ภาพผู้พันแซนเดอร์ ใช้ไม้เท้าเขี่ยเบอร์เกอร์ (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นแมคโดนัลด์) ทิ้งไปอย่างไม่ไยดี ก่อนที่หนุ่มน้อยจะโผเข้ากอดเขาอย่างซาบซึ้ง และตกลงใจเป็นสาวกของเคเอฟซี เบอร์เกอร์ ในหนังโฆษณาชุดใหม่ของเคเอฟซี อดนึกถึงโฆษณาของศึกน้ำดำ ระหว่างโค้กและเป๊ปซี่ ที่ออกมาถล่มกันกับแบบจะจะ
โฆษณาชิ้นนี้ นับได้ว่าเป็นการประกาศศึกของเคเอฟซี เพื่อชิงแชมป์กับเจ้าตลาดเบอร์เกอร์อย่างแมคโดนัลด์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น QSR ใหญ่ที่สุดในโลก ชนิดต่อต่อตาฟันต่อฟัน
ส่วนสาเหตุที่เคเอฟซีมั่นใจถึงเพียงนี้ ก็เพราะว่าแม้ตลาดโลกจะเป็นรอง แต่ตลาดในไทย เคเอฟซี กำลังมาแรงแซงหน้าแมคโดนัลด์ ด้วยการโหมรุกตลาด เบอร์เกอร์อย่างหนัก รวมถึงการรุกขยายสาขาชนิดที่เจาะลึกถึงรากหญ้า
หาก Trademark Food ของแมคโดนัลด์คือบิ๊กแมคแล้วล่ะก็ ของเคเอฟซีก็คือไก่ป๊อป แต่เมื่อว่ากันถึงเรื่องไก่ ภาพของเคเอฟซียืนหยัดอย่างชัดเจนเหนือคู่แข่งใดๆ ดังนั้นการแสวงหาโอกาสทางการขายใหม่ๆ ด้วยการออก Product Line ใหม่ๆ ถึงแม้จะต้องชนกับเจ้าตลาด แต่ก็เป็นบททดสอบพลังของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็เพื่อผลักดันให้แบรนด์เคเอฟซีเติบโตด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กว้างขึ้น โดยไม่ได้หวังพึ่งบุญเก่าอย่างไก่ทอดเพียงอย่างเดียว
เคเอฟซีในฐานะผู้ท้าชิงใหม่ในเซ็กเมนต์เบอร์เกอร์แต่เก๋าเกมในสนามแข่ง QSR ดูน่ากลัวไม่น้อย ขณะที่เบอร์เกอร์คิง ถูกกันออกนอกสนามแข่ง เนื่องจากจำนวนสาขาอันน้อยนิด และราคาที่สูงกว่าแบรนด์อื่นๆ อย่างชัดเจนนั่นเอง
บัลลังก์เบอร์เกอร์ที่แมคโดนัลด์ครอบครองมาตลอดระยะเวลา 24 ปี ในไทย กำลังถูกท้ารบจากเคเอฟซี คู่แข่งที่ Aggressive ยิ่งนัก
ครึ่งปีหลังของปี 2551 กับการโหมโปรโมตเคเอฟซี เบอร์เกอร์อย่างหนัก ยังผลให้ปัจจุบันเคเอฟซี เบอร์เกอร์มีสัดส่วนยอดขาย 10% ของยอดขายเคเอฟซีทั้งหมด คือผลงานชิ้นแรกที่ชัดเจนว่าเคเอฟซีมาถูกทาง และพร้อมรบเต็มอัตราศึก
จากนี้ไป คือการผลักดันให้ยอดขายเบอร์เกอร์คิดเป็น 25% ของยอดขาย เหมือนในประเทศจีน จะดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น เพื่อปักธงให้เบอร์เกอร์เป็น 1 ใน Flagship Product ของเคเอฟซีให้จงได้
เบอร์เกอร์พร้อมเสิร์ฟทุกอำเภอ
ศรัณย์ สมุทรโคจร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยัม เรสเทอรองส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บอกถึงทิศทางการทำธุรกิจของเคเอฟซีในปี 2552 ว่า การโปรโมตเบอร์เกอร์อย่างหนักเป็น1ใน 2 ภารกิจเร่งด่วนของเคเอฟซีในปี 2552 นี้ ร่วมกับการโปรโมตเมนูที่เรียกว่า Balanced New เช่น ไก่ อบไอน้ำ ผักสลัด เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เตรียมจัดกิจกรรมฟุตบอล 7 คน เจาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 17 ปีเพิ่มมากขึ้นด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง เคเอฟซี จะใช้กลยุทธ์การขยายสาขา และครั้งนี้ บุกไปเปิดทุกอำเภอทั่วไทย ขณะนี้ได้เริ่มรุกคืบไปในหลายอำเภอแล้ว และตั้งเป้าภายใน 5 ปี เคเอฟซี จะขยายให้ครบ 877 อำเภอทั่วไป
