จ๊อบส์ ดีบี เปิดผลสำรวจ 10 สุดยอดองค์กรชั้นนำที่พนักงานไทยอยากร่วมงานมากที่สุด พบ ปตท.-เอสซีจี บริษัทสัญชาติไทยยังรั้ง 2 อันดับแรก ด้านบริษัทในธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล ยานยนต์และโทรคมนาคมยังครองใจพนักงาน พร้อมแนะองค์กรสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างมีคุณภาพและปรับทัศนคติเพื่อเฟ้นหาคนเก่งมาร่วมงานด้วย
บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รวบรวมผลสำรวจจากกลุ่มผู้หางานแบ่งตามช่วงอายุได้แก่ ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปหรือกลุ่ม Baby Boomer (7%) ผู้ที่มีอายุระหว่าง 34-49 ปีหรือ Gen X (49%) ผู้ที่มีอายุระหว่าง 26-33 ปี หรือ Gen Y (27%) และผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี หรือกลุ่ม Gen Z (16%) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560
ในประเด็นเกี่ยวกับ “องค์กรที่พนักงานต้องการร่วมงาน และปัจจัยสนับสนุนให้พนักงานอยากร่วมงานกับองค์กรนั้นๆ” พบว่า
อันดับแรกเป็นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ตามมาด้วย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ถือเป็นสององค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่ครองใจคนทำงาน
อันดับ 3 เป็นของ ด้านบริษัทเสิร์ชเอ็นจิ้นระดับโลก Google ประเทศไทย ซึ่งโดดเด่นในด้านผลิตภัณฑ์ และวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นที่ประทับใจ ซึ่งขยับขึ้นจากปีที่แล้วหนึ่งอันดับ
ตามมาด้วยเป็นลำดับที่ 4 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นและเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในประเทศไทย
ในส่วนของธุรกิจด้านโทรคมนาคม DTAC หรือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไต่อันดับจากรองสุดท้ายขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 5
ขณะที่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อชื่อดังติดลำดับที่ 6 และบริษัทที่ได้รับการโหวตเป็นลำดับที่ 7 ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส
ด้านธุรกิจสายการบินชั้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ติดอันดับที่ 8 ส่วนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ อย่าง บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ได้รับการโหวตเป็นลำดับที่ 9 และลำดับสุดท้ายเป็นของบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
และหากเปรียบเทียบจากผลสำรวจระดับภูมิภาคยังชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ยังคงติดอันดับเป็นบริษัทในฝันของพนักงานและมีสัดส่วนเท่ากันกับบริษัทท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลยังติดอันดับต้นๆ ของทุกประเทศ
สำหรับ Google ติดลำดับที่หนึ่งในประเทศฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ติดลำดับที่ 3 ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ติดลำดับที่ 4 ในประเทศเวียดนาม เช่นเดียวกันกับธุรกิจสินค้าอุปโภค-บริโภคชั้นนำของโลกยังติดอันดับบริษัท 1 ใน 10 บริษัทในฝันของพนักงานในภูมิภาคนี้ด้วย ขณะที่บริษัทท้องถิ่นที่ติดอันดับต้น ๆ ของแต่ละประเทศยังคงเป็นธุรกิจโทรคมนาคม ธนาคาร และกลุ่มบริษัทในเครือต่างๆ
นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หากพิจารณาจากผลสำรวจจะเห็นได้ชัดว่า บริษัทที่พนักงานอยากร่วมงานทั้งสิบอันดับในครั้งนี้ยังคงเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว อันเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในองค์กร ภาพลักษณ์ รวมทั้งการพัฒนาและขยายองค์กรสู่ตลาดใหม่ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ส่งผลให้คนหางานรุ่นใหม่ เล็งเห็นโอกาสของการสร้างความสำเร็จในชีวิต ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและพร้อมกระโจนสู่ความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
สภาพแวดล้อมองค์กร -ใช้ชีวิตสมดุล แรงดึงดูดคนทำงาน
ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยระบุปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกบริษัท คือ ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่มีความยืดหยุ่น รวมไปถึง สภาพแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลของนายจ้างและอุปนิสัยของเพื่อนร่วมงานด้วย
จากปัจจัยข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมขององค์กรที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดคนหางานและยังช่วยรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรนั้นๆ ได้นาน ปัจจัยถัดมาคือเรื่องของความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว นอกจากนี้การสร้างสิ่งจูงใจเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะทำให้องค์กรมีตัวเลือกมากขึ้น
ด้านมุมมองของนักศึกษาจบใหม่ พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการยื่นใบสมัครงานคือการที่บริษัทให้โอกาสเติบโตในอาชีพและหน้าที่การงานการมีทีมบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพและมีความเป็นผู้นำ และโอกาสในการได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน
ดังนั้นในปัจจุบันองค์กรหลายแห่งจึงพยายามที่จะสร้างเอกลักษณ์กำหนดคุณค่าองค์กรและทำให้องค์กรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก รวมไปถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งในด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการที่คุ้มค่ากับการทำงาน ความก้าวหน้าในสายงาน และโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อให้เป็นองค์กรที่ผู้หางานเลือกทำงานด้วย
“ปัจจัยข้างต้นนับเป็นสาระสำคัญที่นายจ้างทั้งรายใหญ่และรายเล็กควรพิจารณาเพื่อให้ได้คนคุณภาพมาร่วมงาน รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ที่ต้องเอื้อต่อไลฟ์สไตล์ของคนทำงานยุคนี้