ถ้าดูจากอัตราเติบโตของ ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในช่วงหลายปีมานี้ ถือว่าเป็นช่วง “ท้าทาย” ไม่น้อยเลย ด้วยฐานตลาดที่ใหญ่ขึ้น มูลค่าประมาณ 16,000-17,000 ล้านบาท ปี 2560 เติบโต 1-2% เท่านั้น
การจะเติบโต 2 หลัก เหมือน 10 ปีก่อน คงเป็นเรื่องยาก เพราะด้วยปัจจัยเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่มีผลต่อบะหมี่ฯ ที่แม้ราคาค่อนข้างต่ำ 5-6 บาทต่อซอง ยังมีตัวแปรอื่นๆ ที่กระทบต่อการเติบโตของตลาด ในกลุ่มลูกค้าฐานรากก็มี ข้าวถุงแบ่งขาย ส่วนผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้น ทำให้หันไปบริโภคสินค้าอื่น มากขึ้น อาหารพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง ล้วนมาแย่งการบริโภคบะหมี่ฯ
ปี 2558 ข้อมูลของสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก หรือ World Instant Noodle Association : WINA ระบุว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ความต้องการ (ดีมานด์) บริโภคบะหมี่ในประเทศไทย ไม่ได้ขยายตัวมากนัก สอดคล้องกับประเทศอื่นในโลก เช่น จีน เบอร์ 1 ที่ดีมานด์บะหมี่ฯ สูง แต่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ดีมานด์ก็ลดลงตลอด รวมถึงอินโดนีเซียด้วย
สำหรับความต้องการบะหมี่ฯ ในตลาดประเทศไทยพบว่า
- ปี 2559 อยู่ที่ 3,360 ล้านซอง
- ปี 2558 และ 57 ทรงตัวที่ 3,070 ล้านซอง
- ปี 2556 อยู่ที่ 3,020 ล้านซอง
- ปี 2555 ความต้องการอยู่ที่ 2,960 ล้านซอง
ขณะที่ปริมาณการบริโภคบะหมี่ฯ เบอร์ 1 ของโลก ยังเป็น เกาหลี เฉลี่ย 76.1 ซองต่อคนต่อปี ตามด้วยเวียดนาม 52.6 ซองต่อคนต่อปี และอินโดนีเซีย 50.5 ซองต่อคนต่อปี ส่วนไทยอยู่อันดับ 5 บริโภคเฉลี่ย 49 ซองต่อคนต่อปี
ดีมานด์ที่โตน้อย อัตรการบริโภคบะหมี่ฯ ที่ไม่สูง นับเป็นความท้าทายและทำให้ผู้ประกอบการในไทยต้องหาทางปรับตัวทำตลาด สร้างการเติบโตให้ธุรกิจให้ได้
เกมการแข่งขันในตลาดบะหมี่ หลักๆ หนีไม่พ้น
1. การออกสินค้าใหม่
ฉีกรสชาติเดิมจากต้มยำกุ้ง หมูสับ เช่น ผู้บริโภคชาวไทยเห่อชีส ก็จะถูกนำมาเป็นขาย ซึ่ง “มาม่า” เบอร์ 1 บะหมี่ฯทำมาแล้ว รวมถึงการหันไปทำสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ยกระดับให้พรีเมี่ยมขึ้นไปอีกนิด เพราะตลาดนี้ยังเติบโตด้วยฐานตลาดยังเล็กสัดส่วนน้อยเพียง 10%หรือมูลค่า 1,000 ล้านบาท โอกาสจึงมีอีกมาก
การมุ่งทำตลาดแบบคัพของทั้ง 3 แบรนด์หลัก มาม่า ไวไว ยำยำ ยังเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น จึงหันมาบริโภคแบบคัพเพิ่มและทำให้มูลค่าตลาดใกล้ 4,000 ล้านบาทแล้ว
2. การใช้พรีเซ็นเตอร์ในการกระตุ้นยอดขาย และสร้างแบรนด์
