ยุคทองค้าขายออนไลน์ไทย?

การสำรวจหลายสถาบันชี้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยกำลังงอกงามสุดขีด และกำลังก้าวไปเป็นหนึ่งในตลาดแถวหน้าของเอเชีย วันนี้ ‘ปลาใหญ่’ ในตลาดค้าปลีกออนไลน์ระดับโลกได้กลิ่นความพร้อมนี้ การบุกหนักจึงเกิดขึ้นพร้อมกันในตลาดไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่มีทั้งการหนีของปลาเล็กและการเตรียมรับมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เรียกว่าทุกความเคลื่อนไหวล้วนเอื้อต่อการนับถอยหลังสู่ยุคทองครั้งใหม่ของ อีคอมเมิร์ซไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์

ทองแท้พร้อมขุด

นักวิเคราะห์ฟันธงว่าการเติบโตในช่วงเริ่มต้นของยุคทองอีคอมเมิร์ซไทยครั้งล่าสุดจะคำนวณได้เป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากวันนี้ผู้คนต่างเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองในการซื้อสินค้า ทำให้การซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์และบนเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) หรืออินสตาแกรม (Instagram) กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมชอปปิ้งของชาวไทยส่วนหนึ่งไปแล้ว

มีการประเมินกันว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางตลาดอีคอมเมิร์ซและอีเพย์เมนต์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปีหน้า เนื่องจากมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2.1 ล้านล้านบาทที่ถูกประเมินสำหรับปีที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA ชี้ว่าคิดเป็นอัตราเติบโตมากกว่า 3.65% เมื่อเทียบจากปี 2557

การสำรวจของบริษัทวิจัยเบนแอนด์คัมปะนี (Bain & Company) พบว่าผู้บริโภคมากกว่า 11 ล้านคนลงมือคลิกซื้อสินค้าออนไลน์แล้วในประเทศไทย เชื่อว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ ปัจจัยเสริมคือความต้องการที่เพิ่มขึ้น ความคุ้มค่าและสะดวกสบายจากระบบดิจิตอล การขนส่งที่ลื่นไหล และระบบชำระเงินที่หลากหลายยืดหยุ่น

หากมองในมุมการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมทั้งการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เดบิต และบัตรเติมเงิน การวิเคราะห์ของสถาบันการเงินอย่างมูดี้ส์ (Moody’s Analytics) พบว่ามีการขยายตัวจนทำให้ตัวเลขจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นอีก 3,180 ล้านเหรียญสหรัฐตลอดปี 2554-2558 ถือเป็นอัตราเติบโตที่สูงสุดเมื่อเทียบกับในประเทศอื่นในเอเชีย

การสำรวจของ Bain ยังพบว่าเกินครึ่งของการซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทยเป็นการซื้อผ่านอุปกรณ์พกพา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเครือข่าย 4G ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ บนสถิติประชากร 67 ล้านคนแต่มีการถือครองโทรศัพท์มือถือ 97 ล้านเครื่อง (อัตราการใช้งานเฉลี่ย 144%)

บริษัทวิจัย ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PricewaterhouseCoopers) ที่ปรึกษาธุรกิจนานาชาติซึ่งลงมือสำรวจพฤติกรรมการชอปออนไลน์ทั่วโลกช่วง เดือนเมษายนที่ผ่านมา พบด้วยเช่นกันว่ามากกว่า 51% ของนักชอปออนไลน์ในไทยซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย (จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียไทยขณะนี้คือ 38 ล้านคน) สัดส่วนนี้สูงกว่าอินเดียที่คิดเป็นตัวเลข 32% หรือมาเลเซียที่คำนวณได้ 31% และจีน 27%

จุดนี้นำไปสู่ประเด็นน่าสนใจ เพราะร้านค้าที่คนไทยสนใจบนแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Instagram และไลน์ (LINE) นั้นหลายร้านเป็นพ่อค้าแม่ขายรายย่อยที่ไม่มีหน้าร้านอย่างเป็นทางการ แถมสินค้ายังหลากหลายมากทั้งเสื้อผ้า สินค้าสำหรับสุขภาพและความงาม กระเป๋า เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารสดแห้งคาวหวาน ทั้งหมดมีการประเมินว่าตัวเลขร้านค้ารวมในไทยเบ็ดเสร็จแล้วเกิน 10,000 ร้านแน่นอน

ความสุกงอมของตลาดค้าขายออนไลน์ไทยส่งกลิ่นกระตุ้นให้ทุกฝ่ายลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว เช่นรัฐบาลไทยที่ประกาศจับมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินในประเทศจัดตั้งระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติขึ้นมา บนข้ออ้างว่าเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายออนไลน์และลดการใช้เงินสดในระบบ ท่ามกลางสายตาที่เชื่อว่าอาจมีประเด็นภาษีเป็นวาระแห่งชาติซ่อนอยู่ในโครงการนี้

ยังมีความเคลื่อนไหวจากผู้ค้าปลีกดั้งเดิม เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซระดับโลก และผู้เล่นรายย่อยที่ประเมินตัวเองว่าไปไม่รอดแน่

559000007001403

ปลาเล็กหนีปลาใหญ่

ปลาใหญ่ที่ว่ายเข้าสู่น่านน้ำค้าขายออนไลน์ไทยจนสะเทือนวงการคืออาลีบาบา (Alibaba) เจ้าพ่อแดนมังกรที่จะซื้อหุ้น 20% จากบริษัทสัญชาติไทยชื่อ ‘แอสเซนด์มันนี่’ (Ascend Money) ซึ่งเป็นต้นสังกัดบริการทรูมันนี่ เพื่อเบิกทางสู่ตลาดชำระเงินออนไลน์ในไทยก่อนขยายไปยังประเทศอื่นในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้

เรื่องนี้ ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนต์ กรุ๊ป จำกัดให้ความเห็นเพียงว่าเหตุผลหลักที่ทำให้กลุ่มทุนรายใหญ่จากจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือจำนวนประชากรกว่า 680 ล้านคน โดยมีอินโดนีเซียเป็นตลาดหลักจากจำนวนประชากร ส่วนประเทศไทยแม้ว่าจะมีจำนวนประชากรเพียง 67 ล้านคน แต่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

การลงทุนครั้งนี้ของ Alibaba เกิดขึ้นหลังจากประกาศซื้อกิจการ ‘ลาซาด้า'(Lazada) ในเครือบริษัทร็อคเก็ตอินเทอร์เน็ต (Rocket Internet) สัญชาติเยอรมนีซึ่งให้บริการในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม สื่อต่างประเทศยกให้ Lazada เป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์ที่เติบโตรวดเร็วที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งสินค้าแฟชั่น จนถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

ในมุมของ Lazada อเล็กแซนดรอ บิสชินี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท Lazada ประเทศไทย กล่าวว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับ Alibaba จะเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีหลังบ้านของ Alibaba มาปรับใช้กับบริการ Lazada ขณะที่ทาง Alibaba ก็จะได้ข้อมูลในส่วนของลูกค้า Lazada เพื่อนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทย ทำให้สามารถปรับรูปแบบการนำเสนอให้เหมาะกับลูกค้าไทยมากที่สุด

ไม่เพียงการมาของ Alibaba บริษัทที่มีดีกรีกินรวบส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในตลาดจีนได้สำเร็จ แต่ไทยยังเป็นดินแดนที่ Facebook เปิดทดสอบให้ผู้ใช้สามารถจ่ายเงินซื้อสินค้าที่ปรากฏบนเพจ (Facebook Pages) ส่วนร้านค้าเป็นประเทศแรกด้วย

Facebook ยอมรับว่าเลือกไทยเป็นพื้นที่ทดสอบแห่งแรก เพราะ ‘ขนาดตลาดซื้อขายสินค้าบนโลกโซเชียลมีเดียที่ใหญ่มาก’ คำยืนยันที่ชัดเจนมาจากสุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ เจ้าของธุรกิจเจคิว ปูม้านึ่ง Delivery ที่ระบุว่าเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในช่วงวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ เจคิว ปูม้านึ่งได้รับยอดสั่งซื้อสินค้ามูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านบาทภายในหนึ่งวัน ซึ่งเป็นผลลัพธ์หลังจากการเพิ่มส่วนร้านค้าบน Facebook

นอกจากตลาดค้าขายออนไลน์ บริการด้านการขนส่งในไทยก็ถูกมองว่าจะเป็นพลุชุดใหญ่ที่จะทำเงินได้มหาศาล

LINE ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันแชตยอดฮิตของชาวไทยประเดิมเปิดให้บริการไลน์แมน (LINE MAN) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาโดยจำกัดให้บริการเฉพาะกรุงเทพฯเป็นแห่งแรก LINE MAN เริ่มต้นด้วยบริการหลัก 3 อย่างในช่วงแรกคือบริการส่งของทั่วไป บริการสั่งซื้ออาหารจากร้านพันธมิตร 10,000 ร้านทั่วกรุงเทพฯ และบริการสั่งของสะดวกซื้อจากร้านเซเว่น อีเลฟเว่น

ความคึกคักนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการโบกมือลาของผู้เล่นบางรายในตลาด ย้อนไปเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคุเท็น (Rakuten) เจ้าพ่อบริการออนไลน์สัญชาติญี่ปุ่นยืนยันแผนขายหุ้นส่วนใหญ่ที่ถือใน ‘ตลาดดอทคอม’ (TARAD.com) เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ไทยรายใหญ่ที่ราคุเท็นยึดเป็นฐานทำตลาดมาตั้งแต่ปี 2009 พร้อมกับประกาศปิดบริการเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ในสิงคโปร์ มีผล 1 มีนาคม 2559 เช่นเดียวกับเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสในมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่จะไม่มีให้บริการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

