ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคแยกย่อยกระจัดกระจายไปตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสภาพภูมิศาสตร์ ทำให้นักการตลาดเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคกันแบบละเอียดยิบ อย่าง จังหวัด “เชียงใหม่” ก็เป็นหนึ่งในตลาดหอมหวนที่เริ่มมีกำลังซื้อจับต้องได้มากขึ้น แมคแคนเวิลด์กรุ๊ป จึงลงมือสำรวจ “ชีวิตของชาวล้านนา” (Lanna Lives) ซึ่งเน้นศึกษาเฉพาะเชียงใหม่ในเชิงลึก
สิ่งที่เขาพบ คือ ชาวเชียงใหม่ทั่วไปยังมีความเป็นล้านนาสูง ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นภาษา อาหาร และศิลปะ แม้จะรับวัฒนธรรมอื่นแต่ก็ปรับให้เข้ากับตัวเอง เช่นแม้จะชอบดื่มกาแฟ แต่ก็เป็นกาแฟวาวีของคนเหนือ ไม่ใช่สตาร์บัคส์ อีกทั้งยังคงมีความเป็นครอบครัวสูงไม่ว่าจะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือชนบท แม้คนในเมืองมีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกับชาวกรุงเทพฯ มาก ถึงกระนั้นก็ยังชอบความเรียบง่าย สบายๆ ไม่เร่งร้อน
รายได้ต่อเดือน ยิ่งทำก็ยิ่งได้
ศักยภาพในการทำงานเป็นตัวกำหนดรายได้ของคนเชียงใหม่ ด้วยอาชีพที่ใช้ทักษะต่างๆ เช่น ช่างทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน ซึ่งสามารถทำเพิ่มได้เรื่อยๆ ส่วนฝ่ายหญิงในชนบทก็จะรับงานมาทำที่บ้าน เช่นทำดอกไม้ ขณะที่ผู้ชายและผู้หญิงในเมืองมีทางเลือกของอาชีพมากขึ้น ผู้ชายอาจเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดย่อม หรือรับราชการ ส่วนผู้หญิงอาจเป็นพนักงานออฟฟิศ โรงแรม หรือขายยา เป็นต้น
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนชนบท 12,000 – 15,000 บาท
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนเมือง 20, 000 – 30,000 บาท
ค่าใช้จ่ายเดือนๆ หนึ่งหมดไปกับลูก
เพื่อการศึกษาของลูก คนเชียงใหม่ทุ่มทุนทุกอย่าง ทำให้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของครอบครัว ส่วนค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอย่างอื่น เช่น อินเทอร์เน็ต ก็มีเฉพาะบางบ้านที่ใช้กันเท่านั้น
ประเภทค่าใช้จ่าย ชนบท เมือง
ค่าเทอมและค่าเรียนพิเศษ 3,000 – 10,000 บาท / เทอม 8,000 – 15,000 บาท / เทอม
ค่าขนมไปโรงเรียนของลูก 200 – 1,200 บาท / เดือน 1,000 – 2,000 บาท / เดือน
ค่าอาหารในครอบครัว 3,000 ขึ้นไป / เดือน 6,000 – 9,000 บาท / เดือน
ค่าน้ำมันรถ 500 บาท / เดือน 2,000 – 5,000 บาท / เดือน
ช้อปปิ้งของใช้เข้าบ้าน 500 – 1,000 บาท / เดือน 1,000 – 2,000 บาท / เดือน
หวย / สลากกินแบ่งรัฐบาล 100 – 500 บาท / ครั้ง 500 – 1,000 บาท / ครั้ง
โทรศัพท์มือถือ 100 บาท / เดือน 300 บาท / เดือน
อินเทอร์เน็ต – 200 บาท / เดือน
“หนี้สิน” เป็นเรื่องปกติ
