บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) บริษัทวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึก ในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค หรือ FMCG นำโดย มร. คาเร็ต อิลิส ผู้อำนวยการด้าน Commercial ได้เปิดเผยข้อมูลวิจัยพบว่า “แนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาในไตรมาสที่ 1 ของปี ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมนักช้อปไทยในกลุ่มสินค้า FMCG ลดต่ำลงต่อเนื่อง
โดยสินค้าในหมวด FMCG ของประเทศไทย มีอัตราการจับจ่ายใช้สอยลดลง มาตั้งแต่ปี 2552 มาจนถึงปี 2559 ได้ลดต่ำลงเหลือในระดับแค่ 1.8 เท่านั้น ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
การลดต่ำลงยอด FMCG มาจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2005 จนถึง 2559 ปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซา กลุ่มคนฐานรากที่ประกอบอาชีพเกษตร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้รับกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้กำลังซื้อสินค้าลดต่ำลง
เผย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ตกมากสุด
ทั้งนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการจับจ่ายใช้สอยลดลง 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care) 4.8 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน (Household) 2.9 3.กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) = 0.3
ชาเขียว นม ครีมเทียม ยอดตกลง 10-20%
ผลการวิจัยยังพบด้วยว่า 40% ของกลุ่มสินค้า FMCG มียอดตกลงอย่างต่อเนื่อง ในอัตรา 10–20% ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มหลัก
- สินค้าประเภท ชาพร้อมดื่ม ชาสำเร็จรูป Instant TDF, นมพาสเจอร์ไรส์ UHT TDF, ครีมเทียมสำหรับกาแฟ,
- ผลิตภัณฑ์ใบมีดโกน และโทนเนอร์
- สินค้าประเภทซีเรียล หรือผลิตภัณฑ์จากธัญพืช
3 กลุ่มสินค้าที่ยังเติบโต ความงามยังไปได้
ส่วนกลุ่มสินค้าที่ยังคงเติบโตในอัตรา 10% ขึ้นไป ได้แก่ 1.กระดาษเช็ดหน้า (Facial Tissue) 2.ผลิตภัณฑ์กันแดด ครีมล้างหน้า มาสค์ และ 3.นมถั่วเหลืองสเตอริไลส์ น้ำดื่มบรรจุขวด และ กาแฟพร้อมดื่ม
ช้อปลดลง ทั้งความถี่-ยอดต่อครั้ง-ชนิดสินค้า
ผลวิจัยของกันตาร์ยังพบด้วยว่า พฤติกรรมการจับจ่ายของเหล่านักช้อป มีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก เมื่อนำสถิติของไตรมาส 1 ในปี 2557 มาเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2559 มีสถิติลดลงทุกกรณี ทั้งในส่วนของจำนวนกลุ่มสินค้าที่เลือกซื้อของแต่ละครัวเรือน ความถี่ในการออกไปจับจ่าย และช่องทางค้าปลีกที่ไปเลือกซื้อ ตลอดจนการใช้จ่ายแต่ละครั้งในแต่ละช่องทาง โดยภาพรวมยังส่อภาพลบ ลดลงทุกกรณี ทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ดังนี้
แคทิกอรี่ในการช้อปลดลง จาก 43 กลุ่มเหลือ 41 กลุ่ม
ผลวิจัยเปรียบเทียบ กลุ่มสินค้า FMCG ที่มีการเลือกซื้อเฉลี่ยแต่ละครัวเรือน ระหว่างไตรมาส 1 ในปี 2557 กับ ไตรมาส 1 ในปี 2559 มีสถิติลดลง จาก 43 เหลือ 41 กลุ่มสินค้า
ส่วนความถี่ในการออกไปจับจ่ายในช่องทางการขายไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต จาก 27 ครั้ง ลดลงเหลือ 21 ครั้ง
ช่องทางร้านสะดวกซื้อ จาก 37 ครั้ง เหลือ 36 ครั้ง และช่องทางร้านค้าโชห่วย จาก 133 เหลือ 127 ครั้ง
รูปแบบการวิจัย
กันตาร์ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจาก “ตะกร้าสินค้า” ของผู้บริโภค ที่มีการจับจ่ายใช้สอยจริง จากครัวเรือนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด โดยนำมาประมวลผล ประมวลผลด้วยดัชนี CRP หรือ Consumer Reach Point ซึ่งเป็นอัตราการตัดสินใจเลือกซื้อจริงของสินค้านั้น ๆ เพื่อเป็นตัวแทนแสดงผลของประชากร 22.2 ล้านครัวเรือน