“แม้ว่ายอดขายของสาขาในอำเภอจะอยู่ที่ประมาณ 800,000 ถึง 1 ล้านบาท ก็คุ้มค่าที่จะลงทุน เพราะเมื่อเราไปแล้ว เราจะกลายเป็นแบรนด์เด่น แบรนด์หลักในอำเภอนั้นๆ เช่น หลังสวน เวียงสระ บ้านผือ เป็นต้น”
แผนธุรกิจดังกล่าว สะท้อนอย่างเป็นรูปธรรมถึงความจริงจังในการบุกตลาดรากหญ้าอย่างเต็มที่ และเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ เพราะการลงทุนสาขาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องลงทุนให้ใหญ่โต โดยเน้น “Economic Model”
“สร้างร้านให้ใหญ่โต แต่จริงๆ แล้วลูกค้าไม่ได้ต้องการ ส่วนเมนูจะปรับให้กระชับลง จัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น จัดระบบ Flow ในครัว ทำให้พื้นที่ครัวเล็กลง ซึ่งสามารถลดต้นทุนในการเปิดร้านใหม่ได้ 30-40% ต่อสาขา ขณะเดียวกันก็สามารถเปิดสาขาใหม่ได้เร็วขึ้น” ศรัณย์ให้รายละเอียด
ดังนั้นวัฒนธรรมเบอร์เกอร์เกอร์จะถูกแพร่หลายไปยังคนต่างจังหวัดมากขึ้น ตามจำนวนสาขาใหม่ของเคเอฟซีที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4 วันต่อ 1 สาขาในปีนี้ อย่างแน่นอน
ปัจจุบัน เคเอฟซี มี 360 สาขา (ข้อมูล ณ มกราคม 2552) คาดว่าจะเปิดอีก 90 สาขาภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เคเอฟซีมีสาขา 450 สาขาภายในสิ้นปี 2552 นี้ ส่วนแมคโดนัลด์มี 117 สาขา และภายในสิ้นปี 2552 นี้จะเปิดเพิ่มอีก 15 สาขา รวมเป็น 232 สาขา ขณะที่วิชั่นของแมคโดนัลด์ในปี 2554 จะมีสาขา 300 สาขา รวมทุกโมเดลทั้งแมคโดนัลด์ แมคคาเฟ่ และคีออสของหวาน
ผลสำรวจจากการสอบถามผู้บริโภคพบว่า เคเอฟซีมีส่วนแบ่งดังกล่าว 52% ความถี่ในการเข้าร้านที่มากกว่าย่อมหมายถึงโอกาสในการขายเมนูอาหารต่างๆ ที่มีมากกว่านั่นเอง
ส่วนปีนี้แมคโดนัลด์จะเน้นขยายสาขาแบบ Drive Thru ให้มากขึ้น โดยเฉพาะสาขาในสถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากมี Traffic สูง และมียอดใช้จ่ายต่อบิล 200 บาท สูงกว่าสาขาปกติซึ่งอยู่ที่ 87 บาท
แคมเปญกระแทกกล่องดวงใจแมคฯ
เริ่มต้นปี 2552 เคเอฟซีออกแรงปะทะไปยังแมคโดนัลด์อีกครั้งด้วยแคมเปญ CHANGE ภารกิจเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่ากับเคเอฟซี เพื่อโปรโมตเบอร์เกอร์กุ้งฟิต
แววคณีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด – เคเอฟซี บอกว่า แคมเปญนี้ใช้งบการตลาด 35 ล้านบาท ยิงทีเซอร์กระตุ้นความสนใจ และหยั่งเชิงฟีดแบ็กจากกลุ่มเป้าหมายก่อน ด้วยการเปิดไมโครไซต์ www.votekfcburger.com ดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่ได้เห็น TVC ให้เข้ามาโหวต ซึ่งถือเป็นกิมมิกทางการตลาดที่น่าสนใจและได้ผลดี แม้จะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า หนุ่มน้อยในโฆษณาจะต้องเลือกที่จะไปหาของใหม่มากกว่าจะหยิบของเก่าซึ่งตกพื้นแล้วมากิน
