เกาหลีใต้เป็นตลาดท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้นิยมเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในเอเชีย ทำให้นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้กลายเป็นตลาดนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย โดยไทยนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับสามของนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ รองจากจีนและญี่ปุ่น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้นั้นทวีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวของไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากมาเลเซียและญี่ปุ่น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2551 จะมีนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากปี 2550 โดยมีจำนวนประมาณ 1.26 ล้านคน และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 เป็นมูลค่า 39,600 ล้านบาท
กลุ่มนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยประมาณร้อยละ 90.0 เดินทางมาเพื่อพักผ่อน และประมาณร้อยละ 5.0 เดินทางมาเพื่อติดต่อธุรกิจการค้าและการลงทุน ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 5.0 ส่วนหนึ่งเป็นการเดินทางไปมาสำหรับชาวเกาหลีใต้ที่พักอาศัยอยู่ในไทย หรือชาวเกาหลีใต้ที่เข้ามาทำงานหรือศึกษาต่อในไทย รวมทั้งกลุ่มที่เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มที่น่าจับตามอง เนื่องจากยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเจาะขยายตลาดการจัดประชุมสัมมนา
ประเด็นที่น่าสนใจคือ นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมาก่อน จึงนิยมเดินทางมากับบริษัทนำเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้กลุ่มเที่ยวซ้ำหรือกลุ่มที่เคยเดินทางมาไทยแล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวมีการขยายตัวอย่างน่าจับตามอง
อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้นั้นต้องเน้นการเจาะขยายตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่น่าสนใจ แยกพิจารณาได้ ดังนี้
1.กลุ่มนักท่องเที่ยววัยคานทองและกลุ่มคนโสดช่วงอายุระหว่าง 25-40 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง โดยในจำนวนนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ที่มาเที่ยวเมืองไทยปี 2549 ประมาณ 1.16 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยววัยคานทองประมาณ 4 แสนคน คิดเป็นกว่าร้อยละ 40.0 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และคาดว่าปี 2550 จะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยร้อยละ 5.0 ในปี 2551 ททท.ตั้งเป้าเร่งขยายฐานกลุ่มตลาดคานทองและคนโสดทั่วไปเพิ่มอีกร้อยละ 10.0 โดยคาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สร้างรายได้กว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40.0 ของเป้ารายได้ตลาดนักท่องเที่ยวรวมทั้งหมดในปี 2551 ที่ททท.ตั้งเป้ารายได้ไว้ 40,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานการท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ประเทศ ที่อยู่ในเกาหลีใต้ต่างก็หันแข่งขันกันชิงลูกค้าตลาดคานทองกันมากขึ้นตามลำดับ จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยควรจะเร่งปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่ที่เน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยคานทองและกลุ่มคนโสด
2.กลุ่มคู่แต่งงานใหม่หรือกลุ่มคู่ฮันนีมูน ประเทศไทยได้รับความสนใจจากคู่แต่งงานชาวเกาหลีใต้ โดยเฉพาะรายการฮันนีมูนที่ภูเก็ตในช่วงเดือนมีนาคม–พฤษภาคม นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นของไทยที่เป็นที่นิยมเช่นกันจากคู่แต่งงานชาวเกาหลี ได้แก่ หัวหิน พัทยา และกระบี่ กำลังซื้อกลุ่มนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ มีปีละ 3.5 แสนคู่ เลือกมาฮันนีมูนในไทยถึง 1 ใน 3 อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2550 ตลาดฮันนีมูนเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเหลือเพียง 1.4 แสนคู่ โดยตลาดที่กำลังมาแรงคือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นคนโสด
3.นักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มอื่นๆ นักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มของเกาหลีใต้นับเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีการขยายตัวที่น่าสนใจ แม้ว่าในปัจจุบันยังเป็นกลุ่มเล็กก็ตาม โดยเฉพาะตลาดทัวร์กอล์ฟ และตลาดประชุมสัมมนา
แหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ในไทย(ไม่รวมกรุงเทพฯ) คือ พัทยา สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ และเกาะช้าง อย่างไรก็ตาม ถ้าแยกพิจารณาตามกลุ่มของนักท่องเที่ยวแล้วจะเห็นว่า กลุ่มที่เป็นคู่แต่งงานใหม่หรือคู่ฮันนีมูนส่วนใหญ่จะนิยมแพ็กเกจเที่ยวชายทะเล เช่น ภูเก็ต พัทยา กระบี่ หัวหิน ชะอำ เกาะช้าง เกาะสมุย เป็นต้น นอกจากแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแล้ว นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้นิยมมาท่องเที่วงานเทศกาลประเพณีไทย โดยเฉพาะงานสงกรานต์ และงานลอยกระทง
ปัจจัยหนุนการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ มีดังนี้
1.ปี 2551 ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ครบ 50 ปี กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตไทยในเกาหลีใต้ เริ่มนำร่องเจรจาฉลองความสัมพันธ์ยิ่งใหญ่โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นกลยุทธ์ 3 โครงการ ประกอบด้วย การนำโรงแรมที่พักชั้นนำของประเทศให้นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ได้เลือกใช้ห้องพักระดับดีที่สุด 50 แห่ง การจัดทำโครงการประกวดภาพแหล่งท่องเที่ยว 50 ช่างภาพ และการจัดทำUser Creative Contest : UCC ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยการขายผ่านบล็อกในเว็บไซต์ยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ชื่นชอบ โดยการเขียนความประทับใจและการค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในประเทศไทย นับเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งให้สถานที่ท่องเที่ยวเมืองไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของPortal Website ในเกาหลีใต้
2.การขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม นโยบายขยายตลาดท่องเที่ยวในปี 2551 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หันมาเน้นตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งมีกำลังซื้อสูง และมีลู่ทางขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว ตลาดคู่แต่งงานใหม่ ตลาดนักกอล์ฟ และตลาดนักท่องเที่ยวเยาวชน
3.นักท่องเที่ยวนอกฤดูกาล นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี
4.การส่งเสริมด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง สำนักงานที่กรุงโซลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรได้ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเชิงรุกเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้มาเที่ยวไทย โดยเฉพาะการโฆษณาร่วมกับสื่อออนไลน์ ซึ่งได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ ทำให้สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
5.ความสะดวกในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย จากการเพิ่มเที่ยวบินของทั้งสายการบินไทย และสายการบินของเกาหลีใต้(ทั้งสายการบินโคเรียนแอร์ และสายการบินเอเชียนา) ขณะนี้มี 3 สายการบิน ทำเที่ยวบินประจำเช่าเหมาลำ (Charter Scheduel) ได้แก่ สายการบินโคเรียนท์ แอร์ไลน์ บินชาร์เตอร์ 2 เดือนระหว่างกรกฎาคม-สิงหาคม เส้นทางไป-กลับ โซล-อู่ตะเภา 4 เที่ยว/สัปดาห์ บรรทุกผู้โดยสารเข้ามาเที่ยวละ 276 คน สายการบินสกายสตาร์ บินชาร์เตอร์ประมาณปีละ 6 เดือน โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม เส้นทางโซล-ภูเก็ต 5 เที่ยว/สัปดาห์ และสายการบินโคเรียนท์ แอร์ไลน์ กำลังได้รับการผลักดันจากบริษัทตัวแทนจัดนำเที่ยวเกาหลีใต้ 5 ราย คาดว่าจะเริ่มให้บริการบินชาร์เตอร์ ปลายกรกฎาคม 2551 นี้ ไป-กลับโซล-กระบี่ ซึ่งเส้นทางนี้ ททท.กำลังผลักดันให้เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ให้เป็นเส้นทางใหม่รองรับตลาดคู่ฮันนีมูนเกาหลีใต้ที่สนใจเดินทางมาใช้จ่ายเงินในเมืองไทย
นอกจากนี้การที่เมืองอินชอน(Incheon) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของกรุงโซลมีแผนจะใช้สนามบินระหว่างประเทศเพื่อเป็นฐานสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ โดยมีการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับไทเกอร์แอร์เวย์ ซึ่งสายการบินต้นทุนต่ำที่ถือหุ้นโดยสิงคโปร์แอร์ไลน์เปิดเส้นทางการบินไปยังเกาหลีใต้ การเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศสายการบินต้นทุนต่ำนับเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
จากความพยายามในการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวหลักในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงเกาหลีใต้ของภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งไทยยังมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้มาท่องเที่ยวยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้อีก โดยนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้นั้นเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง สามารถช่วยเพิ่มพูนรายได้ด้านการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างรวดเร็วและโดยต่อเนื่อง