มาม่าเคยทุ่มงบก้อนโตใช้อั้ม พัชราภา เป็นพรีเซ็นเตอร์ จนขายดิบขายดี ก็ตามมาด้วยใหม่ ดาวิกา, ส่วนคู่แข่ง ยำยำจัมโบ้ ใช้ ณเดช-ญาญ่า
3. ช่องทางจำหน่าย
นอกจากจะขายผ่านร้านค้าทั่วไป (Traditional trade:TT) ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Moderntrade:MT) แล้ว ร้านอาหารป็นอีกช่องทางที่เข้าจับไปจองกัน โดยเฉพาะร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจะมีแบบแพ็คขาย อย่างไวไว เส้นขาว เจาะร้านค้าอย่างดี
4. โปรโมชั่น ขาดไม่ได้
แม้บะหมี่ฯ จะราคาถูก แต่โปรก็เล่นกันแรง มีทั้งแจกทอง แจกรถ และแจกจักรยาน เรียกว่าช่วงไหนที่พบว่า “ความต้องการของผู้บริโภค” มองหารางวัลอะไร ของสิ่งนั้นก็จะถูกประเคนมาล่อใจทันที
มาม่า – ไวไว ลุยตลาดบะหมี่ “พรีเมียม”
ในปี 2561 ผู้เล่นสำคัญอย่าง “มาม่า” วางกลยุทธ์การทำตลาดหลักๆ ได้แก่ ออกสินค้าใหม่เพื่อขยายฐานตลาดให้โต โดยมุ่งเน้นตลาด “พรีเมียม” และ รักสุขภาพ และการลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายตลาดนอกบ้านควบคู่ทำตลาดในประทศ
“ปีนี้จะมีทั้งสินค้าใหม่ แบรนด์ใหม่ และรสชาติใหม่ออกสู่ตลาดรวม 3 รายการ สินค้าใหม่ที่จะออกยังโฟกัสไปที่พรีเมียม เพราะมีแนวโน้มการเติบโตดี โดยยอดขายมาม่าพรีเมียมอย่าง แบรนด์ โอเรียนทอลคิ ทเช่น เติบโตถึง 26% และจะทำสินค้าค้าสำหรับคนรักสุขภาพมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด” พิพัฒ พะเนียงเวทย์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่
1. บังกลาเทศ เพื่อเป็นฐานผลิตส่งออกตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ แม้ว่าการเข้าไปจำหน่ายยังมีอุปสรรคด้านกฎหมายอยู่พอสมควร
2. กัมพูชา ซื้อที่ดินเตรียมไว้ขยายโรงงานและกำลังผลิตในอนาคตไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนการทำตลาดมีทั้งสินค้าที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากไทยไปจำหน่าย เพราะยอมรับว่าพฤตกรรมผู้บริโภคชาวกัมพูชานิยมซื้อสินค้าไทยที่มีภาษาไทยมากกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยตลาดนี้มียอดขายแบบซอง 80,000 หีบต่อเดือน และแบบถ้วย 140,000 หีบต่อเดือน มาม่ามีส่วนแบ่งตลาด 80% และยอดขายประมาณ 300 ล้านบาท
3. เมียนมา ปีนี้จะลงทุน 100 – 200 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ที่มัณฑะเลย์ พื้นที่ 10 กว่าไร่ เพิ่มกำลังผลิตสินค้าอีกเท่าตัว จากโรงงานเดิมที่ย่างกุ้ง กำลังผลิต 5 ล้านก้อนต่อเดือนเต็มแล้ว เนื่อจากตลาดเติบโตดีมากและทำยอดขายกว่า 650 ล้านบาท มาม่ามีส่วนตลาดมากกว่า 70%
