เปิดพอร์ตบิ๊กโลจิสติกส์ WHA VS TICON ใคร “ใหญ่” กว่ากัน

การสูญเสีย “สมยศ อนันตประยูร” ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กลายเป็นข่าวช็อกแวดวงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไม่น้อย เพราะเขาเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่ก่อตั้งธุรกิจให้บริการด้าน “โลจิสติกส์แบบครบวงจร” ตั้งแต่การพัฒนาและบริการอสังหาริมทรัพย์ (Logistics Hub), พัฒนานิคมอุตสาหกรรม มีโรงงานให้เช่า, ให้บริการด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน และให้บริการดิจิทัล (Digital Platform Hub) ครบด้วยศูนย์ข้อมูล คลาวด์โซลูชั่น   

WHA มีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เพราะดำเนินธุรกิจเพียง 10 ปีเศษ สร้างมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ทะลุ 6 หมื่นล้านบาท มีโรงงาน คลังสินค้า กระจายอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ทางการค้าจำนวนมาก เช่น บางนา-ตราด ลาดกระบัง พระราม 2 อยุธยา ลำพูน ขอนแก่น เป็นต้น

จุดแข็งที่ทำให้ WHA โตพรุ่งปรี๊ด เพราะเข้ามาในจังหวะที่ “ใช่” ยุคที่ภาคธุรกิจในประเทศไทยกำลังยกระดับและให้ความสำคัญกับโลจิสติกส์อย่างมาก เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญในการกระจายสินค้าเข้าถึง (Reach) กลุ่มเป้าหมาย และการมีคลังสินค้าอยู่ใกล้ตลาดเป้าหมาย อยู่ในเส้นทางที่ขนส่งสะดวก ก็ทำให้การค้าขายสินค้ามีชัยไปกว่าครึ่ง

อีกทั้งความร้อนแรงของการค้าขายออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ มีสารพัดทุนตบเท้ามาชิงขุมทรัพย์ในประเทศไทย ทั้ง Shopee สิงคโปร์, เจดี ดอทคอม, อาลีบาบา และลาซาด้าของจีน เข้ามา ทำให้ต้องมีคลังสินค้าเพื่อบริหารจัดเก็บและกระจายสินค้า

ที่ผ่านมาจึงเห็น “เซ็นทรัล-เจดี ดอทคอม” เข้าไปเป็นลูกค้าใหม่ WHA เช่าพื้นที่ขนาด 6,848 ตารางเมตร (ตร.ม.) ที่ ดับบลิวเอชเอ เมกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ ชลหารพิจิตร บนถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 19 สามารถเข้าถึงได้ทั้งจากถนนบางนา-ตราด เทพารักษ์ และสุขุมวิทสายเก่า ใกล้ใจกลางกรุงเทพฯ รวมถึงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ สำหรับอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ และค้าปลีก โดยลูกค้าดังกล่าวเป็นการขยายฐานเพิ่มจากลูกค้ากลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอีกด้วย

แต่สิ่งที่ทำให้ WHA ปัง! เป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้า คือบริการให้เช่าคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานคุณภาพ ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละราย (Built-to-Suit) เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละบริษัทมีสินค้าที่แตกต่างกันไป จะให้ยกคลังสินค้าเหมือนๆ กันไปใช้กับทุกรายคงไม่ตอบโจทย์นัก ทำให้ตาม Need ลูกค้าแล้ว ถ้ารายไหนต้องการโครงสร้างแบบสำเร็จรูป (Ready-to-Built) ก็มีให้เช่นกัน

ยุคนี้ดิจิทัลมีบทบาทต่อธุรกิจอย่างมาก การจัดเก็บข้อมูลเป็น Big Data ให้ลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ และบริษัทไม่พลาดที่จะมีบริการ Data Center ให้ทันยุคทันสมัย

แม้ชื่อของ WHA จะอยู่แถวหน้าของธุรกิจคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า แต่อีกรายที่ “ใหญ่” และเป็น “คู่แข่ง” โดยตรงในตลาดนี้หนีไม่พ้น “บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”

ไทคอนทำหน้าที่พัฒนาโรงงาน ส่วนบริษัทลูกอย่างไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค (TPARK) พัฒนาคลังสินค้าให้เช่าบนทำเลยุทธศาสตร์หลายแห่ง เช่น แหลมฉบัง อีสเทิร์นซีบอร์ด ขอนแก่น อยุธยา เป็นต้น มีลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โมเดิร์นเทรด อีคอมเมิร์ซ จากทั้งในเครือและนอกเครือ เช่น บิ๊กซี  ลอรีอัล เนสท์เล่ ฯลฯ

สิ่งที่ทำให้ TPARK กวาดลูกค้าบิ๊กๆ ได้ไม่ใช่แค่จุดแข็งของทำเลที่ตั้งคลังสินค้า แต่เพราะการพัฒนาคลังตามแบบ (Ready-to-Built) และทำเลที่ลูกค้าต้องการ (Custom-Built Warehouse) จริงๆ แต่เมื่อไหร่ที่ลูกค้าไม่ไปต่อก็จะซื้อคลังสินค้าจากลูกค้าเพื่อให้เช่ากลับคืนด้วย (Sale and Leaseback)

แต้มต่อของ TPARK ใต้เงาเสี่ยเจริญ และเฟรเซอร์ มีมากขึ้น เมื่อ “ทายาทสิริวัฒนภักดี” ลงมาดูการออกแบบคลังสินค้าเองละเอียดยิบถึงขั้น รถถอยเข้าไปรับสินค้าองศาไหนเหมาะสุด ส่วนทีมผู้บริหารก็ไปศึกษาดูงานของเฟรเซอร์ ออสเตรเลีย เพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาต่อยอดธุรกิจ เช่น การเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้ ว่ารายไหนเช่าคลังเมื่อไหร่ เลิกเช่าเมื่อไหร่ และหนีไปซบคู่แข่งที่ไหน เพื่อไปตามกลับมาได้ถูกจังหวะ   

จากข้อมูลของ ไนท์ แฟรงก์ ระบุว่าปี 2559 ความต้องการ (ดีมานด์) คลังสินค้ามีมากกว่า 3.1 ล้าน ตารางเมตร (ตร.ม.) เติบโต 9.5% และมีพื้นที่คลังสินค้า (ซัพพลาย) กว่า 3.9 ล้านตร.ม. เติบโต 8.1%

ขณะที่ข้อมูลกสิกรไทยระบุว่า ภาพรวมธุรกิจคลังสินค้าในปี 2560 มีมูลค่าราว 71,400-73,000 ล้านบาท และยังคงเติบโต 5.3-7.6% จากปี 2559.