ไม่ว่าจะเป็นคนในเมืองหรือชนบท ล้วนแต่ยินดีเป็นหนี้เพื่อนำเงินมาหมุนในกิจกรรมต่างๆ โดยคนในชนบทจะกู้หนี้ยืมสินเพื่องานหรือความจำเป็น เช่น ซ่อมจักรเย็บผ้า ซื้อตู้เย็น ทว่าคนในเมืองจะเป็นเชิงไลฟ์สไตล์ เช่น ตกแต่งบ้าน จ่ายบัตรเครดิต เป็นต้น
หนี้เฉลี่ยของชาวเชียงใหม่ในชนบท – 20,000 – 50,000 บาท
หนี้เฉลี่ยของชาวเชียงใหม่ในเมือง – 100,000 บาทขึ้นไป
โทรศัพท์มือถือไม่เน้นยี่ห้อ แค่ขอให้ใช้ได้
คนเชียงใหม่ไม่เน้นภาพลักษณ์หรูหราราคาแพง โทรศัพท์ก็เลยไม่จำเป็นต้องมีแบรนด์ หรือหวือหวาเปลี่ยนบ่อยตามแฟชั่น ส่วนใหญ่ชอบซื้อของเลียนแบบจาก อ. แม่สาย ชายแดนพม่า หรือของมือสอง ชอบใช้ระบบเติมเงิน และเป็นบริการเติมออนไลน์แบบท้องถิ่นจาก “กาดนัด” (ตลาดนัด) นอกจากนี้ก็ใช้จำกัดอยู่แค่การโทรเข้า-ออก ไม่นิยมส่งข้อความไม่ว่าจะเป็น SMS หรือ MMS เนื่องจากความคุ้นเคยและงบประมาณจำกัด
ราคาเฉลี่ยของโทรศัพท์มือถือ – 1,000 บาท
จำนวนเงินที่เติม – ครั้งละ 20 – 30 บาท (แต่เติมบ่อยๆ)
คนเชียงใหม่ดูทีวีมากกว่าเล่นเน็ต
แม้โลกจะหมุนเปลี่ยนด้วยกระแสอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ใช่สำหรับไลฟ์สไตล์ของคนเชียงใหม่ที่ชอบอะไรแบบ “ชิลล์ๆ” ดังนั้นคนที่นี่ก็ยังชอบเปิดทีวีช่องข่าว สถานียอดนิยมยังคงเป็นช่อง 3 และช่อง 7 นิยมละครหลังข่าว และรายการประเภท “Edutainment” อาทิ กบนอกกะลา คนค้นคน เรื่องจริงผ่านจอ ส่วนวัยรุ่นจะนิยมซีรี่ส์เกาหลี
วัยรุ่นหมดเงินไปกับเพื่อน
วัยรุ่นที่ไหนก็ชอบใช้เงินไปกับเพื่อน ส่วนใหญ่วัยรุ่นจะนิยมเช่าหอพักอยู่ด้วยกัน และที่พึ่งทางการเงินย่อมเป็นพ่อแม่ แต่เด็กในเมืองจะหาลำไพ่พิเศษด้วยการเป็นพนักงานร้านอาหารไปด้วย
ค่าขนมของเด็กในชนบท – 2,000 – 4,000 บาท / เดือน
ค่าขนมของเด็กในเมือง – 4,000 -6,000 บาท / เดือน และมี รายได้พิเศษเพิ่ม 1 – 3,000 บาท / เดือน
เว็บไซต์โปรดของเด็กเชียงใหม่ไม่ต่างกับวัยรุ่นกรุงเทพฯ
แม้ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการใช้อินเทอร์เน็ตไม่มากนัก แต่เว็บไซต์ที่เด็กในตัวเมืองเชียงใหม่เข้าบ่อยก็เหมือนวัยรุ่นในเมืองกรุง คือ Google, Hotmail, Hi5, Pantip, Sanook, MThai, Teenee, Madoo, Truemusic ที่แตกต่างก็แค่มีเว็บบอร์ดภาษาถิ่นของคนล้านนา หัวข้อสนทนาก็จะเป็นแวดวงล้านนา
ศิลปินยอดนิยมต้อง “ลูกทุ่งอู้คำเมือง”
ขนาดศิลปิน คนเชียงใหม่ยังเลือก “กรี๊ด” ในแบบพื้นเมือง ขณะที่ทางเลือกแบบผู้ใหญ่คือจรัล มโนเพ็ชร์ สุนทรี เวชชานนท์ แต่ขณะนี้ที่ดังระเบิดคือ “วิทูร ใจพรหม” ที่ร้องเพลงลูกทุ่งพร้อมกับคั่นรายการด้วยตลกคำเมือง
สื่อนอกบ้าน ยังชอบแบบ “เดิมๆ”
สื่อการตลาดที่แพร่หลายในเชียงใหม่ก็ยังคงเป็นแบบง่ายๆ ในชนบทจะเน้นการจัดวางสินค้า มีชั้นวางเฉพาะของแบรนด์ ขณะที่ในตัวเมืองก็ยังไม่พลิกแพลงมากนัก
ข้อมูลเหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจไปลงทุนทำธุรกิจ หรือเปิดตลาดในเชียงใหม่ หนึ่งในจังหวัดที่คนกรุงใฝ่ฝันไปใช้ชีวิต หรือทำธุรกิจมากที่สุดแห่งหนึ่ง