“ติ๊งต่อง…สวัสดีครับ/ค่ะ 7-Eleven ยินดีต้อนรับครับ/ค่ะ” ประโยคคุ้นหูสำหรับผู้ใช้บริการร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ที่มีอยู่ทุกหัวระแหงในเขตเมืองทั่วไทย ชนิดที่เรียกว่าสัญจรไปทางใดก็ต้องเจอ บางแห่งในถนนเส้นเดียวกันที่ยาวไม่ถึง 1 กิโลเมตร มีถึง 4-5 สาขาก็มี นับได้ว่า 7-Eleven เป็นธุรกิจค้าปลีกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในไทย ด้วยนิยามธุรกิจ “เพื่อนบ้านที่ไม่เคยหลับ”
ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) นับจากสาขาแรกตรงหัวมุมถนนพัฒน์พงษ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 ผ่านมาจนถึงสิ้นไตรมาส 1 ปีนี้ 7-Eleven สยายปีกไปแล้วกว่า 3,912 สาขาทั่วไทย นับว่าเป็นร้านค้าปลีกที่มีเครือข่ายมากที่สุดในไทย และมียอดขายเฉลี่ย 65,019 บาท/สาขา/วัน
แม้จะมีการเติบโตด้านจำนวนสาขาอย่างรวดเร็ว แต่ 7-Eleven กลับไม่เคยมีประเด็นร้อนแรงเหมือนค้าปลีกข้ามชาติรายอื่น ว่าเป็นตัวบั่นทอน ตัดตอนวงจรชีวิตของร้านโชห่วยไทย เพราะ 7-Eleven เติบโตแบบไม่คุกคามโดยตรง แต่สร้างทางเลือกที่ออมชอม โดยชูบริการเสริมที่หลากหลาย ครบครัน ชนิดที่เรียกว่าโชห่วยไม่สามารถทำได้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องโนว์ฮาว และที่สำคัญคือเงินทุน
อาวุธเสริมสำคัญอย่าง “เคาน์เตอร์ เซอร์วิส” ก็เป็นจุดขายหนึ่งที่ทำให้ 7-Eleven เป็นเจ้าบ้านที่ไม่เคยว่างเว้นผู้มาเยือน
ด้วยจำนวนสาขาที่มากมายมหาศาล 7-Eleven ทำให้บริษัทต้องแสวงหาบุคลากรมารองรับ ด้วยการก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ขึ้นมา ภายใต้แนวคิด “เรียนฟรี มีงานทำ” นับเป็นแผนธุรกิจอันแยบยลในการสร้างทีมงานที่เรียนรู้ระบบในร้านอย่างเป็นขั้นตอน
นอกจากนี้ ไม่เพียง 7-Eleven จะมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคแล้ว กับคู่ค้าก็มีอย่างยิ่งยวด เพราะใครๆ ก็อยากนำสินค้าของตนไปวางจำหน่ายใน 7-Eleven แต่ก็มีไม่น้อยที่ได้โอกาสนั้นแล้วก็ไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้เพราะยอดขายไม่ดี ดังนั้น 7-Eleven จึงเป็นช่องทางสำคัญในการที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าสินค้าใดจะเกิดหรือไม่เกิด ทำให้กลยุทธ์ FBO (Frist Best Only) ถูกหยิบยกมาใช้เป็นธรรมเนียม สำหรับสินค้าใหม่ที่เลือกวัดกระแสตอบรับในระยะเวลาจำกัดประมาณ 1 เดือน กับร้านค้าปลีกที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศแห่งนี้
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าจุดสำเร็จที่ทำให้ 7-Eleven สามารถเติบใหญ่ได้เช่นทุกวันนี้ เพราะการเข้าถึง Consumer Lifestyle ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการไม่ว่าเวลาใด และส่งผลให้กลายเป็นร้านค้าปลีกเนื้อหอมที่สินค้าอุปโภคบริโภคต่างรุมแย่งชิงพื้นที่บนเชลฟ์ อันหมายถึงโอกาสทางการตลาดมหาศาล
เวลานี้ 7-Eleven ได้แสดงนิยามของคำว่า “ร้านสะดวกซื้อ” ได้โดยสมบูรณ์