โดยหลังจากยิงทีเซอร์ถี่ยิบเพียงสัปดาห์เศษ ก็มีคนเข้ามาโหวต 3,000 กว่าคน เคเอฟซีก็ปล่อย TVC ตอนต่อมาทันที และครั้งนอกจากเป็นการศึกผ่านหนังโฆษณา ด้วยเนื้อเรื่องที่ให้ผู้พันแซนเดอร์ทำหน้าที่เป็นผู้ใช้ไม้เท้าเขี่ยเบอร์เกอร์ (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นแมคโดนัลด์) ทิ้งไปอย่างไม่ไยดี ยังสะท้อนถึงความพยายามเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นนักศึกษา ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักที่คุ้นเคยกับเบอร์เกอร์ ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ชอบทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน โดยทำเป็น Intregrated Media คือ ภาพยนตร์โฆษณา + ไมโครไซต์
“เบอร์เกอร์เป็นคำตอบของชีวิตที่ไม่มีเวลา ใช้มือสองข้างกินอาหารไม่ได้ แต่สามารถมือหนึ่งถือเบอร์เกอร์อีกมือหนึ่งคุยโทรศัพท์ไปพร้อมๆ กันได้”
เมนูน้อยกว่าครึ่งก็ไม่มีปัญหา
จะว่าไปแล้ว เมนูของเคเอฟซีมีน้อยกว่าแมคโดนัลด์มากกว่าครึ่ง โดยเบอร์เกอร์กุ้งฟิต เป็นเมนูเบอร์เกอร์ลำดับที่ 4 ของเคเอฟซี หลังจากไตรมาส 3 ปี 2551 เปิดตัว 3 เมนูเบอร์เกอร์พร้อมๆ กัน คือ ซิงเกอร์ เบอร์เกอร์ ชิกเก้น เบอร์เกอร์ และโรสเต็ด เบอร์เกอร์
แววคณีย์ เชื่อว่าถ้าออกเมนูเบอร์เกอร์อีกอย่างน้อย 1-2 เมนู เคเอฟซีจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดเบอร์เกอร์ในไทยได้อย่างแน่นอน ขณะที่ปัจจุบันแมคโดนัลด์มีเมนูเบอร์เกอร์ประมาณ 13 เมนู
“เมื่อเมนูเบอร์เกอร์ของเคเอฟซีรวมเป็น 6 เมนู ก็เพียงพอที่เราจะชนะคู่แข่งได้”
นั่นหมายความว่า จากส่วนแบ่งการตลาดเบอร์เกอร์ในปัจจุบันที่เคเอฟซีมีอยู่ 25% จะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ขณะที่แมคโดนัลด์มี 75% จะลดเหลือเป็น 50% หรือน้อยกว่านั้น เพราะยังมีเบอร์เกอร์คิงเป็นก้างขวางคออยู่อีกแบรนด์
อย่างไรก็ตาม แม้เคเอฟซีจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดเบอร์เกอร์ได้สำเร็จในอนาคต แต่ส่วนแบ่งตลาดระหว่างผู้นำกับผู้ตามจะไม่หนีกันนัก ซึ่งแววคณีย์เปรียบเทียบว่าจะเป็นเหมือนกับตลาดน้ำดำที่มีเป๊ปซี่และโค้กสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี
โดย 20% ของตลาด QSR มูลค่า 14,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนของตลาดเบอร์เกอร์ ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2551 ที่ผ่านมาเติบโตจากปี 2550 ประมาณ 30% สาเหตุเป็นเพราะจำนวนคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การรุกหนักของเคเอฟซีฉายชัดผ่านตัวเลขของงบการตลาดของเบอร์เกอร์ที่ทุ่มทุนกว่า 150 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของงบการตลาดเคเอฟซีทั้งหมด ขณะที่ปีที่แล้ว (เปิดตัวครึ่งปีหลัง) ใช้งบการตลาดเพียง 25 ล้านบาท
