ Starbucks อยู่ในภาวะวิกฤต จากเหตุการณ์เล็กๆ ขยายสู่การบอยคอตระดับประเทศ โดยเรื่องเริ่มจากตำรวจสายตรวจกลุ่มหนึ่งขอใช้ที่นั่งใน Starbucks เพื่อรับประทานอาหารที่ซื้อจากนอกร้าน แต่หลังจากนั้นพนักงานร้านไม่อนุญาตและขอให้ตำรวจออกจากร้านไป

    คลิปดังกล่าวทำให้ Starbucks ตกที่นั่งลำบาก เพราะตำรวจถือเป็นอาชีพที่คนจีนชื่นชมถึงความทุ่มเทและยากลำบากในการทำงาน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมร้านกาแฟแบรนด์ดังไม่อนุญาตให้ตำรวจนั่งพักทานข้าว เกิดกระแสแบน Starbucks ขึ้นในอินเทอร์เน็ต ถึงขนาดที่มีกลุ่มคนไปรุมต่อว่าลูกค้าที่ยังเข้าไปใช้บริการ Starbucks อยู่

    เหตุการณ์นี้สะเทือนรากฐานอันยาวนานของ Starbucks มาก เพราะถือเป็นร้านกาแฟเชนต่างประเทศที่เข้ามาบุกเป็นเจ้าแรกๆ โดยเริ่มเปิดสาขาแรกที่กรุงปักกิ่ง ปี 1999 พยายามสร้างวัฒนธรรมดื่มกาแฟให้กับคนจีน พร้อมกับการแนะนำตัวว่าเป็น ‘The Third Place’ สำหรับให้คนมาพูดคุย สังสรรค์ พักผ่อนกัน บริษัทสาขาในจีนต้องทนขาดทุนถึง 9 ปี กว่าที่ความพยายามจะสำเร็จ และสุดท้ายเป็นเจ้าตลาดกาแฟพรีเมียมของประเทศ

    Photo : Shutterstock

    วัฒนธรรมการดื่มกาแฟปัจจุบันของจีน Deloitte ระบุว่า ในหัวเมืองระดับเทียร์ 1 และ 2 การดื่มกาแฟกลายเป็นนิสัยในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไปแล้ว และชาวจีนในเมืองเหล่านี้มีค่าเฉลี่ยการดื่มกาแฟประมาณ 300 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่ iiMedia Research ระบุว่า อุตสาหกรรมกาแฟในจีนมีมูลค่าถึง 381,700 ล้านหยวนเมื่อปี 2021 (ประมาณ 2.02 ล้านล้านบาท)

    นอกจาก Starbucks แล้ว เชนร้านกาแฟในประเทศจีนก็แข่งขันกันหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็น Luckin, Seesaw และ Manner และเชนต่างประเทศที่เข้ามาแล้ว เช่น % Arabica, Peet’s แต่ก็ยังมีช่องว่างให้กับคลื่นลูกใหม่ที่ต้องการชิงตลาดขนาดมหึมานี้

     

    คลื่นลูกที่สาม กาแฟคุณภาพสูง

    ตลาดจีนนับได้ว่าเข้าสู่ช่วง “คลื่นลูกที่สาม” ของตลาดกาแฟแล้ว นั่นคือผู้บริโภคต้องการกาแฟคุณภาพสูงแบบ Specialty Coffee ซึ่งทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น

    ล่าสุดคือแบรนด์ Blue Bottle Coffee แบรนด์ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘Apple แห่งโลกกาแฟ’ โด่งดังในสหรัฐฯ และเคยขยายสาขาไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกงแล้ว ก่อนจะมาเปิดสาขาแรกในจีนที่เซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022

    Blue bottle
    Blue Bottle Coffee สาขาแรกในจีนที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ช่วงวันแรกๆ ที่เปิดมีลูกค้าต่อคิวยาวเหยียด (Photo: Shutterstock)

    Blue Bottle Coffee ได้รับเงินลงทุนมาจาก Nestle จนทำให้ร้านกาแฟที่เน้นความเชี่ยวชาญด้านเมล็ดกาแฟ การันตีคุณภาพระดับสูง การดื่มด่ำกับรสชาติ สามารถขยายตัวได้เร็วขึ้น เป้าหมายของแบรนด์นั้นจะเป็น ลูกค้าที่รักการดื่มกาแฟ พร้อมจ่าย และต้องการคุณภาพกาแฟตลอดจนบรรยากาศการดื่ม

    ชื่อเสียงของ Blue Bottle ทำให้วันเปิดวันแรก มีคนมาต่อแถวยาวเหยียด ต้องรอกันถึง 6 ชั่วโมง และมีนักเก็งกำไรเข้าไปซื้อกาแฟมาขายต่อ ปั่นราคาลาเต้เย็นจากแก้วละ 42 หยวน (220 บาท) ขายต่อถึงแก้วละ 100 หยวน (530 บาท) ส่วนลูกค้าที่ได้ชิมจริงๆ ก็มีทั้งคนที่ประทับใจและคนที่รู้สึกว่าไม่ต่างจากกาแฟที่ดื่มอยู่

    ในส่วนนี้ต้องรอติดตามว่ากาแฟสเปเชียลตี้จะติดตลาดแค่ไหนในแดนมังกร

     

    ร้านกาแฟคอลแลปแบรนด์ เทรนด์สุดฮิตในจีน

    ส่วนอีกเทรนด์หนึ่งที่มากับกระแสใหม่ของร้านกาแฟ คือ ร้านกาแฟ “แบรนด์เนม” ผ่านการคอลแลปกับบริษัทกาแฟ แต่ใช้การตกแต่งและโลโก้ของแบรนด์ลักชัวรี

    ในระดับโลก นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะ Armani เคยเปิดร้านกาแฟและอาหารมาแล้วในปี 1998 ตามด้วยแบรนด์อื่นๆ อีกมากที่มีการเปิดร้านในเมืองต่างๆ รอบโลก เช่น Louis Vuitton, Dior, Chanel, Gucci

    FENDI CAFFE ขึ้นไปเปิดถึงบนสกีรีสอร์ต

    ส่วนที่จีน เทรนด์นี้มาเริ่มขึ้นในช่วงหลังผ่าน COVID-19 แบรนด์เนมเห็นช่องทางว่าร้านกาแฟเป็นที่สนใจของวัยหนุ่มสาวออฟฟิศมากขึ้น ในยุคแห่งโซเชียลมีเดีย แค่ถ่ายรูปแก้วกาแฟที่มีโลโก้แบรนด์หรูก็จะได้รับยอดไลก์และความสนใจ กลายเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ดี และทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงแบรนด์ง่ายขึ้น

    แบรนด์ที่เปิดร้านกาแฟแล้ว ส่วนใหญ่เป็นลักษณะ pop-up store เช่น Tiffany Blue Box Café, Burberry Thomas’s Café, Prada Garden, FENDI Caffe (แบรนด์หลังนี้เลือกขึ้นไปเปิดถึงสกีรีสอร์ทชื่อ Changbaishan International Resort)

    เหล่าร้านกาแฟเทรนด์ใหม่กำลังเข้ามาตีชิงลูกค้าบางส่วนจาก Starbucks ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคอกาแฟที่ต้องการกาแฟคุณภาพไฮเอนด์ หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการถ่ายรูปกับโลโก้เก๋ๆ เพิ่มภาพลักษณ์ความร่ำรวยและสถานะทางสังคมก็ตาม

    Source

    ]]>
    1379487