เชื่อว่าสตาร์ทอัพหรือพ่อค้าแม่ค้าไอจีหลายท่านคงมีคิดเหมือนกันว่าสินค้าที่เราจะขายมันเหมาะกับโซเชียลมีเดียตัวไหนมากที่สุด เดี๋ยวนี้คนไทยใช้เฟซบุ๊กเยอะครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเอะอะเจออะไรในเฟซแล้วก็จะซื้อ คนไทยใช้ไลน์กันแหลกลาญ แต่เอามาดูทีวีและทำงานหรือแชตเล่นหรือทำงานซะมากกว่า อีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือประสบการณ์การซื้อของยังสำคัญมากกับการตัดสินใจซื้อ รูปแบบของการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกับความจริง และสามารถนำเสนอให้เหมาะกับโซเชียลแพลตฟอร์มแต่ละแบบจริง ก็ยังแตกต่างกันออกไป แถมแต่ละแพลตฟอร์มยังเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา การทำให้รูปแบบของ traffic ในการเข้าเยี่ยมชมสินค้าเปลี่ยนออกมาเป็น conversion rate ที่สูงจึงแปรตามกับรูปแบบการพัฒนาของแพลตฟอร์มนั้นๆด้วย
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเฟซบุ๊กคือจุดเริ่มต้นของการ lead ไปยังแอปพลิเคชั่น หรือเว็บต่างๆ เพื่อปิดการขาย traffic ส่วนใหญ่ (กว่า 90%) โดยเฉพาะในไทยมาจากเฟซบุ๊กทั้งนั้น ตามมาติดๆ คือไลน์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าตัว lead traffic คือคำตอบสุดท้าย หรือเป็นตัวปิดการขายด้วยตัวมันเองสำหรับการทำธุรกิจแบบ B2B
ขณะนี้ VDO content มีส่วนมากในการตัดสินใจซื้อสำหรับสินค้าและบริการที่อยู่ในหมวด ซื้อด้วย ‘เหตุผล’ มากกว่าซื้อด้วย ‘อารมณ์’ ครับ กูเกิลและยูทูบที่จริงค่อนข้างมีบทบาทสำคัญและสร้าง conversion rate ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ยังตามหลังเฟซบุ๊กอยู่ห่างโข เนื่องจากคอนเทนต์ของเฟซบุ๊กและไอจีสนับสนุนวิดีโอมากขึ้น ทำให้เฟซบุ๊กแทบจะกลืนและมีอิทธิพลต่อการตัดสินกับการซื้อสินค้าในกลุ่มของ เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น ของกิน ของจุกจิก และของมือสองแทบทั้งหมด (ไม่ต้องคิดเยอะเวลาซื้อ) เรียกว่าอะไรที่ซื้อง่ายขายคล่องกลุ่มนี้แทบจะเหมาไปหมด แต่ส่วนของธุรกิจภาคบริการต่างๆ เช่น เสริมความงาม อินทีเรีย สถาปัตยกรรม แต่งบ้านทำสวน ออกแบบดีไซน์ ความงามที่มีแบรนด์เป็นเรื่องเป็นราว เฟซบุ๊กถือว่าเป็นช่องทางสนับสนุนการตัดสินใจที่รองๆ ลงมา และแนวโน้มจะลดลงมาเรื่อยๆ เพราะคอนเทนต์ในเฟซไม่ใช่จุดตัดสินใจที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ เท่ากับสินค้าซื้อง่ายขายคล่องที่มีรายละเอียดไม่เยอะแบบกลุ่มแรก (แต่เร้าใจกว่า)
กลุ่มโซเชียลแพลตฟอร์มที่โตสูงขึ้นเรื่อยๆ พวก pinterest หรือ vimeo และ youtube สำหรับการนำเสนองาน หาเรฟเฟอเรนซ์ให้ลูกค้าในการเสนองานออกแบบ โดยเฉพาะของสะสม เฟอร์นิเจอร์ ของโบราณหายาก รถยนต์ มอเตอไซค์ แนะนำให้ไปทิ้งน้ำหนักที่กลุ่มนี้ครับ ด้วยลักษณะการนำเสนอภาพ ความต่อเนื่อง การปักหมุดพินบอร์ดต่างๆ ทำให้เราเชื่อมต่อเรื่องราวหรือสตอรี่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากของสินค้าประเภทดังกล่าว (ไม่ว่าจะติดแบรนด์หรือไม่) อีกกลุ่มหนึ่งคือพวก gadget และไอที และธุรกิจบริการต่างๆ ตอนนี้มีคนทำรีวิว โฆษณาตรงๆ และอ้อมๆ เยอะมากทาง youtube เป็นหลัก เพราะช่องทางนี้ชัดเจน ดูบ่อย มีการสนับสนุนบนแพลตฟอร์มให้ศึกษาเปรียบเทียบง่ายสินค้าแบบเดียวกันกับหลายชาแนล และที่สำคัญ ไม่ค่อยมีเมนต์ที่ไม่สร้างสรรค์ หรือกวนใจแบบที่มีทางเฟซบุ๊ก ที่บางครั้งคนมักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล (จนบางทีคนซื้อสับสน)
คอนซูเมอร์ทั่วไปใครๆ ก็มีเฟซบุ๊ก แต่การที่เขาจะซื้อสินค้าอะไร ตรรกะในการตัดสินใจมันคนละเรื่อง จุดนี้ของโลกโซเชียล การสร้าง royalty ทำได้ยาก (มาก) เพราะคอนเทนต์มันเยอะจัด แบรนด์และสินค้ามีหลากหลาย แถมคอนซูมเอร์ก็ฉลาดใช้ฉลาดเลือก ฉลาดเสพ ฉลาดบล็อก คอนเทนต์ที่ไม่สำคัญหรือไร้สาระ (กับเขา) และเซฟคอนเทนต์ที่ตัวเองอยากจะกลับมาดู การพัฒนาคอนเทนต์แบบไม่ดูถูกคนอ่านคนดูจึงสำคัญพอๆ กับการเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะกับสินค้าหรือบริการที่ตัวเองจะขายครับ และที่สำคัญ ธุรกิจของท่านไม่จำเป็นต้องมีมันไปซะทุกแพลตฟอร์ม เพราะไม่ได้มีประโยชน์อะไร แถมค่าใช้จ่ายทางดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ว่าถูก แถมคนทำเป็นและดูแลกันจริงจังแบบ 24/7 ก็ไม่ใช่จะหากันง่ายๆ
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
Profile
กุลเดช สินธวณรงค์
ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด
ด้วยประสบการณ์ทำงานในการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทดีไซน์มากว่า 15 ปี ซึ่งเป็นการผสมผสานการพัฒนาด้านความรู้ของบริษัท และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ประสบการณ์ด้านความคิดสร้างสรรค์ มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดและองค์ความรู้เพื่อทำให้บริษัทเติบโตและก้าวไปข้างหน้า การเป็นวิศวกร, นักออกแบบ, ครีเอทีฟ และเจ้าของกิจการจากการสั่งสมการทำงานที่มีความแตกต่างกันทั้งในสายอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง