นับเป็นการ Diversify ธุรกิจมาสู่เบอร์เกอร์เป็นครั้งแรกอย่างเต็มตัวของเคเอฟซี ด้วยการเปิดตัว “เบอร์เกอร์ไก่อบไอน้ำ” ยังประกาศกร้าวขอขึ้นเป็นผู้นำตลาดเบอร์เกอร์ ภายใน 1 ปี คว่ำแมคโดนัลด์ซึ่งเป็นเจ้าตลาดเบอร์เกอร์มาช้านาน
ที่มั่นใจเช่นนี้ เคเอฟซีมียอดขายและจำนวนสาขามากกว่าแมคโดนัลด์ถึง 3 เท่า โดยแมคโดนัลด์มี 101 สาขา ขณะที่เคเอฟซีมี 327 สาขา โดยปกติยอดขายของเบอร์เกอร์คิดเป็น 60% ของแมคโดนัลด์
ยอดขายของเคเอฟซีส่วนใหญ่มาจากเมนูไก่ แม้จะมีซิงเกอร์ เบอร์เกอร์และแวลู เบอร์เกอร์อยู่แล้ว แต่ภาพลักษณ์ของเคเอฟซีกับการรุกตลาดเบอร์เกอร์ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าครั้งนี้ เพราะเรื่องไก่ใครก็รู้ว่าเคเอฟซีเป็นเจ้าตลาด ส่วนเบอร์เกอร์คือเรือธงของแมคโดนัลด์
การข้ามเขตชิงแชร์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและรุนแรงมาก เพราะ “เบอร์เกอร์” คือตลาดอันหอมหวานที่น่าจับตา เป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากไก่ ในตลาด QSR
เคเอฟซีเชื่อมั่นว่าจะสามารถล้มแชมป์ได้ด้วย “นวัตกรรม” ซึ่งสอดรับเทรนด์สุขภาพเพราะไม่ใช้น้ำมันในการทอด และเป็นการอบไอน้ำไล่ไขมัน พร้อมระดมกลยุทธ์การตลาด 360 องศาด้วยงบการตลาดกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งเป็น 50% ของงบการตลาด 300 ล้านบาทของบริษัทฯ
เป้าหมายที่ Aggressive เช่นนี้ เป็นสไตล์การรุกตลาดที่ชัดเจนและห้าวหาญภายใต้การนำของศรัณย์ สมุทรโคจร กรรมการผู้จัดการ ยัมส์ เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) อยู่แล้ว แน่นอนว่างานหนักจะตกอยู่กับแววคณีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เคเอฟซี
ในขณะที่ฟากของแมคไทยกลับมองโลกแง่ดี มองว่า การบุกตลาดเบเกอร์ของเคเอฟซี ยิ่งกลับเป็นผลดีให้กับแมคโดนัลด์ ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว
“พอเคเอฟซีออกโฆษณาวันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม ปรากฏว่า ยอดขายของแมคไทยวันเสาร์อาทิตย์ที่ 5-6 กรกฎาคม สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งแมคไทยในปี 2528 หรือ 23 ปีที่ผ่านมา เฮสเตอร์ ชิว ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด เล่าอย่างอารมณ์ดี
“แค่คำขอบคุณไปยังเคเอฟซี ยังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโฆษณาเบอร์เกอร์ไก่อบของแมคโดนัลด์”
ปัจจุบันแมคโดนัลด์มีเมนูที่เป็นเบอร์เกอร์ประมาณ 13 เมนู โดยมีบิ๊ก แมค เป็นพระเอก ขณะที่เคเอฟซียังคงมีเพียง 3 เมนูเท่านั้น ส่วนคู่แข่งอีก 2 ราย คือ เบอร์เกอร์ คิง และมอส เบอร์เกอร์ ยังมีจำนวนสาขาน้อยและเป็นเบอร์เกอร์ระดับพรีเมียม
Did you know?
เหตุที่เรียกว่า “แฮมเบอร์เกอร์” (Hamburger) ทั้งๆ ที่บางครั้งไม่มีแฮมเป็นหรือเนื้อเป็นวัตถุดิบเลย ก็เพราะว่าเมือง Hamburg ประเทศเยอรมัน คือสถานที่ที่ผลิตแฮมเบอร์เกอร์เป็นแห่งแรกในโลกนั่นเอง
มูลค่าตลาด QSR 14,000-15,000 ล้านบาท (by product type)
ไก่ 40%
เบอร์เกอร์ 20%
พิซซ่า 15%
ไอศกรีม 10%
อื่นๆ 5%
มูลค่าตลาดเบอร์เกอร์ 2,800 ล้านบาท (by brand)
แมคโดนัลด์ 80%
เคเอฟซี 5%
อื่นๆ เช่น เบอร์เกอร์คิง 15%