4. ฮังการี ที่บริษัทไปซื้อโรงงาน 4 ปีก่อนเพื่อเป็นฐานผลิตสู่ตลาดยุโรป พร้อมปั้นแบรนด์ “มาม่า”กับ “ ไทยเชฟ” ชิงขุมทรัพย์ตลาดบะหมี่ฯ ที่มีสูงมาก ปัจจุบันยอดขายจากฮังการีอยู่ที่ 250 ล้านบาท
ด้าน “ยศสรัล แต้มคงคา” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ไวไว” และ “ควิก” มองแนวโน้มตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 61 จะคึกคึกคักกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการออกสินค้าใหม่ การลดแลกแจกแถมที่ต้องมีปกติ การเปิดช่องทางการขายใหม่ๆ
แผนของไวไว จะมุ่งเน้น 2 กลยุทธ์ คือ 1. กระตุ้นสินค้าเดิมให้เติบโต และพัฒนาสินค้าใหม่ 2. ขยายตลาดต่างประเทศ
ในด้านของ “สินค้า” รสชาติทั้งแบบซอง และคัพ ออกสินค้ามีมูลค่าเพิ่มที่ราคาขาย 7-10 บาท ขยายฐานลูกค้าระดับบนมากขึ้น จากปีก่อน ที่พอร์ตสินค้าพรีเมียมมี 2 รายการ คือไวไวรสหมูน้ำตก และกระดูกหมูต้มยำ เป็นแบบชาม ราคา 25 บาท และจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูสีพที่เซเว่นอีเลฟเว่นเท่านั้น แต่ปีนี้จะขยายสู่โมเดิร์นเทรดอื่นด้วย
เมื่อประเมินจากตลาด “พรีเมียม” ที่ราคามากกว่า 10 บาทขึ้นไปนั้นเติบโตดีมาก จากการเข้ามากระตุ้นตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศจากเกาหลี ช่วง 2 ปีมานี้พบว่ามีหลายแบรนด์เข้ามาทำตลาด และได้รับความนิยม ส่งผลให้กลุ่มพรีเมียมมีมูลค่ารวมประมาณ 1,000 กว่าล้านบาทแล้ว หรือสัดส่วน 10% จากตลาดรวม
ไวไว จึงต้องขยับมาออกสินค้าในกลุ่มพรีเมียมมากขึ้น เพื่อเป็นไปตามเทรนด์ของตลาด แต่ก็ไม่ทิ้งสินค้าเดิม เพราะทำยอดขายหลักกว่า 90% ส่วนพรีเมียมมีสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 5%
ผลประกอบการของไวไว ปี 2560 มีอัตราเติบโต 2-3% มากกว่าตลาดรวมที่เพียง 1% เท่านั้น และมีแชร์เป็นอันดับสองในตลาด ระหว่าง 22-23% ซึ่งผู้บริหารไวไว ยอมรับว่าการจะเพิ่มส่วนแบ่งเพียงแค่ 1% ในตลาดนี้นั้นยากมาก
ยำยำ บะหมี่ญี่ปุ่นแต่เน้นรสชาติไทยๆ
ด้าน “ยำยำ” ภายใต้บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ จำกัด ซึ่งมีบะหมี่ฯ 3 กลุ่มหลักคือ ยำยำจัมโบ้ ยำยำ และยำยำช้างน้อย จับตลาดผู้ใหญ่จนถึงเด็ก สินค้าใหม่ที่ออกมา อิงความเป็น “ท้องถิ่น” หรือ Local มากขึ้น เช่น รสต้มแซ่บอีสาน รสหมูย่างกระเทียม เพื่อแข่งกับทุกเจ้าที่หา “รสชาติซิกเนเจอร์” ใหม่ๆออกมาสู้
แม้ยำยำจะไม่ออกมาแถลงข่าว แต่การทำตลาดยิงโฆษณ TVC ก็ไม่เคยด้อยกว่าเบอร์ 1 และ 2 อีกทั้งใช้ซุป’ตาร์ แถวหน้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วย ส่วนช่องทางจำหน่ายแน่นอนว่า 2 รายแรกไปไหน ก็เห็นยำยำที่นั่นเช่นกัน.
ที่มา : http://www.manager.co.th/ibizchannel/