เท็กซัส ชิคเก้น เปิดศึก เคเอฟซี ใช้ “ไวรัล” เกาะกระแสโซเชียล ชิงแชร์ไก่ทอด

บันเทิงกันใหญ่ สำหรับตลาด “ไก่ทอด” มูลค่า 14,000 ล้านบาท เมื่อเบอร์ อย่าง KFC และผู้ท้าชิงอย่าง “Texas Chicken” ต่างงัดไวรัล มาร์เก็ตติ้งมาสู้กันอย่างสนุกสนานรับ “เทศกาลปีใหม่” เพื่อเอาใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย “ครอบครัว” รวมไปถึงคนรุ่นใหม่เต็มขั้น

วิดีโอที่ปล่อยออกมา ต่างฝ่ายต่าง “เล่นคำ” ชิค ๆ เก๋ ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย เคเอฟซี บอกว่าเก่าไปไก่มา! เลยส่งไก่กรี๊ด..ติ้ง (Chicken’s Greetings) หวังให้เป็นของขวัญ สำหรับผู้บริโภคที่เบื่อ “กระเช้าปีใหม่” แล้ว

ฝั่ง เท็กซัส ชิคเก้น ปล่อยแคมเปญ “สวัสดีปีใหญ่” กับไก่ใหญ่เวร่อร์ และไก่ใหญ่มว๊าก มาจัดลง “กระเช้าปีใหม่” ซึ่งเจตนาของแบรนด์นำการกิจกรรมมอบกระเช้าของสินค้าแบรนด์ดังมาล้อเลียนในฉากต่าง ๆ แต่กลับกลายเป็นความบังเอิญทางการแข่งขันที่ “เหน็บกันเบา ๆ” ระหว่าง แบรนด์

จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ต้องถือว่าเท็กซัสใช้กลยุทธ์ me too ท้าชนคู่แข่งเบอร์ 1 ในตลาด อย่างเคเอฟซีซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการตลาดออนไลน์ ใช้แอดมินเพจสร้างสีสันและความฮาจนรับรู้กันไปทั่ว งานนี้เมื่อเจอคู่แข่งหน้าใหม่ใช้อาวุธเดียวกันมีหรือที่เคเอฟซีจะยอม

เคเอฟซี เป็นแบรนด์ระดับโลกที่เพิ่งปิดดีลการให้สิทธิ์ขยายสาขาแก่แฟรนไชซี ราย ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล ไทยเบฟ และเรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเมนท์ ส่วนยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จะทำหน้าที่ดูแลและบริหารแบรนด์ต่อไป เท่ากับว่า มีคู่ค้า 3 ราย ระดับบิ๊ก มาช่วยลงทุนขยายสาขา ส่วนเคเอฟซีก็ทำหน้าที่ควบคุมแบรนด์ ทำตลาดและออกเมนูใหม่ ๆ  ซึ่งจากนี้ไปยังต้องจับตาดูว่าจะเห็นอะไรใหม่ ๆ จากไก่ทอดเบอร์ แบรนด์นี้บ้าง

ขณะที่ผู้ท้าชิง “เท็กซัส ชิคเก้น” ธรรมดาซะที่ไหน เพราะตัวแทนแฟรนไชส์ (Master Franchise) คือบริษัทพลังงานแห่งชาติของไทยอย่าง “ปตท.” มีทั้งทุนหนา และเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) เอื้อต่อการขยายสาขาและพร้อมซัพพอร์ตการแจ้งเกิดธุรกิจเต็มที่ และต้องการสปีดธุรกิจ “ไก่ทอด” ให้ขึ้นเบอร์ ของกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร จากปัจจุบันพอร์ตโฟลิโออาหารมีโดนัท แบรนด์ “แด๊ดดี้ โด” และ “ฮั่วเซ่งฮง”

ปตท.มีธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-oil) ที่เป็นหัวหอกในการทำรายได้เบอร์ คือ คาเฟ่อเมซอน ตามด้วยร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และเท็กซัส ชิคเก้น มีร้านให้บริการ 12 สาขาในศูนย์การค้าและปั๊มน้ำมัน จำนวนสาขายังห่างชั้นเคเอฟซีอยู่มาก เพราะมีร้านกว่า 600 สาขาทั่วประเทศ

ข้อได้เปรียบ เท็กซัส ชิคเก้นในเรื่อง “ทำเล” โดยเฉพาะปั๊มน้ำมัน ปตท. มีสาขากว่า 1,530 แห่งทั่วประเทศ และยังขยายออกนอกปั๊มตามทำเลในเมือง แต่แต่คงต้องรอดูว่าโมเดลแฟรนไชส์ที่ ปตท.จะเคาะออกมาเป็นแบบไหน เพื่อสปีดการเปิดสาขาร้านไก่ทอดในปั๊ม เพราะปัจจุบันเคเอฟซีก็มีสาขาให้บริการในปั๊มของ ปตท.เช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดของเท็กซัส ชิคเก้น เมนูอาหารมีให้เลือกระดับหนึ่งทั้งไก่ทอดชุดต่าง ๆ เฟรนช์ฟรายส์ เบอร์เกอร์ ไอศกรีม และเมนูท้องถิ่น (Local) รสชาติไทย ๆ คล้ายกับผู้นำ แต่ความหลากหลายยังน้อยกว่ามาก  แต่ใช้เรื่อง ขนาด และความคุ้มค่า และทำ โปรโมชั่นก็มีออกมาต่อเนื่อง ทุกเทศกาลสำคัญ แต่จะพิเศษมากขึ้นหน่อยสำหรับลูกค้าของ ปตท.ที่ถือบัตร PTT Blue Card จะได้รับสิทธิ์แลกซื้อสินค้าราคาพิเศษ เป็นการ “ซีนเนอร์ยี” เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ

ยุคนี้พลาดไม่ได้คือการทำตลาดออนไลน์ ซึ่งรู้กันดีว่า “แอดมินเคเอฟซี” นั้นมีลีลาการสื่อสารกับผู้บริโภคบนโซเชียลชนิดหาตัวจับยาก ทำให้ เท็กซัส ชิคเก้น น้องใหม่ ที่หวังจะแจ้งเกิด โดยใช้วิธีเดียวกันปลุกแบรนด์สร้างสีสัน พาแบรนด์เข้าไปอยู่ใน “กระแส” เช่น ช้อปช่วยชาติ, หวยออก, วลีฮิตชุดใหญ่ไก่กะพริบ ปล่อยมุกมาสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคได้น่าสนใจทีเดียว

แต่ใช่ว่าการทำตลาดจะราบรื่น เพราะขึ้นชื่อว่า “ของกิน” นอกจากรสชาติต้องถูกปาก คุณภาพของอาหารเป็นสิ่งสำคัญ จะเห็นได้บนแฟนเฟจของแบรนด์ มีเสียงติติง “มาตรฐาน” ของไก่ทอดอยู่ และเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องนำไปปรับปรุงเพื่อลดปัญหา (Pain point) ที่เกิดขึ้นให้ได้

ปีของเท็กซัส ชิคเก้นในไทย ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ขณะที่เคเอฟซีอยู่มา 30 ปี มีฐานผู้บริโภคแค่วัดจากแฟนเพจเฟซบุ๊กมากกว่า 48 ล้านคน การเป็นผู้ท้าชิงครั้งนี้ แบรนด์รองคงต้องใช้พละกำลังมากหน่อยเพื่อขยับเข้าใกล้ผู้นำมากยิ่งขึ้น