แบรนด์ชนแบรนด์

ถ้าใครไปเที่ยวงานเทศกาลสงกรานต์บนถนนข้าวสาร คงต้องเห็นป้ายผ้าโฆษณาโค้กสีแดง ติดอยู่ทั่วทั้งตั้งแต่หัวถนนจนท้ายถนนข้าวสาร ชนิดที่ไม่ให้คลาดสายตา

ส่วนคู่แข่งอย่าง “เป๊ปซี่” ก็ไม่น้อยหน้า แม้จะไม่ได้เข้าพื้นที่ในซอยข้าวสารเหมือนกับโค้ก แต่ก็ไปใช้ซอยรามบุตรีที่อยู่ถัดจากซอยข้าวสารแค่ซอยเดียว

แต่ถ้าอยากดูแบบแบรนด์ชนแบรนด์กันแบบจะจะ ก็ต้องเดินออกมาในย่านบางลำพู ที่จะเห็นทั้งสองค่ายแขวนป้ายผ้าโฆษณาประกบ เรียกได้ว่า สงครามแผ่นป้ายผ้าโฆษณาแบบไม่มีใครยอมใคร

สำหรับโค้กนั้น กลยุทธ์หนึ่งที่โค้กไม่เคยละเลย คือการทำกิจกรรมการตลาดตามเทศกาล เช่นเทศกาลสงกรานต์ นอกจากถนนข้าวสาร ถนนข้าวเหนียว คูเมืองเชียงใหม่ เรียกว่าไม่ว่าจะไปสาดน้ำที่ไหน นักท่องเที่ยวและชาวไทยก็มีโอกาสได้เห็นธงโค้กแขวนเรียงแดงเป็นราว ทั้งที่ถนนข้าวสาร

นั่นคือกลยุทธ์ที่ทำให้โค้กไม่เคยแก่ตามอายุ และทำให้โค้กยังคงเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดีเสมอ ด้วยการการเลือกทำกิจกรรมการตลาดที่เจาะเข้าไปในทุกๆ ที่ ที่คนรุ่นใหม่ไปรวมตัวกัน ไม่ว่าโลกของความจริง หรือโลกออนไลน์

โค้กยังเชื่อในกิจกรรมที่เป็นแหล่งรวมความสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเกมฟุตบอล

เชื่อหรือไม่ว่าโค้กเป็นออฟฟิศเชียลพาร์ตเนอร์ของฟุตบอลโลกที่ยาวนานที่สุด โดยเซ็นสัญญาที่จะสนับสนุนการแข่งขันตั้งแต่ปี 1978-2022 เพราะเชื่อมั่นว่าเงินกว่าหมื่นล้านเหรียญที่ต้องจ่ายไป จะเป็นใบเบิกทางให้โค้กเข้าถึงตลาดทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ฝ่ายเป๊ปซี่ซึ่งไม่เคยเป็นออฟฟิศเชียลสปอนเซอร์ให้กับเกมกีฬา จนกลายเป็นแนวทางของเป๊ปซี่ที่มองว่า “Official Partner is nothing”

แต่ทุกครั้งเป๊ปซี่ก็ไม่ได้อยู่เฉยกับอีเวนต์สำคัญๆ และเลือกกลยุทธ์ Free Rider มาเกาะติดทุกกิจกรรมสำคัญเช่นกัน เรียกว่าเห็นโค้กที่ไหนก็มีเป๊ปซี่ที่นั่นด้วย

สงกรานต์ที่ผ่านมา ก่อนจะได้ดื่มด่ำกับสีสันของโค้กในเขตงาน นักเที่ยวทุกคนจึงมีโอกาสได้ปะหน้ากับเป๊ปซี่ก่อนเข้างานทุกที่ไป

เอาเป็นว่า ทั้งโค้กและเป๊ปซี่ ต่างก็มีโพสิชันนิ่งชัดเจนในแบบของตัวเองด้วยกันทั้งคู่

ฝ่ายแรกเลือกแสดงตัวว่า “มีคนรุ่นใหม่ที่ไหน ที่นั่นมีโค้ก”

ส่วนฝ่ายหลังก็ว่ากันตรงๆ ไปเลย “ที่ไหนมีโค้ก ที่นั่นต้องมีเป๊ปซี่เป็นของคู่กัน”

Did you know?
Free Rider เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึงผู้ที่ได้ประโยชน์โดยไม่ต้องเสียแรงหรือเงินทุนทางการผลิต ในทางการตลาดหมายถึงกลยุทธ์ที่ตราสินค้าเข้าไปปรากฏตัวต่อผู้บริโภค มีส่วนร่วมในกิจกรรม โดยไม่ได้จ่ายเงินในฐานะผู้สนับสนุนในกิจกรรมนั้นๆ โดยตรง