ปรากฏการณ์ “BNK48” ความสำเร็จบนความน่ารักคาวาอี้

หลังจากที่วงการเพลงทั่วโลกซบเซาไปเป็นเวลากว่าสิบปี ซีดีกลายเป็นสิ่งที่แทบไม่มีมูลค่าทางธุรกิจ ทุกฝ่ายต่างฝากความหวังเอาไว้กับงานจ้างแสดงสดตามอีเวนต์ต่างๆ หรือคอนเสิร์ตใหญ่สำหรับบรรดาศิลปินใหญ่ๆ เท่านั้น ขณะที่ช่องทางออนไลน์ที่สามารถสร้างรายได้อย่าง การดาวน์โหลดสตรีมมิง หรือยูทูป ก็ยังเป็นเม็ดเงินที่ไม่มากพอจนเป็นทางออกให้กับวงการดนตรีได้ ไม่มีใครเลยที่จะคาดคิดว่า วงการเพลงจะสามารถทำเงินได้อย่างเป็นกอบเป็นกำได้อีก

จนกระทั่งการมาถึงของเกิร์ลกรุ๊ปนาม “BNK48” เกิร์ลกรุ๊ปที่ถือเป็น “วงน้องสาว” สืบทอดรูปแบบต่อมาจากต้นฉบับในประเทศญี่ปุ่นอย่าง “AKB48” เมื่อปี 2560 ด้วยซิงเกิลแรกคือ “Aitakatta อยากจะได้พบเธอ” 

จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด ต้นสังกัดของสาวๆ BNK48 เคยเปิดเผยไว้ว่า ในส่วนของซิงเกิลแรกนั้นมียอดจำหน่ายจากการพรีออร์เดอร์มากกว่า 13,000 แผ่น ขณะที่ซิงเกิลที่สองที่ออกติดตามมาในเวลาเพียงไม่กี่เดือนคือ “Koisuru Fortune Cookie คุกกี้เสี่ยงทาย” นั้นมียอดเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 หมื่นแผ่นจากการพรีออร์เดอร์เช่นเดียวกัน ไม่มีวางจำหน่ายตามร้านซีดีโดยสิ้นเชิง

ขณะที่ มิวสิกวิดีโอเพลงแรกของวงคือ “Koisuru Fortune Cookie คุกกี้เสี่ยงทาย” นั้นสามารถสร้างยอดชมได้สูงถึง 10 ล้านครั้งภายในเวลาเพียง 2 เดือน

แน่นอนว่า หากเทียบกับวงการเพลงยุค “ล้านตลับ” ยอดขายหลักหมื่นคงถือเป็นความล้มเหลว แต่ในยุคที่ยอดซีดีแทบเป็นศูนย์ และเป็นยอดที่ “สั่งก่อน จ่ายก่อน รับของทีหลัง” ทั้งยังไม่ผ่านการหักเปอร์เซ็นต์จากสายส่งหรือร้านค้า ยอดขนาดนี้ถือว่าน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ทำให้ “BNK48” ยิ่งน่าจับตาในทางธุรกิจก็คือ กลยุทธ์การตลาดที่เป็นมาตั้งแต่ “AKB48” ที่มองข้ามช็อตไปยังจุดที่ว่า ซีดีเพลง ดีวีดี หรือกระทั่งคอนเสิร์ตนั้นมิใช่ทั้งหมดของการหารายได้จากศิลปิน หากยังมีช่องทางอีกมากมาย ผ่านการบริหารจัดการ “คอนเทนต์” ในมืออย่างรอบด้าน

ซึ่ง “คอนเทนต์” ที่ว่านี้ก็หมายรวมตั้งแต่ ตัวสมาชิกของวงที่มีคาแรกเตอร์แตกต่างกันไป เรื่อยไปจนถึงบรรดาผลิตภัณฑ์ของวง ที่มีมาให้ได้เลือกสั่งซื้อกันอย่างต่อเนื่อง 

ไล่มาตั้งแต่ภาพถ่ายสมาชิกวง สติกเกอร์ โปสเตอร์ที่แถมไปกับซีดีซิงเกิล เรื่อยไปจนถึงภาพชุดพิเศษต่างๆ ที่เปิดให้พรีออร์เดอร์ โดยสุ่มเลือกให้กับผู้สั่งซื้อ เข็มกลัด เรื่อยมาจนถึงสมุดภาพที่มีให้เลือก 3 ปก และบัตร Founder มูลค่า 2 หมื่นบาท 

