เม็ดเงินโฆษณา มี.ค.60 แตะ 9.8 พันล้านบาท แต่ยังติดลบ 5.45%

มาดูกันว่าเม็ดเงินโฆษณาในเดือนมีนาคม 2560 ที่ถือว่าเป็นฤดูการขายสินค้า เพราะเข้าช่วงซัมเมอร์ แบรนด์สินค้าจะใช้งบโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นกันแค่ไหน เมื่อเทียบกับปี 2559 และเทียบกับช่วง 2 เดือนแรก ที่การใช้งบโฆษณาลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นีลเส็น ประเทศไทย เปิดเผยถึงการใช้เม็ดเงินใช้ในการลงสื่อโฆษณาของ เดือนมีนาคม 2560 มีมูลค่ารวม 9,874 ล้านบาท ลดลง 5.45% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2559 ที่ใช้ไป 10,443 ล้านบาท แต่มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ใช้ไป 7,988 ล้านบาท 

เม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ 4,405 ล้านบาท ลดลง 9.21% เมื่อเทียบกับปี 2559 และคิดเป็นสัดส่วน 44.61 %  ส่วนทีวีดิจิทัลยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.42% หรือคิดเป็นสัดส่วน 21.27%  เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม.59 ใช้ไป 1,955 ล้านบาท

สื่อโฆษณาใช้งบเพิ่มขึ้น คือ สื่อในโรงภาพยนตร์ 592 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.55% *สื่อกลางแจ้ง (outdoor) 515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.21%  **สื่อในห้าง (IN STORE) 90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.86%

ส่วนสื่อโฆษณาที่ใช้งบลดลง คือ เคเบิลทีวี/ทีวีดาวเทียม ลดลงต่อเนื่อง 327 ล้านบาท ลดลง 2.68%  สื่อวิทยุ 402 ล้านบาท ลดลง 19.60% หนังสือพิมพ์ 769 ล้านบาท ลดลง 22.48% นิตยสาร 178 ล้านบาท ลดลง 37.32% สื่อรถประจำทาง (TRANSIT) 344 ล้านบาท ลดลง 19.25 %  และ***สื่ออินเทอร์เน็ต 152 ล้านบาท ลดลง 10.16%


หมายเหตุ

*ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง (outdoor) สื่อเคลื่อนที่ (transit) และสื่อในสนามบิน จะไม่ได้รวมข้อมูลจาก JCDecaux นีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่น สื่อเคลื่อนที่ (transit)ป้ายบิลบอร์ดป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2559 เป็นต้นมา 

** สื่อในห้าง นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูล สื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ข้อมูลของสื่อในห้างTesco Lotus และ Big C ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้งสื่อเคลื่อนที่ และสื่อในห้าง


10 แบรนด์ใช้งบสูงสุดเดือน มีนาคม 60 โคเรียคิง-ออปโป้-อีเลฟเว่นสตรีท อัดงบชุดใหญ่ไฟกระพริบ

นอกจากโคเรียคิง แบรนด์กระทะจากเกาหลี ที่ใช้งบสูงสุดติดต่อกันมา 2 ปีเต็มๆ แล้ว เดือนมีนาคมของปีนี้ แบรนด์มือถือออปโป้ เป็นเบอร์ 2 เทงบ 112 ล้านบาท แบรนด์อีเลฟเว่นสตรีท เว็บอีคอมเมิร์ซจากเกาหลีใต้ ยังจัดหนัก อัดฉีดงบ 78 ล้าน จนติดอันดับ 5

สำหรับแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดในเดือนมีนาคม อันดับ 1 ยังเป็นของกระทะโคเรียคิง ด้วยงบโฆษณา 190 ล้านบาท อันดับ 2 โทรศัพท์มือถือออปโป้ เทงบไปถึง 112 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วค่อนข้างมาก (มี.ค. 59 ใช้ 14 ล้านบาท )

อันดับ 3 โตโยต้า ปิกอัพ 104 ล้านบาท (มีนาคม 59 ใช้ 49 ล้านบาท) อันดับ 4 โค้ก 93 ล้านบาท ลดลงจาก มี.ค. 59 ใช้ไป 127 ล้านบาท

อันดับ 5 11STREET.CO.TH (อีเลฟเว่น สตรีท) เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ จากเกาหลีใต้ จัดใหญ่ไฟกะพริบ อัดฉีดงบโฆษณาไปถึง 78 ล้านบาท โดยเฉพาะบนรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่จัดใหญ่ทั้งบนขบวน บนสถานี ชนิดที่ไม่มองก็ต้องเห็น

อันดับ 6 รถยนต์นั่งโตโยต้า 76 ล้านบาท (มีนาคม 59 ใช้ไป 93 ล้านบาท) อันดับ 7 ช้าง คอร์ปอเรชั่น 65 ล้านบาท อันดับ 8 เป๊ปซี่ ใช้ 64 ล้านบาท (มีนาคม 59 ใช้ไป 51 ล้านบาท) น้ำยาปรับผ้านุ่มดาวน์นี่ 55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว (มีนาคม 59 ใช้ไป 26 ล้านบาท)


หมายเหตุ : ไม่รวม Classified, CD/DVD (Musical & Film Products), Government & Community Announce, Leisure, House ad


Top 10 Advertisers ยูนิลีเวอร์ อันดับ 1 แต่ยังลดงบโฆษณาต่อเนื่อง

สำหรับองค์กร หรือธุรกิจที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดในเดือนมีนาคม 2560  อันดับ 1 เป็นของบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) 307 ล้านบาท ใช้งบโฆษณาลดลงต่อเนื่อง (มีนาคม 59 ใช้ 449 ล้านบาท)

อันดับ 2 เป็นของบริษัท โตโยต้า ประเทศไทย 231 ล้านบาท อันดับ 3 บริษัทวิซาร์ด โซลูชั่น (ผู้นำเข้าและจำหน่ายกระทะโคเรียคิง) 190 ล้านบาทใช้เพิ่ม (มี.ค. 59 ใช้ 140 ล้านบาท)

อันดับ 4 บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) 189 ล้านบาท 189 ล้านบาท ใช้เพิ่ม (มี.ค. 59 ใช้ 134 ล้านบาท) อันดับ 5 บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) 172 ล้านบาท ใช้เพิ่ม (มี.ค. 59 ใช้ 148 ล้านบาท)

อันดับ 6 บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ประเทศไทย) เทรดดิ้ง จำกัด 133 ล้านบาท ใช้เพิ่ม (มี.ค. 59 ใช้ 100 ล้านบาท) อันดับ 7 บริษัท ตรีเพ็ชร อีซูซุ 129 ล้านบาท ใช้ลดลง (มี.ค.59 ใช้ 135 ล้านบาท)

อันดับ 8 บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นีเวีย 129 ล้านบาท อันดับ 9 บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เซลส์ (ประเทศไทย) 127 ล้านบาท ลดลง (มี.ค. 59 ใช้ 133 ล้านบาท) อันดับ 10 บริษัท คาโอ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) 120 ล้านบาท ลดลง (มี.ค. 59 ใช้ไป 122 ล้านบาท)


หมายเหตุ : ยกเว้น  Classified, House ads