แววคณีย์บอกว่า การที่เคเอฟซีป็นผู้นำอย่างเบ็ดเสร็จได้นั้น จะต้องมี Flagship Product อย่างน้อย 4 ตัว จากที่ย้อนหลังกลับไป 5 ปีที่ผ่านมาเคเอฟซีจะเน้นหนักเมนูไก่ทอดเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นเป้าหมายก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำ QSR อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เพียงแค่จำนวนสาขาที่มากกว่าคู่แข่งเท่านั้น หากแต่หมายถึงเคเอฟซีจะต้องทำให้ Flagship Product อื่นๆ (เช่น เบอร์เกอร์) เป็นที่ 1ในแต่ละเซ็กเมนต์ให้จงได้
แมคฯ เน้นขายของ คละเมนูราคาถูก
ด้านแมคโดนัลด์เลือกที่จะโปรโมตในภาพรวมเพื่อตอบรับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยการออกเมนูถาวร McSaver คละเคล้าเมนูขายดี จำนวน 9 เมนู 15 SKU ซึ่งมีทั้งเบอร์เกอร์ ไก่ทอด ไอศกรีม เฟรนช์ฟรายด์และเครื่องดื่ม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น Fast Moving Items จำหน่ายในราคาเมนูละ 22 และ 25 บาท ซึ่งเป็น Price Point ที่ผู้บริโภคยอมรับได้
เฮสเตอร์ ชิว ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด บอกว่า “คนต้องการจ่ายน้อยลง อยากได้อะไรที่คุ้มค่า เป็น Emotional Benefit”
ถือเป็นการปรับตัวจัดระบบเมนูเพื่อสื่อสารการตลาดใหม่ทั่วโลก โดย McSaver ประสบความสำเร็จมากในมาเลเซีย ซึ่งขายเมนูละ 2-4 ริงกิตมาเลเซีย ขณะที่สหรัฐอเมริกามีเมนูรูปแบบคล้ายคลึงกันนี้แต่ใช้ชื่อว่า Dollar Menu ซึ่งนอกจากรองรับลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีกำลังซื้อลดลงแล้ว ยังต้องการเจาะไปยังกลุ่มที่เป็น Value Concious Customer ด้วย
“คาดหวังโอกาสการขายจากมื้อดึกด้วย ซึ่งรองรับความต้องการหลายแบบแบบหนักท้อง หรือเบาๆก็ได้” โดยในการโปรโมต McSaver นี้ใช้งบการตลาด 15 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เฮสเตอร์ ชิว ยอมรับว่า คนไทยนิยมบริโภคเนื้อไก่มากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ทำให้แมคโดนัลด์เตรียมเพิ่มเมนูไก่ให้มากขึ้น
เมื่อถึงเวลานั้นสีสันของการข้ามเขตรบของ 2 แบรนด์ยักษ์นี้มากขึ้นอย่างแน่นอน
แมคโดนัลด์ให้ความสำคัญกับ Extra Value Meals หรือชุดสุดคุ้มที่ประกอบด้วยเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายด์ และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นกลยุทธ์เด่นเป็นอย่างมาก และจะยังคงเน้นหนักต่อไป มากกว่าที่จะโปรโมตเฉพาะเบอร์เกอร์อย่างหนักหน่วงเหมือนกับเคเอฟซี
ก่อนหน้านี้เมื่อกลางปี2551 ที่ผ่านมา เฮสเตอร์ ชิว บอกว่า ผลจากการโปรโมตเบอร์เกอร์ของเคเอฟซี ผ่านทาง TVC กลับทำให้ผู้บริโภคสับสนและเลือกที่จะตรงดิ่งมายังแมคโดนัลด์แทน เพราะแมคโดนัลด์ คือนิยามของเบอร์เกอร์นั่นเอง
จากนี้ไปฉากรบของศึกเบอร์เกอร์จะทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้น แต่แมคโดนัลด์จะร่วงหล่นจากบัลลังก์สมความตั้งใจของเคเอฟซีหรือไม่ ภายในสิ้นปีนี้รู้กัน
McDonald’s KFC
ปีที่ก่อตั้ง 2491 2433
สโลแกน I’m lovi’ it ชีวิตครบรส
จำนวนสาขาทั่วโลก 31,000 11,000
จำนวนสาขาในไทยปัจจุบัน 117 360
จำนวนเมนูเบอร์เกอร์ปัจจุบัน 4 13
ราคาเบอร์เกอร์ต่อชิ้น (บาท) 22-97 59