บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) เลือกที่จะขยายมารุกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยการส่ง บริษัท สยาม สพูน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ร่วมทุนกับ บริษัท บางกอก วูดเด้น สพูน จำกัด หรือเจ้าของร้านอาหาร “บ้านหญิง” ตั้งบริษัท BAAN YING PTE. LTD., ขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้ทุนจดทะเบียน 1,400,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 33.6 ล้านบาท โดยสยาม สหพูน ถือหุ้น 51% บ้านหญิง 49%
วางเป้าหมาย ขยายร้านอาหารไทยบ้านหญิงในประเทศสิงคโปร์ โดย 3 สาขาแรกจะเปิดให้บริการไตรมาส 1 ปี 2561 และยังมีแผนขยายไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศจีนด้วย
บางกอก วูดเด้น สหพูน มีร้านอาหาร ในเครือทั้งสิ้น 12 แบรนด์ เช่น บ้านหญิงคาเฟ่ แอนด์ มีล ให้บริการ 10 แห่ง ในกรุงเทพฯ, Isan & Grill by Baanying, Three Wheels Tom Yum Noodle, แบรนด์ Uma Uma Ramen จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
การร่วมทุนครั้งนี้ จะส่งผลให้ไรมอนแลนด์ มีรายได้ประจำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง (Recurring income) เพื่อกระจายความเสี่ยงของรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนรายได้สูงถึง 98% ประกอบกับที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะที่ชะลอตัวเนื่องจากผู้บริโภคอยู่ในภาวะนี้ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยค่อนข้างช้า
แม้ไรมอนแลนด์จะเน้นพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับลักชัวรี่เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายระดับบน แต่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ก็มุ่งไปแบ่งเค้กจากตลาดเศรษฐีจึงทำให้การแข่งขันของตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับบนมีความรุนแรง
ที่ผ่านมาไรมอนแลนด์ต้องผ่านทั้งร้อนหนาว มีทั้งจังหวะเติบโต แต่ก็มีช่วงที่ “ล้มละลาย” ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ถือหุ้น “เปลี่ยนมือ” หลายรายกระทั่งล่าสุดคือ JS Oil Pte Ltd. ทุนจากสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น JS ASSET MANAGEMENT PTE. LTD.
ถ้าดูผลประกอบการไรมอนแลนด์ พบว่า รายได้ในช่วง 9 เดือนลดต่ำลงมากกว่าปีที่แล้ว ค่อนข้างมาก น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ไรมอนแลนด์ต้องหารายได้จากธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาเสริม
- 9 เดือน ปี 2560 รายได้ 2,563.73 ล้านบาท กำไรสุทธิ 217.01 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 5,206.43 ล้านบาท กำไรสุทธิ 850.65 ล้านบาท ทำให้ไรมอนแลนด์ ต้องแตกขยายไปหาธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาเสริมรายได้
ขณะที่บ้านหญิง ซึ่งมีสาขาอยู่ตามศูนย์การค้า แบรนด์เป็นที่รู้จักในหมู่คนทำงาน เมื่อได้พาร์ตเนอร์เข้ามาช่วยขยายสาขาไปต่างประเทศเพิ่มโอกาสทางการเติบโตให้กับธุรกิจมากยิ่งขึ้น
หากมองธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2560 จะมีมูลค่า 390,000-397,000 ล้านบาท เติบโต 2-4% แบ่งเป็นเชนร้านอาหาร 119,000-122,000 ล้านบาท ร้านอาหารทั่วไปจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก 271,000-275,000 ล้านบาท นับวันการแข่งขันรุ่นแรงขึ้นทั้งด้านความหลากหลายของเมนูอาหาร ราคาโปรโมชั่น ตลอดจนเดลิเวอรี่ เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น
ส่วนภาพรวมร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย ชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยทำร้านอาหารตั้งแต่ระดับบน ร้านอาหารระดับกลาง ไปจนถึงร้านอาหารแบบเร่งด่วน รวมกันจำนวน 14,908 ร้าน ประกอบกับนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกส่งผลให้อาหารไทยโด่งดังมากขึ้นนั้น จึงสะท้อนโอกาสทางธุรกิจร้านอาหารสำหรับไรมอนแลนด์ในต่างประเทศ
“ร้านอาหารไทย” เวลานี้บุกขยายไปสร้างตลาดต่างประเทศกันอย่างคึกคัก เช่น บลูเอเลเฟ่นท์ (Blue Elephant) ร้านอาหารไทยระดับบนที่ต่างชาติรู้จักอย่างดี, เอสแอนด์พีจับมือกับไมเนอร์ ส่งแบรนด์ ภัทรา และ Suda บุกตลาดอังกฤษ รวมถึงมีร้านอาหารในรูปแบบแฟรนไชส์เจาะลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา, เกรย์ฮาวด์ คาเฟ่ ร้านอาหารไทยฟิวชั่น เมื่อมาอยู่ในมือของกลุ่มมัดแมน ก็วางที่ขยายตลาดเจาะจีน ฮ่องกง มาเลเซีย และอังกฤษ
แบล็คแคนยอนมีหลายสิบสาขาใน 8 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย, โคคา มีร้านอาหาร 9 แบรนด์ เช่น แม็งโก ทรี, โคคา สุกี้, ไชน่าไวท์ เปิดให้บริการกว่า 50 สาขา ในต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์
เป็นหนึ่งในร้านอาหารไทยที่ทำตลาดต่างแดนมานานกว่า 30 ปี เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติอย่างดี รวมถึงค่ายสิงห์ ที่ซื้อกิจการร้านอาหารเอเชีย “พาคาต้า” ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป้าหมายจะมี 50 สาขาในอนาคต ล่าสุดยังวางแผนเปิด Est.33 ที่ประเทศสหรัฐฯ ด้วย.