Rakuten ระบุว่าบริษัทจะเบนเข็มจากรูปแบบธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านเว็บไซต์ ไปเป็นบริการโมบายแอปพลิเคชันที่เปิดให้ผู้บริโภคซื้อขายกันเองผ่านอุปกรณ์ มือถือ (C2C) ในชื่อราคุมะ (Rakuma) การตัดสินใจนี้ทำให้ร้านออนไลน์ในหลายประเทศอาเซียนของ Rakuten ต้องปิดตัวลง เช่นเดียวกับการขายหุ้นใน TARAD.com ทิ้งไปเพื่อให้สามารถเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

การปิดฉากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ สาขาสิงคโปร์ rakuten.com.sg ของ Rakuten เกิดขึ้นเพียง 2 ปีหลังจากเริ่มให้บริการเมื่อมกราคม 2014 โดยการปิดเว็บไซต์ในอาเซียนทำให้พนักงานกว่า 150 คนถูกลอยแพ แม้ Rakuten จะยังคงตั้งสำนักงานใหญ่ประจำอาเซียนไว้ที่สิงคโปร์เช่นเดิม

ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ผู้ก่อตั้ง TARAD.com กล่าวว่าร้านค้าที่อยู่ใน TARAD.com ทั้งหมดกว่า 270,000 ร้านค้าไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ขณะที่ลูกค้าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น สนุกขึ้น และโดดเด่นมากขึ้น ยืนยันว่า TARAD.com จะไม่เล่นสงครามราคาเหมือนอีคอมเมิร์ซรายอื่น แต่จะเน้นนำบริการของบริษัทในเครือเข้ามาเสริมกับบริการเดิมที่ TARAD.com มีอยู่ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น

แต่ที่ฮือฮาที่สุดหนีไม่พ้น Ensogo เว็บไซต์จำหน่ายดีลรายวันที่ประกาศปิดกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบสายฟ้าฟาด

23 มิถุนายนที่ผ่านมา Ensogo ประเทศไทยเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกด้วยการโพสต์ข้อความว่า ‘เนื่องจากผู้ถือหุ้นออสเตรเลียได้หยุดการสนับสนุนเงินทุนอย่างกะทันหัน ขณะนี้ Ensogo กำลังรีบดำเนินการเพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมและข้อสรุปที่ดีที่สุดให้ กับท่านอย่างสุดความสามารถ ทางบริษัทฯ ขออภัยเป็นอย่างสูงต่อความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้’

ยังมีซาโลรา (Zalora) ร้านค้าออนไลน์สินค้าแฟชันชื่อดังที่ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าได้ขายธุรกิจใน ประเทศไทยและเวียดนามเมื่อเมษายนที่ผ่านมา เวลาผ่านไปกว่า 1 เดือน กลุ่มเซ็นทรัลจึงค่อยประกาศว่าได้เข้าซื้อกิจการ Zalora ประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์กระแสชอปออนไลน์บูม บนความหวังเพิ่มช่องทางการค้าให้กับผู้ผลิตทุกขนาด ทั้งเอสเอ็มอี และธุรกิจคู่ค้าได้ครบวงจรทั้งออฟไลน์และออนไลน์

เหลือแต่รายใหญ่

‘ตลาดอีคอมเมิร์ซถือเป็นตลาดของรายใหญ่ไม่กี่ราย อย่างที่เห็นในตลาดโลกจะมีเพียงอเมซอน และอาลีบาบาเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดในตลาดได้ ดังนั้นแนวโน้มในตลาดประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ที่จะมีโอกาสเหลือรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย และแน่นอนว่าลาซาด้าต้องเป็นหนึ่งในนั้น’ ผู้บริหาร Lazada ประเทศไทย ระบุ

ผู้บริหาร แอสเซนต์ กรุ๊ป ก็ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน นั่นคือในอนาคตผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะเหลืออยู่เพียงรายใหญ่ เท่านั้น เพียงแต่จะมีรูปแบบอย่างการควบรวมกิจการกับรายเล็ก หรือการร่วมมือกันระหว่างรายใหญ่มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะที่แท้จริงจากศึกปลาเล็กปลาใหญ่อาจอยู่ในกลุ่มพ่อค้าแม่ขายรายย่อย ด้วย เพราะการสำรวจล่าสุดในตลาดไทยพบว่ามูลค่าสินค้าที่ผู้บริโภคคลิกซื้อออนไลน์ จากธุรกิจซึ่งเฉลี่ย 500-1,500 บาทต่อครั้ง นั้นคิดเป็นเงินเพียง 474.6 ล้านบาทในปี 2015 ตัวเลขนี้ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายรวมอีคอมเมิร์ซ 2.11 ล้านล้านบาทตลอดปี โดยยอดขายในกลุ่ม B2C (business-to-consumer) นี้เพิ่มขึ้นจาก 411 ล้านบาทในปี 2014 ซึ่งมีมูลค่ารวมอีคอมเมิร์ซ 2.03 ล้านล้านบาท

ขอแค่ยุคทองนี้ไม่ใช่ฟองสบู่ลวงตาก็แล้วกัน

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000067795