ผลงานของ “BNK48” จึงยกระดับจากการเป็นซีดีเพลงฟังเพียงอย่างเดียว หากกลายเป็นดั่งของสะสมให้เหล่าแฟนคลับ ซึ่งถูกขานว่า “โอตะ” ได้สะสม ไม่ต่างไปจากการ์ดเกม หรือไอเท็มเกม ขณะที่ด้วยรูปแบบการสุ่มเลือกให้กับผู้สั่งซื้อ เช่น เลือกภาพ 3 ใบจากทั้งหมด 84 แบบจากสมาชิกทั้ง 28 คน ส่งผลให้บางคนได้ภาพ 3 แบบ ของสมาชิกเพียงคนเดียว หรือได้ภาพของสมาชิกไม่ซ้ำคนกันเลย ซึ่งอาจจะเป็นภาพของสมาชิกที่ตัวเองชอบหรือไม่ก็ได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็ส่งผลให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้ภาพหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตามมา 

นอกจากนั้นสมาชิกที่ได้รับความนิยมสูงก็จะมีมูลค่าสูงตามไปด้วย เช่น ภาพประเภทที่เรียกว่า “SSR” ที่ย่อมาจาก “Super Special Rare” ซึ่งจะมีลายเซ็นของสมาชิกที่เป็นหน้าตาของวงอย่าง “เฌอปรางค์ อารีย์กุล” นั้นน่าจะมีมูลค่าเป็นหลักแสนบาทเป็นอย่างน้อย 

ขณะที่ตัว “คอนเทนต์” สำคัญคือ ตัวสมาชิกวงนั้นก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้เหล่าโอตะได้ชื่นชมกันอย่างต่อเนื่อง โดยใช้สื่อฟรีหรือมีต้นทุนต่ำอย่างโซเชียลมีเดียต่างถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมพบปะแฟนเพลงโดยมีห้องกระจกคือ BNK48 Digital Live Studio หรือ “ตู้ปลา” กั้นกลางระหว่างสมาชิกวงกับเหล่า “โอตะ” โดยสมาชิกของ BNK48 จะสลับสับเปลี่ยนกันมาปรากฏตัวเป็นประจำที่ตู้ปลา ณ ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ โดยมีการถ่ายทอดสดไปยังเฟซบุ๊กเพจของวง 

นอกจากนั้นรวมถึงกิจกรรมออนไลน์รายการแบบไลฟ์ผ่านแอปพลิเคชั่น Voov ซึ่งค่ายและผู้ผลิตแอปฯ จะได้รับส่วนแบ่งจากบรรดาของขวัญที่เหล่าโอตะส่งมาให้ระหว่างการไลฟ์ตามแต่ตกลงกัน ดังที่เคยมีกรณีของ “ชา Lowcostcosplay” เน็ตไอดอลคนดังได้เปย์ของขวัญให้ไข่มุก สมาชิกคนหนึ่งของ BNK48 เป็นเครื่องบิน 10 ลำคิดเป็นค่าใช้จ่ายกว่า 70,000 บาทจนเป็นที่ฮือฮาไปทั่ว 

และเมื่อสร้างฐานแฟนเพลงได้มากพอ ต้นสังกัดก็ค่อยๆ ผุดกิจกรรมอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น งานจับมือกับสมาชิกวง ที่สืบทอดมาจากวง “AKB48” ซึ่งจัดไปแล้ว 3 ครั้ง และได้รับความสนใจคับคั่ง เรื่อยไปจนถึงงานคริสต์มาส “BNK48 We Wish You! A Merry Christmas Fan Meet” ที่สามารถโซลด์เอาต์ได้ทั้ง 2 รอบภายใน 3 นาทีเท่านั้น 

กลยุทธ์ทั้งหมดเป็นความสำเร็จจากการบริหารจัดการศิลปินและการสร้างความน่าสนใจกับตัวศิลปิน ไปจนถึงการหารายได้จากสื่อและสิ่งรอบด้าน ที่เรียกกันว่า “Artist Management” ซึ่งจะครบวงจรของระบบ “AKB48” ทันทีที่เธียร์เตอร์ ที่เดอะมอลล์บางกะปิ ที่สมาชิก “BNK48” จะมีการแสดงสัปดาห์ละ 3 รอบ ซึ่งจะเริ่มมีการแสดงอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้ รวมทั้งการมาถึงของสมาชิกรุ่นที่สองที่กำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับออดิชั่นอยู่ในขณะนี้ 

ทั้งหมดจะเป็นบททดสอบอีกขั้นหนึ่งของวงว่า โมเดลธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการบริหารจัดการศิลปินที่มีจุดขายจากความน่ารักและเสน่ห์ของสมาชิกวงนั้นจะมีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและแท้จริงได้หรือไม่

เรื่องราวตลอดปี 2561 จากนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่า กระแสของ “BNK48” ที่แรงรุกลามไปทั่วทั้งโลกออนไลน์สู่โลกออฟไลน์และสารพัดสื่อตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานี้นั้นไม่ใช่กระแสแบบไฟลามทุ่งที่รอวันเสื่อมถอยหายไปเท่านั้น 

ที่มา : newtv.co.th/news/10561